วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2555

แรงงานทักษะฝีมือขาดแคลน

“An idea well-expressed is like a design of gold, set in silver.
 A warning given by an experienced person to someone willing to listen is more valuable than gold rings or jewelry made of the finest gold.”          Proverbs 25:11-12
สำนักข่าวรอยเตอร์โดย Nick Zieminski รายงานว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายประเทศกำลังประสบปัญหาขาดคนทำงานที่มีทักษะฝีมือ (Skilled workers) เช่นวิศวกร และวิชาชีพสาขาอื่นๆ ทั้งนี้จากการศึกษาของบริษัท Manpower Group พบว่า 34 % ของนายจ้างทั่วโลกมีปัญหาไม่สามารถหาคนที่มีทักษะฝีมือตามที่ต้องการบรรจุเข้าในตำแหน่งที่ว่างได้ และตัวเลขนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2011
อย่างไรก็ตาม นายจ้างจำนวน 56 %ทั่วโลก รายงานว่าถึงแม้จะหาคนที่มีทักษะฝีมือมาทำงานได้ยาก จนมีตำแหน่งว่างงานของทักษะฝีมือเกิดขึ้นจำนวนมากก็ตาม แต่ปัญหานี้ยังมีผลกระทบน้อยมากต่อการลงทุนและลูกค้าในเวลานี้
ปัญหาเรื่องการขาดคนที่มีตะลันต์ความสามารถ (Talent Shortage) เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในเวลาเดียวกันก็มีปัญหาคนว่างงานจำนวนมากในหลายประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่กำลังตกงานอยู่ในเวลานี้ เพราะนายจ้างในหลายประเทศค่อนข้างจะระมัดระวังในการจ้างคนใหม่เข้ามาทำงาน เนื่องจากยังมีความไม่แน่ใจในความผันผวนทางเศรษฐกิจของโลก และหลายประเทศเพิ่งกำลังจะฟื้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ นายจ้างจึงพยายามที่จะดำเนินกิจการไปในสภาพสิ่งแวดล้อมที่ขาดคนมีทักษะฝีมือทำงานไปก่อน ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ไม่น่าจะดำเนินไปได้นาน เนื่องจากในระยะยาวจะเป็นผลร้ายต่อนายจ้างเอง อาจทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมขาดความยั่งยืนในอนาคตได้ ปัญหาที่พบว่าเป็นสาเหตุในอันดับต้นๆที่ค้นหาคนมีทักษะฝีมือความสามารถได้ยากเป็นเพราะความสามารถของผู้สมัครงานไม่ครบถ้วนตามที่นายจ้างต้องการ และ ผู้สมัครงานมักขาดประสบการณ์ที่นายจ้างต้องการ
จากการสำรวจนายจ้างจำนวนมากกว่า 40,000 คน จาก 41 ประเทศ พบว่า ความต้องการสูงสุดของนายจ้างในช่วงเวลา 4-5 ปี ที่ผ่านมา คือคนที่มีทักษะฝีมือในการค้าขาย (Skilled trade workers)  และสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนคนงานที่มีทักษะฝีมือในเวลานี้ น่าจะเป็นผลมาจากการที่ระบบการศึกษาทั่วโลกเน้นที่การศึกษาในมหาวิทยาลัย 4 ปี และปล่อยให้หลักสูตรระดับอาชีวศึกษาลดน้อยถอยลงจนทำให้จำนวนคนเรียนในหลักสูตรอาชีวศึกษาและช่างเทคนิคต่างๆน้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่คนงานที่มีทักษะฝีมือรุ่นเก่าๆทยอยเกษียณอายุออกจากงานไปเรื่อยๆจึงเกิดการขาดแคลนคนงานที่มีทักษะฝีมือ และคาดว่าการขาดแคลนคนกลุ่มนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไปอีก จากการสำรวจพบว่าตำแหน่งงานที่มีความต้องการมากในปี2012 คือผู้แทนขาย (Sale representatives) ช่างเทคนิค (Technicians) เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ นักบัญชี นักการเงิน ผู้จัดการ เชฟส์ (Chefs) คนขับรถยนต์ และคนงาน
นายจ้างในประเทศญี่ปุ่นมีปัญหาค่อนข้างมากในการหาพนักงานที่มีทักษะฝีมือ ตามด้วยนายจ้างในประเทศ บราซิล บุลกาเรีย ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่ง 49% ของนายจ้างรายงานว่ามีความยากลำบากในการหาคนในตำแหน่งที่ต้องการ ลดลงจาก 52% ของปีก่อน ในขณะที่ตำแหน่งงานทางช่างเทคนิคและงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการธุรกิจเป็นตำแหน่งงานที่มีความต้องการสูง นายจ้างในประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และอินเดีย แจ้งว่ามีคนงานทักษะฝีมือไม่เพียงพอกับความต้องการรวมทั้งตำแหน่งพยาบาลด้วยที่ขาดแคลนมาก ส่วนประเทศในยุโรปเช่น ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และสเปน ไม่ค่อยมีปัญหาในการหาคนมีทักษะฝีมือทำงานเท่าไหร่
