วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความไร้ระเบียบ




“The Lord will curse the evil person’s house, but he will bless the home of those who do right.”                       Proverbs 3: 33

 

Victor Hugo เคยกล่าวว่า ไม่มีอะไรที่จะมีพลังยิ่งใหญ่เท่าพลังความคิดเมื่อเวลาของเขามาถึง “There’s nothing as power as an idea whose time has come.” สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกนี้มีเวลาและจังหวะของมัน บางครั้งความคิดที่ดีๆแต่นำไปเสนอต่อผิดคน ในสถานที่ไม่เอื้ออำนวย ในเวลาและจังหวะที่ไม่ควรนำเสนอ คือไม่มีบริบทและกาละที่สนับสนุนการเสนอความคิด ผลก็คือ ความคิดที่ดีนั้นไม่ได้รับความสนใจและคนฟังมองไม่เห็นคุณค่า แต่เมื่อเวลาและจังหวะของความคิดนั้นมาถึง คนที่เคยได้รับฟังความคิดนี้ จะนึกขึ้นมาได้ เกิดความคิดแวบขึ้นมามองเห็นประโยชน์ของความคิดนี้ แบบดวงตาเพิ่งเห็นธรรม จึงนำความคิดนั้นมาใช้เป็นความคิดของตนเอง ความคิดของผู้เสนอก็เกิดผล แต่ในหน้าตาและผลประโยชน์ของผู้อื่น

ในยุคที่การแสดงความคิดเห็นมีพลังมหาศาล ผ่านช่องทางสื่อสังคม (Social media) ในเวลานี้ ต้องเข้าใจว่าความคิดเห็นหนึ่งสามารถถ่ายทอดกระจายไปในวงกว้างและเกิดผลกระทบได้อย่างรวดเร็ว ผู้แสดงความคิดเห็นควรมีความตระหนักว่า หนึ่งความคิดเห็นที่แสดงออกไปอาจมีผลต่อกระทบเกิดขึ้นในวงกว้างมหาศาลได้ ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นทุกครั้ง ควรมีจุดมุ่งหมายให้พลังผลกระทบ (Impact) ที่จะเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่เสนอออกไปเป็นพลังทางสร้างสรร (Creative power) ที่สร้างคุณค่าในสังคม เป็นประโยชน์ต่อผู้รับรู้ความคิดเห็น และเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ทำให้ชีวิตของผู้อื่นมีความสุขมากขึ้น

Edward Lorenz ตั้งคำถามว่า Does the flap of a butterfly’s wing in Brazil set off a tornado in Texas? การขยับปีกของผีเสื้อในประเทศบราซิลจะก่อให้เกิดลมพายุหมุนในรัฐเท็กซัสประเทศสหรัฐอเมริกาหรือ มีความหมายว่าสิ่งเล็กๆที่เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งอาจส่งผลกระทบที่เพิ่มพลังมากขึ้นเรื่อยๆมากกว่าทวีคูณจนเกิดเป็นพลังมหาศาลในที่สุด ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นรอบตัวเราเช่น แผ่นดินไหวขนาดเล็กจุดหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่อีกจุดหนึ่งที่อยู่ห่างไกลออกไป คลื่นสึนามิขนาดเล็กๆที่เกิดขึ้นจุดหนึ่งกลางทะเลอาจกลายเป็นคลื่นขนาดยักษ์โถมเข้าถล่มเมืองทั้งเมืองที่อยู่ห่างไปหลายร้อยกิโลเมตรได้ หิมะที่ถล่มขนาดเล็กๆจุดหนึ่งบนยอดเขาสูงอาจกลายเป็นก้อนภูเขาหิมะกลิ้งลงมาทับหมู่บ้านที่เชิงเขาข้างล่างทั้งหมู่บ้านได้ ความคิดเล็กๆความคิดหนึ่งที่เสนอออกไปจากคนหนึ่งอาจจะเกิดผลกระทบใหญ่หลวงในที่อีกแห่งหนึ่งได้เช่นกัน

