วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Millennials (Gen Y) กำลังมาแรง

​​​​​​​“Wisdom is supreme – so acquire wisdom, ​​​​​​and whatever you acquire, acquire understanding!”                                                                                                Proverbs 4:7
คนหนุ่มสาวที่เกิดระหว่างปี 1977 ถึงปี 1997 ที่เรียกว่าเกิดในช่วงปี Millennials หรือเรียกสั้นๆว่า Gen Y ซึ่งขณะนี้อายุระหว่าง 20 ปีต้นๆ ถึง 30 ปี ต้นๆ กำลังทยอยเติบโตเข้าสู่วัยทำงาน และกำลังจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบการทำงานของบริษัทหน่วยงานต่างๆ เพราะสภาพการเลี้ยงดูในวัยเด็กและการเจริญเติบโตของคนรุ่นนี้อยู่ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาซึ่งเป็นคนที่เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่2 หรือที่เรียกว่า Baby Boomers ค่อนข้างมาก
ขณะนี้ มีคนหนุ่มสาวที่เกิดในยุค Millennials ประมาณ 80 ล้านคน และคนสูงอายุที่เกิดในยุค Boomers อีกประมาณ76 ล้านคน อยู่ในสหรัฐอเมริกา และประมาณครึ่งหนึ่งของคนหนุ่มสาวยุค Millennials (40 ล้านคน) ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว และจะเพิ่มมากขึ้นนับล้านคนทุกปี มีการคาดการณ์ว่า ทุกวันจะมีเด็กที่เกิดในยุคMillennials ซึ่งมีอายุครบ 21 ปี ประมาณวันละ 10,000 คนในสหรัฐอเมริกา และมีการพยากรณ์ว่า ในปี 2025 คนวัยทำงานทั่วโลก ถึง 75% จะเป็นคนที่เกิดในยุค Millennials

ผลกระทบจากการที่คนรุ่น Millennials เข้าสู่ระบบการจ้างงานเริ่มเกิดขึ้นแล้วในตลาดแรงงานสหรัฐอเมริกา และกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เข้าสู่วัยทำงานมากขึ้น เพราะคนรุ่น Millennials เกิดและเติบโตในยุคสมัย Globalization เด็กรุ่นนี้โตมากับโลก Digital สื่อสารทาง Internet ใช้สื่อทางสังคม Social media เป็นปัจจัยการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ติดความรวดเร็วในการสื่อสารจนมีความอดทนสั้น (Impatience)  ชื่นชอบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นพิเศษ อยากเป็นผู้ประกอบการเพื่อเป็นเจ้านายของตนเอง ชอบการทำงานที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ชอบเรื่องกฎระเบียบการทำงาน และไม่ชอบเรื่องชั้นการปกครอง (Hierarchies) ที่มีขั้นตอนลำดับชั้นในการทำงาน

ปัญหาปวดสมองของนายจ้างและผู้บริหารทางด้านทรัพยากรมนุษย์ในบริษัทหน่วยงานที่มีทั้งคนทำงานวัยอาวุโสรุ่น Boomers กับคนทำงานวัยหนุ่มสาวรุ่น Millennials ที่กำลังทยอยเข้าแทนที่บุคลากรรุ่นเก่าในหน่วยงาน คือความสนใจและวิถีการทำงานที่แตกต่างกันของคนทั้งสองกลุ่ม ซึ่งจากการศึกษาของนักวิจัยหลายสำนักแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน พอจะประมวลได้ว่า
·      คนรุ่นMillennials ต้องการความใส่ใจในทันที (Immediate attention)
เพราะคนหนุ่มสาวรุ่นนี้ใช้ Facebook และ Twitter กันทุกวัน พวกเขาคุ้นเคยกับการสื่อสารประเภท post ความเห็นขึ้นไปปุ๊บ มีคนแสดงความคิดเห็นตอบสนอง ปั๊บ และเมื่อมาทำงานพวกเขาต้องการบรรยากาศการทำงานในลักษณะเดียวกัน คือต้องการให้เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าแผนก และผู้บริหาร ตอบสนองความคิดเห็นของพวกเขาอย่างทันทีทันใด ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่น Boomers ที่ยึดเอาระบบโครงสร้าง (Structured system) เป็นตัวตั้ง การสื่อสารเป็นไปตามช่องทางที่ระบบกำหนดตามโครงสร้างการบริหารงาน การตอบสนองต้องใช้เวลาตามขั้นตอนของสายการบังคับบัญชา
