วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

ทิศทางอนาคตมหาวิทยาลัย


 Love wisdom, and she will make you great. Embrace her, and she will bring you honor. She will be your crowning glory."                                 Proverbs 4:8-9

ได้รับรายงานการศึกษาของ Ernst & Young ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาขนาดใหญ่ที่ให้บริการทั่วโลก เรื่องทิศทางในอนาคตของสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศออสเตรเลียจากเพื่อนทาง internet อ่านแล้วรู้สึกว่าผลการศึกษาและข้อเสนอแนะที่นำเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทั้งที่อยู่ในแวดวงการศึกษาและในภาคธุรกิจอื่นๆได้รับรู้เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการคิดต่อไปในอนาคต เนื่องจากได้เขียนเรื่องนโยบายในการเตรียมนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาของนายกรัฐมนตรีประเทศออสเตรเลียไปแล้ว เรื่องในวันนี้จึงต่อเนื่องกันได้พอดี
บริษัท Ernst & Young ทำการศึกษาเรื่องนี้เพราะต้องการจะรู้ว่าบทบาทของมหาวิทยาลัย ในประเทศออสเตรเลีย ต่อสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคต 10-15 ปีข้างหน้า ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นักการศึกษา และผู้กำหนดนโยบายการศึกษาขั้นอุดมศึกษาของประเทศออสเตรเลียจะมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง ต่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาของโลกในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจะบริหารจัดการอย่างไรในอนาคต โครงสร้างทางเศรษฐกิจและคุณค่า (Economic structure and value) ของมหาวิทยาลัยควรจะเป็นอย่างไร เมื่อโครงสร้างตลาดการศึกษาเปลี่ยนแปลงไป
นอกจากจะทำการศึกษาข้อมูลจากทั้งแหล่งปฐมภูมิ และทุติยภูมิ แล้ว คณะผู้ศึกษาได้ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐบาล และเอกชน ไม่น้อยกว่า 40 คน จากมากกว่า 20 มหาวิทยาลัย โดยได้สัมภาษณ์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับอธิการบดี (Vice- Chancellor) ถึง 15 คน
ผลการศึกษาสรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียต้องเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีแรงขับเคลื่อน (Drivers of change) หลัก 5 ประการคือ
1.           Democratization of knowledge and access เสรีภาพทางความรู้และการเข้าถึงแหล่งความรู้ ในปัจจุบันและอนาคตกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการศึกษาในระบบ online ทำได้ง่ายมากขึ้นและไม่แพงอย่างในอดีต ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถขยายการให้บริการทางวิชาการความรู้ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยเห็นได้จากการเติบโตของตลาดนักศึกษา ทั้งในอาเซียน อัฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และ ลาตินอเมริกา ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัวจากการให้บริการการศึกษาในระบบเดิมที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และดำรงสถานะเป็นผู้รู้ และเก็บความรู้ไว้ (Originators and keepers of knowledge) แต่ในอนาคต ความรู้เป็นตลาดวิชาการที่เปิดกว้างให้กับทุกคนที่มีเครื่องมือและสามารถเชื่อมต่อ (Device and connectivity) ได้ คนสามารถเข้าถึงแหล่งวิชาความรู้ได้มากขึ้น และง่ายขึ้น

2.           Contestability of markets and funding การแข่งขันแย่งชิงนักศึกษาและแหล่งทุนสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยต้องออกตลาดจัดนิทรรศการทั้งในและต่างประเทศเพื่อหานักศึกษามาเรียนให้ได้ตามเป้าหมายกันอยู่แล้วในขณะที่เงินสนับสนุนจากงบประมาณที่รัฐบาลให้กับมหาวิทยาลัยนับวันจะลดน้อยลงเพราะเศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา มหาวิทยาลัยจึงต้องวิ่งหาแหล่งเงินใหม่

