วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Stephen Covey ผู้เปลี่ยนอุปนิสัยคน

An honorable man makes honorable plans; ​​​​​​his honorable character gives him security.”                                                                                                          Isaiah 32:8


Stephen Covey เขียนหนังสือ “The 7 Habits of Highly Effective People” ในปี 1989 และหนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ขายได้มากกว่า 25 ล้านเล่มทั่วโลก แปล 38 ภาษา หนังสือเล่มนี้ทำให้ Stephen Covey เป็นที่รู้จักของผู้นำผู้บริหารทั่วโลก และเขาได้รับเชิญให้เป็นผู้บรรยายให้ผู้บริหารของบริษัทชั้นนำมากมายทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทใน Fortune 500 เป็นลูกค้าของศูนย์อบรมผู้นำ Covey Leadership Centre ในมลรัฐ Utah สหรัฐอเมริกา
แนวความคิดของ Stephen Covey เป็นการนำเรื่องของคุณค่าทางจริยธรรมพื้นฐานที่ได้สั่งสอนกันมาแต่โบราณ(Old- fashioned) มาพูดใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยการบริหารงานสมัยใหม่ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในขณะที่ผู้รู้(Guru) นักคิดนักวิชาการในวงการบริหารจัดการจะมุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรด้วยการเน้นที่ระบบการบริหารงานที่ใช้กระบวนการและเทคนิคสมัยใหม่ Stephen Covey กลับเน้นที่การปรับปรุงอุปนิสัยตนเองของคนที่เป็นผู้นำในเรื่อง คุณลักษณะของบุคคล (Personal character) เป้าประสงค์ (Purpose) และความมีระเบียบวินัยในตัวเอง(Self-discipline) ซึ่งเป็นหลักการของคุณลักษณะทางจริยธรรม(Principles of a character ethic) และเป็นคุณค่า (Values) ในชีวิตของคนซึ่งมีความเป็นสากลและอยู่เหนือกาลเวลา(Universal and timeless) คุณค่าในชีวิตคือสิ่งควบคุมพฤติกรรมของคน (Values govern people’s behavior) ส่วนหลักการคือสิ่งกำหนดผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (Principles determine the consequence) และคุณค่าในชีวิตเป็นสิ่งภายในที่แสดงออกมาสู่ภายนอก(Inside out) และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างอุปนิสัยที่จะนำความสำเร็จมาสู่ชีวิตครอบครัว ชีวิตการทำงาน การบริหารจัดการ และความสำเร็จขององค์กรได้
Stephen Covey เสนอการพัฒนาอุปนิสัยสำคัญที่เริ่มจากการพัฒนาอุปนิสัยที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น (Dependence) ไปสู่อุปนิสัยที่พึ่งพาตนเอง (Independence) และนำไปสู่อุปนิสัยแห่งการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) ซึ่งเป็นอุปนิสัยของการรู้จักตนเองและรู้จักผู้อื่น เคารพตนเองและเคารพผู้อื่น รู้จักรับและรู้จักให้ผู้อื่น เป็นอุปนิสัยที่สร้างคุณลักษณะของผู้นำ ซึ่งนำความสำเร็จมาสู่ชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงาน
Stephen Covey มองบุคลากรในองค์กรว่าไม่ได้เป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นหนึ่งที่ขับเคลื่อนด้วยการให้รางวัล (Reward) หรือการลงโทษ (Punishment) แต่บุคลากรเป็นคนที่มีอุปนิสัยของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ Peter Drucker เจ้าทฤษฏีการบริหารจัดการสมัยใหม่ซึ่งเน้น ความมีประสิทธิภาพ เป็นอุปนิสัย (Effectiveness is a habit) สิ่งที่ทำให้ Stephen Covey มีความแตกต่างจากนักคิดนักวิชาการทางด้านบริหารจัดการคนอื่นๆคือ ในชีวิตจริงของStephen Covey เขาปฏิบัติตามสิ่งที่เขาเขียน (He lived the life he wrote about.)
Stephen Covey ใช้เทคนิคง่ายๆในการแนะนำให้คนพัฒนาการบริหารจัดการเช่น การแนะนำให้แบ่งงานออกเป็น 4 กลุ่ม คือ งานที่ด่วนและสำคัญ (Urgent and Important) งานที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญ (Non-urgent and Unimportant) งานที่ด่วนแต่ไม่สำคัญ (Urgent and not Important) และ งานที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ (Non-urgent and Important) แล้วจัดลำดับความสำคัญของงานและลำดับความสำคัญของเวลาในการทำงาน ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลักการที่โดดเด่นของ Stephen Covey คือ การรักษาสมดุลของชีวิตครอบครัวกับชีวิตการทำงาน Stephen Covey จะให้ความสำคัญของครอบครัวเป็นอันดับแรก งานเป็นอันดับสอง (Work second, family first) ในชีวิตจริง Stephen Covey มีลูก 9 คน มีหลาน52 คน เขามีเวลาให้แก่ครอบครัวเสมอ และได้เขียนหนังสือเรื่อง 7 อุปนิสัยของครอบครัวที่มีประสิทธิภาพอย่างสูง “The 7 Habits of Highly Effective Families” เพื่อแนะนำการมีครอบครัวที่มีความสุข
โดยสรุป อุปนิสัย 7 ประการของคนที่มีประสิทธิภาพสูง (The 7 Habits of Highly Effective People) ที่ Stephen Covey นำเสนอประกอบด้วย
Habit 1: Be Proactive ตื่นตัว รุก
เป็นอุปนิสัยแห่งการรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ และเป็นอุปนิสัยของการเป็นฝ่ายรุกมากกว่าการเป็นฝ่ายตั้งรับเหตุการณ์ เป็นอุปนิสัยในการตัดสินใจจัดการกับปัญหาก่อนที่มันจะเกิดปัญหาขึ้น เป็นอุปนิสัยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งดีกว่าการปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นแล้วค่อยตอบสนองแก้ไขปัญหา เพราะมันยากกว่า และสิ้นเปลืองพลังงาน ทรัพยากร และเวลา มากกว่า
