“Someone who holds back the truth causes trouble, but
one who openly criticizes works for peace. A good person's words are a fountain of life, but a
wicked person's words hide a violent nature.”
Proverbs 10:10-11
David Packard ได้ร่วมกับ William R. Hewlett เพื่อนร่วมชั้นเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่
Stanford University ใน California ก่อตั้งบริษัท
Hewlett Packard หรือที่คนทั่วโลกรู้จักในชื่อ
HP ในปี 1939 หลังจากที่ใช้ชีวิตเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่บริษัท
General Electric เพียง 3 ปี โดยเริ่มต้นจากการใช้โรงรถเล็กๆในเมือง
Palo Alto เป็นที่ตั้งบริษัท ด้วยเงินเริ่มต้นเพียง
$538
David Packard เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา (U.S. Deputy Secretary of Defense) ในสมัยประธานาธิบดี
Nixon แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 3 ปี ก็ลาออกและกลับมาบริหารบริษัทต่อ
David
Packard เป็นผู้นำผู้บริหารคนหนึ่งที่มีคนจำนวนมากยอมรับและยกย่องว่าเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการนำองค์กรที่รับผิดชอบ
เป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จทั้งในทางธุรกิจในฐานะประธานกรรมการบริษัทและเป็นกรรมการของบริษัทยักษ์ใหญ่เช่น Boeing Co., Caterpillar Tractor, Chevron
Corp., Genentech Inc. และ Beckman Laser Institute & Medical
Clinic และในทางสังคมได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานและกรรมการขององค์กรการกุศล
สมาคมวิชาชีพต่างๆมากมาย ได้รับปริญญาดุษฏีบัญฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง
กฎพื้นฐาน 11 ประการที่ David Packard ได้นำเสนอในการประชุมผู้บริหารประจำปีครั้งที่ 2 ของบริษัทที่เมือง Sonoma, California ในปี
1958 สะท้อนปรัชญาและความคิด
ในการทำงานและการดำเนินชีวิต ที่คนกล่าวถึงและนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย
เพราะว่ามันไม่เคยล้าสมัย จึงขออนุญาตยืมกฎ 11 ประการของท่าน มาเขียนเพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ร่วมกัน
David Packard’s 11 Simple Rules
1. Think first of the other fellow. คิดถึงคนอื่นก่อน
การคิดถึงผู้อื่นก่อน คือพื้นฐาน
(The foundation) ของการทำงานกับคน
เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนทำสิ่งอื่นใด (the first requisite) ในการจะคบค้าสมาคมกับผู้อื่น
ดูแล้วเป็นเรื่องง่ายที่จะพูด แต่เป็นเรื่องยากที่จะทำ เพราะในชีวิตจริง
เราคิดถึงตัวเราก่อนคิดถึงคนอื่นเสมอ
เมื่อใดที่เราสามารถเอาชนะความรู้สึกที่จะเอาประโยชน์เข้าตัวเองก่อน และสามารถทำประโยชน์ให้คนอื่นก่อน
เราจะไม่มีปัญหาในการทำงานกับผู้อื่น เพราะการให้ของเราทำให้คนอื่นเขามีความสุข คนจึงอยากคบหาทำงานกับเรา
2. Build up the other person’s sense of importance. ทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่ามีความสำคัญ
การพูดหรือแสดงออกของเรามีผลต่อความรู้สึกของผู้อื่นเสมอ
ถ้าเราทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเขาด้อยความสำคัญ เราทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจ
ทำให้เขาขาดความมั่นใจในตัวเอง แต่ถ้าเราแสดงท่าทีที่ให้เกียรติ ให้การยกย่อง ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของผู้อื่น
จะทำเขารู้สึกมีความเท่าเทียม (Equality) และทำให้เขากล้าแสดงความคิดเห็น
กล้าอาสาทำงาน กล้ารับผิดชอบ และถ้าเราสามารถทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกเหนือกว่า (Superiority) เราได้
