วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

ความไว้วางใจ

 If you are good, you are guided by honesty. People who can't be trusted are destroyed by their own dishonesty.Proverbs 11:3

ประธานาธิบดี Thomas Jefferson กล่าวว่า “When a man assumes a public trust he should consider himself a public property.” เมื่อผู้ใดได้รับความไว้วางใจจากสาธารณะ บุคคลผู้นั้นต้องพิจารณาว่าตัวเองเป็นสมบัติสาธารณะ หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า คนที่เข้าไปรับตำแหน่งที่ได้มาจากการที่ประชาชนเขาไว้วางใจเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เช่นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมไปถึงตำแหน่งผู้นำขององค์กร สมาคมต่างๆที่ได้มาจากการเลือกตั้งได้กลายเป็นบุคคลสาธารณะ (Public figure) ไปแล้ว ชีวิตของเขาเป็นเสมือนสมบัติของสาธารณะ ดังนั้นการจะกระทำการใดๆของบุคคลสาธารณะเหล่านี้ย่อมเป็นการสื่อความหมายหรือส่งสัญญาณให้สาธารณะเข้าใจในลักษณะใดลักษณะหนึ่งและมีผลต่อการรับสัญญาณความหมายของคนส่วนใหญ่ซึ่งมีพื้นฐานความแตกต่างกันของความรู้และข้อมูลที่ผู้รับสัญญาณมีอยู่ก่อนหน้าแล้ว การพูด หรือการให้ข้อมูลของบุคคลสาธารณะจึงต้องระมัดระวังอย่าสร้างความเข้าใจหรือจูงให้คนเข้าใจผิด หรือทำให้คนเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง จนทำให้สาธารณะชนเกิดความเข้าใจผิดหรือเกิดการแตกแยกทางความเข้าใจ

