วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พัฒนาการทีม

“Being lazy will make you poor, but hard work will make you rich.”     Proverbs 10:4

เพิ่งเขียนเรื่องคนไทยไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นทีมไปได้ไม่กี่วัน ก็เกิดเรื่องนักกีฬาแบดมินตันไทยไปไล่ตีกันเองในสนามแข่งขันที่ต่างประเทศให้คนต่างชาติเห็นเป็นขวัญตาจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเพราะเหตุการณ์ไล่ชกต่อยกันในสนามแข่งขันแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาแบดมินตันระดับโลก จึงเป็นเรื่องค่อนข้างร้ายแรงของสมาคมแบดมินตันไทย และเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนไทยว่า เราควรจะรู้จักรักกันให้มากกว่านี้

การสร้างทีมไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะคนแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน และความคิดของคนไม่ได้หยุดนิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นการจะสรรหาคัดเลือกคนให้มาร่วมทำงานในทีมงานจึงต้องพิจารณาให้ดีเพราะ

Not everyone will take the journey.
คนแต่ละคนมีจุดหมายของตนเอง และเป็นจุดหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นจุดหมายของทีมงาน อาจจะไม่ใช่จุดหมายของเขา จึงไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องร่วมเดินทางไปกับทีมงานด้วย เมื่อจุดหมายของทีมงานกับจุดหมายของเขาไม่ตรงกัน ต่างมองดาวคนละดวง เส้นทางในการเดินไปสู่ดาวย่อมเป็นคนละเส้นทางกันอย่างแน่นอน สถานการณ์แบบนี้ อย่าดึงคนที่มีจุดหมายต่างกันเข้ามาร่วมทีมงาน เพราะยังไงก็ไปด้วยกันไม่รอด ไม่ช้าก็เร็ว ปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน

Not everyone should take the journey.
มีความหมายว่า ไม่ใช่ทุกคนต้องเดินทางในเส้นทางนี้ เพราะคนบางคนเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ เขาไม่มีความสนใจที่จะทำ เขาไม่อยากทำ เขาเป็นคนที่ไม่มีจุดหมาย เขาไม่จำเป็นต้องเดินทางตามเส้นทางเดียวกัน คนประเภทนี้อย่าเสียเวลาลากเข้ามาร่วมทีมงาน เพราะจะทำให้ทีมงานเสียเวลา และสิ้นเปลืองพลังงาน ทำให้ทีมงานมีปัญหาเพิ่มขึ้น

Not everyone can take a journey.
คนประเภทนี้อยากร่วมเดินทางไปกับทีมงาน แต่ตัวของเขาไม่มีคุณสมบัติที่ทีมงานต้องการ เขาไม่มีความสามารถ หรือทักษะที่ทีมงานต้องการใช้ แม้เขาจะมีความอยาก มีความตั้งใจดี อยากจะเข้าร่วมงานกับทีมงาน แต่ถ้าดึงคนประเภทนี้เข้ามาร่วมทีมงานก็ไม่สามารถสร้างผลิตผลหรือสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับทีมงานมากนัก จึงไม่ควรนำเอาคนแบบนี้เข้ามาร่วมกับทีมงาน เพราะเขาไม่สามารถเดินในเส้นทางนี้ได้
ความล้มเหลวในการสร้างทีมงานส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจธรรมชาติของการพัฒนาทีมงาน เพราะการสร้างทีมงานเป็นกระบวนการที่มีการเริ่มต้น และการสิ้นสุดของกระบวนการ ซึ่งอาจจะกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

Forming การก่อตัว
เป็นช่วงเริ่มต้นในการสรรหาคนที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ต้องการเข้ามาร่วมเป็นทีมงาน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาในการหาคนที่มีความรู้ความสามารถตามที่ต้องการ แต่มักจะมีปัญหาในเรื่องทำอย่างไรถึงจะให้คนที่สรรหามาได้เหล่านี้มีคุณสมบัติที่จะทำงานร่วมกันได้และอยู่ด้วยกันในระยะเวลาที่ต้องการได้ เพราะถ้าคนที่ต้องมาอยู่ทำงานร่วมกันเกิดเป็นส่วนผสมที่ไม่ถูกต้องเข้ากันไม่ได้ การก่อตัวของทีมงานอาจล้มเหลว กลายเป็นทีมงานที่ไม่ทำงาน