ปัญหาของสังคมในเวลานี้คือเรื่องการจัดการกับความไร้ระเบียบหรือความสับสนอลหม่านในสังคม (Social Chaos) เพราะเวลาในอดีตที่ผ่านมา สังคมเคยตั้งมั่นบนพื้นฐานโครงสร้างทางสังคมที่ค่อนข้างแข็งแรงมั่นคงและมีความเป็นระเบียบ มีกฏ ข้อบังคับ ประเพณี วัฒนธรรมที่ยึดมั่นถ่ายทอดการปฏิบัติตามกันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นต่อไป แต่ Stan Davis กล่าวว่า “When the infrastructure shift, everything rumbles.” เมื่อโครงสร้างพื้นฐานเปลี่ยนทุกอย่างส่งเสียงไม่พอใจไม่เป็นสุข การสื่อสารผ่านสื่อสังคมที่มีความรวดเร็วต่อการการรับรู้ในวงกว้างในเวลานี้ได้ทำให้โครงสร้างทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก กฏ ระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรม แบบเดิมที่เคยยึดมั่นและได้รับการถ่ายทอดตามกันมา เริ่มคลอนแคลนไม่ได้รับการตอบสนองจากคนรุ่นใหม่ตามวิถีชีวิตแบบเดิมแล้ว

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุลของสังคม (Social Fulcrum) จะเป็นแบบใด เพราะถ้าสถานะการณ์ที่เป็นอยู่ในสังคมยังอยู่ห่างไกลจากจุดสมดุลของมัน ความไม่เป็นระเบียบในสังคมจะยังปะทุเกิดขึ้น และสังคมยังต้องปรับตัวแสวงหาจุดสมดุลของมันต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะลงตัว ซึ่งอาจต้องใช้เวลาและสูญเสียทรัพยากรต่างๆอีกมหาศาล และอาจสูญเสียโอกาสที่มีค่าของสังคมไปก็ได้ แต่ถ้าความไร้ระเบียบนั้นอยู่นั้นอยู่ใกล้จุดสมดุลของมันแล้ว สังคมจะเริ่มมีความเป็นระเบียบมากขึ้น สังคมจะปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุลของมันในที่สุด สังคมจะเกิดความเป็นระเบียบ ความสับสนอลหม่านจะหายไป ความสงบสุขจะกลับคืนมา แต่อาจจะมีในบางสถานะการณ์ที่สังคมอาจจะกำลังตกอยู่ในจุดที่เป็นทางแพร่งสองทาง (Bifurcation) คือทางหนึ่งเดินไปสู่ความไร้ระเบียบในสังคม และอีกทางหนึ่งเดินไปสู่ความเป็นระเบียบในสังคม จุดนี้เป็นจุดวิกฤติ (Critical point) ของสังคมที่คนในสังคมต้องมีความตระหนักรู้ มีความคิดสติปัญญาในการเลือกเดินให้ถูกทาง ถ้าโชคร้ายเลือกเดินผิดทางสังคมจะเกิดความไร้ระเบียบ เกิดความไม่สงบสุขและนำความเสียหายอย่างไม่อาจนับมูลค่าได้ ดังที่เห็นได้จากเหตุการณ์ความไม่สงบและความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นในบางประเทศที่ยังมีการสู้รบฆ่ากันในเวลานี้

ความไร้ระเบียบในสังคม จะทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างยากลำบาก เพราะ

1.   ไม่มีเสถียรภาพ (Unstable)

ในสังคมที่ไร้ระเบียบไม่มีความเชื่อมั่น ไม่มีอะไรที่จะรับรองได้ว่าจะเกิดหรือไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะคนที่อยู่ในสถานการณ์ไร้ระเบียบต่างไม่มีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ทุกคนพยายามเอาตัวรอดก่อน ในสมัยก่อนเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า ไร้ขื่นแป คือไม่มีอะไรให้ผูกจับยึดโยงกันให้เกิดความแข็งแรงมั่นคง เหมือนไม้ขื่อที่ทำหน้าที่ยืดหัวเสาสองต้นให้ตั้งตรงและไม้แปที่ยึดโยงกับไม้ขื่อเพื่อรองรับโครงสร้างของส่วนหลังคาทั้งหมด ถ้าไม่มีขื่อและแปยึดโยงกันไว้ บ้านก็ล่ม

2.   ไม่สามารถพยากรณ์ได้ (Unpredictable)

สังคมที่ไร้ระเบียบไม่สามารถคาดการณ์หรือพยากรณ์ได้ว่าจะเป็นไปเช่นใดในอนาคต เพราะไม่สามารถควบคุมตัวแปรในสังคมที่ไร้ระเบียบได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าออกจากบ้านเช้าวันนี้แล้วจะมีชีวิตได้กลับเข้าบ้านอย่างปลอดภัยหรือไม่ ตรงกันข้ามกับในสังคมที่มีระเบียบมากๆอย่างประเทศญี่ปุ่นที่สามารถบอกได้ว่ารถเมล์คันไหนจะไปจอดที่ป้ายรถเมล์ใดในเวลากี่โมงกี่นาที

