“Drink waters out
of thine own cistern, and running waters out of thine own well.” Proverbs
5:15
ก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการแล้ว
แต่ดูเหมือนยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรมากมายนักในหมู่พี่น้องประชาชนชาวอาเซียน อย่างเป็นรูปธรรม
ที่เคลื่อนไหวมากและสัมผัสได้กลับเป็นประชาชนชาวจีนที่แห่กันเข้ามาเที่ยวประเทศไทยเป็นล้านๆคน
โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวที่ไม่ใหญ่โตมากนักอย่างเชียงใหม่ เดินไปตามถนนสายใดเป็นได้เจอเฮียตี๋แจ๊หม่วยเดินอยู่ทุกถนน
และรถยนต์ป้ายทะเบียนสีน้ำเงินที่ขับมาจากประเทศจีนวิ่งกันไปมา
จนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชุมกันเพื่อจัดระเบียบเรื่องรถยนต์ที่วิ่งมาจากประเทศจีนกันใหม่ให้มีการซื้อกรรมธรรมประกันอุบัติเหตุก่อนจึงจะอนุญาตให้ขับในประเทศไทยได้
ผมเพิ่งไปเที่ยวเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า กับเพื่อนๆที่เคยเรียนหนังสือด้วยกันมาในโรงเรียนชั้นมัธยมปลายเมื่อ
49 ปีก่อน ได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
แม้ขนาดรูปร่างและหน้าตาของเพื่อนแต่ละคนจะเปลี่ยนแปลงไปตามสังขารและกาลเวลา
แต่มิตรภาพความเป็นเพื่อนนักเรียนยังคงมีอยู่เหมือนเดิม ระยะเวลาสั้นๆเพียงไม่กี่วันที่ได้สนุกสนานเฮฮากันอีก
ให้ความสุขที่มีความหมายทางจิตใจไปอีกยาว
เมืองเชียงตุง ตั้งอยู่ในรัฐฉานตะวันออกของประเทศพม่า
อยู่ไม่ไกลจากจังหวัดเชียงราย ของประเทศไทย มากนัก เดินผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองที่อำเภอแม่สาย
เข้าเมืองท่าขี้เหล็ก ของประเทศพม่าแล้ว ขึ้นรถบัสเดินทางไปอีกประมาณเกือบ 5 ชั่วโมง ก็ถึงเมืองเชียงตุง ที่สงบเงียบ แล้วครับ
ถนนจากเมืองท่าขี้เหล็กไปเมืองเชียงตุง เป็นถนนลาดยางสองช่องจราจร
สภาพถนนไม่ราบเรียบ เป็นเส้นทางขึ้นเขาลงเขาคดเคี้ยวพอสมควร มีด่านตรวจระหว่างเมืองตั้งอยู่เป็นระยะ
ตามเส้นทางมีรถยนต์วิ่งไม่มากนัก สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านพม่าตามหมู่บ้านสองข้างทาง
ที่ได้เห็นด้วยสายตายังอยู่ในสภาพล้าหลังกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก
ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
เมืองเชียงตุง กับเมืองเชียงใหม่ มีความสัมพันธ์กันทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน
ตั้งแต่สมัยพญามังรายเรืองอำนาจได้ส่งชาวลัวะเป็นแม่ทัพคุมกำลังไปตีเอาเมืองเชียงตุงมาเป็นเมืองลูกหลวง
หรือเป็นเมืองบริวารของอาณาจักรล้านนา ต่อมาในสมัยพระยาผายู
เจ้าผู้ครองเมืองเชียงใหม่ ได้ส่งพระยาเจ็ดพันตู ไปปกครองเมืองเชียงตุง ซึ่งได้มีการนิมนต์พระสงฆ์
และนำผู้คนช้างม้าวัวควายจำนวนหนึ่งจากเมืองเชียงใหม่ไปเมืองเชียงตุง ทำให้มีการค้าขายไปมาหาสู่กัน
มีความสัมพันธ์กันทางเครือญาติอย่างต่อเนื่องมาถึงสมัยพญากือนา และสมัยพระเจ้าติโลกราช
ก่อนที่ประเทศพม่าจะถูกประเทศอังกฤษยึดครองเป็นเมืองอาณานิคม เมืองเชียงตุงก็ถูกยึดครองไปด้วย
เมืองเชียงตุงกลับมามีความสัมพันธ์กับประเทศไทยอีกครั้งในสมัย รัฐบาลจอมพล