3.           Digital technologies เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเปิดให้บริการการศึกษาทางไกลแบบ online ที่มีนักศึกษาลงทะเบียนเรียนครั้งละมากๆ (Massive Open Online Course) วิธีการศึกษาทางไกลรูปแบบใหม่นี้ได้รับการตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆเป็นผลให้มหาวิทยาลัยต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้นักศึกษาและอาจารย์ผู้สอนสามารถใช้สื่อดิจิตอลมากขึ้นทั้งในพื้นที่วิทยาเขตมหาวิทยาลัย และนอกเขตพื้นที่มหาวิทยาลัยเพื่อตอบสนองความต้องการของนักศึกษาในตลาดใหม่ๆที่มีความสนใจและความต้องการในการศึกษาหาความรู้ที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆมีแนวโน้มสนใจที่จ้างคนที่มีความรู้จริงๆเฉพาะสาขาวิชามากขึ้น

4.           Global mobility การเคลื่อนที่อย่างอิสระมากขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถขยายพื้นที่ให้บริการไปได้ทั่วโลก เป็นผลให้ตลาดนักศึกษากว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) เช่น ประเทศจีน อินเดีย บราซิล ทำให้มหาวิทยาลัยมีโอกาสได้นักศึกษาที่มีความสามารถทางการศึกษา (Academic talents) จากประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยมีโอกาสขาย Brand ของมหาวิทยาลัยโดยร่วมให้บริการการศึกษากับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ในเวลาเดียวกันมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในบางประเทศก็เริ่มรวมตัวกันในการพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยในประเทศ เพื่อแข่งขันกับมหาวิทยาลัยนานาชาติที่บุกเข้ามาขยายวิทยาเขตในประเทศของตน

5.           Integration with industry การร่วมมือกับอุตสาหกรรมเป็นนิมิตใหม่ที่มหาวิทยาลัยต้องจับมือกับอุตสาหกรรมสาขาต่างๆในการผลิตนักศึกษาตามความต้องการของอุตสาหกรรม และทำการวิจัยพัฒนาร่วมกันเพื่อหานวัตกรรมใหม่ๆ โดยบริษัทให้เงินสนับสนุนการวิจัย ผลจากการวิจัยบริษัทนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมใหม่ในเชิงพาณิชย์ มหาวิทยาลัยได้รับค่าสิทธิบัตรตอบแทนจากนวัตกรรม หรือร่วมทุน (Joint venture) กับบริษัทในการทำธุรกิจ มหาวิทยาลัยจึงต้องเรียนรู้ร่วมกับอุตสาหกรรมมากขึ้น มีปรากฏการณ์ความร่วมมือที่น่าสนใจเกิดขึ้นในยุโรปเช่นโครงการ InnoEnergy ที่ก่อตั้งในปี 2010 โดยการร่วมมือของ บริษัทอุตสาหกรรม สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยธุรกิจ ในยุโรปร่วมกันถึง 29 สถาบัน เพื่อเป็นหุ้นส่วนกันโดยตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า ภายใน 5 ปีจะผลิตบัณฑิตระดับ Post graduate ทางด้านนวัตกรรมพลังงานจำนวน 3,300 คน จะจดทะเบียนสิทธิบัตร(Patents)นวัตกรรมใหม่ 80 เรื่อง จะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ (New products) 100 ผลิตภัณฑ์ จะตั้งบริษัทใหม่ 60 บริษัท และจะใช้งบประมาณทั้งหมดถึง 700 ล้านยูโร

นี่คือทิศทางของการเปลี่ยนแปลงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่กำลังเกิดขึ้นและทำให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษาของประเทศออสเตรเลียต้องคิดปรับตัวกันขนานใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกล่าวว่า “Universities face their biggest challenge in 800 years” มหาวิทยาลัยกำลังพบความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดใน 800 ปี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “We’re not businesses but we need to be run in business like way” เราไม่ใช่ธุรกิจ แต่เราจำเป็นต้องดำเนินกิจการแบบธุรกิจ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า “Our major competitor in ten years time will be Google if we’re still alive.คู่แข่งขันหลักของเราในสิบปีข้างหน้านี้คือ Google ถ้าเรายังมีชีวิตรอดอยู่