            คำพูดโกหกสีขาว (White lies) ที่มีบุคคลสาธารณะบางท่านพูดว่าบางครั้งก็มีความจำเป็นต้องพูดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณะชนนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะการพูดโกหกนั้น ไม่ว่าจะโกหกบนพื้นฐานใด บนเจตนาใด จะเป็นโกหกสีขาว โกหกสีเทา หรือโกหกสีไหนก็ตาม เป็นการโกหกทั้งสิ้น และส่งผลในทางตรงกันข้าม คือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นให้กับสาธารณะชน เพราะเมื่อความจริงถูกเปิดเผยขึ้นมาในภายหลัง ใครจะเชื่อถือคำพูดของผู้ที่พูดโกหกอีก
            มีคำกล่าวว่า “Everyone loses when public goods are exploited for individual gains.” ทุกคนเสียเหมือนกันหมดเมื่อสมบัติสาธารณะถูกใช้เพื่อหาประโยชน์ส่วนตน การที่คนบางคน หรือคนบางกลุ่ม พูดหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเพื่อประโยชน์ของตนหรือของกลุ่มตนจึงเป็นเสมือนการทำลายผลประโยชน์ของสาธารณะเพื่อผลประโยชน์ของส่วนตน นับเป็นโศกนาฏกรรมของสาธารณะ (Tragedy of the commons) ที่มีคนบางคน หรือคนจำนวนไม่กี่คน ทำร้ายคนจำนวนมากด้วยการตักตวงผลประโยชน์จากสมบัติสาธารณะ (Public goods)ไปเป็นประโยชน์ของตนเองหรือของกลุ่มตน (Individual gains)
            ที่นำประเด็นนี้มาเสนอ ไม่มีความประสงค์ไปเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง แต่คิดว่าเรื่องนี้สำคัญเพราะเป็นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างจิตสำนึกสาธารณะของพลเมือง (Civic-minded) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปลูกฝังความถูกต้องทางจริยธรรมให้เด็กและเยาวชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจริยธรรมให้แก่พวกเขาในเรื่องประโยชน์สาธารณะให้รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่พลเมืองที่ดี และรู้สึกละอายต่อบาปถ้าคิดเอาเปรียบสาธารณะประโยชน์ ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยแทบทุกเรื่องมีรากเหง้ามาจากการขาดจิตสำนึกสาธารณะของคนในประเทศ ทำให้คนส่วนหนึ่งตักตวงเอาประโยชน์จากสาธารณะไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ตั้งแต่เรื่องเล็กๆน้อยๆในชีวิตประจำวันเช่นเรื่องการขับรถ การจอดรถเพื่อความสะดวกของตนไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆเช่นเรื่องการครอบครองที่ป่าไม้ไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ และปัญหาคอร์รัปชั่นทุกระดับในสังคมไทย
            ประชาชนเลือกบุคคลสาธารณะเข้ามารับตำแหน่งเพราะไว้วางใจในตัวเขาว่าเป็นผู้ที่สามารถไว้วางใจได้ และมอบให้เขาเป็นผู้นำในการทำงานเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีของสังคม (Well-being society)
            การที่บุคคลสาธารณะจะสร้างความสำเร็จในการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับสังคมได้นั้น เขาต้องสร้างสังคมนั้นให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพ (Working collectively) เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วม (Shared objectives) ที่สังคมนั้นต้องการ แต่การจะทำให้งานบรรลุถึงความสำเร็จได้นั้น การสร้างความไว้วางใจเป็นเรื่องสำคัญในการปรับฐานความเชื่อ (Align beliefs) เป้าหมาย (Goals) และสิ่งอื่นๆให้ตรงกัน ดังนั้น ความไว้วางใจกันของคนในสังคมที่กำลังต้องร่วมมือกันทำงานจึงเป็นปัจจัยความสำเร็จหลัก (Key success factor) สังคมทุกภาคส่วนต้องการความมั่นใจว่าความพยายาม ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความทุ่มเทของตนจะได้รับการพิจารณาอย่างยุติธรรม (Fair) มีความจริงใจ (Authentic) ต่อกัน และผลที่ได้จากความร่วมมือกันทำงานจะมีความยั่งยืน(Sustain) และมุ่งไปสู่ผลประโยชน์ที่เป็นส่วนรวม (Collective goods) ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง หรือ กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ความร่วมมือถึงจะสำเร็จได้ และความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อผู้นำได้สร้างความไว้วางใจบนพื้นฐานความจริงเท่านั้น
