วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

กรอบความคิดผู้นำ Framing for leadership


 Be careful how you think; your life is shaped by your thoughts. Never say anything that isn't true. Have nothing to do with lies and misleading words.                          Proverbs 4:23-24

ทักษะประการสำคัญของผู้นำ คือ ความสามารถในการสื่อสารให้คนที่ทำงานด้วยในองค์กรเข้าใจ และจูงใจให้ทำตามความต้องการของผู้นำไปสู่เป้าหมายขององค์กร ผู้นำที่มีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพจะมีพลังมหาศาลจากการดึงเอาศักยภาพของคนแต่ละคนในองค์กรออกมาเพื่อขับเคลื่อนพันธกิจ(Mission) ให้บรรลุถึงเป้าหมาย ทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จในการเป็นผู้นำขององค์กร
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คือการที่ผู้ส่งสาร (Sender) สามารถส่งสาร (Message) ที่ต้องการไปถึงผู้รับสาร (Receiver) อย่างครบถ้วน ทำให้ผู้รับสารเข้าใจและแปลความหมายได้ถูกต้องตามความต้องการของผู้ส่งสาร
ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ มีความสามารถในการเป็นผู้ส่งสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ที่ทำงานให้ผู้นำคือผู้รับสาร เข้าใจความต้องการของผู้นำ และเกิดความรู้สึกนึกคิดคล้อยตาม ยอมรับและสนับสนุนสิ่งที่ผู้นำต้องการ จนผู้นำสามารถนำองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ สิ่งนี้คือทักษะเฉพาะของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งสามารถกำหนดกรอบความคิด (Frame of thought) ของตนโดยสามารถนำเสนอสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดในใจ (Mental presentation) ที่อยู่ในรูปนามธรรมซึ่งเข้าใจยากออกมาในรูปแบบที่แปลความหมาย (Interpretation) ความรู้สึกนึกคิดในใจให้มีความง่าย (Simplification) ต่อการเข้าใจในรูปแบบที่เป็นจริง (Reality) สัมผัสจับต้องได้ ไม่เป็นภาษาเทพอีกต่อไป ทำให้ผู้ที่ทำงานให้ผู้นำในองค์กรสามารถทำตามกรอบความคิดของผู้นำได้
ทำไมคนจึงยอมรับกรอบความคิดเห็นของผู้นำ เหตุผลคือ มนุษย์โดยธรรมชาติแล้ว เลือกที่จะคิดน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (Human beings prefer to do as little thinking as possible.) ซึ่งเป็นข้อสรุปจากการศึกษาของ Susan T. Fiske และ Shelley E. Taylor ดังนั้นการที่ผู้นำได้กำหนดกรอบความคิด (Framing) ไว้ให้แล้ว คนจึงมีแนวโน้มที่จะยอมรับกรอบความคิดที่ผู้นำกำหนดให้เพราะทำให้คนที่รับข้อมูลมีความรู้สึกง่ายและรวดเร็วในการประมวล (Process) ข้อมูลที่ได้รับโดยเพียงใช้ความรู้สึกประเมินว่า ถ้ากรอบความคิดของผู้นำมีเหตุผล (Make sense)ที่ยอมรับได้ ก็ยอมรับกรอบความคิดนั้น กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้เปิดโอกาสให้ผู้นำซึ่งเป็นผู้สร้างกรอบความคิดมีอำนาจอย่างมากในการสื่อสารความคิดเห็นของตน ทำให้ผู้นำมีอิทธิพลในการแปลความหมายข้อมูลของตนให้ผู้รับข้อมูลซึ่งเป็นผู้ทำงานให้ตน เข้าใจข้อมูลตามกรอบความคิดที่ผู้นำกำหนด

การที่คนยอมรับกรอบความคิดของผู้นำเป็นเพราะ โดยปกติ คนมีกรอบความคิดที่สามารถอ้างอิงได้ (Frame referred to) เป็นพื้นฐานอยู่ในใจอยู่แล้ว เมื่อได้รับกรอบความคิดของผู้นำ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นใจได้ คนจะเกิดความรู้สึกที่แน่ใจจนสามารถฟันธงได้ (Rule of thumb) ว่ากรอบความคิดของผู้นำเป็นสิ่งที่ถูกต้องและยอมรับกรอบความคิดของผู้นำ จึงเป็นการเปลี่ยนกรอบ (Shift frame) ใหม่เข้ามาแทนที่กรอบความคิดเดิมของตน เมื่อคนเข้าใจในกรอบความคิด ก็จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้นำ มีผลให้ทัศนคติ และพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไปตามกรอบความคิดของผู้นำ

การสร้างกรอบความคิด (Framing) ของผู้นำ เปรียบเหมือนกับการใส่กรอบรูปที่เหมาะสมให้กับรูปภาพ ทำให้รูปภาพในกรอบรูปสื่อความหมายรูปภาพได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการนำจึงต้องสร้างกรอบความคิดที่ต้องการให้กับคนที่ทำงานให้กับตน และต้องรู้จักสร้างกรอบความคิดใหม่ (Reframing) เมื่อเห็นว่ากรอบความคิดเดิมของคนในองค์กรไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในการนำของตน ผู้นำต้องสร้างความคิดใหม่ สร้างความเข้าใจใหม่ สร้างทัศนคติใหม่ ทำให้คนในองค์กรมีความคิดเห็นอยู่ในกรอบเดียวกัน มีทัศนคติที่ไม่บานปลาย ความคิดไม่กระจัดกระจาย จนไร้ทิศทางไร้กรอบ

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้นำหลายท่านอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้นำต้องสื่อสารเป็นอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงมีผู้นำไม่มากนักที่ประสบความสำเร็จในการสื่อสาร และสามารถ สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสร้างกรอบความคิดที่มีประสิทธิภาพกลายเป็นเรื่องยากของผู้นำหลายคนในการนำองค์กร สาเหตุเป็นเพราะผู้นำส่วนใหญ่มุ่งหวังมากเกินไปในการเน้นความคิดของตนเป็นหลัก ให้ความสนใจเฉพาะสิ่งที่ผู้นำสนใจ บีบรัดความต้องการเฉพาะเจาะจงให้สิ่งที่ผู้นำต้องการสัมฤทธิ์ผล ซึ่งเป็นธรรมชาติของคนที่เป็นผู้นำที่มีแนวโน้มในการมุ่งความสำเร็จในการนำของตน ดังนั้นผู้นำจึงต้องระมัดระวังไม่ให้ความต้องการของตนทำให้การสร้างกรอบความคิดของตนล้มเหลว และทำให้ผู้ทำงานให้ตนล้มเหลวตามไปด้วยในการเปลี่ยนกรอบความคิด

การสร้างกรอบความคิด ของผู้นำมีผลต่อความสำเร็จในการนำองค์กรของผู้นำอย่างมาก เพราะถ้าผู้นำสามารถสร้างกรอบความคิดที่ตนเองต้องการให้คนที่ทำงานให้ตนได้อย่างรวดเร็ว ความสำเร็จในการนำองค์กรจะมาถึงรวดเร็วเช่นกัน เพราะความคิด และทัศนคติ ของคนในองค์กรอยู่ในกรอบความคิดที่ผู้นำต้องการ คนในองค์กรมีความเข้าใจตรงกัน การตอบสนองต่อการทำพันธกิจของผู้นำองค์กรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โครงการและกิจกรรมที่ทำตามยุทธศาสตร์ขององค์กร สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้นำสามารถสร้างกรอบความคิดเรื่องผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน (Achievement orientation) ให้องค์กร สร้างความเข้าใจ สร้างทัศนคติที่ถูกต้อง สร้างความมั่นใจ สร้างความมุ่งมั่นให้คนในองค์กรมองอุปสรรค (Obstacles) เป็นสิ่งท้าทายความสามารถและเกิดความรู้สึกเร่งด่วน (Sense of urgency) ว่าองค์กรมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ให้ได้ แม้ว่าการสร้างกรอบความคิดเรื่องการต่อสู้กับอุปสรรคนี้จะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายในการวิสาสะกันมากนัก แต่ผู้นำจำเป็นต้องสร้างกรอบความคิดให้คนในองค์กรยอมรับทัศนคติในการต่อสู้ฝ่าฟันความยากลำบากเพื่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว

Daniel Coleman, Richard Boyatzis และ Annie McKee ให้ความคิดเห็นว่า ผู้นำองค์กรที่ประสบความสำเร็จต้องใช้วิธีการนำที่ผสมผสานหลายรูปแบบในการสร้างกรอบความคิดให้กับคนในองค์กรในแต่ละสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งหนีไม่พ้นรูปแบบวิธีการต่อไปนี้
 