Habit 2: Begin with the End in Mind เริ่มต้นด้วยภาพความชัดเจนของสิ่งที่ต้องการในตอนท้ายคืออะไร
การเริ่มต้นด้วยการมีภาพที่ชัดเจนว่าสิ่งที่ต้องการในที่สุดคืออะไร จะทำให้มีความชัดเจนในกระบวนการทำงาน สามารถตรวจสอบขั้นตอนในการทำงานว่าถูกต้องมุ่งไปสู่ ภาพสุดท้ายที่ต้องการให้ปรากฏเป็นจริงหรือไม่ เหมือนการก่อสร้างบ้าน จะต้องมีภาพของบ้านทั้งหลังที่เราต้องการ และเขียนออกมาเป็นแบบแปลนก่อสร้างก่อนที่จะเริ่มทำการก่อสร้าง การเริ่มต้นงานใดๆโดยยังไม่มีภาพความชัดเจนของเป้าหมายอยู่ในใจ ทำให้กระบวนการทำงานไม่ชัดเจนตามไปด้วย และมีปัญหาเกิดตามมามากมาย
Habit 3: Put First Things First จัดลำดับก่อนหลัง
การจัดลำดับก่อนหลังของสิ่งที่ต้องทำ ไม่ได้หมายถึงการจัดลำดับความเร่งด่วน (Urgent) แต่หมายถึงการจัดลำดับ ความสำคัญ (Important) ของสิ่งที่เราจะต้องทำบ่อยครั้งในชีวิตที่เราทำสิ่งเร่งด่วนที่ไม่สำคัญก่อน หรือทำโดยไม่ได้คิดว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง การจัดกลุ่มความสำคัญของงาน ทำให้เราสามารถจัดการทรัพยากร และเวลา ให้กับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดความมีประสิทธิผลตามมา
Habit 4: Think Win-Win คิดได้ด้วยกัน
เป็นอุปนิสัยที่รู้จักแบ่งปันให้ซึ่งกันและกัน ทำให้ต่างคนต่างได้ผลประโยชน์ (Mutually benefits) เป็นอุปนิสัยที่รู้จักเข้าใจและให้ความเคารพผู้อื่น ซึ่งเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวกับผู้ที่เราต้องทำงานด้วย การรู้จักให้ผู้อื่นทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกอยากจะทำงานร่วมกับเรามากขึ้น
Habit 5: Seek First to Understand, then to be Understood หาทางทำความเข้าใจก่อน แล้วจะได้รับความเข้าใจ
อุปนิสัยที่พยายามทำความเข้าใจผู้อื่นก่อน รู้จักฟังผู้อื่นก่อน สอบถามข้อมูลจากผู้อื่นก่อนเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เปิดใจกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็น และเหตุผลของผู้อื่นก่อน แล้ววิเคราะห์อย่างรอบครอบก่อนการตัดสินใจ จะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความเข้าใจที่ถูกต้อง และจะสามารถโน้มน้าวให้ผู้อื่นเข้าใจความต้องการของเรา และให้ความร่วมมือในการทำงานและแก้ไขปัญหาด้วยความเต็มใจ
Habit 6: Synergize กระตุ้นพลัง
อุปนิสัยในการกระตุ้นให้เกิดพลังความร่วมมือจากผู้อื่นในการทำงานให้สำเร็จ เป็นการสร้างความร่วมมือทำงานเป็นทีม การกระตุ้นให้คนในทีมแสดงศักยภาพที่ดีที่สุดออกมาเพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด เป็นอุปนิสัยที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ร่วมงาน โดยผู้นำต้องสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ (Trust) ให้กับผู้ร่วมงานก่อน แล้วความร่วมมือ (Cooperation) จากผู้ร่วมงานจะตามมา ยิ่งผู้ร่วมงานมีความไว้วางใจสูง ความร่วมมือจะยิ่งมีมาก
Habit 7: Sharpen the Saw ลับความคม
เป็นอุปนิสัยแห่งการสร้างสมดุลในชีวิต ทั้งร่างกาย (Physical) อารมณ์ (Emotion) สังคม (Social) จิตใจ (Mental) จิตวิญญาณ (Spiritual) ความสมดุลของทุกมิติในชีวิต จะทำให้ชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงานมีประสิทธิภาพ อุปนิสัยนี้มีความสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ชีวิตของเรามีความสดใหม่ (Self –Renewal) อยู่ตลอดเวลา ชีวิตที่มีความกระชุ่มกระชวย ทำให้เรามีพลังในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
Brain Tracy กล่าวว่า Decisiveness is a characteristic of high-performing men and women. Almost any decision is better than no decision at all.การกล้าตัดสินใจเป็นคุณลักษณะของชายและหญิงที่มีผลการปฏิบัติงานสูง การตัดสินใจใดๆเกือบทุกกรณีก็ดีกว่าการไม่ตัดสินใจเลย และ
Jenny Craig กล่าวว่า A change in bad habits leads to a change in life.การเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยที่เลวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิต
Stephen Covey ได้จากโลกนี้ไปอยู่กับพระเจ้าแล้วเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 80 ปี ทิ้งหลักการพัฒนาอุปนิสัย การบริหารชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหนังสือที่เขาเขียนหลายเล่มไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่านและศึกษาเพื่อพัฒนาอุปนิสัยที่ดี และผมเชื่อว่ามีคนจำนวนมากที่อ่านหนังสือที่เขาเขียน ศึกษาหลักคิดและหลักการของเขาด้วยความตั้งใจจริง ปรับเปลี่ยนอุปนิสัยของตน จนประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต และประสบความสำเร็จในการทำงาน
ขอขอบพระคุณความดีงามของ Stephen Covey ที่ท่านได้สร้างผ่านตัวอักษรที่มีชีวิต ผมเชื่อว่ารางวัลยิ่งใหญ่ที่ท่านได้รับคือสันติสุขที่ได้อยู่กับพระผู้เป็นเจ้าแล้วJ

