วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ผู้นำผู้รับใช้ (6)




“It is your own face that you see reflected in the water and it is your own self that you see in your heart.”                                                                                Proverbs 27:19

ในตอนที่แล้วได้นำเสนอตัวอย่างบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาที่ใช้แนวคิดการบริหารองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้ (Servant leadership) ไปบริหารองค์กร จนประสบความสำเร็จ ทั้งด้านความผาสุกขององค์กร คือบุคลากรขององค์กรมีความสุขในการทำงาน หลายองค์กรได้รับการเลือกว่าเป็นองค์กรที่อยากสมัครเข้าทำงานมากที่สุด หรือเป็นองค์กรที่บุคลากรมีความพึงพอใจสูงสุด และอีกความสำเร็จสำคัญซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความคาดหมายของคนโดยทั่วไปคือ องค์กรประสบความสำเร็จด้านการประกอบการธุรกิจคือมีผลกำไร และมีอัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องได้เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆที่ใช้แนวคิดการบริหารองค์กรแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformation leadership) ซึ่งเป็นรูปแบบการนำองค์กรที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน

คำถามตามมาคือว่า แล้วการบริหารองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้นี้ จะใช้ได้กับทุกองค์กรหรือไม่ คำตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ ได้ แต่จะได้ผลดีขนาดไหน มีปัจจัย สิ่งแวดล้อมอีกหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง และขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่ามีความพร้อมที่จะตอบรับการบริหารแบบผู้นำผู้รับใช้เพียงใด เนื่องจากแนวคิดแบบผู้นำผู้รับใช้มีคุณลักษณะหลายประการที่แตกต่างจากแนวคิดแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่าง เช่น

เน้นจิตวิญญาณ

องค์กรที่ผู้นำมีคุณลักษณะให้ความสำคัญเรื่องจิตใจคน สนใจเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม คือ “เอาคนก่อนเงิน” องค์กรแบบนี้มีแนวโน้มตอบรับการนำองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้มากกว่าองค์กรที่ผู้นำมีคุณลักษณะให้ความสนใจเฉพาะเรื่องวัตถุนิยมคือ “เอาเงินก่อนคน” เพราะตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรจะแตกต่างกัน

เน้นความเป็นบุคคล

องค์กรที่มีบรรยากาศความไม่เป็นทางการ บุคลากรมีความผูกพันแบบเป็นพี่เป็นน้องกัน ให้ความสนใจในเรื่องส่วนตัวและครอบครัวของเพื่อนร่วมงาน การทำงานไม่ได้ใช้ความเป็นทางการอยู่ตลอดเวลา มีความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกัน มีมิตรภาพ มีน้ำใจให้แก่กัน ไม่แข่งขันเอาชนะกันอย่างเคร่งเครียด องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบมีความเป็นกันเองอย่างนี้ แนวโน้มไปกันได้กับการนำองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้

เน้นการให้

องค์กรที่มีวัฒนธรรมในเชิงสร้างสรรค์ คนในองค์กรมีจิตใจใฝ่สร้างผลงาน มีน้ำใจให้กับงานไม่เกี่ยงงอนเรื่องค่าจ้างผลตอบแทน ไม่ใช่วัฒนธรรมแบบพอขอให้ทำงานอะไรเพิ่มเติม ถ้าเงินไม่มาเวลาไม่มี พากันติดกิจธุระหมด แต่ถ้างานใดให้เงินจ้างทุกคนว่างทันที องค์กรที่มีบรรยากาศการทำงานแบบใช้แรงจูงใจด้วยเงิน (Money incentive) อย่างเดียวไม่ค่อยตอบรับการนำแบบผู้นำผู้รับใช้ ที่ใช้แรงจูงใจทางจิตใจมากกว่าเงิน ผู้นำผู้รับใช้ มีหลักคิดว่า ความรู้ความสามารถของเราเป็นของประทาน (Gift) มาจากพระเจ้า จึงต้องใช้เพื่อรับใช้ซึ่งกันและกัน (Serve one another as good stewards)

เน้นการไม่ตอบโต้

องค์กรที่ใช้การนำแบบผู้นำผู้รับใช้ มีวัฒนธรรมค่อนมาทางเชิงตั้งรับ เนื่องจากผู้นำเน้นความสำคัญที่การถ่อมตน(Humble) ให้เกียรติ และให้ความสนใจในความต้องการของผู้อื่น จึงไม่มีลักษณะก้าวร้าว ไม่เป็นฝ่ายรุกเรียกร้องเอาประโยชน์ หรือเอาเปรียบใคร และไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้แสดงความไม่พอใจ ซึ่งไม่เหมือนกับองค์กรที่นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไปที่เน้นเรื่องผลประโยชน์ ความได้เปรียบในการแข่งขัน และไม่ยอมเสียเปรียบใคร มีปฏิกิริยาตอบโต้ทันที มีวัฒนธรรมเชิงรุก (Proactive) ในการทำงาน เพื่อแย่งชิงพื้นที่ผลประโยชน์ องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้ ไม่ค่อยตอบรับการนำองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้

