วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Stephen Covey ผู้เปลี่ยนอุปนิสัยคน

An honorable man makes honorable plans; ​​​​​​his honorable character gives him security.”                                                                                                          Isaiah 32:8


Stephen Covey เขียนหนังสือ “The 7 Habits of Highly Effective People” ในปี 1989 และหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ขายได้มากกว่า 25 ล้านเล่มทั่วโลก แปล 38 ภาษา หนังสือเล่มนี้ทำให้ Stephen Covey เป็นที่รู้จักของผู้นำผู้บริหารทั่วโลก และเขาได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายให้ผู้บริหารของบริษัทชั้นนำมากมายทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทใน Fortune 500 เป็นลูกค้าของศูนย์อบรมผู้นำ Covey Leadership Centre ในมลรัฐ Utah สหรัฐอเมริกา
แนวความคิดของ Stephen Covey เป็นการนำเรื่องของคุณค่าทางจริยธรรมพื้นฐานที่ได้สั่งสอนกันมาแต่โบราณ(Old- fashioned) มาพูดใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยการบริหารงานสมัยใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในขณะที่ผู้รู้(Guru) นักคิดนักวิชาการในวงการบริหารจัดการจะมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรด้วยการเน้นที่ระบบการบริหารงานที่ใช้กระบวนการและเทคนิคสมัยใหม่ Stephen Covey กลับเน้นที่การปรับปรุงอุปนิสัยตนเองของคนที่เป็นผู้นำในเรื่อง คุณลักษณะของบุคคล (Personal character) เป้าประสงค์ (Purpose) และความมีระเบียบวินัยในตัวเอง(Self-discipline) ซึ่งเป็นหลักการของคุณลักษณะทางจริยธรรม(Principles of a character ethic) และเป็นคุณค่า (Values) ในชีวิตของคนซึ่งมีความเป็นสากลและอยู่เหนือกาลเวลา(Universal and timeless) คุณค่าในชีวิตคือสิ่งควบคุมพฤติกรรมของคน (Values govern people’s behavior) ส่วนหลักการคือสิ่งกำหนดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (Principles determine the consequence) และคุณค่าในชีวิตเป็นสิ่งภายในที่แสดงออกมาสู่ภายนอก(Inside out) และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอุปนิสัยที่จะนำความสำเร็จมาสู่ชีวิตครอบครัว ชีวิตการทำงาน การบริหารจัดการ และความสำเร็จขององค์กรได้
Stephen Covey เสนอการพัฒนาอุปนิสัยสำคัญที่เริ่มจากการพัฒนาอุปนิสัยที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น (Dependence) ไปสู่อุปนิสัยที่พึ่งพาตนเอง (Independence) และนำไปสู่อุปนิสัยแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) ซึ่งเป็นอุปนิสัยของการรู้จักตนเองและรู้จักผู้อื่น เคารพตนเองและเคารพผู้อื่น รู้จักรับและรู้จักให้ผู้อื่น เป็นอุปนิสัยที่สร้างคุณลักษณะของผู้นำ ซึ่งนำความสำเร็จมาสู่ชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงาน
Stephen Covey มองบุคลากรในองค์กรว่าไม่ได้เป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นหนึ่งที่ขับเคลื่อนด้วยการให้รางวัล (Reward) หรือการลงโทษ (Punishment) แต่บุคลากรเป็นคนที่มีอุปนิสัยของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ Peter Drucker เจ้าทฤษฏีการบริหารจัดการสมัยใหม่ซึ่งเน้น ความมีประสิทธิภาพ เป็นอุปนิสัย (Effectiveness is a habit) สิ่งที่ทำให้ Stephen Covey มีความแตกต่างจากนักคิดนักวิชาการทางด้านบริหารจัดการคนอื่นๆคือ ในชีวิตจริงของStephen Covey เขาปฏิบัติตามสิ่งที่เขาเขียน (He lived the life he wrote about.)
