วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ผู้นำตามตำแหน่ง

Are you immature? Learn to be mature. Are you foolish? Learn to have sense.                                                       Proverbs 8:5

เดือนตุลาคม เป็นเดือนที่ประเทศไทยมีเจ้านายใหม่เกิดขึ้นหลายร้อยคน เนื่องจากเป็นเดือนที่มีข้าราชการเกษียณอายุการทำงาน มีการโยกย้าย แต่งตั้งข้าราชการเข้ารับตำแหน่งใหม่กันทั่วประเทศ แน่นอนว่ามีทั้งคนยินดีปรีดาสมหวังดังใจ และคนเสียใจผิดหวังที่ไม่ได้ตำแหน่งตามที่คาดหวัง สำหรับคนที่สมหวังได้ตำแหน่งดั่งใจ ยังมีหนทางที่ต้องเดินไปข้างหน้าอีกเป็นปีหรือหลายปีที่ต้องรับผิดชอบในการบริหารจัดการให้องค์กรประสบความสำเร็จ สำหรับคนที่ยังไม่สมหวังถ้าเป็นเพราะจะไม่มีโอกาสอีกเนื่องจากอายุราชการเหลือเพียงปีเดียว คงต้องทำใจยอมรับคติไทยที่ว่า แข่งวัวแข่งควายแข่งได้แต่แข่งวาสนาไม่ได้ สำหรับคนที่พลาดหวังแต่ยังมีอายุราชการอีกหลายปี อย่าเพิ่งสิ้นหวัง ขอให้สำรวจข้อด้อยของตนเอง และปรับปรุงการทำงานให้เข้าตาเจ้านายมากขึ้น ต้องคิดว่าทุกอย่างไม่จีรัง มียศก็เสื่อมยศ มีลาภก็เสื่อมลาภ วันนี้ยังไม่ใช่เป็นวันของเรา โอกาสของเรายังมีอยู่เสมอ

          การเป็นผู้นำ โดยตำแหน่ง เป็นไปตามระบบ หรือวัฒนธรรม ขององค์กร ที่อาจจะมีขั้นตอน หรือระบบการคัดสรร หรือการเตรียมผู้สืบถอดตำแหน่ง ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความคาดหวังของคนในองค์กรและนอกองค์กร ต้องการได้ผู้นำที่สามารถนำพวกเขาไปสู่เป้าหมายความสำเร็จที่ต้องการข้างหน้า ใช้อำนาจทางการ (Authority) ซึ่งมากับตำแหน่ง (Position) ที่ได้รับแต่งตั้ง จัดการให้องค์กรสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่สลับซับซ้อนได้โดยใช้คนตามโครงสร้างขององค์การ ที่แน่นอนชัดเจน ทำให้งานดำเนินเป็นไปตามกระบวนการที่ได้วางแผน และ มีการกำกับดูแลแก้ไขให้เกิดผล บรรลุเป้าหมายที่กำหนด

          มีคำกล่าวว่า “When you speak people listen. When you lead people follow” เมื่อคุณพูดมีคนฟังเมื่อคุณนำมีคนตาม นี่คือคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นผู้นำ เพราะเมื่อใดที่คุณพูดแล้วไม่มีใครฟังและเชื่อในสิ่งที่คุณพูด คุณไม่สามารถนำใครได้อีกต่อไป และการเป็นผู้นำต้องมีผู้ตามเสมอ เมื่อใดที่คุณเดินไปข้างหน้าแล้วไม่มีใครยอมเดินตามคุณต่อไป คุณหมดสภาพความเป็นผู้นำไปแล้ว

          การเป็นผู้นำจึงต้องมีภาวะความเป็นผู้นำอยู่ตลอดเวลา เพราะผู้นำจะต้องสร้างการยอมรับศรัทธาให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก ถ้าคนไม่ยอมรับในตัวผู้นำ ไม่มีความศรัทธาในการนำ การนำองค์กรไปสู่เป้าหมายลำบากแน่ ผู้นำต้องเข้าใจว่าคนในองค์กรยอมรับตำแหน่งเพราะเป็นไปตามโครงสร้างการบริหารองค์กร แต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นต้องทำให้คนยอมรับในความเป็นผู้นำด้วย จึงจะทำให้เขายอมฟัง ยอมทำ ยอมตาม ผู้นำไปเผชิญกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงข้างหน้า

          การที่คนจะยอมรับความเป็นผู้นำในตำแหน่ง ผู้นำต้องเป็นผู้สร้าง วิสัยทัศน์ให้เป็น ตัวกำกับ ทิศทาง ขององค์การในอนาคต เพื่อให้คนที่จะติดตามเราได้เกิดความมั่นใจว่า จะนำเขาและองค์กรไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ ซึ่งผู้นำจะต้องมีความสามารถในการสื่อความหมายให้คนเข้าใจ มีระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนได้รับข้อมูล ข่าวสาร ตรงตามที่ผู้นำต้องการสื่อสาร เหตุนี้ผู้นำจึงต้องมียุทธศาสตร์มาขยายวิสัยทัศน์ ให้เป็นรูปธรรมที่สามารถเห็นผลที่เกิดขึ้น และวัดผลที่เกิดขึ้นได้ ตามเวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยทำให้คนในองค์กรเกิดแรงบันดาลใจอยากทำ อยากเอาชนะอุปสรรค์ อยากไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ และอย่างเห็นผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด

          มีคำกล่าวว่า  A vision without action is just a dream. An action without vision is passing time. A vision with action is a change. วิสัยทัศน์ที่ไม่มีการปฏิบัติไม่มีการกระทำใดๆเกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ความฝัน เพราะมันอยู่แค่ในความฝัน ไม่เกิดขึ้นจริง การปฏิบัติที่ไม่มีวิสัยทัศน์เป็นการเสียเวลาเปล่า เพราะการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย ทำไปอย่างไม่มีทิศทาง จะไม่เกิดความสำเร็จ เป็นการเสียเวลา เสียทรัพยากร โดยไม่ได้รับประโยชน์อะไร ดังนั้นวิสัยทัศน์ต้องทำให้เป็นจริงให้ได้ และกระบวนการที่นำให้วิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติได้จริง คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

          มีคำกล่าวอีกเช่นกันว่า “Not all leaders are managers. Not all managers are leaders.” ไม่ใช่ผู้นำทุกคนจะเป็นผู้จัดการได้ ไม่ใช่ผู้จัดการทุกคนจะเป็นผู้นำได้ เพราะพระเจ้าให้ความสามารถที่แตกต่างกันแก่มนุษย์ เราถึงอยู่ร่วมกันได้ เนื่องจากเราต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ผู้นำบางคนมีความสามารถในการจัดการบริหารเก่งด้วย ถือว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษที่สามารถใช้ภาวะความเป็นผู้นำ บวกกับความสามารถในการบริหารจัดการ ทำให้ความเป็นผู้นำของเขาประสบความสำเร็จ แต่ก็มีผู้นำหลายคนที่ล้มเหลวในการนำเพราะขาดความชำนาญในด้านการบริหารจัดการ เช่นเดียวกัน มีผู้จัดการหลายคนที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง ทำให้สามารถใช้ความโดดเด่นในการบริหารจัดการ บวกกับภาวะความเป็นผู้นำที่มีอยู่ในตัว ทำให้งานต่างๆในความรับผิดชอบบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้นำตามตำแหน่งจึงต้องเข้าใจว่า อำนาจทางการที่ท่านมี และใช้นั้น เป็นสิทธิความถูกต้องที่องค์กรมอบให้ (The rights given by an organization.) คนในองค์กรทำตามเพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งมีหน้าที่ต้องนำ ต้องสั่ง ต้องปฏิบัติ ตามสิทธิและอำนาจที่กำหนดในตำแหน่ง ส่วนผู้ตามที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการนำของผู้นำในตำแหน่ง ถ้าไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับ แม้จะไม่ชอบก็ต้องทำ แต่การทำให้งานสำเร็จอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพนั้นไม่สามารถใช้ผังบริหารองค์กรและตัวหนังสือที่เขียนไว้ในระเบียบข้อบังคับเป็นสิ่งกำหนดให้เกิดความสำเร็จ เพราะมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะทำตามอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง งานจะสำเร็จได้ด้วยภาวะความเป็นผู้นำในตัวผู้นำ ไม่ใช่จำนวนระเบียบข้อบังคับ ถ้าผู้นำมีภาวะความเป็นผู้นำสูง งานจะสำเร็จได้แม้ไม่มีระเบียบข้อบังคับ ถ้าผู้นำมีภาวะความเป็นผู้นำต่ำ แม้ใช้ระเบียบข้อบังคับอย่างเข้มงวด งานอาจไม่สำเร็จ

John C. Maxwell บอกว่า หัวใจสำคัญในการเป็นผู้นำตามตำแหน่งคือ การมีความสามารถในการโน้มน้าว (Influence) คนให้ยอมรับ เพราะถ้าคนยอมรับตำแหน่ง แต่ไม่ยอมรับคนที่อยู่ในตำแหน่ง การบริหารงานจะไม่ราบรื่นแน่นอน ผู้นำต้องสามารถโน้มน้าวให้คนยอมรับตนที่อยู่ในตำแหน่งด้วย ตำแหน่งนั้นจึงจะมีความสมบูรณ์ในตำแหน่ง (Position) และอำนาจทางการ (Authority) ซึ่งมากับตำแหน่ง ผู้นำสามารถใช้ลำดับต่อไปนี้ในการนำคนในองค์กร

Accepting การยอมรับ
การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้นำแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเข้าสู่ตำแหน่งอย่างราบรื่น เพราะเป็นไปตามความคาดหวัง ตัวผู้นำมีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ต้องการขององค์กร แต่คงมีคนในองค์กรบางส่วนแม้เป็นส่วนน้อย ที่ไม่ยอมรับ หรือยอมรับไม่เต็มร้อย แต่ไม่แสดงออกอยู่บ้าง ผู้นำหลายคนเข้าสู่ตำแหน่งอย่างมีวิบากกรรม เหนื่อยหอบกว่าจะได้เป็น เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ด้วยสาเหตุต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใด ผู้นำต้องสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด และทำให้มีจำนวนผู้ยอมรับมากที่สุด เพราะการมีจำนวนผู้ยอมรับมากขึ้นหมายถึงการมีจำนวนผู้คัดค้านต่อต้านน้อยลง

