วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)



​​​​​​“Wisdom is supreme – so acquire wisdom, and whatever you acquire, acquire understanding!”    Proverbs 4:7  

รายงานจากงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุไทย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าประชากรสูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปของประเทศไทย มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต จาก การประมาณการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในปีพ.ศ.2553ประมาณ 8 ล้านคนจะเพิ่มเป็นประมาณ 12 ล้านคนในปีพ.ศ.2563 และเพิ่มเป็นประมาณ 17 คนในปีพ.ศ.2573 เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราเพิ่มของประชากรสูงอายุ จะเร็วกว่าประชากรโดยรวมทั้งหมด ดังตารางต่อไปนี้


พ.ศ.

จำนวนประชากรรวม

จำนวนประชากรอายุ60 ปีขึ้นไป

ร้อยละของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป

2533
54,509,500
4,014,000
7.4
2543
60,916,441
5,792,970
9.5
2553
67,313,000
8,011,000
11.9
2563
70,100,000
12,272,000
17.5
2573
70,629,000
17,763,000
25.1

ที่มา: คำนวณจากสำมะโนประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2503-2533 สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2550
สาเหตุของการเพิ่มจำนวนประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะอัตราการเกิดที่สูงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Baby boomer) และอัตราการตายที่ลดลงเป็นลำดับ ทำให้ประชากรในรุ่น Baby boomer ได้ทยอยเข้าสู่วัยแรงงานและวัยสูงอายุในที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า ในกลุ่มประชากรสูงอายุจะมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มอายุมากๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับเช่นผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ1.7 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 2.3 ล้านคนในปีพ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตามประเด็นที่ควรสนใจ คือ ความยืนยาวของชีวิตที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นการเพิ่มความยืนยาวที่มีภาวะสุขภาพที่ดีหรือไม่
จากการศึกษาที่เผยแพร่โดยองค์กรสหประชาชาติได้เตือนว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นจนมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อระบบสวัสดิการ (Welfare) เงินบำนาญ (Pension) และ ระบบการแพทย์ (Health care systems) ทั้งในประเทศกำลังพัฒนา (Developing nations) และ ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed nations)

 
ความจริงอีกประการหนึ่งที่น่าเสียดายคือ ทักษะ และความรู้ ที่บรรดาผู้สูงอายุทั้งหลายได้เรียนรู้รับส่ำสมมาตลอดชีวิตกำลังจะมลายสูญหายไปในสังคมตามอายุของผู้สูงวัย ทั้งๆที่ผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีความสามารถที่จะนำความรู้ ทักษะที่มีคุณค่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมได้ต่อไปอีก
Richard Blewitt ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร HelpAge International ให้ทัศนะว่า เราควรต้องปฏิวัติความคิดเสียใหม่เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจเรื่องผู้สูงอายุว่า คนจำนวนมากจะมีอายุยืนยาวจนถึงวัยชรา ดังนั้นจึงควรลงทุนทำให้คนได้สร้างสังคมให้มีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเมื่อเขาแก่ตัวมากขึ้น คุณ Richard เรียกการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรนี้ว่า “Megatrend” เพราะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากมีการประมาณการว่า 1 ใน 9 คนของจำนวนประชากรโลกจะมีอายุเกิน 60 ปีและจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 200 ล้านคนภายใน 10 ปีนี้ทำให้โลกมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า1,000 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านคน ในปี 2050 และจำนวนประชากรผู้มีอายุเกิน 100 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 316,600 คนในปี 2010 เป็น 3.2 ล้านคนในปี 2050
ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศเดียวที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 30% แต่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมี 64 ประเทศทั่วโลกที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุถึง 30%  ในปี 2009 ญี่ปุ่นมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีถึง 23% ของประชากรทั้งหมดซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก จากสถิตินี้ทำให้พยากรณ์ได้ว่าในปี 2030 ญี่ปุ่นจะมีประชากร 1 ใน 3 คนที่มีอายุเกิน 65 ปี และ 1 ใน 5 คนที่มีอายุเกิน 75 ปี และขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ยอดจำหน่ายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ (Adult diapers) มากกว่ายอดจำหน่ายผ้าอ้อมที่ใช้ในเด็ก
นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าในปี 2030 ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่อายุเกิน 65 ปี จำนวน 1 คน จะต้องมีคนหนุ่มสาววัยทำงาน 2 คนให้การเกื้อกุลอุปถัมภ์ ดังนั้นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากแบบญี่ปุ่นในอนาคตจะมีปัญหาหนักขึ้นเมื่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งมีสัดส่วนลดลงจะต้องมีภาระความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพื่อเกื้อกุลอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ
แนวโน้ม Megatrend นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องให้ความสนใจศึกษาในมุมมองใหม่ จากความคิดและกระบวนทัศน์เดิมที่คิดแต่เพียงว่าผู้สูงอายุเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามาเป็นการคิดแนวใหม่ว่าการมีอายุยืนยาวของผู้สูงอายุเป็นการเพิ่มโอกาสในการให้ผลตอบแทน (Longevity dividend) แก่สังคม เราควรมองว่าการที่มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้นเป็นผลความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์จากการที่เราสามารถพัฒนาเรื่องอาหารการกิน สุขอนามัย ความก้าวหน้าทางการแพทย์ การศึกษา และความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจ
 
