วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากเด็กสลัมสู่เศรษฐีเงินพันล้าน

“ทรัพย์สมบัติที่ได้มาเร็วจะร่อยหรอหมดไป แต่คนที่เก็บเล็กผสมน้อยจะมีมากขึ้น”                                                                                                                      สุภาษิต 13:11

Kalpana Saroj เกิดในวรรณ Dalit ซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุดของสังคมอินเดีย ในอดีตเรียกว่า achuta หรือวรรณะที่ห้ามสัมผัส [Dalit (Hindi: दलित) — formerly known as untouchable or achuta] เนื่องจาก Kalpana Saroj เกิดในวรรณะต่ำสุด ชีวิตของเธอในวัยเด็กจึงมีสภาพเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดในวรรณะชั้นต่ำสุดของอินเดียคนอื่นๆที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชีวิตในแต่ละวัน แม้กระทั่งการไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน เธอก็ยังถูกเหยียดหยาม ดูถูก ห้ามเข้าร่วมบางกิจกรรมของโรงเรียน พ่อแม่ของเพื่อนๆห้ามเธอเข้าไปเล่นในบริเวณบ้านเพราะเหตุที่มีวรรณะต่างกัน ทำให้ชีวิตการเรียนของเธอไม่เป็นสุข และเนื่องจากครอบครัวของเธอมีปัญหามากมายที่รุมเร้ากดดัน เธอจึงถูกบังคับให้แต่งงานเมื่ออายุเพียง 12 ขวบ กับผู้ชายที่อายุแก่กว่าเธอ 10 ปี เธอต้องออกจากบ้านในชนบทติดตามสามีเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ Mumbai ซึ่งเธอก็ต้องพบกับความทุกข์ยากลำบากซ้ำอีก เมื่อต้องมาอาศัยอยู่ในสลัมเมือง Mumbai กับครอบครัวของสามี ซึ่งมีพี่ชายสามีและพี่สะใภ้คอยทำร้ายรังแกเธอจนสุดจะทน ทั้งการทุบตีร่างกาย และด่าทอด้วยวาจาทำร้ายจิตใจ แต่เธอก็อดทนต่อสู้อย่างที่สุด จนพ่อของเธอทนไม่ไหวที่เห็นสภาพความทุกข์ยากลำบากของลูกสาวในสลัม จึงช่วยเหลือนำเธอหนีจากครอบครัวสามีกลับหมู่บ้านเกิดซึ่งเป็นเรื่องเสียหน้าและน่าอับอายมากในสังคมอินเดีย คนในหมู่บ้านมองเธอด้วยสายตาเหยียดหยาม วิพากษ์วิจารณ์เธอถึงความล้มเหลวในชีวิตของเธอ แต่เธอก็พยายามต่อสู้ดิ้นรนด้วยการเรียนเย็บผ้าและดำรงชีพด้วยการรับจ้างเย็บผ้า แต่รายได้เพียงน้อยนิดทำให้ชีวิตของเธอทุกข์ยากลำบากมากจนวันหนึ่งเธอหมดใจที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อต่อสู้ต่อไปอีก เธอตัดสินใจกรอกยาฆ่าปลวกเข้าปากเพื่อฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่น้าสาวของเธอมาพบเธอนอนดิ้นน้ำลายฟูมปากเสียก่อน เธอจึงได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นความตายอย่างหวุดหวิด

การรอดพ้นจากความตายในวันนั้นทำให้ Kalpana Saroj ได้คิด และเธอได้ตัดสินใจว่าจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อสู้ต่อไป เพื่อทำเรื่องใหญ่ๆให้ได้ ก่อนจะตาย ด้วยวัยเพียง 16 ปี เธอตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวเดินทางกลับเข้ามาอยู่ในเมือง Mumbai อีกครั้งโดยอาศัยอยู่กับลุงซึ่งเป็นช่างตัดเสื้อผ้าและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองใหญ่ด้วยรายได้น้อยกว่า 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่เธอมีความมานะพยายามที่จะเรียนรู้การเย็บจักรอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากยิ่งขึ้น แต่เงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นยังไงก็ไม่เพียงพอกับค่ายา ค่ารักษาของพี่สาวของเธอได้ ทำให้เธอคิดดิ้นรนที่จะหาเงินเพิ่ม และจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการในตัวเธอเริ่มปรากฏขึ้น เธอดิ้นรนขอกู้เงินจากกองทุนเงินกู้ของรัฐบาลเพื่อเอามาลงทุนทำธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ควบคู่ไปกับการรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า
Kalpana Saroj ต้องทำงานหนักวันละ 16 ชั่วโมงเพื่อสร้างฐานะตนเอง และต่อมาเธอได้แต่งงานใหม่กับนักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ มีลูกด้วยกัน 2 คน ครอบครัวกำลังจะมีความสุขสบาย สามีก็มาตายจากเธอไปอีกในปี 1989 ทำให้เธอต้องรับสานงานธุรกิจต่อจากสามีซึ่งเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก เมื่อกิจการโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไปได้ดีเธอจึงขยายกิจการไปรับงานก่อสร้าง ซึ่งพอดีกับช่วงเศรษฐกิจของอินเดียกำลังเฟื่องฟูพอดี บริษัทก่อสร้างของเธอเติบโตไปได้ดีมีกำไรมาก เธอจึงนำเงินไปลงทุนในโรงงานผลิตเหล็กและโรงงานน้ำตาล การบริหารกิจการธุรกิจของเธอประสบความสำเร็จมาก จนเป็นที่ยอมรับของสังคม เธอกลายเป็นนักธุรกิจผู้บริหารหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคนหนึ่งของอินเดีย
โอกาสทองของ Kalpana Saroj เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2006 เมื่อศาลสั่งให้บริษัท Kalpana Saroj and Associates ของเธอเข้าไปควบกิจการของบริษัท Kamani Tubes ซึ่งตกอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลายเพราะมีหนี้สินสะสมมหาศาล เธอคว้าโอกาสนี้เข้าไปปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ แก้ไขปัญหาทางการเงินที่ค้างคามานาน จัดระเบียบการทำงานใหม่ ให้ความเป็นธรรมให้แก่คนงาน สร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน ทำให้บริษัทที่มีสภาพใกล้ล้มละลายมาหลายปี ฟื้นกลับมาเติบโตใหม่ได้อีกครั้ง และปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพราะ Kalpana Saroj มาจากวรรณะต่ำ มาจากความยากจน เธอจึงเข้าใจและเห็นใจความทุกข์ยากของคนจน บริษัทของเธอเปิดรับคนจากทุกวรรณะเข้ามาทำงานโดยไม่มีการรังเกียจวรรณะ และเธอดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนในบริษัท ทุกวันนี้แม้เธอจะเป็นผู้บริหารบริษัทชั้นนำของประเทศอินเดียไปแล้วแต่เธอไม่เคยลืมหมู่บ้านชนบท เธอกลับไปช่วยเหลือพัฒนาหมู่บ้านของเธอโดยการทำการกุศลหลายโครงการ
ทุกวันนี้ Kalpana Saroj เป็นผู้บริหารหญิงที่มาจากวรรณะต่ำที่สามารถเดินกระทบไหล่กับนักธุรกิจชั้นนำของอินเดียได้ เธอเป็นกรรมการบริษัทหลายแห่ง เป็นกรรมการองค์กรทางสังคมหลายองค์กร ได้รับเกียรติบัตรและรางวัลมากมาย

Kalpana Saroj ได้กลายเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของคนที่มาจากวรรณะต่ำ ที่คนหนุ่มสาวชาวอินเดียจากวรรณะต่ำกำลังเอาเธอเป็นแบบอย่างแห่งชีวิต เธอกล่าวให้กำลังใจแก่คนที่ต้องการความสำเร็จในชีวิตการทำงานว่า
"If you give your heart and soul to your job and never give up, things can happen for you."
“ถ้าคุณให้ใจและจิตวิญญาณแก่งาน และไม่เคยยอมแพ้ อะไรก็เกิดขึ้นแก่คุณได้”
Nelson Mandela กล่าวว่า “Does anybody really think that they didn't get what they had because they didn't have the talent or the strength or the endurance or the commitment?”  
“มีใครคิดจริงๆบ้างไหมว่าการที่พวกเขาไม่ได้รับสิ่งที่เขาอยากได้เป็นเพราะพวกเขาไม่มีความสามารถ หรือความเข้มแข็ง หรือความอดทน หรือความทุ่มเทพยายาม”
ปราชญ์จีน กล่าวว่า “ยามมีควรคิดถึงยามจน ยามจนไม่ควรคิดถึงยามมี”
Kalpana Saroj เป็นผู้หญิงที่รวยแล้ว แต่ยังคิดถึงยามจน ครับ J

แหล่งข้อมูล: kalpanasaroj.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น