Behaving ยอมประพฤติตาม
การยอมประพฤติตามเป็นผลต่อจากการยอมรับ ถ้าคนไม่ยอมรับ คนก็ไม่ประพฤติตาม คนยอมประพฤติตามที่ผู้นำต้องการเพราะเขายอมรับการเป็นผู้นำ หรือยอมรับความเป็นผู้นำ ของตัวผู้นำแล้ว การที่คนยอมประพฤติตามความต้องการของผู้นำมีผลต่อความสำเร็จขององค์กรมากกว่าการที่คนต้องประพฤติตามระเบียบข้อบังคับ เพราะการประพฤติตามความต้องการของผู้นำ เป็นการประพฤติด้วยใจ แต่การประพฤติตามระเบียบข้อบังคับอาจเป็นการประพฤติด้วยการฝืนใจ ผู้นำที่สามารถสร้างการยอมรับ จนทำให้คนในองค์กรยอมประพฤติตามผู้นำในสิ่งที่ผู้นำต้องการได้อย่างรวดเร็วจะสามารถนำองค์กรไปสู่ ความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น

Conforming ยอมร่วมมือปฏิบัติตาม
นอกจากที่ผู้นำสามารถทำให้คนประพฤติตามที่ผู้นำต้องการได้แล้ว ผู้นำยังต้องทำให้คนในองค์กรยอมปฏิบัติตามระบบ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ผู้นำเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กรด้วย เพราะในการนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ วัดผลได้จริงนั้น ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) การเปลี่ยนเป้าประสงค์ (Purpose shift) การเปลี่ยนกระบวนการ (Process shift) และการเปลี่ยนการปฏิบัติการ (Performance shift) ถ้าคนในองค์กรไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมปฏิบัติตาม การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้น ความสำเร็จในการเป็นผู้นำไม่เกิดขึ้น

Developing ยอมพัฒนาให้ดีขึ้น
การเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Ongoing development) เพราะการนำองค์กรคือการทำให้องค์กรอยู่ข้างหน้าองค์กรอื่น ไม่ใช่อยู่ตามหลังองค์กรอื่น ผู้นำที่ต้องการให้องค์กรอยู่นำหน้าต้องพัฒนาคนขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในองค์กรมีความรู้ ความสามารถ มีทักษะที่สูงขึ้น สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำขององค์กรต่อไป องค์กรถึงจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้นำที่หยุดพัฒนาคนในองค์กร จะทำให้คนในองค์กรขาดความกระตือรือร้น ถอยเข้าไปอยู่ในพื้นที่สุขสบาย (Comfort zone) ความเฉื่อยเกิดขึ้น ความเฉยตามมา ความช้ากลายเป็นเรื่องปกติ ความสามารถในการแข่งขันลดลงจนในที่สุดไม่สามารถแข่งขันได้

Exercising ยอมกระทำอย่างต่อเนื่อง
การออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายเกิดความตื่นตัว กระฉับกระเฉง ว่องไว มีความฟิต การกระทำอย่างต่อเนื่องในการนำองค์กรก็เช่นกัน จะทำให้องค์กรมีความตื่นตัวในการปรับตัว มีความกระฉับกระเฉงในการทำงาน มีความว่องไวในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง มีความฟิตในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ทำให้องค์กรคึกคักมีชีวิตชีวา มีขวัญกำลังใจ มีอารมณ์มุ่งสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ผู้นำบางท่านเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้วออกตัวได้ดี พอนำองค์กรได้แล้วเริ่มแผ่วลง เพราะมีความรู้สึกว่าเอาองค์กรอยู่แล้ว เหมือนนักกีฬาได้แชมป์แล้วหมดไฟซ้อม ในที่สุดก็แพ้เพราะความฟิตไม่ถึง ผู้นำที่ดีต้องไม่มีแผ่ว เหมือนที่ John C. Maxwell บอกว่า “Start but do not stay” เดินเครื่องแล้วอย่าหยุดอยู่ที่เดิม

          Harvey S. Firestone กล่าวว่า The growth and development of people is the highest calling of leadership.” การเติบโต และการพัฒนาคน คือสุดยอดของการเป็นผู้นำ

          อย่าลืมใช้ ABCDE ที่นำเสนอไปใช้ในการนำองค์กรของท่านนะครับJ

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กฎสร้างเพื่อน11ประการ


 Someone who holds back the truth causes trouble, but one who openly criticizes works for peace. A good person's words are a fountain of life, but a wicked person's words hide a violent nature.                                                  Proverbs 10:10-11

 