วันอังคารที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

จากเด็กสลัมสู่เศรษฐีเงินพันล้าน

“ทรัพย์สมบัติที่ได้มาเร็วจะร่อยหรอหมดไป แต่คนที่เก็บเล็กผสมน้อยจะมีมากขึ้น”                                                                                                                      สุภาษิต 13:11

Kalpana Saroj เกิดในวรรณ Dalit ซึ่งเป็นวรรณะต่ำสุดของสังคมอินเดีย ในอดีตเรียกว่า achuta หรือวรรณะที่ห้ามสัมผัส [Dalit (Hindi: दलित) — formerly known as untouchable or achuta] เนื่องจาก Kalpana Saroj เกิดในวรรณะต่ำสุด ชีวิตของเธอในวัยเด็กจึงมีสภาพเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดในวรรณะชั้นต่ำสุดของอินเดียคนอื่นๆที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของชีวิตในแต่ละวัน แม้กระทั่งการไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน เธอก็ยังถูกเหยียดหยาม ดูถูก ห้ามเข้าร่วมบางกิจกรรมของโรงเรียน พ่อแม่ของเพื่อนๆห้ามเธอเข้าไปเล่นในบริเวณบ้านเพราะเหตุที่มีวรรณะต่างกัน ทำให้ชีวิตการเรียนของเธอไม่เป็นสุข และเนื่องจากครอบครัวของเธอมีปัญหามากมายที่รุมเร้ากดดัน เธอจึงถูกบังคับให้แต่งงานเมื่ออายุเพียง 12 ขวบ กับผู้ชายที่อายุแก่กว่าเธอ 10 ปี เธอต้องออกจากบ้านในชนบทติดตามสามีเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่ Mumbai ซึ่งเธอก็ต้องพบกับความทุกข์ยากลำบากซ้ำอีก เมื่อต้องมาอาศัยอยู่ในสลัมเมือง Mumbai กับครอบครัวของสามี ซึ่งมีพี่ชายสามีและพี่สะใภ้คอยทำร้ายรังแกเธอจนสุดจะทน ทั้งการทุบตีร่างกาย และด่าทอด้วยวาจาทำร้ายจิตใจ แต่เธอก็อดทนต่อสู้อย่างที่สุด จนพ่อของเธอทนไม่ไหวที่เห็นสภาพความทุกข์ยากลำบากของลูกสาวในสลัม จึงช่วยเหลือนำเธอหนีจากครอบครัวสามีกลับหมู่บ้านเกิดซึ่งเป็นเรื่องเสียหน้าและน่าอับอายมากในสังคมอินเดีย คนในหมู่บ้านมองเธอด้วยสายตาเหยียดหยาม วิพากษ์วิจารณ์เธอถึงความล้มเหลวในชีวิตของเธอ แต่เธอก็พยายามต่อสู้ดิ้นรนด้วยการเรียนเย็บผ้าและดำรงชีพด้วยการรับจ้างเย็บผ้า แต่รายได้เพียงน้อยนิดทำให้ชีวิตของเธอทุกข์ยากลำบากมากจนวันหนึ่งเธอหมดใจที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อต่อสู้ต่อไปอีก เธอตัดสินใจกรอกยาฆ่าปลวกเข้าปากเพื่อฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่น้าสาวของเธอมาพบเธอนอนดิ้นน้ำลายฟูมปากเสียก่อน เธอจึงได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้นความตายอย่างหวุดหวิด

