วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ความเป็นผู้นำในยุคของความไม่แน่นอน

ความเป็นผู้นำในยุคของความไม่แน่นอน
Leadership in an Age of Uncertainty


“Are you immature? Learn to be mature. Are you foolish? Learn to have sense.”
Proverbs 8:5


เขียนเรื่องความไม่แน่นอนที่เป็นสถานการณ์ของสังคมโลกในปัจจุบันไปแล้ว ตัวเองรู้สึกว่าสังคมไทย กำลังมีความสับสน และมีความไม่แน่นอน จึงขอพักหยุดดูว่าผลการลงประชามติเพื่อรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทยก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ผลปรากฏว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนที่ห่างกันค่อนข้างมาก แต่เป็นที่น่าเสียใจที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ และระเบิดในหลายจังหวัดทางภาคใต้ตามหลัง ซึ่งน่าจะเป็นการส่งสัญญาณความไม่พึงพอใจของคนบางคน บางกลุ่ม ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ แต่การกระทำด้วยวิธีใช้ความรุนแรง ตอบโต้แบบนี้ ไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อสังคมและประเทศชาติ เพราะทำให้คนตาย บาดเจ็บ และ ทรัพย์สิน เสียหาย ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวและการลงทุน เป็นการทำร้ายสังคมและประเทศชาติอย่างไร้สติ จิตใจของผู้บงการ และผู้กระทำการก่อเหตุร้ายที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมไม่มีสันติสุขในชีวิตอย่างแน่นอน


ได้อ่านบทความเรื่อง Leadership in an age of uncertainty ของอาจารย์ Deborah Ancona  ผู้อำนวยการสถาบัน MIT Leadership Center แห่งมหาวิทยาลัย MIT Sloan School of Management แล้วเห็นว่าน่าจะเหมาะต่อการนำมาเขียนให้เป็นเรื่องต่อจากบทความที่เขียนฉบับที่แล้ว เพราะเป็นเรื่องความ เป็นผู้นำในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นสภาพจริงของสังคมในปัจจุบัน ทั้งในภาคธุรกิจ และในภาคการเมือง


อาจารย์ประจำของสถาบัน Sloan School of Management มหาวิทยาลัย MIT สี่ท่านคืออาจารย์ Wanda Orlikowski , Peter Senge, Tom Malone และตัวอาจารย์ Debora ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความเรื่องนี้ ได้ร่วมกันพัฒนากรอบความคิด (Framwork) ของความเป็นผู้นำขึ้นมาใหม่ โดยผสมผสานกับทฤษฏีผู้นำ แบบเก่าที่เข้าใจว่าผู้นำเป็นลักษณะติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งเป็นทฤษฏีที่ใช้กันมานานหลายสิบปี แต่คงไม่สามารถ นำมาใช้ได้ทั้งหมดในยุคสมัยปัจจุบันที่สังคมโลกคาดหวังว่าผู้นำต้องที่มีลักษณะที่ สัตย์ซื่อ (Honest) สร้างแรงบันดาลใจ (Inspiring) มีความเชื่อมั่นตนเอง (Self-confident) และ ปรับตัวได้เร็ว (Adaptive) นักวิชาการในปัจจุบันจึงให้ความสนใจที่พฤติกรรมและแบบวิธีการนำของผู้นำ (Behavior and style of the leader) มากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปดูที่สิ่งที่ผู้นำได้กระทำจริงๆว่าเกิดผลอย่างไร


กรอบความคิดของความเป็นผู้นำที่อาจารย์ทั้งสี่ท่านพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ จะมองว่าความเป็นผู้นำ คือการใช้ ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้นำและศักยภาพที่มีอยู่ของกลุ่มเป็นตัวการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายใต้การนำของผู้นำ


กรอบความคิดความเป็นผู้นำแบบใหม่นี้มีสมมุติฐานหลักว่า


ความเป็นผู้นำต้องกระจายออกไป Leadership is distributed
ความเป็นผู้นำไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรแต่เพียงผู้เดียว (Leadership is not solely the purview of the CEO) แต่เป็นเรื่องของคนทั้งองค์กรจึงต้องกระจายออกไปทั่วทุกระดับในองค์กร (Permete all levels of the firm)


ความเป็นผู้นำเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล และพัฒนาได้ Leadership is personal and developmental
เพราะการนำการเปลี่ยนแปลงมีหลากหลายวิธีที่ไม่เหมือนกัน วิธีที่ดีที่สุดในการนำการเปลี่ยนแปลง คือผู้นำทำงานกับความสามารถเฉพาะที่มีอยู่ในตัวของผู้นำอยู่แล้ว และพยายามพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงให้ ความเป็นผู้นำมีศักยภาพมากขึ้นและขยายความสามารถในการเป็นผู้นำให้กว้างมากขึ้น


