วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อำนาจทางศีลธรรม Moral Authority



“Hold on to wisdom, and it will take care of you. Love it, and it will keep you safe.”                                                                                       Proverbs 4:6

มนุษย์มีลักษณะพิเศษในตัวเองคือมีความต้องการอำนาจและอิสระภาพ (Power and freedom) ซึ่งเป็นลักษณะการใช้อำนาจตามธรรมชาติ (Natural authority) ของมนุษย์ที่มีเหนือสรรพสัตว์อื่นๆในโลก แต่ความต้องการอำนาจและอิสระภาพของมนุษย์มีมากเกินขอบเขต จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในทุกสังคม ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาอยู่ที่การใช้อำนาจและเสรีภาพของมนุษย์ที่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมได้ หรือรู้จักใช้อำนาจและเสรีภาพตามธรรมชาติอย่างมีหลักการ (Principled way) อย่างมีความพอดีเหมาะสม ผู้นำคือคนที่ใช้อำนาจมากกว่าคนอื่น ส่วนใหญ่จะใช้อำนาจอย่างมีหลักการในระยะแรกของการใช้อำนาจและเสรีภาพในตำแหน่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้นำมักจะใช้อำนาจโดยใช้หลักกู (My way) ตามความต้องการและความพอใจของตน หรือกลุ่มตน โดยละเลยและไม่ให้ความสำคัญต่อหลักการใช้อำนาจและเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์ที่พระเจ้ามอบให้มีอำนาจและเสรีภาพไว้เพื่อให้มนุษย์ใช้ปกป้อง คุ้มครอง ดูแลมนุษย์และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข
เพราะมนุษย์ใช้อำนาจและเสรีภาพไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น จึงต้องมีอีกอำนาจหนึ่งเข้ามาช่วยมนุษย์ในการควบคุมการใช้อำนาจและเสรีภาพของมนุษย์ คืออำนาจทางศีลธรรม (Moral authority) เป็นอำนาจคุณธรรมที่อยู่ภายในจิตใจที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกว่าอะไรผิดอะไรถูก และทำให้มนุษย์ใช้หลักการมากขึ้นในการคิดและพิจารณาตัดสินใจ
ถ้ามนุษย์ทุกคนที่ต้องการใช้อำนาจและเสรีภาพ มีอำนาจทางศีลธรรมที่เข้มแข็งอยู่ในใจคอยกำกับควบคุม เราไม่จำเป็นต้องสร้างอำนาจทางกฏหมายขึ้นมาบังคับใช้ปกครองมนุษย์ เพราะมนุษย์จะดำเนินชีวิตและปกครองโดยอำนาจทางศีลธรรมที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ได้อย่างมีสันติสุข อย่างที่ Lord Moulton นักการเมืองอังกฤษเรียกว่า “the third domain” หรือ the law of the unenforceable เป็นกฏหมายที่ไม่ต้องบังคับใช้ เพราะคนรู้อยู่ในใจแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ เมื่อมนุษย์ต้องการเสรีภาพ (Freedom) ซึ่งเป็น the first domain แต่การใช้เสรีภาพของมนุษย์มีปัญหาจึงต้องมีกฏหมาย (Law) ซึ่งเป็น the second domain มาควบคุม แต่ก็ยังไม่ได้ผล ยังมีคนไม่เกรงกลัวและทำผิดกฏหมายตลอดเวลา กฏหมายเอาไม่อยู่ จึงต้องใช้หลักที่สาม คือหลักศีลธรรมในจิตใจซึ่งเป็น the third domain เป็นระบบคุณธรรมของสังคมที่จะทำให้มนุษย์รู้ผิดรู้ชั่วและไม่ทำผิดทำชั่วมาควบคุม
Stephen R. Covey เขียนบทนำในหนังสือ Servant Leadership ของRobert K. Greenleaf ว่า อำนาจทางศีลธรรม (Moral Authority) เป็นรากฐานของการเป็นผู้นำผู้รับใช้ (Servant leadership) เนื่องจากผู้นำผู้รับใช้เป็นผู้นำที่ใช้หลักการในการนำ (Principle centered) เป็นลักษณะการนำที่รักษาความถูกต้อง ใช้เหตุผลที่เป็นจริงอิงหลักการ เป็นผู้นำที่ยึดความเป็นส่วนรวม (a common) มาก่อนความเป็นส่วนตัว คือคิดและทำโดยอิงผลประโยชน์ของส่วนรวมเสมอ เป็นผู้นำที่ใช้หลักความจริง (Truth) ในการนำ ไม่บิดเบือนความจริง ไม่หลอกลวงตนเองและผู้อื่น เป็นผู้นำที่แบ่งปันคุณค่า (Share values) คือเน้นเรื่องคุณค่าชีวิตและสอนคนอื่นให้รู้จักคุณค่าชีวิต และเป็นผู้นำที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Trust one another) คือสร้างความมั่นใจให้ผู้อื่นไว้วางใจตน และเป็นผู้มีความไว้วางใจผู้อื่น
การเป็นผู้นำผู้รับใช้ที่ดีต้องมีอำนาจทางศีลธรรม หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (Conscience) อยู่ประจำใจ เป็นพื้นฐานชีวิตผู้นำเสมอ เพื่อทำให้ผู้นำผู้รับใช้มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

