วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เด็กรุ่นดิจิตอล

“An intelligent person aims at wise action, but a fool starts off in many directions. Foolish children bring grief to their fathers and bitter regrets to their mothers.” Proverbs 17:24-25
เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1ทั่วประเทศไทยที่กำลังได้รับเครื่อง Tablet จากโครงการประชานิยมของรัฐบาลในขณะนี้กำลังเติบโตขึ้นเป็นชาวดิจิตอล (Digital natives) ของโลกในอนาคต เพราะเด็กนักเรียนไทยเหล่านี้ กำลังเติบโตในสิ่งแวดล้อมดิจิตอลที่คล้ายคลึงกันกับเด็กนักเรียนในประเทศอื่นๆทั่วโลกที่พ่อแม่กำลังสร้างสิ่งแวดล้อมดิจิตอลในการเรียนรู้ให้กับลูกของตนให้มีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเต็มที่
สิ่งที่พ่อแม่ ครู และนักการเมืองไทยไม่ได้คิดคือ พัฒนาการเรียนรู้ทางสมองของเด็กในรุ่นดิจิตอลนี้จะแตกต่างจาก พัฒนาการเรียนรู้ทางสมองของเด็กในรุ่นก่อนๆ เพราะ พัฒนาการเซลสมองของเด็กรุ่นดิจิตอลยุคนี้มีลักษณะเน้นไปที่กิจกรรมเฉพาะเจาะจงมากกว่าพัฒนาการเซลสมองของเด็กในยุคก่อน ส่วนใหญ่เซลสมองของเด็กในยุคดิจิตอลจะเน้นไปในการหวังผลระยะสั้น
Gary Small ศาสตราจารย์ด้านจิตเวช แห่งสถาบัน Semel Institute มหาวิทยาลัย UCLA ให้ความเห็นว่า คนเราตั้งแต่เกิดจนถึงวัยรุ่น ประมาณ 60% ของการเชื่อมโยงระหว่างเซลสมอง (Connections between brain cells) จะถูกทิ้งไปคล้ายกับเส้นทางเดินในป่าที่ถูกใช้เดินเป็นประจำก็จะปรากฏเป็นทางเดินที่ชัดเจน ส่วนเส้นทางเดินที่ไม่ค่อยได้ถูกใช้เดินเป็นประจำจะค่อยๆเลือนและจางหายไปในที่สุด พัฒนาการของเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเซลสมองจำนวนมากมายของมนุษย์ก็เป็นเช่นเดียวกัน เส้นทางเซลสมองเชื่อมโยงที่ถูกใช้บ่อยๆเป็นประจำจะมีความแข็งแรง ส่วนเส้นทางเชื่อมโยงของเซลสมองที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็จะค่อยๆเสื่อมและหายไปในที่สุด
เด็กรุ่นดิจิตอลนี้ มีโอกาสติดต่อเชื่อมโยงกับโลกกว้างตั้งแต่วัยเด็ก มีข้อมูลมากมายที่รับรู้เข้ามาในสมองของเด็กรุ่นดิจิตอลซึ่งสมองจะมีพัฒนาการคัดเลือกข้อมูลจำนวนมากอย่างมีความฉับไวในการรับรู้ และสามารถทำงานได้หลายๆหน้าที่ (Multi-tasking) ในเวลาเดียวกัน แต่มักจะเป็นข้อมูลที่ถูกใช้เพียงระยะเวลาสั้น ซึ่งแตกต่างจากพัฒนาการสมองของเด็กในอดีตที่ได้รับข้อมูลน้อยกว่าและถูกบังคับให้สมองมีพัฒนาการที่จำเป็นต้องใช้ความจำระยะยาว
Paul Thompson ศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาและจิตเวช คณะแพทย์ศาสตร์ UCLA กล่าวว่าส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า Hippocampus ที่เกี่ยวข้องกับความจำระยะยาวมีความแตกต่างเล็กน้อยจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่หลายด้าน (Multi-tasking) ที่อยู่ส่วนหน้าของสมอง เด็กรุ่นดิจิตอลจะมีความสามารถทางสมองส่วนที่ทำหน้าที่หลายด้านได้ดีกว่า แต่ความสามารถของสมองในการทำหน้าที่หลายๆด้านพร้อมกันนี้ อาจจะมีผลต่อสมองส่วนที่เป็นความจำระยะยาว (Long-term memory) ในอนาคตก็ได้ คนในอดีตต้องใช้การเขียนจดบันทึกและจำ สมองของคนรุ่นก่อนจึงใช้ส่วนที่เป็นความจำระยะยาวมาก แต่เด็กในรุ่นดิจิตอลนี้แทบไม่ต้องใช้สมองส่วนที่เป็นความจำระยะยาวเลย เพราะเด็กรุ่นดิจิตอลจะใช้คอมพิวเตอร์จำแทนไปเกือบทั้งหมดแล้ว ดังนั้นสมองส่วนที่เป็นความจำระยะยาวของเด็กรุ่นดิจิตอลนี้จึงมีการพัฒนาการทางสมองที่แตกต่างไปจากสมองของเด็กในรุ่นก่อนๆ
เด็กรุ่นดิจิตอล มีความสามารถในการตอบสนองสิ่งเร้า (Stimuli) หลายๆสิ่งในเวลาเดียวกันได้อย่างน่าทึ่ง เช่น สามารถนั่งทำการบ้าน โดยเปิดโทรศัพท์มือถือดู face book และเปิดคอมพิวเตอร์ฟังเพลงจาก U tube ไปพร้อมๆกับตักขนมใส่ปาก ความสามารถในการตอบสนองสิ่งเร้าที่กระตุ้นแตกต่างกันในเวลาเดียวกันนี้เรียกว่า Continuous partial attention หรือทางจิตวิทยาเรียกว่า Complex multi-tasking ทำให้เด็กรุ่นดิจิตอลมีสมาธิแบบครึ่งๆอย่างต่อเนื่องในหลายเรื่องพร้อมๆกัน (Continuously semi-focused on many things at once) ได้ แต่อย่าลืมว่าคุณภาพในการมีสมาธิ (Quality of focus) จะลดลงเช่นกันเมื่อมีจำนวนสิ่งเร้าเข้ามากระตุ้นมากขึ้น เด็กรุ่นดิจิตอลจึงมีแนวโน้มเป็นคนสมาธิสั้น
ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์อยากชวนให้ผู้บริหารการศึกษาไทยและนักการเมืองไทยได้ศึกษาเรื่องพัฒนาการทางสมองของเด็กรุ่นดิจิตอลด้วย เพราะเรื่องพัฒนาการทางสมองของเด็กรุ่นดิจิตอลนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้เด็กรุ่นดิจิตอลที่กำลังโตขึ้นมาได้เรียนในอนาคตอันใกล้ เพราะเราไม่สามารถปล่อยให้เด็กรุ่นดิจิตอลเรียนด้วยตำราเรียนแบบเดิมและสอนโดยครูแบบเดิมๆได้อีกต่อไปแล้ว ในเวลา 15-20 ปีข้างหน้าโน้น เด็กรุ่นดิจิตอลนี้จะเรียนหนังสือจบออกมาทำงานเป็นแรงงานพัฒนาประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคตจะต้องเปลี่ยนจากการใช้แรงงานและทักษะด้านเดียวไปสู่การใช้แรงงานและทักษะหุ่นยนต์ (Robot) คำถามคือ เราจะเตรียมเด็กรุ่นดิจิตอลของไทยอย่างไรให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์ทำงานในอนาคต

