วันอาทิตย์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ผู้นำผู้รับใช้ (6)




“It is your own face that you see reflected in the water and it is your own self that you see in your heart.”                                                                                Proverbs 27:19

ในตอนที่แล้วได้นำเสนอตัวอย่างบริษัทชั้นนำของสหรัฐอเมริกาที่ใช้แนวคิดการบริหารองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้ (Servant leadership) ไปบริหารองค์กร จนประสบความสำเร็จ ทั้งด้านความผาสุกขององค์กร คือบุคลากรขององค์กรมีความสุขในการทำงาน หลายองค์กรได้รับการเลือกว่าเป็นองค์กรที่อยากสมัครเข้าทำงานมากที่สุด หรือเป็นองค์กรที่บุคลากรมีความพึงพอใจสูงสุด และอีกความสำเร็จสำคัญซึ่งอาจจะไม่ตรงกับความคาดหมายของคนโดยทั่วไปคือ องค์กรประสบความสำเร็จด้านการประกอบการธุรกิจคือมีผลกำไร และมีอัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องได้เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆที่ใช้แนวคิดการบริหารองค์กรแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformation leadership) ซึ่งเป็นรูปแบบการนำองค์กรที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน

คำถามตามมาคือว่า แล้วการบริหารองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้นี้ จะใช้ได้กับทุกองค์กรหรือไม่ คำตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ ได้ แต่จะได้ผลดีขนาดไหน มีปัจจัย สิ่งแวดล้อมอีกหลายประการเข้ามาเกี่ยวข้อง และขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมขององค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่ามีความพร้อมที่จะตอบรับการบริหารแบบผู้นำผู้รับใช้เพียงใด เนื่องจากแนวคิดแบบผู้นำผู้รับใช้มีคุณลักษณะหลายประการที่แตกต่างจากแนวคิดแบบผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตัวอย่าง เช่น

เน้นจิตวิญญาณ

องค์กรที่ผู้นำมีคุณลักษณะให้ความสำคัญเรื่องจิตใจคน สนใจเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม คือ “เอาคนก่อนเงิน” องค์กรแบบนี้มีแนวโน้มตอบรับการนำองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้มากกว่าองค์กรที่ผู้นำมีคุณลักษณะให้ความสนใจเฉพาะเรื่องวัตถุนิยมคือ “เอาเงินก่อนคน” เพราะตัวชี้วัดความสำเร็จขององค์กรจะแตกต่างกัน

เน้นความเป็นบุคคล

องค์กรที่มีบรรยากาศความไม่เป็นทางการ บุคลากรมีความผูกพันแบบเป็นพี่เป็นน้องกัน ให้ความสนใจในเรื่องส่วนตัวและครอบครัวของเพื่อนร่วมงาน การทำงานไม่ได้ใช้ความเป็นทางการอยู่ตลอดเวลา มีความยืดหยุ่นในการทำงานร่วมกัน มีมิตรภาพ มีน้ำใจให้แก่กัน ไม่แข่งขันเอาชนะกันอย่างเคร่งเครียด องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบมีความเป็นกันเองอย่างนี้ แนวโน้มไปกันได้กับการนำองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้

เน้นการให้

องค์กรที่มีวัฒนธรรมในเชิงสร้างสรรค์ คนในองค์กรมีจิตใจใฝ่สร้างผลงาน มีน้ำใจให้กับงานไม่เกี่ยงงอนเรื่องค่าจ้างผลตอบแทน ไม่ใช่วัฒนธรรมแบบพอขอให้ทำงานอะไรเพิ่มเติม ถ้าเงินไม่มาเวลาไม่มี พากันติดกิจธุระหมด แต่ถ้างานใดให้เงินจ้างทุกคนว่างทันที องค์กรที่มีบรรยากาศการทำงานแบบใช้แรงจูงใจด้วยเงิน (Money incentive) อย่างเดียวไม่ค่อยตอบรับการนำแบบผู้นำผู้รับใช้ ที่ใช้แรงจูงใจทางจิตใจมากกว่าเงิน ผู้นำผู้รับใช้ มีหลักคิดว่า ความรู้ความสามารถของเราเป็นของประทาน (Gift) มาจากพระเจ้า จึงต้องใช้เพื่อรับใช้ซึ่งกันและกัน (Serve one another as good stewards)

เน้นการไม่ตอบโต้

องค์กรที่ใช้การนำแบบผู้นำผู้รับใช้ มีวัฒนธรรมค่อนมาทางเชิงตั้งรับ เนื่องจากผู้นำเน้นความสำคัญที่การถ่อมตน(Humble) ให้เกียรติ และให้ความสนใจในความต้องการของผู้อื่น จึงไม่มีลักษณะก้าวร้าว ไม่เป็นฝ่ายรุกเรียกร้องเอาประโยชน์ หรือเอาเปรียบใคร และไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้แสดงความไม่พอใจ ซึ่งไม่เหมือนกับองค์กรที่นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไปที่เน้นเรื่องผลประโยชน์ ความได้เปรียบในการแข่งขัน และไม่ยอมเสียเปรียบใคร มีปฏิกิริยาตอบโต้ทันที มีวัฒนธรรมเชิงรุก (Proactive) ในการทำงาน เพื่อแย่งชิงพื้นที่ผลประโยชน์ องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบนี้ ไม่ค่อยตอบรับการนำองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้

เน้นการถนอมรักษา

 องค์กรที่นำแบบผู้นำผู้รับใช้ จะค่อนข้างไปทางอนุรักษ์นิยม เพราะผู้นำมุ่งเน้นคุณค่าทางจิตใจของคนในองค์กร ลูกค้าผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน ดังนั้นเวลาคิดทำอะไรจะคำนึงถึงผลกระทบหลายมิติก่อนเสมอ การเปลี่ยนแปลงใดๆในองค์กรจึงไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด  ลักษณะวัฒนธรรมองค์กรจึงออกมาในแบบถนอมรักษาน้ำใจกัน ซึ่งตรงกันข้ามกับการนำองค์กรแบบเปลี่ยนแปลงที่เน้นเรื่องการคิดสิ่งใหม่ (Innovative) เน้นเรื่องการขับเคลื่อน (Dynamic) ไม่หยุดนิ่งองค์กร เน้นการสร้างสิ่งใหม่ทดแทนสิ่งเก่าตลอดเวลา

        การจะเปลี่ยนและทำให้องค์กร เป็นองค์กรแบบผู้นำผู้รับใช้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้ความอดทนมาก เพราะจำเป็นต้องทำความเข้าใจและฝึกฝนในทางปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจัง อย่างเช่นที่บริษัท TD Industries ซึ่งนำเอาปรัชญาการเป็นผู้นำผู้รับใช้ของ Greenleaf มาปรับใช้ที่บริษัทภายใต้คำขวัญ To Lead, First You Must Follow ที่ผู้บริหารของบริษัททุกคนจะต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมการเป็นผู้นำผู้รับใช้ของบริษัทก่อน เพราะบริษัทต้องการให้ผู้บริหารบริษัททุกคนรู้จักการเป็นผู้ตามที่ดีก่อนจะเป็นผู้นำที่ดีต่อไป

        สิ่งที่บริษัท TD Industries สอนผู้บริหารของเขาคือ

People can and should work together to grow a company.

คนสามารถและควรต้องทำงานร่วมกันได้ในการทำให้บริษัทเติบโต นี่เป็นหลักการพื้นฐานที่ทุกคนในองค์กรรู้ แต่ในทางปฏิบัติกลับเป็นปัญหาของทุกองค์กร ที่คนในองค์กรอยู่ด้วยกันได้ แต่ทำงานร่วมกันให้เกิดผลสำเร็จและทำให้องค์กรเติบโตไม่ได้ เพราะคนในองค์กรยังมองเห็นผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ขององค์กร

Leaders are people who have followers.

ผู้นำคือคนที่มีผู้ติดตาม คนที่เป็นผู้นำแม้จะมีตำแหน่งรองรับ มีผู้ใต้บังคับบัญชา มีผู้ทำงานให้ตามตำแหน่งต่างๆ แต่ถ้าผู้คนที่ทำงานด้วยไม่ได้ยอมรับการนำของผู้นำ เขาไม่ใช่ผู้นำแท้จริง เพราะเป็นได้เพียงผู้บังคับบัญชาตามตำแหน่ง เมื่อผู้นำไม่มีผู้ติดตาม ความเป็นผู้นำก็หมดไป ดังคำกล่าวที่ว่า “No followers, no leader”

Leaders are first a servant of those they lead.

ผู้นำคือคนที่เป็นผู้รับใช้ของผู้ที่เขาจะนำก่อน เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจและปฏิบัติตาม เพราะนี่คือคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่ทรงกระทำเป็นตัวอย่างด้วยการก้มล้างเท้าลูกศิษย์สาวกของพระองค์และสอนพวกเขาว่า ถ้าใครคนหนึ่งในพวกท่านต้องการเป็นเอกเป็นต้น เขาต้องรับใช้บรรดาคนที่เหลือทุกคนก่อน “If one of you wants to be great, you must be the servant of the rest.”

Leaders see things through the eyes of their followers.

ผู้นำมองเห็นสิ่งต่างๆผ่านสายตาของผู้ที่ติดตามเขา มีความหมายว่า การทำงานให้สำเร็จได้ต้องมีมุมมองที่หลากหลายจากคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเพื่อนร่วมงานที่มีความรู้และทักษะที่แตกต่างกัน ทำให้ได้ความคิดเห็น ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อการตัดสินใจ อย่างที่ Harvey S. Firestone กล่าวว่า “The secret of my success is a two word answer: Know people.” เคล็ดลับแห่งความสำเร็จของข้าพเจ้าอยู่ที่คำตอบสองพยางค์คือ รู้จักคน ผู้นำที่รู้จักคน รู้จักผู้ติดตามของตนเป็นอย่างดี จะได้สิ่งดีจากพวกเขา

Leaders put themselves in others’ shoes and help them make their dreams come true.

ผู้นำเอาเท้าของตนเองไปใส่รองเท้าของผู้อื่น เพื่อจะได้เข้าใจความรู้สึก เข้าใจความลำบาก ทุกข์ยากของผู้อื่น เพราะการใส่รองเท้าของผู้อื่นย่อมไม่สะดวกสบายเหมือนกับใส่รองเท้าของตนเอง เมื่อผู้นำเข้าใจสภาพความทุกข์ยากลำบากของผู้อื่นแล้ว จะทำให้สามารถช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้คนอื่นได้ดีขึ้น

        Bill Bradley กล่าวว่า “Leadership is unlocking people's potential to become better.” การเป็นผู้นำคือการปลดปล่อยศักยภาพของคน เพื่อทำให้เขาดียิ่งขึ้น

        วันนี้ท่านได้ช่วยทำให้ผู้อื่นได้ใช้ศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่หรือยังครับ

ขอบคุณที่อ่าน และขอบคุณที่ช่วย Share

วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ผู้นำผู้รับใช้ (5)






“Good people will receive blessings. The words of the wicked hide a violent nature. Good people will be remembered as a blessing, but the wicked will soon be forgotten.”                                      Proverbs 10:6-7

เชื่อแน่ว่าผู้บริหารที่เป็นผู้นำขององค์กรจะมีคำถามว่า แนวทางการเป็นผู้นำผู้รับใช้ สามารถนำมาใช้ปฏิบัติให้เกิดผลในองค์กรได้จริงหรือ เพราะถ้าศึกษาคุณลักษณะของผู้นำผู้รับใช้ที่ได้นำเสนอไปแล้วทั้ง 4 ตอน จะพบว่าหัวใจของการเป็นผู้นำผู้รับใช้มุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่อง คน (People-centric) คือให้ความสนใจในการช่วยเหลือคนเป็นอย่างมาก แล้วผู้นำผู้รับใช้จะเอาคนอยู่หรือ เนื่องจากโดยทั่วไป คนจะฉวยโอกาสเอาเปรียบหาประโยชน์ใส่ตนเอง ไม่สามารถไว้วางใจคนได้ทั้งหมด แล้วองค์กรจะมีประสิทธิภาพและคุณภาพหรือ เพราะขนาดองค์กรมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ อย่างเข้มงวดคอยควบคุม ยังเอาคนไม่ค่อยอยู่ ถ้าใช้การบริหารแบบผู้นำผู้รับใช้ องค์กรไม่น่าจะอยู่รอดประสบความสำเร็จได้