สิ่งที่ท้าทายมหาวิทยาลัยในอนาคต (The future challenges) คือ

·      Quality and academic excellence
การแข่งขันกันอย่างเข้มข้นในการให้บริการการศึกษาทำให้มหาวิทยาลัยที่จะยืนอยู่รอดในระยะยาวคือมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศในด้านคุณภาพการเรียนการสอน และความเป็นเลิศในงานวิจัย มหาวิทยาลัยจะต้องจัดดุลยภาพของการรักษาคุณภาพกับต้นทุนการบริหารจัดการอย่างไรถึงจะอยู่รอดได้

·      Academic talent and work force structure
มหาวิทยาลัยที่มีคณาจารย์ผู้สอนและผู้วิจัยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปเป็นจำนวนมากต้องหาอาจารย์รุ่นใหม่เข้ามาทดแทนอาจารย์รุ่นเก่าที่กำลังจะเกษียณอายุการทำงาน อาจารย์รุ่นใหม่ที่ต้องสรรหาจะเป็นอาจารย์สายพันธุ์ใหม่ที่มีแนวคิดใหม่ และมีความรู้ในสาขาวิชาใหม่ๆมาสอนและวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การสรรหาอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถสายพันธุ์ใหม่ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายในตลาดที่มีการแข่งขันสูงในเวลานี้
·      Commercial skills
เพราะการแข่งขันในตลาดการศึกษาเข้มข้นมากขึ้น มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับตัวให้มีทักษะเชิงพาณิชย์มากขึ้น ทั้งในด้านการตลาด การบริหารจัดการ การเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน การใช้ทรัพยากรและเทคโนโลยี การสร้างคุณค่า การสร้าง Brand และเรื่องอื่นๆ เพื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัย จึงเป็นงานหนักที่ท้าทายผู้บริหาร
·      Change management and speed to market

มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบในการบริหารจัดการให้สามารถแข่งขันได้อย่างรวดเร็ว ประเด็นที่จะเป็นปัญหามากที่สุดของมหาวิทยาลัยคือวัฒนธรรมองค์กรของมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างจะไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะธรรมชาติของนักวิชาการมีความต้องการความอิสระในวิชาการสูง ยึดติดกับศักดิ์ศรีของสถาบัน มีความเป็นส่วนตัว ต้องการเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด ความยากอยู่ตรงที่มหาวิทยาลัยจะปรับตัวได้ทันต่อความเร็วของการเปลี่ยนแปลงของตลาดหรือไม่?
·      Relationship with government

มหาวิทยาลัยของรัฐคงต้องรักษาความสัมพันธ์กับรัฐบาลและนักการเมืองเพื่อเงินงบประมาณสนับสนุนที่นับวันจะมีให้น้อยลงเรื่อยๆ รูปแบบการขอเงินสนับสนุนรัฐบาลคงต้องเปลี่ยนไปในลักษณะอื่นๆตามนโยบายของรัฐบาลและภาวะเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐหรือเอกชนต้องแสวงหาแหล่งทุนอื่นๆจากหน่วยงานเอกชน มูลนิธิ องค์การการกุศล มาสนับสนุนแทน

            ที่นำเรื่องนี้มานำเสนอ ไม่ได้หวังผลเฉพาะให้เกิดความตระหนักในแวดวงนักการศึกษาของไทยเท่านั้น แต่อยากให้ผู้อ่านไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใดของธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม หรืองานบริการทั้งภาครัฐและเอกชน ได้นำผลการศึกษานี้ไปคิดในบริบทที่เกี่ยวข้องกับกิจการของตน เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่เกิดขึ้น จะช้าหรือเร็วย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องอยู่ ไม่มากก็น้อย เนื่องจากการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

            Aristotle กล่าวว่า “The roots of education are bitter, but the fruit is sweet.” รากของการศึกษานั้นขม แต่ผลของมันหวาน

            ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าคำกล่าวนี้จะเป็นจริงในสังคมไทยหรือเปล่า?



วันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556

Asian Century


 Wisdom offers you long life, as well as wealth and honor.
 Wisdom can make your life pleasant and lead you safely through it.
  Those who become wise are happy; wisdom will give them life.  

                                                                                             Proverbs 3:16-18 

นาง Julia Gillard นายกรัฐมนตรีประเทศออสเตรเลีย ประกาศแผนการให้นักเรียนออสเตรเลียทุกคนต้องเรียนภาษาอาเซีย 1 ภาษาเพื่อช่วยให้ประเทศออสเตรเลียสามารถเข้าถึงภูมิภาคอาเซียซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาที่ผ่านมา
วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีหญิงผู้นี้มองเห็นว่าจากนี้ไปจะเป็นศตวรรษแห่งอาเซียน (Asian Century) ภูมิภาคเอเชียมีศักยภาพสูงมากขึ้น มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และมีจะการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไปอีกในอนาคต ดังนั้นประเทศออสเตรเลียควรจะให้ความสนใจและเตรียมความพร้อมของคนรุ่นต่อไปของออสเตรเลียให้สามารถเข้าถึงก้าวใหม่ของการเจริญเติบโตของภูมิภาคอาเซียใน 13 ปีข้างหน้านี้
นโยบายทางการศึกษาใหม่ของออสเตรเลียคือโรงเรียนทุกแห่งในประเทศออสเตรเลียจะต้องให้นักเรียนเลือกเรียนหนึ่งใน 4 ภาษาสำคัญซึ่งได้แก่ภาษา อินโดนีเซีย ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฮินดี และ ภาษาจีน โดยตั้งความหวังว่าเด็กนักเรียนออสเตรเลียรุ่นใหม่ที่เรียนภาษาทั้ง 4  นี้ จะช่วยทำให้ประเทศออสเตรเลียสามารถเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจเข้ากับประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต  ซึ่งโรงเรียนต่างๆในออสเตรเลียขณะนี้กำลังเตรียมตัวที่จะเป็นพันธมิตรกับโรงเรียนต่างๆในภูมิภาคอาเซียมากขึ้น และสถานีโทรทัศน์ในออสเตรเลียกำลังจะส่งเสริมให้มีรายการข่าวและรายการโทรทัศน์ของอาเซียมากยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิภาคอาเซียมากยิ่งขึ้น รวมทั้งรัฐบาลออสเตรเลียกำลังจะเพิ่มทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาชาวอาเซียเข้ามาศึกษาในประเทศออสเตรเลียมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้ผู้บริหารบริษัทธุรกิจในประเทศออสเตรเลียมีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับการทำงาน(Deep working knowledge)ของประเทศในภูมิภาคอาเซียมากขึ้น
นาง Gillard กล่าวว่า นี่เป็นข่าวดีสำหรับประเทศออสเตรเลียและจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการคิดถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของประเทศออสเตรเลียกับประเทศต่างๆในอาเซีย นักเรียนชั้นอนุบาลของออสเตรเลียวันนี้จะสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาใน 13 ปีข้างหน้าด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างดีในการทำงานกับประเทศในภูมิภาคอาเซีย พื้นฐานความคิดของนโยบายนี้คือประเทศออสเตรเลียจะสามารถเก็บเกี่ยวความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากภูมิภาคอาเซียได้อย่างไรในอนาคต

