วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เด็กรุ่นดิจิตอล

“An intelligent person aims at wise action, but a fool starts off in many directions. Foolish children bring grief to their fathers and bitter regrets to their mothers.” Proverbs 17:24-25
เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1ทั่วประเทศไทยที่กำลังได้รับเครื่อง Tablet จากโครงการประชานิยมของรัฐบาลในขณะนี้กำลังเติบโตขึ้นเป็นชาวดิจิตอล (Digital natives) ของโลกในอนาคต เพราะเด็กนักเรียนไทยเหล่านี้ กำลังเติบโตในสิ่งแวดล้อมดิจิตอลที่คล้ายคลึงกันกับเด็กนักเรียนในประเทศอื่นๆทั่วโลกที่พ่อแม่กำลังสร้างสิ่งแวดล้อมดิจิตอลในการเรียนรู้ให้กับลูกของตนให้มีความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเต็มที่
สิ่งที่พ่อแม่ ครู และนักการเมืองไทยไม่ได้คิดคือ พัฒนาการเรียนรู้ทางสมองของเด็กในรุ่นดิจิตอลนี้จะแตกต่างจาก พัฒนาการเรียนรู้ทางสมองของเด็กในรุ่นก่อนๆ เพราะ พัฒนาการเซลสมองของเด็กรุ่นดิจิตอลยุคนี้มีลักษณะเน้นไปที่กิจกรรมเฉพาะเจาะจงมากกว่าพัฒนาการเซลสมองของเด็กในยุคก่อน ส่วนใหญ่เซลสมองของเด็กในยุคดิจิตอลจะเน้นไปในการหวังผลระยะสั้น
Gary Small ศาสตราจารย์ด้านจิตเวช แห่งสถาบัน Semel Institute มหาวิทยาลัย UCLA ให้ความเห็นว่า คนเราตั้งแต่เกิดจนถึงวัยรุ่น ประมาณ 60% ของการเชื่อมโยงระหว่างเซลสมอง (Connections between brain cells) จะถูกทิ้งไปคล้ายกับเส้นทางเดินในป่าที่ถูกใช้เดินเป็นประจำก็จะปรากฏเป็นทางเดินที่ชัดเจน ส่วนเส้นทางเดินที่ไม่ค่อยได้ถูกใช้เดินเป็นประจำจะค่อยๆเลือนและจางหายไปในที่สุด พัฒนาการของเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเซลสมองจำนวนมากมายของมนุษย์ก็เป็นเช่นเดียวกัน เส้นทางเซลสมองเชื่อมโยงที่ถูกใช้บ่อยๆเป็นประจำจะมีความแข็งแรง ส่วนเส้นทางเชื่อมโยงของเซลสมองที่ไม่ค่อยได้ใช้ก็จะค่อยๆเสื่อมและหายไปในที่สุด
เด็กรุ่นดิจิตอลนี้ มีโอกาสติดต่อเชื่อมโยงกับโลกกว้างตั้งแต่วัยเด็ก มีข้อมูลมากมายที่รับรู้เข้ามาในสมองของเด็กรุ่นดิจิตอลซึ่งสมองจะมีพัฒนาการคัดเลือกข้อมูลจำนวนมากอย่างมีความฉับไวในการรับรู้ และสามารถทำงานได้หลายๆหน้าที่ (Multi-tasking) ในเวลาเดียวกัน แต่มักจะเป็นข้อมูลที่ถูกใช้เพียงระยะเวลาสั้น ซึ่งแตกต่างจากพัฒนาการสมองของเด็กในอดีตที่ได้รับข้อมูลน้อยกว่าและถูกบังคับให้สมองมีพัฒนาการที่จำเป็นต้องใช้ความจำระยะยาว
Paul Thompson ศาสตราจารย์ทางประสาทวิทยาและจิตเวช คณะแพทย์ศาสตร์ UCLA กล่าวว่าส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า Hippocampus ที่เกี่ยวข้องกับความจำระยะยาวมีความแตกต่างเล็กน้อยจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่หลายด้าน (Multi-tasking) ที่อยู่ส่วนหน้าของสมอง เด็กรุ่นดิจิตอลจะมีความสามารถทางสมองส่วนที่ทำหน้าที่หลายด้านได้ดีกว่า แต่ความสามารถของสมองในการทำหน้าที่หลายๆด้านพร้อมกันนี้ อาจจะมีผลต่อสมองส่วนที่เป็นความจำระยะยาว (Long-term memory) ในอนาคตก็ได้ คนในอดีตต้องใช้การเขียนจดบันทึกและจำ สมองของคนรุ่นก่อนจึงใช้ส่วนที่เป็นความจำระยะยาวมาก แต่เด็กในรุ่นดิจิตอลนี้แทบไม่ต้องใช้สมองส่วนที่เป็นความจำระยะยาวเลย เพราะเด็กรุ่นดิจิตอลจะใช้คอมพิวเตอร์จำแทนไปเกือบทั้งหมดแล้ว ดังนั้นสมองส่วนที่เป็นความจำระยะยาวของเด็กรุ่นดิจิตอลนี้จึงมีการพัฒนาการทางสมองที่แตกต่างไปจากสมองของเด็กในรุ่นก่อนๆ
เด็กรุ่นดิจิตอล มีความสามารถในการตอบสนองสิ่งเร้า (Stimuli) หลายๆสิ่งในเวลาเดียวกันได้อย่างน่าทึ่ง เช่น สามารถนั่งทำการบ้าน โดยเปิดโทรศัพท์มือถือดู face book และเปิดคอมพิวเตอร์ฟังเพลงจาก U tube ไปพร้อมๆกับตักขนมใส่ปาก ความสามารถในการตอบสนองสิ่งเร้าที่กระตุ้นแตกต่างกันในเวลาเดียวกันนี้เรียกว่า Continuous partial attention หรือทางจิตวิทยาเรียกว่า Complex multi-tasking ทำให้เด็กรุ่นดิจิตอลมีสมาธิแบบครึ่งๆอย่างต่อเนื่องในหลายเรื่องพร้อมๆกัน (Continuously semi-focused on many things at once) ได้ แต่อย่าลืมว่าคุณภาพในการมีสมาธิ (Quality of focus) จะลดลงเช่นกันเมื่อมีจำนวนสิ่งเร้าเข้ามากระตุ้นมากขึ้น เด็กรุ่นดิจิตอลจึงมีแนวโน้มเป็นคนสมาธิสั้น
ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้มีจุดประสงค์อยากชวนให้ผู้บริหารการศึกษาไทยและนักการเมืองไทยได้ศึกษาเรื่องพัฒนาการทางสมองของเด็กรุ่นดิจิตอลด้วย เพราะเรื่องพัฒนาการทางสมองของเด็กรุ่นดิจิตอลนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัยในประเทศไทยให้เด็กรุ่นดิจิตอลที่กำลังโตขึ้นมาได้เรียนในอนาคตอันใกล้ เพราะเราไม่สามารถปล่อยให้เด็กรุ่นดิจิตอลเรียนด้วยตำราเรียนแบบเดิมและสอนโดยครูแบบเดิมๆได้อีกต่อไปแล้ว ในเวลา 15-20 ปีข้างหน้าโน้น เด็กรุ่นดิจิตอลนี้จะเรียนหนังสือจบออกมาทำงานเป็นแรงงานพัฒนาประเทศไทย ซึ่งอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคตจะต้องเปลี่ยนจากการใช้แรงงานและทักษะด้านเดียวไปสู่การใช้แรงงานและทักษะหุ่นยนต์ (Robot) คำถามคือ เราจะเตรียมเด็กรุ่นดิจิตอลของไทยอย่างไรให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์ทำงานในอนาคต