Edward D. Hess ซึ่งเป็นศาสตราจารย์สอนที่ University of Virginia Darden School of Business ได้ใช้เวลาหลายปีศึกษาบริษัทที่มีประสิทธิภาพสูง (High-performing companies) และพบความน่าประหลาดใจที่ผู้นำขององค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้การนำองค์กรตามแบบทฤษฏีผู้นำทั่วไปที่คนทั้งหลายเข้าใจว่าการเป็นผู้นำต้องมีบารมี (Charismatic)  มีบุคลิกแฝงด้วยอำนาจ (Commanding presence) สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ฯลฯ แต่จากการศึกษากลับพบว่า ผู้นำองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงส่วนใหญ่มีลักษณะแบบผู้นำแบบผู้รับใช้ (Servant leaders) จากการทำวิจัยของเขาที่บริษัทและองค์กรชั้นนำของสหรัฐอเมริกาหลายแห่งเช่น Chick-fil-A, Home Depot, Marine Corps, Best Buy, UPS, Ritz Carlton, Room&Board, Whole Foods, Starbucks, Southwest Airlines, Levy Restaurants, the San Antonio Spurs และ TSYS ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ผู้นำบริษัทองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงที่ทำการศึกษามีคุณลักษณะร่วมที่เหมือนๆกัน (Common characteristics) ดังนี้

Leading by example
ผู้นำองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง นำองค์กรโดยการกระทำที่เป็นตัวอย่างที่ดี คือเป็นผู้สนใจเรื่องคน ให้ความใส่ใจเรื่องคุณค่าการให้บริการ (Valued service) ผู้อื่น และมีความเชื่อว่าการเป็นผู้นำต้องมีหน้าที่เป็นผู้ให้การบริการรับใช้ผู้อื่น (Stewardship) ผู้นำบริษัทเกือบทั้งหมดที่ทำการศึกษาเป็นผู้ถ่อมตน (Humble) และมีความเมตตาสงสาร (Passionate) คน ให้ความสนใจในรายละเอียด และเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมากในงานที่ทำ (Deeply involved in the details of the business) ผู้นำส่วนใหญ่อยู่กับองค์กรมานานหลายปี และไม่ลืมชีวิตของตนเมื่อครั้งยังเป็นพนักงานทำงานอยู่ในระดับล่าง พวกเขามีความเห็นว่าพนักงานทุกคนควรจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติ (Respect) และควรได้รับโอกาสให้ทำงานที่มีความสำคัญมีความหมาย (Meaningful work) ผู้นำปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะแค่ความตั้งใจดีเท่านั้นไม่เพียงพอ ต้องปฏิบัติให้เห็น (Good intentions are not enough- behaviors count.) ผู้นำจึงต้องรับใช้คน องค์กร รวมทั้งรับใช้ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) ขององค์กร และชุมชนด้วย

A leadership myth
คนมักเข้าใจผิดๆว่าเรื่องคนกับเรื่องมาตรฐานเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เพราะถ้าผู้นำมุ่งเน้นเรื่องคนมาก จะเสียมาตรฐานระบบการบริหารจัดการ เนื่องจากคนส่วนมากมักจะเอาประโยชน์ใส่ตนมากกว่าใส่องค์กร แต่จากการวิจัยพบว่าบุคลากรในองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงเหล่านี้มีอารมณ์ผูกพัน (Emotional engagement) สูงในการร่วมมือทำงาน มีความจงรักภักดีต่อองค์กร และสร้างผลผลิตสูงให้กับองค์กร ทุกวันทำงานเป็นระยะเวลายาวนาน และพบความจริงว่า มีนัยสัมพันธ์ระหว่างการที่บุคลากรทุ่มเททำงานจนมีผลผลิตสูงอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ กับการที่ผู้นำปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร (How you treat employee) การวิจัยพบว่าถ้าบุคลากรมีความพึงพอใจ (Employee satisfaction) ต่อการปฏิบัติของผู้นำ จะมีแรงขับดันให้บุคลากรปฏิบัติดีต่อผู้มารับบริการ มีผลทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจ

Humble wins
คนส่วนใหญ่แสวงหาตำแหน่งผู้นำเพราะต้องการเงิน ผลประโยชน์ตอบแทน และเกียรติยศอำนาจมากขึ้น ทำให้เวียนว่ายขึ้นๆลงๆในอ่างอำนาจและผลประโยชน์ ผู้นำได้รับทั้งความสมหวัง และความผิดหวัง คู่กันไป จากการวิจัยกลับพบว่า ผู้นำในองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงส่วนใหญ่ไม่กระโจนลงไปในอ่างอำนาจและผลประโยชน์ แม้ว่าบรรดาผู้นำในองค์กรที่มีชื่อเสียงเหล่านี้จะมีเงินเดือนค่าตอบแทนสูง มีสิทธิพิเศษตามตำแหน่งมากมาย แต่ส่วนใหญ่ผู้นำเหล่านี้หลีกเลี่ยงไม่แสวงหาประโยชน์ข้างเคียงจากตำแหน่งมากจนเกินไป และพยายามต่อสู้กับอภิสิทธินิยม (Elitism) ที่มาพร้อมกับตำแหน่งผู้นำ เช่นไม่เอาเครื่องบินประจำตำแหน่ง ไม่เอาห้องรับประทานอาหารเฉพาะผู้บริหาร ไม่นั่งห้องทำงานใหญ่โตโก้หรูมากเกินจำเป็น ผู้นำหลายคนนั่งทำงานในห้องโล่งๆธรรมดา ผู้นำบางท่านใช้เลขาและเจ้าหน้าที่ร่วมกับผู้บริหารท่านอื่น พยายามหลีกเลี่ยงกับดักอภิสิทธินิยม ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กร ความถ่อมของผู้นำที่แสดงออกทำให้ชนะใจคนทั้งองค์กร

Behaving well
พฤติกรรมของผู้นำส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการนำองค์กร พฤติกรรมของผู้นำคือเครื่องมือในการการสื่อความหมายให้คนในองค์กร หรือชุมชนรับรู้และเข้าใจ ถ้าผู้นำปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพในศักดิ์ศรี (Dignity) รับฟังความคิดเห็นและเคารพความคิดเห็นผู้อื่น รู้จักชื่นชมผลงานผู้อื่น ให้เกียรติความรู้และทักษะที่แตกต่างกันของผู้อื่น ยอมรับความผิดพลาดของตนและกล่าวคำขอโทษอย่างจริงใจ ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่ทำให้คนอื่นรู้สึกเสียหน้าในที่สาธารณะ แต่ให้กำลังใจ สร้างความเชื่อมั่น ยึดมั่นในจริยธรรม สัตย์ซื่อ มีคุณธรรม ให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานคุณภาพ คนในองค์กรจะรับรู้จุดยืนของผู้นำ และพยายามปฏิบัติตามผู้นำ ซึ่งจะส่งผลทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Vigilant leaders
เช่นเดียวกับพฤติกรรมของผู้นำ ทัศนคติ และความเชื่อของผู้นำ ทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จในการนำองค์กร เพราะทัศนคติและความเชื่อเป็นพื้นฐานความคิดและความรู้สึกที่ผลักดันการเกิดพฤติกรรม ผู้นำผู้รับใช้ไม่มีทัศนคติที่คิดว่าตัวเองดีกว่าคนอื่น มองโลกในแง่ดี มีทัศนคติบวก เชื่อมั่นในศักยภาพของผู้อื่น มีความเชื่อว่า การสร้างเสริมค่านิยมที่ถูกต้อง และปลูกฝังวัฒนธรรมที่ดีมีคุณค่าให้แก่คน ในที่สุด คนธรรมดาสามารถทำสิ่งที่ไม่ธรรมดาได้ (Ordinary people can do extraordinary things.) เมื่อมีความเข้าใจและเกิดแรงบันดาลใจ แน่นอนว่าการนำคุณค่ามาปฏิบัติในองค์กรเป็นสิ่งยาก แต่ผู้นำผู้รับใช้ต้องมีความอดทนและมุ่งมั่นต่อสู้กับการยั่วยวนของกิเลสในแต่ละวัน ที่พยายามฉุดกระชากให้ผู้นำผู้รับใช้หมดความอดทน กระโจนลงไปในอ่างอำนาจผลประโยชน์และอภิสิทธินิยมเหมือนผู้นำทั่วๆไป

          Sir Winston Churchill กล่าวว่า “Success consists of going from failure to failure without loss of enthusiasm.” ความสำเร็จประกอบด้วยความพยายามจากความล้มเหลวหนึ่งไปสู่อีกความล้มเหลวหนึ่งโดยไม่สูญเสียความกระตือรือร้น เพราะความล้มเหลวไม่ใช่จุดจบ (Failure is not fatal) เราสามารถลุกขึ้นมาเริ่มต้นใหม่ได้ และความสำเร็จก็ไม่ใช่สิ่งสุดท้าย (Success is not final) เพราะเรายังต้องทำความสำเร็จใหม่ในงานชิ้นต่อๆไป ผู้นำผู้รับใช้จึงต้องมีแรงขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เหมือนคำสอนที่ว่า เมื่อจับคันไถแล้วจะไม่หันหลังกลับ

