วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2560

Thailand 4.0 ตอนที่ 1



“The Lord will not let a good man starve to death, nor will He let the wicked man’s riches continue forever.”           Proverbs 10:3

เริ่มต้นปีใหม่ ต้องคิดถึงสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาและตลอดไป อยู่ที่เราจะมองไปข้างหลังหรือมองไปข้างหน้า ข้างหลังคือปีที่ผ่านไปเป็นสิ่งที่เราก้าวผ่านมาแล้ว ไม่ว่าเรา มีความสำเร็จ หรือมีความผิดหวังเกิดขึ้นในชีวิต ล้วนกลายเป็นบทเรียนที่มีค่าให้เรานำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อ ทำให้เกิดความสำเร็จมากขึ้น หรือ ไม่ให้เกิดความผิดหวังแบบเดิมซ้ำอีก

ในปีที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า Thailand 4.0 จากท่านนายกรัฐมนตรีค่อนข้างบ่อย แต่ไม่ค่อยมีสื่อตามออก มาอธิบายให้เกิดความเข้าใจในวงกว้างเพื่อให้คนระดับชาวบ้านทั่วไปได้เข้าใจกันอย่างทั่วถึง มีแต่การพูด กันในแวดวงนักวิชาการ ข้าราชการ ในเวทีประชุมสัมมนาของนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม ชาวบ้านทั่วไป ยังไม่รู้โดยภาพรวมทั้งหมดว่า Thailand 4.0 คืออะไร แล้วจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีผลกระทบต่อชีวิต ของประชาชนชาวไทยอย่างไร ประชาชนชาวไทยในสังคม Thailand 4.0 ที่ว่านี้ จะต้องคิดและทำอะไรบ้าง
ถึงจะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

Thailand 4.0 เป็นชื่อเรียก ประเทศไทยที่จะพัฒนาทางเศรษฐกิจไปในอนาคตอีกไม่นาน ตัวเลข 4.0 หมายถึง  เศรษฐกิจของประเทศไทยที่แบ่งออกเป็นช่วงๆ ตามลักษณะของการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเรียก

Thailand 1.0 เป็นช่วงที่ประเทศไทยยังเป็นสังคมเกษตรกรรม มีรายได้หลักของประเทศมาจากการเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ปอ ฝ้าย ยังมีอุตสาหกรรมน้อย มีโรงงานขนาดเล็กๆ เช่น โรงสีข้าว โรงงานทอผ้า โรงเลื่อย โรงน้ำแข็ง โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงกลึง เป็นต้น

Thailand 2.0 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเบา (Light industry) ตั้งในประเทศ ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ได้บ้าง แต่เครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ รายได้ของประเทศไทยยังคงมาจากการเกษตร เป็นรายได้จากการขายทรัพยากรธรมชาติ และจากการขาย แรงงานที่ราคาถูก จึงเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเบาเข้ามาตั้งในประเทศ

Thailand 3.0 เป็นช่วงที่ประเทศไทยส่งเสริมการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ทำให้เกิดนิคม อุตสาหกรรมขึ้นทั่วประเทศ รัฐบาลให้บัตรส่งเสริมการลงทุนให้สิทธิพิเศษต่างๆแก่นักลงทุน เพื่อให้ต่างชาติ นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย นำผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทักษะ และนำเทคโนโลยีใหม่ เข้ามาในประเทศ เป็นช่วงที่เกิดกระแสโลกาภิวัฒน์ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างรวดเร็ว ประเทศไทยนอกจากการ มีรายได้จากการเกษตรแล้ว ยังมีรายได้จากการส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศ และมีรายได้จากภาคบริการ คือการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งในเวลานี้ถือว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปลายๆของ Thailand 3.0 และ กำลังเคลื่อนเข้าสู่