นี่คือภาพโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศจีน ที่หนุ่มสาวชาวจีนนับพันคนกำลังยืนเรียงแถวยาวเหยียดเป็นร้อยๆเมตรทำงานตามสายพานลำเลียงที่ผ่านหน้าพวกเขา ซึ่งเป็นภาพที่คนไทยเราคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะประเทศไทยมีโรงงานแบบเดียวกันนี้นับพันโรงในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งทั่วประเทศ

นี่คือภาพโรงงานแห่งหนึ่งในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ใช้คนทำงานเพียงไม่กี่คนควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์(Robot) ไม่กี่ตัวที่สามารถทำงานแทนคนงานเป็นร้อยๆคนได้และนับวันจำนวนเจ้าหุ่นยนต์หน้าตาแปลกๆพวกนี้ก็เกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อดีของเจ้าหุ่นยนต์หลายรูปแบบ หลายขนาดพวกนี้ คือมันทำงานได้รวดเร็วมาก และงานที่มันทำทุกชิ้นถูกต้องแม่นยำ เรียบร้อยสวยเป๊ะยิ่งกว่าวุฒิศักดิ์เสียอีก เจ้าหุ่นยนต์พวกนี้ไม่ขอหยุดพักเข้าห้องน้ำ ไม่ดื่มกาแฟ ไม่ลาพักร้อน ไม่ลาคลอด ไม่ขอเบิกเงินเดือนล่วงหน้า ไม่ลาไปกู้เงินธนาคาร ไม่ลาหลบหน้าเจ้าหนี้ พวกมันทำงานได้ 3 กะ ตลอด 365 วัน พวกมันไม่สังกัดสหภาพแรงงานใดๆทั้งสิ้นและไม่รู้จักศาลแรงงาน
ถ้านักการเมืองไทยคิดแต่จะขึ้นค่าแรงงานไปเรื่อยๆเพื่อเอาคะแนนเสียงกันต่อไป อนาคตอีกไม่นานก็ไม่ต้องมีคณะกรรมการไตรภาคีมานั่งประชุมเถียงกันว่าจะให้เขตไหนจังหวัดไหนขึ้นค่าแรงงานวันละกี่บาทให้เสียเวลาอีกแล้วครับ ยิ่งขึ้นค่าแรงงานมากเท่าไหร่พวกหุ่นยนต์ยิ่งชอบมากครับ เพราะจะได้ย้ายมาทำงานที่เมืองไทยเร็วขึ้น
โรงงานหุ่นยนต์แบบนี้ในอนาคตอีกไม่นานจะเกิดแทนที่โรงงานแบบเดิมที่มีอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เด็กไทยรุ่นดิจิตอล จะทยอยเรียนจบออกมาหางานทำพอดี
จึงอยากเรียนถาม ผู้บริหารการศึกษาไทย และนักการเมืองไทยว่า ท่านได้คิดเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กรุ่นดิจิตอลของไทยหรือยังครับ ถ้าท่านไม่ได้เตรียมสอนเด็กรุ่นดิจิตอลไทยให้ออกมาทำงานกับเจ้าหุ่นยนต์พวกนี้ในอนาคต แล้วเด็กรุ่นดิจิตอลไทยที่เรียนจบออกมาในอนาคตจะไปทำงานกับใครครับ?
Albert Einstein กล่าว่า “It has become appallingly obvious that our technology has exceeded our humanity.” มันได้ปรากฏเป็นที่ชัดเจนอย่างน่าสยดสยองแล้วว่า เทคโนโลยีของเราได้แซงหน้าความเป็นมนุษยชาติของเราไปแล้วL

แหล่งข้อมูล: จากFORTUNE และจาก Associated Press
Hippocampus เป็นส่วนหนึ่งของ limbic system ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำระยะยาว และการกำหนดทิศทางในที่ว่าง


 

