วันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560

แล้วเราจะแข่งขันได้หรือ ?



“He who keeps instruction is in the way of life, but he who refuses correction goes astray.”                                Proverbs 10:17


ข่าวเรื่องผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัทจัดอันดับที่ทั่วโลกยอมรับเช่น Moodys, S&P, Fitch และ Japan Credit Rating Agency, Ltd (JCR) ต่างจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในอันดับที่ดีขึ้นกว่าเดิม และมองว่าประเทศไทยมีเสถียรภาพ (Stable outlook) ซึ่งเป็นผลพวงจากการที่ประเทศมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นและการส่งออกของประเทศที่เริ่มกระเตื้องขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งการที่รัฐบาลมีกรอบวินัยการคลังที่รัดกุมเข้มงวด ทำให้อัตราส่วนหนี้สินรัฐบาลต่อผลิตผลมวลรวมประชาชาติ (Government debt to GDP) ลดลงมาอยู่ที่ 41.20 % ลดลงจากระดับที่เคยอยู่สูงสุดที่ 57.80% เป็นข่าวในด้านบวกของประเทศไทยที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่นัก เพราะมีข่าวดังและข่าวด้านลบที่ดึงความสนใจของคนไทยได้มากกว่า

สิ่งที่น่ากังวลในอนาคตของประเทศไทยแม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม คือความสามารถในการแข่งขันต่อไปในอนาคตของประเทศไทย เนื่องจากประชากรวัยทำงานของประเทศไทยกำลังมีแนวโน้มลดลงในขณะที่ประชากรสูงอายุกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลทำให้มีความต้องการด้านแรงงานสูงขึ้น เป็นเหตุทำให้อัตราค่าจ้างมีแนวโน้มต้องปรับตัวสูงขึ้น ตามอุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงาน ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนและขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างแน่นอน

เรื่องทรัพยากรบุคคลเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศ เพราะการลงทุนและการขยายตัวทางธุรกิจ ล้วนต้องอาศัยความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นที่ท้าทายศักยภาพของประเทศไทยคือ การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรมนุษย์คือคนไทยทั้งประเทศให้มีความพร้อมตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

แม้รัฐบาลไทยจะมีความตระหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และได้มีการชูประเด็นเรื่อง Thailand 4.0 เพื่อพยายามนำประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประเทศสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ในอนาคต แต่ลักษณะนิสัยของคนไทยไม่ชอบคิดอะไรไกลกว่าวันพรุ่งนี้ ไม่ชอบเรื่องหนักเรื่องเครียดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงพอคาดคะเนได้ว่า เรื่อง Thailand 4.0 คงไปได้แบบเชื่องช้าตามธรรมชาติคนไทยที่ชอบเรื่องเบาๆสนุกสนานมากกว่า

จริงๆแล้วนานาประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวรับการเปลี่ยนแปลงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 ซึ่งเขาบอกว่า มันมีคุณลักษณะที่แตกต่างไปจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 3 ค่อนข้างมาก เนื่องจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบก่อนหน้านี้ มันมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆเพิ่มความก้าวหน้าทันสมัยทางเทคโนโลยีในจังหวะก้าวของการเปลี่ยนแปลงเป็นแบบเส้นตรง (Linear pace) แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 นี้ กำลังอยู่บนพื้นฐานของการเติบโตของดิจิตอลเทคโนโลยี ดังนั้นจังหวะก้าวของการเปลี่ยนแปลงมันจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วแบบเลขยกกำลัง (Exponential pace) ผลกระทบของมันจึงมากแบบทวีคูณ และเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีแบบเข้าไปแทนที่เทคโนโลยีเก่าแบบพลิกโฉมหน้า (Disrupting) กันไปเลย ความกว้าง (Breadth) และความลึก (Depth) ของการเปลี่ยนแปลงรอบนี้ มันเกิดผลกระทบไปทุกระบบ ทั้งระบบการผลิต การบริหารจัดการ ของทุกธุรกิจอุตสาหกรรมทุกประเภท ไปจนถึงระบบเศรษฐกิจสังคม และระบบการเมืองการปกครองประเทศ

ตัวอย่างจริงที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้คือข่าวเรื่องห้าง Toy R Us ที่ขายสินค้าของเล่นเด็กที่คนไทยรู้จักกันดี เพราะมีร้านนี้อยู่ตามห้างสรรพสินค้าหลายแห่งทั่วประเทศไทย เวลานี้บริษัทกำลังเตรียมยื่นเรื่องต่อศาลในสหรัฐอเมริกาเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์สินและบริหารจัดการทรัพย์สินหนี้สินตามกฏหมายล้มละลาย Chapter 11 เพราะบริษัทมีปัญหาหนี้สินและกระแสเงินสด แม้ห้าง Toy R Us ทั่วโลกจะยังไม่ปิดกิจการ และในประเทศจีนยังเปิดห้างเพิ่มอยู่ก็ตาม แต่อนาคตของห้างคงไม่แจ่มจรัสเหมือนในอดีตแน่

สาเหตุหลักที่ทำให้ห้างใหญ่อย่าง Toy R Us ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ของธุรกิจขายของเล่นเด็กที่มีสาขาทั่วโลกต้องพบกับวิกฤติในเวลานี้ คือ ธุรกิจไม่สามารถปรับตัวให้แข่งขันได้ในสนามธุรกิจปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สินค้าของเล่นเด็กแบบธรรมดาทั่วไปที่เคยขายได้ดีในสหรัฐอเมริกา พ่อแม่พาลูกๆไปซื้อจากห้าง Walmart ซึ่งมีราคาถูกกว่า เพราะสั่งนำเข้ามาจากประเทศจีน ส่วนสินค้าของเล่นเด็กรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญ เป็นสินค้าราคาแพง พ่อแม่กลับไปสั่งซื้อทาง Online จาก Amazon ให้ลูก เจอการแข่งขันแบบตัดล่างตัดบนแบบนี้ยักษ์ใหญ่อย่าง Toy R Us ก็หายใจหอบและมีสิทธิล้มได้