          แล้วปัจจุบัน มีบริษัทที่ผู้นำองค์กรนำแนวทางการเป็นผู้นำผู้รับใช้ ไปปฏิบัติใช้ในบริษัทและประสบความสำเร็จบ้างหรือไม่ คำตอบคือ มีครับ แต่ยังมีจำนวนไม่มาก  จะขอนำตัวอย่างบริษัทที่ใช้แนวทางการเป็นผู้นำผู้รับใช้ไปบริหารบริษัทจน ประสบความสำเร็จมาให้พิจารณา เช่น


  • TD Industries บริษัทก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคารสถานที่ สนามกอล์ฟได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Fortune Magazine ว่าเป็นบริษัทที่น่าทำงาน (Great place to work) ใช้แนวทางผู้นำผู้รับใช้มานับสิบปีแล้ว

  • The Toro Company เป็นบริษัทที่คืนกำไรสู่สังคมสูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของกำไรก่อนหักภาษี เน้นความรับผิดชอบของบริษัทต่อชุมชนและสังคม

  • American Family Life Insurance Company เป็นหนึ่งใน Fortune 500 มีลูกค้าประกันมากกว่า 40 ล้านคนทั่วโลก มีทรัพย์สินมากกว่า 58 พันล้าน

  • Medtronic บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ เน้นเรื่องคุณภาพการพัฒนาเพื่อช่วยคน และการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการพัฒนาบริษัท

  •  Wegmans เป็นบริษัท Supermarket chain ที่อยู่ในอันดับต้นๆของสหรัฐอเมริกา และเป็นบริษัทที่ได้รับการยกย่องว่า น่าทำงานที่สุด

  • Southwest Airlines สายการบินที่มีผู้โดยสารเกิน 100 ล้านคนต่อปี บินไปยัง 65 เมืองใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ เน้นความสัตย์ซื่อต่อผู้โดยสารมาก

  • Herman Miller บริษัทเฟอร์นิเจอร์สำนักงานที่ใหญ่มาก เน้นเรื่องบุคลากรบริษัทมีส่วนร่วมในการพัฒนาธุรกิจ พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าของสูงมาก

  • Wal-mart เป็นห้างสรรพสินค้าที่มีสาขาทั่วโลกถึง 4,263 แห่งมี พนักงานถึง 2 ล้านคนทั่วโลก Sam Walton ผู้ก่อตั้งบริษัทใช้หลักการผู้นำผู้รับใช้

  • Tyson Foods บริษัทแปรรูปผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ไก่ หมู วัว ที่ให้ความสำคัญเรื่องชีวิตจิตวิญญาณของพนักงานมาก บริษัทจ้างอนุศาสกถึง 120 คน ทำงานประจำอยู่ทุกโรงงานผลิตเพื่อดูแลด้านจริยธรรมของบุคลากร

  • J.C.Penney ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ให้ความสำคัญในการพัฒนาคนมาก เป็นบริษัทแรกที่มีแผนกการศึกษาในบริษัทเพื่อให้การศึกษาพนักงาน และมีบ้านพักผู้สูงอายุ ช่วยเหลือดูแลผู้รับใช้ในวัยชรา

  •  Deere & Company บริษัทขายรถไถเครื่องจักรกลการเกษตร ที่มีความโดดเด่นในเรื่องความเข้มแข็งทางศีลธรรม (Morally upright) และมาตรฐานจริยธรรม (Ethical standard) ในการทำธุรกิจ

ขอปิดท้ายด้วยคำกล่าวของ Jim Elliot ที่กล่าวว่า “God always gives His best to those who leave the choice with him.” พระเจ้าให้สิ่งดีที่สุดเสมอแก่ผู้ที่มอบทางเลือกให้แก่พระเจ้า


ปล: ขอบคุณที่กรุณาอ่านจนจบ ถ้าชอบ ช่วยกด Shareให้เพื่อนอ่านด้วยนะครับ