การรอดพ้นจากความตายในวันนั้นทำให้ Kalpana Saroj ได้คิด และเธอได้ตัดสินใจว่าจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อสู้ต่อไป เพื่อทำเรื่องใหญ่ๆให้ได้ ก่อนจะตาย ด้วยวัยเพียง 16 ปี เธอตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวเดินทางกลับเข้ามาอยู่ในเมือง Mumbai อีกครั้งโดยอาศัยอยู่กับลุงซึ่งเป็นช่างตัดเสื้อผ้าและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองใหญ่ด้วยรายได้น้อยกว่า 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ แต่เธอมีความมานะพยายามที่จะเรียนรู้การเย็บจักรอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากยิ่งขึ้น แต่เงินรายได้ที่เพิ่มขึ้นยังไงก็ไม่เพียงพอกับค่ายา ค่ารักษาของพี่สาวของเธอได้ ทำให้เธอคิดดิ้นรนที่จะหาเงินเพิ่ม และจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการในตัวเธอเริ่มปรากฏขึ้น เธอดิ้นรนขอกู้เงินจากกองทุนเงินกู้ของรัฐบาลเพื่อเอามาลงทุนทำธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์ควบคู่ไปกับการรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า
Kalpana Saroj ต้องทำงานหนักวันละ 16 ชั่วโมงเพื่อสร้างฐานะตนเอง และต่อมาเธอได้แต่งงานใหม่กับนักธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ มีลูกด้วยกัน 2 คน ครอบครัวกำลังจะมีความสุขสบาย สามีก็มาตายจากเธอไปอีกในปี 1989 ทำให้เธอต้องรับสานงานธุรกิจต่อจากสามีซึ่งเป็นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ขนาดเล็ก เมื่อกิจการโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไปได้ดีเธอจึงขยายกิจการไปรับงานก่อสร้าง ซึ่งพอดีกับช่วงเศรษฐกิจของอินเดียกำลังเฟื่องฟูพอดี บริษัทก่อสร้างของเธอเติบโตไปได้ดีมีกำไรมาก เธอจึงนำเงินไปลงทุนในโรงงานผลิตเหล็กและโรงงานน้ำตาล การบริหารกิจการธุรกิจของเธอประสบความสำเร็จมาก จนเป็นที่ยอมรับของสังคม เธอกลายเป็นนักธุรกิจผู้บริหารหญิงที่ประสบความสำเร็จอย่างมากคนหนึ่งของอินเดีย
โอกาสทองของ Kalpana Saroj เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2006 เมื่อศาลสั่งให้บริษัท Kalpana Saroj and Associates ของเธอเข้าไปควบกิจการของบริษัท Kamani Tubes ซึ่งตกอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลายเพราะมีหนี้สินสะสมมหาศาล เธอคว้าโอกาสนี้เข้าไปปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ แก้ไขปัญหาทางการเงินที่ค้างคามานาน จัดระเบียบการทำงานใหม่ ให้ความเป็นธรรมให้แก่คนงาน สร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน ทำให้บริษัทที่มีสภาพใกล้ล้มละลายมาหลายปี ฟื้นกลับมาเติบโตใหม่ได้อีกครั้ง และปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

เพราะ Kalpana Saroj มาจากวรรณะต่ำ มาจากความยากจน เธอจึงเข้าใจและเห็นใจความทุกข์ยากของคนจน บริษัทของเธอเปิดรับคนจากทุกวรรณะเข้ามาทำงานโดยไม่มีการรังเกียจวรรณะ และเธอดูแลให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคนในบริษัท ทุกวันนี้แม้เธอจะเป็นผู้บริหารบริษัทชั้นนำของประเทศอินเดียไปแล้วแต่เธอไม่เคยลืมหมู่บ้านชนบท เธอกลับไปช่วยเหลือพัฒนาหมู่บ้านของเธอโดยการทำการกุศลหลายโครงการ
ทุกวันนี้ Kalpana Saroj เป็นผู้บริหารหญิงที่มาจากวรรณะต่ำที่สามารถเดินกระทบไหล่กับนักธุรกิจชั้นนำของอินเดียได้ เธอเป็นกรรมการบริษัทหลายแห่ง เป็นกรรมการองค์กรทางสังคมหลายองค์กร ได้รับเกียรติบัตรและรางวัลมากมาย

