วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2560


บทส่งท้ายปี 2560


“The Lord takes pleasure in his people: he honors the humble with victory.”                 Psalm 149:4


ต้องขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่ได้ผ่านเข้ามาอ่าน Blog ที่ผมเขียน และต้องขออภัยท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่องที่ผมเขียนที่ปีนี้ผมเขียนน้อยลงมาก เนื่องจากเป็นปีแห่งการสูญเสียพระมหากษัตริย์ที่ปวงชนชาวไทยเคารพรักและชื่นชมในพระบารมีของพระองค์ที่ทรงเสียสละอย่างมากตลอดเวลาที่พระองค์ทรงครองแผ่นดินอย่างเป็นธรรมเพื่อความสุขที่มากขึ้นของประชาชนชาวไทยและความเจริญที่มากขึ้นของประเทศไทย

เรื่องราวทั่วไปในสังคมของประเทศไทยที่พูดกันมากในปีนี้คือเรื่อง Thailand 4.0 แต่ความก้าวหน้าในเรื่องนี้มีให้เห็นเป็นรูปธรรมไม่มากนัก ยังคงเป็นแค่กระแสวาทะกรรมที่พูดกันอย่างผิวเผิน คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจในรายละเอียดด้านลึกของเรื่องการปรับตัวของประเทศไทยมากนัก คงกำลังรอให้มีระบบการเมืองปกติเข้ามาก่อนหรือเปล่าไม่ทราบ?

ส่วนเรื่องที่น่ากังวลสำหรับสังคมไทยในเวลานี้และต่อเนื่องไปในอนาคตอันใกล้คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเทคโนโลยีที่มีผลอย่างเฉียบพลันทำให้วิธีทำธุรกิจด้วยเทคโนโลยีเดิมไม่สามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ที่เรียกว่า Disruptive Technology  ซึ่งเวลานี้เราได้เห็นผลเกิดขึ้นแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกาได้อย่างค่อนข้างชัดเจน

เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Kodak ล้มเมื่อหลายปีก่อน ก็เป็นกระแสกรณีศึกษาทั้งผู้บริหารในองค์กรต่างๆและนักศึกษาสาขาการบริหารธุรกิจในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วโลก และสรุปกันว่าที่ Kodak ล้มเป็นเพราะผู้บริหารองค์กรไม่ยอมปรับตัวและเพราะคนในองค์กรยึดติดความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในอดีตขององค์กรมากจนเกินไปและไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องเทคโนโลยีใหม่เท่าที่ควร ทั้งที่เป็นโอกาสและภัยคุกคาม ทำให้ Kodak พลาดโอกาสในการป้องกันตัวและพลาดโอกาสในการปรับตัวเข้าไปใช้ประโยชน์ในเทคโนโลยีใหม่ ในขณะที่บริษัทคู่แข่งเช่น Fuji Film จากญี่ปุ่นแม้จะอยู่ห่างชั้นกว่าในตลาดสินค้าเดียวกัน แต่ Fuji Film รีบปรับตัวก่อนจึงสามารถปรับตัวได้ทันเวลา ทำให้ยังมีชีวิตรอดอยู่จนถึงปัจจุบัน

แต่มาถึงปีนี้ปรากฏว่ามีบริษัทใหญ่ๆในสหรัฐอเมริกาปิดธุรกิจกันอีกมากมาย Business Insider รายงานว่าปี 2017 มีบริษัทที่ทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าของสหรัฐอเมริกา ปิดกิจการไปแล้วมากกว่า 6,400 แห่ง
 
 

มาดูความเคลื่อนไหวในบ้านเราบ้าง น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ปิด สาขาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนของปีนี้ ธนาคารพาณิชย์ปิดสาขาไปแล้ว 175 สาขา หรือมีสาขาทั้งหมดอยู่ที่ 6,841 สาขา จากสิ้นปีก่อนมีอยู่จำนวน 7,016 สาขา ข้อมูลจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์บนเว็บธนาคารแห่งประเทศไทย ณ เดือน ตุลาคม 2560 พบว่า สาขาของธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดปรับลดลงอีกจากเดือน กันยายน โดยมีสาขาทั้งหมดอยู่ที่ 6,800 สาขา ปรับลดลง 216 สาขา จากสิ้นปีก่อน โดยธนาคารที่ปิดสาขามากที่สุด คือ กรุงไทย 85 สาขา รองลงมาคือ กสิกรไทย 82 สาขา และธนาคารธนชาต 64 สาขา

มองในด้านบวกถือว่าเป็นข่าวดีที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยรีบตัดสินใจปิดสาขาไม่ปล่อยให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายสะสมให้กับธนาคาร และหันไปปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ลงทุนเปิดธนาคารสาขาขนาดจิ๋วในทำเลที่เกิดผลประโยชน์มากกว่าแทน

คลื่นเงียบเหมือนทะเลสงบ อดหวั่นใจอยู่เหมือนกันว่าจะมีสึนามิทางธุรกิจเข้าประเทศไทยในปีหน้าหรือไม่ ขอให้เฝ้าระวัง ถึงอย่างไรปีหน้าก็จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนคนไทยต้องปรับตัวอยู่แล้ว

สำหรับปีนี้ ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณทุกท่านที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและอ่านเรื่องที่เขียน หวังว่าท่านจะได้รับประโยชน์บ้างนะครับ หากมีข้อมูลใดที่คลาดเคลื่อนไปบ้าง ข้อเขียนที่ทำให้ท่านขุ่นเคืองอารมณ์ขอได้โปรดให้อภัยด้วยครับ

ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าได้โปรดประทานพระพรแห่งความสงบสุขในจิตใจ ความแข็งแรงของสุขภาพร่างกาย และความร่าเริงแจ่มใสยินดีแก่ทุกท่าน

สวัสดีปีใหม่ HAPPY NEW YEAR 2018 ครับ

 

วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สถิตในดวงใจนิรันดร



 
 
วันนี้เป็นวันที่สุดเศร้าใจในหัวใจชาวไทยทุกคน

แม้จะรู้แก่ใจว่าวันที่ใจหายนี้จะต้องมาถึง

แต่หัวใจของชาวไทยที่จงรักภักดีต่อ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ของปวงชนชาวไทย

ยังทำใจยอมรับไม่ได้

วันนี้ปวงชนชาวไทยได้รวมใจเป็นหนึ่งน้อมถวายความจงรักภักดีอย่างสูงสุด

เมื่อขบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระมหาพิชัยราชรถที่อัญเชิญพระบรมโกศทองใหญ่ประดิษฐานในบุษบก มาถึง

แม้แสงแดดจะร้อนระอุแผดเผา หรือ สายฝนเย็นฉ่ำจะตกกระหน่ำนองพื้น

ชาวไทยหมอบกราบถวายความเคารพพระบรมศพเป็นครั้งสุดท้ายด้วยหัวใจสลายน้ำตาอาบใบหน้า

 

ขบวนพระราชอิสริยยศ พระบรมโกศทองใหญ่ประดิษฐานในบุษบกพระมหาพิชัยราชรถ พระเมรุมาศ และพระราชพิธีอันศักดิ์สิทธิในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ทุกขั้นตอนตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงค่ำคืนจะติดตราตรึงในหัวใจชาวไทยตลอดไป

 
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงของพระมหากษัตริย์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ความรักของพระองค์ที่พระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์ตลอดเวลาอันยาวนานในรัชกาลของพระองค์ไม่มีวันจะลบออกจากหัวใจประชาชนชาวไทย

จากวันนี้เป็นต้นไป เป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยที่จะปฏิบัติหน้าที่พลเมืองที่ดีเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์

เราจะรักรวมใจกันเป็นหนึ่งไม่แตกแยก

เราจะมองไปในอนาคตข้างหน้าด้วยความหวังร่วมกัน

เราจะช่วยกันนำประเทศไทยให้ก้าวไกลไปข้างหน้า

เราจะอดทนและขยันทำงานหนักขึ้นเพื่อความเจริญของประเทศไทย

เราจะไม่เห็นแก่ตัวเอาเปรียบผู้อื่นเพื่อความสุขสบายของตัวเอง

เราจะใส่ใจในความทุกข์ยากของเพื่อนพี่น้องร่วมชาติ

เราจะสัตย์ซื่อต่อตัวเองและประเทศชาติ

เราจะน้อมนำทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์มาปฏิบัติอย่างจริงใจและจริงจัง

เราจะทำให้ศาสตร์ของพระราชาเป็นรูปแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ผู้นำทั้งโลกจะนำไปปฏิบัติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก

เราจะนำน้ำใจไทยที่เกื้อกูลต่อกันกลับมาอยู่ในสังคมไทย

เราจะทำให้การแก่งแย่งกลายเป็นการแบ่งปัน

เราจะทำให้ความชิงชังกลายเป็นความชื่นชม

เพื่อพระราชปณิธานอันสูงสุดของพระองค์จะเป็นจริง

 

สมชัย ศิริสุจินต์

๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐
 
ขอบคุณภาพ จาก คมชัดลึก เดลินิวส์

วันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560

แล้วเราจะแข่งขันได้หรือ ?



