“Wise men lay up knowledge: but the mouth of the foolish is near destruction” Proverbs10:14
ระยะนี้ได้เห็นเรื่องความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีผ่านสื่อสังคมทั้ง Facebok และ Line กันบ่อยมาก มีทั้งที่ดูแล้วเกิดความรู้สึกมหัศจรรย์ใจในความสามารถของมนุษย์ที่คิด อะไรที่มันไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ เช่นรถยนต์ไร้คนขับบนถนน รถแทรกเตอร์ไร้คนขับในแปลงเกษตร ต่อไปรถไฟตามราง เรือในท้องทะเลมหาสมุทร และ เครื่องบินบนท้องฟ้าก็คงเป็นเรื่องไม่ยากที่ไม่ต้องใช้คนขับ และที่ดูแล้วเกิดความ วิตกกังวลว่าในอนาคตมันจะเกิดปัญหาอะไรตามมาอีกหรือเปล่า เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตลอดเวลาในเวลานี้ เราเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงที่กวาดสิ่งเก่าทิ้งไป คือ Disruptive change แน่นอนว่าของทุกอย่างมีสองด้านทั้งด้านที่เป็นคุณและด้านที่เป็นโทษ แล้วทั้งสองด้านจะเกิดผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไร ชีวิตเราจะสบายมากขึ้นจริงหรือเปล่า หรือ คนจะตกงานมากไหมเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาทำหน้าที่แทนคนมากขึ้น
เทคโนโลยีที่อุบัติขึ้นมาใหม่ (Emerging technology) ทุกวัน ทำให้เกิดการขยายพื้นที่ของการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆอย่างไม่มีขอบเขต และเกิดขึ้นในอัตราความเร็วที่เร็วกว่าเดิมมาก และการนำนวัตกรรมมาเปลี่ยนรูปแบบเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อขายเป็นสินค้า หรือ ขายเป็นบริการนั้น เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เช่นเทคโนโลยีนาโน (Nanotechnology) ปัจจุบันนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าขายในตลาดมากมาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าบริโภคในครัวเรือน เทคโนโลยีใหม่ทำให้เกิดนวัตกรรมทั้งทางกายภาพ (Physical) ทางชีวภาพ (Biological) และ ทางดิจิตัล (Digital) เช่นการพิมพ์ 3มิติ (3D printer) หุ่นยนต์อัจฉริยะ (Robot) พันธุกรรม (Genetics) เกิดระบบอัจฉริยะ (Smart system) จากปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) และการเชื่อมต่อของอินเตอร์เนตในทุกสิ่ง (Internet of Things) ขึ้นมาให้เราใช้ทั้งที่ในบ้าน ในที่ทำงาน ในโรงเรียนมหาวิทยาลัย ในโรงงานอุตสาหกรรม ในไร่นาสวนเกษตร ในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และกำลังจะเข้ามาใช้ในระดับมหาภาคคือ การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart cities) ในอนาคต
เทคโนโลยีคงเกิดเป็นคลื่นของการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดต่อไป สิ่งที่น่ากังวลคือ การปรับตัวของคนที่ต้องได้รับผลกระทบทั้งโดยตรงและทางอ้อมจากการเกิดและนำมาใช้ของเทคโนโลยีใหม่ เพราะถ้าเราตามเทคโนโลยีไม่ทันอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Technology illiteracy เราก็อยู่อย่างลำบาก เพราะจะกลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่ล้าหลัง ในสังคมโลก และมีผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศด้วย เหมือนประเทศที่มีคนอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้เป็นจำนวนมากในอดีตที่ทำให้ประเทศล้าหลังได้
เทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปเรียบร้อยแล้ว และกำลังรู้สึกหวั่นเกรงว่ามันจะเข้ามาบงการชีวิตของเรามากขึ้นทุกวัน
รัฐบาลไทยตอบรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีด้วยการตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Thailand 4.0 คือการปรับประเทศครั้งใหม่ให้ทันกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
(The 4th Industrial Revolution) เพื่อประเทศไทยจะสามารถดำรงอยู่และแข่งขันกับประเทศอื่นๆทั่วโลกได้ แต่ข้าราชการและประชาชนส่วนใหญ่ ยังคงมีความเข้าใจอย่างเพียงผิวเผินว่า ถ้าเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในกิจกรรมที่ทำก็เป็น Thailand 4.0 แล้ว
รัฐบาลไทยอาจประสบความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์ชื่อ Thailand 4.0 ที่ทำให้ คนไทยนำคำนี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย อะไรๆก็ขอให้ลงท้าย 4 .0 ไว้ก่อนทำให้ไม่ตกกระแส แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรู้ว่าเขาต้อง ปรับตัวและต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ประเทศไทยเป็น Thailand 4.0 ได้ ดั่งที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ เหมือนเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์เรื่องประเทศอาเซียน กำลังจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจ AEC ก็มีการสัมนากันทั่วประเทศแล้วเอาธงชาติ ของประเทศอาเซียนมาประดับตามโรงเรียนและหน่วยงานราชการ และสอนเด็กให้ พูดคำว่าสวัสดีในทุกภาษาของประเทศเพื่อนบ้าน แล้วเรื่อง AEC ก็จบเพียงเท่านั้น
การทำให้ประเทศไทยเป็น Thailand 4.0 ได้นั้นเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่พลเมือง ของประเทศต้องเกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องที่ผูกโยงกันทุกมิติ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ไม่สามารถแยกการบริหารจัดการเป็นส่วนๆได้ ดังนั้น รัฐบาลและประชาชน ที่ประกอบธุรกิจหลากหลายอาชีพจึงควรต้อง
- ติดตามสถานการณ์ (Keep it situational) เพราะเทคโนโลยีทำให้โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน และมีผลกระทบต่อกันทุกวัน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมีพลวัตร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องได้ เทคโนโลยี ทำให้ประเทศเกาหลีเหนือสามารถทดลองยิงขีปนาวุธระยะไกลข้ามทวีปได้ แต่ผลกระทบกระเทือนไปถึงการค้าการลงทุนของหลายประเทศ นโยบายของรัฐบาลจึงต้องยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ไม่สามารถใช้ตัวอักษรตาม การตีความทางภาษากฎหมายมาเป็นไม้บรรทัดขีดให้ปฏิบัติเหมือนกันหมดได้ เพราะธุรกิจแต่ละประเภทอุตสาหกรรมไม่สามารถใส่เสื้อเบอร์เดียวกัน (One size fits all ) ได้ เนื่องจากบริบทของการบริหารจัดการของแต่ละธุรกิจ อุตสาหกรรมมันแตกต่างกัน ตามสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
- ติดตามยุทธศาสตร์ (Keep it strategy) ยุทธศาสตร์ตามที่ได้กำหนดไว้ใน Thailand 4.0 ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สิ่งที่คิดและวางแผนไว้ เวลาปฏิบัติจริงสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ยุทธศาสตร์จึงต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเสมอ คือต้อง เป็นยุทธศาสตร์ที่มีชีวิตรู้จักปรับยุทธศาสตร์ของตนเองให้อยู่รอด ยุทธศาสตร์ ของธุรกิจก็เช่นกัน ถ้ารูปแบบธุรกิจ (Business model) เปลี่ยนไม่ทัน แผนธุรกิจ(Business plan) ปรับไม่ทัน ธุรกิจก็จบ เพราะยุคนี้เป็นยุคของความเร็ว