Thailand 4.0 คือช่วงที่รัฐบาลวางแผนทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยมีรายได้จากการเพิ่มมูลค่า ทั้งภาค การผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการมากขึ้น เรียกว่า Value Based Economy คือสร้างมูลค่าให้ สินค้าหรือบริการที่เราผลิตและขายมีมูลค่าสูงขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลาที่ผ่านมา เราใช้ทรัพยากรมูลค่ามหาศาลเพื่อผลิตสินค้าและขายสินค้าในปริมาณมากๆเพื่อสร้างรายได้ซึ่งเป็นรายได้ ที่ทำกำไรได้เพียงเล็กน้อย เรียกว่าทำมากแต่ได้น้อย (More for less) เหมือนที่เราพูดว่าขายข้าวถึง 5 ต้น แต่ซื้อโทรศัพท์มือถือได้เพียงเครื่องเดียว ซึ่งเวลานี้ทรัพยากรของเราไม่ได้มีมากมายเหมือนในอดีตอีกแล้ว จึงต้องหาวิธีการสร้างรายได้แบบใหม่ คือใช้ทรัพยากรน้อยแต่ทำรายได้มาก หรือ ทำน้อยแต่ได้มาก (Less for more) ซึ่งดีแน่ๆใครๆก็อยากได้ แต่การจะทำอย่างนี้ได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างการสร้างรายได้ใหม่ เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ คือเปลี่ยนแปลงจากการสร้างรายได้จาก อุตสาหกรรมหนักด้านเดียว ไปเป็นการสร้างรายได้จากการขายเทคโนโลยี (Industries to Technology) หลายด้านที่มีมูลค่าสูงกว่า และ เปลี่ยนรายได้จากการผลิตและขายสินค้าทั่วๆไป (Commodities) เป็นการผลิตและขายสินค้าที่มีนวัตกรรม (Commodities to Innovation) ที่เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น

การเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าสูง เป็นความจำเป็นที่ประเทศ ไทยต้องทำ เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ล้วนมีโครงสร้างเศรษฐกิจ เป็นเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าทั้งสิ้น ตัวอย่างประเทศในอาเซียนด้วยกันคือประเทศสิงคโปร์ เกาะเล็กนิดเดียว ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรเลย แต่มีโครงสร้างเศรษฐกิจบนพื้นฐานการทำธุรกิจบวกมูลค่า สามารถพัฒนา เป็นประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในระดับต้นๆของโลก โดยใช้เวลาการสร้างประเทศเพียงครึ่งศตวรรษเท่านั้น

ประเทศไทยเคยใช้ความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้งและทรัพยากรราคาถูก ที่เรียกว่า Comparative Advantage เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และประสบความสำเร็จ สามารถทำมาค้าขาย ได้ดีในระดับหนึ่ง จนเคยได้รับการจับตามองว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่าง ต่อเนื่องของอาเซียน มาบัดนี้ เมื่อประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่การผลิตเพื่อขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่า สูงขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆอีกต่อไป เพราะความได้เปรียบจากการเปรียบเทียบแบบเดิมกำลังหมดไป เนื่องจาก ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงมากขึ้น และการแข่งขันในเวทีใหม่จะเป็นการแข่งขันที่ต้องชิงความได้เปรียบ ในการแข่งขัน ที่เรียกว่า Competitive Advantage เนื่องจากประเทศที่กำลังพัฒนาทุกประเทศ ต่างพากัน หนีกับดักรายได้ประชาชาติปานกลาง ที่เรียกว่า Middle Income Trap คือไม่ถึงกับเป็นประเทศยากจน แต่คนในประเทศส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลาง ส่วนคนรวยในประเทศมีจำนวนน้อยแต่กลับร่ำรวยมหาศาล เพราะการกระจายความมั่งคั่ง (Wealth distribution) ของสังคมไม่ดี ไม่มีความเป็นธรรม (Inequality) แบบปลาใหญ่ไล่งับปลาเล็ก และมีความไม่สมดุล (Imbalance) ของการใช้ทรัพยากร และกฎหมายอยู่มาก

การที่ประเทศไทยจะก้าวให้พ้นจากประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางนี้ ประชาชนทั้งประเทศต้องมีความรู้ และความเข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประชาชน เป็นส่วนของการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ทำการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยตรง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ถ้าคนในประเทศไม่ร่วมมือทำอย่างจริงจัง จะทำไม่สำเร็จ และจะทำในประเทศตกอยู่ในตำแหน่งที่ลำบากมากขึ้น เมื่อประเทศอื่นๆในอาเซียนเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียตนาม ฟิลิปปินส์ และพม่า ก้าวแซงหน้าประเทศไทย