“He who keeps instruction is in the way of life, but he who refuses correction goes astray.”                                Proverbs 10:17


ข่าวเรื่องผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัทจัดอันดับที่ทั่วโลกยอมรับเช่น Moodys, S&P, Fitch และ Japan Credit Rating Agency, Ltd (JCR) ต่างจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในอันดับที่ดีขึ้นกว่าเดิม และมองว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพ (Stable outlook) ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นและการส่งออกของประเทศที่เริ่มกระเตื้องขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งการที่รัฐบาลมีกรอบวินัยการคลังที่รัดกุมเข้มงวด ทำให้อัตราส่วนหนี้สินรัฐบาลต่อผลิตผลมวลรวมประชาชาติ (Government debt to GDP) ลดลงมาอยู่ที่ 41.20 % ลดลงจากระดับที่เคยอยู่สูงสุดที่ 57.80% เป็นข่าวในด้านบวกของประเทศไทยที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่นัก เพราะมีข่าวดังและข่าวด้านลบที่ดึงความสนใจของคนไทยได้มากกว่า

สิ่งที่น่ากังวลในอนาคตของประเทศไทยแม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม คือความสามารถในการแข่งขันต่อไปในอนาคตของประเทศไทย เนื่องจากประชากรวัยทำงานของประเทศไทยกำลังมีแนวโน้มลดลงในขณะที่ประชากรสูงอายุกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้มีความต้องการด้านแรงงานสูงขึ้น เป็นเหตุทำให้อัตราค่าจ้างมีแนวโน้มต้องปรับตัวสูงขึ้น ตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนและขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างแน่นอน

เรื่องทรัพยากรบุคคลเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศ เพราะการลงทุนและการขยายตัวทางธุรกิจ ล้วนต้องอาศัยความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นที่ท้าทายศักยภาพของประเทศไทยคือ การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์คือคนไทยทั้งประเทศให้มีความพร้อมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แม้รัฐบาลไทยจะมีความตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และได้มีการชูประเด็นเรื่อง Thailand 4.0 เพื่อพยายามนำประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประเทศสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในอนาคต แต่ลักษณะนิสัยของคนไทยไม่ชอบคิดอะไรไกลกว่าวันพรุ่งนี้ ไม่ชอบเรื่องหนักเรื่องเครียดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงพอคาดคะเนได้ว่า เรื่อง Thailand 4.0 คงไปได้แบบเชื่องช้าตามธรรมชาติคนไทยที่ชอบเรื่องเบาๆสนุกสนานมากกว่า

จริงๆแล้วนานาประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวรับการเปลี่ยนแปลงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 ซึ่งเขาบอกว่า มันมีคุณลักษณะที่แตกต่างไปจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 3 ค่อนข้างมาก เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบก่อนหน้านี้ มันมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆเพิ่มความก้าวหน้าทันสมัยทางเทคโนโลยีในจังหวะก้าวของการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบเส้นตรง (Linear pace) แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 นี้ กำลังอยู่บนพื้นฐานของการเติบโตของดิจิตอลเทคโนโลยี ดังนั้นจังหวะก้าวของการเปลี่ยนแปลงมันจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วแบบเลขยกกำลัง (Exponential pace) ผลกระทบของมันจึงมากแบบทวีคูณ และเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบเข้าไปแทนที่เทคโนโลยีเก่าแบบพลิกโฉมหน้า (Disrupting) กันไปเลย ความกว้าง (Breadth) และความลึก (Depth) ของการเปลี่ยนแปลงรอบนี้ มันเกิดผลกระทบไปทุกระบบ ทั้งระบบการผลิต การบริหารจัดการ ของทุกธุรกิจอุตสาหกรรมทุกประเภท ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจสังคม และระบบการเมืองการปกครองประเทศ

ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้คือข่าวเรื่องห้าง Toy R Us ที่ขายสินค้าของเล่นเด็กที่คนไทยรู้จักกันดี เพราะมีร้านนี้อยู่ตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่งทั่วประเทศไทย เวลานี้บริษัทกำลังเตรียมยื่นเรื่องต่อศาลในสหรัฐอเมริกาเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์สินและบริหารจัดการทรัพย์สินหนี้สินตามกฏหมายล้มละลาย Chapter 11 เพราะบริษัทมีปัญหาหนี้สินและกระแสเงินสด แม้ห้าง Toy R Us ทั่วโลกจะยังไม่ปิดกิจการ และในประเทศจีนยังเปิดห้างเพิ่มอยู่ก็ตาม แต่อนาคตของห้างคงไม่แจ่มจรัสเหมือนในอดีตแน่

สาเหตุหลักที่ทำให้ห้างใหญ่อย่าง Toy R Us ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของธุรกิจขายของเล่นเด็กที่มีสาขาทั่วโลกต้องพบกับวิกฤติในเวลานี้ คือ ธุรกิจไม่สามารถปรับตัวให้แข่งขันได้ในสนามธุรกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สินค้าของเล่นเด็กแบบธรรมดาทั่วไปที่เคยขายได้ดีในสหรัฐอเมริกา พ่อแม่พาลูกๆไปซื้อจากห้าง Walmart ซึ่งมีราคาถูกกว่า เพราะสั่งนำเข้ามาจากประเทศจีน ส่วนสินค้าของเล่นเด็กรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ เป็นสินค้าราคาแพง พ่อแม่กลับไปสั่งซื้อทาง Online จาก Amazon ให้ลูก เจอการแข่งขันแบบตัดล่างตัดบนแบบนี้ยักษ์ใหญ่อย่าง Toy R Us ก็หายใจหอบและมีสิทธิล้มได้

กระแสห้างใหญ่ทยอยล้มนี้ก็คงมีให้เห็นกันอีก อย่างที่เราเคยเห็นบริษัทขายฟิลม์ Kodak ล้มไปก่อนหน้านี้แล้วหลายปี ห้างขายรองเท้าที่เคยฮือฮากันอย่าง Payless ShoeSource ก็กำลังจะโบกมือลาไล่ปิดสาขาทั่วประเทศ เช่นเดียวกับห้างขายเสื้อผ้าเด็กอย่าง Gymboree ก็แพ้ภัยการสั่งซื้อสินค้าบนห้าง Internet เหมือนกัน กำลังปิดสาขาแข่งกันอยู่ เวลานี้กำลังมองว่าห้างดังคู่บ้านคู่เมืองของสหรัฐอเมริกาอย่าง Sears จะทนสู้อยู่ทนไปได้อีกกี่เดือนเพราะตอนนี้ประกาศปิดสาขาทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาไปหลายร้อยสาขาแล้ว หรือห้าง JC Penney ที่เป็นห้างหรูคู่สังคมอเมริกามานานก็ทยอยปิดสาขาทั่วประเทศเช่นกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ในเวลานี้เป็นเพราะบริบทการทำธุรกิจในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4  บนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่มาเร็วและมาแรง กำลังเปลี่ยนระบบการบริโภคและวิถีชีวิตของสังคมโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน และอีกไม่นานในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเคลื่อนเข้าสู่การใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) การใช้หุ่นยนต์ (Robotics) การใช้อินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet of Things) การใช้พาหนะอัตโนมัติไร้คนขับ (Autonomous vehicles) การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3-D printing) การผลิตสินค้าด้วยนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) การใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Biotechnology) การผลิตวัตถุทางวิทนาศาสตร์ (Material science) การเก็บรักษาพลังงาน(Energy storage) และการระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ที่เรียกว่า คอวนตัม (Quantum computing) ซึ่งจะมีความเร็วมากกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเป็นพันเท่า นึกไม่ออกเหมือนกันว่าธุรกิจในอนาคตจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากสักเพียงใด

แน่นอนว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะการเปลี่ยนแปลงในรอบนี้คนเป็นพันๆล้านทั่วโลกสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย ด้วยเวลานี้คนทั่วโลกมีโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆที่ราคาถูกลงจนคนทั่วโลกสามารถเป็นเจ้าของได้ และโทรศัพท์มือถือปัจจุบันมีพลัง มีเนื้อที่เก็บข้อมูล มีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารความรู้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถช่วยทำให้รอบของการพัฒนาเทคโนโลยีรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น มีผลกระทบในวงกว้างขึ้น และทำให้ผู้ที่ปรับตัวไม่ทันเจ็บตัวมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ Erik Brynjolfsson และ Andrew McAfee ได้แสดงทัศนะว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 นี้ ดิจิตอลเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นจนสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบหมด สังคมเราจะมีช่องว่างถ่างกว้างห่างกันมากขึ้นระหว่างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กับผลตอบแทนทางแรงงาน เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือคนที่มีทุนทรัพย์ด้านการเงิน กับคนที่มีความรู้และทักษะขั้นสูง ตลาดแรงงานระดับบนต้องการคนที่มีความรู้และทักษะขั้นสูง ส่วนตลาดแรงงานระดับล่างต้องการคนไปทำงานที่ใช้หุ่นยนต์ทำแล้วไม่คุ้ม ส่วนแรงงานที่มีความรู้และทักษะครึ่งๆกลางๆซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมจะหางานทำลำบาก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 นี้ จึงเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศ เพราะถ้ารู้ทันและเตรียมตัวดีเราสามารถใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำมาหากินได้อีกกว้างไกล แต่ต้องพัฒนาคนในประเทศให้หนีชั้นขึ้นไปเป็นทรัพยากรแรงงานตลาดบน มีความรู้มีทักษะสูง ที่ได้ค่าตอบแทนสูง แต่ถ้าคนในประเทศมัวแต่นั่งรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลไปวันๆ ไม่ดิ้นรนพัฒนาตนเองให้ตามทันกระแสการเปลี่ยนแปลง ถ้าเดินไปไม่ถึง Thailand 4.0 การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 นี้ จะเป็นภัยคุกคามประเทศไทยที่จะทำให้ลูกหลานของเราในอนาคตมีชีวิตที่ลำบากแน่นอน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 เป็นเหมือนกระแสลมที่พัดไปทั่วโลก ที่เราไม่สามารถไปต้าน หรือไปเปลี่ยนกระแสลมให้พัดไปทางอื่นได้ อยู่ที่ว่าเรามีความฉลาดมีความพยายามที่จะใช้กระแสลมส่งให้ประเทศไทยพัดไปในทิศทางที่เราต้องการได้มากน้อยเพียงใด เหมือนดังที่

Jimmy Dean กล่าวไว้ว่า

I can't change the direction of the wind, but I can adjust my sails to always reach my destination.” ข้าพเจ้าไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการพัดของลม แต่ข้าพเจ้าสามารถปรับเรือให้แล่นไปถึงจุดหมายได้เสมอ
เขียนแล้วเครียดครับ

ที่มา: Businessinsider.com

วันจันทร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เทคโนโลยีในชีวิต



“Wise men lay up knowledge: but the mouth of the foolish is near destruction”                 Proverbs10:14

ระยะนี้ได้เห็นเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีผ่านสื่อสังคมทั้ง Facebok และ Line กันบ่อยมาก มีทั้งที่ดูแล้วเกิดความรู้สึกมหัศจรรย์ใจในความสามารถของมนุษย์ที่คิด อะไรที่มันไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ เช่นรถยนต์ไร้คนขับบนถนน รถแทรกเตอร์ไร้คนขับในแปลงเกษตร ต่อไปรถไฟตามราง เรือในท้องทะเลมหาสมุทร และ เครื่องบินบนท้องฟ้าก็คงเป็นเรื่องไม่ยากที่ไม่ต้องใช้คนขับ และที่ดูแล้วเกิดความ วิตกกังวลว่าในอนาคตมันจะเกิดปัญหาอะไรตามมาอีกหรือเปล่า เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตลอดเวลาในเวลานี้ เราเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงที่กวาดสิ่งเก่าทิ้งไป คือ Disruptive change แน่นอนว่าของทุกอย่างมีสองด้านทั้งด้านที่เป็นคุณและด้านที่เป็นโทษ แล้วทั้งสองด้านจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไร ชีวิตเราจะสบายมากขึ้นจริงหรือเปล่า หรือ คนจะตกงานมากไหมเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทำหน้าที่แทนคนมากขึ้น

เทคโนโลยีที่อุบัติขึ้นมาใหม่ (Emerging technology) ทุกวัน ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ของการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆอย่างไม่มีขอบเขต และเกิดขึ้นในอัตราความเร็วที่เร็วกว่าเดิมมาก และการนำนวัตกรรมมาเปลี่ยนรูปแบบเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อขายเป็นสินค้า หรือ ขายเป็นบริการนั้น เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เช่นเทคโนโลยีนาโน (Nanotechnology) ปัจจุบันนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าขายในตลาดมากมาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าบริโภคในครัวเรือน เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดนวัตกรรมทั้งทางกายภาพ (Physical) ทางชีวภาพ (Biological) และ ทางดิจิตัล (Digital) เช่นการพิมพ์ 3มิติ (3D printer) หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Robot) พันธุกรรม (Genetics) เกิดระบบอัจฉริยะ (Smart system) จากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) และการเชื่อมต่อของอินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet of Things) ขึ้นมาให้เราใช้ทั้งที่ในบ้าน ในที่ทำงาน ในโรงเรียนมหาวิทยาลัย ในโรงงานอุตสาหกรรม ในไร่นาสวนเกษตร ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และกำลังจะเข้ามาใช้ในระดับมหาภาคคือ การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart cities) ในอนาคต

เทคโนโลยีคงเกิดเป็นคลื่นของการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดต่อไป สิ่งที่น่ากังวลคือ การปรับตัวของคนที่ต้องได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและทางอ้อมจากการเกิดและนำมาใช้ของเทคโนโลยีใหม่ เพราะถ้าเราตามเทคโนโลยีไม่ทันอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Technology illiteracy เราก็อยู่อย่างลำบาก เพราะจะกลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่ล้าหลัง ในสังคมโลก และมีผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้วย เหมือนประเทศที่มีคนอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้เป็นจำนวนมากในอดีตที่ทำให้ประเทศล้าหลังได้

เทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังรู้สึกหวั่นเกรงว่ามันจะเข้ามาบงการชีวิตของเรามากขึ้นทุกวัน

รัฐบาลไทยตอบรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วยการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Thailand 4.0 คือการปรับประเทศครั้งใหม่ให้ทันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
(The 4th Industrial Revolution) เพื่อประเทศไทยจะสามารถดำรงอยู่และแข่งขันกับประเทศอื่นๆทั่วโลกได้ แต่ข้าราชการและประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงมีความเข้าใจอย่างเพียงผิวเผินว่า ถ้าเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกิจกรรมที่ทำก็เป็น Thailand 4.0 แล้ว

รัฐบาลไทยอาจประสบความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์ชื่อ Thailand 4.0 ที่ทำให้ คนไทยนำคำนี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย อะไรๆก็ขอให้ลงท้าย 4 .0 ไว้ก่อนทำให้ไม่ตกกระแส แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรู้ว่าเขาต้อง ปรับตัวและต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ประเทศไทยเป็น Thailand 4.0 ได้ ดั่งที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ เหมือนเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์เรื่องประเทศอาเซียน กำลังจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจ AEC ก็มีการสัมนากันทั่วประเทศแล้วเอาธงชาติ ของประเทศอาเซียนมาประดับตามโรงเรียนและหน่วยงานราชการ และสอนเด็กให้ พูดคำว่าสวัสดีในทุกภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเรื่อง AEC ก็จบเพียงเท่านั้น

การทำให้ประเทศไทยเป็น Thailand 4.0 ได้นั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่พลเมือง ของประเทศต้องเกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องที่ผูกโยงกันทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ไม่สามารถแยกการบริหารจัดการเป็นส่วนๆได้ ดังนั้น รัฐบาลและประชาชน ที่ประกอบธุรกิจหลากหลายอาชีพจึงควรต้อง

  1. ติดตามสถานการณ์ (Keep it situational) เพราะเทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน และมีผลกระทบต่อกันทุกวัน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีพลวัตร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องได้ เทคโนโลยี ทำให้ประเทศเกาหลีเหนือสามารถทดลองยิงขีปนาวุธระยะไกลข้ามทวีปได้ แต่ผลกระทบกระเทือนไปถึงการค้าการลงทุนของหลายประเทศ นโยบายของรัฐบาลจึงต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ไม่สามารถใช้ตัวอักษรตาม การตีความทางภาษากฎหมายมาเป็นไม้บรรทัดขีดให้ปฏิบัติเหมือนกันหมดได้ เพราะธุรกิจแต่ละประเภทอุตสาหกรรมไม่สามารถใส่เสื้อเบอร์เดียวกัน (One size fits all ) ได้ เนื่องจากบริบทของการบริหารจัดการของแต่ละธุรกิจ อุตสาหกรรมมันแตกต่างกัน ตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน

  1. ติดตามยุทธศาสตร์ (Keep it strategy) ยุทธศาสตร์ตามที่ได้กำหนดไว้ใน Thailand 4.0 ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่คิดและวางแผนไว้ เวลาปฏิบัติจริงสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยุทธศาสตร์จึงต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเสมอ คือต้อง เป็นยุทธศาสตร์ที่มีชีวิตรู้จักปรับยุทธศาสตร์ของตนเองให้อยู่รอด ยุทธศาสตร์ ของธุรกิจก็เช่นกัน ถ้ารูปแบบธุรกิจ (Business model) เปลี่ยนไม่ทัน แผนธุรกิจ(Business plan) ปรับไม่ทัน ธุรกิจก็จบ เพราะยุคนี้เป็นยุคของความเร็ว

  1. บูรณาการเข้าด้วยกัน (Keep it integrated) เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดและวิถีความเป็นอยู่ของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ที่เทคโนโลยีใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิต ดังนั้นจึงต้องนำทุกมิติที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง และมีผลกระทบเข้ามาบูรณาการด้วยกัน เพราะถ้าความรู้ของคนยังเป็นชุดความรู้ (Mindset) เดิม แล้วจะไปเปลี่ยนชุดทักษะ (Skillset) ใหม่ได้อย่างไร ถ้าระบบการศึกษายังไม่เปลี่ยนชุดความคิด มิติด้านเทคโนโลยียังไม่เปลี่ยน มิติทางด้านอื่นๆไม่สามารถเปลี่ยนตามได้

  1. ติดตามต่อเนื่อง (Keep it monitoring) เพราะการขับเคลื่อนให้เป็น Thailand 4.0 เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องยาวที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ทุกมิติทางสังคม จึงต้องมีการติดตามดูผลตลอดเวลาและนำมาปรับปรุงแก้ไข เพราะทุกตัวขับเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลง (Driver of change) ต้องทำหน้าที่ของมันอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เมื่อใดที่สิ่งที่คิดไม่เหมือนสิ่งที่ทำต้องรู้ทันทีเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข เพื่อทำให้การขับเคลื่อนนั้นเกิดประสิทธิผล

  1. ควบคุมให้เกิดผล (Keep it control) การควบคุมให้เกิดผลเป็นเรื่องยากเพราะเราไม่สามารถควบคุมการอุบัติขึ้นใหม่ของเทคโนโลยีได้ เราอาจสามารถควบคุมให้ยุทธศาสตร์มันเดินไปในทิศทางที่เราต้องการเท่านั้น ในเวลาที่ Disruptive Technology กำลังเติบโตนี้เราคิดและวางแผนงานได้เพียงระยะสั้นๆเท่านั้น เพราะวงจรอายุของเทคโนโลยีในปัจจุบันมันสั้นมาก ทำให้คาดการณ์ได้ยากที่จะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระยะยาว แม้จะควบคุมได้เพียงบางส่วน เราก็ต้องพยายามควบคุมให้ดีที่สุด

ความจริงเทคโนโลยีน่าจะเป็นเพียงเครื่องมือของคนในการสร้างประโยชน์ให้แก่มนุษย์ แต่คนต้องมีความรู้และเข้าใจเทคโนโลยีอย่างพอเพียงที่จะควบคุมการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปตามความต้องการของเรา แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราถูกเทคโนโลยีใช้เราให้ทำ ตามความสามารถของเทคโนโลยีไปเสียแล้ว

Albert Einstein ดูเหมือนจะรู้ว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีจะก้าวล้ำความเป็นมนุษย์ ดังที่เขากล่าวว่า “It has become appallingly obvious that our technology has exceeded our humanity.” มันได้กลายเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัวที่เทคโนโลยีของเราได้เกินความเป็นมนุษย์ของเราไปแล้ว
เช่นเดียวกับ Steve Jobs ที่กล่าวไว้ก่อนอำลาโลกว่า
“Technology is nothing. What's important is that you have a faith in people, that they're basically good and smart, and if you give them tools, they'll do wonderful things with them.” เทคโนโลยีไม่มีค่าอะไร สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องมีความเชื่อมั่นในตัวคนว่าโดยพื้นฐานแล้วคนเป็นคนดีและฉลาด และถ้าเราให้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือแก่พวกเขา คนสามารถทำสิ่งดีงามด้วยเทคโนโลยีได้
และขอปิดท้ายด้วยคำพูดของ Bill Gates ที่กล่าวว่า

“Technology is just a tool. In terms of getting the kids working together and motivating them, the teacher is the most important.” เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น ในการทำให้เด็กสามารถทำงานด้วยกันได้ และใช้เป็นเครื่องกระตุ้นความสนใจของพวกเด็กๆ ครูต่างหากที่เป็นส่วนสำคัญที่สุด

มาลงท้ายที่ครูได้ยังไงเนี่ย

ขอบคุณเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ท่านได้อ่านบทความนี้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ทุนมนุษย์


Wisdom is found on the lips of him who has understanding, but a rod is for the back of him who is devoid of understanding.”   Proverbs 10: 13

การที่โลกก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่มีพื้นฐานของความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีดิจิตัลรองรับ ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาประเทศ ของประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ประชาชนมีรายได้สูง มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษาดี ปัญหาคงไม่มาก แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่มีปัญหาหลายด้านที่ต้องแก้ไขอยู่แล้ว เมื่อต้องมาเจอกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งใหม่ที่นำโดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตัล จึงเป็นเรื่องหนักและยากมาก ในการปรับตัวครั้งใหม่ เพื่อให้ประเทศอยู่ในตำแหน่งที่สามารถแข่งขันได้

