วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แรงขับเคลื่อน 6 ประการของการเปลี่ยนแปลง (Six Drivers of Change)


“Listen! Wisdom is calling out. Reason is making herself heard. On the hilltops near the road and at the crossroads she stands.”                                           Proverbs 8:1-2

ขอบคุณพระเจ้าสำหรับเทคโนโลยีทันสมัยที่ทำให้ผมสามารถเขียนบทความนี้ได้ในขณะมาดูงานการดูแลผู้สูงอายุที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้เอง ทำให้เกิดความคิดในขณะนอนพักอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งในเมือง Monterey Park, California ที่จะเขียนเรื่องแรงขับเคลื่อน 6 ประการของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นรายงานการศึกษาที่เพื่อนทาง Internet ท่านหนึ่งได้กรุณาส่งมาให้อ่าน

แรงขับเคลื่อน 6 ประการของการเปลี่ยนแปลง เป็นงานศึกษาของสถาบันเพื่ออนาคต (The Institute For The Future) หรือ IFTF ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ที่เมือง Palo Alto รัฐ California สหรัฐอเมริกา มีผลงานการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลกมามากกว่า 40 ปีแล้ว งานหลักของสถาบันแห่งนี้คือศึกษาเรื่องแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงต่างๆในอนาคตที่จะมีผลต่อสังคมโลก และพาณิชย์ธุรกิจ งานศึกษาชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก The University of Phoenix Research Instituteโดยใช้วิธีการศึกษาหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากการรวบรวมข้อมูล และศึกษาข้อมูลที่รวบรวมได้ จากการศึกษางานวิจัยด้านแนวโน้มต่างๆ(Trend Research) รวมทั้งการสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ความคิดเห็นจากนักวิชาการและความคิดเห็นจากผู้บริหารที่มากประสบการณ์หลากหลายด้าน สุดท้ายเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆและนักวิชาการมาระดมความคิด จนได้ข้อสรุปร่วมกันออกมาเป็น แรงขับเคลื่อน6 ประการของการเปลี่ยนแปลง (Six Drivers of Change) ใน 10 ปีข้างหน้า

โลกของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ขนาดห้องเรียน มาจนถึงเวลานี้ที่เราใช้โทรศัพท์มือถืออัจฉริยะในฝ่ามือที่มีความสามารถมากกว่าคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกหลายสิบเท่า โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างมาก และสังคมโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเช่นกัน แต่เราอาจจะไม่ได้สังเกต เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนเราไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าเรามองสังคมโลกอย่างพิจารณา เราจะพบว่าโลกของเรากลายเป็นโลกที่สามารถเชื่อมโยงติดต่อกัน(Global connectivity) ไปเกือบหมดแล้ว เครื่องจักรเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเครื่องจักรอัจฉริยะ (Smart Machines) และเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคการสื่อสารสมัยใหม่ (New Media) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานี้ทำให้เราต้องหันมาสนใจศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะมีผลต่อการทำงานในอนาคต และสังคมโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร

การศึกษาเรื่องนี้มุ่งหาวิสัยทัศน์ในอนาคต (Future Vision) ก่อนเพื่อจะนำไปสู่การเกิดปัญญาที่มีความหมาย (Meaningful Insight) แล้วนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลสำเร็จ (Successful Action) ในอนาคต ซึ่งเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจรูปแบบการเปลี่ยนแปลง (Patterns of Change) ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้จะมีผลต่อการเกิดสิ่งใหม่ๆอีกหลายด้านเช่น เกิดเทคโนโลยีรุ่นใหม่(New technology) เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product) เกิดการปฏิบัติงานแบบใหม่(New practice) เกิดนโยบายใหม่ (New policy) เกิดยุทธศาสตร์ใหม่(New strategy) เป็นต้น

การศึกษาของ IFTF สรุปได้ว่า แรงขับเคลื่อน 6 ประการของการเปลี่ยนแปลง (Six Drivers of Change) ได้แก่

