วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558

Baltimore เดือด




“Don’t accuse a person for no good reason; don’t accuse someone who has not harmed you.”        Proverbs 3:30

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งของเมือง Baltimore ประเทศสหรัฐอเมริกากลายเป็นทะเลเพลิง เมื่อฝูงชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่มสาวและชาวบ้านที่เป็นคนผิวสีออกมาอาละวาด ตามท้องถนน จุดไฟเผา ทุบทำลายรถยนต์ตำรวจ รถยนต์ชาวบ้าน วางเพลิงร้านค้า ทุบทำลายกระจกสำนักงานร้านค้า หยิบฉวยเอาสินค้าในร้านค้า ขว้างปาก้อนหิน พยายามทำร้ายตำรวจ จนทั้งเมืองโกลาหลวุ่นวาย ทำให้ผู้ว่าการรัฐต้องใช้อำนาจประกาศภาวะฉุกเฉิน (State of emergency) และประกาศห้ามคนออกนอกบ้านในยามวิกาล (Curfew) ระหว่างเวลา 22.00 น. ถึงเวลา 05.00 น. เพื่อควบคุมสถานะการณ์ และให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (The National Guard) เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับตำรวจท้องถิ่นเพื่อยุติเหตุจลาจลโดยเร็ว
 
ความไม่พอใจของคนผิวสีในเมือง Baltimore เกิดจากกรณีที่ตำรวจไล่จับนาย Freddie Gray คนผิวสี ที่พอเห็นตำรวจก็หันหลังวิ่งหนี ทำให้ตำรวจวิ่งไล่จับและตะครุบตัวได้ในที่สุด ใส่กุญแจมือ และลากไปขังในรถตู้ของตำรวจ เมื่อนาย Freddie Gray ร้องดิ้นโวยวายใหญ่ ตำรวจเลยใส่กุญแจข้อเท้าให้อีกชุด เพื่อไม่ให้ดิ้น ซึ่งนาย Freddie Gray ได้พยายามขอร้องตำรวจให้เรียกรถพยาบาลเพราะรู้สึกเจ็บต้องการไปโรงพยาบาล แต่ตำรวจไม่สนใจ จนเวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง ถึงได้เรียกรถพยาบาลมารับไปโรงพยาบาล แต่ในเวลาต่อมานาย Freddie Gray ได้เสียชีวิตลงเพราะกระดูกสันหลังได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง (severe spinal injury) ทำให้คนผิวสีในเมือง Baltimore โกรธแค้นและออกมารวมตัวกัน ทำลายสิ่งของและจุดไฟเผา อาคารร้านค้า จนเมืองจลาจลวุ่นวาย
 
พอคนผิวสีออกมาอาละวาดตามถนนมากขึ้น ตำรวจต้องถอนกำลังที่ประจำอยู่ตามย่านธุรกิจ ศูนย์การค้า ไปช่วยคุมพื้นที่ที่คนผิวสีประจันหน้ากับตำรวจ เลยเปิดโอกาสให้คนผิวสีบุกทุบกระจกร้านค้าเข้าไปหยิบฉวยสินค้าเสื้อผ้า อาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค เอากลับไปใช้ที่บ้านตามใจชอบ คนผิวสีวัยรุ่นบุกร้านขายเหล้ากวาดเอาเหล้าเบียร์ ออกมาแจกจ่ายบริโภคกัน พอดื่มได้อารมณ์ฮึกเหิม ก็พากันลุยจุดไฟเผาบ้านเผาเมืองซะเลย จนทางการต้องประกาศให้พ่อแม่ผู้ปกครองไปตามหาและพาลูกหลานกลับเข้าบ้านโดยด่วน เพราะเห็นวัยรุ่นบางกลุ่มใส่กางเกงฟอร์มของโรงเรียนออกมาร่วมสร้างผลงานตามถนนกับเขาด้วย เนื่องเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้กระสุนยาง และจับพวกก่อความวุ่นวายเข้าห้องขังแล้ว


