วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ผู้นำพัฒนาคน People Development


“If you are wise, you are wise to your own advantage,
       but if you are a mocker, you alone must bear it.” Proverbs 9:12

เมื่อผู้นำสามารถพัฒนาการนำของตนจนถึงระดับสร้างผลงานดังที่ได้เขียนไปในตอนที่แล้ว การนำองค์กรขั้นต่อไปคือการพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะองค์กรไม่สามารถหยุดการเติบโตของตัวเอง เนื่องจากองค์กรต้องต่อสู้แข่งขันต่อไปเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ผู้นำจึงต้องพัฒนาคนในองค์กรให้สามารถแข่งขันอย่างได้เปรียบ (Competitive advantage) อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้าอย่างได้เปรียบต่อไป เพื่อความอยู่รอด และความยั่งยืนขององค์กร
          คน เป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด เพราะการสร้างคน ต้องลงทุนมากและใช้เวลามาก กว่าจะได้คนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะ เพียงพอตามความต้องการขององค์กร เวลานี้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนคนในบางสาขาวิชาชีพ เพราะในอดีต เราขาดการวางแผนสร้างคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมและธุรกิจ ปัจจุบันจึงไม่สามารถขยายการลงทุนทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการได้ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง

          ผู้นำจึงต้องทำงานในระดับต่อไป คือการพัฒนาคนขององค์กร โดย

Learning organization: องค์กรเรียนรู้
ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศขององค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทำให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ เป็นความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรให้สามารถแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง องค์กรใดที่คนในองค์กรขาดความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ องค์กรนั้นจะหยุดเติบโต และถ้าคนในองค์กรไม่พัฒนาศักยภาพของตนเอง องค์กรก็ขาดศักยภาพในการแข่งขันเช่นกัน ข้อด้อยของคนไทยคือไม่ค่อยใส่ใจการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ดังที่เรามีสถิติที่น่าละอายใจว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยอ่านหนังสือเพียงไม่กี่บรรทัดต่อปี

Higher quality performance: งานคุณภาพสูงขึ้น
การแข่งขันในปัจจุบันเน้นเรื่องคุณภาพ ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจ มีมาตรฐานคุณภาพด้านต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่มาตรฐานวัตถุดิบ มาตรฐานกระบวนการผลิต จนถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ แม้กระทั่งของเสีย ของเหลือใช้ในการผลิตยังต้องมีมาตรฐานในการทิ้งและทำลาย มีมาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงาน มาตรฐานความปลอดภัย เข้ามากำกับ มาตรฐานทุกด้านกดดันให้องค์กรต้องมีคุณภาพสูงขึ้น หน้าที่ของผู้นำจึงต้องนำคนในองค์กรให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อทำงานให้มีมาตรฐานสูงขึ้น จึงจะสามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคและสังคมได้

Promote people: ส่งเสริมคน
ผู้นำมีหน้าที่ในการส่งเสริมคนในองค์กร ให้มีความกระหายที่จะเป็นคนเก่ง คนกล้า คนก้าวหน้า และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะคนสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้นำที่ดีมีความสุขในการส่งเสริมคนให้พัฒนาตนเอง เพราะถ้าคนพัฒนาตนเองได้มากขึ้น ภาระของผู้นำจะเบาลง การส่งเสริมให้คนมีโอกาสพัฒนาตนเอง ทำให้เขามีโอกาสได้ทำงานที่มีความยาก ความท้าทาย และความรับผิดชอบที่สูงขึ้น ทำให้คนรู้สึกว่ามีคุณค่าต่อองค์กรมากขึ้น อย่างที่ Bill Bradley กล่าวว่า Leadership is unlocking people's potential to become betterการเป็นผู้นำคือการปลดสิ่งที่กักขังศักยภาพของคนออก เพื่อทำให้เขาดียิ่งขึ้น