ต้องยอมรับว่า เรื่องทุนมนุษย์ เป็นปัญหาที่ยากที่สุดของประเทศกำลังพัฒนาอย่าง ประเทศไทย ผลกระทบจากการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องทุนมนุษย์อย่างแน่นอน เพราะเราต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านถึง 4 ล้านคนในการขับเคลื่อนธุรกิจและพัฒนา ประเทศ และยังไม่พบทางออกที่ดีและยั่งยืนในการแก้ไขปัญหานี้ แต่กลับมีแนวโน้ม...ที่ปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ของไทยจะยุ่งยากมากยิ่งขึ้นในอนาคต

เพราะโครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีสัดส่วนที่น่ากังวลใจ
ปี 2560 เรามีประชากรวัยเด็ก 18% วัยทำงาน 65% และวัยสูงอายุ17%
ปี 2564 เราจะมีประชากรวัยเด็ก 16% วัยทำงาน 64% และวัยสูงอายุ 20%
ปี 2569 เราจะมีประชากรวัยเด็ก 16% วัยทำงาน 60% และวัยสูงอายุ 24%
ปี 2579 เราจะมีประชากรวัยเด็ก 14% วัยทำงาน 56% และวัยสูงอายุ 30%
ถ้าการพยากรณ์นี้เป็นไปตามการคำนวณทางสถิติ อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 30% ในขณะที่ประชากรวัย ทำงานลดลงเหลือเพียง 56% และประชากรวัยเด็กก็ลดลงเหลือเพียง 14%

สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้มาจากการที่คนหนุ่มสาวไทยที่มีการศึกษาดีในปัจจุบันแต่งงานแล้วไม่ยอมมีบุตรมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และจำนวนคนโสดมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่หญิงอยู่กับหญิง และชายอยู่กับชาย ส่วนครอบครัวที่มีลูกก็จะมีลูกเพียง 1-2 คนเท่านั้น

ในกลุ่มเด็กที่เกิดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากประชาชนกลุ่มคนยากจนที่พ่อแม่ไม่ได้รับการศึกษา กลุ่มประชากรชนเผ่า และ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทำให้เด็กแรกเกิดและเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ไม่สมวัยจำนวนสูงเพราะความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจของครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อไปถึงวัยเรียนด้วย ทั้งระดับเชาว์ปัญญา IQ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ EQ อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานสากล ผลการสอบทุกสำนักทั้งในประเทศและต่างประเทศยืนยันแล้วว่า เด็กไทยมีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐานทุกวิชา

ในกลุ่มวัยทำงานที่เวลานี้ก็เป็นปัญหารุนแรงอยู่แล้ว ยิ่งจำนวนประชากรวัยทำงานลดลงอีก ปัญหาจะยิ่งสาหัสมากขึ้นเมื่อประชากรวัยทำงานที่ลดลงต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูประชากรวัยสูงวัยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิวัติ อุตสาหกรรมยุคที่ 4 บนฐานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตัล จะทำให้กลุ่มวัยทำงานต้องเผชิญกับปัญหาในการฟื้นฟูทักษะ (Reskill) และการปรับทักษะให้สูงขึ้น (Upskill) เพื่อเป็นแรงงานที่มีความรู้ (Knowledge Workers)

ในประชากรกลุ่มสูงวัยจะมีปัญหามากขึ้น เพราะประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินบำนาญจากรัฐบาลเนื่องจากไม่ได้รับราชการ ประชากรกลุ่มนี้ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการออมให้มากเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในบั้นปลาย และรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรสวัสดิการให้ผู้สูงอายุได้ครบถ้วน

ประเทศไทย มีปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ ทั้งด้านชุดความคิด (Mindset) และด้านชุดทักษะ (Skillset) มาตลอดเวลาในการพัฒนาประเทศ จากคนในรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Baby Boomer) ที่คนในรุ่นนี้มีชุดความคิดหลักคือการรับราชการเพื่อความมั่นคงในชีวิต ชุดความคิดรองคือทำงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจเพราะสวัสดิการดี ส่วนที่เหลือทำงานบริษัทเอกชน หรือค้าขาย เพราะโอกาสในเวลานั้นมีจำกัดเพียงแค่นั้น คนในรุ่นต่อมาคือ Generation X  ชุดความคิดของคนในรุ่นนี้ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้จะมีโอกาสมากขึ้น คนรุ่นนี้มีโอกาสศึกษาทั้งในประเทศและในต่างประเทศมากขึ้น แต่ยังคงนิยมรับราชการ ทำงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารสถาบันการเงิน และบริษัทเอกชน ชุดความคิดเพิ่งจะมาเปลี่ยนแปลงในคนยุคต่อมาคือ Generation Y ที่มีความอยากจะเป็นอิสระ เป็นนายของตัวเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากประสบความสำเร็จโดยเร็ว

ปัญหาคือ ระบบการศึกษาไทยไม่ได้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างรวดเร็ว เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังคงวนเวียนอยู่ในชุดความคิดเดิม ทำให้ระบบการศึกษาไทยยังคงสร้างทุนมนุษย์ที่มีชุดความคิดแบบเก่า และมีทักษะแบบเก่า Mindset คือ เรียนเพื่อเอาใบปริญญาไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และหวังที่จะทำงานสบายมีเกียรติมีหน้าตาทางสังคม ส่วน Skillset คือ มีทักษะที่แคบ ไม่สามารถทำงานตอบสนองตามความต้องการของตลาดแรงงานในวงกว้างได้ ผลที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ เกิดช่องว่างที่เราต้องพึ่งทุนมนุษย์จากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนหลายล้านคนมาเข้ามาทดแทน

สิ่งที่เราเห็นเวลานี้น่าจะเป็นเพียงยอดก้อนน้ำแข็งที่เริ่มโผล่ให้เรามองเห็นบนผิวน้ำทะเลส่วนภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำทะเลก้อนมหึมานั้น จะมีผลกระทบอีกสักเท่าไหร่ ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้ในเวลานี้ แต่รู้ว่าถ้าเราไม่ทำการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง อย่างมียุทธศาสตร์ แก้ไขอย่างเป็นระบบ เราจะมีปัญหารุนแรงมากขึ้นในอนาคตแน่

การศึกษาไทยจึงต้องทำการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนชุดความคิดใหม่ และ เพื่อสร้างชุดทักษะใหม่ให้กับทุนมนุษย์รุ่นใหม่ให้รู้จักคิดวิเคราะห์ วางแผนพัฒนา มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิ
ตัล วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม เพื่อจะสามารถแข่งขันได้ ในขณะเดียวกันต้องมีความรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพรักษาชีวิต รู้จักใช้ชีวิตในสังคม อย่างเหมาะสม มีความรู้เรื่องการหาเงินใช้เงินและออมเงินอย่างถูกต้องเหมาะสม มีความสมดุลย์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ประเทศไทยต้องการคนรุ่นใหม่ที่

  • คิดถึงสังคมประเทศชาติ มีจิตสาธารณะ ไม่ใช่คิดเพื่อความมั่นคงปลอดภัย และความสุขของตนเองแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจความทุกข์ยากลำบาก ของคนอื่นในสังคม
  • คิดสร้างศักยภาพให้แก่ตนเองอย่างเต็มที่เพื่อจะได้ใช้ความสามารถของตนทำงานให้เกิดผลิตภาพที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมประเทศชาติ
  • ทัศนคติใหม่ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น แบ่งปันส่วนเก่งจุดแข็งของตนเองไปบูรณาการกับส่วนเก่งและจุดแข็งของคนอื่น
  • มีความสัตย์ซื่อต่อตนเองและสังคม รังเกียจการคอร์รัปชั่น
  • มีความรู้และทักษะใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของอาชีพการงานใหม่
  • มีจริยธรรมและคุณธรรมในการทำงานและดำรงชีวิต

