วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2557

การปฏิรูปและพัฒนาเมือง



“God’s word is true, and everything he does is right. He loves what is right and fair; the Lord’s love fills the earth.”                           Psalm 33:4-5


The Global Agenda Council on Competitiveness เป็นคณะกรรมการที่ได้ทำการศึกษาเรื่องความสามารถในการแข่งขันของเมืองสำคัญต่างๆทั่วโลกโดยมีจุดประสงค์ที่จะใช้ผลการศึกษามาเป็นข้อมูลให้ผู้นำผู้บริหารเมืองเศรษฐกิจทั่วโลกได้มีความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากร (Demographic) ของแต่ละเมือง และคำนึงถึงความสำคัญในการวางแผนปฏิรูปพัฒนาเมือง เพื่อทำให้เมืองมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้บริหารประเทศได้คำนึงถึงความสำคัญของการปฏิรูปพัฒนาเมืองเอก หรือ เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรของเมือง มีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
เรื่องที่คณะกรรมการชุดนี้ศึกษาและนำเสนอ ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มสำคัญของโลก (Key trends) ความเสี่ยงที่โลกกำลังเผชิญ (Global risks) ช่องว่างในเรื่องความรู้ (Gaps in knowledge) และความท้าทายต่างๆที่ทั่วโลกกำลังจะพบ (Global challenges)
เพราะว่าเมืองต่างๆทั่วโลกเปรียบดั่งกระแสเลือดที่ให้ชีวิตแก่เศรษฐกิจโลก และเมืองเศรษฐกิจต่างๆของแต่ละประเทศ เป็นตัวกำหนดความเจริญมั่งคั่งของประเทศ และ ความสามารถในการแข่งขันของเมือง เป็นตัวกำหนดผลผลิต (Productivity) ของเมือง เพราะถ้าเมืองใดมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง เมืองนั้นย่อมมีโอกาสที่จะใช้ทรัพยากรของเมืองอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเกิดผลโดยตรงต่อความเจริญเติบโต และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของเมือง หลายท่านได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองหลายเมืองในประเทศไทยที่เคยเป็นเมืองสำคัญ มีความเจริญทางเศรษฐกิจเมื่อ 30-40 ปีก่อน ปัจจุบันหลายเมืองกลับด้อยความสำคัญลงไป เพราะมีเมืองใหม่ๆที่เติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าไปแล้ว
สาเหตุที่เมืองบางเมืองเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลง และเมืองใหม่บางเมืองเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เกิดจากความสามารถในการแข่งขันของเมือง ที่สามารถดึงดูดการลงทุนใหม่ๆเข้าไปตั้งธุรกิจในเขตเมือง ทำให้เกิดการกระตุ้นและขยายตัวทางเศรษฐกิจตามมา เพราะการลงทุนทางเศรษฐกิจมีพลวัตร ทำให้ปัจจัยอื่นๆที่เป็นส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจขยับตัวตามด้วย เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำให้เกิดห่วงโซ่เศรษฐกิจต่อเนื่อง ทำให้มีการสร้างโรงแรม รีสอร์ท สนามกอล์ฟ ร้านอาหาร รถทัวร์ รถเช่า ร้านขายของที่ระลึก บริษัทนำเที่ยว สปาและนวดแผน ฯลฯ เป็นต้น ความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของเมืองทำให้เมืองเกิดผลิตผล (Productivity) ทางเศรษฐกิจที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (Gross Domestic Products) ของเมืองสูงขึ้น เป็นปัจจัยนำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องใหม่ (New investment) ทำให้เมืองมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วขึ้น และถ้าผู้นำผู้บริหารเมืองมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะนำความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจ (Sustainable economic growth and prosperity) ให้กับเมือง
การศึกษาของ Council World Economic Forum’s Global Agenda ยังพบอีกว่า เป็นครั้งในประวัติศาสตร์ของโลกที่ปี  2010 โลกมีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอยู่อาศัยในเมืองมากกว่าอาศัยอยู่ในชนบท และประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองทำให้เกิดผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (Global GDP) มากกว่า 80% และจากการพยากรณ์ของสหประชาชาติ (United Nations) ภายในปี 2050 จะมีประชากรทั่วโลกอีก 2.5 พันล้านคน ย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้ามาทำมาหากินในเมือง และจำนวนประชากรที่หลั่งไหลเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้นเรื่อยๆจะเป็นประชากรจากประเทศกำลังพัฒนา คือประมาณ 94 % ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
McKinsey Global Institute คาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 เมืองเอกเมืองเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกจำนวน 443 เมือง จะมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันเป็น 18% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกอย่างมาก เพราะประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเศรษฐกิจเหล่านี้จะมีคนชั้นกลางรุ่นใหม่ (New middle class) เกิดขึ้นจำนวนถึง 1 พันล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่มีผลต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของโลก
          จากการศึกษาเมืองเศรษฐกิจจำนวน 33 เมืองทั่วโลกที่มีการลงทุนในระดับที่แตกต่างกัน มีระดับการพัฒนาเมืองที่แตกต่างกัน และมีระดับความสำเร็จในการพัฒนาเมืองที่แตกต่างกัน คณะผู้ทำการศึกษาได้สรุปบทเรียนหลักของเมืองที่มีความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้นำผู้บริหารเมืองได้พิจารณาว่าจะปฏิรูปอะไร (What to reform?) และจะปฏิรูปอย่างไร (How-to-reform?) ไว้ดังนี้

