วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ทุนมนุษย์


Wisdom is found on the lips of him who has understanding, but a rod is for the back of him who is devoid of understanding.”   Proverbs 10: 13

การที่โลกก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่มีพื้นฐานของความก้าวหน้า ทางเทคโนโลยีดิจิตัลรองรับ ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อการพัฒนาประเทศ ของประเทศต่างๆทั่วโลก สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ประชาชนมีรายได้สูง มีมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีการศึกษาดี ปัญหาคงไม่มาก แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยและอีกหลายประเทศที่มีปัญหาหลายด้านที่ต้องแก้ไขอยู่แล้ว เมื่อต้องมาเจอกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งใหม่ที่นำโดยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตัล จึงเป็นเรื่องหนักและยากมาก ในการปรับตัวครั้งใหม่ เพื่อให้ประเทศอยู่ในตำแหน่งที่สามารถแข่งขันได้

ต้องยอมรับว่า เรื่องทุนมนุษย์ เป็นปัญหาที่ยากที่สุดของประเทศกำลังพัฒนาอย่าง ประเทศไทย ผลกระทบจากการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังมีปัญหาเรื่องทุนมนุษย์อย่างแน่นอน เพราะเราต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านถึง 4 ล้านคนในการขับเคลื่อนธุรกิจและพัฒนา ประเทศ และยังไม่พบทางออกที่ดีและยั่งยืนในการแก้ไขปัญหานี้ แต่กลับมีแนวโน้ม...ที่ปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ของไทยจะยุ่งยากมากยิ่งขึ้นในอนาคต

เพราะโครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีสัดส่วนที่น่ากังวลใจ
ปี 2560 เรามีประชากรวัยเด็ก 18% วัยทำงาน 65% และวัยสูงอายุ17%
ปี 2564 เราจะมีประชากรวัยเด็ก 16% วัยทำงาน 64% และวัยสูงอายุ 20%
ปี 2569 เราจะมีประชากรวัยเด็ก 16% วัยทำงาน 60% และวัยสูงอายุ 24%
ปี 2579 เราจะมีประชากรวัยเด็ก 14% วัยทำงาน 56% และวัยสูงอายุ 30%
ถ้าการพยากรณ์นี้เป็นไปตามการคำนวณทางสถิติ อีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 30% ในขณะที่ประชากรวัย ทำงานลดลงเหลือเพียง 56% และประชากรวัยเด็กก็ลดลงเหลือเพียง 14%

สาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างนี้มาจากการที่คนหนุ่มสาวไทยที่มีการศึกษาดีในปัจจุบันแต่งงานแล้วไม่ยอมมีบุตรมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และจำนวนคนโสดมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนหนึ่งมาจากการที่หญิงอยู่กับหญิง และชายอยู่กับชาย ส่วนครอบครัวที่มีลูกก็จะมีลูกเพียง 1-2 คนเท่านั้น

ในกลุ่มเด็กที่เกิดในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากประชาชนกลุ่มคนยากจนที่พ่อแม่ไม่ได้รับการศึกษา กลุ่มประชากรชนเผ่า และ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทำให้เด็กแรกเกิดและเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการที่ไม่สมวัยจำนวนสูงเพราะความไม่พร้อมทางเศรษฐกิจของครอบครัว ซึ่งส่งผลต่อไปถึงวัยเรียนด้วย ทั้งระดับเชาว์ปัญญา IQ และวุฒิภาวะทางอารมณ์ EQ อยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานสากล ผลการสอบทุกสำนักทั้งในประเทศและต่างประเทศยืนยันแล้วว่า เด็กไทยมีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐานทุกวิชา

ในกลุ่มวัยทำงานที่เวลานี้ก็เป็นปัญหารุนแรงอยู่แล้ว ยิ่งจำนวนประชากรวัยทำงานลดลงอีก ปัญหาจะยิ่งสาหัสมากขึ้นเมื่อประชากรวัยทำงานที่ลดลงต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูประชากรวัยสูงวัยที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิวัติ อุตสาหกรรมยุคที่ 4 บนฐานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิตัล จะทำให้กลุ่มวัยทำงานต้องเผชิญกับปัญหาในการฟื้นฟูทักษะ (Reskill) และการปรับทักษะให้สูงขึ้น (Upskill) เพื่อเป็นแรงงานที่มีความรู้ (Knowledge Workers)

ในประชากรกลุ่มสูงวัยจะมีปัญหามากขึ้น เพราะประชากรส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินบำนาญจากรัฐบาลเนื่องจากไม่ได้รับราชการ ประชากรกลุ่มนี้ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการออมให้มากเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตในบั้นปลาย และรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรสวัสดิการให้ผู้สูงอายุได้ครบถ้วน

ประเทศไทย มีปัญหาเรื่องทุนมนุษย์ ทั้งด้านชุดความคิด (Mindset) และด้านชุดทักษะ (Skillset) มาตลอดเวลาในการพัฒนาประเทศ จากคนในรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง (Baby Boomer) ที่คนในรุ่นนี้มีชุดความคิดหลักคือการรับราชการเพื่อความมั่นคงในชีวิต ชุดความคิดรองคือทำงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจเพราะสวัสดิการดี ส่วนที่เหลือทำงานบริษัทเอกชน หรือค้าขาย เพราะโอกาสในเวลานั้นมีจำกัดเพียงแค่นั้น คนในรุ่นต่อมาคือ Generation X  ชุดความคิดของคนในรุ่นนี้ยังไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก แม้จะมีโอกาสมากขึ้น คนรุ่นนี้มีโอกาสศึกษาทั้งในประเทศและในต่างประเทศมากขึ้น แต่ยังคงนิยมรับราชการ ทำงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารสถาบันการเงิน และบริษัทเอกชน ชุดความคิดเพิ่งจะมาเปลี่ยนแปลงในคนยุคต่อมาคือ Generation Y ที่มีความอยากจะเป็นอิสระ เป็นนายของตัวเอง อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากประสบความสำเร็จโดยเร็ว

ปัญหาคือ ระบบการศึกษาไทยไม่ได้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยอย่างรวดเร็ว เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยยังคงวนเวียนอยู่ในชุดความคิดเดิม ทำให้ระบบการศึกษาไทยยังคงสร้างทุนมนุษย์ที่มีชุดความคิดแบบเก่า และมีทักษะแบบเก่า Mindset คือ เรียนเพื่อเอาใบปริญญาไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และหวังที่จะทำงานสบายมีเกียรติมีหน้าตาทางสังคม ส่วน Skillset คือ มีทักษะที่แคบ ไม่สามารถทำงานตอบสนองตามความต้องการของตลาดแรงงานในวงกว้างได้ ผลที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือ เกิดช่องว่างที่เราต้องพึ่งทุนมนุษย์จากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนหลายล้านคนมาเข้ามาทดแทน

สิ่งที่เราเห็นเวลานี้น่าจะเป็นเพียงยอดก้อนน้ำแข็งที่เริ่มโผล่ให้เรามองเห็นบนผิวน้ำทะเลส่วนภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำทะเลก้อนมหึมานั้น จะมีผลกระทบอีกสักเท่าไหร่ ไม่สามารถที่จะหยั่งรู้ได้ในเวลานี้ แต่รู้ว่าถ้าเราไม่ทำการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง อย่างมียุทธศาสตร์ แก้ไขอย่างเป็นระบบ เราจะมีปัญหารุนแรงมากขึ้นในอนาคตแน่

