วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Change (3)



“The one who loves money will never be satisfied with money, he who loves wealth will never satisfied with his income. This is futile.”            Ecclesiastes5:10

วันนี้ขออนุญาตเขียนเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่ออีก เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สังคมไทยต้องยอมรับและเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลง เพื่อคนไทยจะได้รีบช่วยกันทำการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ทันเวลา ทันต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี และ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์รอบด้านที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบในสังคมโลกปัจจุบัน
การเปลี่ยนแปลง คือ กระบวนการที่เราต้องการเปลี่ยนสภาพจากสถานะในปัจจุบัน (Current state) ไปสู่สภาพสถานะที่ต้องการในอนาคต (Desired future state) เพราะว่าสภาพสถานะในปัจจุบันที่เราดำรงอยู่ กำลังจะเป็นปัญหา มีความไม่เหมาะสมกับสถานะการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าฝืนอยู่ในสภาพสถานะนี้ต่อไปโดยไม่ทำอะไร อนาคตคงไม่รุ่งแน่ จึงต้องรีบเปลี่ยนแปลงสภาพสถานะที่เป็นอยู่เพื่อหนีความหายนะที่กำลังคืบหน้าเข้ามาเยือน ไปสู่สภาพสถานะใหม่ที่มีความหวังมากกว่าเดิม มีอนาคต มีความรุ่งโรจน์ และมีความปลอดภัยมั่นคงกว่าเดิม
องค์กรมีชีวิต มีเกิด มีเสื่อม มีดับ การอยู่รอดขององค์กรมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร ถ้าองค์กรมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องมาก ความอยู่รอดขององค์กรจะมีมาก องค์กรที่มีการปรับตัวน้อยไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง การอยู่รอดขององค์กรมีปัญหา เพราะการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาคือชีวิตขององค์กร และการเปลี่ยนแปลงทำให้องค์กรมีชีวิต มีความเคลื่อนไหว (Dynamic) ทำให้องค์กรไม่กระด้างอยู่นิ่งตาย (Static)
กระบวนการเปลี่ยนแปลง จริงๆแล้วคือการละลายความแข็งตัวขององค์กรนั่นเอง ซึ่งเกิดขึ้นจากสภาพที่คนในองค์กรมีความคุ้นชินกับสภาพสถานะที่ดำรงอยู่ คนมีความรู้สึกปลอดภัยในสภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ มีความรู้สึกสุขสบายกับสภาพสถานะที่เป็นอยู่ (Comfort status) คนในองค์กรไม่รู้สึกต้องการจะเปลี่ยนแปลงใดๆเพราะเห็นว่าดีอยู่แล้ว ทำให้องค์กรเริ่มไม่เคลื่อนไหว เกิดการนิ่งตัว เกิดความแข็งกระด้าง (Freezing) ไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การจะทำให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้นำต้องละลายความแข็งกระด้าง (Unfreezing) ขององค์กร ก่อนนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่สภาพสถานะใหม่ที่ต้องการ
เมื่อองค์กรเปลี่ยนแปลงสภาพไปสู่สถานะที่ต้องการได้แล้ว องค์กรจะเริ่มเข้าสู่สภาวะอิ่มสุขใหม่อีกครั้ง คนในองค์กรมีความรู้สึกพึงพอใจในสภาพสถานะที่เป็นอยู่ใหม่ รู้สึกปลอดภัย มีความสุขสบายกับสถานะที่องค์กรประสบความสำเร็จ องค์กรเกิดอาการตึดยึดกับสภาพสถานะใหม่ เริ่มเดินเข้าสู่สภาพแข็งกระด้างอีกครั้ง และจะเกิดความจำเป็นต้องละลายความแข็งกระด้างขององค์กรอีกครั้ง เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงรอบใหม่ เป็นวัฎจักรการเปลี่ยนแปลงขององค์กรไปเรื่อยๆ
การละลายความแข็งกระด้างขององค์กรไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะคนในองค์กรโดยธรรมชาติแล้วจะติดยึดกับสิ่งเดิม จะไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้น และมีแรงต่อต้าน (Resistance) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ เพราะคนกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จะมีผลกระทบต่อตนเอง หรือกลุ่มของตน ทำให้องค์กรไม่ยอมละลายความแข็งตัว แต่เนื่องจากมีแรงขับเคลื่อน (Driving Force) ที่กดดันรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี ทำให้องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ผลักดันให้ต้องยอมละลายความแข็งกระด้าง องค์กรจะปรับตัวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง ไปสู่สภาพสถานะที่ได้ดุลยภาพใหม่ (New Equilibrium) อีกครั้งหนึ่ง
ผู้นำการเปลี่ยนแปลงองค์กรต้องเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเผชิญกับเรื่องต่อไปนี้

ความเจ็บปวด (Pain)
แน่นอนว่าการละลายความแข็งกระด้างขององค์กร มีผลทำให้คนหลายคนในองค์กรได้รับผลกระทบ บางคน บางกลุ่ม บางแผนก ในองค์กรจะต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานที่เคยชิน อาจต้องสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างที่เคยได้รับ อาจต้องเสียโอกาสบางเรื่องให้คนอื่นรับผิดชอบแทน ความไม่สมหวัง การต้องปรับอารมณ์ จิตใจ ทัศนคติใหม่ ล้วนเป็นความกระทบกระเทือนที่เจ็บปวด ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องเข้าใจจุดนี้ และระมัดระวังความอ่อนไหวในอารมณ์ความรู้สึกของคนที่กำลังรู้สึกเจ็บปวด ผู้นำจึงต้องมีวิธีการเยียวยารองรับ และต้องให้เวลาคนในองค์กรได้เรียนรู้ และปรับตัวด้วย

การปฏิเสธ (Denial)
เป็นเรื่องปกติที่ปฏิกริยาแรกที่คนในองค์กรตอบสนองคือการปฏิเสธก่อน เพราะคนยังไม่ได้รับข้อมูลครบถ้วน หรือยังไม่มีเวลาได้ตรวจสอบว่าการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลดีผลเสียกับตน หรือกลุ่มตนอย่างไร สิ่งที่คนแสดงออกเบื้องต้นคือรักษาพื้นที่อาณาเขตของตนไว้ก่อน ด้วยการปฏิเสธไม่รับข้อเสนอในการเปลี่ยนแปลง เป็นการป้องกันไม่ให้ใครรุกรานเข้ามาในพื้นที่ ปกป้องสถานะ ผลประโยชน์ และความมั่นคงของตนเองก่อน

การต่อต้าน (Resistance)
การต่อต้านก่อตัวขึ้นหลังการปฏิเสธเพื่อแสดงน้ำหนักหนุนการปฏิเสธของตน เป็นการตอบโต้ให้รู้ว่าจะไม่ยินยอมเสียพื้นที่สุขสบาย (Comfort zone) ของตนหรือกลุ่มตน ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องใช้แรงขับเคลื่อนรอบด้านที่บีบรัดองค์กรเข้ามาเสริมให้คนในองค์กรเห็นความจำเป็นที่ต้องนำการเปลี่ยนแปลงเข้ามาสู่องค์กร โดยทำความเข้าใจให้เห็นภาพที่ชัดเจนของสภาพสถานะในอนาคตที่ต้องการขององค์กร ซึ่งผู้ต่อต้านมีส่วนจะได้รับประโยชน์ในอนาคตด้วย

การแสวงหา (Exploration)
หลังการต่อต้านอ่อนตัวลง คนเริ่มเสาะแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม และมองหาช่องทางโอกาสใหม่ที่ตนเองจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น หรือมองหาพื้นที่สุขสบายใหม่ของตน หลายคนที่เคยปฏิเสธ หรือต่อต้านจะเริ่มยอมรับ หรือยอมให้โอกาสแก่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทัศนคติเริ่มเปลี่ยนจากการคิดลบเป็นการคิดบวกมากขึ้น เพราะเริ่มมองเห็นประโยชน์ที่ตนเองหรือกลุ่มของตนเองจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน หรือผู้ต่อต้านอาจจะขอต่อรองบางเรื่องบางประการที่ยังไม่เข้าใจกระจ่าง เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อสถานะของตนหรือกลุ่มตนอย่างไร ผู้นำควรเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอต่างๆ เพื่อความกระจ่างและเข้าใจ