Thailand 4.0 คาดหวังว่า ประเทศไทยจะสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่อง

  • การเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรกรรม คือเปลี่ยนการเกษตรแบบที่ทำตามๆกันมา(Traditional Farming) ไปเป็นการเกษตรกรรมแบบชาญฉลาด (Smart Farming) คือใช้ความรู้ ใช้เทคโนโลยี ใช้สารสนเทศ ใช้ศาสตร์การบริหารจัดการ การตลาด เข้ามาวางแผน ควบคุมคุณภาพ การลงทุนและค่าใช้จ่าย มีการวิจัยพัฒนา สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง แปรรูปผลผลิตให้เป็นสินค้าที่มี คุณภาพสูงและมูลค่าสูงขึ้นด้วย

  • การเปลี่ยนแปลงการค้าขายของผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดเล็กที่เคยทำตามกันมา (Traditional SMEs) ไปเป็นการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ชาญฉลาด (Smart Enterprises และ Startups) เช่นกัน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องใช้ความรู้ใหม่ เทคโนโลยีใหม่ มีการซื้อนวัตกรรม มีการลงทุน มีการบริหาร การจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ที่ตอบสนองต่อการแข่งขันและยืด หยุ่นต่อบริบทการเปลี่ยนแปลง เพื่อสามารถแข่งขันได้อย่างรวดเร็วเพราะโลกการแข่งขันเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา ดังนั้นการลงทุนจึงต้องหวังผลตอบแทนสูงและคุ้มทุนในเวลารวดเร็ว จะต้องมีนวัตกรรม ใหม่ ที่มั่นใจว่าเมื่อปล่อยของออกไปแล้วจะรับทรัพย์อย่างแน่นอน ถึงจะลงทุนตั้งธุรกิจ (Startups) ซึ่งจะไม่ยากในการหาเงินลงทุน เพราะมีนายทุนและสถาบันการเงินจ้องร่วมลงทุน เพื่อผลตอบแทน ที่สูงอยู่แล้ว  ผู้ประกอบการจะไม่ตั้งธุรกิจก่อนตามกระแส แล้วค่อยไปลุ้นอีกทีว่าธุรกิจจะไปรอดหรือไม่ แบบที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน

  • การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี คือเปลี่ยนจากผู้ซื้อเทคโนโลยีมาใช้ (Buy technologies) มาเป็น ผู้ทำเทคโนโลยีใช้และขาย (Make technologies) เพราะคนไทยเป็นนักซื้อเทคโนโลยีที่เร็วมาก แต่ใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยคุ้มค่า แต่ละปีประเทศเราเสียเงินจำนวนมหาศาลซื้อเทคโนโลยีเข้าประเทศ จึงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่มาสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้และขาย ซึ่งจริงๆแล้วเรามีเซียน และเทพที่เก่งทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีจำนวนไม่น้อย แต่พวกเขาต้องรับทำงานให้ต่างชาติ เพราะไม่ค่อยมีโครงการขนาดใหญ่ของไทยให้ทำ และผลตอบแทนไม่จูงใจ ขณะเดียวกันยังมี เซียนและเทพที่เก่งทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศไทยไม่น้อย ถ้าเราเปิดโอกาสให้เซียนและเทพทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเหล่านี้ มีโอกาสทำงานแสดงความสามารถของพวกเขา ผ่านโครงการใหญ่ๆของรัฐบาล และให้ได้รับผลตอบ แทนที่เหมาะสม เราน่าจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ จากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องทางเทคโนโลยีนี้