Storming การระดมความคิด
ถ้าสามารถรวมตัวกันได้ พัฒนาการต่อจากนี้คือการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ทัศนะ แนวทางการทำงาน ซึ่งแต่ละคนในทีมงานจะแสดงออกมาเพื่อต้องการจะทำงานในแนวทางตามความคิด ความถนัด ความชอบของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าคนเก่ง คนมีความสามารถย่อมไม่ยอมให้ใครมานำกันได้ง่ายๆ การถกเถียงแสดงออกในช่วงแรกจึงค่อนข้างจะแข็งกร้าว รุนแรงเหมือนพายุ แต่ในที่สุดจะค่อยปรับตัว อ่อนตัวลง ความเป็นทีมงานจะเริ่มปรากฏ

Norming การสร้างบรรทัดฐาน
เมื่อการแสดงออกทางความคิดเห็นในทีมงานเริ่มได้ข้อสรุปที่เป็นทางออกร่วมกันได้แล้ว ข้อตกลงที่เกิดขึ้นหลังการต่อสู้กันทางความคิดเห็นจนตกผลึกแล้ว จึงกลายเป็นแนวทางที่ทุกคนในทีมทำงานเริ่มยอมรับ หรือกลายเป็นบรรทัดฐานของทีมงาน เป็นกฎ กติกา มรรยาท ในการทำงานร่วมกันของทีมงาน

Performing
เมื่อได้สร้างกฎเกณฑ์ในการทำงานร่วมกันแล้ว การทำงานเริ่มเกิดผลเพราะทุกคนในทีมงานมีความเข้าใจขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง และเริ่มเข้าใจความคิด และวิธีการทำงานของเพื่อนในทีมงานที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง มีความไว้วางใจกันในทีมงานมากขึ้น มีความเข้าใจอุปนิสัย รู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคนในทีมงานมากขึ้น งานจึงเดินหน้า และการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเริ่มทำงานเป็นทีมได้แล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ท่านคงจะเกิดความคิดแย้งในใจขึ้นมาว่า มันไม่ได้ง่ายเหมือนที่เขียนหรอก เพราะคนที่เข้ามาร่วมทีมงาน มักจะไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เพราะ

·         Not everyone can work with other team members
ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นในทีมงานได้ คนบางคนไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้จริงๆ เพราะเป็นคนมีศรศิลป์ไม่กินกับคนอื่นได้ง่าย เป็นประเภทน้ำที่ไปผสมกับน้ำมันไม่ได้ เข้าไปที่ไหนก็มีปัญหากับที่นั่น เป็นคนที่น่าสงสารเพราะต้องทำงานคนเดียว

·         Not everyone can grow
ไม่ใช่ทุกคนที่จะเติบโตได้ คนบางคนมีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบ ทำงานได้แค่ที่เคยทำ รับผิดชอบได้แค่ที่เคยได้รับมอบหมาย ไม่มีความพยายามที่จะเติบโตในเรื่องความรับผิดชอบ เป็นคนไม่สนใจในเรื่องการพัฒนาตนเองให้มีคุณค่ามากขึ้น อยู่ทำงานไปวันๆได้โดยไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ

·         Not everyone see the same
ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองเห็นภาพเดียวกัน แม้ว่าจะชี้ให้ทุกคนมองไปทางทิศเหนือเหมือนกัน หลายคนมองเห็นภูเขา แต่อีกคนหนึ่งกลับมองเห็นเมฆเหนือภูเขา การทำงานในลักษณะเป็นทีมทุกคนในทีมงานต้องมองเห็นภาพเดียวกันก่อนถึงจะทำงานร่วมกันได้

·         Not everyone knows the weakness
ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักจุดอ่อนของตน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำงานเป็นทีม เพราะจุดอ่อนของคนบางคนในทีมงานอาจกลายเป็นจุดอ่อนของทั้งทีมงานได้ ถ้าคู่แข่งขันรู้จุดอ่อนอยู่ที่ใคร ก็จะมุ่งโจมตีจุดอ่อนนั้น คนบางคนแม้จะมีคนชี้แนะให้รู้จุดอ่อนของตน แต่ไม่ยอมรับ ไม่ยอมแก้ไขจุดอ่อนของตน กลับไม่พอใจเห็นเป็นการดูแคลนด้วยซ้ำไป เหมือนสุภาษิตฝรั่งว่า  “A cracked bell can never sound well.” ระฆังแตกไม่มีวันจะเสียงดี

·         Not everyone has the same expectation
ไม่ใช่ทุกคนจะมีความคาดหวังเหมือนกัน ความคาดหวังของบางคนสูงมาก แต่บางคนกลับไม่คาดหวังอะไรมากนัก ทำให้ความมุ่งมั่นของแต่ละคนแตกต่างกัน ถ้าคนที่มีความคาดหวังสูงเป็นคนเครื่องร้อน ต้องมาทำงานกับคนไม่คาดหวังอะไรมากนัก เป็นคนเครื่องเย็น คงจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในทีมงานในเวลาต่อมา

เพราะการหาคนมาทำงานเป็นทีมงานที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ฝรั่งถึงเรียกว่า Dream team คือเป็นทีมในความฝันเพราะในความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากในแต่ละทีมงานแม้จะคัดสรรกันอย่างไร มักจะได้สมาชิกทีมงานที่เป็นจุดอ่อนปนเข้ามาเสมอ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปัญหาในระดับต่อไปเมื่อคนที่แข็งแกร่งกว่าในทีมงานเริ่มรู้ว่าคนใดในทีมเป็นจุดอ่อนของทีมงาน ความสนใจจะพุ่งเป้ามาที่คนอ่อนแอของทีมงาน และด้วยความหวังดี ทุกคนในทีมงานจะรุมกันให้การช่วยเหลือประคับประคองคนที่อ่อนแอของทีม ในบางกรณีทำให้คนที่อ่อนแอฉวยโอกาสเกาะความช่วยเหลือของคนอื่น หรือในทางตรงกันข้ามคนที่อ่อนแอเกิดความกดดัน ไม่ต้องการรับความช่วยเหลือจากใคร และในบางครั้งกลับตัดสินใจทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมายเพื่อต้องการพิสูจน์ว่าตนไม่มีจุดอ่อน เลยทำให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหาให้กับทีมงาน

ปัญหาในการทำงานเป็นทีมของคนไทยอาจจะแตกต่างจากการทำงานเป็นทีมของชนชาติอื่นๆ เพราะวัฒนธรรมในการอบรมสั่งสอนของคนไทยทั้งในครอบครัวและที่โรงเรียนมักจะมุ่งไปที่การสอนเด็กให้มองเห็นข้อบกพร่องของคนอื่นมากกว่ามองเห็นข้อบกพร่องของตนเอง เราสอนเด็กให้รู้จักเอาตัวรอดโดยชี้ความบกพร่องไปที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวแทนที่จะสอนเด็กให้รู้จักสำรวจความบกพร่องหรือจุดอ่อนของตนแล้วพัฒนาแก้ไขจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง เมื่อโตขึ้นต้องทำงานร่วมกัน มักจะเกิดปัญหาจากทัศนะคติที่มุ่งมองแต่จุดบกพร่องของผู้อื่นโดยไม่มองจุดบกพร่องของตนเอง มองหาโอกาสที่จะตำหนิผู้อื่นมากกว่าการชมเชยผู้อื่น

หลี่ปุ๊เหว่ย ปราชญ์ชาวจีนกล่าวว่า "ก่อนที่จะเอาชนะคนอื่น..ต้องเอาชนะตัวเองให้ได้เสียก่อน... ก่อนที่จะว่าคนอื่น...ควรพิจารณาดูตัวเองเสียก่อน และ....ก่อนที่จะรู้จักคนอื่น...ควรจะรู้จักตัวเองเสียก่อน"

เป็นความจริงที่....ถ้าคนไทยทำได้ ประเทศไทยจะมีความสุขมากกว่านี้มากครับ

หมายเหตุ: เขียนเรื่องนี้ที่ SUNTEC, SINGAPORE
ในขณะเข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “Be the Change: transforming leadership perspectives”
        



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น