“Do not turn to the right or the left; remove your
foot from evil.”
Proverbs 4: 27
ครั้งก่อนได้เขียนเรื่องความสามารถภาษาอังกฤษของนักเรียนประเทศกัมพูชาไปแล้ว
และได้นำข้อมูลความสามารถภาษาอังกฤษจาก 2 สถาบันที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติคือ
EF และ TOEFL ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับคะแนนเฉลี่ยความสามารถภาษาอังกฤษของคนในประเทศต่างๆทั่วโลกมาเปรียบเทียบให้เห็นว่า
โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยมีความสามารถภาษาอังกฤษอยู่ในระดับใดในเวทีนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
เพื่อให้เห็นภาพรวมความรู้ของนักเรียนไทยว่ามีความรู้อยู่ในระดับใดในมุมมองที่กว้างขึ้นนอกเหนือจากความรู้ภาษาอังกฤษเมื่ออยู่ในเวทีประชาคมโลกและเวทีประชาคมอาเซียน
วันนี้ผมขอเสนอผลการจัดอันดับความรู้ของนักเรียนประเทศต่างๆทั่วโลกที่เรียกว่า PISA 2012 มาให้ท่านพิจารณา
PISA ย่อมาจาก
Program for International
Student Assessment เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การดำเนินการขององค์กร
OECD ซึ่งเป็นชื่อย่อของ Organization for Economic Co-operation and Development หรือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา
ซึ่งมีประเทศสมาชิกรวม 30 ประเทศ และมีข้อตกลงความร่วมมือกับประเทศอื่นๆที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอีกกว่า
70 ประเทศ
PISA 2012 เป็นผลการทดสอบความรู้ของนักเรียนอายุ
15 ปี จำนวนถึง 510,000 คน ใน 65 ประเทศและพื้นที่เศรษฐกิจทั่วโลกในปี
2012 ซึ่ง OECD จะทำการทดสอบ PISA นี้ทุก
3 ปี ครั้งล่าสุดที่ทำการทดสอบคือ PISA ปี
2015 ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่ได้รายงานผลออกมาให้ทราบ
PISA 2012 เป็นการทดสอบความรู้นักเรียนใน 3 วิชา
คือ คณิตศาสตร์ (Mathematics) วิทยาศาสตร์ (Science) และการอ่าน (Reading) โดยข้อสอบในปี
2012 จะเน้นวิชาคณิตศาสตร์ เป็นวิชาหลัก การทดสอบใช้ข้อสอบให้นักเรียนตอบในกระดาษ
(Paper based) ซึ่งมีทั้งคำถามปลายเปิดให้นักเรียนเขียนคำตอบ และ
คำถามให้นักเรียนเลือกกาคำตอบที่ให้ (Multiple choice) ใช้เวลาในการทดสอบประมาณ
2 ชั่วโมง ทั้งครูและนักเรียนของโรงเรียนที่เข้าร่วมทดสอบจะต้องตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนด้วยเพื่อนำไปเป็นส่วนประกอบในการศึกษา
ในการทดสอบ PISA 2012 ครั้งนี้ได้เปิดโอกาสเพิ่มให้นักเรียนมีโอกาสเลือก(Optional)
ที่จะทดสอบวิชาการแก้ไขปัญหา (Problem
solving) ทางคอมพิวเตอร์ (Computer-based assessment) ด้วย ซึ่งมีนักเรียนจำนวน 85,000 คน
จาก 44 ประเทศและพื้นที่เศรษฐกิจได้สมัครใจเลือกทดสอบเพิ่ม
ผลการทดสอบ อันดับและคะแนนของ PISA 2012 เป็นดังนี้
จากตารางข้างนี้
จะเห็นได้ว่านักเรียนจีนจากโรงเรียนในเขตเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน(ในการทดสอบปี PISA 2012 นี้โรงเรียนจีนยังไม่ได้สมัครเข้ามาทดสอบทั่วประเทศ) ได้คะแนนสูงสุดทั้ง
3 วิชา คือ วิชาคณิตศาสตร์ ได้คะแนน 613 คะแนน
วิชาวิทยาศาสตร์ ได้คะแนน 580 คะแนน และ
วิชาการอ่านได้คะแนน 570 คะแนน
โดยมีนักเรียนจีนเขตพื้นที่เมืองฮ่องกง คว้าอันดับ 2 ไป 2 วิชา คือ วิทยาศาสตร์ ได้คะแนน 555 คะแนน และ