David Packard ได้ร่วมกับ William R. Hewlett เพื่อนร่วมชั้นเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่ Stanford University ใน California ก่อตั้งบริษัท Hewlett Packard หรือที่คนทั่วโลกรู้จักในชื่อ HP ในปี 1939 หลังจากที่ใช้ชีวิตเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่บริษัท General Electric เพียง 3 ปี โดยเริ่มต้นจากการใช้โรงรถเล็กๆในเมือง Palo Alto เป็นที่ตั้งบริษัท ด้วยเงินเริ่มต้นเพียง $538

David Packard เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (U.S. Deputy Secretary of Defense) ในสมัยประธานาธิบดี Nixon แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 3 ปี ก็ลาออกและกลับมาบริหารบริษัทต่อ

David Packard เป็นผู้นำผู้บริหารคนหนึ่งที่มีคนจำนวนมากยอมรับและยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการนำองค์กรที่รับผิดชอบ เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จทั้งในทางธุรกิจในฐานะประธานกรรมการบริษัทและเป็นกรรมการของบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น Boeing Co., Caterpillar Tractor, Chevron Corp., Genentech Inc. และ Beckman Laser Institute & Medical Clinic และในทางสังคมได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานและกรรมการขององค์กรการกุศล สมาคมวิชาชีพต่างๆมากมาย ได้รับปริญญาดุษฏีบัญฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง
 กฎพื้นฐาน 11 ประการที่ David Packard ได้นำเสนอในการประชุมผู้บริหารประจำปีครั้งที่ 2 ของบริษัทที่เมือง Sonoma, California ในปี 1958 สะท้อนปรัชญาและความคิด ในการทำงานและการดำเนินชีวิต ที่คนกล่าวถึงและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย เพราะว่ามันไม่เคยล้าสมัย จึงขออนุญาตยืมกฎ 11 ประการของท่าน มาเขียนเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ร่วมกัน

David Packard’s 11 Simple Rules

1.     Think first of the other fellow. คิดถึงคนอื่นก่อน

การคิดถึงผู้อื่นก่อน คือพื้นฐาน (The foundation) ของการทำงานกับคน เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนทำสิ่งอื่นใด (the first requisite) ในการจะคบค้าสมาคมกับผู้อื่น ดูแล้วเป็นเรื่องง่ายที่จะพูด แต่เป็นเรื่องยากที่จะทำ เพราะในชีวิตจริง เราคิดถึงตัวเราก่อนคิดถึงคนอื่นเสมอ เมื่อใดที่เราสามารถเอาชนะความรู้สึกที่จะเอาประโยชน์เข้าตัวเองก่อน และสามารถทำประโยชน์ให้คนอื่นก่อน เราจะไม่มีปัญหาในการทำงานกับผู้อื่น เพราะการให้ของเราทำให้คนอื่นเขามีความสุข คนจึงอยากคบหาทำงานกับเรา

2.   Build up the other person’s sense of importance. ทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่ามีความสำคัญ

การพูดหรือแสดงออกของเรามีผลต่อความรู้สึกของผู้อื่นเสมอ ถ้าเราทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเขาด้อยความสำคัญ เราทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ ทำให้เขาขาดความมั่นใจในตัวเอง แต่ถ้าเราแสดงท่าทีที่ให้เกียรติ ให้การยกย่อง ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของผู้อื่น  จะทำเขารู้สึกมีความเท่าเทียม (Equality) และทำให้เขากล้าแสดงความคิดเห็น กล้าอาสาทำงาน กล้ารับผิดชอบ และถ้าเราสามารถทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเหนือกว่า (Superiority) เราได้ จะยิ่งทำให้เขากล้าแสดงความเป็นผู้นำออกมามากยิ่งขึ้น 

3.     Respect the other man’s personality rights. เคารพความเป็นตัวตนของผู้อื่น

เพราะทุกคนไม่เหมือนกัน แม้แต่ลายนิ้วมือของแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องเข้าใจว่าคนอื่นเขาไม่เหมือนเรา และเราก็ไม่เหมือนคนอื่นเช่นกัน ความแตกต่างกันเป็นความสวยงามที่ทำให้โลกมีความสมดุล ทำให้ชีวิตของเรามีความหมายมากยิ่งขึ้น เพราะเราสามารถเติมส่วนที่เรามีให้คนอื่นที่ไม่มีให้เต็มได้ และชีวิตของเรามีความสมบูรณ์มากขึ้นเพราะคนอื่นสามารถเติมส่วนที่เราขาดให้สมบูรณ์ได้เช่นกัน 

4.   Give sincere appreciation. แสดงความชื่นชมอย่างจริงใจ

เมื่อใดที่มีโอกาสแสดงออกให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงความชื่นชมยินดีที่เขาได้ทำสิ่งใดสำเร็จขอให้เรารีบฉวยโอกาสกระทำ เพราะโอกาสอย่างนี้มิใช่ว่าจะมีให้เราได้แสดงออกอยู่ตลอดเวลา การทำให้คนอื่นรู้ว่าการกระทำดีของเขามีคนอื่นรับรู้และชื่นชมจะทำให้เขามีกำลังใจอยากทำความดีต่อไป และอยากทำสิ่งดีมากขึ้น การแสดงความชื่นชมยินดีอย่างจริงใจไม่แสแสร้งต่อผู้อื่น เป็นคุณทั้งต่อผู้อื่นและตัวเราเอง แต่เรามักไม่ค่อยแสดงออกให้ผู้อื่นได้รับรู้มากนัก แต่แอบเก็บความรู้สึกดีๆไว้ในใจ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น


5.     Eliminate the negative. ลบความคิดลบ

ความคิดลบ (Negative thinking) ในใจของเรา ทำให้เราเสียเวลาและพลังงานไปมากโดยไม่รู้สึกตัว การคิดลบทำให้เราเกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น และมักทำให้เราทำเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องยาก ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องซับซ้อน บางครั้งทำให้เราเสียโอกาสที่ควรได้เพราะมัวแต่คิดระแวงในด้านไม่ดี การทำอะไรที่เริ่มต้นจากการคิดในแง่ลบแล้วจะให้ตอนจบได้ผลบวกย่อมยากกว่าการเริ่มต้นทำด้วยความคิดบวก ซึ่งยังไงก็มีโอกาสจบโดยได้ผลบวกมากกว่าอยู่ดี อย่าแบกความคิดลบ คิดร้ายไว้ในใจ เพราะจะทำให้ใจท่านหนัก ทำให้ท่านหนักใจโดยไม่จำเป็น

6.   Avoid openly trying to reform people. หลีกเลี่ยงการพยายามเปลี่ยนแปลงผู้อื่นอย่างเปิดเผย
 
แม้ว่ามนุษย์ทุกคนจะรู้ว่า ตัวเองไม่สมบูรณ์ในทุกเรื่อง แต่ไม่มีใครต้องการให้คนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนหรือความบกพร่องของเขาต่อหน้าต่อตาคนอื่น การช่วยเหลือให้ผู้อื่นปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแม้จะเป็นสิ่งดี แต่ต้องระมัดระวัง วิธีการที่ดีที่สุดคือการช่วยเสริมให้ผู้อื่นรู้และเข้าใจด้วยตัวของเขาเอง เราอาจชี้นำให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนของเขาด้วยตนเอง ชี้แนะให้เขามองเห็นมาตรฐานที่สูงกว่า หรือสิ่งที่ดีกว่า เพื่อทำให้เขาเกิดความตระหนัก เกิดความอยาก เกิดความต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น แล้วเขาจะเสาะแสวงหาวิธีการพัฒนาจุดอ่อนของเขา ด้วยตัวของเขาเอง 

7.   Try to understand the other person. พยายามเข้าใจผู้อื่น
 
การที่เราพยายามเข้าใจผู้อื่น ทำให้เรามีโอกาสเห็นความตั้งใจและเหตุผลของผู้อื่นในการแสดงออกพฤติกรรมซึ่งแตกต่างจากเราแม้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับเรา การที่เราจะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เราจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้อื่นให้มากที่สุด เมื่อเรามีความพยายามจะเข้าใจเขา เราจะเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงทำเช่นนั้น หรือ ทำไมเขาถึงเป็นอย่างนั้น และท่าทีของเราที่แสดงต่อผู้อื่นด้วยความเข้าใจ จะเป็นท่าทีแห่งความเป็นมิตร เป็นท่าทีแห่งความเห็นอกเห็นใจ ทำให้ผู้อื่นมีความรู้สึกที่ดีต่อเรา 

8.     Check first impressions. ตรวจสอบความประทับใจแรก
 
มีคำกล่าวว่า “The first impression is the last impression” ความประทับใจแรกคือความประทับใจสุดท้าย คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อความรู้สึกแรกของตนเองโดยไม่รู้สึกตัว และหาเหตุผลมาสนับสนุนความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถ้าชอบจะเป็นทำนองรักแรกพบ ต้องชะตาแต่แรกเห็น แต่ถ้าไม่ชอบจะออกไปในแนว ศรศิลป์ไม่กินกัน เห็นแล้วอารมณ์ขุ่นเคือง เพราะเหตุนี้ ประธานาธิบดี Abraham Lincoln ถึงได้บอกว่า “I do not like that man; therefore I shall get to know him better.” ฉันไม่ชอบคนนั้น ดังนั้นฉันควรรู้จักเขาให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงเปลือกนอก ซึ่งอาจจะไม่เหมือนสิ่งที่อยู่ภายในใจของเขา สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งจริงที่เราคิด ดังนั้นจึงไม่ควรเชื่อความประทับใจแรกของเราโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะจะทำให้เรามองคนอย่างมีอคติได้

9.   Take care with the little details. สนใจสิ่งเล็กๆน้อยๆ
 
อย่ามองข้ามเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เราแสดงออก เพราะคนอื่นจะอ่านพฤติกรรมของเราทุกเรื่อง ไม่ว่าท่าทาง อากัปกริยา วาจา น้ำเสียง สายตา และสิ่งที่เราแสดงออกเหล่านี้ คนเขาเอาไปตีความหมาย ว่าเป็นการแสดงตัวตนของเรา เรื่องเล็กๆเช่นการจำชื่อคนได้อย่างถูกต้อง รู้จักชื่อเล่น ไม่ลืมวันเกิด รู้ว่าเขาโปรดปรานอะไรเป็นพิเศษ เป็นสิ่งเสริมให้คนอื่นมีความรู้สึกที่ดีต่อเรา เป็นการเสริมให้เรามีความสามารถในการทำงานเข้ากับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเราใส่ใจสิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จนกลายเป็นอุปนิสัยประจำตัว ในที่สุดอุปนิสัยนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพเรา ซึ่งทำให้เราดูดีเป็นที่น่าสนใจ 

10.  Develop genuine interest in people. พัฒนาความสนใจผู้อื่นอย่างจริงใจ
 
ถ้าเราไม่มีความสนใจในตัวผู้อื่นอย่างแท้จริง เราจะไม่สามารถทนฟังความคิดเห็นของคนอื่นได้นาน เราจะรู้สึกอึดอัด เพราะเราไม่ได้ชอบสิ่งที่เขาพูด เราไม่ได้สนใจสิ่งที่เขาแสดงออกอย่างจริงใจ คนเขาจะรู้สึกได้ไม่ยาก การจะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีนั้น ต้องเริ่มต้นจากการให้ความสนใจผู้อื่น พยายามสร้างบรรยากาศที่ทำให้เรารู้สึกสนใจเขา และทำให้เขารู้สึกสนใจเรา ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในการทำงานให้ดีขึ้น เพราะ ความจริงใจต่อกัน จะทำให้ต่างคนต่างเคารพนับถือกัน
 
11.  Keep it up. ทำต่อไป
 
ข้อสุดท้าย ไม่มีอะไรมาก ขอทำต่อไปเรื่อยๆครับ เพราะทั้ง 10 ประการข้างต้น ไม่ได้ทำได้อย่างง่ายๆอย่างที่เขียน ต้องใช้ใจในการทำ ต้องใช้ความอดทน และต้องใช้ความพยายามพอสมควร แต่ถ้าเราสามารถทำได้ และทำต่อเนื่องตลอดไป จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของเราอย่างแน่นอน

            John D. Rockefeller กล่าวว่า A friendship founded on business is better than a business founded on friendship. มิตรภาพที่ก่อขึ้นบนพื้นฐานธุรกิจดีกว่าธุรกิจที่ก่อขึ้นบนพื้นฐานมิตรภาพ การรักษามิตรภาพต้องระวังอย่าเอาธุรกิจเข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะผลประโยชน์ธุรกิจจะทำลายมิตรภาพ แต่ในขณะที่เราทำธุรกิจเราสามารถพัฒนามิตรภาพที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจได้ หลายคนเสียเพื่อน เสียพี่น้อง จากการทำธุรกิจด้วยกัน เมื่อผลประโยชน์เข้ามายุ่งเกี่ยวมากขึ้น มิตรภาพจะสูญหายไป แต่มีหลายคนเหมือนกันที่ได้เพื่อนใหม่ ที่เกิดจากการทำธุรกิจก่อนแล้วพัฒนาความสัมพันธ์จนเกิดมิตรภาพขึ้น
            ขอปิดท้ายด้วยคำพูดสวยๆของ David Packard ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่แตกต่างกันของเงินและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
A company has a greater responsibility than making money for its stockholders. We have a responsibility to our employees to recognize their dignity as human beings.”
บริษัทมีความรับผิดชอบที่ใหญ่กว่าการหาเงินให้ผู้ถือหุ้นบริษัท เรามีความรับผิดชอบต่อบุคลากรของเรา ที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา J

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การสร้างทีม


 “The road the righteous travel is like the sunrise, getting brighter and brighter until daylight has come.
 The road of the wicked, however, is dark as night. They fall, but cannot see what they have stumbled over.”                                     Proverbs 4:18-19

ต้องแสดงความยินดีกับทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยที่สามารถคว้าตำแหน่งชนะเลิศวอลเลย์บอลหญิงรายการชิงชนะเลิศแห่งเอเชีย โดยสามารถเอาชนะทีมวอลเลย์บอลหญิงจากญี่ปุ่นไปอย่างชนะใจคนไทยทั้งประเทศ ช่วงนี้ก็เดินสายปรากฏตัวตามรายการโทรทัศน์ รับรางวัลเงินแสนเงินล้านจากบริษัทต่างๆที่ให้การสนับสนุนกันอย่างคึกคักตามกระแสของสังคมไทย
คนไทยไม่ค่อยมีข่าวดีๆให้รู้สึกชื่นอกชื่นใจกันมากนัก ต้องขอขอบคุณทั้งนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และทีมงานวอลเลย์บอลหญิงไทยที่ช่วยกันทำงานหนักมาหลายปี กว่าจะพัฒนาทีมมาถึงวันนี้ ที่ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยประสบความสำเร็จในระดับเอเชียได้ มีความยากลำบากและปัญหาอุปสรรคมากมายที่พวกเขาต้องบากบั่นเอาชนะและก้าวข้ามมาสู่ความสำเร็จในวันนี้
ความสำเร็จของทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นผลจากการทำงานที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เพราะกว่านักกีฬาแต่ละคนที่มีความสามารถและทักษะที่แตกต่างกัน มีภูมิหลัง มีทัศนะคติ และประสบการณ์ที่แตกต่างกันจะเข้ามาทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดความสำเร็จหลายประการอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะรวมปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จต่างๆให้บูรณาการเข้าด้วยกันอย่างเกิดผล
Henry Ford กล่าวว่า “Coming together is a beginning, keeping together is progress, working together is success.” การที่ได้คนมาอยู่ด้วยกันเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น เพราะยังไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น และถ้าไม่สามารถนำคนที่มารวมกันให้อยู่ด้วยกันอย่างมีจุดหมายร่วมกันได้ ก็ไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น เพราะต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำตามความประสงค์ของตนเอง แต่ถ้าคนที่มาอยู่ด้วยกันมีจุดหมายร่วมกัน การอยู่ด้วยกันก็นับได้ว่ามีความก้าวหน้าเกิดขึ้นแล้ว และถ้าคนเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้ ความสำเร็จเกิดขึ้นจากความสามารถและทักษะที่ทุกคนแสดงออกมา
ได้เขียนไปแล้วในเดือนกรกฎาคม เรื่องการพัฒนาทีมว่า การสร้างทีมต้องมีกระบวนการพัฒนา (Team Development Process) หลักอยู่ 4 ขั้นตอนคือ Forming, Storming, Norming และ Performing (ย้อนกลับไปอ่านได้ครับ)
แต่ความสำเร็จในการสร้างทีมให้เกิดเป็นทีมที่ทำงานสำเร็จได้ อย่างที่เรียกว่า TEAMWORK นั้น ต้องมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ดังที่ Bruce Woodcock แห่ง University of Kent Careers Service ให้ข้อเสนอไว้ว่า

Having clear, logical objectives
มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน มีเหตุผล ที่เป็นไปได้จริง นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไทย ไม่ได้เริ่มต้นจากการมีจุดประสงค์เป็นที่หนึ่งของเอเชีย เพราะยังเป็นไปได้ยากในเวลา 10 ปีที่แล้ว แต่ตั้งเป้าเป็นที่หนึ่งของอาเซียนให้ได้เสียก่อน เมื่อสามารถเอาชนะทุกทีมในอาเซียนแล้ว ก็ตั้งเป้าว่าของให้ได้เข้าไปเล่นในรองรองชนะเลิศ คือพยายามเป็น 1 ใน 4 ทีมที่ดีที่สุดของเอเชีย เมื่อสามารถเข้าไปเล่นในรอบรองชนะเลิศได้แล้ว การตั้งเป้าว่าจะเป็นที่ 1 ของเอเชีย มีโอกาสเป็นไปได้ เป็น logical objective ที่มีความชัดเจนมากขึ้น

Making sure everyone clearly understands their roles and tasks
การเข้ามารวมกันเป็นทีมวอลเลย์บอล มีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายคน หลายระดับ ทั้งระดับบริหารของสมาคมวอลเลย์บอล ผู้จัดการทีม ผู้ฝึกสอน ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน และนักกีฬา ที่มาจากหลายสังกัด ที่มีพื้นฐานชีวิต การสนับสนุนของครอบครัว ประสบการณ์ในการเล่นกีฬาที่แตกต่างกัน มีความถนัด ความสามารถเฉพาะตัว เมื่อเข้ามาเป็นทีมเดียวกัน ต้องมีการมอบหมายตำแหน่ง งานที่ต้องทำ บทบาทที่ต้องรับผิดชอบแต่ละคนให้ชัดเจน

Delegating tasks to people with the right skills
การมอบหน้าที่ให้แต่ละคนในทีมทำ ต้องมีความเข้าใจในจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละคนในทีม เพราะทุกคนมีส่วนที่เป็นจุดเด่นและมีส่วนที่เป็นจุดด้อย การมอบงานให้ถูกกับความสามารถ ทักษะ และความถนัด จะทำให้ทีมมีจุดแข็ง เพราะทำให้ทุกคนในทีมสามารถแสดงศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ เป็นประโยชน์ต่อทีม ในขณะเดียวกัน ทุกคนในทีมมีความสุข เพราะรู้สึกว่ามีค่า ได้ทำประโยชน์ ทำผลงานให้แก่ตนเองและแก่ทีม

Using people with different skills
การใช้คนที่มีทักษะที่แตกต่างกันคือความยากของการจัดทีมให้ลงตัว เพราะตัวนักกีฬาจะคิดว่าตัวเองถนัดที่จะเล่นในตำแหน่งใด หรือมีความชอบที่จะเล่นในตำแหน่งที่ต้องการ แต่ผู้ฝึกสอนและผู้จัดการทีมอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างจากตัวนักกีฬา เพราะมองเห็นศักยภาพที่แท้จริงของตัวนักกีฬาที่ยังไม่ได้แสดงออกมา นักกีฬาหลายคนมาเด่นดังหลังจากได้ผู้ฝึกสอนที่ตาถึงดึงให้มาเล่นในตำแหน่งที่เป็นตัวตนของเขาจริงๆ