Kalpana Saroj ได้กลายเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จของคนที่มาจากวรรณะต่ำ ที่คนหนุ่มสาวชาวอินเดียจากวรรณะต่ำกำลังเอาเธอเป็นแบบอย่างแห่งชีวิต เธอกล่าวให้กำลังใจแก่คนที่ต้องการความสำเร็จในชีวิตการทำงานว่า
"If you give your heart and soul to your job and never give up, things can happen for you."
“ถ้าคุณให้ใจและจิตวิญญาณแก่งาน และไม่เคยยอมแพ้ อะไรก็เกิดขึ้นแก่คุณได้”
Nelson Mandela กล่าวว่า “Does anybody really think that they didn't get what they had because they didn't have the talent or the strength or the endurance or the commitment?”  
“มีใครคิดจริงๆบ้างไหมว่าการที่พวกเขาไม่ได้รับสิ่งที่เขาอยากได้เป็นเพราะพวกเขาไม่มีความสามารถ หรือความเข้มแข็ง หรือความอดทน หรือความทุ่มเทพยายาม”
ปราชญ์จีน กล่าวว่า “ยามมีควรคิดถึงยามจน ยามจนไม่ควรคิดถึงยามมี”
Kalpana Saroj เป็นผู้หญิงที่รวยแล้ว แต่ยังคิดถึงยามจน ครับ J

แหล่งข้อมูล: kalpanasaroj.com

วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความจริง10 ประการง่ายๆของ Sir Terry Leahy

“มีเล็กน้อยพร้อมกับมีความชอบธรรม ก็ดีกว่ามีรายได้มากพร้อมกับความอยุติธรรม ใจของมนุษย์กะแผนงานทางของเขา แต่พระยาห์เวห์ทรงนำย่างเท้าของเขา”
สุภาษิต 16:8-9
Sir Terry Leahy ผู้บริหารสูงสุดของTesco เข้าทำงานที่Tesco เมื่อปี 1979 ซึ่งในขณะนั้น Tesco ขายสินค้าเพียง 1 ใน 10 ของจำนวนสินค้าที่ขายในปัจจุบัน ในประเทศอังกฤษ 95%ของคนอังกฤษสามารถไปห้าง Supermarket ที่แตกต่างกันได้ถึง 3 แห่งหรือมากกว่านั้นโดยใช้เวลาภายใน 15 นาทีจากที่เขาอยู่อาศัย และในช่วงเวลา 1เดือน โดยเฉลี่ยลูกค้าไปซื้อของในSupermarket ที่แตกต่างกันถึง 3 แห่ง
มูลค่าของการขายที่ลูกค้าสับเปลี่ยนจ่ายระหว่างห้าง Supermarket ที่แตกต่างกันในเวลานี้มีมูลค่ามากกว่า 10 พันล้านปอนด์ต่อปี เงินจำนวนนี้แหละที่ทำให้การแข่งขันดุเดือด และทำให้ราคาสินค้าถูกลง ดังนั้นเมื่อคุณหยิบสินค้าขึ้นจากล้อเข็นเพื่อชำระเงิน ขอให้คิดถึงจำนวนคนที่ช่วยทำให้สินค้ามาอยู่ในมือคุณเช่น เกษตรกร ผู้แปรรูปอาหาร คนกลั่นเบียร์ ชาวประมง โรงงานขนาดเล็ก รถลากจูง ซึ่งคือ เส้นเลือดของห่วงโซ่อุปทานที่กระจายข้ามภูมิภาค ข้ามประเทศ และข้ามทวีป