ปรัชญาการศึกษาใหม่ต้องนำค่านิยมที่เป็นคุณค่าและอัตลักษณ์ของคนไทย มาถักทอใหม่กับความรู้และทักษะที่ต้องการของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องการทักษะทั้งด้านศาสตร์ความรู้วิชาการและเทคโนโลยีซึ่งเป็นทักษะด้านแข็ง (Hard Skills) และความรู้ความเข้าใจตนเองกับการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีคุณค่าและมีความสุขซึ่งเป็นทักษะทางด้านสังคมด้านอ่อน (Soft Skills) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และสถาบันทางการเมือง จะมีบทบาทร่วมกันอย่างไรอย่างมีเอกภาพในการสร้างทุนมนุษย์ไทยรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมไทยในอนาคตให้มีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของประเทศไทย จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเรียนรู้ (Transformation of Learning) และการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม (Transformation of Culture) ด้วย

Stephen Gardiner กล่าวว่า
“The Industrial Revolution was another of those extraordinary jumps forward in the story of civilization.” การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งของสิ่งที่ก้าวกระโดดไปข้างหน้าของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ที่คนไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 The Forth Industrial Revolution


“The mouth of the righteous is a well of life, but violence covers the mouth of the wicked.”                     Proverbs 10: 11

Thailand 4.0 เป็นความจำเป็นที่ประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลกที่ถูกบังคับให้จำต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามกระแสการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมของโลกที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคที่ 4 (The 4th Industrial Revolution) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งของโลกอุตสาหกรรมที่ก้าวเข้าสู่วิวัฒนาการใหม่ คือการเปลี่ยนแปลงของดิจิตอล (Transformation of Digital) อย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบอย่างกว้างและลึกต่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีของศาสตร์วิชาการสาขาต่างๆอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีกายภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ (Physical and Biological Technologies)

โลกยุคดิจิตอลเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นในโลกอุตสาหกรรมทุกสาขา และเกิดผลต่อการพัฒนาทางอุตสาหกรรมทุกด้านอย่างรวดเร็ว เพราะดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน (Digital Infrastructure) ของการพัฒนาทางอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ซึ่งทำให้เกิดการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นฐานสำคัญออกมาสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็วและมากมายจนทำให้ขอบเขต (Scope) ของการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญเปลี่ยนแปลงไป อย่างไม่สามารถจำกัดขอบเขตของมันได้

การเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นสมองกลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขยายต่อเนื่องอีกหลายมิติในกระบวนการผลิต ทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างประโยชน์ในการใช้สอยของสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมในยุคดิจิตอลเทคโนโลยีมีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น มีการนำหุ่นยนต์ (Robot) อัจฉริยะเข้ามาใช้ช่วยในกระบวนการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมใหม่ๆทำให้การพัฒนารูปลักษณะทางกายภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีฝังอยู่ในสินค้าและผลิตภัณฑ์เกิดประโยชน์ใช้สอยรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น และเทคโนโลยีทางดิจิตอลยังคงพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น เรื่องปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เรื่องการเรียนรู้ ของตัวเครื่อง (Machine Learning) ที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นสมองอัจฉริยะอยู่ในตัว เรื่องการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น และ เรื่อง การใช้อินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet Of Things)

การเปลี่ยนแปลงในโลกอุตสาหกรรมยุคที่ 4 มีผลต่อยุทธศาสตร์การลงทุนของผู้ลง ทุนในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ และ มีผลต่อผู้ซื้อสินค้าผู้บริโภคที่ต้องปรับพฤติกรรมการซื้อและการบริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์ตามไปด้วย เช่น ยานยนต์ที่ไร้คนขับรุ่นใหม่ ที่กำลังจะผลิตออกสู่ตลาด ถูกสร้างบนพื้นฐานดิจิตอลเทคโนโลยี ตัวรถยนต์รุ่นใหม่สามารถทำหน้าที่ในการขับได้ด้วยตัวเอง มันสามารถสื่อสารกับระบบแผนที่ของถนน สื่อสารกับรถยนต์คันอื่นๆที่วิ่งบนถนนใกล้มัน สื่อสารกับป้ายหรือสัญญาณจราจรได้ สามารถรับรู้สิ่งที่เคลื่อนไหวรอบตัวมันได้ และยังสามารถทำหน้าที่อื่นๆในการสื่อสารได้อีกหลายอย่าง หรือรถแทรคเตอร์รุ่นใหม่ที่ไร้คนขับ ซึ่งมีดิจิตอลเทคโนโลยีอยู่ในตัวรถแทรคเตอร์ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องอยู่กลางแดดกลางทุ่งทั้งวัน เพราะเกษตรกรสามารถนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในบ้าน หรือนั่งจิบกาแฟแล้วใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่สั่งโปรแกรมให้รถแทรกเตอร์ทำการไถพรวนดินในไร่นาของตนได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน เพราะรถแทรกเตอร์ไร้คนขับมันสามารถสื่อสาร กับดาวเทียมได้ ทำให้มันรู้ว่าจะต้องไถดินไปทางทิศไหน เป็นระยะทางเท่าไหร่ จะต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวากี่รอบ และมันยังฉลาดที่จะสื่อสารกับการพยากรณ์อากาศด้วยว่าจะมีฝนตกหรือไม่ เพื่อมันจะได้หยุดทำการไถพรวนดิน

ดิจิตอลเทคโนโลยีทำให้เกิดการเคลื่อนไหว (Move) ที่รวดเร็วกว่าอดีต เพราะดิจิตอลเทคโนโลยีที่ฝังอยู่ในผลิตภัณฑ์มันสามารถสื่อสาร (Communicate) กันได้ ทำให้สินค้าและผลิตภัณฑ์แทบทุกอย่างสามารถสร้างพลังงาน (Generate Energy) ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เพราะเมื่อมันสื่อสารกันได้ มันจะเกิดการพึ่งพากันได้ (Interact) เช่น เมื่อคนเดินออกจากห้องจนไม่มีใครอยู่ในห้องแล้ว หลอดไฟฟ้าในห้องจะปิดเอง เมื่อไฟแสงสว่างดับ เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์ที่อยู่ในห้องก็จะหยุดทำงานตามด้วย

ดิจิตอลเทคโนโลยีกำลังจะทำให้วิทยาศาสตร์การแพทย์เปลี่ยนแปลงไปอีกมาก เพราะมันทำให้วิทยาการทางด้านพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (Genetic Engineering) และ เทคโนโลยีทางด้านประสาทวิทยา (Neurotechnologies) มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก พร้อมกับความก้าวหน้าทางวัสดุศาสตร์ และการพิมพ์ด้วยระบบ 3 มิติ จะทำให้ระบบการป้องกันและวิธีการรักษาพยาบาลโรคต่างๆในอนาคตเปลี่ยนรูปแบบไปอีกมาก ซึ่งจะทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างแน่นอน

ดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อน (Driving Force) ที่ทำให้โลกอุตสาหกรรมก้าวเข้าสู่ยุคที่ 4 เป็นการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ที่บังคับให้ทุกระบบในโลกนี้ต้องทำการเปลี่ยนแปลง และต้องทำการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย เพราะดิจิตอลเทคโนโลยีที่เกิดใหม่จะทำลายหรือกวาดล้างเทคโนโลยีเดิมอย่างรวดเร็วเพื่อเข้ามาแทนที่  อย่างที่เรียกว่า Disruptive Technology ซึ่งยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคมอย่างไร แต่น่าจะมีผลกระทบต่อ

ตลาดแรงงาน (Labor Market) ระบบการศึกษาที่ใช้ในปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ให้สามารถสร้างระบบการเรียนรู้และพัฒนา ทักษะให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของดิจิตอลเทคโนโลยี เพราะกว่าโรงเรียน วิทยาลัย และ มหาวิทยาลัย จะผลิตให้นักศึกษามีความรู้และทักษะจนสำเร็จการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปี ความรู้และทักษะที่ นักศึกษาเรียนและฝึกฝนมาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย กลับไม่สามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ในเวลาทำงานได้เลย เพราะเทคโนโลยียุคดิจิตอลมันเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทำให้มันล้าสมัยเร็วมาก ในเวลาเพียงปีสองปีก็มีเทคโนโลยีใหม่มาแทนแล้ว