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศออสเตรเลียในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาเป็นผลพวงจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียทำให้มีความต้องการวัตถุดิบทางธรรมชาติอย่างมหาศาลเพื่อนำไปผลิตสินค้า และประเทศออสเตรเลียได้รับประโยชน์จากการเติบโตนี้ค่อนข้างมากจากการขายแร่ธาตุทางธรรมชาติให้แก่ประเทศในภูมิภาคอาเซีย ทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศออสเตรเลียรับทรัพย์ไปเต็มๆ นักธุรกิจชาวออสเตรเลียเริ่มหันมามองประเทศในภูมิภาคอาเซียด้วยความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่รัฐบาลของประเทศออสเตรเลียต้องการเพิ่มมากไปกว่าการขายแร่ธาตุทางธรรมชาติให้แก่ประเทศจีน คือการหารายได้จากการส่งเสริมการท่องเที่ยว การศึกษา และการเกษตรแก่ประชาชนชั้นกลาง (Middle class) ของประเทศจีนที่กำลังขยายตัวอย่างมาก และมีกำลังซื้อมหาศาล
            แผนการของนาง Gillard ได้รับการตอบสนองจากนักธุรกิจเป็นอย่างดี แม้จะมีเสียงติติงบ้างว่าออกจะช้าไปหน่อยที่เพิ่งมาคิดทำเอาในเวลานี้ แต่นาง Gillard ก็ยกตัวอย่างว่า Fosters beer ได้พยายามเจาะตลาดจีนเมื่อ 20 ปี ก่อนโน้น เวลานี้น่าจะเป็นโอกาสของ Grange ซึ่งเป็น ไวน์ราคาแพงของออสเตรเลียที่จะเข้าไปเจาะตลาดจีน
Professor Andrew Macintyre แห่ง Australia National University ให้ทัศนะว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคอาเซียเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มหาศาลมาก และประเทศออสเตรเลียจะต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วในเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดในภูมิภาคอาเซียนี้ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ
นาง Adrian Vickers ผู้อำนวยการ Asian Studies ของ University of Sydney เห็นว่าศตวรรษอาเซียได้เริ่มต้นไปแล้ว ดังนั้นประเทศออสเตรเลียจึงมีเรื่องที่ต้องทำอีกมากเพื่อตามการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ทัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ในภูมิภาคอาเซียคือสิ่งที่ประเทศออสเตรเลียต้องเผชิญและติดตามให้ทัน
เช่นเดียวกัน British Council ของประเทศอังกฤษกำลังทำงานเพื่อเพิ่มโอกาสให้นักเรียนอังกฤษได้เรียนภาษาจีน เพราะรู้อยู่แล้วว่าประเทศจีนขณะนี้เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก และประเทศอังกฤษคงจะต้องดำเนินนโยบายเช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลียในการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนอังกฤษเรียนภาษาอาเซียเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาจีน เพื่อเพิ่มความสามารถในการสื่อสาร
Martin Davidson ผู้บริหารของ British Council กล่าวว่าความเจริญรุ่งเรืองของประเทศอังกฤษในอนาคตขึ้นอยู่กับความสามารถในการสื่อสาร การติดต่อ การสร้างความสัมพันธ์กับคนทั่วโลก และเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของประเทศจีนเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าคนหนุ่มสาวของอังกฤษมีความสามารถเข้าใจภาษาจีนและวัฒนธรรมของจีนได้เป็นอย่างดีย่อมเป็นข้อได้เปรียบในการอยู่ในสังคมโลกที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนอย่างต่อเนื่องทำให้ประเทศจีนมีจำนวนคนชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นทุกปี และมีผลทำให้ประเทศจีนมีการเติบโตของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ว่าในปี 2020 ประเทศจีนจะมีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน และการเติบโตของคนชั้นกลางในประเทศจีนจะเป็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการสินค้าและบริการภายในประเทศ (Domestic demand) จากคนจีนที่มีฐานะเศรษฐกิจดีขึ้นจะช่วยทำให้ประเทศจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณปีละ 7-8% อย่างต่อเนื่องต่อไปอีก
