วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ความสามารถไว้วางใจได้




“The way of the wicked is darkness: they know not at what they stumble.”                        Proverbs 4:19


ผมไม่ได้คิดอะไรมากไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน เห็นคนกำลังตกอยู่ในความลำบาก คิดอย่างเดียวว่าช่วยเขาแล้วได้บุญ” เป็นคำพูดของคุณ ชัช อุบลจินดา คนไทยน้ำใจงาม ผู้เข้าไปให้การช่วยเหลือสองนักท่องเที่ยวชาวนอร์เวย์ ที่ยืนดูนกเพลินจนติดหล่มโคลนขยับขาก้าวเดินไม่ได้ที่ริมแม่น้ำกระบี่ จนสามารถหลุดจากโคลนที่ท่วมถึงต้นขาได้
 

การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติของคุณ ชัช อุบลจินดา คงเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชาวบ้านคนไทยในชนบทถ้าคุณธีรศักดิ์ ศักดิ์ศรีทวี ผู้เห็นเหตุการณ์ในวันนั้นไม่ได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนำขึ้นแสดงบนสื่อสังคมออนไลน์

ภาพความมีน้ำใจ และการเสียสละของคุณ ชัช อุบลจินดา คนไทยตัวเล็กที่ยอมนอนคว่ำบนโคลนเพื่อให้นักท่องเที่ยวฝรั่งตัวใหญ่ขึ้นเหยียบหลังเพื่อหลุดจากโคลนเป็นที่ประทับใจของทุกคนที่ได้เห็นภาพนี้บนสื่อ และภาพนี้ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วทำให้คนนับล้านคนได้รู้จักคุณ ชัช อุบลจินดา คนไทยธรรมดาคนหนึ่ง ในเวลาชั่วข้ามคืน

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรากุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบโล่ห์เกียรติคุณ และ เสื้อ the Pride of Thailand ให้คุณ ชัช อุบลจินดา เพื่อเป็นการยกย่องการกระทำดีที่ไม่ได้หวังผลการตอบแทนของเขา และคนไทยรู้สึกชื่นใจยินดีที่ได้เห็นน้ำใจแบบคนไทยยังมีอยู่ในสังคมไทย

ผมนำเรื่องนี้มาเขียน เพื่อสนับสนุนให้คนไทยได้ทบทวนเรื่องความมีน้ำใจของคนไทย เพราะเรื่องความมีน้ำใจของคุณ ชัช อุบลจินดา ไม่นานจะเงียบหายไปไม่มีใครพูดถึงอีกตามกระแสสังคมไทย

ถ้าเหตุการณ์การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อ 30-40 ปี ก่อน คงเป็นเรื่องปกติ เพราะสังคมไทยในอดีต คนไทยต่างมีน้ำใจ มีเมตตากรุณาให้การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนตกทุกข์ได้ยากกันอยู่แล้ว ไฟไหม้บ้าน น้ำท่วม งานศพ งานบุญ งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานพัฒนาพื้นที่สาธารณะ คนไทยช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจตามกำลังความสามารถ เป็นบรรทัดฐานการดำรงชีวิตของสังคมไทยในอดีต ที่คนไทยสมัครสมานรักใคร่กลมเกลียวกัน ช่วยกันดำนา ช่วยกันเกี่ยวข้าว ช่วยกันขุดลำเหมือง ช่วยกันพัฒนาป่าช้า ใครมีศักยภาพอะไรก็เอามาช่วยเหลือกันตามกำลังและจิตใจที่พร้อมช่วยเหลือ

บรรทัดฐานชีวิตชาวไทยเปลี่ยนไป เมื่อสังคมเมืองยุคใหม่ไหลบ่าเข้ามาแทนที่ ค่านิยมทางวัตถุทำให้เราให้ความสำคัญเรื่อง ”คุณค่าของเงิน” มากกว่า “คุณค่าของจิตใจ” ให้การยกย่องการได้เปรียบคือความฉลาด การเสียเปรียบคือความโง่ สังคมไทยเปลี่ยนจากสังคมที่ไว้วางใจกันได้อยู่บ้านไม่ต้องมีรั้ว วางของทิ้งไว้ไม่หาย ไปเป็นบ้านมีรั้ว มีกล้อง ของก็ยังหาย สังคมไทยไม่สามารถไว้วางใจกันได้อีก