งานในอนาคต (Future of work)
ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าระบบอัตโนมัติ การใช้หุ่นยนต์สมองกลและปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาทดแทนงานที่เคยต้องใช้มนุษย์ทำมากน้อยเพียงใด เพราะโรงงานทำขนมปังในปัจจุบันสามารถใช้เครื่องจักรทำขนมปังตั้งแต่ผสมแป้งจนถึงบรรจุถุงโดยไม่ต้องผ่านมือคนเลยและเครื่องจักรอัตโนมัติสามารถผลิตขนมปังได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ฟาร์มเลี้ยงไก่ในปัจจุบันสามารถใช้หุ่นยนต์มาทำหน้าที่แทนคนเลี้ยงไก่ในโรงเลี้ยงไก่ โดยหุ่นยนต์หนึ่งเครื่องสามารถทำหน้าที่ตรวจน้ำ ตรวจอาหาร เติมน้ำเติมอาหาร และยังสามารถตรวจอุณหภูมิในตัวไก่ทำให้รู้ว่าไก่เป็นไข้ หรือไก่ตายแล้วได้ด้วย ที่สำคัญหุ่นยนต์มันไม่เบิกเงินล่วงเวลา ไม่มาสาย ไม่ลาไปโรงพยาบาล ไม่นินทา ไม่ทะเลาะกับใคร แล้วงานอาชีพของคนในอนาคตจะต้องไปทำงานอะไร?

ความแตกต่างกันของรายได้ (Income Inequality)
ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ (Knowledge Worker) มีมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานที่มีความรู้และทักษะทางดิจิตอลเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้มีงานทำและมีรายได้สูงกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้แรงงานแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งยิ่งจะทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีช่องว่างทางรายได้ที่ห่างกันมากอยู่แล้วระหว่างคนที่ร่ำรวยมากๆกับคนที่ยากจนมากๆ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในอนาคต และจะเกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ยากที่จะพยากรณ์

ความปลอดภัยทางการเมืองของภูมิภาค (Geopolitical Security)
ยิ่งดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นฐานของสิ่งประดิษฐ์ทุกอย่างที่สามารถติดต่อเชื่อมโยงกันได้หมด ที่เราเรียกว่า Internet of things ชีวิตของเรายิ่งต้องผูกติดกับดิจิตอลเทคโนโลยี มากขึ้นและผูกติดเกือบตลอดเวลา ในความดีของเทคโนโลยก็มีความน่ากลัวที่เป็นอันตรายติดตามมาด้วย คือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะเวลานี้ก็เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางดิจิตอลเทคโนโลยีอยู่แล้ว และที่กำลังกังวลกันมากในเวลานี้คือเรื่องการเรียกเงินค่าไถ่ของโจรทาง internet ที่ใช้ไวรัสเข้าไปยึดระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ ในองค์กรหน่วยงานใหญ่ๆ การทำงานของหน่วยงานสืบราชการลับ หน่วยงานด้าน ความมั่นคง หน่วยงานทหารและการเมืองของประเทศต่างๆ ล้วนได้นำเอาดิจิตอลเทคโนโลยีไปใช้เป็นเครื่องมือทั้งในด้านการป้องกันประเทศ และการทำลายศัตรู แม้แต่ในขบวนการก่อการร้าย กลุ่มผู้ก่อการร้ายต่างๆก็ใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีในการทำงานวางระเบิด แล้วความปลอดภัยของแต่ละภูมิภาคในโลกนี้จะยังมีอยู่หรือไม่?

ระบบคุณค่าทางสังคม (Social Value System)
ดิจิตอลเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป คุณค่าทางสังคมที่เคยสืบสานผ่านการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งได้สูญหายไป เพราะการสื่อสารกันแบบใกล้ชิดต่อหน้าผ่านหน้าตา ถูกเปลี่ยนไปเป็นการสื่อสารทางไกลผ่านหน้าจอมือถือแทน คุณค่าทางสังคมเดิมถูกทำลายไปจนยากที่จะกู้กลับคืนมาใหม่ได้ พฤติกรรมของคนในโลกที่เสพสื่อสังคมเปลี่ยนไปในทางที่ลดคุณค่าลงไปเรื่อยๆ เมื่อคนกล้าแสดงสดการร่วมเพศให้คนดูเป็นหมื่นเป็นแสนคนได้โดยไม่รู้สึกผิดและละอายใจ หรือ คนสามารถตัดศีรษะคนให้เห็นกันสดๆทั่วโลกได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการฆ่าคน แม้แต่การฆ่าตัวตายยังทำการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมได้ แล้วระบบคุณค่า คุณธรรมทางสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอีกมากเท่าไร ไม่สามารถคาดคะเนได้

กรอบทางจริยธรรม (Ethical Flamwork)
จริยธรรมเป็นคุณธรรมที่ต้องอยู่คู่จิตใจมนุษย์เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่เหนือสัตว์ แต่ในปัจจุบันกรอบทางจริยธรรมแทบจะไม่สามารถกำกับจิตใจมนุษย์ได้แล้ว เพราะแม้แต่กฏหมายก็เอาไม่อยู่ คนกล้าทำผิดกฏหมายทุกวัน ไม่ว่าคนจะมีความรู้ระดับใด ก็ยังทำผิดจริยธรรม กล้าทำร้ายฆ่าคน กล้าโกง กล้าคอรัปชั่น กรอบจริยธรรมของสังคมไม่สามารถล้อมจิตสำนึกในจิตใจมนุษย์ให้ประพฤติอยู่ในกรอบ แล้วในอนาคตมนุษย์จะมีกรอบจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีมากน้อยเพียงใด

สำหรับประเทศไทย การประกาศนโยบาย Thailand 4.0 ยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำความเข้าใจอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนคิดอยู่ในกรอบความคิดเดิมคือเศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายไม่คล่อง เพราะรัฐบาลไม่อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ แต่ไม่ได้คิดว่าที่เศรษฐกิจไม่ดีค้าขายไม่คล่องเหมือนเมื่อก่อนเพราะขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเริ่มสู้ ประเทศอื่นๆไม่ได้ การแก้ไขโดยใช้เศรษฐกิจแบบประชานิยมจะช่วยกระเตื้องระบบเศรษฐกิจได้เพียงชั่วคราว เพราะปัญหาจุดอ่อนที่แท้จริงของประเทศไทยยังไม่ได้ ทำการแก้ไข ประชาชนต้องเปลี่ยนความคิดมาสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง ไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากทางราชการ

เมื่อโลกเข้าสู่โลกอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่เติบโตบนพื้นฐานดิจิตอลเทคโนโลยีมากขึ้น ประเทศไทยจะยิ่งยากลำบากมากขึ้นในการแข่งขัน คนไทยรุ่นใหม่ต้องมีความรู้และทักษะที่พร้อมแข่งขันได้ในอนาคต ยิ่งเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐบาลจะยิ่งมีภาระเพิ่มมากขึ้นในการดูแลประชากรผู้สูงอายุ แต่ประเทศจะเติบโตได้ต้องมีประชากรจำนวนมากที่สร้างผลิตผล (Productivity) ประชากรผู้สูงอายุแม้มีคุณค่าแต่สร้างผลิตผลได้น้อยลง

ประเทศไทยได้รับโอกาสที่ดีมานานแล้ว แต่เราไม่สามารถเกาะกินบุญเก่าต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะถ้าเมื่อมีโอกาสแล้วเราไม่รีบฉวยโอกาส เราจะสูญเสียโอกาสไป อยู่ที่คนไทยในวันนี้จะมองเห็นปัญหาที่แท้จริง และ ฉวยโอกาสเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง ให้สามารถต่อสู้แข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ที่อยู่บนพื้นฐานโครงสร้างดิจิตอลเทคโนโลยีได้เร็วมากน้อยเพียงใด

Angela Ahrendts กล่าวว่า
“I grew up in a physical world, and I speak English. The next generation is growing up in a digital world, and they speak social.” ฉันเติบโตในโลกกายภาพและพูดภาษาอังกฤษ แต่คนรุ่นต่อไปเติบโตในโลกดิจิตอล และพวกเขาพูดภาษาสังคม

Dorothy Denning กล่าวว่า
“Further, the next generation of terrorists will grow up in a digital world, with ever more powerful and easy-to-use hacking tools at their disposal.” ผู้ก่อการร้ายรุ่นต่อไปจะเติบโตในโลกดิจิตอล ซึ่งจะมีเครื่องมือที่มีอานุภาพมากขึ้น และมีเครื่องมือการแฮกที่ง่ายต่อการใช้ที่ปลายนิ้วของพวกเขา

ที่มา: Klus Schwab: The Fourth Industrial Revolution.