ความไว้วางใจ เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการเช่นระดับการมองโลกในแง่ดี (Degree of optimism) ถ้าคนในสังคมมีทัศนะเป็นบวก (Positive outlook) จะทำให้สังคมนั้นมีโอกาสสร้างความไว้วางใจได้ง่ายกว่า เพราะ คนที่มองโลกในแง่ดี จะมีแนวโน้มในการไว้วางใจผู้อื่นมากกว่า ขงจื้อกล่าวว่า “It is more shameful to distrust our friends than to be deceived by them.” เป็นเรื่องน่าละอายใจมากกว่าที่ไม่ไว้วางใจเพื่อนของเรามากกว่าการจะถูกเพื่อนหลอกลวง แต่ถ้าคนในสังคมถูกผู้นำใส่ข้อมูลชี้นำที่ไม่ใช่ความจริงที่แท้จริง หรือเป็นความจริงที่ไม่ครบถ้วน คนจะมีความไว้วางใจกันน้อยลง ขาดความเชื่อถือซึ่งกันและกัน สังคมย่อมขาดความร่วมมือกันตามมา
บุคลิกภาพ (Personality) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สามารถมีอิทธิพลต่อการสร้างความไว้วางใจ คนเรามีความโน้มเอียงล่วงหน้า (Predispose) ในการมองโลกในแง่ดีก่อน แต่เมื่อได้ถูกชักจูงให้เข้าใจคลาดเคลื่อนจากผู้นำที่เขาไว้วางใจ บุคลิกภาพของผู้นำที่เขาไว้วางใจ จะเปลี่ยนไปเป็นบุคลิกภาพใหม่ คือบุคลิกภาพที่ไม่น่าไว้วางใจอีกต่อไป คงคล้ายกับนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะที่เป็นเด็กที่มีบุคลิกภาพที่คนเชื่อถือในตอนแรก แต่ภายหลังกลายเป็นเด็กที่มีบุคลิกภาพที่คนไม่เชื่อถือ
ความสัมพันธ์ทางสังคม (Social interaction) มีบทบาทสำคัญในเรื่องความไว้วางใจของคนในสังคมด้วยเช่นกัน ความสัมพันธ์ในสังคมจะช่วยพัฒนาระดับความไว้วางใจกันในสังคมให้สูงขึ้น จะสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะแก่การสร้างความร่วมมือกันมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางสังคมสร้างความไว้วางใจและชักนำ (Induce) ให้เกิดความร่วมมือกันด้วยการขจัดความกลัวออกไป แต่เมื่อใดที่ความไว้วางใจสั่นคลอนเพราะรู้ว่าถูกหลอกให้เชื่อ ความสัมพันธ์ทางสังคมจะสั่นคลอนตามไปด้วย ความกลัวจะเข้ามาแทรก ถ้าการคบหาสมาคมกันไม่สนิทใจ จะมีความร่วมมือกันในการสร้างผลิตผลให้มากขึ้นได้อย่างไร ในสิ่งแวดล้อมที่มีความไว้วางใจกันสูง ผลิตผล (Productivity) จะสูงขึ้น และในทางกลับกันในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถไว้วางใจกันได้ผลิตผลย่อมตกต่ำลง
จากการศึกษาพบว่าลูกจ้างที่ไว้วางใจนายจ้างมีความสุขในการทำงานมากขึ้น และเป็นผลทำให้ผลิตผลเพิ่มขึ้น ในสังคมประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน ถ้าสังคมมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน คนในสังคมจะมีความสุขในการทำมาหากิน ผลิตผลโดยรวมของประเทศชาติย่อมเพิ่มขึ้น แต่เมื่อใดที่ประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจ ประชาชนไม่มีความสงบสุขทางจิตใจ ย่อมมีผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน ผลิตผลย่อมลดลง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงตามไปด้วย
จากการสำรวจของ World values survey พบว่าในสังคมที่มีความไว้วางใจกันในระดับสูงและมีความเป็นอยู่ดี สังคมจะมีค่านิยมเรื่องความอดทน (Tolerance) สูง สังคมที่มีรายได้ประชาชาติสูง จะเป็นสังคมที่มีเสรีภาพมากกว่า และประชาชนมีความต้องการเข้าร่วมในกิจกรรมของรัฐบาลหรือกิจกรรมของส่วนรวมมากขึ้น ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าค่านิยมทางสังคมไทยอยู่ในระดับใด ในเวลานี้
ระดับความพึงพอใจ (Level of satisfaction) ของประชาชนย่อมขึ้นอยู่กับ ความต้องการของประชาชนถูกตอบสนองมากน้อยเพียงใด ความพึงพอใจของประชาชน เป็นเครื่องชี้วัดว่าผู้นำมีความชอบธรรม (Legitimate) ในสายตาประชาชนหรือไม่ การทำให้ประชาชนพึงพอใจคือการทำสิ่งที่ได้รับปากกับประชาชนไว้และสามารถทำตามที่ได้รับปากไว้ให้สำเร็จ
            Lao Tzu บอกว่า “He who does not trust enough, will not be trusted.” คนที่ไม่ไว้วางใจคนอื่นอย่างเพียงพอ เป็นคนที่ไม่น่าไว้วางใจ
ถ้าผู้นำไม่ไว้วางใจประชาชน ไม่กล้าบอกความจริงทั้งหมดให้ประชาชนชนทราบ ประชาชนก็จะไม่ไว้วางใจเขาเช่นกันL

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น