·        Visionary
ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ และต้องใช้วิสัยทัศน์ในการสร้างกรอบความคิดให้คนในองค์กรได้รู้ ได้เข้าใจ มีวิสัยทัศน์ร่วมกัน จนคนในองค์กรยอมรับเป็นวิสัยทัศน์ขององค์กร

·        Coaching
ผู้นำต้องมีทักษะในการเป็นผู้ให้คำแนะนำ สอน ถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ ทักษะให้คนในองค์กร เพื่อสร้างความพร้อมให้กับคนในองค์กรในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กร

·        Affiliate
ผู้นำต้องสามารถเชื่อมโยงส่วนต่างๆภายในองค์กรให้เป็นเนื้อเดียวกันและไร้รอยเชื่อมต่อ (Leaning and seamless) และสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายหน่วยงานองค์กรอื่นๆภายนอกองค์กร เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้องค์กรมีความเข้มแข็งมากขึ้น

·        Democratic
ผู้นำต้องมีความเป็นประชาธิปไตย สามารถรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้ ให้โอกาสและความเท่าเทียมในการแสดงความคิดของคนในองค์กร เน้นการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร ให้คนสามารถนำศักยภาพของเขาออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุด

·        Pacesetting
ผู้นำต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน มีการติดตาม ประเมินผล มีการวัดผลทุกระยะ เพื่อสามารถปรับปรุงแก้ไขกรอบความคิดได้ตลอดเวลาซึ่งทำให้การก้าวเดินไปสู่เป้าหมายทุกระยะ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ขององค์กรและตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้

·        Commanding
ผู้นำต้องมีการสั่งการที่ดี มีความชัดเจนในการสั่งการ และติดตามการสั่งการของตนว่าเป็นไปตามความต้องการของตนหรือไม่ แม้ว่าผู้นำจะให้อำนาจ (Empower) แก่ผู้ทำงานให้ตน ผู้นำยังคงต้องติดตามสั่งการให้ทุกอย่างเดินไปตามกรอบความคิดของตนอย่างต่อเนื่อง

การสร้างกรอบความคิดของผู้นำ สะท้อนตัวตน ความคิด และบุคลิกของผู้นำ เพราะความคิด ทัศคติ วิถีชีวิต และ Style การนำของผู้นำจะสื่อออกมาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการสื่อสารของผู้นำ ประเด็นสำคัญคือ ผู้นำต้องสร้างกรอบความคิดที่มีส่วนเชื่อมโยงกับกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ในตัวของผู้ร่วมงานในองค์กรให้ได้ เพราะกรอบความคิดของผู้นำที่กระโดด ห่างไกลจากกรอบความคิดเดิม เป็นกรอบความคิดที่คนไม่เคยไม่ยิน ได้เห็น ได้สัมผัส มาก่อน คนจะใช้เวลามากกว่าปกติในการเปลี่ยนกรอบความคิดของตน จนเป็นที่ยอมรับ ผู้นำต้องมีความอดทนและพยายามหาจุดที่เชื่อมโยงกรอบความคิดของตนกับกรอบความคิดของคนในองค์กรในขณะนั้นให้ได้

ก่อนที่ผู้นำจะสร้างกรอบคิดและสื่อสารกรอบความคิดของตนให้คนในองค์กรได้รับรู้และยอมรับกรอบความคิดของตน ผู้นำจะต้องคำนึงถึง
 
·        What is the purpose of my communication?
อะไรคือจุดประสงค์ของการสื่อสารของผู้นำ การพูด การแสดงความคิดเห็น การสื่อทัศนคติ รวมทั้งการแสดงภาษากาย ท่าทาง อากัปกริยาของผู้นำล้วนมีความหมายและมีความสำคัญ แม้กระทั่งการนิ่งเงียบไม่แสดงท่าทีใดๆของผู้นำออกไปก็เป็นการสื่อสารวิธีหนึ่งของผู้นำ ซึ่งจะมีผลต่อความเข้าใจและการแปลความหมายของคนในองค์กร