- บูรณาการเข้าด้วยกัน (Keep it integrated) เพราะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดและวิถีความเป็นอยู่ของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ที่เทคโนโลยีใหม่เข้ามามีบทบาทในชีวิต ดังนั้นจึงต้องนำทุกมิติที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง และมีผลกระทบเข้ามาบูรณาการด้วยกัน เพราะถ้าความรู้ของคนยังเป็นชุดความรู้ (Mindset) เดิม แล้วจะไปเปลี่ยนชุดทักษะ (Skillset) ใหม่ได้อย่างไร ถ้าระบบการศึกษายังไม่เปลี่ยนชุดความคิด มิติด้านเทคโนโลยียังไม่เปลี่ยน มิติทางด้านอื่นๆไม่สามารถเปลี่ยนตามได้
- ติดตามต่อเนื่อง (Keep it monitoring) เพราะการขับเคลื่อนให้เป็น Thailand 4.0 เป็นเรื่องใหญ่และเป็นเรื่องยาวที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน ทุกมิติทางสังคม จึงต้องมีการติดตามดูผลตลอดเวลาและนำมาปรับปรุงแก้ไข เพราะทุกตัวขับเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลง (Driver of change) ต้องทำหน้าที่ของมันอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เมื่อใดที่สิ่งที่คิดไม่เหมือนสิ่งที่ทำต้องรู้ทันทีเพื่อทำการปรับปรุงแก้ไข เพื่อทำให้การขับเคลื่อนนั้นเกิดประสิทธิผล
- ควบคุมให้เกิดผล (Keep it control) การควบคุมให้เกิดผลเป็นเรื่องยากเพราะเราไม่สามารถควบคุมการอุบัติขึ้นใหม่ของเทคโนโลยีได้ เราอาจสามารถควบคุมให้ยุทธศาสตร์มันเดินไปในทิศทางที่เราต้องการเท่านั้น ในเวลาที่ Disruptive Technology กำลังเติบโตนี้เราคิดและวางแผนงานได้เพียงระยะสั้นๆเท่านั้น เพราะวงจรอายุของเทคโนโลยีในปัจจุบันมันสั้นมาก ทำให้คาดการณ์ได้ยากที่จะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในระยะยาว แม้จะควบคุมได้เพียงบางส่วน เราก็ต้องพยายามควบคุมให้ดีที่สุด
ความจริงเทคโนโลยีน่าจะเป็นเพียงเครื่องมือของคนในการสร้างประโยชน์ให้แก่มนุษย์ แต่คนต้องมีความรู้และเข้าใจเทคโนโลยีอย่างพอเพียงที่จะควบคุมการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปตามความต้องการของเรา แต่ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าเราถูกเทคโนโลยีใช้เราให้ทำ ตามความสามารถของเทคโนโลยีไปเสียแล้ว
Albert Einstein ดูเหมือนจะรู้ว่าวันหนึ่งเทคโนโลยีจะก้าวล้ำความเป็นมนุษย์ ดังที่เขากล่าวว่า “It has become appallingly obvious that our technology has exceeded our humanity.” มันได้กลายเป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัวที่เทคโนโลยีของเราได้เกินความเป็นมนุษย์ของเราไปแล้ว
เช่นเดียวกับ Steve Jobs ที่กล่าวไว้ก่อนอำลาโลกว่า
“Technology is nothing. What's important is that you have a faith in people, that they're basically good and smart, and if you give them tools, they'll do wonderful things with them.” เทคโนโลยีไม่มีค่าอะไร สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องมีความเชื่อมั่นในตัวคนว่าโดยพื้นฐานแล้วคนเป็นคนดีและฉลาด และถ้าเราให้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือแก่พวกเขา คนสามารถทำสิ่งดีงามด้วยเทคโนโลยีได้
และขอปิดท้ายด้วยคำพูดของ Bill Gates ที่กล่าวว่า
“Technology is just a tool. In terms of getting the kids working together and motivating them, the teacher is the most important.” เทคโนโลยีเป็นเพียงแค่เครื่องมือเท่านั้น ในการทำให้เด็กสามารถทำงานด้วยกันได้ และใช้เป็นเครื่องกระตุ้นความสนใจของพวกเด็กๆ ครูต่างหากที่เป็นส่วนสำคัญที่สุด
มาลงท้ายที่ครูได้ยังไงเนี่ย
ขอบคุณเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้ท่านได้อ่านบทความนี้ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น