การสื่อสาร (Communication)
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เป็นปัจจัยนำไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องกระจายการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงไปทุกระดับชั้นและไปทั่วทั้งองค์กร สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดกระแสตอบรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น คนในองค์กรส่วนหนึ่งจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง คนอีกส่วนหนึ่งในองค์กรจะยังไม่แสดงออกว่าต่อต้านหรือสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง คนอีกส่วนหนึ่งจะแสดงออกว่าคัดค้านต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อนำคนกลุ่มที่ยังไม่แสดงออกว่าสนับสนุนหรือต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ให้มาเป็นผู้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง เพราะถ้าคนกลุ่มนี้มีความเข้าใจและหันมาสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เป็นคนกลุ่มใหญ่ขององค์กรที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลทำให้การเปลี่ยนแปลงในองค์กรมีพลังขับเคลื่อนเร็วมากขึ้น

นำทัศนคติ (Attitude)
ทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญในการนำการเปลี่ยนแปลง คนในองค์กรจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องเปลี่ยนทัศนคติก่อน คือการยอมละลายทัศนคติเดิมทิ้ง และรับทัศนคติใหม่เข้ามาแทนที่ทัศนคติเดิม เมื่อทัศนคติเปลี่ยน ความคิดและกระบวนทัศน์จะเปลี่ยน มุมมองในการเห็นปัญหา สิ่งแวดล้อม และบริบทจะเปลี่ยน ทำให้ท่าทีที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไปด้วย เกิดการยอมรับการเปลี่ยนแปลงขององค์กรในที่สุด

การทุ่มเท (Commitment)
เมื่อทัศนคติลบได้ถูกละลายไปแล้ว ทัศนคติใหม่ที่เป็นทัศนคติบวกเข้ามาแทนที่ เป็นทัศนคติที่สร้างสรร มองการเปลี่ยนแปลงเป็นเชิงบวก มองเห็นด้านดี มองเห็นประโยชน์ขององค์กรที่จะได้รับในอนาคตหลังจากการเปลี่ยนแปลง คนในองค์กรจะเกิดความร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น เกิดพันธะทางความคิด จิตใจ เกิดความกระตือรือร้น อยากมีส่วนในกระบวนการเปลี่ยนแปลงขององค์กร เมื่อคนในองค์กรมีความทุ่มเทเกิดขึ้น ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงขององค์กรจะเกิดขึ้นในที่สุด

Lee Iacocca กล่าวว่า “The greatest discovery of my generation is that human beings can alter their attitudes of mind.” การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของคนในรุ่นข้าพเจ้า คือการที่มนุษย์สามารถเปลี่ยนทัศนคติของจิตใจเขาได้

คุณเปลี่ยนทัศนคติเพื่อการเปลี่ยนแปลงหรือยัง

 

สมชัย ศิริสุจินต์


ชอบบทความนี้ช่วยแนะนำต่อด้วยครับ

 

วันพฤหัสบดีที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

Change (2)




“He sets the time for birth and the time for death, the time for planting and the time for pulling up, the time for killing and the time for healing, the time for tearing down and the time for building.”                                                        Ecclesiastes 3:2-3

ได้เขียนปูทางไว้ในบทความก่อนว่ามีแรงขับเคลื่อนจากภายนอกและภายในประเทศที่ทำให้สังคมไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของสังคมทุกสังคมที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามกาลเวลา จะแตกต่างกันตรงที่รูปแบบการเปลี่ยนแปลง ว่ามีผลกระทบต่อสังคมอย่างไร การเปลี่ยนแปลงบางครั้งมีผลกระทบที่รุนแรง กว่าจะปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ได้ใช้เวลายาวและอาจมีความเสียหายเกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงที่ดีควรมีผลกระทบน้อยไม่รุนแรง ไม่เกิดความเสียหายมากจนเกินไป และใช้เวลาการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในเวลาไม่นาน
          ในยุคเทคโนโลยีภิวัฒน์นี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าเดิมมาก และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนอย่างตลอด เพราะ

