วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

7 Transformations of Leadership


 “Inexperienced people die because they reject wisdom. Stupid people are destroyed by their own lack of concern.”                                Proverbs 1:32

นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychologists) ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า สิ่งที่ทำให้ผู้นำ (Leaders) มีความเป็นผู้นำที่แตกต่างกัน ไม่ได้อยู่ที่ปรัชญาการเป็นผู้นำ (Philosophy of leadership) หรือ บุคลิกภาพ (Personality) ของผู้นำ หรือ แบบอย่างในการบริหารจัดการ (Style of management) ของผู้นำ แต่อยู่ที่ ตรรกะที่ใช้ในการปฏิบัติการ (Action logic) ของผู้นำแต่ละคนที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่ผู้นำคนนั้นต้องเผชิญ กับความเสี่ยง ความปลอดภัย และต่ออำนาจความรับผิดชอบของผู้นำในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

            David Rooke และ William R. Torbert ได้ร่วมกันทำการศึกษาวิจัยเรื่องลักษณะความเป็นผู้นำ และตีพิมพ์เรื่อง “7 Transformations of Leadership” ใน Harvard Business Review โดยที่ผู้ทำการศึกษาวิจัยมีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี ในการทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำหลายบริษัทที่ให้บริการปรึกษาแก่บริษัท และองค์กร ทั้งในสหรัฐอเมริกา และในยุโรป เช่น Deutsche Bank, Harvard Pilgrim Health Care, Hewlett Packard, NSA, Trillium Asset Management, Aviva และVolvo  โดยร่วมมือกับ Susanne Cook Greuter นักจิตวิทยา ทำการศึกษาวิจัยโดยวิธีการส่งแบบสอบถามให้ผู้บริหารที่มีอายุระหว่างอายุ 25 ถึง 55 ปี จำนวนหลายพันคนในบริษัทและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมตอบแบบสอบถาม ผลการศึกษาทำให้ผู้ทำการศึกษาสามารถแบ่งกลุ่มผู้บริหารออกตามลักษณะการเป็นผู้นำได้ 7 แบบ คือผู้นำแบบนักฉกฉวย (Opportunists) ผู้นำแบบนักการทูต (Diplomats)  ผู้นำแบบผู้เชี่ยวชาญ (Experts) ซึ่งผู้นำทั้ง 3 แบบนี้รวมเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 55% ของประชากรกลุ่มตัวอย่าง (Sample) โดยภาพรวมแล้ว ผู้นำทั้ง 3 แบบนี้ มีผลงานการเป็นผู้นำในการบริหารงานในองค์กรที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานขององค์กร (Below average corporate performance) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เหลือได้แก่ ผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ (Achievers)  ผู้นำแบบนักปัจเจกชน (Individualists) ผู้นำแบบนักยุทธศาสตร์ (Strategists) และ ผู้นำแบบนักเปลี่ยน (Alchemists) ผู้นำในแบบกลุ่มหลังนี้โดยภาพรวมค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการนำองค์กร แสดงความสามารถอย่างสม่ำเสมอ (Consistent capacity) ในการนำการเปลี่ยนแปลงขององค์กร

ขอขยายความให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจในคุณลักษณะของผู้นำแบบต่างๆที่คณะผู้ศึกษาได้แยกแยะตามลักษณะความเป็นผู้นำดังต่อไปนี้

1.           The Opportunist ผู้นำแบบนักฉกฉวย

ผู้นำกลุ่มแบบนี้มีประมาณ 5% ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้นำที่มีคุณลักษณะเป็นคนไม่ค่อยไว้วางใจ (Mistrust) คนอื่น เป็นผู้นำที่นิยมเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentrism) และชอบเข้าไปจัดแจงควบคุมคนอื่น (Manipulative) ที่คณะผู้ศึกษาได้ใช้ชื่อผู้นำแบบนักฉกฉวยเพราะผู้นำกลุ่มนี้สนใจเฉพาะประเด็นที่ตนเองเป็นผู้ชนะเท่านั้นโดยมองโลกและผู้อื่นเป็นโอกาสที่ตนสามารถแสดงความกล้าหาญเข้าไปฉกฉวยประโยชน์เพื่อผลสำเร็จของตน มุมมองของผู้นำกลุ่มนี้คือตนเองจะมีโอกาสเข้าไปควบคุมผลสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน มองคนอื่นคือคู่แข่งขันของตน และการตัดสินใจกระทำใดๆของตนถือว่าเป็นการถูกต้องสมเหตุสมผล (Legitimate) เสมอ จึงไม่สนใจเสียงตำหนิต่อว่าและพร้อมที่จะตอบโต้ผู้ตำหนิติติงอย่างตาต่อตา ผู้นำแบบนักฉกฉวยจึงมักอยู่ได้ไม่ยั่งยืน จะอยู่ได้ในสถานการณ์เฉพาะที่มีความยุ่งยากลำบาก มีความเสี่ยง ที่ผู้นำต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ตามสถานการณ์โดย ยึดเอากติกาที่ตนเองสร้างเป็นหลัก

2.           The Diplomat ผู้นำแบบนักการทูต

ผู้นำแบบนี้มีประมาณ 12% ของกลุ่มตัวอย่าง ผู้นำแบบนักการทูต พยายามที่จะเอาใจผู้บริหารที่อยู่ระดับสูงกว่า (Please higher status) และพยายามหลีกเลี่ยงการขัดแย้ง (Avoiding conflict) ผู้นำกลุ่มนี้สนใจเฉพาะสิ่งที่ตนเองสามารถควบคุมได้ มากกว่าจะเข้าไปควบคุมคนอื่น โดยพยายามเสนอสิ่งที่สามารถยอมรับได้กับปทัสถาน (norm) ของกลุ่มเพื่อให้กลุ่มยอมรับ ในขณะที่ผู้นำก็ได้บทบาทการเป็นผู้นำความสำเร็จทำให้สามารถรักษาความเป็นผู้นำไว้ได้ ผู้นำกลุ่มนี้อาจจะยังอยู่ในระดับด้อยอาวุโส อายุยังไม่มากนักจึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งกับผู้ที่อาวุโสมากกว่า และพยายามเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ประสานความร่วมมือรอบทิศเพื่อให้งานบรรลุความสำเร็จเพื่อรักษาสถานะความเป็นผู้นำของตนไว้ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าการต้องประนีประนอมกันไปเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่อยๆจะนำไปสู่ปัญหาและเกิดผลเสียหายตามมาในภายหลัง

3.           The Expert ผู้นำแบบผู้เชี่ยวชาญ

เป็นผู้นำกลุ่มใหญ่ประมาณ 38% ของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ผู้นำกลุ่มนี้เป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ มีความอาวุโสพอสมควร ทำให้มีความสนใจในการทำให้ความรู้ ความถูกต้องในหลักการจากประสบการณ์ของตนเป็นที่ยอมรับ จึงเป็นผู้นำที่ทุ่มเทให้กับงานและต้องการให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพในงานและทำให้งานมีความครบถ้วนบริบูรณ์ (Perfection) ซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้นำแบบผู้เชี่ยวชาญที่ต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจมีปัญหา เมื่อผู้ร่วมงานไม่ค่อยให้ความสนใจในรายละเอียดและต้องการความรวดเร็ว จึงมักหลีกเลี่ยงการทำงานตามขั้นตอน ตามกฎเกณฑ์ และเนื่องจากผู้นำกลุ่มนี้มีประสบการณ์และความรู้มากจึงมักจะมองข้ามข้อเสนอ และความคิดเห็นของผู้อื่นที่ด้อยความรู้และประสบการณ์กว่าตน เพราะเชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ของตนจะถูกต้องกว่า