ในกรอบความคิดความเป็นผู้นำใหม่นี้ มีองค์ประกอบหลักเรื่องศักยภาพความสามารถในการเป็นผู้นำ
( Leadership capabilities) อยู่ 4 ด้าน คือ


1.Sensemaking
คือการดูว่าเรื่องต่างๆที่ผู้นำต้องพิจารณายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่มันดูเข้าท่าสม
เหตุสมผลหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ผู้นำเป็นผู้คิดสร้างขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น และ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้นำคิดแล้วทำได้จริง ผู้นำจึงต้องหาข้อมูลหลายชนิดจากหลายแหล่งหลายระดับมาพิจารณา และให้มีคนหลายคนเข้ามามีส่วนในกระบวนการพิจารณาด้วยว่ามันเข้าทีมีเหตุมีผลจริงหรือไม่ เพราะการ เปลี่ยนแปลงจะต้องดีกว่าเก่า ต้องดีกว่าการทำแบบเดิมๆ (Stereotypes) ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เมื่อมั่นใจว่าได้มี การตรวจสอบพิจารณาความคิดกันอย่างดีรอบครอบแล้ว จึงทำการทดสอบในพื้นที่เล็กๆก่อนว่าความคิดใหม่ ที่จะทำนี้ มันจะได้ผลเป็นไปตามที่ได้คิดหวังไว้หรือไม่ ก่อนจะนำไปขยายผลลงสู่พื้นที่ใหญ่ และสิ่งสำคัญคือ ผู้นำต้องมีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพไปทั่วถึงทุกระดับในองค์กร ด้วยการชี้แจง อธิบาย เล่าเรื่องราว ยกตัวอย่าง ทำภาพประกอบ ให้ง่ายต่อการเข้าใจของคนในระดับที่แตกต่างกันด้วย



2. Relating
คือการเชื่อมโยงไปยังทุกภาคส่วนในองค์กร เพราะความเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องของคนๆเดียวแต่เป็นเรื่องของคนทั้ง
องค์กร ดังนั้นความสัมพันธ์ที่เป็นเครือข่ายทั่วทั้งองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นกุญแจสำคัญของการนำ การเปลี่ยนแปลงของผู้นำ เพราะในขณะที่ผู้นำต้องสร้างความเชื่อใจ (Trust) ความคิดในแง่ดี (Optimism) สร้างความสมานฉันท์ (Harmony) ในองค์กร แต่ต้องเจอกับเรื่องความเครียด ความโกรธ ความเกลียดชัง ความขัดแย้ง และความแตกแยกที่มีอยู่ภายในองค์กร ผู้นำจึงต้องมีความสามารถในด้านการสอบถาม (Inquiry) การสนับสนุน(Advocate) และการเชื่อมโยง (Connecting) เรื่องเข้าด้วยกัน การสอบถามเริ่มจากการ ที่ผู้นำต้องเป็นผู้ฟังที่ดี คือฟังผู้อื่นก่อน จับประเด็นการฟังให้รู้เรื่อง ฟังให้เข้าใจเสียก่อนว่าคนอื่นเขาคิด และรู้สึกอย่างไร เพราะข้อมูลชุดเดียวกัน เมื่อแปลความหมายสู่การปฏิบัติ ผู้นำอาจแปลความหมายเข้าใจ อย่างหนึ่ง ในขณะที่ผู้ปฏิบัติมีหลายคน หลายระดับ อาจแปลความหมายและมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน และมีวิธีนำไปปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ผู้นำจึงไม่ควรด่วนสรุปว่าความเข้าใจของตนเป็นความเข้าใจเดียวกัน กับผู้อื่นทั้งหมด เมื่อได้ฟังและตรวจสอบความเข้าใจให้ตรงกันแล้ว ความสามารถประการต่อมาของผู้นำ คือการสนับสนุนความคิดของตนให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งผู้นำต้องมั่นคงในจุดยืนของตนและผลักดันให้ผู้อื่น เห็นคล้อยตามความคิดของตนอย่างมีเหตุผล ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำจะไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นอื่นๆ ที่แตกต่างจากของตน ถ้าหากว่ามีข้อเสนอของผู้อื่นที่ดีกว่าของตน ผู้นำก็พร้อมรับความจริงและเปลี่ยนแปลง ได้ เพราะข้อมูลที่ผู้นำได้รับอาจไม่ครบถ้วน และความสามารถประการต่อมาคือผู้นำต้องสร้างความเชื่อมโยง ที่เป็นความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กรเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ (Collaborative relationship) ทำให้มีผู้เข้า ร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จในที่สุด