1.การมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นของมนุษย์ (Extreme longevity)

การที่มนุษย์มีชีวิตยืนยาวมากขึ้นเป็นอย่างมากเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ จะทำให้มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคมโลกในอนาคต มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2025 คนอเมริกันที่อายุเกิน 60 ปี จะเพิ่มขึ้นถึง 70% และมีรายงานจากการศึกษาอื่นที่พยากรณ์ว่าภายในทศวรรษนี้โลกจะมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีถึงพันล้านคน การที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) มีประชากรผู้สูงอายุ (Aging population) จำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมหลายด้านเช่น

-การประกอบอาชีพ คนมีความจำเป็นต้องทำงานยาวนานมากขึ้นเพื่อเก็บเงินไว้ใช้จ่ายดูแลตัวเองตอนอายุ 80-90 ปี เนื่องจากถ้าเกษียณอายุการทำงานที่ 60 ปีระบบเงินสะสมและเงินบำนาญจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นและมีอายุยืนยาวมากขึ้น ระบบการจ้างงานจึงต้องเปลี่ยนแปลงให้ต้องเกษียณอายุการทำงานที่ยาวขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

- ระบบครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเพราะพ่อแม่มีอายุยืนยาวมากขึ้นจึงอยู่กับลูกหลานยาวนานมากขึ้นซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำให้ลูกหลานดีใจ หรือทำให้ลูกหลานหนักใจ โดยเฉพาะสังคมไทยที่พ่อแม่จะอยู่กับลูกหลานจนตาย ปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมจากการมีผู้สูงอายุจำนวนมากจะเกิดขึ้นตามมา

-ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้เรียนเพราะผู้สูงอายุจำนวนมากต้องการเรียนให้มีความรู้หลายด้านเพื่อเตรียมตัวไว้ประกอบอาชีพได้หลายอย่าง (Multiple careers) เนื่องจากต้องการทำงานหลังอายุเกิน 60 ปีไปแล้วเพื่อหาเงินดูแลตัวเองที่จะมีอายุยืนยาวขึ้น เพราะไม่แน่ใจการพึ่งพาระบบสวัสดิการของรัฐบาลหรือการดูแลของลูกหลานเพื่อความปลอดภัยจึงต้องหางานทำให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

-ระบบการบริหารจัดการจะเปลี่ยนแปลงเพราะองค์กรต้องปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อผลิตสินค้าและเปิดบริการตามความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ระบบการแพทย์ การสาธารณสุข การเดินทาง การท่องเที่ยว การบริการทางสังคม อุปกรณ์เครื่องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้สูงอายุจำนวนมาก

2. การเติบโตของเครื่องจักรและระบบอัจฉริยะ (Rise of smart machine and system)

เครื่องจักรและอุปกรณ์และระบบต่างๆที่ใช้ในชีวิตมนุษย์จะเป็นระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด ระบบการผลิตในโรงงาน ระบบการทำงานในสำนักงาน ระบบการใช้งานในบ้านจะเป็นระบบอัจฉริยะอัตโนมัติเกือบหมด ซึ่งทำให้เกิดความมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นในการทำงาน เมื่อระบบเครื่องจักรอัจฉริยะอัตโนมัติสามารถทำหน้าที่แทนคนได้มากขึ้นแล้ว จะเกิดปัญหาตามมาว่าคนจะต้องปรับตัวอย่างไรให้สามารถอยู่กับระบบเครื่องจักรอัจฉริยะอัตโนมัติเหล่านี้

3.โลกที่เป็นคอมพิวเตอร์ (Computational world)

การนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในชีวิตมนุษย์มากขึ้นทำให้มีการใช้ระบบSensor มากขึ้น จนสามารถเก็บข้อมูลของวิถีชีวิตมนุษย์ในกิจกรรมต่างๆได้เกือบหมด เมื่อนำข้อมูลที่บันทึกเป็นรหัส (Code) ไปถอดรหัส (Decode) และประมวลผลจะสามารถสร้างโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ใช้ได้ทั้งโลก ชีวิตมนุษย์จึงต้องปรับตัวให้เชื่อมโยงเข้ากับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพราะเกือบทุกกิจกรรมที่มนุษย์ทำต้องอาศัยข้อมูล (Database) ประกอบในการตัดสินใจ ทุกอย่างสามารถโปรแกรมได้ (Programmable)

4.ระบบการสื่อสารใหม่ (New media ecology)

การสื่อสารบนพื้นฐานเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะพัฒนาไปจนแทบเรียกได้ว่าเป็นภาษาการสื่อสารใหม่ของมนุษย์ (New language of communication) เพราะเราสามารถสื่อสารได้ทั้งระบบ Video ระบบ Digital animation ระบบAugmented reality และระบบ Visual communication ระบบการสื่อสารหลายรูปแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากสามารถสื่อสารได้พร้อมๆกันทั่วโลก ชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว กิจกรรมสังคม ระบบการบริหารจัดการ ระบบการปกครอง ระบบการบริการ จะกลายเป็นระบบ online หมด คนมากมายจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ (ขณะนี้ก็สามารถเข้าถึงได้จนแทบจะไม่มีความลับกันอยู่แล้วครับ)

5.โครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่ (Superstructed organizations)

เพราะระบบการสื่อสารและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ระบบอัจฉริยะอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทในชีวิตการทำงานมากขึ้น โครงสร้างองค์กรจึงต้องเปิดกว้างให้มีความหลากหลายเพื่อให้คนจำนวนมากเข้ามามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น เนื่องจากประชากรทั้งโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้พร้อมกันหมด (ตัวอย่างเช่น สินค้าที่ขายกันทาง internet ขณะนี้มีคนใช้บริการเป็นล้านๆคนแล้ว ต่อไปในอนาคตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกอาจเปิดการสอนทาง internet และมีคนสนใจลงทะเบียนเรียนทั่วโลกเป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสนคนก็เป็นได้ เพราะแม้แต่ท่าเต้นกัมนันสไตล์ของหนุ่มเกาหลีก็มีคนนับร้อยล้านคนเข้าไปดูทาง internet แล้ว)

6.โลกที่เชื่อมโยงติดต่อกัน (Global connected world)

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย เช่น จีน อินเดีย เกาหลี รัสเซีย ที่มีประชากรจำนวนมาก ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วทั้งในทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป ต้องปรับตัววิ่งไปเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคนี้เพื่อรองรับความต้องการของประชากรส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งในอดีตมีกำลังซื้ออย่างจำกัด แต่เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อมหาศาลและในอนาคตคนในประเทศเหล่านี้มีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากมีความรู้และกำลังทรัพย์มากขึ้น จนประเทศพัฒนาแล้วทั้งในทวีปอเมริกา และยุโรปต้องเชื่อมโยงการติดต่อเข้ามาหาภูมิภาคนี้มากขึ้นเพื่อลงทุนค้าขายทำให้ระบบการติดต่อทางธุรกิจการค้าการและบริการสามารถเชื่อมโยงกันทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

Albert Einstein กล่าวว่า “The true sign of intelligence is not knowledge but imagination” และ “It is not that I am so smart, it’s just that I stay with problems longer” สัญญาณที่แท้จริงของปัญญาไม่ใช่การมีความรู้แต่คือการมีจินตนาการ และไม่ใช่เพราะข้าพเจ้ามีความฉลาดมากมาย แต่เป็นเพราะข้าพเจ้าอยู่กับปัญหายาวขึ้น

หวังว่าเราจะไม่มองเรื่องแรงขับดันการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนี้อย่างนิ่งเฉย เพราะพวกเราทุกคน เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้านี้ และผมหวังว่าชาวไทยจะไม่ลำบากทุกข์ยากจนเกินไปM

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น