Making people a better life: ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้นำมีหน้าที่ในการทำให้คนในองค์กรมีความสุข โดยทำให้คนในองค์กรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือทำให้คนมีความสมดุลในชีวิต ทั้งชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตสังคม ภาวะดุลยภาพเกิดจากลักษณะการนำของผู้นำ ถ้าผู้นำเข้าใจจังหวะในการนำ ผู้นำจะรู้จักเร่งและผ่อนจังหวะในการนำให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เหมือนวาทยกรที่ให้จังหวะการเล่นดนตรี เร็ว ช้า ดัง เบา สลับกันไป ทำให้เสียงเพลงที่บรรเลงจากดนตรีทั้งวง มีความไพเราะและมีสุนทรียภาพ ทั้งวาทยกร นักดนตรีและผู้ฟัง มีความเพลิดเพลิน และมีความสุขร่วมกัน

Build successor: สร้างผู้นำคนต่อไป
ผู้นำมีหน้าที่สร้างผู้นำคนต่อไป และผู้นำมีหน้าที่สร้างผู้นำอีกหลายๆคนให้แก่องค์กรและสังคม เพราะการสร้างผู้นำเป็นงานยาก แม้โดยหลักการจะกล่าวว่าคนสามารถพัฒนาความเป็นผู้นำได้ แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการนำได้ หลายคนแม้ถูกพัฒนาให้เป็นผู้นำแล้ว แต่ล้มเหลวในการนำคนและองค์กร เนื่องจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมไม่สนับสนุนการนำของเขา ผู้นำจึงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าผู้นำคนต่อไปจะนำองค์กรได้อย่างไม่สะดุด ผู้นำที่ดีย่อมมีความต้องการให้ผู้นำคนต่อไปมีความสามารถในการนำสูงเพื่อจะสามารถนำองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะความสำเร็จขององค์กรหลังการนำของตน คือความสำเร็จในการสร้างผู้นำของตน

Royalty: สร้างความจงรักภักดี
ผู้นำมีหน้าที่สร้างความจงรักภักดีต่อองค์กรให้เกิดขึ้น การนำของผู้นำต้องสื่อความความสัตย์ซื่อจงรักภักดีต่อองค์กรให้คนในองค์กรได้เห็นประจักษ์ สามารถสัมผัสได้จากการปฏิบัติจริง ผู้นำต้องระมัดระวังอย่าให้คนในองค์กรจงรักภักดีต่อผลประโยชน์ที่ได้รับมากจนลืมองค์กร เพราะถ้าคนในองค์กรทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว เมื่อใดที่องค์กรไม่สามารถตอบสนองความต้องการเงินของเขา องค์กรจะสูญเสียเขาไปอย่างง่ายดาย เพราะเงินมาก่อนองค์กร แต่ถ้าคนในองค์กรทำงานเพราะความรักองค์กรและมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าขององค์กร เขาจะต่อสู้และรักษาองค์กรให้รอด เพราะเขาจงรักภักดีต่อองค์กร

Develop yourself, develop others: พัฒนาตนเองก่อน พัฒนาผู้อื่น
ผู้นำมีหน้าที่แรกคือการพัฒนาตนเอง เพราะผู้นำต้องเป็นตัวอย่างการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้คนในองค์กรเอาเป็นแบบอย่าง ผู้นำหลายคนหลงความสำเร็จในการนำของตนในระยะแรก แล้วละทิ้งการพัฒนาตนเอง ทำให้เส้นกราฟพัฒนาตนเองของผู้นำเริ่มดิ่งต่ำลงอย่างไม่รู้ตัว เมื่อผู้นำย่อหย่อนในการพัฒนาตนเอง คนในองค์กรก็จะย่อหย่อนการพัฒนาตนเองตามไปด้วย

Listen, Learn, Lead: ฟัง เรียนรู้ แล้ว นำ
การฟังอย่างลึก ทำให้เข้าใจคนอื่นได้ลึกด้วย ดังที่ Stephen R. Covey ได้กล่าวไว้ในหนังสือ 7 Habits of Highly Effective People ของเขาว่า “Seek to understand, then be understood” คือผู้นำต้องมีความเข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วคนอื่นถึงจะเข้าใจผู้นำ นั่นคือการรู้จักฟังคนอื่นเพื่อจะเข้าใจความต้องการคนอื่นก่อน เมื่อรับรู้และเข้าใจความต้องการของผู้อื่นแล้ว ผู้นำจะเรียนรู้ว่าเขาควรจะนำอย่างไร คนถึงจะยอมตามเขา นั่นคือการทำให้คนอื่นเข้าใจการนำของเขานั่นเอง

Value to people: ให้คุณค่าผู้อื่น
ผู้นำที่ได้ใจผู้ตามคือผู้นำที่รู้จักให้คุณค่าผู้อื่น มองเห็นคุณค่าในตัวบุคคลแต่ละคน ซึ่งมีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกัน หน้าที่ของผู้นำคือการดึงเอาข้อดีของคนออกมาเพิ่มคุณค่า (Add value) ให้เขา ทำให้เขามองเห็นศักยภาพและคุณค่าในตัวของเขา ให้เขาดึงศักยภาพในด้านเด่นในตัวเองออกมาเพิ่มคุณค่าให้มากที่สุด เพราะจะทำให้เขาเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กร และทำให้การนำองค์กรของผู้นำมีความสำเร็จมากขึ้นด้วย
          John C. Maxwell กล่าวว่า “People follow you because you have done for them.” คนติดตามคุณเพราะสิ่งที่คุณได้ทำให้กับเขา เพราะเมื่อใดที่คนเกิดความรู้สึกว่าการติดตามผู้นำ เขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากผู้นำเลย ผู้นำไม่ได้ใส่ใจทำอะไรให้เขา คนจะเลิกติดตามผู้นำ ความเป็นผู้นำจะอ่อนพลังลง
                การนำของผู้นำจะเกิดผลสูงสุดเมื่อความสำเร็จของคนในองค์กรได้หลอมรวมเป็นความสำเร็จเดียวกันกับผู้นำ คือผู้นำเห็นความสำเร็จของผู้ติดตามเป็นความสำเร็จของตน (Their successes become my success) เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้นำจึงมีหน้าที่ในการทำให้คนในองค์กรประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะความสำเร็จของคนในองค์กรคือความสำเร็จของผู้นำ และความสำเร็จของผู้นำคือความสำเร็จของคนในองค์กรทั้งหมด
          Henry Ward Beecher กล่าวว่า Hold yourself responsible for a higher standard than anybody expects of you. Never excuse yourself.” พยายามให้ตนเองรับผิดชอบมาตรฐานที่สูงกว่าที่คนอื่นคาดหวังจะได้รับจากคุณ และอย่าหาเหตุผลหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ นี่คือความรับผิดชอบของผู้นำที่ดี
ขอปิดท้ายด้วยประโยคทองของอาจารย์ Peter Drucker ที่กล่าวว่า “Making good decisions is a crucial skill at every level.” การตัดสินใจที่ดีเป็นทักษะที่สำคัญในทุกระดับ

ยิ่งเป็นผู้นำระดับสูง ยิ่งต้องมีทักษะสูงในการตัดสินใจครับ
 
ขอขอบคุณที่ท่านได้สละเวลาอ่านบทความที่ผมเขียนมาตลอดปี
หากจะมีสิ่งใดในบทความไม่สบอารมณ์ของท่าน ผมขออภัย 
ขอพระเจ้าประทานพร ให้ท่านมีความสุข ความสบายใจ
มีสุขภาพที่ดี มีสันติสุขในชีวิต
ตลอดปีใหม่ ๒๕๕๗ 
 
ด้วยความเคารพ
สมชัย ศิริสุจินต์ 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น