1.  เป็นผู้เสียสละ
การยอมเสียสละ (Sacrifice) คือสาระสำคัญของอำนาจทางศีลธรรม หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การเสียสละทำให้เรามีอำนาจทางศีลธรรมมากขึ้นซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะทั้ง

·        การเสียสละทางกาย (The body) คือการเสียสละทางกายภาพและเศรษฐกิจ (Physical and economic sacrifices) ไม่เสาะแสวงหาบริโภคทางวัตถุและเงินทอง มากจนเกิดเป็นความโลภประจำใจ ต้องรู้จักแบ่งปัน (Sharing) และให้คืน (Giving back) แก่ผู้อื่นและสังคม

·        การเสียสละทางใจ (The mind) คือการควบคุมลดทอนความคิดอคติที่มองคนอื่นในทางไม่ดีไม่เหมาะสมลง ไม่สะสมเพิ่มพูนความความคิดชั่วไว้ในใจ เป็นการเสียสละทางอารมณ์และสังคม (Emotional and social sacrifice) ทำให้รู้จักขอโทษ รู้จักให้อภัย รู้จักการคืนดีแก่ผู้อื่น รู้จักยอมให้ผู้อื่น

·        การเสียสละทางหัวใจ (The heart) คือการควบคุมจิตใจให้มีระเบียบ ควบคุมความรักความเห็นแก่ตัวเองให้น้อยลงและเพิ่มความรักความมีน้ำใจให้แก่ผู้อื่นมากขึ้น รู้รักชุมชน รักส่วนรวม เป็นการเสียสละทางจิตใจ (Mental sacrifice) อำนาจทางศีลธรรมทำให้เข้าใจว่าอิสระภาพที่แท้จริงมาจากการการมีระเบียบในจิตใจ (True freedom comes from discipline)  และ

·        การเสียสละทางจิตวิญญาณ (The spirit) คือการก้าวพ้นความต้องการของตัณหาในตัวเองไปสู่ความดีงามหรือธรรมะในระดับสูงขึ้น ทำให้ชีวิตถ่อมสุภาพ (Humble) และเสียสละเพื่อผู้อื่น เป็นชีวิตที่อยู่เพื่อรับใช้ (Living and serving) ผู้อื่น