วิชาการอ่านได้คะแนน 545 คะแนน และ
นักเรียนจากประเทศสิงคโปร์ได้อันดับ 2 ในวิชาคณิตศาสตร์
ทำคะแนนได้ 573 คะแนน
เมื่อดูประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
นักเรียนสิงคโปร์นำหน้าเพื่อนๆไปมาก เพราะคว้าอันดับที่ 2 ในวิชาคณิตศาสตร์
ด้วยคะแนน 573 แล้วยังคว้าอันดับที่ 3 ในวิชาวิทยาศาสตร์
ด้วยคะแนน 551 คะแนน และอันดับที่ 3 ในวิชาการอ่าน
ด้วยคะแนน 542 คะแนน ติดตามด้วยนักเรียนจากประเทศเวียตนาม ที่ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีกลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงแซงหน้านักเรียนประเทศไทยไปอย่างนิ่มๆ
คว้าอันดับที่ 17 ในวิชาคณิตศาสตร์ ด้วยคะแนน 511 คะแนน
แล้วหยิบ อันดับที่ 8 ในวิชา วิทยาศาสตร์ไปครองด้วยคะแนน
528 คะแนน และยังไม่พอกวาดเอาอันดับที่ 19 ในวิชาการอ่าน
ไปอีกด้วยคะแนน 508 คะแนน
นักเรียนไทย
ทำคะแนนตามหลังนักเรียนเวียตนามค่อนข้างห่างมากคือได้อันดับที่ 50 ในวิชาคณิตศาสตร์ ด้วยคะแนน 427 คะแนน
แพ้นักเรียนเวียตนามไป 84 คะแนน
แพ้นักเรียนสิงคโปร์ ไปถึง 146 คะแนน
วิชาวิทยาศาสตร์ นักเรียนไทย ได้อันดับที่ 48 ได้คะแนน 444 คะแนน
แพ้นักเรียนเวียตนามไป 84 คะแนน
อีกเช่นกัน ส่วนวิชาการอ่าน นักเรียนไทยได้อันดับที่ 47 ทำคะแนนได้
441 คะแนน แพ้นักเรียนเวียตนามไป 67 คะแนน
นักเรียนประเทศมาเลเซีย
ตามหลังนักเรียนประเทศไทยมาติดๆแบบหายใจรดต้นคอ คือในวิชาคณิตศาสตร์
ได้อันดับที่ 52 ได้คะแนนไป 421 คะแนน วิชาวิทยาศาสตร์ อันดับ 53 ได้คะแนน 420 คะแนน และวิชาการอ่าน ได้อันดับที่ 59 ทำคะแนนได้
398 คะแนน
นักเรียนจากประเทศอินโดนีเซีย
ตามหลังนักเรียนประเทศมาเลเซียโดยในวิชาคณิตศาสตร์ อยู่ในอันดับ 64 ได้คะแนน 375 คะแนน วิชาวิทยาศาสตร์
ได้อันดับที่ 64 ได้คะแนน 382 คะแนน และวิชาการอ่าน ได้อันดับที่
60 ได้คะแนน 396 คะแนน
ส่วนประเทศอื่นๆในอาเซียน
ไม่ปรากฏในตารางการจัดอันดับครั้งนี้
เข้าใจว่าโรงเรียนยังไม่พร้อมที่จะส่งนักเรียนเข้าทดสอบ
คะแนนเฉลี่ยกลาง
(Mean score) ของการสอบครั้งนี้ วิชาคณิตศาสตร์ อยู่ที่ 494 คะแนน วิชาวิทยาศาสตร์อยู่ที่ 501 คะแนน
และวิชาการอ่านอยู่ที่ 496 คะแนน
จะเห็นได้ว่านักเรียนไทยได้คะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยทุกวิชา
ที่นำเสนอมานี้ไม่ได้มีเจตนากล่าวหานักเรียนไทยว่าไม่เก่ง
แต่ต้องการให้ผู้บริหารการศึกษาไทย ได้รู้สึกกันบ้างว่าท่านบริหารการศึกษาประเทศกันอย่างไรถึงทำให้นักเรียนไทยได้คะแนนต่ำเช่นนี้
แพ้นักเรียนประเทศสิงคโปร์ ไม่มีใครกังขาครับ เพราะสิงคโปร์เขาเก่งมานานแล้ว
แต่แพ้นักเรียนประเทศเวียตนาม แบบห่างกันมากขนาดนี้
ทั้งๆที่ทรัพยากรทางการศึกษาของประเทศไทยนำหน้ากว่า และมีมากกว่าประเทศเวียตนามมาก
อันนี้แหละครับที่ประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีเขามีข้อสงสัยและมีสิทธิถามท่านได้
เพราะเรามีดอกเตอร์ทางการศึกษาจำนวนนับพันคนเดินชนกันในกระทรวงศึกษาธิการ
และมีอาคารสถานที่ โครงสร้างพื้นฐาน และเทคโนโลยี แบบจัดเต็มให้อยู่แล้ว
เมื่อดูงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทย
กระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด และได้รับงบประมาณเพิ่มมาตลอด
ดังนี้
ปีงบประมาณ
|
จำนวนเงิน
|
2558
|
502,245 ล้านบาท
|
2557
|
481,337 ล้านบาท
|