·      คนรุ่น Millennials อยากให้ทุกวันทำงานมีบรรยากาศแบบวันศุกร์
คนรุ่นนี้อยากทำงานในบรรยากาศที่สบายปลอดโปร่งเหมือนการทำงานในวันศุกร์ที่ทุกคนในสำนักงานจะไม่เครียดเพราะเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์ พวกเขาอยากใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้ากีฬามาทำงาน เพื่อความรู้สึกสะดวกสบาย ในขณะที่กลุ่ม Boomers ต้องการให้ที่ทำงานมีบรรยากาศของความมีมาตรฐานมืออาชีพ (Professional standard) แยกเรื่องชีวิตส่วนตัว (Personal lives) ออกจากชีวิตงาน (Professional lives) ซึ่งต่างจากคนรุ่น Millennials ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เอาเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวมาปนกัน
·      คนรุ่น Millennials อยากทำงานในเวลาที่มีอารมณ์อยากทำ
คนรุ่นนี้ไม่ชอบการทำงานแบบ เข้า 8 โมงเช้า ออก 4 โมงเย็น (Office hours) แต่อยากได้ความอิสระในการกำหนดเวลาทำงานของตนเอง (Me hours) กำหนดสถานที่ทำงานของตนเอง ไม่จำเป็นต้องมานั่งทำงานในสำนักงานแบบเช้ามาเย็นกลับ ขอทำงานในอารมณ์ที่อยากทำให้งานที่รับผิดชอบเสร็จเรียบร้อย ประมาณว่าจะทำงานที่บ้าน ที่ร้านกาแฟ หรือที่สวนสาธารณะก็ได้ ตามแต่ความสะดวก ซึ่งทางฝั่ง Boomers มองว่าสำนักงานเป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุดในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ เพราะมีสิ่งแวดล้อมบรรยากาศการทำงานที่จะทำให้งานเสร็จอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
·      คนรุ่น Millennials ไม่เน้นเรื่องเงินมาก่อน
การสำรวจความคิดเห็นพบว่า คนหนุ่มสาวรุ่นนี้ตอบว่า ไม่มีงานทำยังดีกว่าต้องทำงานที่ไม่ชอบ (Rather have no job than a job they hate) คนรุ่น Millennials มีทัศนะคติในการทำงานแบบ “รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รัก” ต้องการทำงานที่คนมองเห็นคุณค่าความสร้างสรรค์ของพวกเขา และจะทำงานอย่างมีแรงจูงใจเมื่อรู้ว่าผลงานของพวกเขาจะไปที่ปรากฏที่ไหน รวมทั้งมีความคิดว่า หัวหน้า และผู้บริหารสามารถเรียนรู้ความคิดใหม่ๆจากพวกเขา ความคิดเห็นของพวกเขาเป็นเรื่องสำคัญกว่าเงิน ซึ่งคนทางกลุ่ม Boomers จะเห็นเรื่องเงินตอบแทนและสวัสดิการเป็นเรื่องสำคัญกว่า
·      คนรุ่น Millennials ชอบความโปร่งใส (Transparency)
คนหนุ่มสาวรุ่นนี้ถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่รุ่น Boomers ที่พูดคุยทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องการบ้าน การเมือง จนถึงเรื่อง การมุ้ง ต่อหน้าพวกเขาเมื่อเป็นเด็กๆ รวมทั้งได้เห็นได้เรียนรู้จากสื่อทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารอย่างอิสระ จนรู้สึกว่าระหว่างพ่อแม่กับพวกเขาไม่มีอะไรเป็นความลับ ดังนั้นเมื่อมาทำงาน คนรุ่นนี้จะรู้สึกว่าเรื่องในที่ทำงานก็เหมือนกับเรื่องที่บ้านไม่เห็นมีอะไรที่ต้องปกปิดเป็นความลับ อยากให้หัวหน้าและผู้บริหารเปิดเผยให้เขาได้รับรู้รับทราบทุกเรื่อง และพวกเขาอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
