วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

Thailand 4.0 ตอนที่ 2


Thailand 4.0 ตอนที่ 2

“Being lazy will make you poor, but hard work will make you rich.”             Proverbs 10:4

การจะเป็น Thailand 4.0 ได้นั้น ต้องใช้เวลาทำให้คนไทยทั้งชาติมีความเข้าใจก่อน เป็นสร้างการยอมรับ แล้วความร่วมมือจะตามมา เพราะเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง (Transformation process) ครั้งสำคัญของประเทศไทย ที่ประชาชนชาวไทยต้องรู้ เข้าใจ และ ช่วยกันขับเคลื่อนให้ประเทศเดินไปสู่เป้าหมายใหม่ เนื่องจากกระบวนการ เปลี่ยนแปลงนี้ประชาชนคนไทยเป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลง และประชาชนคนไทย คือ ผู้ถูกเปลี่ยนแปลงด้วย คือเป็นการเปลี่ยนแปลงของประชาชนด้วยตัวประชาชนเอง รัฐบาลไม่สามารถใช้อำนาจกฏหมายมาเปลี่ยนแปลงประชาชน หรือลงทุนทำการเปลี่ยนแปลงโดยระบบราชการ แต่รัฐบาลจะต้องนำการเปลี่ยนแปลงโดยการผลักดัน สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจเอกชน และ ประชาชน เป็นผู้กระทำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของสามฝ่าย คือ รัฐบาล ภาคเอกชน และ ประชาชน (Public-Private-People) เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อน ซึ่งรัฐบาลเรียกความร่วมมือกันนี้ว่า “รวมพลังประชารัฐ”

เวลา 50 ปีที่ผ่านมาจนถึงเวลาในขณะนี้ ประเทศไทยพัฒนาประเทศโดยใช้ทรัพยากรมนุษย์เป็นพื้นฐานสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ เราใช้ความได้เปรียบที่ประเทศไทยมีระบบการศึกษาที่สามารถผลิตคนออกมาสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามีระบบโครงสร้างพื้นฐานประเทศ เช่น ระบบเครือข่ายถนน รถไฟที่เชื่อมโยงได้ทั่วทุกภาคในประเทศ เรามีกระแสไฟฟ้าให้ใช้ได้ทั่วถึงเกือบทุกหมู่บ้านในประเทศ เรามีระบบโทรคมนาคมที่เชื่อมต่อกันได้ทั่วประเทศ เรามีระบบการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานสากล และ เราใช้ความได้เปรียบที่เรามีทำเลที่ตั้งประเทศเป็นสุวรรณภูมิ ที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV คือ ประเทศ กัมพูชา ลาว เมียร์มา และเวียตนาม ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเจริญเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด เราสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้ทรัพยากรมนุษย์เป็นหลัก ( People for Growth)

แต่ความได้เปรียบของประเทศไทยเริ่มหมดไป เพราะทั้ง 4 ประเทศที่เราเรียกว่า CLMV นี้ กำลังพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเวียตนาม ความได้เปรียบของประเทศไทยด้านต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น ประเทศ CLMV ทั้ง 4 ประเทศกำลังพัฒนาใหม่หมด และโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างของประเทศ CLMV ที่ลงทุนใหม่ในเวลานี้ อาจจะทันสมัยกว่าของประเทศไทยด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งระบบการศึกษาของทั้ง 4 ประเทศที่เน้นความเป็นนานาชาติมากกว่าประเทศไทย

ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นต้องปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศใหม่ คือใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยยังได้เปรียบกว่าประเทศ CLMV ในเวลานี้ เป็นพื้นฐานการขับเคลื่อนสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวรอบใหม่ โดยใช้ความเติบโตของเศรษฐกิจปัจจุบันสร้างศักยภาพของประชาชน (Growth for People) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น นั่นคือรัฐบาลต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ (Conducive environment) ต่อการให้ประชาชนได้เรียนรู้พัฒนาตนเองให้มีความรู้ใหม่ มีทักษะใหม่ มีศักยภาพใหม่ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพและศักยภาพในระดับที่สูงขึ้น เพื่อสามารถสร้างงานใหม่และทำงานใหม่ที่มีคุณค่าสูงขึ้น ซึ่งจะสร้าง มูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์และงานบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นการยกระดับทำให้เศรษฐกิจประเทศอยู่บนพื้นฐานมูลค่าสูง (High valued-based economy) หรือเป็นการทำน้อย เพื่อให้ได้มาก (Less for more) นั่นเอง


ถ้าประชาชนไทยรุ่นใหม่ Thailand 4.0 เป็นคนทำงานที่มีความรู้ เป็น Knowledge workers เป็นคนไทยที่มีทักษะระดับสูง High skilled workers ประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนทิศทาง (Shift) การพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศใหม่ได้คือ

ด้านการเกษตร เปลี่ยนจากการเกษตรแบบปลูกแล้วขาย ถ้าขายไม่ได้ ก็ปิดถนน กดดันให้รัฐบาลซื้อ หรือ ให้เงินชดเชยที่เป็นวงจรในปัจจุบัน ไปเป็นการเกษตรที่มีมูลค่าสูงขึ้น คือแปรรูปพืชผลการเกษตรให้เป็นสินค้าที่มีราคาสูง เป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มมูลค่า (Bio-technology) ตัวอย่างที่เกิดผลแล้ว คือการใช้ผลลำใยไปทำเป็นครีมสารสกัดลำใย ลองกานอยด์ (Loganoid) ซึ่งขายได้มูลค่าสูงกว่าการขายผลลำใยสดเป็นร้อยเท่า

ด้านอุตสาหกรรม เปลี่ยนจากการรับจ้างทำของขาย (Original Equipment Manufacturer) ที่ผลิตสินค้าเน้นปริมาณจำนวนมากๆขายโดยได้กำไรต่อชิ้นต่อหน่วยเพียงไม่กี่บาท พอค่าเงินบาทแข็งสินค้าราคาแพงขึ้นก็ขายไม่ได้ เพราะผู้ซื้อหันไปซื้อจากประเทศที่สินค้าราคาถูกกว่า ไปเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทอลเข้ามาเพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นสินค้าจำพวกอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart devices) ที่เป็นอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในชีวิตรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีสมองกลคอมพิวเตอร์ฝังไว้ในอุปกรณ์ (Embeded technology) สร้างหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Robots) ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์ที่เป็นอิเลกทรอนิกส์ (Mechatronics) เพื่อใช้เองและขายได้ราคาสูงขึ้น

ด้านเทคโนโลยี เน้นการตอบสนองโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคอินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet of things) อินเตอร์เนตเข้ามามีส่วนในชีวิตตั้งแต่ในบ้าน ในที่ทำงาน และในพื้นที่สาธารณะในเมือง จึงต้องใช้ประโยชน์จากพลังเครือข่ายอินเตอร์เนตให้มากที่สุด คือการเน้นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในชีวิตและการทำธุรกิจ พัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อใช้บริหารจัดการกิจกรรมต่างๆ ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเครือข่ายอินเตอร์เนตให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นในผลิตภัณฑ์ และบริการ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจมากขึ้น