  • การเปลี่ยนแปลงภาคธุรกิจบริการจากที่ทำแบบเดิมๆ (Traditional Services) เป็นการทำธุรกิจ บริการแบบมูลค่าสูง (High Value Services) ซึ่งคนไทยโดยธรรมชาติมีน้ำใจบริการ (Service mind) อยู่แล้ว ธุรกิจบริการนั้นครอบคลุมกว้างไปหมด ถ้ารู้จักนำไปใส่เนื้อหา เรื่องราว ปรับรูปโฉมให้ดูดี มีค่าขึ้น จะมีราคาสูงขึ้น แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่เคยร่ำรวยจากการเป็นประเทศอุตสาหกรรม เวลานี้ยัง ต้องปรับตัวหารายได้เพิ่ม หันมาทำมาหากินจากภาคธุรกิจบริการ อย่างที่รู้จักกันในชื่อนโยบาย The Cool Japan คือ ขายวัฒนธรรมของญี่ปุ่น โดยใส่เนื้อหา เรื่องราว สีสัน รูปลักษณ์ เข้าไปในดนตรี ภาพยนต์ โทรทัศน์ แฟชั่น การ์ตูน อาหาร ขนม การท่องเที่ยว เรียกนักท่องเที่ยวเข้าประเทศรับ เงินสดได้ทุกวัน จนภาคอุตสาหกรรมต้องอิจฉา ประเทศไทยเรามีวัฒนธรรมของชาติที่คนต่างชาติ ชื่นชอบนิยมอยู่แล้ว ขนาดไม่ได้ทำอะไรมากเลย คนก็แห่มาเที่ยวกรุงเทพมากเป็นอันดับต้นๆของ โลกอยู่แล้ว เชียงใหม่ก็เป็นเมืองที่หนุ่มสาวชาวจีน นิยมมาเที่ยวกันมาก ถ้าเราเอาวัฒนธรรมของแต่ ละท้องถิ่น ใส่เรื่องราว เนื้อหา เอกลักษณ์ ปรับปรุงเรื่องรูปลักษณ์ ของสินค้าให้สอดคล้องกับ วัฒนธรรม วางตำแหน่งสินค้า และบริการให้สูงขึ้น เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากธุรกิจภาค บริการได้อย่างแน่นอน

  • การใช้ทรัพยากรมนุษย์แบบขายแรงงาน (Unskilled Labors) ที่มีทักษะเฉพาะด้านน้อย ทำงานได้ จำกัดหน้าที่ ถ้าอยากได้เงินมากก็ต้องทำงานล่วงเวลา ใช้แรงทุบอย่างเดียว แต่เวลานี้มีประเทศที่ขาย แรงงานราคาถูกกว่าประเทศไทยอยู่หลายประเทศ นักลงทุนพากันทะยอยย้ายโรงงานไปตั้งใน ประเทศที่มีค่าแรงถูกเหล่านั้นเพิ่มขึ้น เราจึงต้องปรับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้เป็น แรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น (High Skilled Labors) และเพิ่มจำนวนคนทำงานที่มีความรู้ (Knowledge Workers) ที่สามารถสื่อสารอ่านความคิด รับผิดชอบทำงานได้หลายหน้าที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าค่าแรง ให้สูงขึ้น เป็นการดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้ และทักษะระดับสูง เข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น ทดแทนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานราคาถูกที่กำลังจะหมดไป

ทั้งหมดที่เขียนมานี้คือเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น และคนไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm) ใหม่ เพราะจะอยู่แบบเดิม คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม อีกต่อไปไม่ได้แล้ว เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าเรารู้ตัวเอง และยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เปลี่ยนความคิด และเปลี่ยนการกระทำให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราจะอยู่กับโลกได้ตลอดไป แต่ถ้าเราเปลี่ยนแปลงช้าไป โอกาสที่เราควรจะได้ใช้จะหายไป และเราจะอยู่อย่าง ลำบากในโลกที่เปลี่ยนแปลง

Stephen Covey กล่าวว่า
“If you want small changes in your life, work on your attitude. But if you want big and primary changes, work on your paradigm.” ถ้าคุณต้องการเปลี่ยนแปลงเล็กๆในชีวิตของคุณ เปลี่ยนแปลงทัศนคติ แต่ถ้าต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่และสำคัญมาก ให้เปลี่ยนกระบวนทัศน์
คงต้องจบเพียงแค่นี้ก่อน เพื่อเอาใจคนสมัยนี้ที่ไม่ชอบอ่านอะไรยาว เพราะสมาธิสั้นลงกว่าสมัยก่อน และมีเรื่องให้อ่านกันเยอะตั้งแต่เช้ายันดึกบนโทรศัพท์มือถือ ถ้าสนใจ Thailand 4.0 ขอเชิญอ่านต่อ ในตอนต่อไปครับ

ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูล: ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ ศ.ดร. ศันสนีย์ ไชยโรจน์
และภาพจาก ฐานเศรษฐกิจ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น