ความสามารถไว้วางใจได้ (Trustworthiness) เป็นคุณค่าทางจริยธรรมที่สำคัญประการหนึ่งของคนในสังคม เป็นพื้นฐานของการคิด การตัดสินใจ และการกระทำของคน ที่จะทำให้สังคมนั้นมีความสุขสงบ มีความปลอดภัย และมีความเข้มแข็ง

คนที่จะสามารถไว้วางใจได้จะต้องมีคุณสมบัติทางคุณธรรมที่สำคัญที่ทำให้ตัวเราสามารถไว้วางใจตัวเองได้ก่อน จึงจะสามารถทำให้ผู้อื่นไว้วางใจในตัวเราได้ ซึ่งได้แก่

·      ความสัตย์ซื่อ (Honesty)

      ความสัตย์ซื่อเป็นคุณค่าทางจริยธรรมประการแรกที่ฝังอยู่ในจิตใจแล้วแสดงออกโดยการคิด การพูดและการกระทำ ด้วยการพูดความจริง การแสดงออกอย่างแท้จริง (Truthfulness) ไม่เสแสร้งแกล้งทำ ไม่หลอกลวง ไม่โกหก มีความจริงใจ ( Sincerity) ไม่พูดและนำให้คนเข้าใจผิด (Misleading) และไม่โกง (Cheating) ทั้งทางตรง และทางอ้อม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

·      ความซื่อตรง (Integrity)

ความซื่อตรง คือความมีหลักการในการคิด การตัดสินใจ และการกระทำ อย่างซื่อตรง ทำให้ไม่มีความแตกต่างกันในการคิดและการตัดสินใจในเรื่องเดียวกัน แม้จะต่างเวลา ต่างสถานะการณ์ ทั้งในเวลาต่อหน้าผู้คน และในเวลาที่อยู่คนเดียวไม่มีใครเห็น เป็นความสามารถทางคุณธรรมที่กล้าบังคับจิตใจให้เอาชนะผลประโยชน์ส่วนตน (Self-interest) ได้ ทำให้ไม่คิดและตัดสินใจเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน (Self-protection) เป็นผู้มีคุณธรรมประจำตน (Self-righteousness) คือเป็นผู้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกด้วยตัวเอง ทำให้คิด และตัดสินใจทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง

·      ความพึ่งพาได้ (Reliability)

ความพึ่งพาได้คือความสามารถไว้วางใจได้ว่าจะกระทำตามคำพูด ตามพันธสัญญา ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ ด้วยจิตใจที่ตระหนักรู้ทางจริยธรรม มากกว่าการบังคับของกฏ ระเบียบ หรือการถูกควบคุม คนที่พึ่งพาได้จึงไม่ต้องใช้สินจ้างรางวัลมาเป็นสิ่งจูงใจ หรือใช้กฏระเบียบมาบังคับ หรือใช้คนมาควบคุม

·      ความรักภักดี (Loyalty)

ความรักภักดีคือความสัตย์ซื่อต่อความเชื่อ ความศรัทธา และหลักการทางจริยธรรมของตน เช่น ความรักภักดีต่อครอบครัว ความรักภักดีต่อหน่วยงานองค์กรที่ทำงาน ความรักภักดีต่อประเทศชาติ ทำให้เราไม่คิดและกระทำสิ่งที่ไม่เป็นผลดี ที่จะเกิดความเสียหายขึ้นต่อครอบครัว หน่วยงาน องค์กร และประเทศชาติ

Dalai Lama กล่าวว่า “Because of lack of moral principle, human life becomes worthless. Moral principle, truthfulness, is a key factor. If we lose that, then there is no future”. เพราะความขาดหลักการทางศีลธรรม ชีวิตมนุษย์จึงกลายเป็นสิ่งไม่มีค่า หลักการศีลธรรม ความมีสัจจะ คือปัจจัยสำคัญ ถ้าเราสูญเสียมันไป เราจะไม่มีอนาคต

คิดถึงอนาคตของประเทศไทยครับ


Holistic Education

ที่มาความคิด : Holistic Education Network of Tasmania, Australia

2 ความคิดเห็น:

  1. บทความสุดยอดให้แง่คิดครบด้านชวนติดตามตลอดนะครับพี่โต

    ตอบลบ
  2. บทความสุดยอดให้แง่คิดครบด้านชวนติดตามตลอดนะครับพี่โต

    ตอบลบ