การตัดสินใจ
การตัดสินใจเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าผู้นำผู้บริหารเมืองตัดสินใจถูกต้อง ปัญหาของเมืองจะมีน้อย และสามารถแก้ไขได้ อนาคตของเมืองจะก้าวหน้าเจริญเติบโต คนในเมืองจะอยู่ดีกินดีและมีสุข ดังนั้นผู้นำผู้บริหารของเมืองจึงต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์แจ่มกระจ่าง (Clear vision) และมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล (Far sighted vision) มีภาพชัดเจนว่าเมืองควรจะเป็นอย่างไรในอนาคต และเป็นผู้ที่มีความตั้งใจมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะปฏิรูปเมืองให้ไปถึงจุดหมาย สามารถกำหนดทิศทางที่ปฏิบัติได้จริง ถ้าผู้นำผู้บริหารเมืองรู้ว่าเมืองจะต้องปฏิรูปอะไรบ้าง และจะต้องปฏิรูปอย่างไร นโยบายและยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปเมืองจะถูกกำหนดออกมาอย่างชัดเจน โครงการพัฒนาด้านต่างๆที่ดำเนินการจะตอบสนองเป้าหมายที่ต้องการ เมืองจะถูกปฏิรูปและพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องและทำให้เมืองมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้นในอนาคต

กฏหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ
กฏหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆที่ใช้ในการปกครองบริหารเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ผู้นำผู้บริหารจัดการเมืองให้เดินไปสู่เป้าหมายที่กำหนด ผู้นำผู้บริหารเมืองจึงต้องทำการปฏิรูปกฏหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆที่ใช้ในการปกครองบริหารเมือง ให้เอื้อต่อบรรยากาศในทางธุรกิจ (Business climate) เช่น กฏระเบียบทางด้านการส่งเสริมการลงทุน การจัดเก็บภาษี การจ้างแรงงาน สิทธิและความเท่าเทียมกันทางการค้า การเคลื่อนย้ายทุน การคุ้มครองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับใช้กฏหมายอย่างเท่าเทียมกัน ความโปร่งใสไม่มีคอร์รัปชั่น และมีธรรมภิบาลในการบังคับใช้กฏหมาย

การเชื่อมโยงทางกายภาพ
เมืองทุกเมืองจะต้องมีการเชื่อมโยงทางกายภาพหรือการเชื่อมโยงด้านแข็งที่เรียกว่า Hard connectivityที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพราะการคมนาคม การขนส่ง การสื่อสาร ความสะดวกสบาย ความรวดเร็วในการเคลื่อนไหวของคน ข้อมูลข่าวสาร สินค้าและบริการ จะเป็นไปได้ดี ต้องมีโครงสร้างพื้นฐาน  (Infra-structure) ที่ดี มีความยืดหยุ่นที่เอื้อประโยชน์ (Complement) ต่อกัน เช่นในประเทศที่มีการเชื่อมโยงทางกายภาพที่ดี การเดินทางโดยเครื่องบิน รถไฟ รถไฟฟ้า เรือและรถเมล์โดยสาร จะเชื่อมโยงและเอื้อประโยชน์ต่อกันหมด ทำให้เมืองมีการเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วไม่สิ้นเปลืองพลังงาน และประหยัดต้นทุน เช่นเดียวกับการสื่อสารและโทรคมนาคมของเมืองต้องมีความเชื่อมโยงและเอื้อประโยชน์ต่อกัน ทำให้การสื่อสารกระจายไปทั่วถึงทุกจุด เข้าถึงง่าย มีเสถียรภาพ และเชื่อถือได้ ผู้นำผู้บริหารเมืองจึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและยาวไกล เพราะการวางแผนการเชื่อมโยงทางกายภาพเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาและการลงทุนมหาศาล จึงต้องลงทุนเผื่อการเชื่อมโยงทางกายภาพที่เกิดจากการขยายตัวของเมืองในอนาคตด้วย