ต่อไปนี้คือ ความจริงธรรมดาง่ายๆ 10 ประการ ของ Sir Terry Leahy
(The Ten Simple Truths of Sir Terry Leahy)
1.           ความไว้วางใจ (Trust)
ความไว้วางใจเป็น พื้นฐานของการเป็นผู้นำที่ดี การสร้างแรงบันดาลใจให้คนเกิดความไว้วางใจในตัวผู้นำเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ เพราะคนอาจจะยังคงเชื่อฟังผู้นำ แต่พวกเขาอาจจะปฏิบัติตามอย่างไม่ค่อยเต็มใจ หรือปฏิบัติตามด้วยใจเพียงครึ่งเดียว และอาจเกิดความลังเลใจในการจะปฏิบัติตามเมื่อผู้นำสั่งพวกเขา
2. ค่านิยม (Values)
ค่านิยมของ Tesco ที่ Sir Terry Leahy เน้น คือการเคารพผู้อื่น มีความสัตย์ซื่อ (Integrity) อุตสาหะอดทน (Perseverance) มีความสำนึกอย่างชัดเจนในสิ่งถูกและสิ่งที่ผิด (A clear sense of right and wrong) องค์กรที่ประสบความสำเร็จจะถูกตรึงด้วยค่านิยมที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะครอบงำการประพฤติปฏิบัติในองค์กร รู้ว่าสิ่งใดสำคัญ และรู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรเมื่อเผชิญกับปัญหา การมีความจริงใจต่อชุดค่านิยมที่ชัดเจน เช่นการแสดงความเคารพผู้อื่น การให้รางวัลแก่คนที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นหยั่งรากในองค์กร
3. ความจงรักภักดี (Loyalty)
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การชนะใจและการรักษาความจงรักภักดีได้ คือวัตถุประสงค์ที่ดีที่สุดขององค์กรใดๆที่พึงจะมี ทุกครั้งที่ใครก็ตาม ต้องทำการตัดสินใจ ควรถามตนเองเสียก่อนว่า สิ่งที่ตัดสินใจจะทำให้คนมีความจงรักภักดีต่อเรามากขึ้นหรือไม่ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของบริษัท เพราะความจงรักภักดีจะก่อตัวติดกับคน เป็นเรื่องของเหตุผลส่วนหนึ่ง และเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกส่วนหนึ่ง ความจงรักภักดีที่เกิดขึ้นจะทำให้คนกลับมาซื้อของที่ห้างของบริษัท ทำให้คนลงทุนในหุ้นของบริษัท และใช้บริการอื่นๆของบริษัท
4. ความกล้าหาญ (Courage)
Sir Terry Leahy ไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนกล้าหาญโดยธรรมชาติ ออกจะเป็นคนขี้อายและระมัดระวังมากด้วยซ้ำ เขาจะเข้าไปดำเนินการใดๆก็ต่อเมื่อมีความมั่นใจในสถานการณ์และได้ประเมินความเสี่ยงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อเขาได้เป็นผู้บริหารสูงสุดของTesco เขามีความชัดเจนว่าอะไรคือเป้าหมายที่ควรจะมี ความต้องการของเขาคือ ประการที่หนึ่ง เขาต้องการซื้อบริษัท Marks & Spencer เพื่อกลายเป็นบริษัทอันดับหนึ่งของอังกฤษ ประการที่สอง เขาต้องการให้Tesco เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งที่สุดในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ประการที่สาม เขาต้องการที่จะเริ่มธุรกิจบริการปลีก เช่นบริการทางการเงิน หรือการสื่อสาร และประการสุดท้าย เขาต้องการให้Tesco มีพื้นที่ห้างค้าปลีกในต่างประเทศให้มากเท่าๆกับที่มีในประเทศอังกฤษ ในเวลานั้นยุทธศาสตร์ของ Sir Terry Leahy ถูกปฏิเสธจากหลายคนว่าเพี้ยน แต่ความจริงก็คือ เป้าหมายนั้นจะต้องใหญ่ (Bold) และท้าทาย (Daring) เป้าหมายต้องทำให้เกิดความตื่นเต้น (Excitement) และทำให้เราเกิดความกลัวเพียงเล็กน้อย (A little fear) และTesco ทำได้สำเร็จทุกประการในเวลาต่อมา
5. ปฏิบัติ (Act)
การกล่าวคำปราศรัย หรือการประกาศนโยบายสวยหรู เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการเปลี่ยนคำพูดหวานๆที่ประกาศไปให้เป็นความจริงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แผน (Plan) จะไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าไม่ได้เอามาใช้อย่างมีประสิทธิผล หลังการตัดสินใจ เราจำเป็นต้องเขียนลำดับเหตุการณ์หรือการปฏิบัติที่จะทำให้แผนนั้นกลายเป็นความจริง สิ่งที่เป็นอันตรายก็คือ ถ้าคุณไม่ทำ มันจะไม่มีสิ่งที่ตกลงร่วมกันได้ว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำให้สำเร็จ
6. ดุลยภาพ (Balance)
สิ่งท้าทายสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ใดๆคือไม่เพียงแต่มีแค่การสร้างความสำนึกของการมีมิตรภาพที่ดีต่อกันเท่านั้น แต่ต้องมีกรอบการทำงาน(Framework) ที่ทำให้แต่ละคนสามารถแสดงบทบาทที่เห็นว่าดีและเหมาะสมที่สุดของตนได้ (Perform their roles as they best see fit.) ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนให้คนมีความคิดริเริ่ม และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองกระทำ นี่คือดุลยภาพขององค์กร ที่ทำทุกคนเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกันในทิศทางที่ถูกต้อง
7. ความง่าย (Simple)
เป้าหมายที่ง่ายทำให้คนทำสนใจ จุดยืนที่ธรรมดาง่ายต่อการที่คนจะเข้าใจ การปฏิบัติที่ง่ายทำให้ใช้เวลาน้อยในการเรียนรู้และประหยัดเวลาในการทำ และมีค่าใช้จ่ายน้อยด้วย (Simple acts take less time to learn and less time to do and cost less.) ระบบที่ง่ายใช้เวลาน้อยในการสร้าง ง่ายต่อการแก้ไขปรับปรุง และทำให้คนที่ปฏิบัติประจำมีความพึงพอใจ ที่จริงแล้ว ความง่าย เปรียบเสมือนมีดที่ตัดทะลุเส้นใยปัญหาความยุ่งยากในชีวิตที่พันกันอย่างยุ่งเหยิงเหมือนเส้น Spaghetti
8. ความประหยัด (Lean)
ความคิดประหยัด เป็นทางที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราได้ใช้ทรัพยากรน้อยลงในการผลิต เช่น ผงซักฟอกแบบเดิมที่เราใช้กันมานาน (Traditional detergent) ปริมาณมันมาก หนักและใช้พื้นที่มากในการเก็บ ทำให้ต้องใช้เวลาในการบรรจุหีบห่อ และเสียค่าใช้จ่ายแพงในการขนส่ง ซึ่งกินกำไรที่เราควรจะได้ ผงซักฟอกชนิดเข้มข้น (Concentrated washing detergent) ใช้บรรจุภัณฑ์น้อยกว่าดังนั้นจึงเสียค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าในการขนส่ง ผงซักฟอกชนิดเข้มข้นสามารถซักผ้าในอุณหภูมิที่ต่ำกว่า จึงลดการใช้พลังงาน ถ้าทุกคนในโลกนี้เปลี่ยนมาใช้ผงซักฟอกชนิดเข้มข้น เราสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าสี่ล้านตัน ซึ่งนั่นจะเท่ากับการเอารถยนต์หนึ่งล้านคันออกไปจากท้องถนน
9. การแข่งขัน (Compete)
ทุกๆวัน คู่แข่งขันของคุณกำลังพยายามใช้ปัญญาที่จะเอาชนะธุรกิจของคุณ มัน เหมือนกับคุณเป็นนักการเมืองที่ต้องแข่งขันเลือกตั้งทุกวัน สิ่งที่ท้าชวนคุณคือการรีบทำให้การแข่งขันจบลง และปราบคู่แข่งขันของคุณให้ได้ ถึงจะทำให้คุณมีความสุขใจ ถ้าคุณเพิกเฉยไม่สนใจปล่อยให้คู่แข่งที่ด้อยกว่าคืบคลานเข้ามาอย่างเงียบๆข้างหลังคุณ นั่นไม่ใช่เป็นเพียงแค่ความผิดพลาดเท่านั้น แต่มันทำให้คุณเสียโอกาสด้วย การแข่งขันจึงเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับ ต้องต่อสู้ อย่ายอมพ่ายแพ้
10. ความจริง (Truth)
            “ความจริง” คือสิ่งที่สำคัญที่สุดใน สิบประการที่กล่าวมานี้ การแสวงหาความจริง หรือพูดความจริง ไม่ใช่เป็นเพียงความถูกต้องทางจริยธรรมเท่านั้นแต่เป็นข้อเท็จจริงของความสำเร็จในการบริหาร เราต้องเสาะหาต้นตอของปัญหา อย่าปิดบังสิ่งที่เราเรียนรู้ ค้นหาคำตอบที่แท้จริงของปัญหา อะไรคือเป้าหมายขององค์กร สิ่งสำคัญคือ คุณจะต้องสัตย์ซื่อต่อตนเองและต่อคนที่อยู่รอบๆคุณ แหล่งความจริงที่ดีที่สุด ส่วนใหญ่มักได้แก่คนที่อยู่รอบๆคุณ ลูกค้าของคุณ คนที่คุณรับใช้เขาอยู่ จงฟังและเรียนรู้จากพวกเขา เอาใจใส่ในคำแนะนำของพวกเขา และคุณจะมีโอกาสอย่างมากที่จะประสบความสำเร็จ
แหล่งข้อมูล: เรียบเรียงจาก Tesco Leader by TERRY LEAHY