3.   ไม่สามารถควบคุมผลกระทบ (Un-controllable effect)

สังคมที่ไร้ระเบียบไม่สามารถควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความไร้ระเบียบในสังคมได้ การวางระเบิดหนึ่งลูกที่กลางตลาด หรือการวางเพลิงสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมือง จะมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศ ความเชื่อมั่นในการลงทุน การทำธุรกิจค้าขายมากขนาดใด ไม่สามารถควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นได้

4.   ไม่สามารถควบคุมเชิงเส้นตรง (nonlinear control)

สังคมไร้ระเบียบ มีตัวแปรทางสังคมซับซ้อนหลายตัวแปรที่ไม่สามารถกำหนดและควบคุมได้ ทำให้ยากต่อการออกแบบการควบคุม เพราะสถานการณ์มันไม่นิ่งให้เข้าไปจับและควบคุมไว้ แตกต่างจากสังคมที่มีระเบียบที่สามารถวางแผน กำหนดเป้าหมาย กำหนดยุทธศาสตร์ออกแบบควบคุมการใช้ทรัพยากร การบริหารจัดการ และวัดผลได้

5.   เกิดผลมากกว่าการทวีคูณ (Exponential)

สังคมไร้ระเบียบไม่สามารถกำหนดปริมาณการเติบโตหรือการถดถอยของสถานการณ์ในสังคมได้ ดังนั้นจึงไม่สามารถคำนวนผลออกมาในลักษณะการเกิดผลอย่างทวีคูณแบบปกติได้ เช่นเดียวกับการที่เราไม่สามารถคำนวณผลความเสียหายที่เกิดจากพายุหมุนในแผ่นดิน คลื่นสึนามิกลางมหาสมุทร หรือหิมะถล่มบนภูเขาสูง

          อ่านมาถึงตรงนี้แล้วถ้าท่านรู้สึกงง และไม่เข้าใจ แสดงว่าท่านเป็นปกติดีครับ เพราะผมเขียนด้วยความรู้สึกอย่างเดียวกัน อย่าได้คิดเป็นเรื่องใหญ่ระดับสังคมเลยนะครับ เอาเป็นว่าขอให้ท่านคิดเพียงแค่ตัวท่านเองก่อนว่า ถ้าชีวิตของท่านเกิดความไม่มีระเบียบในชีวิตขึ้นมา แล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้างในชีวิตของท่าน และจะมีผลกระทบต่อหน่วยงานที่ท่านทำงานอย่างไรบ้าง

ขอปิดท้ายด้วยคำพูดช่วยให้คิด ที่จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องความไร้ระเบียบมากขึ้น
Napoleon Bonaparte กล่าวว่า The battlefield is a scene of constant chaos. The winner will be the one who controls that chaos, both his own and the enemies.” สนามรบคือฉากของความอลม่านไร้ระเบียบอยู่เสมอ ผู้ชนะการรบคือผู้ที่ควบคุมความไร้ระเบียบที่เกิดขึ้น ทั้งฝ่ายตนเอง และฝ่ายศัตรู
Carl Jung กล่าวว่า “In all chaos there is a cosmos, in all disorder a secret order.” ในความไร้ระเบียบยังมีจักรวาล (ที่มีระเบียบ) ในความไม่มีระเบียบทั้งมวล ยังมีความเป็นระเบียบซ่อนอยู่
Deepak Chopra กล่าวว่า “In the midst of movement and chaos, keep stillness inside of you.” ท่ามกลางความเคลื่อนไหวและความสับสนไร้ระเบียบ จงมีความความสงบนิ่งภายในใจของคุณ

ร้อนๆแบบนี้ ทำใจนิ่งสงบไว้ก่อนนะครับ


ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเยี่ยมและอ่านตลอดเดือนพฤษภาคม มากกว่า 1,500 คน ขออภัยที่ไม่ได้เขียนอะไรเพิ่มเติมในเดือนที่ผ่านมาเพราะสมองของผมขอลาหยุดไปจัดระเบียบความคิดทั้งเดือนครับ

สมชัย ศิริสุจินต์

https://somchaiblessings.blogspot.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น