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประเทศไทยมีความได้เปรียบที่มีพื้นฐานการแพทย์และการสาธารณสุขที่ดีกว่าหลายๆประเทศจนคนต่างชาตินิยมเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยปีละเกินกว่าล้านคน ซึ่งสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาล ยิ่งถ้าเราเพิ่มเทคโนโลยีให้สามารถรักษาโรคที่ซับซ้อนได้โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ (Bio-technology ) เข้ามารักษาโรคและฟื้นฟูสภาพร่างกายได้ เราจะได้มูลค่าจากการให้บริการทางการแพทย์อย่างมหาศาล รวมทั้งการให้บริการเสริมอื่นๆในกลุ่มสุขภาพที่ดี (Wellness) เช่นการตรวจสุขภาพ การตรวจรักษาฟัน ซึ่งปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมจากคนต่างชาติมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายทุกอย่างถูกกว่าที่ใช้บริการในประเทศของเขามาก รวมทั้งการพัฒนาสร้างเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์เพื่อใช้เองช่วยลดรายจ่ายในการซื้อจากต่างประเทศ และสามารถขายเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ให้ประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านธุรกิจบริการ คนไทยเรามีจุดเด่นในด้านงานบริการ (Hospitality) อยู่แล้ว เมื่อเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์(Creativity) สร้างเรื่องราว เพิ่มเนื้อหา ปรับรูปลักษณ์ เน้นอัตลักษณ์ มีความเป็นไทย และ สะท้อนความหลากหลายของประเพณีวัฒนธรรมไทย (Cultural diversity) เข้าไปในธุรกิจบริการ เช่น การท่องเที่ยว สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทยให้มีความน่าสนใจมากขึ้นกว่าปัจจุบัน มีคุณภาพสูงขึ้น มีมูลค่ามากขึ้น เพราะเราสามารถทำให้สินค้าอาหาร สินค้าของท้องถิ่น มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากขึ้นได้ นำภูมิปัญญาเรื่องการนวดและสปา สมุนไพร เสื้อผ้า เครื่องประดับ งานศิลปะ ดนตรี กีฬา มาใช้ ซึ่งทุกอย่างล้วนสามารถสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นได้อย่างมากมาย

การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นจะสร้างความสมดุลย์ทางรายได้ให้ประเทศ ทำให้เราไม่ต้องพึ่งพารายได้การส่งออกมากจนเกินไป และสามารถลดการสั่งซื้อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลง ทำให้เราพึ่งตนเองได้มากขึ้น ซึ่งเป็นความมั่นคงระยะยาว

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ประชาชนคนไทยในยุค Thailand 4.0 ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่หมด คือต้องตั้งกระบวนทัศน์ใหม่เลย ระบบความคิดในการศึกษาแบบเดิมต้องเปลี่ยนใหม่ให้ตอบสนองต่อพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21

  • จากการเรียนในห้องเรียนแบบท่องจำแล้วสอบว่าจำได้เก่งแค่ไหนตามมาตรฐานการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้เด็กทุกคนต้องเรียนเหมือนกันหมด ไม่ว่าเด็กจะอยากเป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นนักธุรกิจ เป็นนักแสดง เป็นนักดนตรี เปลี่ยนเป็นการเรียนแบบมีเป้าประสงค์เฉพาะคน (Purposeful personalized learning) ตามอาชีพที่เด็กอยากเป็น ตามความรักความชอบ (Passion) ความไฝ่ฝันของเด็ก คือเรียนอย่างมีเป้าหมายตามความอยากรู้ ความชอบ ความรักหลงไหล

  • จากการเรียนแบบครูว่านักเรียนฟัง (Passive learning) เด็กไม่มีบทบาทในการเรียนรู้ เปลี่ยนเป็นการเรียนแบบนักเรียนมีบทบาทในการเรียนรู้ (Active learning) เด็กอยากเรียนรู้อะไร เด็กต้องแสวงหาความรู้นั้น โดยมีโรงเรียนและ ครูผู้สอนเป็นผู้อำนวยความรู้ (Knowledge facilitators) ให้นักเรียนเรียนรู้

  • จากการเรียนแบบเอาข้อมูลข้อเท็จจริง (Fact based learning) ในตำรามาบอกให้นักเรียนรู้และจดจำ เปลี่ยนเป็นการเรียนแบบให้นักเรียนรู้จักคิด (Idea based learning) เพื่อสร้างการคิดเป็น วางแผนเป็น แก้ปัญหาเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักสร้างนวัตกรรม ให้แก่นักเรียน