Stephen Covey ใช้เทคนิคง่ายๆในการแนะนำให้คนพัฒนาการบริหารจัดการเช่น การแนะนำให้แบ่งงานออกเป็น 4 กลุ่ม คือ งานที่ด่วนและสำคัญ (Urgent and Important) งานที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญ (Non-urgent and Unimportant) งานที่ด่วนแต่ไม่สำคัญ (Urgent and not Important) และ งานที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ (Non-urgent and Important) แล้วจัดลำดับความสำคัญของงานและลำดับความสำคัญของเวลาในการทำงาน ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลักการที่โดดเด่นของ Stephen Covey คือ การรักษาสมดุลของชีวิตครอบครัวกับชีวิตการทำงาน Stephen Covey จะให้ความสำคัญของครอบครัวเป็นอันดับแรก งานเป็นอันดับสอง (Work second, family first) ในชีวิตจริง Stephen Covey มีลูก 9 คน มีหลาน52 คน เขามีเวลาให้แก่ครอบครัวเสมอ และได้เขียนหนังสือเรื่อง 7 อุปนิสัยของครอบครัวที่มีประสิทธิภาพอย่างสูง “The 7 Habits of Highly Effective Families” เพื่อแนะนำการมีครอบครัวที่มีความสุข
โดยสรุป อุปนิสัย 7 ประการของคนที่มีประสิทธิภาพสูง (The 7 Habits of Highly Effective People) ที่ Stephen Covey นำเสนอประกอบด้วย
Habit 1: Be Proactive ตื่นตัว รุก
เป็นอุปนิสัยแห่งการรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ และเป็นอุปนิสัยของการเป็นฝ่ายรุกมากกว่าการเป็นฝ่ายตั้งรับเหตุการณ์ เป็นอุปนิสัยในการตัดสินใจจัดการกับปัญหาก่อนที่มันจะเกิดปัญหาขึ้น เป็นอุปนิสัยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งดีกว่าการปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยตอบสนองแก้ไขปัญหา เพราะมันยากกว่า และสิ้นเปลืองพลังงาน ทรัพยากร และเวลา มากกว่า
Habit 2: Begin with the End in Mind เริ่มต้นด้วยภาพความชัดเจนของสิ่งที่ต้องการในตอนท้ายคืออะไร
การเริ่มต้นด้วยการมีภาพที่ชัดเจนว่าสิ่งที่ต้องการในที่สุดคืออะไร จะทำให้มีความชัดเจนในกระบวนการทำงาน สามารถตรวจสอบขั้นตอนในการทำงานว่าถูกต้องมุ่งไปสู่ ภาพสุดท้ายที่ต้องการให้ปรากฏเป็นจริงหรือไม่ เหมือนการก่อสร้างบ้าน จะต้องมีภาพของบ้านทั้งหลังที่เราต้องการ และเขียนออกมาเป็นแบบแปลนก่อสร้างก่อนที่จะเริ่มทำการก่อสร้าง การเริ่มต้นงานใดๆโดยยังไม่มีภาพความชัดเจนของเป้าหมายอยู่ในใจ ทำให้กระบวนการทำงานไม่ชัดเจนตามไปด้วย และมีปัญหาเกิดตามมามากมาย
Habit 3: Put First Things First จัดลำดับก่อนหลัง
การจัดลำดับก่อนหลังของสิ่งที่ต้องทำ ไม่ได้หมายถึงการจัดลำดับความเร่งด่วน (Urgent) แต่หมายถึงการจัดลำดับ ความสำคัญ (Important) ของสิ่งที่เราจะต้องทำบ่อยครั้งในชีวิตที่เราทำสิ่งเร่งด่วนที่ไม่สำคัญก่อน หรือทำโดยไม่ได้คิดว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง การจัดกลุ่มความสำคัญของงาน ทำให้เราสามารถจัดการทรัพยากร และเวลา ให้กับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดความมีประสิทธิผลตามมา
Habit 4: Think Win-Win คิดได้ด้วยกัน
เป็นอุปนิสัยที่รู้จักแบ่งปันให้ซึ่งกันและกัน ทำให้ต่างคนต่างได้ผลประโยชน์ (Mutually benefits) เป็นอุปนิสัยที่รู้จักเข้าใจและให้ความเคารพผู้อื่น ซึ่งเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวกับผู้ที่เราต้องทำงานด้วย การรู้จักให้ผู้อื่นทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกอยากจะทำงานร่วมกับเรามากขึ้น