คนผิวสีมากกว่า 2,500 คน มาร่วมงานพิธีศพของนาย Freddie Gray ที่โบสถ์คริสตศาสนานิกายแบ๊บติส ท่ามกลางความรู้สึกเศร้าสลดใจ มีผู้นำของคนผิวสี ทั้งนักการเมือง และ นักการศาสนา ที่มีชื่อเสียงหลายท่านมาร่วมงานและกล่าวคำไว้อาลัย ทำให้งานพิธีศพใช้เวลานานถึง 2 ชั่วโมง เมื่อทำพิธีฌาปนกิจร่างนาย Freddie Gray เสร็จแล้ว ความรู้สึกไม่พึงพอใจที่คุกรุ่นอยู่ในใจของคนผิวสีกลับกระพือมากขึ้น ความรู้สึกว่าชีวิตของผิวสีไม่มีความหมาย เริ่มแสดงออกสื่อเป็นตัวอักษรตามกำแพง เช่น ชีวิตคนดำก็มีความค่า (Black Lives Matter) และ ทุกชีวิตมีค่า (All Lives Matter)
 
 

ความจริงตำรวจก็ได้รับทราบข้อมูลความรู้สึกไม่พอใจของคนผิวสี ที่สื่อสารถึงกันในระหว่างพิธีศพว่ามีกลุ่มแก็งค์คนผิวสี  3 กลุ่มกำลังประสานกันว่าจะรวมตัวกันออกมาเอาคืนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างไร แต่ตำรวจไม่ได้คิดว่าจะเอาคืนกันรุนแรงขนาดนี้ ผลจากการปะทะกันระหว่างคนผิวสี กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ตำรวจบาดเจ็บไม่น้อยกว่า 15 คน และต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 2 คน
 
เรื่องการตายของนาย Freddie Gray ทางตำรวจ FBI และ เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมจากส่วนกลางกำลังเข้ามาสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นที่อาจมีส่วนพัวพันทำให้ผู้ต้องหาตายในระหว่างการจับกุม ซึ่งขณะนี้ได้สั่งพักงานเจ้าหน้าตำรวจ 6 นายไปแล้ว ต้องคอยดูว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีความโปร่งใสและเป็นธรรมอย่างไรต่อไป
 
คนผิวสีในประเทศสหรัฐอเมริการู้สึกว่า ไม่มีความเป็นธรรม ไม่มีความน่าเชื่อถือในสังคม เหมือนกลับไปสู่ยุคสมัยของสาธุคุณ Martin Luther Kings ที่เรียกร้องขอเสรีภาพและความเสมอภาคให้กับคนผิวสี ซึ่งความรู้สึกของคนผิวสีที่ไม่ได้รับความเสมอภาคในการปฏิบัติจากสังคมอเมริกันกำลังขยายตัวกว้างกระจายไปทั่วประเทศในเวลานี้ ทั้งๆที่ประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เป็นคนผิวสี
 
ครอบครัวของนาย Freddie Gray ผู้ตายรู้สึกตกใจที่การตายของเขาเป็นสาเหตุให้เมืองเกิดการจลาจลทำให้มีความเสียหายเกิดขึ้นมากมาย และได้ขอร้องให้ยุติการจลาจลโดยเร็ว และขอให้ใช้แนวทางสันติวิธีแทน
 
ที่นำเรื่องการจลาจลที่เมือง Baltimore ประเทศสหรัฐอเมริกา มาเสนอ เพื่อเป็นการเรียนรู้ร่วมกันว่า ประเทศสหรัฐอเมริกา มีปัญหาสังคม ที่มีความเหลื่อมล้ำทางฐานะทางเศรษฐกิจ และฐานะทางสังคมอยู่มากมาย แม้ประเทศสหรัฐอเมริกาจะทำตัวและประกาศว่า เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย มีเสรีภาพ มีความเท่าเทียมกัน และพยายามกดดันให้ประเทศอื่นๆทั่วโลกต้องมีประชาธิปไตยเหมือนตน แต่เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่เมือง Baltimore นี้ เป็นความจริงที่สะท้อนให้เห็นว่า การมีประชาธิปไตย ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม คนจนของประเทศสหรัฐอเมริกานับหมื่น นับแสนคนไม่มีบ้าน ต้องซุกหัวนอนตามซอกตึก ตามสวนสาธารณะ มีให้เห็นทั่วไปตามเมืองใหญ่ๆทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา

ประชาธิปไตย ไม่ได้ช่วยป้องกันให้คนรวยมีโอกาสเอาเปรียบคนจนมากขึ้น และประชาธิปไตยอาจทำให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาเอง เป็นตัวอย่างของความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และความมั่งคั่ง จากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ Emmanuel Saez  และ Gabriel Zucman พบว่า ตั้งแต่ปี 1930 ซึ่งเป็นปีที่โลกเจอวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง (The Great Depression) มาจนถึงช่วงปี 1970 ประเทศสหรัฐอเมริกามีการกระจายความมั่งคั่งได้ค่อนข้างจะดีในช่วงปีต้นๆ แต่ในช่วงปีหลังๆมานี้ การกระจายความมั่งคั่งเริ่มมีลักษณะเป็นรูปตัว U คือ เริ่มมีความแตกต่างที่ไม่เท่าเทียมกัน (Wealth inequality) มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นลักษณะความร่ำรวยมากกระจุกอยู่ในคนกลุ่มน้อย แต่ความจนมากกระจายอยู่ในคนกลุ่มใหญ่ คนอเมริกันที่ร่ำรวยสูงสุดจำนวนเพียง 0.1 เปอร์เซนต์ มีความร่ำรวยเพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซนต์ในปี  2012 จากที่เคยเป็นเพียง 7 เปอร์เซนต์ในช่วงปลายปี 1970 และกลุ่มคนรวยมากสุดของสหรัฐอเมริกาจำนวนเพียง 0.1 เปอร์เซนต์นี้ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 160,000 ครอบครัวเท่านั้นเอง แต่ทรัพย์สินของบรรดาอภิมหาเศรษฐีจำนวน 160,000 ครอบครัวนี้ มีมูลค่าเท่ากับทรัพย์สินของกลุ่มคนอภิมหาจนของสหรัฐอเมริกาจำนวนถึง 145,000,000 ครอบครัวรวมกัน

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่ากลุ่มคนสุดจะยากจนมากๆของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวสี จะมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบากมาก มีฐานะทางสังคมที่ด้อยกว่า มีความคับแค้นใจที่เห็นความมั่งมีมากมากและความสุขสบายของคนผิวขาว กับความไม่มีมากมากและความทุกข์ยากของคนผิวดำ ในชีวิตประจำวันของพวกเขา และยังมองไม่เห็นความหวังอะไร ที่จะทำให้สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกเขาดีขึ้น

          เหตุการณ์การก่อจลาจลของคนผิวสีใน Baltimore ครั้งนี้ อาจจะเป็นเพียงปลายยอดภูเขาน้ำแข็งที่เริ่มโผล่เหนือผิวน้ำ ข้างใต้น้ำลึกยังมีปัญหาก้อนใหญ่มหึมาซ่อนอยู่ และเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจ เพราะประเทศไทยอยู่ในกระแสเศรษฐกิจแบบเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา และบางทีประเทศไทยอาจจะเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะประเทศไทยอาจจะมีอภิมหาเศรษฐีจำนวนไม่ถึง 100 ครอบครัว แต่ครอบครองทรัพย์สินจำนวนมากกว่าทรัพย์สินของคนจนมากมากในประเทศไทย 10 ล้านคนรวมกันก็ได้ และถ้าเราไม่ได้ทำการแก้ไขให้ช่องว่างความแตกต่างกันที่ห่างกันมากๆของความมั่งคั่งของประชากรให้ดีขึ้น เหตุการณ์แบบ Baltimore Model อาจเกิดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ได้

Bob Marley กล่าวว่า The greatness of a man is not in how much wealth he acquires, but in his integrity and his ability to affect those around him positively.” ความยิ่งใหญ่ของคนไม่ได้อยู่ที่เขามีความมั่งคั่งเท่าไหร่ แต่อยู่ที่ความสัตย์ซื่อ และความสามารถของเขาที่มีผลในทางที่ดีต่อคนที่อยู่รอบๆตัวเขา

          Mahatma Gandhi กล่าวว่า It is health that is real wealth and not pieces of gold and silver.” ความมั่งคั่งที่แท้จริงคือสุขภาพ ไม่ใช่เงินและทอง

 

แหล่งข้อมูล: Associated Press; Juliet Linderman and Jeff Horwitz

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านเป็นเพื่อนทางความคิด และ

ขอบคุณที่ช่วยแนะนำให้เพื่อนมาเยี่ยม


สมชัย ศิริสุจินต์

ปล. ผมมี page ใน Facebook ชื่อ kiddee ว่างๆเชิญเยี่ยมด้วยครับ

https://www.facebook.com/suntivaja

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น