แปลก พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อรัฐบาลไทยได้ให้จอมพลผิน
ชุณหะวัณ เป็นแม่ทัพนำทหารไทยโดยการสนับสนุนของกองทัพทหารญี่ปุ่นไปยึดเมืองเชียงตุง
คืนจากประเทศอังกฤษได้เมื่อวันที่ 26
พฤษภาคม 2485
และได้ทำการสถาปนาเจ้าเหล็กพรหมลือ
โอรสเจ้าก้อนแก้วอินแถลง เป็นเจ้าฟ้าสิริสุวรรณราชยศพรหมลือ ปกครองเมืองเชียงตุง แต่พอประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่
2 ทหารไทยก็ต้องถอนทัพเดินเท้ากันหลายวันกว่าจะถึงจังหวัดเชียงราย
อาคารสถานที่ทำการกงศุลไทยที่เคยตั้งอยู่ที่เมืองเชียงตุง
มัคคุเทศก์ท้องถิ่นบอกว่าถูกนักธุรกิจชาวจีนซื้อไปแล้ว
เมืองเชียงตุงวันนี้ เหลือเพียงร่องรอยที่เศร้าหมองจากอดีต ความสวยงามของหนองตุง หนองน้ำขนาดใหญ่ใจกลางเมืองจากตำนานเล่าขานและภาพวาดในวิหารวัดจอมคำ ที่ตุงคฤๅษี ได้แสดงปฏิหารทำให้น้ำจากป่าไหลไปอยู่ที่ลุ่มในเมืองจนเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ ยังเป็นมนต์เสน่ห์ที่ยังสัมผัสได้ ตำหนักที่ประทับหรือคุ้มที่ยิ่งใหญ่สวยงามในอดีตของเจ้าฟ้าผู้ปกครองเมืองเชียงตุงถูกทำลายไปเกือบหมด ที่ยังเหลือให้เห็นอยู่บ้างอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมไม่ได้รับการบูรณะ เห็นสภาพแล้วหดหู่ใจไปกับความเป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ และมีเค้าลางว่าอารยธรรมในอดีตของเมืองเชียงตุงกำลังจะถูกทำลายมากขึ้น เมื่ออิทธิพลทางการค้าของนักธุรกิจชาวจีนกำลังรุกคืบเข้ามาในเมืองเชียงตุง
ธุรกิจในเมืองเชียงตุง ยังเป็นธุรกิจขนาดเล็กค้าขายกันแบบไม่ซับซ้อน (Simple market place) ยังไม่มีการแข่งขันทางการค้ามากนัก
สินค้าพื้นฐานอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่เป็นสินค้าไทยไปจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
มีสินค้าพวกเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องจักรเล็กๆจากประเทศจีนเข้ามาขายบ้าง
ระบบการศึกษา ที่เมืองเชียงตุง มัคคุเทศก์ท้องถิ่นอธิบายให้ฟังว่า เรียนตั้งแต่ชั้น
ป.1 ถึง ชั้นป.10 แล้วเรียนต่อขั้นอุดมศึกษาอีก
3 ปี เมืองเชียงตุงมี มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย 3
แห่ง ถ้าจะเรียนสายวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องไปเรียนที่เมืองหลวงร่างกุ้ง หรือเมืองใหญ่เช่น
มัณฑะเลย์ นักศึกษาที่เรียนสำเร็จการศึกษาที่เมืองเชียงตุง ส่วนใหญ่ต้องเข้าไปหางานทำที่เมืองใหญ่ๆ
เพราะที่เมืองเชียงตุง ยังไม่มีธุรกิจมากพอที่จะมีงานดีๆให้ทำ
ชีวิตชาวบ้านในชนบทของเชียงตุง ส่วนใหญ่เป็นชาวไทเขิน
มีชนเผ่าอื่นๆอยู่เป็นหมู่บ้านเล็กๆกระจายตามป่าเขาท้องทุ่ง ที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์
เห็นไร่นาเขียวขจีไปทั่ว สภาพบ้านเรือนแบบหลังคาดินขอ ฝาผนังอิฐดิบ หรือไม้ ที่เป็นบ้านลักษณะแบบดั้งเดิมยังมีหลงเหลือให้ชมอยู่
บ้านหลังคาสังกะสี และกระเบื้องลอนคู่ ฝาผนังอิฐบล๊อคเริ่มสร้างเข้ามาแทรกบ้างแล้ว
เรื่องการสาธารณสุขที่ได้เห็นด้วยตาตนเองน่าเป็นห่วงมาก
บางหมู่บ้านยังเลี้ยงสุกรแบบปล่อยเดินหากินตามใต้ถุนบ้าน