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ค่าบริการรักษาพยาบาลในสหรัฐอเมริกา

“ปัญญา​​ล้ำค่ากว่าอัญมณีและทุกสิ่งที่เจ้าปรารถนาไม่อาจเปรียบกับปัญญาได้เลย
 ชีวิตยืนยาวอยู่ในมือขวาของปัญญาส่วนในมือซ้ายมีความมั่งคั่งและเกียรติยศ
 ทางของปัญญาเป็นทางของความร่มรื่นและวิถีทั้งสิ้นของปัญญาคือความสงบสุข
ปัญญา​​เป็นต้นไม้แห่งชีวิตแก่ผู้ที่ฉวยเธอไว้ บรรดาผู้ที่ยึดเธอไว้แน่นจะสุขสบาย
สุภาษิต 3:15-18

สถานีวิทยุ National Public Radio ร่วมกับมูลนิธิ Robert Wood Johnson และ Harvard School of Public Health ได้ร่วมกันทำการสำรวจความคิดเห็นผู้ป่วยในอเมริกัน (The Sick in American Poll) โดยพบว่า 27% ของคนอเมริกันที่ต้องพึ่งบริการระบบการแพทย์ เนื่องจากความเจ็บป่วย หรือ ความพิการ กำลังเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายทางการเงิน
ชาวอเมริกัน 9ใน10 คน เชื่อว่าค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในระบบการแพทย์กำลังเป็นปัญหาสำคัญของชาติ และ 70% ของผู้ป่วยชาวอเมริกันเห็นด้วยว่าปัญหานี้ได้เลวลงตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