·      คนรุ่น Millennials อยากให้องค์กรแบน (Flat organization)
เพราะคนหนุ่มสาวรุ่นนี้เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่สอนลูกแบบให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆในครอบครัว จนเด็กรุ่นนี้ไม่มีความรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นผู้มีอำนาจปกครองเหนือพวกเขา (อาจจะรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจเหนือพ่อแม่ด้วยซ้ำไป) ดังนั้นเมื่อเข้ามาทำงานจึงอยากเห็นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่อยากทำงานตามคำสั่งลำดับชั้นการปกครอง พวกเขาเห็นว่าองค์กรควรเสาะหาความคิดที่ดีที่สุด (Best idea) จากคนในองค์กรโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นหน้าที่ของใคร หรือเป็นเรื่องที่ใครเป็นผู้รับผิดชอบตามโครงสร้างการบริหารขององค์กร
·      คนรุ่น Millennials คิดว่าเสียงเดียวก็มีความสำคัญสร้างความแตกต่างได้
(A single voice can make a big difference)
เพราะคนหนุ่มสาวรุ่นนี้ได้เรียนรู้ถึงอิทธิพลอันทรงพลังของเทคโนโลยี และสื่อสังคม ทาง facebook twitter และ blog ที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ในหลายประเทศ พวกเขาอยากใช้เครื่องมือสื่อสังคมเหล่านี้ส่งเสียงความคิดเห็นของเขา และเชื่อว่าเพียงเสียงเดียวก็มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในที่ทำงาน ผ่านทางสื่อเทคโนโลยี
·      คนรุ่น Millennials มีความหลากหลาย (Diverse) และสร้างผลงาน
คนรุ่นนี้ความกล้าแสดงออก ไม่ติดยึดกับกรอบความคิดเดิม กล้าตัดสินใจ ไม่กังวลกับเรื่องความมั่นคงของสวัสดิการในอนาคตระยะยาว พวกเขาต้องการความสำเร็จในระยะสั้น ทำให้พวกเขาเสาะแสวงความรู้ความเข้าใจที่หลากหลาย และต้องการสร้างผลงานให้ปรากฏโดยเร็ว เราจึงเห็น หมอเป็นนางงาม ด๊อกเตอร์ขายกาแฟ เถ้าแก่น้อย  เศรษฐีใหม่วัย 30 เกิดขึ้น และยังมีคนรุ่นนี้อีกมากมายในสังคมที่ค้นฟ้าหาดาว เสาะแสวงหาเส้นทางความสำเร็จของตนบนความหลากหลายของความคิด
·      คนรุ่น Millennials ชอบการแนะนำ (Coach) ไม่ชอบการสอนงาน (Mentor)  
คนรุ่นนี้ถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่ไม่บังคับลูก แต่เฝ้าดูลูกเติบโตด้วยการชี้แนะอยู่ห่างๆ คนรุ่นนี้พอเข้าสู่สังคมการทำงาน จะติดนิสัยไม่ชอบให้ใครมาสอน แต่อยากเสาะหาเรียนรู้และพัฒนาความสามารถด้วยตนเอง พวกเขาชอบวิธีการแนะนำ (Coaching)  เพราะวิธีการแนะนำเป็นเพียงข้อเสนอจากผู้มีประสบการณ์ ผู้รับการแนะนำจะรับมาพัฒนาตนเองด้วยความสามารถของตนเอง ส่วนการสอนงาน (Mentoring) เป็นการบอกให้ผู้เรียนทำตามแบบที่ผู้สอนได้กระทำมาก่อน ซึ่งพวกเขาไม่ค่อยชอบ
Khalil Gibran กล่าวว่า “Coming generations will learn equality from poverty, and love from woes.” คนในรุ่นต่อๆไปจะเรียนรู้ความเท่าเทียมกันจากความยากจนขัดสน และความรักจากความทุกข์ยากลำบาก
เป็นเรื่องน่าสนใจที่คนสูงอายุจะมีมากขึ้นในสังคมโลก ในขณะที่คนหนุ่มสาวกำลังเข้ามาทำงาน Millennial Generation จะดูแล Baby Boomer Generation ได้อย่างไรJ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น