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความคิดร้อยล้าน

 “Wealth protects the rich; poverty destroys the poor. The reward for doing good is life, but sin leads only to more sin.” Proverbs 10:15-16
ทุกคนมีความฝันที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจได้ เพราะพระเจ้าสร้างมนุษย์ให้มีความคิด และมีความสามารถในการจัดการให้ความคิดเกิดผลได้ คนหนุ่มสาวในยุคนี้มีอิสระทางความคิดมากกว่าคนรุ่นก่อน จึงทำให้พวกเขามีความคิดใหม่ๆทางธุรกิจเกิดขึ้น และในยุคที่การสื่อสารครองโลกเวลานี้ ความคิดทางธุรกิจเล็กๆอาจสามารถเปลี่ยนคนจากคนธรรมดาให้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจร้อยล้าน พันล้านได้ในเวลาอันรวดเร็ว คนหนุ่มสาวอายุไม่เกิน 30 ปีบางคนสามารถผันตัวเองกลายเป็นผู้บริหารของบริษัทที่ตนถือหุ้นใหญ่ และเป็นบริษัทที่ทำรายได้ระดับ$100 ล้านเหรียญได้ในเวลาไม่กี่ปี
แน่นอนว่าการจะทำให้ความคิดทางธุรกิจ (Idea for business) กลายความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนใหญ่ความคิดทางธุรกิจมักจะล้มเหลวในระยะแรก เมื่อสิ่งที่ทำมันไม่ง่ายเหมือนสิ่งที่คิด เพราะการทำให้สำเร็จทางธุรกิจมันยากลำบากมีอุปสรรคมากกว่าการคิดทางธุรกิจมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าของความคิดทางธุรกิจกว่า 80% ยอมจำนนต่อความคิดทางธุรกิจของตนและยอมรับความล้มเหลวภายในเวลา 2 ปีที่ลงทุนทำธุรกิจจากความคิดของตน
แต่โลกนี้ก็ยังมีตัวอย่างของคนดังๆที่ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจากความคิดทางธุรกิจของตนให้คนหนุ่มสาวในยุคนี้ได้ชื่นชมอยู่เสมอ เช่น Bill Gates, Larry Ellison หรือ Mark Zuckerberg ที่เป็นแรงบันดาลใจ (Inspiration) ทำให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากอยากเป็น ผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ที่ประสบความสำเร็จ และตัดสินใจเดินตามเส้นทางความฝันของตน แม้จะมีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่พยายามแล้วแต่ล้มเหลว แต่ก็มีคนหนุ่มสาวหลายคน ที่พยายามแล้วประสบความสำเร็จเหมือนกัน ดังเรื่องราวต่อไปนี้
Chris and Robin Sorensen — Firehouse Subs

Chris และ Robin Sorensen สองพี่น้องตระกูล Sorensen เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงใน Florida ทั้งสองคนมีความคิดทางธุรกิจอยากเปิดร้านขาย Sandwich โดยใช้ประวัติของตระกูลที่สืบทอดการเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมานับ 200 ปีเป็นจุดเรียกความสนใจ เมื่อทั้งสองคนคิดฝันทางธุรกิจจนตกผลึกแล้ว ในปี 1994 ทั้งสองคนตัดสินใจขอใช้บัตรเครดิตของญาติคนหนึ่งรูดเงินจำนวนหนึ่งมาเปิดร้านขาย Sandwich ชื่อ Firehouse Subs โดยตกแต่งร้านด้วยอุปกรณ์ดับเพลิง ภาพวาดเกี่ยวข้องกับเรื่องการดับเพลิงของสถานีดับเพลิงประจำเมือง รวมทั้งตั้งชื่อ Sandwich ที่ขายด้วยชื่อที่เกี่ยวข้องกับการดับเพลิงเช่น “Hook & Ladder” และ “Engine Company” เป็นต้น โดย Robin ตัดสินใจลาออกจากการเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาลุยร้านFirehouse Subs ขาย Sandwich ตามฝันอย่างเต็มตัว ส่วน Chris ยังไม่ค่อยมั่นใจขอทำงานครึ่งเวลาเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง และเวลาที่เหลือมาช่วยงานที่ร้าน Firehouse Subs
ร้านขาย Sandwich ชื่อ Firehouse Subs ของสองพี่น้องตระกูล Sorensen เกิดขึ้นแบบง่ายๆ แต่ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดของการทำ Sandwich และการให้บริการที่ประทับใจ ทำให้ร้านขายดีและเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ Firehouse Subs มีร้านสาขาที่เป็นของบริษัทและเป็น franchise แล้ว 514 ร้าน กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกา และบริษัทวางแผนจะขยายร้านสาขาให้กระจายครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น
ลืมบอกไปว่าในปี2011 ร้าน Firehouse Subs ขาย Sanwichได้เพียง $284.9 ล้านเหรียญ

Mary Ellen Sheets — Two Men and a Truck
 
บริษัทชื่อแปลก Two Men and a Truck ชายสองคนกับรถบรรทุกหนึ่งคันนี้เริ่มต้นจากลูกชายสองคนของนาง Mary Ellen Sheets ชื่อ Jon และ Brig Sorber หารายได้พิเศษด้วยการเอารถ Pickup ที่บ้านออกรับจ้างขนขยะ กิ่งไม้ ของชาวบ้านข้างเคียง และรับจ้างขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ให้คนที่ย้ายบ้าน เป็นการหาเงินช่วยเหลือตนเองในขณะเรียนหนังสือ ครั้นเมื่อมหาวิทยาลัยเปิดเรียนแล้วลูกทั้งสองคนของ Mary Ellen ต้องไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัย แต่เสียงโทรศัพท์ที่บ้านยังดังอย่างสม่ำเสมอเพราะมีลูกค้าโทรมาว่าจ้างให้ไปขนย้ายของไม่ขาดสาย นาง Marry Ellen จึงตัดสินใจว่าจ้างชายสองคน และลงทุนซื้อรถ Pickup อีกคัน ด้วยเงินเพียง $350 เหรียญ รับจ้างขนย้ายสิ่งของ ขนของตามลูกค้าสั่ง ในตอนแรก Marry Ellen คิดเพียงทำงานนี้เพื่อหารายได้เสริมเท่านั้น แต่ทำไปทำมาธุรกิจรับจ้างขนของกลับดีวันดีคืน ขยายตัวมากจนเธอต้องตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาลุยงานรับจ้างขนของเต็มตัวในที่สุด
จากงานสมัครเล่นหาเงินใช้ของลูกชายสองคน ทุกวันนี้บริษัท Two Men and a Truck มีสาขา 224 แห่ง ใน 34 รัฐ ทั่วสหรัฐอเมริกา นาย Brig Sober เรียนจบแล้วมานั่งเก้าอี้ CEO ของบริษัท ส่วนนาย Jon Sorber ก็ทำหน้าที่ผู้บริหารของบริษัท แล้วให้แม่ Mary Ellen เป็นกรรมการบริหารของบริษัท ปี 2011 ที่ผ่านมานี้ บริษัท Two Men and a Truck มียอดขายบริการขนย้ายสิ่งของนานาชนิดตามลูกค้าสั่งถึงจำนวน 353,761 เที่ยว และมียอดรายรับอยู่ที่ $220 ล้านเหรียญ