การศึกษาไทยจึงต้องทำการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อเปลี่ยนชุดความคิดใหม่ และ เพื่อสร้างชุดทักษะใหม่ให้กับทุนมนุษย์รุ่นใหม่ให้รู้จักคิดวิเคราะห์ วางแผนพัฒนา มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีดิจิ
ตัล วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรม เพื่อจะสามารถแข่งขันได้ ในขณะเดียวกันต้องมีความรู้เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพรักษาชีวิต รู้จักใช้ชีวิตในสังคม อย่างเหมาะสม มีความรู้เรื่องการหาเงินใช้เงินและออมเงินอย่างถูกต้องเหมาะสม มีความสมดุลย์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ประเทศไทยต้องการคนรุ่นใหม่ที่

  • คิดถึงสังคมประเทศชาติ มีจิตสาธารณะ ไม่ใช่คิดเพื่อความมั่นคงปลอดภัย และความสุขของตนเองแต่เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจความทุกข์ยากลำบาก ของคนอื่นในสังคม
  • คิดสร้างศักยภาพให้แก่ตนเองอย่างเต็มที่เพื่อจะได้ใช้ความสามารถของตนทำงานให้เกิดผลิตภาพที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมประเทศชาติ
  • ทัศนคติใหม่ที่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น แบ่งปันส่วนเก่งจุดแข็งของตนเองไปบูรณาการกับส่วนเก่งและจุดแข็งของคนอื่น
  • มีความสัตย์ซื่อต่อตนเองและสังคม รังเกียจการคอร์รัปชั่น
  • มีความรู้และทักษะใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของอาชีพการงานใหม่
  • มีจริยธรรมและคุณธรรมในการทำงานและดำรงชีวิต

ปรัชญาการศึกษาใหม่ต้องนำค่านิยมที่เป็นคุณค่าและอัตลักษณ์ของคนไทย มาถักทอใหม่กับความรู้และทักษะที่ต้องการของสังคมโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องการทักษะทั้งด้านศาสตร์ความรู้วิชาการและเทคโนโลยีซึ่งเป็นทักษะด้านแข็ง (Hard Skills) และความรู้ความเข้าใจตนเองกับการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีคุณค่าและมีความสุขซึ่งเป็นทักษะทางด้านสังคมด้านอ่อน (Soft Skills) เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

สถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และสถาบันทางการเมือง จะมีบทบาทร่วมกันอย่างไรอย่างมีเอกภาพในการสร้างทุนมนุษย์ไทยรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมไทยในอนาคตให้มีความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ของประเทศไทย จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านการเรียนรู้ (Transformation of Learning) และการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรม (Transformation of Culture) ด้วย

Stephen Gardiner กล่าวว่า
“The Industrial Revolution was another of those extraordinary jumps forward in the story of civilization.” การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นอีกสิ่งหนึ่งของสิ่งที่ก้าวกระโดดไปข้างหน้าของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

ที่คนไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 The Forth Industrial Revolution


“The mouth of the righteous is a well of life, but violence covers the mouth of the wicked.”                     Proverbs 10: 11

Thailand 4.0 เป็นความจำเป็นที่ประเทศไทย เช่นเดียวกับประเทศต่างๆทั่วโลกที่ถูกบังคับให้จำต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามกระแสการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมของโลกที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคที่ 4 (The 4th Industrial Revolution) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งของโลกอุตสาหกรรมที่ก้าวเข้าสู่วิวัฒนาการใหม่ คือการเปลี่ยนแปลงของดิจิตอล (Transformation of Digital) อย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบอย่างกว้างและลึกต่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีของศาสตร์วิชาการสาขาต่างๆอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีกายภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ (Physical and Biological Technologies)

โลกยุคดิจิตอลเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นในโลกอุตสาหกรรมทุกสาขา และเกิดผลต่อการพัฒนาทางอุตสาหกรรมทุกด้านอย่างรวดเร็ว เพราะดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน (Digital Infrastructure) ของการพัฒนาทางอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ซึ่งทำให้เกิดการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นฐานสำคัญออกมาสู่ตลาดโลกอย่างรวดเร็วและมากมายจนทำให้ขอบเขต (Scope) ของการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญเปลี่ยนแปลงไป อย่างไม่สามารถจำกัดขอบเขตของมันได้

การเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นสมองกลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขยายต่อเนื่องอีกหลายมิติในกระบวนการผลิต ทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ การสร้างประโยชน์ในการใช้สอยของสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และประสิทธิภาพมากขึ้น กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมในยุคดิจิตอลเทคโนโลยีมีความเป็นอัตโนมัติมากขึ้น มีการนำหุ่นยนต์ (Robot) อัจฉริยะเข้ามาใช้ช่วยในกระบวนการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ นวัตกรรมใหม่ๆทำให้การพัฒนารูปลักษณะทางกายภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีฝังอยู่ในสินค้าและผลิตภัณฑ์เกิดประโยชน์ใช้สอยรูปแบบใหม่ๆมากขึ้น และเทคโนโลยีทางดิจิตอลยังคงพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น เรื่องปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เรื่องการเรียนรู้ ของตัวเครื่อง (Machine Learning) ที่มีดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นสมองอัจฉริยะอยู่ในตัว เรื่องการรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เข้ามาใช้ประโยชน์มากขึ้น และ เรื่อง การใช้อินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet Of Things)

การเปลี่ยนแปลงในโลกอุตสาหกรรมยุคที่ 4 มีผลต่อยุทธศาสตร์การลงทุนของผู้ลง ทุนในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์ และ มีผลต่อผู้ซื้อสินค้าผู้บริโภคที่ต้องปรับพฤติกรรมการซื้อและการบริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์ตามไปด้วย เช่น ยานยนต์ที่ไร้คนขับรุ่นใหม่ ที่กำลังจะผลิตออกสู่ตลาด ถูกสร้างบนพื้นฐานดิจิตอลเทคโนโลยี ตัวรถยนต์รุ่นใหม่สามารถทำหน้าที่ในการขับได้ด้วยตัวเอง มันสามารถสื่อสารกับระบบแผนที่ของถนน สื่อสารกับรถยนต์คันอื่นๆที่วิ่งบนถนนใกล้มัน สื่อสารกับป้ายหรือสัญญาณจราจรได้ สามารถรับรู้สิ่งที่เคลื่อนไหวรอบตัวมันได้ และยังสามารถทำหน้าที่อื่นๆในการสื่อสารได้อีกหลายอย่าง หรือรถแทรคเตอร์รุ่นใหม่ที่ไร้คนขับ ซึ่งมีดิจิตอลเทคโนโลยีอยู่ในตัวรถแทรคเตอร์ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องอยู่กลางแดดกลางทุ่งทั้งวัน เพราะเกษตรกรสามารถนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในบ้าน หรือนั่งจิบกาแฟแล้วใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่สั่งโปรแกรมให้รถแทรกเตอร์ทำการไถพรวนดินในไร่นาของตนได้ตลอดทั้งวันทั้งคืน เพราะรถแทรกเตอร์ไร้คนขับมันสามารถสื่อสาร กับดาวเทียมได้ ทำให้มันรู้ว่าจะต้องไถดินไปทางทิศไหน เป็นระยะทางเท่าไหร่ จะต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวากี่รอบ และมันยังฉลาดที่จะสื่อสารกับการพยากรณ์อากาศด้วยว่าจะมีฝนตกหรือไม่ เพื่อมันจะได้หยุดทำการไถพรวนดิน

ดิจิตอลเทคโนโลยีทำให้เกิดการเคลื่อนไหว (Move) ที่รวดเร็วกว่าอดีต เพราะดิจิตอลเทคโนโลยีที่ฝังอยู่ในผลิตภัณฑ์มันสามารถสื่อสาร (Communicate) กันได้ ทำให้สินค้าและผลิตภัณฑ์แทบทุกอย่างสามารถสร้างพลังงาน (Generate Energy) ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เพราะเมื่อมันสื่อสารกันได้ มันจะเกิดการพึ่งพากันได้ (Interact) เช่น เมื่อคนเดินออกจากห้องจนไม่มีใครอยู่ในห้องแล้ว หลอดไฟฟ้าในห้องจะปิดเอง เมื่อไฟแสงสว่างดับ เครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์ที่อยู่ในห้องก็จะหยุดทำงานตามด้วย

ดิจิตอลเทคโนโลยีกำลังจะทำให้วิทยาศาสตร์การแพทย์เปลี่ยนแปลงไปอีกมาก เพราะมันทำให้วิทยาการทางด้านพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (Genetic Engineering) และ เทคโนโลยีทางด้านประสาทวิทยา (Neurotechnologies) มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก พร้อมกับความก้าวหน้าทางวัสดุศาสตร์ และการพิมพ์ด้วยระบบ 3 มิติ จะทำให้ระบบการป้องกันและวิธีการรักษาพยาบาลโรคต่างๆในอนาคตเปลี่ยนรูปแบบไปอีกมาก ซึ่งจะทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้นอย่างแน่นอน

ดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อน (Driving Force) ที่ทำให้โลกอุตสาหกรรมก้าวเข้าสู่ยุคที่ 4 เป็นการก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ที่บังคับให้ทุกระบบในโลกนี้ต้องทำการเปลี่ยนแปลง และต้องทำการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย เพราะดิจิตอลเทคโนโลยีที่เกิดใหม่จะทำลายหรือกวาดล้างเทคโนโลยีเดิมอย่างรวดเร็วเพื่อเข้ามาแทนที่  อย่างที่เรียกว่า Disruptive Technology ซึ่งยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคมอย่างไร แต่น่าจะมีผลกระทบต่อ

ตลาดแรงงาน (Labor Market) ระบบการศึกษาที่ใช้ในปัจจุบันจะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ให้สามารถสร้างระบบการเรียนรู้และพัฒนา ทักษะให้แก่ผู้เรียนเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของดิจิตอลเทคโนโลยี เพราะกว่าโรงเรียน วิทยาลัย และ มหาวิทยาลัย จะผลิตให้นักศึกษามีความรู้และทักษะจนสำเร็จการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายปี ความรู้และทักษะที่ นักศึกษาเรียนและฝึกฝนมาในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย กลับไม่สามารถนำมาใช้ทำประโยชน์ในเวลาทำงานได้เลย เพราะเทคโนโลยียุคดิจิตอลมันเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทำให้มันล้าสมัยเร็วมาก ในเวลาเพียงปีสองปีก็มีเทคโนโลยีใหม่มาแทนแล้ว

งานในอนาคต (Future of work)
ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าระบบอัตโนมัติ การใช้หุ่นยนต์สมองกลและปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาทดแทนงานที่เคยต้องใช้มนุษย์ทำมากน้อยเพียงใด เพราะโรงงานทำขนมปังในปัจจุบันสามารถใช้เครื่องจักรทำขนมปังตั้งแต่ผสมแป้งจนถึงบรรจุถุงโดยไม่ต้องผ่านมือคนเลยและเครื่องจักรอัตโนมัติสามารถผลิตขนมปังได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ ฟาร์มเลี้ยงไก่ในปัจจุบันสามารถใช้หุ่นยนต์มาทำหน้าที่แทนคนเลี้ยงไก่ในโรงเลี้ยงไก่ โดยหุ่นยนต์หนึ่งเครื่องสามารถทำหน้าที่ตรวจน้ำ ตรวจอาหาร เติมน้ำเติมอาหาร และยังสามารถตรวจอุณหภูมิในตัวไก่ทำให้รู้ว่าไก่เป็นไข้ หรือไก่ตายแล้วได้ด้วย ที่สำคัญหุ่นยนต์มันไม่เบิกเงินล่วงเวลา ไม่มาสาย ไม่ลาไปโรงพยาบาล ไม่นินทา ไม่ทะเลาะกับใคร แล้วงานอาชีพของคนในอนาคตจะต้องไปทำงานอะไร?

ความแตกต่างกันของรายได้ (Income Inequality)
ความต้องการแรงงานที่มีความรู้ (Knowledge Worker) มีมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานที่มีความรู้และทักษะทางดิจิตอลเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้มีงานทำและมีรายได้สูงกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้แรงงานแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งยิ่งจะทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็มีช่องว่างทางรายได้ที่ห่างกันมากอยู่แล้วระหว่างคนที่ร่ำรวยมากๆกับคนที่ยากจนมากๆ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมในอนาคต และจะเกิดผลกระทบต่อสังคมอย่างไร ยากที่จะพยากรณ์

ความปลอดภัยทางการเมืองของภูมิภาค (Geopolitical Security)
ยิ่งดิจิตอลเทคโนโลยีเป็นฐานของสิ่งประดิษฐ์ทุกอย่างที่สามารถติดต่อเชื่อมโยงกันได้หมด ที่เราเรียกว่า Internet of things ชีวิตของเรายิ่งต้องผูกติดกับดิจิตอลเทคโนโลยี มากขึ้นและผูกติดเกือบตลอดเวลา ในความดีของเทคโนโลยก็มีความน่ากลัวที่เป็นอันตรายติดตามมาด้วย คือเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะเวลานี้ก็เกิดปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าทางดิจิตอลเทคโนโลยีอยู่แล้ว และที่กำลังกังวลกันมากในเวลานี้คือเรื่องการเรียกเงินค่าไถ่ของโจรทาง internet ที่ใช้ไวรัสเข้าไปยึดระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ ในองค์กรหน่วยงานใหญ่ๆ การทำงานของหน่วยงานสืบราชการลับ หน่วยงานด้าน ความมั่นคง หน่วยงานทหารและการเมืองของประเทศต่างๆ ล้วนได้นำเอาดิจิตอลเทคโนโลยีไปใช้เป็นเครื่องมือทั้งในด้านการป้องกันประเทศ และการทำลายศัตรู แม้แต่ในขบวนการก่อการร้าย กลุ่มผู้ก่อการร้ายต่างๆก็ใช้ดิจิตอลเทคโนโลยีในการทำงานวางระเบิด แล้วความปลอดภัยของแต่ละภูมิภาคในโลกนี้จะยังมีอยู่หรือไม่?

ระบบคุณค่าทางสังคม (Social Value System)
ดิจิตอลเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตของคนในสังคมเปลี่ยนไป คุณค่าทางสังคมที่เคยสืบสานผ่านการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งได้สูญหายไป เพราะการสื่อสารกันแบบใกล้ชิดต่อหน้าผ่านหน้าตา ถูกเปลี่ยนไปเป็นการสื่อสารทางไกลผ่านหน้าจอมือถือแทน คุณค่าทางสังคมเดิมถูกทำลายไปจนยากที่จะกู้กลับคืนมาใหม่ได้ พฤติกรรมของคนในโลกที่เสพสื่อสังคมเปลี่ยนไปในทางที่ลดคุณค่าลงไปเรื่อยๆ เมื่อคนกล้าแสดงสดการร่วมเพศให้คนดูเป็นหมื่นเป็นแสนคนได้โดยไม่รู้สึกผิดและละอายใจ หรือ คนสามารถตัดศีรษะคนให้เห็นกันสดๆทั่วโลกได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นการฆ่าคน แม้แต่การฆ่าตัวตายยังทำการถ่ายทอดสดผ่านสื่อสังคมได้ แล้วระบบคุณค่า คุณธรรมทางสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอีกมากเท่าไร ไม่สามารถคาดคะเนได้

กรอบทางจริยธรรม (Ethical Flamwork)
จริยธรรมเป็นคุณธรรมที่ต้องอยู่คู่จิตใจมนุษย์เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์อยู่เหนือสัตว์ แต่ในปัจจุบันกรอบทางจริยธรรมแทบจะไม่สามารถกำกับจิตใจมนุษย์ได้แล้ว เพราะแม้แต่กฏหมายก็เอาไม่อยู่ คนกล้าทำผิดกฏหมายทุกวัน ไม่ว่าคนจะมีความรู้ระดับใด ก็ยังทำผิดจริยธรรม กล้าทำร้ายฆ่าคน กล้าโกง กล้าคอรัปชั่น กรอบจริยธรรมของสังคมไม่สามารถล้อมจิตสำนึกในจิตใจมนุษย์ให้ประพฤติอยู่ในกรอบ แล้วในอนาคตมนุษย์จะมีกรอบจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีมากน้อยเพียงใด

สำหรับประเทศไทย การประกาศนโยบาย Thailand 4.0 ยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำความเข้าใจอย่างแท้จริงให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนคิดอยู่ในกรอบความคิดเดิมคือเศรษฐกิจไม่ดี ค้าขายไม่คล่อง เพราะรัฐบาลไม่อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบ แต่ไม่ได้คิดว่าที่เศรษฐกิจไม่ดีค้าขายไม่คล่องเหมือนเมื่อก่อนเพราะขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเริ่มสู้ ประเทศอื่นๆไม่ได้ การแก้ไขโดยใช้เศรษฐกิจแบบประชานิยมจะช่วยกระเตื้องระบบเศรษฐกิจได้เพียงชั่วคราว เพราะปัญหาจุดอ่อนที่แท้จริงของประเทศไทยยังไม่ได้ ทำการแก้ไข ประชาชนต้องเปลี่ยนความคิดมาสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง ไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือจากทางราชการ

เมื่อโลกเข้าสู่โลกอุตสาหกรรมยุคที่ 4 ที่เติบโตบนพื้นฐานดิจิตอลเทคโนโลยีมากขึ้น ประเทศไทยจะยิ่งยากลำบากมากขึ้นในการแข่งขัน คนไทยรุ่นใหม่ต้องมีความรู้และทักษะที่พร้อมแข่งขันได้ในอนาคต ยิ่งเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รัฐบาลจะยิ่งมีภาระเพิ่มมากขึ้นในการดูแลประชากรผู้สูงอายุ แต่ประเทศจะเติบโตได้ต้องมีประชากรจำนวนมากที่สร้างผลิตผล (Productivity) ประชากรผู้สูงอายุแม้มีคุณค่าแต่สร้างผลิตผลได้น้อยลง

ประเทศไทยได้รับโอกาสที่ดีมานานแล้ว แต่เราไม่สามารถเกาะกินบุญเก่าต่อไปอีกเรื่อยๆ เพราะถ้าเมื่อมีโอกาสแล้วเราไม่รีบฉวยโอกาส เราจะสูญเสียโอกาสไป อยู่ที่คนไทยในวันนี้จะมองเห็นปัญหาที่แท้จริง และ ฉวยโอกาสเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สร้างความแข็งแกร่งให้ตัวเอง ให้สามารถต่อสู้แข่งขันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ที่อยู่บนพื้นฐานโครงสร้างดิจิตอลเทคโนโลยีได้เร็วมากน้อยเพียงใด

Angela Ahrendts กล่าวว่า
“I grew up in a physical world, and I speak English. The next generation is growing up in a digital world, and they speak social.” ฉันเติบโตในโลกกายภาพและพูดภาษาอังกฤษ แต่คนรุ่นต่อไปเติบโตในโลกดิจิตอล และพวกเขาพูดภาษาสังคม

Dorothy Denning กล่าวว่า
“Further, the next generation of terrorists will grow up in a digital world, with ever more powerful and easy-to-use hacking tools at their disposal.” ผู้ก่อการร้ายรุ่นต่อไปจะเติบโตในโลกดิจิตอล ซึ่งจะมีเครื่องมือที่มีอานุภาพมากขึ้น และมีเครื่องมือการแฮกที่ง่ายต่อการใช้ที่ปลายนิ้วของพวกเขา

ที่มา: Klus Schwab: The Fourth Industrial Revolution.