วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สิ่งแวดล้อมกำลังเลวลง

 “เพราะว่า ประชาชาติกับประชาชาติ และอาณาจักรกับอาณาจักรจะต่อสู้กัน ทั้งจะเกิดกันดารอาหารและแผ่นดินไหวในที่ต่างๆ”      มัทธิว 24:7
ไม่นานมานี้ Brad Plumer ได้เขียนในลงใน The Washington Post เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของโลกที่เลวลง วันนี้ผมขอนำเรื่องที่ได้อ่านจากบทความที่เขียนบางส่วนมาแบ่งปันท่าน
นักนิเวศวิทยาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า มนุษย์กำลังขุดใช้ทรัพยากรธรรมชาติในอัตราที่ไม่ยั่งยืน เรากำลังทำร้ายระบบนิเวศน์ และ เชื่อกันโดยทั่วไปว่า จะมีผลกระทบทางลบต่อมนุษย์ แต่ในเวลาเดียวกัน มนุษย์กลับมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน มนุษย์มีชีวิตยืนยาวขึ้น สุขภาพดีขึ้น และมีชีวิตที่ร่ำรวยมากกว่าแต่ก่อน
McGill’s Ciara Raudsepp-Hearne และคณะศึกษาถึงความแตกต่างที่ไม่สมดุลกันที่เกิดขึ้นนี้ โดยตั้งสมมุติฐานหลัก 4 ประการเพื่อศึกษาความแตกต่างที่ไม่เท่าเทียมกัน และผมขอเชิญท่านพิจารณาข้อคิดเห็นต่อไปนี้
1.ชีวิตมนุษย์อาจจะไม่ได้ดีขึ้นจริง
บางทีเราอาจจะไม่ได้สังเกตเห็นการเสื่อมถอยของระบบนิเวศน์ที่ให้ผลกระทบด้านร้ายที่เกิดขึ้นต่อเรา เนื่องจากว่า เป็นการยากที่จะพิสูจน์ด้วยข้อมูลและความรู้ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ความจริงก็คือเรากำลังประสบกับวินาศภัยที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก สิ่งที่เราเริ่มตระหนักคือเราทำให้โลกร้อนขึ้น ด้วยการปล่อยมลพิษคาร์บอนที่เกิดจากการบริโภคอย่างละโมบของเรา ในปี 2010 สหรัฐอเมริกาประเทศเดียวปล่อย คาร์บอน 1.5 พันล้านตัน และประเทศจีนปล่อย คาร์บอนอีก 2.2 พันล้านตัน สมทบขึ้นสู่บรรยากาศ ความจริง ดรรชนีการพัฒนามนุษย์ได้แสดงให้เราเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในด้าน อายุขัย การศึกษา ความยากจน และโรคต่างๆ บางที อาจจะถึงเวลาที่เราต้องคิดทบทวนอย่างมีปัญญาอีกครั้งถึง สิ่งที่เราบริโภคในปัจจุบัน กับความทุกข์ยากลำบากของลูกหลานเราในอนาคต
2. ความก้าวหน้าในการผลิตอาหารมีความสำคัญมากกว่าสิ่งอื่นใด
ความก้าวหน้าทางเกษตรอุตสาหกรรม ทำให้การทำเกษตรกรรมสมัยใหม่เพิ่มผลผลิตโดยการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงอย่างมหาศาล มีความห่วงใยกันอย่างกว้างขวางว่า มันอาจจะทำให้ระบบธรรมชาติของไนโตรเจนเสียไป และอาจจะทำให้แหล่งน้ำเสื่อมลงด้วย การที่โลกมีประชากรเพิ่มขึ้นถึง 7 พันล้านคน ทำให้เราต้องเลี้ยงประชากรโลกด้วยอาหารหลากหลายชนิด แต่ความห่วงใยของผมคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอาหาร ในความเป็นจริง ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมแก่มนุษยชาติ ในขณะที่มีอาหารเหลือจำนวนมากมายที่ไม่ได้ถูกแตะต้องเลยในตู้เย็นตามบ้านเรือน มีประชากรหลายล้านคนไม่มีอาหารจะกิน คำถามคือ “ผลประโยชน์ที่เราได้รับในปัจจุบันคุ้มกับความเสื่อมของสิ่งแวดล้อมโลกที่จะเกิดขึ้นในหลายศตวรรษหน้าหรือไม่?
3. เทคโนโลยีทำให้เราลดการพึ่งพาระบบนิเวศน์
เราสามารถปลูกพืชให้ได้ผลผลิตมากขึ้นในเนื้อที่ดินที่น้อยลงและสามารถใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าในการทำให้ชีวิตของเราอยู่อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ยิ่งเรามีความสามารถในการคิดทำเทคโนโลยีใหม่ๆเพื่ออำนวยความสุขสบายให้กับตนเองมากขึ้น เรายิ่งมองข้ามความจำเป็นในการพึ่งพาระบบนิเวศน์ธรรมชาติ เราอาจจะมีความสุขในการใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าในการเพิ่มความเร็วในการสื่อสารแต่เราก็เพิ่มความเข้าใจผิดกันและความไม่ไว้วางใจกันด้วย ถ้าเรายังใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่อไปโดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในอนาคตที่ต้องจ่ายให้กับผลกระทบทางด้านร้ายของระบบนิเวศน์ธรรมชาติ อะไรคือความรับผิดชอบของเราต่อลูกหลาน?
4. ผลกระทบอันเลวร้ายของความเสื่อมในระบบนิเวศน์ยังมาไม่ถึง
เราได้ปล่อยปริมาณคาร์บอนในบรรยากาศมากขึ้นและมากขึ้นโดยตลอด แต่มันอาจใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเห็นผลกระทบเกิดขึ้นจริงอย่างเต็มที่กับการใช้ชีวิตของเราในอนาคต หนี้ของระบบนิเวศน์ยังไม่ถึงเวลาที่ต้องชดใช้ นักวิจัยหลายท่านให้ความเห็นว่า ผลกระทบของความเสื่อมถอยด้านสิ่งแวดล้อมดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นอย่างเชื่องช้า แต่มันอาจจะมีจุดหักเหเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด และอย่างรวดเร็ว ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เกิดขึ้น ผมเข้าใจว่าเราได้ประสบกับอุณหภูมิที่สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อนนี้ แต่ขอให้รอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นในฤดูร้อนปีหน้า
Samuel Wilson กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยเลยว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจะสร้างปัญหาให้เราต่อไปในอนาคต”
และผมเห็นด้วยกับเขาทั้งหมด ถ้าเรายังทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของเราต่อไป เราจะต้องพบกับโรครุ่นใหม่ในอนาคตที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม
ผมอธิษฐานขอพระเจ้าได้โปรดเมตตาต่อความโง่เขลาของเราด้วย J อาเมน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น