นี่คือภาพโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศจีน ที่หนุ่มสาวชาวจีนนับพันคนกำลังยืนเรียงแถวยาวเหยียดเป็นร้อยๆเมตรทำงานตามสายพานลำเลียงที่ผ่านหน้าพวกเขา ซึ่งเป็นภาพที่คนไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะประเทศไทยมีโรงงานแบบเดียวกันนี้นับพันโรงในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งทั่วประเทศ

นี่คือภาพโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ใช้คนทำงานเพียงไม่กี่คนควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์(Robot) ไม่กี่ตัวที่สามารถทำงานแทนคนงานเป็นร้อยๆคนได้และนับวันจำนวนเจ้าหุ่นยนต์หน้าตาแปลกๆพวกนี้ก็เกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อดีของเจ้าหุ่นยนต์หลายรูปแบบ หลายขนาดพวกนี้ คือมันทำงานได้รวดเร็วมาก และงานที่มันทำทุกชิ้นถูกต้องแม่นยำ เรียบร้อยสวยเป๊ะยิ่งกว่าวุฒิศักดิ์เสียอีก เจ้าหุ่นยนต์พวกนี้ไม่ขอหยุดพักเข้าห้องน้ำ ไม่ดื่มกาแฟ ไม่ลาพักร้อน ไม่ลาคลอด ไม่ขอเบิกเงินเดือนล่วงหน้า ไม่ลาไปกู้เงินธนาคาร ไม่ลาหลบหน้าเจ้าหนี้ พวกมันทำงานได้ 3 กะ ตลอด 365 วัน พวกมันไม่สังกัดสหภาพแรงงานใดๆทั้งสิ้นและไม่รู้จักศาลแรงงาน
ถ้านักการเมืองไทยคิดแต่จะขึ้นค่าแรงงานไปเรื่อยๆเพื่อเอาคะแนนเสียงกันต่อไป อนาคตอีกไม่นานก็ไม่ต้องมีคณะกรรมการไตรภาคีมานั่งประชุมเถียงกันว่าจะให้เขตไหนจังหวัดไหนขึ้นค่าแรงงานวันละกี่บาทให้เสียเวลาอีกแล้วครับ ยิ่งขึ้นค่าแรงงานมากเท่าไหร่พวกหุ่นยนต์ยิ่งชอบมากครับ เพราะจะได้ย้ายมาทำงานที่เมืองไทยเร็วขึ้น
โรงงานหุ่นยนต์แบบนี้ในอนาคตอีกไม่นานจะเกิดแทนที่โรงงานแบบเดิมที่มีอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เด็กไทยรุ่นดิจิตอล จะทยอยเรียนจบออกมาหางานทำพอดี
จึงอยากเรียนถาม ผู้บริหารการศึกษาไทย และนักการเมืองไทยว่า ท่านได้คิดเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กรุ่นดิจิตอลของไทยหรือยังครับ ถ้าท่านไม่ได้เตรียมสอนเด็กรุ่นดิจิตอลไทยให้ออกมาทำงานกับเจ้าหุ่นยนต์พวกนี้ในอนาคต แล้วเด็กรุ่นดิจิตอลไทยที่เรียนจบออกมาในอนาคตจะไปทำงานกับใครครับ?
Albert Einstein กล่าว่า “It has become appallingly obvious that our technology has exceeded our humanity.” มันได้ปรากฏเป็นที่ชัดเจนอย่างน่าสยดสยองแล้วว่า เทคโนโลยีของเราได้แซงหน้าความเป็นมนุษยชาติของเราไปแล้วL

แหล่งข้อมูล: จากFORTUNE และจาก Associated Press
Hippocampus เป็นส่วนหนึ่งของ limbic system ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำระยะยาว และการกำหนดทิศทางในที่ว่าง


 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น