Habit 5: Seek First to Understand, then to be Understood หาทางทำความเข้าใจก่อน แล้วจะได้รับความเข้าใจ
อุปนิสัยที่พยายามทำความเข้าใจผู้อื่นก่อน รู้จักฟังผู้อื่นก่อน สอบถามข้อมูลจากผู้อื่นก่อนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เปิดใจกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็น และเหตุผลของผู้อื่นก่อน แล้ววิเคราะห์อย่างรอบครอบก่อนการตัดสินใจ จะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความเข้าใจที่ถูกต้อง และจะสามารถโน้มน้าวให้ผู้อื่นเข้าใจความต้องการของเรา และให้ความร่วมมือในการทำงานและแก้ไขปัญหาด้วยความเต็มใจ
Habit 6: Synergize กระตุ้นพลัง
อุปนิสัยในการกระตุ้นให้เกิดพลังความร่วมมือจากผู้อื่นในการทำงานให้สำเร็จ เป็นการสร้างความร่วมมือทำงานเป็นทีม การกระตุ้นให้คนในทีมแสดงศักยภาพที่ดีที่สุดออกมาเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด เป็นอุปนิสัยที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ร่วมงาน โดยผู้นำต้องสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ (Trust) ให้กับผู้ร่วมงานก่อน แล้วความร่วมมือ (Cooperation) จากผู้ร่วมงานจะตามมา ยิ่งผู้ร่วมงานมีความไว้วางใจสูง ความร่วมมือจะยิ่งมีมาก
Habit 7: Sharpen the Saw ลับความคม
เป็นอุปนิสัยแห่งการสร้างสมดุลในชีวิต ทั้งร่างกาย (Physical) อารมณ์ (Emotion) สังคม (Social) จิตใจ (Mental) จิตวิญญาณ (Spiritual) ความสมดุลของทุกมิติในชีวิต จะทำให้ชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงานมีประสิทธิภาพ อุปนิสัยนี้มีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความสดใหม่ (Self –Renewal) อยู่ตลอดเวลา ชีวิตที่มีความกระชุ่มกระชวย ทำให้เรามีพลังในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
Brain Tracy กล่าวว่า Decisiveness is a characteristic of high-performing men and women. Almost any decision is better than no decision at all.การกล้าตัดสินใจเป็นคุณลักษณะของชายและหญิงที่มีผลการปฏิบัติงานสูง การตัดสินใจใดๆเกือบทุกกรณีก็ดีกว่าการไม่ตัดสินใจเลย และ
Jenny Craig กล่าวว่า A change in bad habits leads to a change in life.การเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยที่เลวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต
Stephen Covey ได้จากโลกนี้ไปอยู่กับพระเจ้าแล้วเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 80 ปี ทิ้งหลักการพัฒนาอุปนิสัย การบริหารชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหนังสือที่เขาเขียนหลายเล่มไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่านและศึกษาเพื่อพัฒนาอุปนิสัยที่ดี และผมเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่อ่านหนังสือที่เขาเขียน ศึกษาหลักคิดและหลักการของเขาด้วยความตั้งใจจริง ปรับเปลี่ยนอุปนิสัยของตน จนประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต และประสบความสำเร็จในการทำงาน
ขอขอบพระคุณความดีงามของ Stephen Covey ที่ท่านได้สร้างผ่านตัวอักษรที่มีชีวิต ผมเชื่อว่ารางวัลยิ่งใหญ่ที่ท่านได้รับคือสันติสุขที่ได้อยู่กับพระผู้เป็นเจ้าแล้วJ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น