4.           The Achiever ผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ

ผู้นำแบบนี้มีประมาณ 30% ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้นำที่มีความเข้าใจในความซับซ้อนของสถานการณ์และมีความสามารถในการบูรณาการ ผู้นำแบบนี้เปิดกว้างฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เข้าใจความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ มองความขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติของสังคม เข้าใจเรื่องความละเอียดอ่อนและความอ่อนไหวในการจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ สามารถรับฟังความเห็นที่ขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนการทำงานเป็นทีมเพื่อให้งานบรรลุความสำเร็จ การเป็นผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ อาจจะมีปัญหาเมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้นำแบบอื่นๆที่มีคุณลักษณะที่แตกต่างกันเพราะต้องนำข้อเท็จจริงและเหตุผลมาต่อสู้กับความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้นำแบบอื่นๆ

5.           The Individualist ผู้นำแบบนักปัจเจกชน

ผู้นำแบบนี้มีประมาณ 10% ของกลุ่มตัวอย่าง ผู้นำกลุ่มนี้เน้นอัตลักษณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง เอาความคิดและหลักการของตนเองเป็นตัวนำผลักดันการเปลี่ยนแปลงขององค์กร จึงมักหลีกเลี่ยงหรือไม่ยอมรับ วัฒนธรรม ระเบียบและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิมขององค์กร เพราะมองเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ตนเองเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอยู่ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดในหมู่ผู้ร่วมงานที่เห็นว่าสิ่งที่ผู้นำตัดสินใจทำนั้นอาจจะนำไปสู่การมีปัญหาในอนาคต ผู้นำแบบนี้พยายามจะนำตรรกะของตน และบุคลิกภาพของตนผลักดันให้ผู้อื่นยอมรับ มากกว่าจะสนใจในค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กร

6.           The Strategist ผู้นำแบบนักยุทธศาสตร์

ผู้นำแบบนี้มีประมาณ 4% ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นกลุ่มผู้นำที่มองเห็นว่าองค์กรมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากร องค์กรจึงต้องมียุทธศาสตร์ในการนำความเปลี่ยนแปลงถึงจะประสบความสำเร็จได้ ผู้นำแบบนี้เน้นเรื่องการมีส่วนร่วม และการแบ่งปันเรื่องคุณค่า วิสัยทัศน์ กับคนในองค์กร ผู้นำกลุ่มนี้เข้าใจเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นเรื่องต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในองค์กร และจะต้องให้การดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีความเข้าใจเรื่องการนำความเปลี่ยนแปลงในองค์กรว่าเป็นเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ระหว่างผู้นำกับผู้ตาม ดังนั้นการมีความขัดแย้งกันในองค์กรจึงเป็นธรรมชาติของการนำความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ และการที่องค์กรจะเกิดการต่อต้านขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กร

7.           The Alchemist ผู้นำแบบนักเปลี่ยน

เป็นผู้นำที่มีจำนวนน้อยมากประมาณ 1% เท่านั้นในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ผู้นำแบบนี้หาได้ยากในองค์กรธุรกิจเพราะเป็นผู้นำที่มีความสามารถการปรับตนเองใหม่ (Renew) หรือสร้างตนเองใหม่ (Reinvent) เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นโดยสามารถเชื่อมโยงให้เข้ากับประวัติศาสตร์ขององค์กรได้อย่างเหมาะสม ผู้นำแบบนี้มีความเป็นพิเศษในเรื่องความมีบารมี (Charismatic) และให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานทางศีลธรรม (Moral standard) สูง ยึดเอาความจริง ความถูกต้องเป็นหลัก แสดงออกด้วยความรู้สึกจากจิตใจ เป็นผู้นำที่สามารถสร้างสัญญาลักษณ์ (Symbol) ให้ผู้ติดตาม มีความสามารถผูกโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ขององค์กรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ขององค์กรในปัจจุบันได้อย่างชาญฉลาด เป็นผู้นำที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงในตัวคน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กร และไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

Martin Luther King, Jr. กล่าวว่า “A genuine leader is not a searcher for consensus but a molder of consensus.” ผู้นำแท้ไม่ใช่ผู้แสวงหาการยอมรับแต่เป็นบ่อเกิดของการยอมรับ

คุณอยากจะเป็นผู้นำแบบไหนครับ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น