Bert and John Jacobs — Life is Good
 
 Life is good เป็นประโยคคำพูดที่ Bert และ John Jacobs ออกแบบพิมพ์ใส่เสื้อ T-Shirts รุ่นแรกในปี 1989 แล้วเอาไปเร่ขายตามถนนในเมือง Boston ตามมหาวิทยาลัย ต่างๆย่านชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา แต่ธุรกิจขายเสื้อยืดของเขาไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนักใน 5 ปีแรก จนในปี 1994 เขาวาดรูปการ์ตูนที่ชื่อ Jack ใส่เสื้อยืดพร้อมกับประโยคคำพูดเดิม Life is good ปรากฏว่าคราวนี้ได้ผล คนชอบรูปการ์ตูนชื่อ Jack มาก ยอดขายเสื้อยืด Life is good วิ่งกระฉูด เสื้อยืดที่มีการ์ตูนที่เขาออกแบบเริ่มเป็นที่นิยมของคนในท้องถิ่น และขายได้มากขึ้นเรื่อยๆ
จากรูปการ์ตูน Jack พร้อมคำพูดง่ายๆ Life is good บนเสื้อยืด t-shirt ธรรมดา ทุกวันนี้เราจะเห็น รูปการ์ตูน Jack ในท่าทางต่างๆปรากฏในสินค้าหลากหลายชนิดตั้งแต่ ผ้าเช็ดตัว แก้วกาแฟ ไปจนถึงแม้กระทั่งเชือกจูงสุนัข ธุรกิจของ Bert และ John Jacobs ติดอันดับยอดขาย $100 ล้านเหรียญในปี 2011 ครับผม เวลานี้ทั้งเสี่ย Bert กับเสี่ย John Jacobs นั่งยิ้มแฉ่งตลอดวัน เจอใครก็บอกว่า Life is good ครับ

Sara Blakely — Spanx
 
คืนวันหนึ่ง Sara Blakely เอา pantyhose ของเธอมาตัดท่อนล่างทิ้ง ทำให้ pantyhose ของเธอมีลักษณะเท้าด้วนเพราะเธอตัดส่วนเท้าทิ้งไป เธอเอา pantyhose แบบเพี้ยนๆของเธอไปจดทะเบียนสิทธิบัตรเป็นของเธอ และลงทุนด้วยเงิน $5,000 เหรียญที่เธอมีอยู่ ขับรถไปทั่ว North Carolina ขอให้โรงงานผลิต pantyhose แบบไม่มีเท้าให้เธอ โรงงานทุกแห่งปฏิเสธการว่าจ้างของเธอเพราะเห็นอยู่แล้วว่ามันจะขายไม่ได้ ผู้หญิงที่ไหนจะมาซื้อ pantyhose ขาด้วนของเธอไปใส่ แต่เธอไม่ละความพยายามอ้อนวอนขอร้องจนเจ้าของโรงงานรายหนึ่งใจอ่อน เห็นแก่ความเพี้ยนๆของเธอ ยอมเสี่ยงผลิต pantyhose แบบไร้เท้าให้เธอ
ในปี 2000 Sara Blakely เอาสินค้า pantyhose แบบไร้เท้าของเธอพุ่งเป้าไปขายให้กลุ่มผู้หญิงที่เดินบนห้าง Department store ระดับสูง (High-end) ปรากฏว่ามีผู้หญิงชอบใจในความเพี้ยนของเธอใน 3 เดือนแรก เธอขาย pantyhose แบบไร้เท้าที่เธอผลิตได้ถึง 50,000 คู่
เวลานี้สินค้าสำหรับผู้หญิงของ Sala Blakely ในชื่อ Spanx ไม่ได้มีเฉพาะ pantyhose เท้าด้วนเท่านั้น แต่มีสินค้าอื่นๆครบครันสำหรับคุณผู้หญิง และมีวางจำหน่ายไปทั่วโลกแล้ว คาดว่าในปี 2012 นี้บริษัทของเธอจะมียอดขายประมาณ $ 250 ล้านเหรียญ และเธอมีชื่อติดอันดับผู้หญิงรวยพันล้านของนิตยสาร Forbes ไปแล้ว