หรือมีคอกสุกรอยู่ติดกับบ้าน น้ำเสียน้ำทิ้งถูกปล่อยไหลตามธรรมชาติ
ผู้ใหญ่และเด็กบางคนยังเดินเท้าเปล่าไม่สวมรองเท้า
จุดมุ่งหมายสูงสุดของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตาม AEC Blueprint 2015 ระบุว่า
·
ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรและเอื้ออำนวยการค้า
(Eliminating tariffs and
facilitating trade)
ข้อนี้เข้าใจว่าประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียนได้ยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าที่มาจากประเทศอาเซียนด้วยกันไปเกือบหมดแล้วคือลดภาษีเหลือ
0% เพื่อสนับสนุนให้เกิดการค้าเสรีในอาเซียนอย่างเต็มที่
ข้อนี้ทำให้สินค้าไทยได้หลั่งไหลเข้าไปขายในประเทศพม่าได้มากขึ้น
บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยจะมียอดขายสินค้ามากขึ้นแน่นอนในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร
เครื่องดื่ม การเกษตร วัสดุก่อสร้าง เครื่องไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ รถยนต์ น้ำมัน ฯลฯ
·
ทำให้วาระการบริการการค้าอย่างเสรีมีความก้าวหน้า
(Advancing the services trade liberalization
agenda) ข้อนี้ประเทศอาเซียนเดิม
ทั้งไทย มาเลเซีย สิงค์โปร์ อินโดนิเซีย ต่างพยายามเร่งผล้กดันกันอยู่
คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งให้ประเทศอื่นๆในอาเซียนปรับตัว
·
สนับสนุนทำให้เกิดการลงทุนอย่างเสรี
(Liberalizing and facilitating
investment)
ข้อนี้ยังไม่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างเด่นชัด เพราะยังมีข้อจำกัดเรื่องกฏหมายภายในของแต่ละประเทศอยู่
มีธุรกิจบางประเภทจากประเทศไทยเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว
·
จัดระเบียบให้มีประสิทธิภาพและประสานให้มีกฏระเบียบแบบแผนบังคับใช้ในตลาดทุน
(Streamlining and harmonizing
capital market regulatory frameworks and platforms) ข้อนี้คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพราะตลาดทุนในประเทศเวียตนาม
ลาว เขมร เพิ่งเกิดได้ไม่นาน ตลาดหุ้นยังเป็นขนาดเล็ก บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีน้อย
ปริมาณการซื้อขายยังต่ำ
·
ดูแลช่วยเหลือการเคลื่อนย้ายแรงงานทักษะ
(Facilitating skilled labor
mobility) ระหว่างทางไปเมืองเชียงตุงทุกด่านตรวจมีป้ายเตือนแรงงานพม่าที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยให้ระวังเรื่องการค้ามนุษย์ในประเทศไทย
รัฐบาลไทยพยายามกวดขันและจัดการกับกลุ่มคนที่ค้าแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอยู่ในเวลานี้
·
ส่งเสริมการพัฒนากรอบการทำงานของภูมิภาคในเรื่องนโยบายการแข่งขัน
การคุ้มครองผู้บริโภค และ สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา (Promoting the development of regional frameworks in
competition policy, consumer protection and intellectual property rights) ข้อนี้ยังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม
·
ส่งเสริมให้มีการติดต่อเชื่องโยงกัน