เน้นการถนอมรักษา

 องค์กรที่นำแบบผู้นำผู้รับใช้ จะค่อนข้างไปทางอนุรักษ์นิยม เพราะผู้นำมุ่งเน้นคุณค่าทางจิตใจของคนในองค์กร ลูกค้าผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน ดังนั้นเวลาคิดทำอะไรจะคำนึงถึงผลกระทบหลายมิติก่อนเสมอ การเปลี่ยนแปลงใดๆในองค์กรจึงไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด  ลักษณะวัฒนธรรมองค์กรจึงออกมาในแบบถนอมรักษาน้ำใจกัน ซึ่งตรงกันข้ามกับการนำองค์กรแบบเปลี่ยนแปลงที่เน้นเรื่องการคิดสิ่งใหม่ (Innovative) เน้นเรื่องการขับเคลื่อน (Dynamic) ไม่หยุดนิ่งองค์กร เน้นการสร้างสิ่งใหม่ทดแทนสิ่งเก่าตลอดเวลา

        การจะเปลี่ยนและทำให้องค์กร เป็นองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ความอดทนมาก เพราะจำเป็นต้องทำความเข้าใจและฝึกฝนในทางปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง อย่างเช่นที่บริษัท TD Industries ซึ่งนำเอาปรัชญาการเป็นผู้นำผู้รับใช้ของ Greenleaf มาปรับใช้ที่บริษัทภายใต้คำขวัญ To Lead, First You Must Follow ที่ผู้บริหารของบริษัททุกคนจะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมการเป็นผู้นำผู้รับใช้ของบริษัทก่อน เพราะบริษัทต้องการให้ผู้บริหารบริษัททุกคนรู้จักการเป็นผู้ตามที่ดีก่อนจะเป็นผู้นำที่ดีต่อไป

        สิ่งที่บริษัท TD Industries สอนผู้บริหารของเขาคือ

People can and should work together to grow a company.

คนสามารถและควรต้องทำงานร่วมกันได้ในการทำให้บริษัทเติบโต นี่เป็นหลักการพื้นฐานที่ทุกคนในองค์กรรู้ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นปัญหาของทุกองค์กร ที่คนในองค์กรอยู่ด้วยกันได้ แต่ทำงานร่วมกันให้เกิดผลสำเร็จและทำให้องค์กรเติบโตไม่ได้ เพราะคนในองค์กรยังมองเห็นผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ขององค์กร

Leaders are people who have followers.

ผู้นำคือคนที่มีผู้ติดตาม คนที่เป็นผู้นำแม้จะมีตำแหน่งรองรับ มีผู้ใต้บังคับบัญชา มีผู้ทำงานให้ตามตำแหน่งต่างๆ แต่ถ้าผู้คนที่ทำงานด้วยไม่ได้ยอมรับการนำของผู้นำ เขาไม่ใช่ผู้นำแท้จริง เพราะเป็นได้เพียงผู้บังคับบัญชาตามตำแหน่ง เมื่อผู้นำไม่มีผู้ติดตาม ความเป็นผู้นำก็หมดไป ดังคำกล่าวที่ว่า “No followers, no leader”

Leaders are first a servant of those they lead.

ผู้นำคือคนที่เป็นผู้รับใช้ของผู้ที่เขาจะนำก่อน เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและปฏิบัติตาม เพราะนี่คือคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่ทรงกระทำเป็นตัวอย่างด้วยการก้มล้างเท้าลูกศิษย์สาวกของพระองค์และสอนพวกเขาว่า ถ้าใครคนหนึ่งในพวกท่านต้องการเป็นเอกเป็นต้น เขาต้องรับใช้บรรดาคนที่เหลือทุกคนก่อน “If one of you wants to be great, you must be the servant of the rest.”

Leaders see things through the eyes of their followers.

ผู้นำมองเห็นสิ่งต่างๆผ่านสายตาของผู้ที่ติดตามเขา มีความหมายว่า การทำงานให้สำเร็จได้ต้องมีมุมมองที่หลากหลายจากคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเพื่อนร่วมงานที่มีความรู้และทักษะที่แตกต่างกัน ทำให้ได้ความคิดเห็น ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการตัดสินใจ อย่างที่ Harvey S. Firestone กล่าวว่า “The secret of my success is a two word answer: Know people.” เคล็ดลับแห่งความสำเร็จของข้าพเจ้าอยู่ที่คำตอบสองพยางค์คือ รู้จักคน ผู้นำที่รู้จักคน รู้จักผู้ติดตามของตนเป็นอย่างดี จะได้สิ่งดีจากพวกเขา

Leaders put themselves in others’ shoes and help them make their dreams come true.

ผู้นำเอาเท้าของตนเองไปใส่รองเท้าของผู้อื่น เพื่อจะได้เข้าใจความรู้สึก เข้าใจความลำบาก ทุกข์ยากของผู้อื่น เพราะการใส่รองเท้าของผู้อื่นย่อมไม่สะดวกสบายเหมือนกับใส่รองเท้าของตนเอง เมื่อผู้นำเข้าใจสภาพความทุกข์ยากลำบากของผู้อื่นแล้ว จะทำให้สามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้คนอื่นได้ดีขึ้น

        Bill Bradley กล่าวว่า “Leadership is unlocking people's potential to become better.” การเป็นผู้นำคือการปลดปล่อยศักยภาพของคน เพื่อทำให้เขาดียิ่งขึ้น

        วันนี้ท่านได้ช่วยทำให้ผู้อื่นได้ใช้ศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่หรือยังครับ

ขอบคุณที่อ่าน และขอบคุณที่ช่วย Share

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น