Geoff, Dave and Catherine Cook — myYearbook
 
Dave และ Catherine Cook สองพี่น้องเพิ่งย้ายไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมแห่งใหม่ ทั้งสองคนเกิดความคิดใหม่ว่าทำไมเราไม่ทำหนังสือ yearbook online ให้เพื่อนๆเขียนส่งข่าวถึงกันได้ ทั้งสองคนจึงไปปรึกษาพี่ชาย Geoff Cook ซึ่งมีประสบการณ์ในการตั้งบริษัทและขายกิจการบริษัทในขณะเรียนหนังสืออยู่ในมหาวิทยาลัยมาแล้ว ดังนั้นในปี 2005 พี่ใหญ่ Geoff จึงลงทุนทำ myYearbook โดยนั่งแท่นเป็น CEO ของบริษัท ปรากฏว่าภายใน9เดือนแรก มีคนเข้ามาเป็นสมาชิกใช้บริการ myYearbook ถึง 1 ล้านคน จากผู้ใช้บริการที่เริ่มต้นเป็นเด็กโรงเรียนมัธยม และนักศึกษามหาวิทยาลัย ก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆจนกระจายออกไปสู่ประชาชนทั่วไป
ในเดือน พฤศจิกายน 2011 ที่ผ่านมา Quepasa ซึ่งเป็น Social network ที่กำลังโตก็ขอซื้อ myYearbook ในราคา $100 ล้านเหรียญ และในเดือน มิถุนายน ปี 2012 ที่ผ่านมานี้ myYearbook ก็ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นMeetme โดยพี่น้องทั้งสามคนได้นั่งทำงานอยู่ในบริษัทใหม่นี้ และ Geoff Cook ได้รับตำแหน่งเป็น CEO ของบริษัท
ก้าวต่อไปของบริษัทคือการควบรวม MeetMe กับ Quepasa เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มยอดสมาชิกจาก 40 ล้านคนเป็น 80 ล้านคน
Bill Cosby กล่าวว่า “In order to succeed, your desire for success should be greater than your fear of failure” เพื่อที่จะประสบความสำเร็จ ความปรารถนาที่จะได้รับความสำเร็จของคุณจะต้องยิ่งใหญ่กว่าความกลัวที่จะล้มเหลว
เห็นแล้วหรือยังครับ การมีความคิดทางธุรกิจที่ดีสามารถมีเงินร้อยล้านได้J

แหล่งข้อมูล: Ideas That Made $100 Million
By Michelle Fox | CNBC – Jun 15, 2012

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

Millennials (Gen Y) กำลังมาแรง

​​​​​​​“Wisdom is supreme – so acquire wisdom, ​​​​​​and whatever you acquire, acquire understanding!”                                                                                                Proverbs 4:7
คนหนุ่มสาวที่เกิดระหว่างปี 1977 ถึงปี 1997 ที่เรียกว่าเกิดในช่วงปี Millennials หรือเรียกสั้นๆว่า Gen Y ซึ่งขณะนี้อายุระหว่าง 20 ปีต้นๆ ถึง 30 ปี ต้นๆ กำลังทยอยเติบโตเข้าสู่วัยทำงาน และกำลังจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบการทำงานของบริษัทหน่วยงานต่างๆ เพราะสภาพการเลี้ยงดูในวัยเด็กและการเจริญเติบโตของคนรุ่นนี้อยู่ในสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างจากรุ่นพ่อแม่ของพวกเขาซึ่งเป็นคนที่เกิดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่2 หรือที่เรียกว่า Baby Boomers ค่อนข้างมาก
ขณะนี้ มีคนหนุ่มสาวที่เกิดในยุค Millennials ประมาณ 80 ล้านคน และคนสูงอายุที่เกิดในยุค Boomers อีกประมาณ76 ล้านคน อยู่ในสหรัฐอเมริกา และประมาณครึ่งหนึ่งของคนหนุ่มสาวยุค Millennials (40 ล้านคน) ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานแล้ว และจะเพิ่มมากขึ้นนับล้านคนทุกปี มีการคาดการณ์ว่า ทุกวันจะมีเด็กที่เกิดในยุคMillennials ซึ่งมีอายุครบ 21 ปี ประมาณวันละ 10,000 คนในสหรัฐอเมริกา และมีการพยากรณ์ว่า ในปี 2025 คนวัยทำงานทั่วโลก ถึง 75% จะเป็นคนที่เกิดในยุค Millennials

ผลกระทบจากการที่คนรุ่น Millennials เข้าสู่ระบบการจ้างงานเริ่มเกิดขึ้นแล้วในตลาดแรงงานสหรัฐอเมริกา และกำลังจะเกิดขึ้นในประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เข้าสู่วัยทำงานมากขึ้น เพราะคนรุ่น Millennials เกิดและเติบโตในยุคสมัย Globalization เด็กรุ่นนี้โตมากับโลก Digital สื่อสารทาง Internet ใช้สื่อทางสังคม Social media เป็นปัจจัยการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ติดความรวดเร็วในการสื่อสารจนมีความอดทนสั้น (Impatience)  ชื่นชอบความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นพิเศษ อยากเป็นผู้ประกอบการเพื่อเป็นเจ้านายของตนเอง ชอบการทำงานที่มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ชอบเรื่องกฎระเบียบการทำงาน และไม่ชอบเรื่องชั้นการปกครอง (Hierarchies) ที่มีขั้นตอนลำดับชั้นในการทำงาน

ปัญหาปวดสมองของนายจ้างและผู้บริหารทางด้านทรัพยากรมนุษย์ในบริษัทหน่วยงานที่มีทั้งคนทำงานวัยอาวุโสรุ่น Boomers กับคนทำงานวัยหนุ่มสาวรุ่น Millennials ที่กำลังทยอยเข้าแทนที่บุคลากรรุ่นเก่าในหน่วยงาน คือความสนใจและวิถีการทำงานที่แตกต่างกันของคนทั้งสองกลุ่ม ซึ่งจากการศึกษาของนักวิจัยหลายสำนักแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน พอจะประมวลได้ว่า
·      คนรุ่นMillennials ต้องการความใส่ใจในทันที (Immediate attention)
เพราะคนหนุ่มสาวรุ่นนี้ใช้ Facebook และ Twitter กันทุกวัน พวกเขาคุ้นเคยกับการสื่อสารประเภท post ความเห็นขึ้นไปปุ๊บ มีคนแสดงความคิดเห็นตอบสนอง ปั๊บ และเมื่อมาทำงานพวกเขาต้องการบรรยากาศการทำงานในลักษณะเดียวกัน คือต้องการให้เพื่อนร่วมงาน หัวหน้าแผนก และผู้บริหาร ตอบสนองความคิดเห็นของพวกเขาอย่างทันทีทันใด ซึ่งแตกต่างจากคนรุ่น Boomers ที่ยึดเอาระบบโครงสร้าง (Structured system) เป็นตัวตั้ง การสื่อสารเป็นไปตามช่องทางที่ระบบกำหนดตามโครงสร้างการบริหารงาน การตอบสนองต้องใช้เวลาตามขั้นตอนของสายการบังคับบัญชา
·      คนรุ่น Millennials อยากให้ทุกวันทำงานมีบรรยากาศแบบวันศุกร์
คนรุ่นนี้อยากทำงานในบรรยากาศที่สบายปลอดโปร่งเหมือนการทำงานในวันศุกร์ที่ทุกคนในสำนักงานจะไม่เครียดเพราะเป็นวันทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์ พวกเขาอยากใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้ากีฬามาทำงาน เพื่อความรู้สึกสะดวกสบาย ในขณะที่กลุ่ม Boomers ต้องการให้ที่ทำงานมีบรรยากาศของความมีมาตรฐานมืออาชีพ (Professional standard) แยกเรื่องชีวิตส่วนตัว (Personal lives) ออกจากชีวิตงาน (Professional lives) ซึ่งต่างจากคนรุ่น Millennials ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เอาเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวมาปนกัน
·      คนรุ่น Millennials อยากทำงานในเวลาที่มีอารมณ์อยากทำ
คนรุ่นนี้ไม่ชอบการทำงานแบบ เข้า 8 โมงเช้า ออก 4 โมงเย็น (Office hours) แต่อยากได้ความอิสระในการกำหนดเวลาทำงานของตนเอง (Me hours) กำหนดสถานที่ทำงานของตนเอง ไม่จำเป็นต้องมานั่งทำงานในสำนักงานแบบเช้ามาเย็นกลับ ขอทำงานในอารมณ์ที่อยากทำให้งานที่รับผิดชอบเสร็จเรียบร้อย ประมาณว่าจะทำงานที่บ้าน ที่ร้านกาแฟ หรือที่สวนสาธารณะก็ได้ ตามแต่ความสะดวก ซึ่งทางฝั่ง Boomers มองว่าสำนักงานเป็นสถานที่ที่เหมาะที่สุดในการทำงานให้เกิดผลสำเร็จ เพราะมีสิ่งแวดล้อมบรรยากาศการทำงานที่จะทำให้งานเสร็จอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
·      คนรุ่น Millennials ไม่เน้นเรื่องเงินมาก่อน
การสำรวจความคิดเห็นพบว่า คนหนุ่มสาวรุ่นนี้ตอบว่า ไม่มีงานทำยังดีกว่าต้องทำงานที่ไม่ชอบ (Rather have no job than a job they hate) คนรุ่น Millennials มีทัศนะคติในการทำงานแบบ “รักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รัก” ต้องการทำงานที่คนมองเห็นคุณค่าความสร้างสรรค์ของพวกเขา และจะทำงานอย่างมีแรงจูงใจเมื่อรู้ว่าผลงานของพวกเขาจะไปที่ปรากฏที่ไหน รวมทั้งมีความคิดว่า หัวหน้า และผู้บริหารสามารถเรียนรู้ความคิดใหม่ๆจากพวกเขา ความคิดเห็นของพวกเขาเป็นเรื่องสำคัญกว่าเงิน ซึ่งคนทางกลุ่ม Boomers จะเห็นเรื่องเงินตอบแทนและสวัสดิการเป็นเรื่องสำคัญกว่า
·      คนรุ่น Millennials ชอบความโปร่งใส (Transparency)
คนหนุ่มสาวรุ่นนี้ถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่รุ่น Boomers ที่พูดคุยทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องการบ้าน การเมือง จนถึงเรื่อง การมุ้ง ต่อหน้าพวกเขาเมื่อเป็นเด็กๆ รวมทั้งได้เห็นได้เรียนรู้จากสื่อทั้งโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสารอย่างอิสระ จนรู้สึกว่าระหว่างพ่อแม่กับพวกเขาไม่มีอะไรเป็นความลับ ดังนั้นเมื่อมาทำงาน คนรุ่นนี้จะรู้สึกว่าเรื่องในที่ทำงานก็เหมือนกับเรื่องที่บ้านไม่เห็นมีอะไรที่ต้องปกปิดเป็นความลับ อยากให้หัวหน้าและผู้บริหารเปิดเผยให้เขาได้รับรู้รับทราบทุกเรื่อง และพวกเขาอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
·      คนรุ่น Millennials อยากให้องค์กรแบน (Flat organization)
เพราะคนหนุ่มสาวรุ่นนี้เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่สอนลูกแบบให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องต่างๆในครอบครัว จนเด็กรุ่นนี้ไม่มีความรู้สึกว่าพ่อแม่เป็นผู้มีอำนาจปกครองเหนือพวกเขา (อาจจะรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจเหนือพ่อแม่ด้วยซ้ำไป) ดังนั้นเมื่อเข้ามาทำงานจึงอยากเห็นความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่อยากทำงานตามคำสั่งลำดับชั้นการปกครอง พวกเขาเห็นว่าองค์กรควรเสาะหาความคิดที่ดีที่สุด (Best idea) จากคนในองค์กรโดยไม่ต้องคำนึงว่าเป็นหน้าที่ของใคร หรือเป็นเรื่องที่ใครเป็นผู้รับผิดชอบตามโครงสร้างการบริหารขององค์กร
·      คนรุ่น Millennials คิดว่าเสียงเดียวก็มีความสำคัญสร้างความแตกต่างได้
(A single voice can make a big difference)
เพราะคนหนุ่มสาวรุ่นนี้ได้เรียนรู้ถึงอิทธิพลอันทรงพลังของเทคโนโลยี และสื่อสังคม ทาง facebook twitter และ blog ที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ในหลายประเทศ พวกเขาอยากใช้เครื่องมือสื่อสังคมเหล่านี้ส่งเสียงความคิดเห็นของเขา และเชื่อว่าเพียงเสียงเดียวก็มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ในที่ทำงาน ผ่านทางสื่อเทคโนโลยี
·      คนรุ่น Millennials มีความหลากหลาย (Diverse) และสร้างผลงาน
คนรุ่นนี้ความกล้าแสดงออก ไม่ติดยึดกับกรอบความคิดเดิม กล้าตัดสินใจ ไม่กังวลกับเรื่องความมั่นคงของสวัสดิการในอนาคตระยะยาว พวกเขาต้องการความสำเร็จในระยะสั้น ทำให้พวกเขาเสาะแสวงความรู้ความเข้าใจที่หลากหลาย และต้องการสร้างผลงานให้ปรากฏโดยเร็ว เราจึงเห็น หมอเป็นนางงาม ด๊อกเตอร์ขายกาแฟ เถ้าแก่น้อย  เศรษฐีใหม่วัย 30 เกิดขึ้น และยังมีคนรุ่นนี้อีกมากมายในสังคมที่ค้นฟ้าหาดาว เสาะแสวงหาเส้นทางความสำเร็จของตนบนความหลากหลายของความคิด
·      คนรุ่น Millennials ชอบการแนะนำ (Coach) ไม่ชอบการสอนงาน (Mentor)  
คนรุ่นนี้ถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่ไม่บังคับลูก แต่เฝ้าดูลูกเติบโตด้วยการชี้แนะอยู่ห่างๆ คนรุ่นนี้พอเข้าสู่สังคมการทำงาน จะติดนิสัยไม่ชอบให้ใครมาสอน แต่อยากเสาะหาเรียนรู้และพัฒนาความสามารถด้วยตนเอง พวกเขาชอบวิธีการแนะนำ (Coaching)  เพราะวิธีการแนะนำเป็นเพียงข้อเสนอจากผู้มีประสบการณ์ ผู้รับการแนะนำจะรับมาพัฒนาตนเองด้วยความสามารถของตนเอง ส่วนการสอนงาน (Mentoring) เป็นการบอกให้ผู้เรียนทำตามแบบที่ผู้สอนได้กระทำมาก่อน ซึ่งพวกเขาไม่ค่อยชอบ
Khalil Gibran กล่าวว่า “Coming generations will learn equality from poverty, and love from woes.” คนในรุ่นต่อๆไปจะเรียนรู้ความเท่าเทียมกันจากความยากจนขัดสน และความรักจากความทุกข์ยากลำบาก
เป็นเรื่องน่าสนใจที่คนสูงอายุจะมีมากขึ้นในสังคมโลก ในขณะที่คนหนุ่มสาวกำลังเข้ามาทำงาน Millennial Generation จะดูแล Baby Boomer Generation ได้อย่างไรJ

วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ก้าวใหม่ทางการศึกษาของสิงคโปร์

“To have knowledge, you must first have reverence for the LORD. Stupid people have no respect for wisdom and refuse to learn.                                                                   Proverbs 1:7
สิงคโปร์ ประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆที่แทบจะไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอะไรเลย กลับเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการศึกษามากที่สุดของประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
และในวันนี้การศึกษาของสิงคโปร์กำลังจะก้าวนำหน้าไปอีกขั้นไม่เพียงนำหน้าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเท่านั้น แต่กำลังจะนำหน้าประเทศต่างๆทั่วโลก โรงเรียนของสิงคโปร์กำลังกลายเป็นแบบอย่างของโรงเรียนต่างๆทั่วโลกไปแล้ว
ความสามารถทางการศึกษาของเด็กนักเรียนสิงคโปร์มีความโดดเด่น สร้างความสนใจให้นักการศึกษาทั่วโลก นักเรียนสิงคโปร์สามารถทำคะแนนสอบได้ดีในการทดสอบระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนถึงความมีประสิทธิภาพของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

            สิงคโปร์ไม่ยอมหยุดอยู่เพียงแค่นี้ แต่กำลังพยายามก้าวข้ามความสำเร็จของระบบการศึกษาปัจจุบันไปสู่การศึกษาใหม่ที่จะบ่มเพาะทำให้นักเรียนสิงคโปร์มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และมุ่งไปสู่การศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education)
Heng Swee Keat รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของสิงคโปร์ กล่าวว่า การศึกษาแบบใหม่ที่สิงคโปร์กำลังมุ่งหน้าไปนั้น จะมุ่งเน้นไปในด้านการให้นักเรียนรู้จักใช้ข้อมูลข่าวสารมากกว่าการรู้เนื้อหาวิชาการ (Less about content knowledge but more about how to process information)
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ความท้าทายในการก้าวไปสู่การมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นเหมือนกับความสามารถในการมองเห็นความจริงจากความไม่จริงได้ (Discern truths from untruths) เหมือนกับจุดเล็กๆที่เชื่อมต่อกันอย่างเนียนจนเรามองไม่เห็นจุด และสามารถสร้างองค์ความรู้ได้แม้ว่าบริบทจะเปลี่ยนแปลงไป (Create knowledge even as the context changes)
ยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนใหม่ของสิงคโปร์คือการมุ่งที่จะเตรียมนักเรียนสิงคโปร์ในวันนี้สำหรับความต้องการของสิงคโปร์ใน 20 ปี ข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าโรงเรียนในสิงคโปร์กำลังต้องปรับแนวการเรียนการสอนใหม่ที่สร้างสรรค์กว่าเดิมทั้งหลักสูตรและวิธีการสอนของครู ซึ่งจะเน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เปลี่ยนแปลงจากวิธีการเรียนแบบเดิมๆซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใช้อยู่ คือนั่งเรียนอยู่แต่ในห้องเรียน เน้นการให้นักเรียนท่องจำจากตำราเรียน ซึ่งสร้างความเครียดและความกดดันให้แก่นักเรียน