3.Visioning
คือการมองเห็นภาพอนาคต ทำให้รู้เส้นทางเดินไปสู่อนาคตขององค์กรว่าจะไปในทิศทางใด ในขณะที่การมี Sensemaking ของผู้นำทำให้รู้ว่า What is คือรู้ข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นอะไร การมีวิสัยทัศน์ของผู้นำทำให้รู้ว่า What could be  คือรู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะสามารถเป็นอะไร การมีวิสัยทัศน์เป็นสิ่งสำคัญเพราะมันสร้าง แรงจูงใจให้คนละเลิกทิ้งความคิดและวิธีการที่คิดและทำอยู่ในปัจจุบัน และมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ คิดและทำใหม่ เพื่อให้ไปถึงภาพในวิสัยทัศน์ที่บัดนี้เขาเชื่อแล้วว่าสามารถเป็นไปได้ สามารถร่วมมือกันทำได้ วิสัยทัศน์ทำให้คนในองค์กรเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมถึงต้องทำตามที่ผู้นำผลักดัน ทำไมจึงจำเป็นต้องเปลี่ยน แปลง  ผู้นำจึงต้องสามารถฉายภาพวิสัยทัศน์ให้คนเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของมัน ทำให้คนรู้สึกตื่นเต้น และอยากเข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้นำ เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และองค์กรว่า สามารถเดินไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ได้


4.Inventing
คือการสร้างสิ่งใหม่ สร้างวิธีการใหม่ในการทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่ความสำเร็จ ผู้นำต้องคิดสิ่งใหม่ในการนำ เพื่อทำให้วิสัยทัศน์เกิดเป็นความจริงในอนาคต โดยกำหนดเส้นทางและขั้นตอนในการทำงานร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพ มีจุดร่วมจุดตัดจุดต่อที่ชัดเจน มีทีมทำงานและทำงานเป็นทีม ทุกคนในองค์กรใด้ตระหนัก รู้แต่ต้นแล้วว่าสิ่งที่กำลังทำใหม่นี้จะเกิดผลกระทบอย่างไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะจัดการกับมันอย่างไร ใครเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เมื่อไหร่ และอย่างไร คือมีวงจรของ Visioning + Sensemaking   + Relating เข้ามาร่วมด้วยในการ Inventing ตลอดเวลา จริงๆแล้วความสามารถในความเป็นผู้นำทั้ง 4ประการนี้ จะต้องพึ่งพาอาศัยกันตลอด เพราะมันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน (Complementary ) ต้องใช้ผสมผสานกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช้อย่างแยกส่วนกัน


Signature style
เหมือนร้านอาหารดังที่มีอาหารจานเด่น (Signature dish) ของร้าน การเป็นผู้นำก็ต้องมี Signature style คือมี แบบการนำที่เป็นเฉพาะของตนเอง เป็นการนำแบบที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร เพราะอย่างที่ได้เรียน แต่เบื้องต้นแล้ว การนำมีหลากหลายวิธี (There is no single way to lead) เพราะผู้นำแต่ละคนมีภูมิหลัง ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ บุคลิกภาพ ความอดทนในการผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสมรภูมิการทำงานในองค์กร ที่ยากง่ายซับซ้อนแตกต่างกัน ศักยภาพความเป็นผู้นำทั้ง 4 ประการเน้นให้เห็นถึงผลการนำของผู้นำ แต่ Signature style เน้นให้เห็นว่านำโดยใคร จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าประจำตัวผู้นำว่ามีแบบการนำการ เปลี่ยนแปลงอย่างไร


Andy Stanley กล่าวว่า “Uncertainty is a permanent part of the leadership landscape. It never goes away” ความไม่แน่นอนเป็นส่วนที่แน่นอนในพื้นที่ความเป็นผู้นำ มันไม่เคยหนีไปใหน


และ Joyce Meyer กล่าวว่า
“Change is always tough. Even for those who see themselves as agents of change, the process of starting a new thing can cause times of disorientation, uncertainty and insecurity.” การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งยากเสมอ แม้กระทั่งคนที่เห็นว่าตนเองเป็นผู้สื่อของการเปลี่ยนแปลง กระบวนการของการเริ่มสิ่งใหม่ อาจทำให้เกิดความสับสน ความไม่แน่ใจ และความรู้สึกไม่ปลอดภัย



เรากำลังจะไปสู่ Thailand 4.0 ช่วยกันหน่อยครับ



แหล่งที่มา: Leadership in an Age of Uncertainty / MIT Leadership Center

3 ความคิดเห็น: