วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557

ผู้นำผู้รับใช้ (3)




 “The LORD is pleased with good people, but condemns those who plan evil. Wickedness does not give security, but righteous people stand firm.”                                     Proverbs 12:2-3

ผู้นำในความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและเป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการคือผู้นำที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น (Transformation leader) เป็นผู้นำที่มีบทบาทในการนำให้องค์กรที่ตนเองเป็นผู้นำอยู่ เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรตามที่ผู้นำเห็นว่าจะมีอิทธิพลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ผู้นำต้องการได้ เช่นเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานแบบเชิงรับ (Reactive) เป็นการทำงานแบบเชิงรุก (Proactive) เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานแบบอำนาจอยู่ที่ตัวผู้นำ(I-Power) เป็นการทำงานแบบอำนาจอยู่ที่คนอื่น(You-Power) คือมอบอำนาจความรับผิดชอบให้คนอื่นคิดและตัดสินใจ เปลี่ยนองค์กรที่อยู่นิ่ง (Static) ไม่ปรับตัวให้เป็นองค์กรที่ปรับตัว มีพลวัตร(Dynamic) มีการเคลื่อนไหวตอบสนองการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนองค์กรที่คอยแต่ทำตามแบบคนอื่นให้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Innovative culture) สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นเพื่อทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าสามารถแข่งขันได้

          ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไปใช้ความเป็นผู้นำ(Leadership) ในการผลักดัน (Influence) ให้ผู้ทำงานภายใต้การนำของตนสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ (Motivate) ให้ผู้ติดตามทำตามความต้องการของผู้นำ (Individualized consideration) ผู้นำใช้การกระตุ้น (Stimulate) ให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจเป้าหมายและวิธีการเดินไปสู่เป้าหมายที่ผู้นำต้องการ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมาย ถึงจะนับได้ว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

          ผู้นำผู้รับใช้ เป็นผู้นำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกับผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไป แต่วิธีคิด และวิธีการ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้นำผู้รับใช้จะแตกต่างไปจากแนวคิดของผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วๆไป เพราะผู้นำผู้รับใช้เน้นการเปลี่ยนแปลงภายในตัวคนก่อน คือเน้นเรื่องจิตวิญญาณ (Spiritual) ของคนเป็นสำคัญ ถ้าคนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตวิญญาณ จิตใจของเขาจะเปลี่ยน ความคิดและทัศนคติจะเปลี่ยน ซึ่งทำให้การประพฤติปฏิบัติของเขาเปลี่ยนตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงภายนอกจะตามมาเอง เขาจะเกิดความรู้สึกร้อนรน เกิดความคิดใหม่อยากจะทำสิ่งใหม่ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายได้ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะยั่งยืนกว่า เพราะเป้าหมายของผู้นำผู้รับใช้มุ่งไปที่คน และความต้องการของชุมชน (Community consideration) เป็นสำคัญ

          ผู้นำผู้รับใช้จึงมุ่งให้ความสนใจและให้คุณค่าคน (Valuing people) โดยการพัฒนาคนที่จิตใจก่อน เมื่อจิตใจของคนได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นจิตใจแบบผู้รับใช้ได้แล้ว ตัวเขาเองจะดิ้นรนหาหนทางในการช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข ทำให้มีสิ่งดีเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งก็คือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นนั่นเอง แนวคิดแบบผู้นำผู้รับใช้จึงดูยากลำบากในเชิงปฏิบัติกว่าแนวคิดผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไป แต่จริงๆแล้วทั้งสองแนวคิดมีหลักคิดหลายอย่างที่เหมือนๆกัน เพียงแต่มีจุดเน้นเรื่องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน

          Skip Prichard ได้ให้แนวคิดเรื่องคุณสมบัติ (Qualities) สำคัญของผู้นำผู้รับใช้หลายประการ ขออนุญาตนำมาเขียนตามความเข้าใจดังนี้

Values diverse opinions
ผู้นำผู้รับใช้ ต้องฟังให้เป็น ฟังให้ได้ยินความคิดความต้องการของผู้อื่นก่อน รวมทั้งต้องให้ความสนใจและยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพราะจุดประสงค์ของการเป็นผู้นำผู้รับใช้คือการทำเพื่อรับใช้ผู้อื่น จึงต้องฟังผู้อื่นให้ถูกต้องเสียก่อนว่าเขามีความต้องการอะไร ถึงจะปฏิบัติตอบสนองความต้องการของเขาได้ถูกต้อง 

Cultivates culture of trust
การจะทำงานรับใช้ผู้อื่นได้ ผู้นำผู้รับใช้ต้องทำให้คนอื่นมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจในตัวผู้นำผู้รับใช้เสียก่อน เพราะถ้าคนไม่ไว้วางใจในตัวผู้นำผู้รับใช้ เขาจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้นำผู้รับใช้มีโอกาสได้รับใช้เขา ดังนั้นการพูด การกระทำและวิถีชีวิตของผู้นำผู้รับใช้จึงต้องสัตย์ซื่อ (Integrity) และเชื่อถือได้ (Accountable) คนถึงจะไว้วางใจให้รับใช้

Develops other leaders
เพราะผู้นำผู้รับใช้ ไม่ได้ต้องการให้ตนเองเป็นเอกเป็นต้น ครองตำแหน่งผู้นำเหมือนอย่างผู้นำทั่วๆไปที่ต้องการอยู่ในตำแหน่งนานๆ ดังนั้นผู้นำผู้รับใช้จึงมีภาระในการสร้างผู้นำให้มีจำนวนมากขึ้น คือสร้างผู้นำผู้รับใช้รุ่นใหม่โดยการเปิดโอกาสให้เขามีการเรียนรู้ (Learning) เพื่อเขาจะได้เติบโต (Growth) เป็นผู้นำผู้รับใช้ต่อไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อไปอย่างต่อเนื่อง

Help people with life issues
ผู้นำผู้รับใช้ช่วยผู้อื่นด้วยเรื่องชีวิต เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องวิชาการความรู้ ยุทธศาสตร์ กระบวนการ วิธีการ และการวัดผล แบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไปที่เน้นการพัฒนาคนในเรื่องการทำงานเป็นหลัก แต่ผู้นำผู้รับใช้ก้าวไปลึกกว่าคือเน้นการพัฒนาชีวิตผู้อื่นให้มีความสุข ช่วยเหลือคนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ปัญหาชีวิต เพื่อเขาจะมีชีวิตที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

Encourages people
ผู้นำผู้รับใช้เป็นผู้มีใจให้ผู้อื่นเสมอ ดังนั้นชีวิตของเขาจึงมีแต่การให้กำลังใจ (Encourage) ผู้อื่น พร้อมที่จะให้ความอบอุ่นปลอดภัย (Comfort) และเป็นที่กำบัง (Shelter) ในยามทุกข์ร้อนแก่ผู้อื่นเสมอ ทำให้ผู้อื่นมีความหวัง มีความอบอุ่นเมื่อต้องการความช่วยเหลือ

Sells not Tells
ผู้นำผู้รับใช้ ไม่ใช้ความแข็งลักษณะแบบเผด็จการที่ใช้อำนาจสั่งให้ผู้อื่นยอมรับและกระทำตาม แต่ผู้นำผู้รับใช้จะใช้ความอ่อนในการนำการเปลี่ยนแปลงโดยการขายความความคิด สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในความคิดของคนก่อน ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระทำด้วยใจตามมา และจะเกิดผลที่ยั่งยืนกว่าการกระทำตามคำสั่งโดยไม่มีความเข้าใจ

You not Me
หัวใจของผู้นำผู้รับใช้ อยู่ที่ผู้อื่นไม่ใช่อยู่ที่ตัวเอง เพราะเป้าหมายการรับใช้ของผู้นำผู้รับใช้คือความสุขของผู้อื่นไม่ใช่ความสุขของตนเอง ดังนั้นความคิดและการปฏิบัติของผู้นำผู้รับใช้จึงมุ่งที่ผู้อื่นเสมอ ทำให้ผู้นำผู้รับใช้ ไม่เข้าไปควบคุมคนอื่นให้ทำตามความต้องการของตน

Long-term not short-term
เมื่อผู้นำผู้รับใช้คิดถึงความต้องการของผู้อื่นเป็นหลัก จึงต้องมองผลประโยชน์ของคนและชุมชนเป็นสำคัญ เพราะเมื่อคนมีความสุข ชุมชนจะมีความสุขด้วย ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำผู้รับใช้ คิดและทำ จึงมีเป้าหมายที่ผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ระยะสั้น

Humility
ผู้นำผู้รับใช้ต้องเป็นผู้ถ่อมตน มีจิตใจที่ถ่อมสุภาพ ถึงจะเป็นผู้นำผู้รับใช้ที่ดีได้ เหมือนอย่างที่พระเยซูคริสต์ได้กระทำเป็นแบบอย่างโดยถ่อมพระองค์ลงล้างเท้าสาวกของพระองค์ คนที่ใจไม่ถ่อมไม่สามารถฝืนการรับใช้ผู้อื่นได้นาน เพราะใจของเขาจะไม่เป็นสุขในการรับใช้ผู้อื่น

Nelson Mandela ผู้นำคนหนึ่งของโลกกล่าวว่า “I stand here before you not as a prophet, but as a humble servant of you, the people.” ข้าพเจ้ายืนต่อหน้าท่านตรงนี้ไม่ใช่ในฐานะศาสดาพยากรณ์ แต่ในฐานะผู้รับใช้ที่ถ่อมตนของท่านที่เป็นประชาชน

ท่านพร้อมที่จะเป็น ผู้นำผู้รับใช้ หรือยังครับ?

·      ขอบคุณที่อ่านจนจบ ถ้าชอบ กรุณาช่วยแนะนำให้เพื่อนอ่านด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น