Taking positive attitude to learn
นักกีฬาที่จะประสบความสำเร็จต้องมีทัศนะคติในทางบวกที่จะเรียนรู้พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา คนที่คิดว่าตนเก่งที่สุดแล้ว คนนั้นกำลังหล่นจากตำแหน่งที่เขากำลังยืนอยู่ และจะมีคนที่เก่งกว่ามาแทนที่ในเวลาไม่นาน เพราะถ้าเขาไม่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องเขาจะล้าหลังทันที

Having people who can coordinate and accept responsibility
ในทีมที่ดี ต้องมีผู้ประสานงานที่ดี มีตัวเชื่อมที่เก่งในการเล่น ทำให้เกมส์การแข่งขัน มีพลังการเคลื่อนไหวที่มีน้ำหนักในการจู่โจม มีความแข็งแกร่งในการต้านการรุกของคู่แข่ง ตำแหน่งผู้ประสานงานต้องรับผิดชอบสูงและต้องเต็มใจทำ เพราะเป็นบทบาทหัวใจของการดึงพลังและศักยภาพของทุกคนในทีมออกมาใช้ตามตำแหน่งหน้าที่ของเขา

Being comfortable with disagreement
เป็นธรรมดาที่ต้องเกิดความขัดแย้งในการทำงานเป็นทีม แต่ทุกคนในทีมต้องทิ้งความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง และเรียนรู้ที่จะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ด้วยอารมณ์ที่หนักแน่น มีวุฒิภาวะ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ ถึงจะอยู่ทำงานเป็นทีมได้

Listening to others and giving constructive feedback
รู้จักฟังคนอื่นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการเข้าร่วมทีม และถ้ารู้จักตอบสนองอย่างสร้างสรรค์ จะทำให้การอยู่ร่วมทีมไม่เป็นปัญหาสำหรับคนอื่นๆในทีม เพราะการอยู่ร่วมกันต้องฟังซึ่งกันและกันถึงจะได้ข้อสรุป มีข้อตกลงร่วมกันได้

Supportive informal group atmosphere, use humor
การอยู่และทำงานร่วมกันเป็นทีมจะต้องมีกฎระเบียบ ที่ทุกคนต้องเคารพ และปฏิบัติตามด้วย แต่บรรยากาศในการทำงานจะต้องไม่ฝืนกับธรรมชาติ ของมนุษย์ที่ต้องการบรรยากาศที่ไม่เคร่งเครียด ไม่มีความกดดันมากจนเกินไปในการทำงาน ต้องมีอารมณ์ขัน ต้องมีความผ่อนคลายกันบ้าง ไม่ควรมีบรรยากาศเป็นทางการอยู่ตลอดเวลา

Creating enthusiasm and initiative to make things happen
ความกระตือรือร้น ในการทำให้งานสำเร็จเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานร่วมกัน เป็น Team spirit เป็นจิตวิญญาณของทีมในการทำงานให้สำเร็จ ที่ต้องมีการกระตุ้นให้เกิดความคึกคัก กระฉับกระเฉง เกิดความตื่นตัว กระหายชัยชนะอยู่เสมอ ทำให้การฝึกซ้อมมีความตื่นเต้น การวางแผนมีความหวัง การแข่งขันมีความมั่นใจ อย่าปล่อยให้ใจท้อถอย ยอมแพ้ เมื่อเกิดความผิดพลาด หรือพ่ายแพ้ ต้องปลุกใจให้สู้ต่อไปอย่าได้ถอย
Michael Jordan อดีตนักบาสเกตบอลชื่อดังของอเมริกัน กล่าวว่า เขาพลาดการยิงลูกบาสเกตบอลไม่ลงห่วงมากกว่า 9,000 ครั้งในชีวิตการเป็นนักกีฬาของเขา ทีมของเขาแพ้การแข่งขันเกือบ 300 ครั้ง เขาพลาดในการยิงลูกนำชัยชนะในการแข่งขัน ที่ทีมไว้วางใจให้เขาเป็นผู้ยิง ถึง 26 ครั้ง เขาพลาดแล้วพลาดซ้ำอีกไม่รู้กี่ครั้งในชีวิต และนี่แหละคือเหตุผลที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ
Arnold Schwarzenegger กล่าวว่า “Strength does not come from winning. Your struggles develop your strengths. When you go through hardships and decide not to surrender, that is strength.” ความแข็งแกร่งไม่ได้มาจากชัยชนะ อุปสรรคของคุณพัฒนาความแข็งแกร่งของคุณ เมื่อท่านผ่านความยากลำบาก และตัดสินใจไม่ยอมแพ้ นั่นแหละคือความแข็งแกร่ง

อ่านเรื่องการสร้างทีมนักกีฬาแล้ว หันกลับมาสร้างทีมงานของตัวเองด้วยนะครับJ