ความรู้ (Knowledge)
ความรู้ที่เคยถูกจำกัดอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ได้ไหลบ่าเข้ามาอยู่ในรั้วบ้าน การเข้าถึงวิชาการที่เคยถูกกักพื้นที่ไว้ในห้องสมุด บัดนี้สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งหนใดในโลก โดยไม่จำกัดว่าจะอยู่ที่ร้านกาแฟ ห้องอาหาร บนรถไฟฟ้า หรือบนเรือกลางมหาสมุทร การเข้าถึงความรู้ที่ง่ายขึ้นและรวดเร็วมากขึ้นทำให้คนมีความรู้ มีความเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น เป็นแรงขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ความไม่แน่นอน  (Uncertainty)
การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วของข้อมูล ข่าวสาร เทคโนโลยี และเงินลงทุน เป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะการคาดการณ์หรือการพยากรณ์ (Predictability) ใดๆ แม้จะสามารถทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นเพราะมีเทคโนโลยีช่วย แต่ระยะเวลาของการคาดการณ์หรือพยากรณ์กลับสั้นลง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะสังคมปัจจุบันเป็นพลวัตร (Dynamic) ที่ไม่อยู่นิ่ง เป็นสังคมมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดกระแสสังคมได้อย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจเปิด (Open Economy)
การค้า การลงทุน เปิดกว้าง มีเสรีภาพมากขึ้น เงินลงทุนสามารถไหลเข้าไหลออกประเทศได้อย่างค่อนข้างอิสระ การจำกัดสิทธิ หรือการกีดกันทางการค้า ถ้าทำอย่างไม่แนบเนียนจะถูกสังคมโลกกดดันตอบโต้ ความโปร่งใสในการทำธุรกิจ และการค้าอย่างเสรี (Free trade) ทำให้ทุกภูมิภาคเกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง (Hyper-competition) เป็นแรงขับเคลื่อนที่กดดันให้ทุกสังคม ทุกรัฐบาล ทุกประเทศ ต้องปรับตัว และเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ถ้าเปลี่ยนแปลงช้า ย่อมเสียโอกาสและตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเวทีการแข่งขัน

การพึ่งพาทางธุรกิจ (Interdependency of business)
การแข่งขันอย่างรุนแรงทำให้ธุรกิจไม่สามารถยืนหยัดต่อสู้ในเวทีการแข่งขันตามลำพังด้วยตนเอง เพราะธุรกิจต้องแสวงหาความเป็นเลิศในคุณภาพของสินค้า ผลิตภัณฑ์และบริการ โดยราคาต้องแข่งขันได้ จึงต้องมีต้นทุนต่ำ ทำให้ธุรกิจต้องแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนจุดแข็งร่วมกัน และไม่โจมตีจุดอ่อนของคู่มิตรทางธุรกิจเพื่อแสวงหาผลตอบแทนร่วมกัน (Win-Win) การเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นเพราะแรงขับเคลื่อนในการต้องพึ่งพากันทางธุรกิจ เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจการค้าและการลงทุน ทำให้อาเซียนเป็นตลาดที่โตขึ้น มีศักยภาพมากขึ้น และมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆได้

ความต้องการของลูกค้า  (Customer Demand)
ขงจื้อ ปราชญ์ชาวจีนกล่าวไว้นานมาแล้วว่า ความสามารถของมนุษย์ไม่สามารถตามทันความต้องการอยากได้ของมนุษย์ได้ (Ability will never catch up with the demand for it.) เป็นความจริงที่ความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความต้องการอยากได้เกิดขึ้นอย่างไม่รู้สิ้นสุด ทำให้เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองความต้องการที่เกิดขึ้น เป็นความต้องการของผู้บริโภค หรือความต้องการของลูกค้านั่นเอง

ระเบียบและมาตรฐาน (Regulation and Standard)
เมื่อสังคมโลกเปิดกว้าง การค้า การลงทุน การทำธุรกิจเกือบจะไร้พรมแดน ทำให้ต้องมีระเบียบมาตรฐานเข้ามาควบคุมเพื่อความปลอดภัย และคุ้มครองสิทธิซึ่งกันและกัน ทั้งผู้ผลิต ผู้ให้บริการ และผู้บริโภค เป็นแรงขับเคลื่อนทำให้องค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน แทบทุกสาขา ต้องมีระเบียบและมาตรฐานที่นานาชาติรับรอง ต้องมีองค์กรระดับสากลมาตรวจประเมิน และให้ใบรับรองมาตรฐาน จึงจะเป็นที่ยอมรับว่ามีมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องดี แม้จะมีค่าใช้จ่าย แต่ช่วยพัฒนามาตรฐานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง Henry Ward Beecher กล่าวว่า “Hold yourself responsible for a higher standard than anybody expects of you. Never excuse yourself.” เราต้องทำให้ตัวเองมีความรับผิดชอบสูงกว่ามาตรฐานที่คนเขาคาดหวังจากเรา อย่าหาเหตุผลมาแก้ตัวในเรื่องนี้

เทคโนโลยี (Technology)
เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากขึ้น และวงจรของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสั้นลงเรื่อยๆ เทคโนโลยีใหม่ออกมาทับเทคโนโลยีเก่าตลอดเวลาเหมือนระลอกคลื่นในทะเล เป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีผลต่อการลงทุนใหม่เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย ความมีประสิทธิภาพ และความพึงพอใจของผู้บริโภคที่มีความต้องการอย่างไม่สิ้นสุด แม้แต่อัจฉริยะอย่าง Albert Einstein ก็ยังกลัวเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ดังที่ท่านได้กล่าวว่า “It has become appallingly obvious that our technology has exceeded our humanity.” เป็นความจริงอันน่าสยดสยองที่เทคโนโลยีได้ก้าวเกินความเป็นมนุษยชาติไปแล้ว

ราคาที่อ่อนไหว (Price sensitivity)
ราคามาคู่กับการแข่งขัน สินค้าและบริการ แทบทุกอย่าง ทุกชนิด มีคู่แข่งขันรออยู่ในสนามแข่งขันแล้ว และมีผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นคู่แข่งขันรายต่อไปยืนรออยู่ข้างสนาม รอจังหวะเหมาะที่จะกระโจนเข้าสู่สนามแข่งขัน ราคาจึงมีผลต่อการซื้อขายเสมอ และเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อให้มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ สินค้าและบริการที่ไม่ตอบสนองต่อความอ่อนไหวของราคา ส่วนใหญ่อยู่ในสนามแข่งขันได้ไม่นาน Warren Buffett เศรษฐีอันดับต้นๆของโลกที่ใจบุญบริจาคเงินมากเป็นอันดับต้นๆของโลกเช่นกันกล่าวสั่งสอนลูกน้องของเขาว่า “Price is what you pay. Value is what you get.” ราคาคือสิ่งที่คุณจ่าย คุณค่าคือสิ่งที่คุณได้ เพราะเรื่องคุณค่านี้แหละราคาจึงเป็นเรื่องอ่อนไหว ถ้าคนไม่เห็นคุณค่าสมราคา คนก็ไม่ซื้อสินค้าหรือบริการ

โอกาสใหม่ (New opportunity)
โอกาสใหม่เกิดขึ้นเสมอถ้าเราแสวงหา การที่เราตกเป็นทาสของความคิดเก่า และเสพย์ติดความเคยชินกับสิ่งเดิม ทำให้โลกทัศน์และกระบวนทัศน์ของเราไม่เปลี่ยนแปลง เกิดความเฉื่อยชาในการแสวงหาโอกาสใหม่ สำหรับผู้ที่ไม่ยึดติดกับสิ่งเก่า โอกาสใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนความคิดให้แสวงหานวัตกรรม หาเส้นทางเดินใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยเดิน มองหาขอบฟ้าใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยมองเห็น กระตุ้นความคิดและจินตนาการใหม่ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและพลังใหม่ในการแสวงหาโอกาสใหม่ที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นกว่า 

ประธานาธิบดี John F. Kennedy กล่าวว่า “Change is the law of life. And those who look only to the past or present are certain to miss the future.” การเปลี่ยนแปลงเป็นกฎของชีวิต และบรรดาผู้ที่มองเพียงแค่อดีตหรือปัจจุบัน แน่นอนว่าเขาจะพลาดอนาคต

อนาคตอยู่ในกำมือของท่าน อยู่ที่ว่าท่านจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ปล: ขออภัยที่หายไปเยี่ยมยุโรป ทั้งสัปดาห์ กลับมาเพิ่งได้สติเขียนครับ
อ่านแล้วรู้สึกว่าอยากเปลี่ยนแปลง ช่วยบอกเพื่อนด้วยนะครับ