2556
|
460,411 ล้านบาท
|
2555
|
418,616 ล้านบาท
|
2554
|
392,454 ล้านบาท
|
เมื่อดูตัวเลขงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทยเปรียบเทียบกับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการประเทศอื่นในอาเซียน
โดยเปรียบเทียบว่างบประมาณรายจ่ายเป็นร้อยละเท่าไหร่ของงบประมาณรายจ่ายของประเทศ
ปรากฏว่างบประมาณด้านการศึกษาของประเทศไทยมีรายจ่ายเป็นร้อยละของงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด
(Expenditure on education as % of total government expenditure) สูงสุด มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
โดยข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า
ประเทศ
|
รายจ่ายการศึกษาเป็น
% ของงบประมาณประเทศ
|
ไทย
|
22.0
|
เวียตนาม
|
21.4
|
มาเลเซีย
|
21.0
|
สิงคโปร์
|
20.6
|
อินโดนีเซีย
|
18.1
|
เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลมากกว่าห้าแสนล้านบาทของกระทรวงศึกษาธิการในปีงบประมาณนี้
ควรใช้จ่ายอย่างมีประสิทธภาพและทำให้คุณภาพการศึกษาของเด็กนักเรียนไทยดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ถึงเวลาที่เราต้องเอาใจใส่เรื่องระบบการศึกษาของไทยอย่างจริงจังแล้วครับ
แม้ว่านักเรียนไทยมักจะสร้างชื่อเสียงในการแข่งขันวิชาการโอลิมปิกระดับโลก
ได้เหรียญชนะเลิศมาทุกครั้ง แต่เป็นภาพลวงตา เพราะนักเรียนไทยเหล่านั้นเป็นเด็กที่มีความเก่งเป็นพิเศษ
และถูกนำไปเข้าค่ายติวพิเศษเฉพาะเพื่อการแข่งขัน
ไม่ใช่ตัวแทนความรู้ที่แท้จริงของนักเรียนไทยทั่วไปทั้งประเทศ
ข้อมูลตัวเลขที่เสนอมาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาของนักเรียนไทยต้องได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยด่วน
และระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของประเทศไทยต้องแก้ไขพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้นอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
เพราะเมื่อประเทศเวียตนามที่เรื่องการศึกษาเคยตามหลังเรามาก่อนสามารถพัฒนาแซงหน้าประเทศไทยไปไกลได้ขนาดนี้
เราจึงไม่มีข้ออ้างและเหตุผลอื่นใดมาอ้างกันอี
ผู้บริหารการศึกษาไทยครับ
ท่านมีเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
โครงสร้างพื้นฐานโรงเรียนโดยรวมประเทศไทยดีกว่าประเทศเวียตนามมาก แต่ผลผลิตของการบริหารการศึกษาของประเทศไทยออกมาแพ้ประเทศเวียตนามอย่างนี้
ผมรู้สึกว่าเรากำลังทำร้ายนักเรียนนักศึกษาไทยที่เป็นลูกหลานของเรานะครับ
Benjamin Franklin กล่าวว่า “An investment in knowledge pays the best interest.”
การลงทุนในความรู้ให้ดอกเบี้ยดีที่สุด และ
Plato สอนว่า “The direction in
which education starts a man will determine his future in life.” ทิศทางที่เริ่มให้การศึกษาแก่คนกำหนดชีวิตคนในอนาคต
เช่นเดียวกันครับ
ทิศทางการศึกษาที่นักการศึกษาไทยให้แก่ลูกหลานของเราในเวลานี้กำหนดชีวิตของคนไทยในอนาคต
คือการกำหนดอนาคตของประเทศไทย
ขอเรียนถามตรงๆด้วยความเคารพ
ท่านไม่มีความรู้สึกผิด
หรือมีความละอายใจบ้างหรือครับ ?
ขออภัยที่มีข้อความบางส่วนไปขึ้นข้างตาราง ซึ่งผมได้พยายามแก้ไขแล้ว แต่ไม่สำเร็จครับ
แหล่งที่มา : www.oecd.org/pisa/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น