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ


The Global Competitiveness Index 2016-2017

“He who walks with intregrity walks securely, but he who perverts his ways will become known.”               Proverbs 10:9

เคยเขียนเรื่อง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยติดต่อกันหลายตอน เมื่อเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2014 เพื่อความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ผมขอแนะนำ ให้ท่านเข้าไปอ่านบทความเรื่องนี้ย้อนหลัง โดยไปที่คลังบทความของบล๊อคนี้ ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือของบทความนี้ แล้วท่านเลือกคลิ๊กปี และเลือกคลิ๊กเดือน ตามลำดับครับ

วันนี้ตั้งใจจะเสนอเรื่องดัชนีความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆในโลกประจำปี 2016-2017 ที่  World Economic Forum ได้เผยแพร่รายงานนี้ เพื่อประโยชน์ที่ คนไทยจะได้รู้ว่าตำแหน่งความสามารถในการแข่งขันของประทศไทยอยู่ในอันดับใดใน จำนวน 138 ประเทศทั่วโลก

ขอรายงาน 10 ประเทศ ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีที่สุด

อันดับ
ประเทศ
คะแนน
คะแนนครั้ง
ที่แล้ว
อันดับครั้ง
ที่แล้ว
1
Switzerland
5.81
5.76
1
2
Singapore
5.72
5.68
2
3
United States
5.70
5.61
3
4
Netherlands
5.57
5.56
5
5
Germany
5.57
5.53
4
6
Sweden
5.53
5.43
9
7
United Kingdom
5.49
5.43
10
8
Japan
5.48
5.47
6
9
Hong Kong
5.48
5.46
7
10
Finland
5.44
5.45
8


อันดับ 1 ถึง 10 ยังคงเป็นประเทศเดิม เพียงแต่มีการสลับตำแหน่งขึ้นลงบ้างเล็กน้อย

ทีนี้มาดูอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน


อันดับ
ประเทศ
คะแนน
คะแนนครั้ง
ที่แล้ว
อันดับครั้ง
ที่แล้ว
2
สิงคโปร์
5.72
5.68
1
25
มาเลย์เซีย
5.16
5.23
18
34
ไทย
4.64
4.64
32
41
อินโดนีเซีย
4.52
4.52
37
57
ฟิลิปปินส์
4.36
4.39
47
58
บูรไนดารุสซาลาม
4.35
ไม่มีข้อมูล
ไม่มีข้อมูล
60
เวียตนาม
4.31
4.30
56
89
กัมพูชา
3.98
3.94
90
93
ลาว
3.93
4.0
83


หมายเหตุ ไม่มีประเทศเมียร์มาในรายงานนี้

ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ไปอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่เหลือในกลุ่มกระจายกันไปตามความสามารถ ในการแข่งขันของแต่ละประเทศที่ยังอยู่ค่อนข้างจะห่างไกลกัน มีประเทศมาเลเซีย ที่นำหน้าประเทศไทย อยู่ไม่ห่างไกลนัก และ ประเทศอินโดนีเซียที่ตามหลัง ประเทศไทยไม่ไกลนักเช่นกัน

การวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผู้ทำการศึกษาใช้คะแนนจากปัจจัย ที่ผู้ทำการศึกษาเห็นว่าสำคัญและเป็นเรื่องที่ทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันถึง 12 ปัจจัย โดยแบ่งปัจจัยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มปัจจัยความจำเป็นพื้นฐาน (Basic Requirement) ซึ่งมีอยู่ 4 ปัจจัยคือ
  1. Institutions ความเป็นประเทศ ความเป็นสถาบัน ที่มั่นคง ขององค์กร หน่วยงาน
  2. Infrastructure โครงสร้างปัจจัยพื้นฐาน การคมนาคม ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์
  3. Macroeconomic Environment สิ่งแวดล้อมของเศรษฐกิจระดับมหาภาค
  4. Health and Primary Education บริการสาธารณสุขและการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เรียกกลุ่มนี้ว่าเป็นกลุ่มขับเคลื่อนด้วยปัจจัย (Factor - driven)

  • กลุ่มปัจจัยเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency Enhencers) มีอยู่ 6 ปัจจัยคือ
   5. Higher Education and Training การศึกษาในระดับอุดมศึกษาและการฝึกอบรม
   6. Goods Market Efficiency ความมีประสิทธิภาพของตลาดสินค้า
   7. Labor Market Efficiency ความมีประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน
   8. Financial Market Development การพัฒนาของตลาดการเงิน
   9. Technological Readiness ความพร้อมและมีให้ใช้ของเทคโนโลยี
 10. Market Size ขนาดตลาดสินค้าในประเทศ
เรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มขับเคลื่อนด้วยความมีประสิทธิภาพ (Efficiency - driven)

  • กลุ่มปัจจัยนวัตกรรมและความซับซ้อน มีอยู่ 2 ปัจจัย คือ
  11. Business Sophistication ความซับซ้อนก้าวหน้าทางธุรกิจ
  12. Innovation การมีและใช้นวัตกรรม
เรียกกลุ่มนี้ว่า กลุ่มขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation - driven)

ซึ่งทั้ง 12 ปัจจัยนี้ ในแต่ละปัจจัยจะมีหัวข้อย่อยอีกหลายเรื่องที่นำมาให้คะแนน

ประเทศไทยมีคะแนน 4.64 จัดอยู่ในกลุ่มประเทศคะแนนต่ำกว่า 5 หน้าที่ของ ประเทศไทย คือต้องเร่งปรับปรุงพัฒนาเรื่องต่างๆที่เป็นปัจจัยของความสามารถ ในแข่งขันทั้ง 12 ปัจจัย เพื่อทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพมากขึ้น จึงจะทำให้ มีคะแนนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถขยับขึ้นไปอยู่ในกลุ่มประเทศ ที่มีคะแนนมากกว่า 5 คะแนน ที่ประเทศสิงคโปร์ และ ประเทศมาเลเซีย สามารถ ทำได้แล้ว

เรื่องการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเป็นหน้าที่ของประชาชนชาวไทยทุกคนต้องช่วยกัน เพราะทุกปัจจัยสำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของ ประเทศจะเกี่ยวโยงกันหมด ตั้งแต่เรื่องความมั่นคงของประเทศ ความมีเสถียรภาพ ทางการเมือง ความสงบสุขของบ้านเมือง คุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิต ของประชาชน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม ไฟฟ้า น้ำประปา อินเตอร์เน็ต ระบบการลงทุน การเงินการคลัง ตลาดการเงิน คุณภาพแรงงาน ขนาดตลาด สินค้าอุปโภคบริโภค ความพร้อมและมีให้ใช้ทางเทคโนโลยี โครงสร้างธุรกิจและ อุตสาหกรรม ที่มีตั้งแต่ขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่ มีอุตสาหกรรมที่มีความ ไม่ซับซ้อนไปถึงอุตสาหกรรมขั้นสูงที่มีความซับซ้อน และการมีและใช้นวัตกรรมใหม่ๆ

ทุกเรื่องทุกปัจจัยประชาชนมีหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่ต้องช่วยกันใส่ใจดูแล และพัฒนา ให้ปัจจัยทุกตัวมีคุณภาพและมีศักยภาพมากขึ้น

Julia Gillard กล่าวว่า
“Our future growth relies on competitiveness and innovation, skills and productivity... and these in turn rely on the education of our people.” การเติบโตในอนาคตของประเทศเราขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมทักษะ และความมีผลิตผล และทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการศึกษาของคนในประเทศของเรา