วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

Big picture ภาพใหญ่


“Blessings are on the head of the righteous, but the speech of the wicked conceals violence. ​​​​​​​The memory of the righteous is a blessing, but the reputation of the wicked will rot.”          Proverbs 10:6-7

            If you think you are the entire picture, you will never see the big picture.” ถ้าคุณคิดว่าตัวคุณคือตัวภาพทั้งหมด คุณจะไม่มีวันมองเห็นภาพใหญ่ของภาพนั้น เป็นคำพูดของ John C. Maxwell ที่อธิบายให้ผู้นำผู้บริหารเข้าใจว่า เราไม่สามารถเป็นทุกอย่างในภาพใหญ่ได้ทั้งหมด เพราะภาพแต่ละภาพมีองค์ประกอบหลายส่วนที่มีรูปลักษณ์ ขนาด สีสันที่แตกต่างกันเข้ามารวมกันเป็นภาพใหญ่ ทำให้ภาพมีความลงตัว เกิดความสวยงาม หรือมีความน่าสนใจมากขึ้น เช่นเดียวกับการเป็นผู้นำผู้บริหารองค์กร ที่ไม่สามารถไปทำทุกเรื่องทุกอย่างในองค์กรด้วยตนเองได้ทั้งหมด เพราะองค์กรมีองค์ประกอบหลายส่วน หลายลักษณะ หลายขนาด หลายหน้าที่ ที่แตกต่างกัน แต่รวมกันทำหน้าที่ของมันเพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความสำเร็จ
            กลองใบเดียว แม้มือกลองจะมีฝีมือในการตีกลองได้อย่างเชี่ยวชาญแต่ความไพเราะและความน่าสนใจของเสียงกลองที่เล่นอยู่คนเดียวไม่อาจสู้ความไพเราะของเสียงกลองที่เล่นพร้อมกับเครื่องดนตรีหลากหลายชนิดในวงดนตรี การเป็นผู้นำผู้บริหารคือการเป็นผู้นำการบรรเลงเพลงให้เสียงดนตรีที่ออกมาจากเครื่องดนตรีหลากชนิด หลายประเภท ต่างขนาดทั้งชิ้นใหญ่ชิ้นเล็กที่แตกต่างกันสามารถรวมกันเป็นเสียงเพลงบรรเลงที่ไพเราะและน่าสนใจยิ่ง
Robert L. Joss คณบดีของ STANFORD Graduate School of Business กล่าวว่าผู้นำผู้บริหารต้องรู้จักการพึ่งพาผู้อื่นอย่างไม่เป็นทางการ (Informal dependence) เป็นการอาศัยความช่วยเหลือจากบุคคลหลายๆคนที่ไม่มีตำแหน่งตามโครงสร้างการบริหารงานขององค์กร หรือเป็นการขอร้องไหว้วานให้ช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว ซึ่งในหลายๆกรณีมีความสำคัญกว่า และมีอำนาจมากกว่า การอาศัยอำนาจตามตำแหน่งในโครงสร้างการบริหารองค์กรที่กำหนดให้งานของผู้นำผู้บริหารอยู่ในจุดสูงสุดขององค์กร

Key thoughts ความคิดหลัก
·         Responsibility not power ความรับผิดชอบ ไม่ใช่อำนาจ
ผู้นำผู้บริหารจำนวนมากเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งมักคิดถึงอำนาจที่มากับตำแหน่งมากกว่าความรับผิดชอบที่มากับตำแหน่ง และมักใช้อำนาจที่มีคู่กับตำแหน่งไปในทางที่เกิดประโยชน์ต่อความสำเร็จของตนเองโดยขาดจิตสำนึกว่า การเป็นผู้นำหมายถึงการมีความรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนที่มีผลทำให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อองค์กรและบุคลากร ความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของตน ทั้งทางตรงหรือทางอ้อมที่มีผลกระทบต่อองค์กรและบุคลากรในองค์กร เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้นำผู้บริหาร
·         Strategy and Specifics ยุทธศาสตร์และความชัดเจน
มีคำกล่าวว่า “A group needs a strategy” กลุ่มจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ หมายถึงเมื่อมีคนมากกว่าหนึ่งคนมารวมตัวกันเป็นกลุ่ม ถ้าต้องการให้คนในกลุ่มทำงานอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมียุทธศาสตร์ เพราะถ้าไม่มียุทธศาสตร์กำกับการทำงาน คนในกลุ่มจะทำงานตามความพอใจของตนเอง การทำงานย่อมไม่เกิดผล และไม่มีประสิทธิภาพ  Michael Dell ผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัท Dell Inc. ที่ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์จำหน่ายทั่วโลกกล่าวว่า “You have to show that you know the way, even if you have no idea what to do.” คุณต้องแสดงให้คนรู้ว่าคุณรู้จักทางที่จะไป แม้ว่าในขณะนั้นคุณยังไม่รู้ว่าคุณจะทำอะไร ผู้นำผู้บริหารจะต้องรู้ว่าตนเองกำลังจะนำองค์กรไปทางไหนก่อน แล้วถึงมากำหนดสิ่งที่ต้องทำเพื่อนำองค์กรให้เดินไปตามทิศทางนั้น Robert l. Joss ยกตัวอย่างเรื่องความชัดเจนในการบริหารคณะบริหารธุรกิจที่เขาเป็นคณบดีว่า ถ้าจะบอกว่าคณะบริหารธุรกิจของเราจะเป็นคณะที่ยิ่งใหญ่ ผู้ร่วมงานในคณะจะยังไม่รู้ชัดเจนว่าคณะของเราจะไปทางใด ยังไม่เกิด sense of direction ว่าคณะบริหารธุรกิจจะยิ่งใหญ่ได้อย่างไร เพราะเป็นคำพูดที่กว้างเกินไป แต่ถ้าเราพูดว่าคณะบริหารธุรกิจของเราจะใช้ยุทธศาสตร์ 3 Cs ใหม่ คือ a new Curriculum มีหลักสูตรการเรียนใหม่ a new Collaboration มีความร่วมมือใหม่ และ a new Campus มีวิทยาเขตใหม่ คนจะมองเห็นชัดเจนมากขึ้นว่ายุทธศาสตร์ 3Csใหม่จะนำให้คณะบริหารธุรกิจเป็นคณะที่ยิ่งใหญ่ได้
·         Earning Trust การได้รับความไว้วางใจ
การได้รับความไว้วางใจและความเคารพนับถือเป็นเรื่องสำคัญ (Earning trust and respect is crucial) เพราะผู้นำผู้บริหารแม้จะมีอำนาจตามตำแหน่งแต่ไม่สามารถทำให้งานที่ตนเองรับผิดชอบประสบความสำเร็จได้ ถ้าขาดความร่วมมือจากผู้ร่วมงาน ดังนั้นการได้รับความไว้วางใจและความเคารพนับถือจากผู้ร่วมงานจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำ เพราะสิ่งที่ผู้นำผู้บริหารต้องการคือ ผู้ร่วมงานที่มีแรงบันดาลใจ (Inspired) ผู้ร่วมงานที่ทุ่มเท (Committed) ผู้ร่วมงานที่มีพลังใจ (Motivated) และ ผู้ร่วมงานที่ให้ความร่วมมือ (cooperated) การแสดงบทบาทความเป็นผู้นำที่จริงจังและจริงใจ ทุ่มเทไม่ท้อแท้ แน่วแน่ไม่ยอมแพ้ อดกลั้นและอดทน เสียสละและสัตย์ซื่อ จะทำให้ผู้ร่วมงานยอมรับในความเป็นผู้นำ มีความไว้วางใจ และให้การเคารพนับถือ
·         Accountability and Adaptability ความเชื่อถือได้ และการปรับตัว
คุณสมบัติหลักในการเป็นผู้นำคือต้องมีความเชื่อถือได้ เพราะถ้าตัวผู้นำไม่มีความน่าเชื่อถือ ความเป็นผู้นำก็หมดไป ถ้าผู้ร่วมงานไม่ยอมรับ ไม่ไว้วางใจ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำขอร้อง ความเชื่อถือในตัวผู้นำเกิดจากการที่ผู้นำมีความรับผิดชอบในสิ่งที่พูดและทำ พูดสิ่งใดปฏิบัติสิ่งนั้น (Walk the talk) ไม่พูดลวงแบบโกหกสีขาว (White lies) พูดความจริงและทำทุกสิ่งอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลอกใช้ผู้ร่วมงาน มีจริยธรรม มีจรรยาบรรณในการทำงาน ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งไม่ได้หมายความว่าไม่มีความยืดหยุ่น (Flexibility) ในการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เพียงแต่การปรับตัวต้องเป็นไปตามความมีเหตุและผล และเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตน
·         Invite Open Criticism  เปิดกว้างให้วิพากษ์
ในโลก online สื่อสารกันผ่านทาง Social network ผู้นำผู้บริหารต้องทำใจเปิดกว้างรับรู้ความรู้สึกของผู้ร่วมงานที่แสดงออกในช่องทางสื่อสารที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในเวลานี้ ผู้นำผู้บริหารจำเป็นต้องเปิดช่องทางให้มีการสื่อสารได้อย่างเปิดเผย เพื่อจะได้รับรู้ช่องว่างของการสื่อสาร (Communication Gap) ความเข้าใจระหว่างผู้นำผู้บริหารกับผู้ร่วมงาน และแก้ไขความไม่เข้าใจกันโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่ไว้วางใจในตัวผู้นำผู้บริหาร การแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยดีกว่าการสร้างข่าวลือ เขียนบัตรสนเท่ห์ ใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งเป็นการยากที่ผู้นำผู้บริหารจะตามไปสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องได้ เพราะไม่รู้ว่าต้นตอที่แท้จริงของความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้นจากจุดใด ถ้ามีผู้ร่วมงานแสดงความคิดเห็นในทำนองเดียวกันเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งคน ผู้นำผู้บริหารควรให้ความสนใจในทันที เพื่อแก้ไขปัญหา ณ จุดนั้น ไม่ควรปล่อยให้ปัญหาลุกลามจนยากต่อการแก้ไขในภายหลัง
·         It’s Not About You ไม่ใช่เกี่ยวกับคุณ
ผู้นำผู้บริหารต้องเข้าใจว่าบทบาทการเป็นผู้นำไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้นำผู้บริหารแสดงเกี่ยวกับตัวผู้นำผู้บริหารเอง แต่เป็นบทบาทที่ผู้นำผู้บริหารแสดงเกี่ยวกับงานขององค์กร สิ่งที่ผู้นำผู้บริหารทำ เป็นการทำหน้าที่แสดงบทบาทที่เกี่ยวกับองค์กร ไม่ใช่แสดงบทบาทเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวหรือครอบครัว และนี่เป็นจุดอ่อนของผู้นำผู้บริหารที่แยกตัวเองไม่ออกระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความเป็นส่วนองค์กร ทำให้ผู้นำผู้บริหารองค์กรหลายท่านบริหารองค์กรเหมือนกับเป็นของส่วนตัว ปล่อยให้คนในครอบครัวเข้ามาแสดงบทบาทยุ่งเกี่ยวในงานขององค์กร จนเกิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest) ยุ่งเหยิงปะปนกันไปหมด ผู้นำผู้บริหารจึงต้องกำหนดเส้นแบ่งเขตบทบาทที่เกี่ยวกับองค์กร กับบทบาทที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวและครอบครัวไว้ให้ชัดเจน เพราะบทบาทหลักของผู้นำผู้บริหารเป็นบทบาทที่เกี่ยวกับองค์กร เพราะผู้นำผู้บริหารแสดงบทบาทในการเป็นตัวแทนหรือสัญญาลักษณ์ (Symbolic) ขององค์กร
·         Earn the position ทำงานให้สมกับตำแหน่ง
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำผู้บริหารอาจจะไม่ใช่เรื่องยากเมื่อมีโอกาส แต่จะทำงานในตำแหน่งผู้นำผู้บริหารอย่างไรให้สมกับการได้รับความไว้วางใจให้เข้ามารับผิดชอบในตำแหน่งเป็นเรื่องยากกว่า เพราะผู้นำผู้บริหารมีความท้าทายเฉพาะหน้าคือ จะต้องใช้ความสามารถอย่างมากในการทำให้องค์กรมีสภาพที่ดีกว่าตอนที่เข้ามารับตำแหน่งเมื่อถึงเวลาที่จะต้องออกจากตำแหน่ง (Leave the organization in the better shape) คืออย่างน้อยที่สุดต้องทำให้สถานะภาพขององค์กรดีกว่าที่ผู้นำผู้บริหารคนก่อนทำไว้ ก่อนที่เราจะเข้ามารับตำแหน่ง เพราะผู้ที่ให้โอกาสแก่เราทุกคนมีความคาดหวังอย่างนั้น รวมทั้งผู้ร่วมงานในองค์กรมีความคาดหวังว่าเจ้านายใหม่จะต้องมีฝีมือความสามารถดีกว่าเจ้านายคนก่อน เป็นความกดดันที่ผู้นำผู้บริหารจะต้องยอมรับ และถือว่าเป็นการท้าทายความสามารถในการเป็นผู้นำผู้บริหารของตน
·         Learn from mistakes เรียนรู้จากความผิดพลาด
อย่างที่ Albert Einstein ได้กล่าวว่าคนที่ไม่มีความผิดพลาดคือคนที่ไม่เคยลองทำอะไรใหม่เลย (Anyone who has never made a mistake has never tried anything new.) ความผิดพลาดในการทำงานจึงเป็นเรื่องปกติ และผู้นำผู้บริหารก็มีโอกาสทำงานผิดพลาดได้ในการบริหารงาน เพราะผู้นำผู้บริหารไม่ใช่ Super Hero ที่เก่งไปเสียหมดทุกด้าน ผู้นำผู้บริหารมีจุดด้อยจุดอ่อนเหมือนคนทั้งหลาย เพียงแต่ผู้นำผู้บริหารจะต้องมีความไวต่อการรับรู้ว่ากำลังตัดสินใจทำในสิ่งที่ผิดพลาด และพลิกกลับมาแก้ไขสถานการณ์อย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้ความเสียหายจากความผิดพลาดขยายผลต่อไป การเรียนรู้จากความผิดพลาดทำให้ผู้นำผู้บริหารมีความแข็งแกร่งขึ้น มีความอดทนมากขึ้น มีความละเอียดในการวิเคราะห์ปัญหามากขึ้น มีความรอบคอบเฉลียวใจมากขึ้น เพราะความล้มเหลวเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ ความผิดพลาดแต่ละครั้งสอนบางสิ่งให้แก่เรา (Failure is the key to success; each mistake teaches us something.)
 
·         Set a positive example สร้างตัวอย่างทางบวก
ผู้นำผู้บริหารคือแบบอย่างการปฏิบัติขององค์กร ผู้ร่วมงานในองค์กรมองผู้นำผู้บริหารเป็นต้นแบบในการปฏิบัติงานและปฏิบัติตน จึงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่ผู้นำผู้บริหารจะสร้างตัวอย่างที่ดีให้ผู้ร่วมงาน เพราะผู้นำผู้บริหารเป็นอย่างไรคนในองค์กรก็เป็นอย่างนั้น ผู้นำผู้บริหารเป็นคนตรงต่อเวลา ผู้ร่วมงานไม่กล้ามาสาย ผู้นำผู้บริหารสัตย์ซื่อต่อต้านการรับสินบน ผู้ร่วมงานไม่กล้ารับของกำนัล ผู้นำผู้บริหารใช้ธรรมาภิบาลปกครอง ลูกน้องก็มีธรรมาภิบาลตามด้วย
Mitt Romney กล่าวว่า “Leadership is about taking responsibility, not making excuses.” ความเป็นผู้นำ เป็นเรื่องการรับผิดชอบไม่ใช่เรื่องการแก้ตัว
Denis Waitley กล่าวว่า “There are two primary choices in life: to accept conditions as they exist, or accept the responsibility for changing them.” ในชีวิตเรามีทางเลือกเบื้องต้นอยู่สองทาง คือยอมรับเงื่อนไขทุกอย่างตามที่มันเกิดขึ้น หรือ ยอมรับความรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงมัน

ท่านยอมรับความรับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้น หรือยอมให้สิ่งที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงท่านK

 

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จุดหมาย Destination


My child, pay attention and listen to my wisdom and insight. Then you will know how to behave properly, and your words will show that you have knowledge.     Proverbs 5:1-2
Jack Stahl อดีตประธานกรรมการบริษัท Coca-Cola และอดีตประธานคณะผู้บริหารของบริษัท Revlon กล่าวในหนังสือที่เขาเขียน Lessons on Leadership ว่า “I believe that the keys to any successful organization are the quality of its leadership and its ability to effectively devise and execute plan.” ข้าพเจ้าเชื่อว่ากุญแจแห่งความสำเร็จขององค์กรใดๆคือคุณภาพของการเป็นผู้นำและความสามารถในการออกแบบเครื่องมือที่จะใช้และการปฏิบัติตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ
อนาคตที่รุ่งโรจน์ขององค์กรหรือบริษัทในระยะยาวอยู่ที่การขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งของผู้นำองค์กร ความเป็นผู้นำ (Leadership) ของผู้นำผู้บริหารจึงเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จ หรือความล้มเหลวขององค์กร ความเป็นผู้นำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้นำที่ออกมายืนอยู่แถวหน้าแล้วใช้ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวพาคนตะลุยเข้าไปในสมรภูมิเพื่อรบจนแพ้หรือชนะ แต่หมายถึงผู้นำองค์กรที่สามารถมองเห็นจุดหมาย (Destination) ในอนาคตที่ประสบความสำเร็จขององค์กร และสามารถขับเคลื่อนนำองค์กรไปสู่จุดหมายที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับความสำเร็จเกินความคาดหวัง (Beyond expectations)
ดังนั้นสิ่งแรกที่ผู้นำองค์กร หรือผู้บริหารบริษัทจะต้องมีคือ ความสามารถในการมองเห็นภาพ (Envision) อนาคตขององค์กร เพราะถ้าผู้นำผู้บริหารองค์กร ไม่มีภาพขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในอนาคต หรือมีภาพขององค์กรในอนาคตที่เบลอๆไม่ชัดเจน ผู้นำผู้บริหารองค์กรจะไม่สามารถกำหนดจุดหมายขององค์กรที่ต้องการได้ การที่ผู้นำผู้บริหารองค์กรมีภาพขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในอนาคตที่ชัดเจน ทำให้ผู้นำผู้บริหารองค์กรสามารถกำหนดจุดหมายที่ต้องการนำองค์กรเดินไปให้ถึง ซึ่งจะทำให้ผู้ร่วมงานในองค์กรทุกระดับเห็นภาพจุดหมายเดียวกัน มีความเข้าใจตรงกัน สามารถทำยุทธศาสตร์และแผนงานที่จะนำองค์กรไปสู่เป้าหมายระหว่างกาล (Interim objectives) ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่จุดหมายที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ
การมีจุดหมายที่ชัดเจน (A clear destination) ทำให้คนในองค์กรมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทำให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้น (Exciting) มีความรู้สึกท้าทาย (Challenging) และมีความอยาก (Desire) ที่จะมุ่งหน้าก้าวเดินไปสู่จุดหมายขององค์กรที่ผู้นำผู้บริหารได้กำหนดไว้ องค์กรที่ไม่มีจุดหมาย หรือมีจุดหมายที่ไม่ชัดเจน คนในองค์กรทำงานอย่างไม่มีผลิตผล (Unproductive) หรือมีผลิตผลที่ต่ำ (Underproductive) ทำให้องค์กรสูญเสียเวลาและทรัพยากรไปอย่างไม่คุ้มค่า

What is an organizational destination? อะไรคือจุดหมายขององค์กร

จุดหมายขององค์กรอาจจะหมายถึง ตำแหน่งของบริษัทในท้องตลาด (A company’s position in the marketplace) หรือจุดที่ต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท เช่น ผู้บริโภค (Consumers) ลูกค้า (Customers) ผู้ถือหุ้น (Shareowners) บุคลากร (Employees) และคนอื่นๆที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กร
ตัวอย่างจุดหมายองค์กรที่ผู้นำของบริษัท FedEx บริษัทขนส่งพัสดุภัณฑ์ทุกอย่างที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ได้กำหนดไว้เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของบริษัทว่า “We live to Deliver” เรามีชีวิตอยู่เพื่อส่งของ และ “The World on Time” ทั่วโลกตรงเวลา จุดหมายที่ชัดเจน ของผู้นำองค์กรบริษัท FedEx ทำให้คนในองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัททั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า เข้าใจจุดหมายของบริษัทอย่างชัดเจนว่า ชีวิตของบริษัท FedEx คือ อยู่เพื่อเป็นผู้ขนส่งพัสดุภัณฑ์ เป็นบริษัทที่รู้เรื่องและมีความชำนาญมากที่สุดในเรื่องการขนส่งพัสดุภัณฑ์ และเป็นบริษัทที่ให้บริการขนส่งพัสดุภัณฑ์ทุกชนิดทั่วโลกโดยให้พัสดุภัณฑ์ที่ส่งถึงมือลูกค้าตรงเวลา ไม่ว่าจะอยู่ ณ จุดใดในโลก
การเดินทางไปสู่จุดหมายที่กำหนดไว้จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะการจะทำให้พัสดุภัณฑ์ทุกชนิด ทุกชิ้น ทั้งชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ของบริษัท FedEx ส่งถือมือลูกค้าได้ถูกต้อง ถูกพัสดุภัณฑ์ ถูกสถานที่ ถูกคน ไม่ว่าจะอยู่จุดใดในโลกตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ บริษัทFedEx ต้องมีปัจจัยองค์ประกอบอีกมากมาย ต้องมีคนทำงานที่มีคุณภาพประจำอยู่ในสำนักงานทั่วโลก มีพาหะขนส่งหลายชนิด มีอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยในการลำเลียง มีระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ มีระบบเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีความรู้และประสบการณ์อย่างมาก จึงสามารถทำให้บรรลุถึงจุดหมายของบริษัทได้
การมีจุดหมายที่ท้าทาย ทำให้คนในองค์กรมีความคิดใหม่ๆออกมา ทำให้องค์กรมีความคิดที่ดีที่สุด (The best thinking) นำไปใช้เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่จุดหมาย เพราะคนที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน (High performers) มีความต้องการเป็นเจ้าของแผนการที่จะเดินไปสู่จุดหมาย ต้องการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน
ผู้นำบริษัท Revlon ในอดีตเมื่อต้องการขับเคลื่อนบริษัทไปสู่การเป็นผู้นำเครื่องสำอางในระดับโลก ได้กำหนดจุดหมายว่า “A global beauty leader, led by color cosmetics, driven by our passion for our exciting brands, creativity, and quality.” จุดหมายของการเป็นผู้นำโลกเรื่องความสวยงาม นำโดยมีเครื่องสำอางที่มีสีสัน ขับเคลื่อนด้วยความรักหลงใหลในเสน่ห์ของ Brand ที่ชวนให้ตื่นเต้น ริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพ แต่ปรากฏว่าทีมงานในองค์กรมีความรู้สึกว่าเป็นจุดหมายที่ยังไม่ชัดเจนจึงพากันเสนอความคิดที่หลากหลายต่อผู้บริหารของบริษัท จนในที่สุดบริษัทได้จุดหมายทางธุรกิจ (Business destination) ที่ชัดเจนมากขึ้นคือ “Delivering the promise of beauty” หรือ เป็นผู้ส่งความสวยงามที่เป็นความหวังในอนาคตให้แก่ลูกค้า ทำให้คนในองค์กรเข้าใจถึงจุดหมายของบริษัทในการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ความสวยงามมาให้ลูกค้า บริษัทจึงต้องมีสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลากหลายชนิดที่จะทำให้ลูกค้ามีความงามตามความต้องการ บริษัทจะต้องเป็นผู้นำในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีคุณภาพใหม่ๆอย่างต่อเนื่องเพื่อนำความสวยความงามมาให้ลูกค้า บริษัทต้องทำให้ Brand ของ Revlon โดดเด่นมากขึ้น มีสื่อโฆษณาที่สร้างความตื่นเต้น มีสินค้าใหม่ที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของลูกค้าเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง Revlon กลายเป็นผลิตภัณฑ์ความสวยงามที่ผู้หญิงทั่วโลกให้ความไว้วางใจมากที่สุด ยอดขายสินค้าของ Revlon พุ่งขึ้นทะลุเป้าหมาย เป็นความสำเร็จเกินกว่าที่คาดหวังไว้
ในปี 1994 บริษัท Coca-Cola มีส่วนแบ่งตลาด (Market share) ในสหรัฐอเมริกาประมาณ 40% ผู้บริหารบริษัท Coca-Cola จึงตั้งจุดหมายใหม่ว่าจะทำให้เครื่องดื่มน้ำอัดลมของบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเป็น 50% เพิ่มขึ้น 10% ภายในปี 2000 โดยใช้จุดหมายทางธุรกิจว่า “360 degree Coca-Cola landscape” มีความหมายว่าขาย Coca-Cola รอบทิศทางทุกถิ่นสถาน จุดหมายใหม่นี้ทำให้บริษัท Coca-Cola มียุทธศาสตร์ในการขยายพื้นที่ในการขายมากขึ้นทุกช่องทาง เพิ่มเครื่องขายหยอดเหรียญ (Vending machines) เพิ่มพนักงานขาย เพิ่มและสร้างสรรค์โฆษณาใหม่ๆ เพิ่มรายการส่งเสริมการขาย และพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง เวลา 6 ปีในการรณรงค์ไปสู่จุดหมายใหม่ทำให้ในปี 2000 บริษัท Coca-Cola มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 45% แม้ว่าจะไม่สามารถบรรลุถึงจุดหมายในเวลาที่กำหนดไว้ แต่บริษัทก็สามารถเดินหน้ามาได้ถึงครึ่งทางของจุดหมาย และเป็นรากฐานใหม่ในการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ (Strategic shift) ทำให้ Coca-Cola สร้าง Brand ใหม่ เพิ่มการโฆษณา เพิ่มช่องทางขาย ขยายพื้นที่ขายทำให้ยอดขายเติบโตขึ้น
การที่ผู้นำผู้บริหารมีจุดหมายที่ชัดเจนทำให้องค์กรหรือบริษัทมีจุดหมายที่ชัดเจนด้วย ทำให้สามารถกำหนด วัตถุประสงค์ที่สามารถวัดได้ (Measurable objectives) เพื่อนำองค์กรหรือบริษัทไปสู่จุดหมายที่ต้องการ วัตถุประสงค์ที่สามารถวัดได้นี้ อาจจะได้แก่การเพิ่มส่วนแบ่งตลาดกี่เปอร์เซ็นต์ เพิ่มรายได้ขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ เพิ่มกำไรกี่เปอร์เซ็นต์ หรือทำให้ความพึงพอใจของลูกค้าเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ วัตถุประสงค์ที่วัดได้ทำให้สามารถตรวจสอบความคืบหน้าขององค์กรในการเดินทางไปสู่จุดหมาย และทำให้ผู้นำผู้บริหารสามารถปรับแผนกลยุทธ์ใหม่ ปรับผู้รับผิดชอบใหม่ ปรับเทคโนโลยีใหม่ ปรับระยะเวลาใหม่ หรือปรับวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพให้เหมาะสมกับสถานการณ์
การมีจุดหมายที่ชัดเจนทำให้ผู้บริหารทุกระดับมีการคิดไปข้างหน้า (Forward thinking) เพราะการขับเคลื่อนไปสู่จุดหมายคือการเดินไปข้างหน้า ผู้นำผู้บริหารจึงต้องคิดไปข้างหน้าเรื่อยๆว่า เมื่อเดินถึงจุดหนึ่งแล้วจะต้องทำอะไร ทำอย่างไรต่อไปอีกเพื่อไปให้ถึงจุดหมายที่ต้องการ ปัญหาขององค์กรหลายแห่งเกิดจากการไม่มีจุดหมายที่ชัดเจน ทำให้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน และอีกไม่นานปัญหาในเรื่องเดียวกันจะเกิดขึ้นซ้ำอีก เพราะการแก้ไขปัญหาไม่ได้แก้ไขโดยวิธีการคิดไปข้างหน้า แต่เป็นการคิดเฉพาะหน้า เนื่องจากองค์กรไม่มีจุดหมายข้างหน้า หรือมีจุดหมายข้างหน้าที่ไม่ชัดเจน
สิ่งที่ผู้นำและผู้บริหารจะต้องทำเมื่อมีจุดหมายที่ชัดเจนแล้วคือการสื่อสารให้คนทั้งองค์กรมองเห็นจุดหมายชัดเจนเหมือนเช่นเดียวกับตนเอง และทำให้คนในองค์กรยอมรับว่าจุดหมายที่เห็นนั้นเป็นจุดหมายของตนด้วยเช่นกัน ความยากของการนำองค์กรอยู่ตรงนี้ ตรงที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ในองค์กรเห็นจุดหมายเดียวกันและเห็นเหมือนกัน เพราะมุมมองของการเห็นจุดหมายของแต่ละคนแตกต่างกัน
ผู้นำและผู้บริหารองค์กร ต้องเป็นผู้อ่านใจ (Mind reader) คนในองค์กรทุกระดับ ว่าเขามีความเข้าใจอย่างไรในจุดหมายที่กำหนด และสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น ความล้มเหลวในการนำคนในองค์กรไปสู่จุดหมายมักจะเกิดขึ้นจากการที่ผู้นำผู้บริหารคิดว่า คนในองค์กรมีหน้าที่ต้องอ่านใจผู้นำผู้บริหาร มีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้นำผู้บริหารคิด การปล่อยให้ผู้ร่วมงานเป็นฝ่ายอ่านใจทำให้มีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนขึ้นได้ เพราะคนในองค์กรมีโอกาสอ่านใจผู้นำผู้บริหารผิดพลาดได้มากกว่าการที่ผู้นำผู้บริหารเป็นฝ่ายทำความเข้าใจกับผู้ร่วมงานด้วยตนเอง
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพทำให้คนในองค์กรรู้ว่าผู้นำผู้บริหารมีจุดหมายอย่างไร ผู้นำผู้บริหารจึงต้องทำความเข้าใจกับคนในองค์กรว่า ขณะนี้เราอยู่ที่ไหน (Where we are now?) และผู้นำผู้บริหารต้องการให้คนในองค์กรมุ่งไปสู่จุดหมายใด (Where we want to go?) ถ้าคนในองค์กรมองเห็นจุดหมายชัดเจนตรงกันแล้ว และยอมรับว่าเป็นจุดหมายที่ต้องการ ความร่วมมือในการหายุทธศาสตร์และการทำกลยุทธ์เพื่อเดินไปสู่จุดหมายจะเกิดขึ้น การวางแผนและแผนงานกิจกรรมต่างๆจะเกิดขึ้น ตัวชี้วัดและการประเมินผลจะเกิดขึ้น และการคิดก้าวหน้าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าองค์กรจะเดินไปถึงจุดหมาย
Jim Rohn กล่าวว่า “You cannot change your destination overnight, but you can change your direction overnight” ท่านไม่สามารถเปลี่ยนจุดหมายของท่านในค่ำคืนเดียว แต่ท่านสามารถเปลี่ยนทิศทางในการไปสู่จุดหมายของท่านในค่ำคืนเดียวได้
Earl Nightingale กล่าวว่า “All you need is the plan, the road map, and the courage to press on to your destination” สิ่งจำเป็นทั้งหมดที่คุณต้องคือ แผนการ แผนที่เดินทาง และความกล้าในการยึดมั่นกับจุดหมายของคุณ

คุณเป็นผู้นำ ผู้บริหารองค์กรที่มีจุดหมายชัดเจนหรือยังครับ

 แหล่งที่มา: Lessons on Leadership