สิ่งที่น่าห่วงใยคือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนาโดยที่รัฐบาลไม่ได้มีแผนการเตรียมการรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะพึ่งพาแรงงานการผลิตจากคนหนุ่มสาวที่เคลื่อนย้ายจากชนบทเข้ามาทำงานในเมืองทำให้ครอบครัวในชนบทที่เคยดูแลผู้สูงอายุจะขาดผู้ดูแลผู้สูงอายุและภาระในการดูแลผู้สูงอายุจะตกอยู่ในความรับผิดชอบของหลานๆที่ยังอยู่กับปู่ย่าตายาย คาดว่าในประเทศจีนจะมีจำนวนหลานๆถึง 52 ล้านคนที่จำเป็นต้องดูแลผู้สูงอายุที่เป็นปู่ย่าตายายของตน เนื่องจากพ่อแม่เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่
การที่อายุขัย (Life expectancy)ของคนทั่วโลกเพิ่มขึ้น แม้จะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นแต่ก็เป็นทั้งความสุขและความทุกข์ปนกันเพราะผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง (Chronic diseases) ที่เข้ามารุมเร้า ความไม่สะดวกสบายจาก ความพิการ(Disabilities)ทางร่างกาย ของโรคกระดูก ข้อเข่าสะโพกเสื่อม โรคเบาหวาน  รวมทั้งความทุกข์ทางอารมณ์และจิตใจเช่นโรคซึมเศร้าด้วย ซึ่งเป็นโรคและอาการที่วงการแพทย์เรียกว่า “ทำให้เราป่วยแต่ไม่ทำให้เราตาย”  (“Don’t kill but make us ill”)


จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Washington University พบว่าประเทศต่างๆกำลังจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีโรคเจ็บป่วย แม้ว่าปัญหาเรื่องทุโภชนาการ (Malnutrition) ของโลกได้ลดลงอย่างมากแล้วแต่โลกกำลังมีปัญหาใหม่เรื่องการกินมากเกิน (Excessive eating) เข้ามาแทนที่ ผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 3 ล้านคนในปี 2010 มีสาเหตุมาจากความอ้วน ที่เกิดจากการกินมากเกิน และกินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีการตายของคนอายุระหว่าง 15 ปี ถึง 49 ปีเพิ่มมากขึ้นสาเหตุมาจากความรุนแรง (Violence) การฆาตกรรม (Homicide) อุบัติเหตุจากากรจราจร (Traffic accidents) และโรค AIDS
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Imperial College London พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิต 52.8 ล้านคนทั่วโลกในปี 2010 จำนวน 12.9 ล้านคนตายเพราะโรคที่เกี่ยวกับเส้นโลหิตแตก (Stroke) และโรคหัวใจ (Heart disease) ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการกิน การดื่ม การสูบบุหรี่มากเกินไป และการไม่ออกกำลังกาย จำนวน 8 ล้านคนตายเพราะโรคมะเร็ง จำนวน 1.5 ล้านคนตายเพราะโรค HIV/AIDS และจำนวน 1.2 ล้านคนตายเพราะโรควัณโรค
ที่นำเรื่องนี้มาเสนอเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการคิดเตรียมการอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับเรื่องสังคมผู้สูงวัยของประชากรผู้สูงอายุชาวไทยที่กำลังจะทวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การที่รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท จึงไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหาประชากรผู้สูงอายุในอนาคต
 
รัฐบาลไทยต้องเตรียมแผนการรองรับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุชาวไทยทั้งในมิติการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลเยียวยารักษาไปตามสภาพการเสื่อมของสังขาร ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และในมิติการใช้ศักยภาพของผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60-70 ปี (Young senior) ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีสภาพความพร้อมทางสติปัญญาและร่างกาย ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

รัฐบาลไทยสามารถใช้สังคมผู้สูงวัยของโลก เป็นโอกาสในทางธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศได้เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามเมืองใหญ่ๆแต่ยังขาดการคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบที่จะให้การบริการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีมาตรฐานคุณภาพ รองรับการเพิ่มของผู้สูงอายุชาวต่างประเทศที่อยากมาใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในบั้นปลายของชีวิตที่ประเทศไทย
John F. Kennedy กล่าวว่า “Change is the law of life. And those who look only to the past or present are certain to miss the future.” การเปลี่ยนแปลงคือกฎแห่งชีวิต และผู้ที่มองเฉพาะอดีตหรือปัจจุบันคือผู้ที่พลาดอนาคตอย่างแน่นอนJ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น