  • จากการเรียนแบบแข่งขันเอาคะแนน (Competitive based learning) เป็นตัววัดความสำเร็จของแต่ละคน ต่างคนต่างเรียนเพื่อเอาชนะกัน (Individual based learning) ซึ่งสอนให้คนต้องเอาชนะคนอื่น เอาเปรียบคนอื่น จนถึงขั้นต้องโกงคนอื่น เปลี่ยนเป็นการเรียนแบบนักเรียนช่วยกันคิดช่วยกันทำและเรียนรู้ร่วมกัน เป็นการเรียนแบบแบ่งปัน (Sharing based learning) เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง เวลาทำงานทำมาหากิน เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องทำงานร่วมกับคนอื่นถึงจะสำเร็จ รู้จักแบ่งปันพึ่งพาอาศัยกัน ทำงานเป็นทีม

  • จากการเรียนบนพื้นฐานรู้แต่ทฤษฏี (Theory based learning) เรียนรู้ทฤษฏี จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ เปลี่ยนเป็นการเรียนเพื่อเอาทฤษฏีไปปฏิบัติ (Theory in practice) ในชีวิตจริง เป็นการเรียนที่เน้นผลลัพท์ (Result based learning) นำทฤษฏีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง ค้นคว้าทดลอง เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ พัฒนาทฤษฏีมาเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าที่ขายได้

การเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ใหม่นี้ เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องยากยิ่งของประเทศไทย เพราะต้องเปลี่ยนความคิดของนักบริหารการศึกษาระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ  ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานของข้าราชการในกรมกองและอาจารย์ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอีกเป็นแสนๆคน ต้องเปลี่ยนความคิดของเจ้าของและผู้บริหารโรงเรียน และมหาวิทยาลัยเอกชน รวมทั้งครูอาจารย์อีกเป็นแสนคนที่ทำงานในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชน และต้องเปลี่ยนทัศนะคติ ความคิดของผู้ปกครองนักเรียนทั้งประเทศอีกหลายล้านคน จึงเป็นงานที่ท้าทายความสามารถของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างยิ่ง เพราะระบบการศึกษาต้องใช้เวลาอย่างต่ำถึง 12 ปี ถึงจะสร้างคนที่มีความคิดและทัศนคติใหม่ได้ ขอเป็นกำลังใจให้ท่านรัฐมนตรีว่าการ และท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการในการปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการ

Nelson Mandela กล่าวว่า “Education is the most powerful weapon which you can use to change the world.” การศึกษาคืออาวุธที่ทรงพลังที่สุดซึ่งคุณสามารถ ใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลกได้

Benjamin Franklin กล่าวว่า “An investment in knowledge pays the best interest.” การลงทุนในเรื่องความรู้จ่ายดอกเบี้ยตอบแทนสูงสุด

Malcolm X กล่าวว่า “Education is the passport to the future, for tomorrow belongs to those who prepare for it today.” การศึกษาคือหนังสือเดินทางไปสู่ อนาคต เพราะวันพรุ่งนี้เป็นของคนที่ได้เตรียมตัวเพื่อมันในวันนี้

เข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประเทศไทยด้วยกันนะครับ

ซินเหนียนไคว้เล่อ กงซีฟาไฉ ต้าจี๋ต้าลี่ หลงหม่าจินเสิน
ขอให้มีความสุขวันปีใหม่ ขอให้ร่ำรวย ค้าขายได้กำไร สุขภาพแข็งแรง ครับ

ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล: ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ ศ.ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์
และภาพจาก admissionpremium.com

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

Thailand 4.0 ตอนที่ 1



“The Lord will not let a good man starve to death, nor will He let the wicked man’s riches continue forever.”           Proverbs 10:3