เมื่อถามว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้น ผู้ป่วยอเมริกันส่วนใหญ่ตอบว่า การเรียกเก็บเงินค่าบริการ ของหน่วยงานที่เรียกเก็บเงินผลิตภัณฑ์และค่าบริการที่แพงเกินไป ซึ่งรวมถึง บริษัทยา (85%) โรงพยาบาล (78%) บริษัทประกัน (75%) และ แพทย์ (58%)
ผู้ป่วย 70% ให้ความเห็นด้วยว่า เป็นเพราะคนไม่ใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาพของตนให้ดีทำให้เกิดการใช้บริการทางการแพทย์มากขึ้น และทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากขึ้น
ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ผู้ป่วยระบุคือ 61% เห็นว่ามีความไม่ตรงไปตรงมา และไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์   54% เห็นว่าการไม่ร่วมมือกันในการรักษาพยาบาลทำให้มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการและทำหัตถการซ้ำซ้อน และ 51% เห็นว่าเป็นเพราะค่าใช้จ่ายของประชากรผู้สูงอายุ กฎระเบียบของรัฐบาล และค่าใช้จ่ายของระบบ Medicare และ Medicaid ที่มีค่าใช้จ่ายมากจนควบคุมไม่อยู่
            นอกจากนี้  ผู้ป่วย 47% ยังมีความเห็นว่าแพทย์และพยาบาลไม่ได้ใช้เวลาอย่างพอเพียงกับผู้ป่วยในการอธิบายเหตุผลต่อปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพการรักษาพยาบาล และ ผู้ป่วย 44% บอกว่า ประชาชนไม่ได้ทำตามคำแนะนำหรือรับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์
            ได้อ่านผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ป่วยในอเมริกันแล้ว ผมอยากเห็นสำนักสำรวจความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งในเมืองไทยทำการสำรวจความคิดเห็นบริการทางการแพทย์ของไทยบ้างเพื่อจะได้ทราบความคิดเห็นของผู้ป่วยชาวไทย
ผู้ป่วยที่ต้องไปใช้บริการจากโรงพยาบาลบ่อยๆย่อมรู้ดีถึงปัญหาในระบบการแพทย์ในเรื่องการประสานงานรักษาพยาบาล การทำงานเป็นทีมและการสื่อสาร และการไหลของงานสื่อสารกับผู้ป่วย
การแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างผู้ให้บริการทางการแพทย์และผู้ป่วยที่มารับบริการ ผู้ป่วยต้องเป็นศูนย์กลางของการบริการ ด้วยการสื่อสารที่ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใช้บริการสิ่งที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้จริงๆ สิ่งนี้จะเป็นการช่วยปิดช่องว่างของการบริการ และนำไปสู่การใช้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพในที่สุด
Bill Frist กล่าวว่า “อเมริกามีแพทย์ที่ดีที่สุด พยาบาลที่ดีที่สุด โรงพยาบาลที่ดีที่สุด เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีที่สุด และยาที่ทันสมัยที่สุดในโลก ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ประเทศนี้จะไม่มีการรักษาพยาบาลที่ดีที่สุดในโลก”
เรากำลังตามหลังอเมริกามิใช่หรือ? L

Healthcare Costs in America


 
“Wisdom is more valuable than jewels; nothing you could want can compare with it.
Wisdom offers you long life, as well as wealth and honor.
Wisdom can make your life pleasant and lead you safely through it.
Those who become wise are happy; wisdom will give them life.”
Proverbs 3:15-18
The National Public Radio, Robert Wood Johnson Foundation, and the Harvard School of Public Health had jointly conducted the Sick in America Poll and found that 27% of Americans who use the health system as a result of their illness or disability are encountering financial challenges.
9 in 10 Americans believe that health care costs in the medical system are a serious problem for the nation and 70% of sick Americans agree that this problem has gotten worse over the last 5 years.

When asked what factors are responsible for rising health care costs in the U.S., large majorities of ill Americans say “it’s the charges,” pointing to organizations charging too much money for products and services: these include drug companies (85%), hospitals (78%), insurance companies (75%), and doctors (58%).
70% of patients also say that because people are not taking good care of their health that’s driving up health care utilization and, thus, costs for more medical treatment.
Other cost drivers cited by the sick are fraud and abuse (61%), lack of coordinated care which leads to duplication of tests and treatments (54%), and 51% of people noting population aging, government regulation, and Medicare and Medicaid spending out of control.
In addition, 47% of patients told that doctors and nurses don’t spend enough time with patients in a question on reasons for problems with quality of care, along with 44% saying people not following through on the advice or treatment recommendations of their doctors.
Having read the results of The Sick in American Poll, I would like to see pollsters from many well known universities in Thailand conduct the survey of Thai medical services so that we will know the opinion of Thai patients.
Patients who have frequently used the services from hospitals are well aware of problems in the medical system; the coordination of care, team-based care and communication, and a workflow communication with patients.  
In solving the gap between medical service providers and patients who receive their services, patients must be the center of services. Patients must be informed, understood and engaged in the decision to use the necessary needs of medical care. This would help to close the service gap and lead to the effectiveness of health care spending in the end.
Bill Frist quotes “America has the best doctors, the best nurses, the best hospitals, the best medical technology, the best medical breakthrough medicines in the world. There is absolutely no reason we should not have in this country the best health care in the world.”
        Are we following the Americans? L