กระแสห้างใหญ่ทยอยล้มนี้ก็คงมีให้เห็นกันอีก อย่างที่เราเคยเห็นบริษัทขายฟิลม์ Kodak ล้มไปก่อนหน้านี้แล้วหลายปี ห้างขายรองเท้าที่เคยฮือฮากันอย่าง Payless ShoeSource ก็กำลังจะโบกมือลาไล่ปิดสาขาทั่วประเทศ เช่นเดียวกับห้างขายเสื้อผ้าเด็กอย่าง Gymboree ก็แพ้ภัยการสั่งซื้อสินค้าบนห้าง Internet เหมือนกัน กำลังปิดสาขาแข่งกันอยู่ เวลานี้กำลังมองว่าห้างดังคู่บ้านคู่เมืองของสหรัฐอเมริกาอย่าง Sears จะทนสู้อยู่ทนไปได้อีกกี่เดือนเพราะตอนนี้ประกาศปิดสาขาทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาไปหลายร้อยสาขาแล้ว หรือห้าง JC Penney ที่เป็นห้างหรูคู่สังคมอเมริกามานานก็ทยอยปิดสาขาทั่วประเทศเช่นกัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ในเวลานี้เป็นเพราะบริบทการทำธุรกิจในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4  บนพื้นฐานของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่มาเร็วและมาแรง กำลังเปลี่ยนระบบการบริโภคและวิถีชีวิตของสังคมโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน และอีกไม่นานในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเคลื่อนเข้าสู่การใช้ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) การใช้หุ่นยนต์ (Robotics) การใช้อินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet of Things) การใช้พาหนะอัตโนมัติไร้คนขับ (Autonomous vehicles) การใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3-D printing) การผลิตสินค้าด้วยนาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology) การใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Biotechnology) การผลิตวัตถุทางวิทนาศาสตร์ (Material science) การเก็บรักษาพลังงาน(Energy storage) และการระบบคอมพิวเตอร์ใหม่ที่เรียกว่า คอวนตัม (Quantum computing) ซึ่งจะมีความเร็วมากกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันเป็นพันเท่า นึกไม่ออกเหมือนกันว่าธุรกิจในอนาคตจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปมากสักเพียงใด

แน่นอนว่าวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เพราะการเปลี่ยนแปลงในรอบนี้คนเป็นพันๆล้านทั่วโลกสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างง่ายดาย ด้วยเวลานี้คนทั่วโลกมีโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆที่ราคาถูกลงจนคนทั่วโลกสามารถเป็นเจ้าของได้ และโทรศัพท์มือถือปัจจุบันมีพลัง มีเนื้อที่เก็บข้อมูล มีศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารความรู้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถช่วยทำให้รอบของการพัฒนาเทคโนโลยีรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้น มีผลกระทบในวงกว้างขึ้น และทำให้ผู้ที่ปรับตัวไม่ทันเจ็บตัวมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ Erik Brynjolfsson และ Andrew McAfee ได้แสดงทัศนะว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 นี้ ดิจิตอลเทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นจนสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้เกือบหมด สังคมเราจะมีช่องว่างถ่างกว้างห่างกันมากขึ้นระหว่างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กับผลตอบแทนทางแรงงาน เพราะผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือคนที่มีทุนทรัพย์ด้านการเงิน กับคนที่มีความรู้และทักษะขั้นสูง ตลาดแรงงานระดับบนต้องการคนที่มีความรู้และทักษะขั้นสูง ส่วนตลาดแรงงานระดับล่างต้องการคนไปทำงานที่ใช้หุ่นยนต์ทำแล้วไม่คุ้ม ส่วนแรงงานที่มีความรู้และทักษะครึ่งๆกลางๆซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมจะหางานทำลำบาก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 นี้ จึงเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศ เพราะถ้ารู้ทันและเตรียมตัวดีเราสามารถใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำมาหากินได้อีกกว้างไกล แต่ต้องพัฒนาคนในประเทศให้หนีชั้นขึ้นไปเป็นทรัพยากรแรงงานตลาดบน มีความรู้มีทักษะสูง ที่ได้ค่าตอบแทนสูง แต่ถ้าคนในประเทศมัวแต่นั่งรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลไปวันๆ ไม่ดิ้นรนพัฒนาตนเองให้ตามทันกระแสการเปลี่ยนแปลง ถ้าเดินไปไม่ถึง Thailand 4.0 การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 นี้ จะเป็นภัยคุกคามประเทศไทยที่จะทำให้ลูกหลานของเราในอนาคตมีชีวิตที่ลำบากแน่นอน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 เป็นเหมือนกระแสลมที่พัดไปทั่วโลก ที่เราไม่สามารถไปต้าน หรือไปเปลี่ยนกระแสลมให้พัดไปทางอื่นได้ อยู่ที่ว่าเรามีความฉลาดมีความพยายามที่จะใช้กระแสลมส่งให้ประเทศไทยพัดไปในทิศทางที่เราต้องการได้มากน้อยเพียงใด เหมือนดังที่

Jimmy Dean กล่าวไว้ว่า

I can't change the direction of the wind, but I can adjust my sails to always reach my destination.” ข้าพเจ้าไม่สามารถเปลี่ยนทิศทางการพัดของลม แต่ข้าพเจ้าสามารถปรับเรือให้แล่นไปถึงจุดหมายได้เสมอ
เขียนแล้วเครียดครับ

ที่มา: Businessinsider.com