(Promoting connectivity) ข้อนี้ได้พัฒนาไปมาก การเชื่อมโยงทางอากาศมีสายการบินไปหลายเมืองในประเทศอาเซียนมากขึ้น
ทางบกมีถนนและสะพานเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วหลายเส้นทาง ทางรถไฟกำลังจะเชื่อมต่อกันในอนาคต
แต่การเดินทางโดยรถยนต์เวลานี้มีปัญหาเรื่องระเบียบจราจรการเดินรถบนถนนที่แตกต่างกันระหว่างประเทศ
รถยนต์ไทยพวงมาลัยอยู่ด้านขวาขับช่องถนนด้านซ้าย
รถยนต์พม่าพวงมาลัยอยู่ทางซ้ายขับช่องถนนด้านขวา แบบนี้ทำให้ยังตกลงกันไม่ได้
รถยนต์ทะเบียนไทยจึงยังเข้าไปวิ่งในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้
·
ลดช่องว่างการพัฒนา
(Narrowing the development gap) เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะช่องว่างการพัฒนาระหว่างแต่ละประเทศในอาเซียนยังกว้างมาก
เอาแค่ประเทศสิงคโปร์กับประเทศไทยยังห่างกันอยู่มาก
แล้วประเทศเพื่อนบ้านที่ล้าหลังกว่าประเทศไทยจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดจึงจะมีโอกาสได้ไปอยู่ใกล้ประเทศสิงคโปร์
ในความรู้สึกส่วนตัว ไม่แน่ใจเหมือนกันว่ายิ่งลงทุนค้าขายกันไปมามากขึ้นในอาเซียนจะยิ่งทำให้บางประเทศรวยมากขึ้นและหลายประเทศยากจนลงหรือเปล่า
ข้อนี้ผมคิดเอาเองจากประสบการณ์ของประเทศไทย
ที่มีช่องว่างที่กว้างมหาศาลระหว่างคนรวยมากมากจำนวนน้อย กับคนจนมากมากจำนวนมาก
·
สร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างอาเซียนกับประเทศอื่นๆนอกอาเซียน(Strengthening ASEAN’s relationship with its external
parties) ขณะนี้อาเซียนมีความตกลงทางการค้ากับหลายประเทศไปแล้ว
ได้แก่อาเซียนบวก 3 มีประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ จีน อาเซียนบวก 6
มี ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดีย บวกเข้ามาเพิ่ม และ อาเซียนบวก 9
มี ประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และ รัสเซีย บวกเพิ่มเข้ามาอีก
ในอนาคตคงมีอาเซียนบวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
Sellapan Ramanathan อดีตประธานาธิบดีของประเทศสิงคโปร์กล่าวว่า “We hope that through these trade arrangements, through collaboration in
training, in manpower development, and what have you, ASEAN in, say, ten years'
time, will be a very different ASEAN.” เราหวังว่าโดยข้อตกลงทางการค้าเหล่านี้
โดยผ่านความร่วมมือในการฝึกอบรม ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งที่คุณมี
อาเซียนในเวลา10 ปีข้างหน้า จะเป็นอาเซียนที่แตกต่างจากอาเซียนในวันนี้อย่างมาก
ผมหวังจะเห็นเช่นกันว่า ประเทศอาเซียนในเวลาอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอาเซียนที่มีความเจริญมั่งคั่งและประชาชนชาวอาเซียนจะมีความผาสุก
ครับ
ที่มาของข้อมูลบางส่วน
:
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เขียน
วันทนียตระกูล
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
วิทยาเขตล้านนา
www.asean.org/.../aec.../AEC-Blueprint-2025-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น