ขณะนี้อัตราการเป็นสังคมเมือง (Urbanization rate) ของประเทศจีนได้ทะลุ 51.3% ไปแล้ว ซึ่งหมายความว่า คนจีนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศได้อาศัยอยู่ในเมือง มากกว่าอยู่ในชนบท ชาวนาชาวสวนจีนที่อยู่ในชนบทกำลังทิ้งบ้านเกิดในชนบทอพยพเข้าไปทำงานในเมืองมากขึ้น จากการศึกษาของสถาบันการปฏิรูปและการพัฒนาของจีน คาดการณ์ว่าจะมีคนจีนอีก 200 ล้านคนอพยพเข้ามาอยู่ในเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40 พันล้านหยวน ($6.3 trillion) ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า เพราะความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคภายในประเทศ จะเพิ่มขึ้นเป็น 30 พันล้านหยวน ในปี 2016
ที่นำเรื่องนี้มานำเสนอ เพื่อต้องการให้คนไทยได้ตระหนักว่า ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาและเทคโนโลยี และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศไทย เช่นประเทศออสเตรเลีย และประเทศอังกฤษ ยังได้ตระหนักถึงอนาคตของประเทศชาติ ผู้นำรัฐบาล ผู้นำทางการศึกษา ของทั้งสองประเทศ มีความห่วงใยว่าในอนาคตลูกหลานของเขาจะอยู่อย่างไรในสังคมโลกที่มีการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ชาวออสเตรเลียและชาวอังกฤษในอดีตที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็นความสำคัญของคนอาเซีย เพราะชาวออสเตรเลียยังมีความรู้สึกผูกพันตนเองกับคนอังกฤษมากกว่าคนอาเซีย ในเวลานี้ทั้งคนอังกฤษและคนออสเตรเลียต้องก้าวข้ามความรู้สึกที่คิดว่าตนเองเป็นชนชาติที่เหนือกว่า ฉลาด และ เก่งกว่าคนอาเซีย แต่ต้องมองคนอาเซียด้วยสายตาและทัศนะใหม่ เพื่อจะเป็นคู่มิตรทางการค้า การลงทุนทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคอาเซีย และมองเห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศชาติในอนาคตเป็นความสำคัญอันดับแรก การมีนโยบายส่งเสริมให้นักเรียนต้องเรียนภาษาของอาเซียอย่างน้อย 1 ภาษา นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดขนาดใหญ่ของสังคมอังกฤษและออสเตรเลีย จึงเป็นสิ่งน่าชื่นชมที่นายกรัฐมนตรีหญิงของออสเตรเลียกล้าประกาศนโยบายให้เตรียมลูกหลานของเขาให้มีความพร้อมในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคอาเซียในอนาคต
สำหรับประเทศไทย ยังมองไม่เห็นสัญญาณความตระหนักที่จะเตรียมลูกหลานของเราให้มีความพร้อมที่จะอยู่ในสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีการแข่งขันอย่างรุนแรงในอนาคต ผู้นำประเทศไทยยังไม่ได้ตระหนักถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมียุทธศาสตร์ ยังไม่ได้เตรียมความพร้อมของลูกหลานไทยไว้แข่งขันกับประเทศต่างๆในอนาคต ผู้นำทางการศึกษายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างที่ผู้นำประเทศออสเตรเลียได้ประกาศไปแล้ว จึงรู้สึกเป็นห่วงอนาคตประเทศไทย เพราะถ้าเราไม่เริ่มต้นในวันนี้แล้วเราจะไปเริ่มในวันไหน
Mitt Romney กล่าวว่า “Leadership is about taking responsibility, not making excuses.” ความเป็นผู้นำ คือ การรับผิดชอบ ไม่ใช่การแก้ตัว
Henry ford กล่าวว่า “Don’t find fault, find a remedy.” อย่าหาความผิด ให้หาทางเยียวยา
ถ้าผู้นำของประเทศไทย และผู้นำทางการศึกษาของไทยยังไม่มีความตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนที่มีต่อการเตรียมความพร้อมของประเทศ เรากำลังส่งลูกหลานของเราให้เป็นเหยื่อทางเศรษฐกิจในอนาคต
ถ้าผู้นำของประเทศไทยและผู้นำในสังคมไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามการหาความผิดของแต่ละฝ่าย ไปสู่การเยียวยาให้เกิดความสันติสุขในสังคมอย่างแท้จริง และมุ่งหน้าเตรียมอนาคตให้ลูกหลานของเรา อนาคตของประเทศไทยคงจะยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ และ เรากำลังทำลายโอกาสของลูกหลานเราในอนาคต
Asian century แล้วประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้างในอนาคต??