จะยิ่งทำให้เขากล้าแสดงความเป็นผู้นำออกมามากยิ่งขึ้น
3. Respect the other man’s personality rights. เคารพความเป็นตัวตนของผู้อื่น
เพราะทุกคนไม่เหมือนกัน
แม้แต่ลายนิ้วมือของแต่ละคนก็ยังไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงต้องเข้าใจว่าคนอื่นเขาไม่เหมือนเรา
และเราก็ไม่เหมือนคนอื่นเช่นกัน ความแตกต่างกันเป็นความสวยงามที่ทำให้โลกมีความสมดุล
ทำให้ชีวิตของเรามีความหมายมากยิ่งขึ้น เพราะเราสามารถเติมส่วนที่เรามีให้คนอื่นที่ไม่มีให้เต็มได้
และชีวิตของเรามีความสมบูรณ์มากขึ้นเพราะคนอื่นสามารถเติมส่วนที่เราขาดให้สมบูรณ์ได้เช่นกัน
4. Give sincere appreciation. แสดงความชื่นชมอย่างจริงใจ
เมื่อใดที่มีโอกาสแสดงออกให้ผู้อื่นได้รับรู้ถึงความชื่นชมยินดีที่เขาได้ทำสิ่งใดสำเร็จขอให้เรารีบฉวยโอกาสกระทำ
เพราะโอกาสอย่างนี้มิใช่ว่าจะมีให้เราได้แสดงออกอยู่ตลอดเวลา
การทำให้คนอื่นรู้ว่าการกระทำดีของเขามีคนอื่นรับรู้และชื่นชมจะทำให้เขามีกำลังใจอยากทำความดีต่อไป
และอยากทำสิ่งดีมากขึ้น การแสดงความชื่นชมยินดีอย่างจริงใจไม่แสแสร้งต่อผู้อื่น
เป็นคุณทั้งต่อผู้อื่นและตัวเราเอง แต่เรามักไม่ค่อยแสดงออกให้ผู้อื่นได้รับรู้มากนัก
แต่แอบเก็บความรู้สึกดีๆไว้ในใจ ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
5. Eliminate the negative. ลบความคิดลบ
ความคิดลบ (Negative
thinking) ในใจของเรา
ทำให้เราเสียเวลาและพลังงานไปมากโดยไม่รู้สึกตัว
การคิดลบทำให้เราเกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น และมักทำให้เราทำเรื่องง่ายให้กลายเป็นเรื่องยาก
ทำเรื่องธรรมดาให้เป็นเรื่องซับซ้อน บางครั้งทำให้เราเสียโอกาสที่ควรได้เพราะมัวแต่คิดระแวงในด้านไม่ดี
การทำอะไรที่เริ่มต้นจากการคิดในแง่ลบแล้วจะให้ตอนจบได้ผลบวกย่อมยากกว่าการเริ่มต้นทำด้วยความคิดบวก
ซึ่งยังไงก็มีโอกาสจบโดยได้ผลบวกมากกว่าอยู่ดี อย่าแบกความคิดลบ คิดร้ายไว้ในใจ
เพราะจะทำให้ใจท่านหนัก ทำให้ท่านหนักใจโดยไม่จำเป็น
6. Avoid openly trying to reform people. หลีกเลี่ยงการพยายามเปลี่ยนแปลงผู้อื่นอย่างเปิดเผย
แม้ว่ามนุษย์ทุกคนจะรู้ว่า ตัวเองไม่สมบูรณ์ในทุกเรื่อง
แต่ไม่มีใครต้องการให้คนอื่นมาวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนหรือความบกพร่องของเขาต่อหน้าต่อตาคนอื่น
การช่วยเหลือให้ผู้อื่นปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแม้จะเป็นสิ่งดี แต่ต้องระมัดระวัง วิธีการที่ดีที่สุดคือการช่วยเสริมให้ผู้อื่นรู้และเข้าใจด้วยตัวของเขาเอง
เราอาจชี้นำให้เขาได้มีโอกาสพัฒนาข้อบกพร่องหรือจุดอ่อนของเขาด้วยตนเอง
ชี้แนะให้เขามองเห็นมาตรฐานที่สูงกว่า หรือสิ่งที่ดีกว่า เพื่อทำให้เขาเกิดความตระหนัก
เกิดความอยาก เกิดความต้องการที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น แล้วเขาจะเสาะแสวงหาวิธีการพัฒนาจุดอ่อนของเขา
ด้วยตัวของเขาเอง
7. Try to understand the other person. พยายามเข้าใจผู้อื่น
การที่เราพยายามเข้าใจผู้อื่น
ทำให้เรามีโอกาสเห็นความตั้งใจและเหตุผลของผู้อื่นในการแสดงออกพฤติกรรมซึ่งแตกต่างจากเราแม้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับเรา
การที่เราจะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เราจำเป็นต้องเข้าใจธรรมชาติของผู้อื่นให้มากที่สุด
เมื่อเรามีความพยายามจะเข้าใจเขา เราจะเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงทำเช่นนั้น หรือ
ทำไมเขาถึงเป็นอย่างนั้น และท่าทีของเราที่แสดงต่อผู้อื่นด้วยความเข้าใจ
จะเป็นท่าทีแห่งความเป็นมิตร เป็นท่าทีแห่งความเห็นอกเห็นใจ ทำให้ผู้อื่นมีความรู้สึกที่ดีต่อเรา
8.