·        What do I want the listener to think, feel, or do after hearing my words?
อะไรคือสิ่งที่ผู้นำต้องการให้ผู้ฟังคิด รู้สึก หรือทำ หลังจากที่ได้ฟังสิ่งที่ผู้นำพูด ผู้นำต้องคาดการณ์ไว้ก่อนการสื่อสารของตนว่า เมื่อคนในองค์กรได้ยิน ได้ฟังสิ่งที่ตนพูดแล้ว เขาจะเกิดความรู้สึกอย่างไร เขาจะคิดอย่างไร และเขาจะทำอะไรบ้าง สิ่งที่เขารู้สึก นึกคิด และจะทำหรือไม่ทำนั้น เป็นสิ่งที่ผู้นำต้องการหรือไม่

·        Have I incorporated what I know about the audience’s perspective?
ผู้นำต้องถามตนเองก่อนว่าได้รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับแนวความคิดของผู้ฟัง ผู้นำต้องทำการบ้าน ประมวลแนวความคิดเห็นของผู้ฟังก่อนจะพูดอะไรออกไป การที่ผู้นำได้รับรู้ล่วงหน้าว่าคนที่ผู้นำกำลังจะสื่อสารด้วยมีทัศนคติ มีแนวความคิดอย่างไร ย่อมทำให้ผู้นำสามารถเน้นสิ่งที่ควรพูด หรือ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ควรพูด ไม่ไปสร้างกรอบความคิดในเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึกในสิ่งแวดล้อมที่ยังไม่มีความพร้อม

·        How will my message impact them?
ผู้นำต้องประเมินไว้ก่อนว่าสิ่งผู้นำจะพูด จะสื่อสาร จะมีผลกระทบอย่างไรต่อผู้ฟังที่ทำงานอยู่ในองค์กรบ้าง บ่อยครั้งที่ผู้นำพูดสิ่งที่ไม่ควรพูดออกไปและมีผลกระทบต่อผู้รับข่าวสาร ทำให้เกิดผลกระทบในทางลบ อย่างที่มีคนกล่าวว่า ก่อนพูดเราเป็นนายของคำพูด แต่เมื่อพูดออกไปแล้ว คำพูดกลับเป็นนายของเรา เพราะการตามไปแก้ไขคำพูดที่พูดออกไปแล้วเป็นเรื่องยาก และไม่สามารถเรียกความรู้สึกเดิมกลับคืนมาได้ทั้งหมด ผู้นำจึงต้องระมัดระวัง อย่าให้อารมณ์พาคำพูด และอย่าให้คำพูดพาอารมณ์
 
·        What is in it for me?
ในเนื้อหาสาระที่ผู้นำเตรียมสื่อสารออกไป มีอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อผู้นำ มีอะไรที่ผู้ฟังได้ยินแล้วตอบสนองในทางบวกให้แก่ผู้นำ มีคำพูดใด ประโยคใด มีคำสำคัญ (Key word) ใด ที่ผู้นำต้องการสื่อเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้นำ

·        What other aspects of the context are shaping the way people think?
มีมุมมองอื่นใดในเนื้อหาสาระที่ผู้นำจะสื่อออกไปแล้วสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการคิด และทัศนคติของผู้ฟังให้อยู่ในกรอบความคิดที่ผู้นำต้องการสื่อสารบ้าง

·        How can I frame what I say so as to increase my credibility?
ผู้นำจะสร้างกรอบความคิดในสิ่งที่พูดสื่อสารออกไปให้เกิดความน่าเชื่อถือแก่ตัวผู้นำได้อย่างไร ทำอย่างไรจะสื่อสารให้ผู้ฟังเกิดความศรัทธา และเกิดความไว้วางใจในตัวผู้นำมากขึ้น
          Lao Tzu ปราชญ์จีน กล่าวว่า “Truthful words are not beautiful; beautiful words are not truthful. Good words are not persuasive; persuasive words are not good.”  คำพูดที่เป็นความจริงไม่สวยงาม คำพูดที่สวยงามไม่เป็นความจริง คำพูดดีไม่น่าฟัง คำพูดที่น่าฟังไม่ใช่คำพูดที่ดี
 
          ยากนะครับ ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ ไม่รู้เหมือนกันว่าสามารถสื่อกรอบความคิดให้ท่านได้หรือเปล่า?

แหล่งที่มา: 
Framing for leadership; Melissa Raffoni,
Harvard Management Communication Letter

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น