การเชื่อมโยงทางสังคม
การเชื่อมโยงที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง คือ การเชื่อมโยงด้านสังคม หรือการเชื่อมโยงด้านอ่อนที่เรียกว่า Soft connectivityเป็นการเชื่อมโยงเรื่องทุนทางสังคมของเมือง เนื่องจากเมืองมีชีวิตจากกิจกรรมของคนที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในเมือง แม้ว่าเมืองจะมีการเชื่อมโยงทางกายภาพที่ดี แต่ถ้าไม่มีการเชื่อมโยงทางสังคมที่ดี คุณภาพชีวิตของคนในเมืองจะไม่ดี ทำให้คนไม่มีความสุข เพราะนอกจากคนจะมีงานทำ มีธุรกิจ มีที่อยู่อาศัย มีถนนหนทางที่เดินทางอย่างสะดวกรวดเร็ว มีการสื่อสารที่ทั่วถึงแล้ว คนยังมีความต้องการในมิติทางอารมณ์และจิตใจ เช่น ต้องการโรงเรียน มหาวิทยาลัย สนามกีฬา สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ โรงละคร โรงภาพยนต์ ศูนย์การค้า แหล่งบันเทิง และ ศาสนสถาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เมืองมีชีวิต (Organic city) และทำให้คนมีความสุขที่จะอยู่อาศัยในเมืองนั้น เนื่องจากเมื่อฐานะทางเศรษฐกิจของคนในเมืองดีขึ้น มีคนชั้นกลางในเมืองจำนวนมากขึ้น คนกลุ่มนี้ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ข้อสังเกตุจากการศึกษา

คณะผู้ศึกษาได้สรุปข้อสังเกตสั้นๆไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ยืดหยุ่นและปรับตัว
เมืองที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปและพัฒนา เป็นเมืองที่ต้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของบริบทและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงคือการมีความยืดหยุ่น (Flexibility) และ มีการปรับตัว (Aadaptability) อย่างรวดเร็วต่อเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลง

จัดลำดับความสำคัญ
เนื่องจากการปฏิรูปและพัฒนาเมืองมีปัจจัยที่ต้องวางแผน ดำเนินการแก้ไข และเปลี่ยนแปลงมากมาย ในขณะที่เมืองมีทรัพยากรอย่างจำกัด ผู้นำผู้บริหารเมืองจึงต้องจัดลำดับความสำคัญและบูรณาการแผนงานเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม เพราะการเติบโตของเมือง ปัจจัยทุกด้านต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน แต่มีลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน และต้องวางแผนเผื่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของเมืองด้วยเช่น อีก 15-20 ปี ข้างหน้าสังคมเมืองจะทะยอยกลายเป็นสังคมเมืองผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ การเชื่อมโยงทางกายภาพ และการเชื่อมโยงทางสังคมของเมืองควรจะเป็นรูปแบบใด เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง

โอกาสและความเป็นไปได้
เนื่องจากการปฏิรูปและพัฒนาเมือง เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนจำนวนมาก และต้องใช้การลงทุนมหาศาล มีความซับซ้อนของโครงสร้างทางสังคมมากมาย โอกาสและความเป็นไปได้ของการปฏิรูปและพัฒนาในระดับเมือง จึงมีมากกว่าการปฏิรูปและพัฒนาในระดับประเทศ ที่ทำได้ยากกว่า ดังนั้นการกระจายการปฏิรูปและพัฒนาไปตามเมืองเอก เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจ จะทำให้การปฏิรูปและพัฒนาเกิดผลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่า
          Julia Gillard กล่าวว่า I know reform is never easy. But I know reform is right.” ฉันรู้ว่าการปฏิรูปไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แต่ฉันรู้ว่าการปฏิรูปเป็นสิ่งถูกต้อง
ที่เขียนเรื่องการปฏิรูปและพัฒนาเมืองนี้ ไม่ได้ตั้งใจให้ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย หรือปฏิรูปเมืองเอก เมืองสำคัญทางเศรษฐกิจของไทยในเวลานี้ แต่มุ่งหวังให้ท่านผู้อ่านเกิดความคิดหลังการอ่าน และนำแนวคิดไปปรับใช้ในการปฏิรูปและพัฒนาหน่วยงานและองค์กรที่ท่านเป็นผู้นำผู้บริหารอยู่ เพราะการเป็นผู้นำผู้บริหารหน่วยงานและองค์กร จำเป็นควรต้องรู้ว่า จะปฏิรูปอะไร (What to reform?) และจะปฏิรูปอย่างไร (How-to-reform?) ครับ


ขอบคุณที่ตั้งใจอ่านจนจบ

และขอบคุณที่ช่วยแนะนำให้เพื่อนอ่านครับ

สมชัย ศิริสุจินต์


16 กันยายน 2014

         

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น