Check
first impressions. ตรวจสอบความประทับใจแรก
มีคำกล่าวว่า “The first impression
is the last impression” ความประทับใจแรกคือความประทับใจสุดท้าย
คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อความรู้สึกแรกของตนเองโดยไม่รู้สึกตัว
และหาเหตุผลมาสนับสนุนความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถ้าชอบจะเป็นทำนองรักแรกพบ
ต้องชะตาแต่แรกเห็น แต่ถ้าไม่ชอบจะออกไปในแนว ศรศิลป์ไม่กินกัน
เห็นแล้วอารมณ์ขุ่นเคือง เพราะเหตุนี้ ประธานาธิบดี Abraham Lincoln ถึงได้บอกว่า “I
do not like that man; therefore I shall get to know him better.” ฉันไม่ชอบคนนั้น
ดังนั้นฉันควรรู้จักเขาให้มากขึ้น เพราะสิ่งที่เราเห็นเป็นเพียงเปลือกนอก
ซึ่งอาจจะไม่เหมือนสิ่งที่อยู่ภายในใจของเขา สิ่งที่เห็นอาจจะไม่ใช่สิ่งจริงที่เราคิด
ดังนั้นจึงไม่ควรเชื่อความประทับใจแรกของเราโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะจะทำให้เรามองคนอย่างมีอคติได้
9. Take care with the little details. สนใจสิ่งเล็กๆน้อยๆ
อย่ามองข้ามเรื่องเล็กๆน้อยๆ ที่เราแสดงออก เพราะคนอื่นจะอ่านพฤติกรรมของเราทุกเรื่อง
ไม่ว่าท่าทาง อากัปกริยา วาจา น้ำเสียง สายตา และสิ่งที่เราแสดงออกเหล่านี้
คนเขาเอาไปตีความหมาย ว่าเป็นการแสดงตัวตนของเรา เรื่องเล็กๆเช่นการจำชื่อคนได้อย่างถูกต้อง
รู้จักชื่อเล่น ไม่ลืมวันเกิด รู้ว่าเขาโปรดปรานอะไรเป็นพิเศษ เป็นสิ่งเสริมให้คนอื่นมีความรู้สึกที่ดีต่อเรา
เป็นการเสริมให้เรามีความสามารถในการทำงานเข้ากับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
ถ้าเราใส่ใจสิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จนกลายเป็นอุปนิสัยประจำตัว ในที่สุดอุปนิสัยนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพเรา
ซึ่งทำให้เราดูดีเป็นที่น่าสนใจ
10. Develop genuine interest in people. พัฒนาความสนใจผู้อื่นอย่างจริงใจ
ถ้าเราไม่มีความสนใจในตัวผู้อื่นอย่างแท้จริง
เราจะไม่สามารถทนฟังความคิดเห็นของคนอื่นได้นาน เราจะรู้สึกอึดอัด เพราะเราไม่ได้ชอบสิ่งที่เขาพูด
เราไม่ได้สนใจสิ่งที่เขาแสดงออกอย่างจริงใจ คนเขาจะรู้สึกได้ไม่ยาก การจะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีนั้น
ต้องเริ่มต้นจากการให้ความสนใจผู้อื่น พยายามสร้างบรรยากาศที่ทำให้เรารู้สึกสนใจเขา
และทำให้เขารู้สึกสนใจเรา ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ในการทำงานให้ดีขึ้น เพราะ ความจริงใจต่อกัน
จะทำให้ต่างคนต่างเคารพนับถือกัน
11. Keep it up. ทำต่อไป
ข้อสุดท้าย ไม่มีอะไรมาก ขอทำต่อไปเรื่อยๆครับ เพราะทั้ง
10 ประการข้างต้น ไม่ได้ทำได้อย่างง่ายๆอย่างที่เขียน ต้องใช้ใจในการทำ
ต้องใช้ความอดทน และต้องใช้ความพยายามพอสมควร แต่ถ้าเราสามารถทำได้
และทำต่อเนื่องตลอดไป จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานของเราอย่างแน่นอน
John D.
Rockefeller กล่าวว่า “A friendship founded on
business is better than a business founded on friendship.” มิตรภาพที่ก่อขึ้นบนพื้นฐานธุรกิจดีกว่าธุรกิจที่ก่อขึ้นบนพื้นฐานมิตรภาพ
การรักษามิตรภาพต้องระวังอย่าเอาธุรกิจเข้ามายุ่งเกี่ยว
เพราะผลประโยชน์ธุรกิจจะทำลายมิตรภาพ แต่ในขณะที่เราทำธุรกิจเราสามารถพัฒนามิตรภาพที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจได้
หลายคนเสียเพื่อน เสียพี่น้อง จากการทำธุรกิจด้วยกัน เมื่อผลประโยชน์เข้ามายุ่งเกี่ยวมากขึ้น
มิตรภาพจะสูญหายไป แต่มีหลายคนเหมือนกันที่ได้เพื่อนใหม่ ที่เกิดจากการทำธุรกิจก่อนแล้วพัฒนาความสัมพันธ์จนเกิดมิตรภาพขึ้น
ขอปิดท้ายด้วยคำพูดสวยๆของ David Packard ที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่แตกต่างกันของเงินและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
“A company has a greater responsibility than
making money for its stockholders. We have a responsibility to our employees to
recognize their dignity as human beings.”
บริษัทมีความรับผิดชอบที่ใหญ่กว่าการหาเงินให้ผู้ถือหุ้นบริษัท
เรามีความรับผิดชอบต่อบุคลากรของเรา ที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา
J
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น