2.  เป็นผู้มีพันธะทางใจ
อำนาจทางศีลธรรมขับดันให้เรามีคุณค่าในชีวิต ทำให้มีพันธะทางใจที่จะแสวงหาและกระทำสิ่งดีเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเรา ความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กที่เรียกร้องต้องการทุกอย่างจากคนอื่น จะเปลี่ยนเป็นความคิดที่พัฒนาระดับสูงขึ้น เป็นความคิดว่าคนอื่นต้องการอะไรจากเราบ้าง หรือสังคมต้องการอะไรจากเราบ้าง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจต้องการใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม George Bernard Shaw กล่าวว่า “My life belongs to the whole community” ชีวิตของข้าพเจ้าเป็นของชุมชนทั้งหมด เขามีความรู้สึกว่าชีวิตของเขาไม่ใช่เป็นแค่เทียนไขที่ส่องสว่างชั่วขณะเมื่อมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ แต่ชีวิตเป็นเหมือนคบเพลิงที่อยู่ในมือที่เขากำลังถือวิ่งไปส่งให้คนรุ่นต่อไป ดังนั้นจึงต้องพยายามทำให้คบเพลิงลุกโชติช่วงส่องสว่างเพื่อให้ประโยชน์ต่อผู้อื่นมากที่สุด ในขณะที่เขายังมีโอกาสถือคบเพลิงนั้นอยู่

3.  เป็นผู้เกรงกลัวต่อบาป
อำนาจทางศีลธรรมในตัวผู้นำผู้รับใช้จะสอนให้เข้าใจว่าการกระทำและผลลัพท์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ (Ends and means are inseparable) ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว จริงๆแล้วเรารู้ผลลัพท์ล่วงหน้าก่อนการกระทำแล้วว่า ถ้าเราทำอย่างไรจะได้ผลอย่างไร ท่านมหาตมะ คานธี กล่าวว่า มี 7 สิ่งที่จะทำลายชีวิตเรา คือ

·        Wealth without work. ความมั่งคั่งที่ได้มาโดยไม่ทำงาน

·        Pleasure without conscience. ความสุขสำราญที่ปราศจากศีลธรรม

·        Knowledge without character. ความรู้ที่ขาดคุณลักษณะ

·        Commerce without morality. การทำธุรกิจที่ไร้คุณธรรม

·        Science without humanity. วิทยาศาสตร์ที่ไม่มีความเป็นมนุษย์

·        Worship without sacrifice. การนมัสการบูชาที่คนไม่มีการเสียสละ

·        Politics without principle. การเมืองที่ขาดหลักการ

ชีวิตของผู้นำผู้รับใช้จึงต้องมีอำนาจทางศีลธรรมควบคุม เพราะต้องคิดและกระทำแต่สิ่งที่ให้ผลดีต่อผู้อื่นและตนเองอยู่เสมอ

4.  เป็นผู้สร้างมิตรภาพ
ผู้นำผู้รับใช้ไม่คิดและกระทำบนพื้นฐานความเป็นอิสระ (Independent) ของตนเอง แต่จะคิดและทำบนพื้นฐานความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน(Interdependent) ถ้าความคิดยังอยู่ในระดับต้องการความอิสระของตนเอง การกระทำจะยังอยู่ในระดับ “ตัวกู ของกู” แต่อำนาจทางศีลธรรมในตัวผู้นำผู้รับใช้จะพัฒนาความคิดให้ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงขึ้น ทำให้เข้าใจลึกมากขึ้นว่า “ทุกอย่างไม่ใช่ของกู” ความรักหลงใหล (Passion) ในสิ่งใดเพื่อความสุขของตนเองที่เคยมี จะเปลี่ยนไปเป็นความรักและความเมตตา (Compassion) เพื่อความสุขของผู้อื่น เมื่อผู้อื่นมีความสุขตนเองจึงจะอิ่มสุข

ขอสรุปลงท้ายด้วยคำพูดของ Stephen Covey ที่กล่าวว่า Moral authority comes from following universal and timeless principles like honesty, integrity, treating people with respect.” อำนาจทางศีลธรรมมาจากการยอมรับปฏิบัติตามหลักการสากลที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เช่น ความสัตย์ซื่อ ความเชื่อถือไว้วางใจได้ การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพนับถือ


แหล่งนำความคิด: จากหนังสือ Servant Leadership โดย Robert K. Greenleaf

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น