เริ่มต้นปีใหม่ ต้องคิดถึงสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาและตลอดไป อยู่ที่เราจะมองไปข้างหลังหรือมองไปข้างหน้า ข้างหลังคือปีที่ผ่านไปเป็นสิ่งที่เราก้าวผ่านมาแล้ว ไม่ว่าเรา มีความสำเร็จ หรือมีความผิดหวังเกิดขึ้นในชีวิต ล้วนกลายเป็นบทเรียนที่มีค่าให้เรานำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อ ทำให้เกิดความสำเร็จมากขึ้น หรือ ไม่ให้เกิดความผิดหวังแบบเดิมซ้ำอีก

ในปีที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า Thailand 4.0 จากท่านนายกรัฐมนตรีค่อนข้างบ่อย แต่ไม่ค่อยมีสื่อตามออก มาอธิบายให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างเพื่อให้คนระดับชาวบ้านทั่วไปได้เข้าใจกันอย่างทั่วถึง มีแต่การพูด กันในแวดวงนักวิชาการ ข้าราชการ ในเวทีประชุมสัมมนาของนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม ชาวบ้านทั่วไป ยังไม่รู้โดยภาพรวมทั้งหมดว่า Thailand 4.0 คืออะไร แล้วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีผลกระทบต่อชีวิต ของประชาชนชาวไทยอย่างไร ประชาชนชาวไทยในสังคม Thailand 4.0 ที่ว่านี้ จะต้องคิดและทำอะไรบ้าง
ถึงจะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

Thailand 4.0 เป็นชื่อเรียก ประเทศไทยที่จะพัฒนาทางเศรษฐกิจไปในอนาคตอีกไม่นาน ตัวเลข 4.0 หมายถึง  เศรษฐกิจของประเทศไทยที่แบ่งออกเป็นช่วงๆ ตามลักษณะของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเรียก

Thailand 1.0 เป็นช่วงที่ประเทศไทยยังเป็นสังคมเกษตรกรรม มีรายได้หลักของประเทศมาจากการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปอ ฝ้าย ยังมีอุตสาหกรรมน้อย มีโรงงานขนาดเล็กๆ เช่น โรงสีข้าว โรงงานทอผ้า โรงเลื่อย โรงน้ำแข็ง โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงกลึง เป็นต้น

Thailand 2.0 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเบา (Light industry) ตั้งในประเทศ ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ได้บ้าง แต่เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ รายได้ของประเทศไทยยังคงมาจากการเกษตร เป็นรายได้จากการขายทรัพยากรธรมชาติ และจากการขาย แรงงานที่ราคาถูก จึงเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเบาเข้ามาตั้งในประเทศ

Thailand 3.0 เป็นช่วงที่ประเทศไทยส่งเสริมการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำให้เกิดนิคม อุตสาหกรรมขึ้นทั่วประเทศ รัฐบาลให้บัตรส่งเสริมการลงทุนให้สิทธิพิเศษต่างๆแก่นักลงทุน เพื่อให้ต่างชาติ นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นำผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทักษะ และนำเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาในประเทศ เป็นช่วงที่เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างรวดเร็ว ประเทศไทยนอกจากการ มีรายได้จากการเกษตรแล้ว ยังมีรายได้จากการส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศ และมีรายได้จากภาคบริการ คือการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งในเวลานี้ถือว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปลายๆของ Thailand 3.0 และ กำลังเคลื่อนเข้าสู่