เด็กนักเรียนสิงคโปร์อายุ 9-10 ปี จากโรงเรียนประถมศึกษา Rosyth เป็นตัวอย่างของการเรียนการสอนในแนวใหม่ ครูพานักเรียนออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยใช้ iPads และโทรศัพท์ smart phone ของเด็กนักเรียน เป็นเครื่องมือติดตัวในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ในสวนสาธารณะซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้ความเข้าใจในวิชาวิทยาศาสตร์เข้ากับความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เด็กนักเรียนตัวเล็กๆเหล่านี้ กำลังเดินสำรวจหาซากแมลง ผึ้ง นก ปลา และต้นไม้ในสวนสาธารณะที่ตายอย่างน่าพิศวง และทำการชันสูตรซากที่พบเหล่านี้ว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์หรือไม่ โดยการใช้กล้องในโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพหลักฐานที่ค้นพบ และใส่ข้อมูลข้อเท็จจริงของสัตว์ พืช ลงใน iPads เพื่อนำไปทำการศึกษาต่อ

Lin Lixun ครูผู้สอนที่พาเด็กนักเรียนเหล่านี้มาสืบสวนหาหลักฐานการตายของแมลง ผึ้ง นก ปลา และต้นไม้ ในสวนสาธารณะรับบทบาทเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการสืบสวน โดยมีเด็กนักเรียนเป็นผู้ช่วยร่วมทีมปฏิบัติการสืบสวน การทำกิจกรรมเรียนนอกห้องเรียนแบบนี้ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำจริง และได้เรียนรู้หลายวิชาในเวลาเดียวกันจากกิจกรรมเดียวกัน การสอนแบบครู Lin จึงเป็นการสอนแบบแบ่งปันความรักซาบซึ้ง (Sharing passion) ในวิชาที่เรียนมากกว่าการสอนแบบให้เฉพาะวิชาความรู้แบบตรงๆ
การศึกษาของสิงคโปร์ได้รับการยกย่องจากนักการศึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในหลายๆเรื่องเช่น
สิงคโปร์มีการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วสามารถพัฒนาการศึกษาจากโลกที่สามไปสู่โลกที่หนึ่งได้ในหนึ่งชั่วอายุคน (From third world to first in one generation)
สิงคโปร์ใช้เงินงบประมาณ 20% ของค่าใช้จ่ายไปเพื่อการศึกษาแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมากของรัฐบาลสิงคโปร์
สิงคโปร์มีการสอน 2 ภาษา โดยใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาแม่ของเด็กที่แตกต่างกันตามเชื้อชาติ เช่นภาษาจีน มาเลย์ ทมิฬ และ ฮินดู
นักเรียนสิงคโปร์ ได้อันดับที่2ในวิชาคณิตศาสตร์ อันดับที่ 4 ในวิชาวิทยาศาสตร์ และอันดับที่ 5 ในวิชาการอ่าน จากการทดสอบ PISA ในปี 2009 ทำให้สิงคโปร์นำหน้าทุกประเทศในยุโรป นอกจาก ฟินแลนด์
สิงคโปร์ได้อันดับที่ 1 ในปี 2007 จาก Trends in International Math and Science Study (TIMSS)
สิงคโปร์มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น MIT, Yale, Insead, NYU และ Chicago Booth เป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาตั้งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ทำให้มาตรฐานการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของสิงคโปร์ดีขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) จะอยู่ในตำแหน่ง 50 อันดับแรกของโลก
คุณภาพของครูสิงคโปร์ เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ (Key to success) ของการศึกษาของสิงคโปร์ การที่สิงคโปร์มีครูที่มีคุณภาพมากไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญแต่เป็นผลจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับสถาบันการศึกษาแห่งชาติ (National Institute of Education) ของสิงคโปร์ซึ่งได้ทำการวิจัยเรื่องการศึกษาและให้การอบรมพัฒนาครูสิงคโปร์อย่างต่อเนื่องใช้เวลาพอสมควร
ในอดีตครูสิงคโปร์ก็เหมือนกับครูในประเทศอื่นๆที่ไม่ค่อยมีครูดีๆที่มีคุณภาพเพราะอาชีพครูไม่ค่อยได้รับการยกย่อง เคารพนับถือ แต่สิงคโปร์ได้เปลี่ยนภาพพจน์ครูใหม่ด้วยการให้การอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานของครูในโรงเรียนใหม่ เพื่อทำให้ครูมีคุณภาพในการสอนมากขึ้น
สิงคโปร์ในยุคบุกเบิกสร้างประเทศในปี 1965 ได้ส่งเสริมการศึกษาให้เป็นเสาเข็มของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Education as a pillar of economic growth) ต่อมาในช่วงปลายของทศวรรษ1970 สิงคโปร์มุ่งเน้นเรื่องความมีประสิทธิภาพ (Efficiency driven) การศึกษาให้ความสนใจในการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม (Industry-related skills)
ในช่วงปลายของทศวรรษ1990 ซึ่งเป็นยุคที่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมุ่งไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge base) สิงคโปร์จึงมุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาทักษะการคิด และความคิดสร้างสรรค์ (Thinking skills and creativity)
สถานการณ์แวดล้อมบีบบังคับให้สิงคโปร์ต้องให้ความสนใจเรื่องพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจังเพราะการศึกษาเป็นเรื่องของความอยู่รอดและความสำเร็จของสิงคโปร์ การศึกษาคืออนาคตของชาติ (Education shapes the future of our nation. It is critical to our survival and success) คือคำสรุปของ Heng Swee Keat รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์
Horace Mann กล่าวว่า “A human being is not attaining his full heights until he is educated” มนุษย์ยังไม่บรรลุถึงความบริบูรณ์สูงสุดจนกว่าเขาจะได้รับการศึกษา และ
John Dewey กล่าว่า “Education is not preparation for life; education is life itself.” การศึกษาไม่ใช่การเตรียมการเพื่อชีวิต การศึกษาโดยตัวมันเองคือชีวิต
อนาคตการศึกษาของไทยจะไปในทิศทางไหน? เราจะเตรียมเด็กไทยให้มีความสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศไทยและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างไรครับ? L

แหล่งข้อมูล: Rebecca Lim BBC News, Singapore