การแก้ไขปัญหาของนายจ้างในเรื่องการขาดคนที่มีทักษะฝีมือในเวลานี้คือนายจ้างจัดการฝึกอบรมคนงานที่มีอยู่ให้มีทักษะฝีมือมากขึ้น และหาคนงานทักษะฝีมือจากพื้นที่อื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป รวมทั้งใช้วิธีจัดคนงานที่มีอยู่ใส่ตำแหน่งงานที่ว่างแม้ว่าจะยังไม่มีทักษะฝีมือเท่าที่ควรในเวลานี้ก็ตาม แต่หวังว่าคนงานจะเกิดการเรียนรู้ในระหว่างการทำงานทำให้มีทักษะฝีมือมากขึ้น สำหรับวิธีการจ่ายค่าจ้างสูงขึ้นเพื่อดึงดูดคนที่มีทักษะฝีมือ ไม่ใช่แนวทางที่นายจ้างนิยม มีนายจ้างเพียง 8% ทั่วโลกที่ใช้วิธีเพิ่มเงินเดือน และมีนายจ้างเพียง 7% ที่ใช้การเพิ่มผลประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ
ต่อไปนี้คือ ตำแหน่งงานที่นายจ้างต้องการมากที่สุดในปี 2012
(Jobs most in demand in 2012) จากการสำรวจนายจ้างมากกว่า 40,000 คน ใน 41 ประเทศ
1. Skilled Trades Workers
2. Engineers
3. Sales Representatives
4. Technicians
5. Drivers
6. Laborers
7. IT Staff
8. Accounting & Finance Staff
9. Chefs/Cooks
10. Management/Executives
ที่นำเรื่องนี้มาเสนอก็เพื่อให้นักบริหารการศึกษาไทย ได้พิจารณาทบทวนนโยบายการศึกษาของไทยในการผลิตคนออกมาป้อนตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) เพราะเป้าหมายการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจใหม่คือการเป็นฐานการตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single market and single production base) ซึ่งการเป็นฐานการผลิตเดียวกัน หมายถึงการมีวัตถุดิบในการผลิต เครื่องจักร เงินลงทุน และที่สำคัญคือแรงงานที่มีทักษะฝีมือในประชาคมเดียวกัน เวลานี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ามีหน่วยงานใดในประเทศไทยทำการศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นระบบแล้วหรือยังว่า เมื่อรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ AEC กันแล้ว ประเทศไทยจะมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือมากขึ้น หรือจะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะฝีมือมากขึ้น เพราะไม่ทราบเหมือนกันว่า การไหลอย่างอิสระในการลงทุน และการไหลอย่างอิสระของแรงงานที่มีทักษะฝีมือในประชาคมเศรษฐกิจ AEC จะไหลเข้าหรือไหลออกจากประเทศไทย
เรื่องการผลิตคนเพื่อป้อนความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตอันใกล้จึงเป็นประเด็นที่น่าห่วงใยเพราะขณะนี้ประเทศไทยก็มีปัญหาในเรื่องความสมดุลในการผลิตแรงงานทักษะฝีมือกับความต้องการของตลาดแรงงานกันอยู่แล้ว เมื่อรวมกันเป็น AEC ใน 3 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องแรงงานทักษะฝีมือเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เพราะเรื่องความสามารถการใช้ภาษาอังกฤษ (English competency) ของคนไทยขณะนี้ อยู่ในระดับน่าเป็นห่วงมาก ข้อมูลจากบริษัทฝึกอบรมภาษาอังกฤษ Education First รายงานว่า ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 42 ได้คะแนน 39.41 ตามหลัง ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 34 ได้คะแนน 44.78 และ ประเทศเวียดนามอยู่อันดับที่ 39 ได้คะแนน 44.32 ทั้งหมดจัดอยู่ในกลุ่มประเทศมีความสามารถต่ำมาก (Very low Proficiency)  ส่วน ประเทศมาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 9 คะแนน 55.54 จัดอยู่ในกลุ่มประเทศมีความสามารถสูง (High proficiency) ไปแล้ว
Nelson Mandela กล่าวว่า “Education is the most powerful weapon which you can use to change the world.” การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงอานุภาพมากที่สุดซึ่งคุณสามารถใช้เปลี่ยนโลกได้
ไม่แน่ใจว่าการศึกษาของประเทศไทย เป็นอะไร เพราะดูเหมือนว่า เด็กไทยยิ่งเรียนยิ่งแย่ลงเรื่อยๆครับ L

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น