Thailand 4.0 คือช่วงที่รัฐบาลวางแผนทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยมีรายได้จากการเพิ่มมูลค่า ทั้งภาค การผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการมากขึ้น เรียกว่า Value Based Economy คือสร้างมูลค่าให้ สินค้าหรือบริการที่เราผลิตและขายมีมูลค่าสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลาที่ผ่านมา เราใช้ทรัพยากรมูลค่ามหาศาลเพื่อผลิตสินค้าและขายสินค้าในปริมาณมากๆเพื่อสร้างรายได้ซึ่งเป็นรายได้ ที่ทำกำไรได้เพียงเล็กน้อย เรียกว่าทำมากแต่ได้น้อย (More for less) เหมือนที่เราพูดว่าขายข้าวถึง 5 ต้น แต่ซื้อโทรศัพท์มือถือได้เพียงเครื่องเดียว ซึ่งเวลานี้ทรัพยากรของเราไม่ได้มีมากมายเหมือนในอดีตอีกแล้ว จึงต้องหาวิธีการสร้างรายได้แบบใหม่ คือใช้ทรัพยากรน้อยแต่ทำรายได้มาก หรือ ทำน้อยแต่ได้มาก (Less for more) ซึ่งดีแน่ๆใครๆก็อยากได้ แต่การจะทำอย่างนี้ได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างการสร้างรายได้ใหม่ เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ คือเปลี่ยนแปลงจากการสร้างรายได้จาก อุตสาหกรรมหนักด้านเดียว ไปเป็นการสร้างรายได้จากการขายเทคโนโลยี (Industries to Technology) หลายด้านที่มีมูลค่าสูงกว่า และ เปลี่ยนรายได้จากการผลิตและขายสินค้าทั่วๆไป (Commodities) เป็นการผลิตและขายสินค้าที่มีนวัตกรรม (Commodities to Innovation) ที่เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น

การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าสูง เป็นความจำเป็นที่ประเทศ ไทยต้องทำ เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ล้วนมีโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าทั้งสิ้น ตัวอย่างประเทศในอาเซียนด้วยกันคือประเทศสิงคโปร์ เกาะเล็กนิดเดียว ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรเลย แต่มีโครงสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานการทำธุรกิจบวกมูลค่า สามารถพัฒนา เป็นประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในระดับต้นๆของโลก โดยใช้เวลาการสร้างประเทศเพียงครึ่งศตวรรษเท่านั้น

ประเทศไทยเคยใช้ความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้งและทรัพยากรราคาถูก ที่เรียกว่า Comparative Advantage เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และประสบความสำเร็จ สามารถทำมาค้าขาย ได้ดีในระดับหนึ่ง จนเคยได้รับการจับตามองว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่าง ต่อเนื่องของอาเซียน มาบัดนี้ เมื่อประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่การผลิตเพื่อขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่า สูงขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆอีกต่อไป เพราะความได้เปรียบจากการเปรียบเทียบแบบเดิมกำลังหมดไป เนื่องจาก ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงมากขึ้น และการแข่งขันในเวทีใหม่จะเป็นการแข่งขันที่ต้องชิงความได้เปรียบ ในการแข่งขัน ที่เรียกว่า Competitive Advantage เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนาทุกประเทศ ต่างพากัน หนีกับดักรายได้ประชาชาติปานกลาง ที่เรียกว่า Middle Income Trap คือไม่ถึงกับเป็นประเทศยากจน แต่คนในประเทศส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลาง ส่วนคนรวยในประเทศมีจำนวนน้อยแต่กลับร่ำรวยมหาศาล เพราะการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth distribution) ของสังคมไม่ดี ไม่มีความเป็นธรรม (Inequality) แบบปลาใหญ่ไล่งับปลาเล็ก และมีความไม่สมดุล (Imbalance) ของการใช้ทรัพยากร และกฎหมายอยู่มาก

การที่ประเทศไทยจะก้าวให้พ้นจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางนี้ ประชาชนทั้งประเทศต้องมีความรู้ และความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประชาชน เป็นส่วนของการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยตรง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ถ้าคนในประเทศไม่ร่วมมือทำอย่างจริงจัง จะทำไม่สำเร็จ และจะทำในประเทศตกอยู่ในตำแหน่งที่ลำบากมากขึ้น เมื่อประเทศอื่นๆในอาเซียนเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียตนาม ฟิลิปปินส์ และพม่า ก้าวแซงหน้าประเทศไทย

Thailand 4.0 คาดหวังว่า ประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่อง

  • การเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรกรรม คือเปลี่ยนการเกษตรแบบที่ทำตามๆกันมา(Traditional Farming) ไปเป็นการเกษตรกรรมแบบชาญฉลาด (Smart Farming) คือใช้ความรู้ ใช้เทคโนโลยี ใช้สารสนเทศ ใช้ศาสตร์การบริหารจัดการ การตลาด เข้ามาวางแผน ควบคุมคุณภาพ การลงทุนและค่าใช้จ่าย มีการวิจัยพัฒนา สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แปรรูปผลผลิตให้เป็นสินค้าที่มี คุณภาพสูงและมูลค่าสูงขึ้นด้วย

  • การเปลี่ยนแปลงการค้าขายของผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยทำตามกันมา (Traditional SMEs) ไปเป็นการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ชาญฉลาด (Smart Enterprises และ Startups) เช่นกัน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องใช้ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ มีการซื้อนวัตกรรม มีการลงทุน มีการบริหาร การจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่ตอบสนองต่อการแข่งขันและยืด หยุ่นต่อบริบทการเปลี่ยนแปลง เพื่อสามารถแข่งขันได้อย่างรวดเร็วเพราะโลกการแข่งขันเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา ดังนั้นการลงทุนจึงต้องหวังผลตอบแทนสูงและคุ้มทุนในเวลารวดเร็ว จะต้องมีนวัตกรรม ใหม่ ที่มั่นใจว่าเมื่อปล่อยของออกไปแล้วจะรับทรัพย์อย่างแน่นอน ถึงจะลงทุนตั้งธุรกิจ (Startups) ซึ่งจะไม่ยากในการหาเงินลงทุน เพราะมีนายทุนและสถาบันการเงินจ้องร่วมลงทุน เพื่อผลตอบแทน ที่สูงอยู่แล้ว  ผู้ประกอบการจะไม่ตั้งธุรกิจก่อนตามกระแส แล้วค่อยไปลุ้นอีกทีว่าธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ แบบที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน

  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี คือเปลี่ยนจากผู้ซื้อเทคโนโลยีมาใช้ (Buy technologies) มาเป็น ผู้ทำเทคโนโลยีใช้และขาย (Make technologies) เพราะคนไทยเป็นนักซื้อเทคโนโลยีที่เร็วมาก แต่ใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยคุ้มค่า แต่ละปีประเทศเราเสียเงินจำนวนมหาศาลซื้อเทคโนโลยีเข้าประเทศ จึงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่มาสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้และขาย ซึ่งจริงๆแล้วเรามีเซียน และเทพที่เก่งทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีจำนวนไม่น้อย แต่พวกเขาต้องรับทำงานให้ต่างชาติ เพราะไม่ค่อยมีโครงการขนาดใหญ่ของไทยให้ทำ และผลตอบแทนไม่จูงใจ ขณะเดียวกันยังมี เซียนและเทพที่เก่งทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่น้อย ถ้าเราเปิดโอกาสให้เซียนและเทพทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเหล่านี้ มีโอกาสทำงานแสดงความสามารถของพวกเขา ผ่านโครงการใหญ่ๆของรัฐบาล และให้ได้รับผลตอบ แทนที่เหมาะสม เราน่าจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ จากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทางเทคโนโลยีนี้

  • การเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจบริการจากที่ทำแบบเดิมๆ (Traditional Services) เป็นการทำธุรกิจ บริการแบบมูลค่าสูง (High Value Services) ซึ่งคนไทยโดยธรรมชาติมีน้ำใจบริการ (Service mind) อยู่แล้ว ธุรกิจบริการนั้นครอบคลุมกว้างไปหมด ถ้ารู้จักนำไปใส่เนื้อหา เรื่องราว ปรับรูปโฉมให้ดูดี มีค่าขึ้น จะมีราคาสูงขึ้น แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่เคยร่ำรวยจากการเป็นประเทศอุตสาหกรรม เวลานี้ยัง ต้องปรับตัวหารายได้เพิ่ม หันมาทำมาหากินจากภาคธุรกิจบริการ อย่างที่รู้จักกันในชื่อนโยบาย The Cool Japan คือ ขายวัฒนธรรมของญี่ปุ่น โดยใส่เนื้อหา เรื่องราว สีสัน รูปลักษณ์ เข้าไปในดนตรี ภาพยนต์ โทรทัศน์ แฟชั่น การ์ตูน อาหาร ขนม การท่องเที่ยว เรียกนักท่องเที่ยวเข้าประเทศรับ เงินสดได้ทุกวัน จนภาคอุตสาหกรรมต้องอิจฉา ประเทศไทยเรามีวัฒนธรรมของชาติที่คนต่างชาติ ชื่นชอบนิยมอยู่แล้ว ขนาดไม่ได้ทำอะไรมากเลย คนก็แห่มาเที่ยวกรุงเทพมากเป็นอันดับต้นๆของ โลกอยู่แล้ว เชียงใหม่ก็เป็นเมืองที่หนุ่มสาวชาวจีน นิยมมาเที่ยวกันมาก ถ้าเราเอาวัฒนธรรมของแต่ ละท้องถิ่น ใส่เรื่องราว เนื้อหา เอกลักษณ์ ปรับปรุงเรื่องรูปลักษณ์ ของสินค้าให้สอดคล้องกับ วัฒนธรรม วางตำแหน่งสินค้า และบริการให้สูงขึ้น เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจภาค บริการได้อย่างแน่นอน

  • การใช้ทรัพยากรมนุษย์แบบขายแรงงาน (Unskilled Labors) ที่มีทักษะเฉพาะด้านน้อย ทำงานได้ จำกัดหน้าที่ ถ้าอยากได้เงินมากก็ต้องทำงานล่วงเวลา ใช้แรงทุบอย่างเดียว แต่เวลานี้มีประเทศที่ขาย แรงงานราคาถูกกว่าประเทศไทยอยู่หลายประเทศ นักลงทุนพากันทะยอยย้ายโรงงานไปตั้งใน ประเทศที่มีค่าแรงถูกเหล่านั้นเพิ่มขึ้น เราจึงต้องปรับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้เป็น แรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น (High Skilled Labors) และเพิ่มจำนวนคนทำงานที่มีความรู้ (Knowledge Workers) ที่สามารถสื่อสารอ่านความคิด รับผิดชอบทำงานได้หลายหน้าที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าค่าแรง ให้สูงขึ้น เป็นการดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ และทักษะระดับสูง เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ทดแทนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูกที่กำลังจะหมดไป

ทั้งหมดที่เขียนมานี้คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และคนไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) ใหม่ เพราะจะอยู่แบบเดิม คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม อีกต่อไปไม่ได้แล้ว เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเรารู้ตัวเอง และยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนความคิด และเปลี่ยนการกระทำให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราจะอยู่กับโลกได้ตลอดไป แต่ถ้าเราเปลี่ยนแปลงช้าไป โอกาสที่เราควรจะได้ใช้จะหายไป และเราจะอยู่อย่าง ลำบากในโลกที่เปลี่ยนแปลง

Stephen Covey กล่าวว่า
“If you want small changes in your life, work on your attitude. But if you want big and primary changes, work on your paradigm.” ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงเล็กๆในชีวิตของคุณ เปลี่ยนแปลงทัศนคติ แต่ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่และสำคัญมาก ให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์
คงต้องจบเพียงแค่นี้ก่อน เพื่อเอาใจคนสมัยนี้ที่ไม่ชอบอ่านอะไรยาว เพราะสมาธิสั้นลงกว่าสมัยก่อน และมีเรื่องให้อ่านกันเยอะตั้งแต่เช้ายันดึกบนโทรศัพท์มือถือ ถ้าสนใจ Thailand 4.0 ขอเชิญอ่านต่อ ในตอนต่อไปครับ

ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล: ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ ศ.ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์
และภาพจาก ฐานเศรษฐกิจ