วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558

บ้านผู้สูงอายุ



“For they are life unto those that find them, and health to all their flesh. Keep thy heart with all diligence; for out of it are the issues of life.”

 Proverbs 4:22-23

เวลาทำหน้าที่ของมันอย่างเที่ยงตรงไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบนโลกใบนี้  เรากำลังก้าวผ่านเวลาไปอีกหนึ่งปี สู่ปีใหม่ 2016 ที่มองดูแล้วโลกจะยังคงเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่สิ่งที่แน่นอนคือจะมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอีกมากทั่วโลก
สังคมโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดว่า ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิน 10% หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้ว ถ้ามีสัดส่วนประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 20% และอายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็น 14% ประเทศนั้นจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)  
การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรโลกในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจกันเป็นอย่างมากทั้งในระดับชาติและในระดับโลก เพราะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รายได้ต่อหัวของประชากร การออม และการลงทุน งบประมาณค่าใช้จ่ายของรัฐบาล การจ้างงาน ผลผลิตจากแรงงาน ตลาดผลิตภัณฑ์สินค้า การบริการต่างๆ และเรื่องสวัสดิการของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิการให้บริการด้านการแพทย์
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 เพราะประเทศไทย มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 10.4% และมีแนวโน้มว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือจะมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีประชากรที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไปเกินกว่า 14% และคาดการณ์ว่าในปี 2571 ประเทศไทยจะมีผู้อายุเกิน 60 ปี จำนวนถึง 23.5%
 ถ้าแนวโน้มและการคาดการณ์เป็นจริง ประเทศไทยจะก้าวจากสังคมผู้สูงอายุ เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยใช้เวลาเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น ซึ่งต่างจากกลุ่มประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ไปแล้วซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งในยุโรป และอเมริกา ที่ใช้เวลาค่อนข้างมากในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทําให้ประเทศเหล่านี้มีเวลาในการวางแผย เตรียมตัว ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างเพียงพอ ในขณะที่กลุ่มประเทศกําลังพัฒนากลับใช้เวลาสั้นกว่ามากในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เช่น ชิลี ใช้เวลา 27 ปี จีน 26 ปี ไทย 22 ปี และสิงคโปร์ 19 ปี เป็นต้น
"สังคมผู้สูงอายุ" ในความหมายขององค์การสหประชาชาติ แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับการก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ (Ageing society) ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) และระดับสังคมผู้สูงอายุอัครสมบูรณ์ (Super - aged society)
สังคมไทยกําลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรครั้งสําคัญ คือ  การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสัดส่วนจํานวนประชากรในวัยทํางานและวัยเด็กลดลง เนื่องจากอัตรา การเกิดและอัตราการตายลดลงอย่างต่อเนื่อง ทําให้ประชากรไทยโดยเฉลี่ยมีอายุยืนยาวขึ้น สํานักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าประชากรของไทยจะเพิ่มขึ้น จาก 66.48 ล้านคนในปี 2551 เป็น 70.65 ล้านคนในปี 2568 และจะค่อยๆ ลดลง (Depopulation) เป็น 70.63 ล้านคนในปี 2573 จํานวนประชากรวัยเด็ก (อายุ 0 - 14 ปี) จะลดลงอย่างสมํ่าเสมอ จาก 15.95 ล้านคนในปี 2533 เหลือเพียง 9.54 ล้านคนในปี 2573       
การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรดังกล่าวส่งผลให้อัตราส่วนภาระพึ่งพิงหรือภาระที่ประชากรวัยทํางานจะต้องเลี้ยงดูประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุมีจํานวนเพิ่มข้ึน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้สูงอายุซึ่งสูงขึ้นตามอายุเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นตามอายุ คาดการณ์ว่าในปี 2573 อัตราส่วนภาระพึ่งพิงของ ประชากรวัยสูงอายุจะเพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 40.93 ซึ่งจะกลายภาระที่ใหญ่โตมากสำหรับประเทศไทย
ถ้าสังคมไทยยังไม่ได้คิดวางแผนเตรียมการรับการเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์อย่างจริงจัง ภาระการเลี้ยงดูผู้สูงอายุในอนาคตจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยอย่างแน่นอน
สิ่งที่จะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นแนวความคิดของกลุ่มนักธุรกิจที่กำลังจะทำโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในประเทศมาเลเซีย ที่มองเห็นปัญหาและสภาพสังคมผู้สูงอายุในอนาคต โดยออกแบบการบริหารจัดการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุในเมืองอย่างมีระบบ และอย่างมีประสิทธิภาพ โดยตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุทั้งในแง่วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อม ที่น่าสนใจยิ่ง
แนวคิด ที่ให้ความรู้สึกยังหนุ่ม (Feeling young) แก่ผู้สูงอายุ คือการจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้สูงอายุได้อยู่กับธรรมชาติ ได้มีกิจกรรมกับต้นไม้ ดอกไม้ ใบหญ้า คือมีสวนที่เขาสามารถสัมผัสได้อยู่แค่เอื้อม ทำให้เกิดความรู้สึกมีชีวิตชีวา เหมือนมีบ้านอยู่ในสวน จึงเรียกโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุนี้ว่า บ้านฟาร์ (HomeFarm)
โครงการนำร่อง HomeFarm นี้ คาดว่าจะลงมือก่อสร้างในปี 2018 ที่เมืองกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) มาเลเซีย จะมีที่ให้ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ 800 ห้อง โครงการนี้ออกแบบโดย  SPARK Architects ซึ่งเป็นบริษัทที่มีสำนักงานอยู่ทั้งในจีน สิงคโปร์ และอังกฤษ โดยบริษัทตั้งเป้าหมายจะขยายโครงการแบบนี้ไปตามเมืองใหญ่ๆในภูมิภาคนี้ต่อไป
          สังคมไทยที่เคยมีลูกๆคอยอยู่ดูแลพ่อแม่วัยชรากำลังจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นผู้สูงอายุต้องปรับตัวอยู่ดูแลตัวเองให้มีความสุขตามอัตภาพในอนาคตอันใกล้นี้
Mark Twain กล่าวว่า Age is an issue of mind over matter. If you don't mind, it doesn't matter.” อายุเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่าสิ่งอื่นใด ถ้าคุณไม่สนใจเรื่องอายุ มันก็ไม่มีความหมายอะไร
Henry Ford กล่าวว่า Anyone who stops learning is old, whether at twenty or eighty. Anyone who keeps learning stays young. The greatest thing in life is to keep your mind young.” .ใครก็ตามที่หยุดเรียนรู้คนนั้นก็แก่ ไม่ว่าจะอายุ ยี่สิบ หรือ อายุแปดสิบ ใครก็ตามที่เรียนรู้ตลอดเวลาก็ยังหนุ่ม สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือการรักษาให้จิตใจหนุ่มอยู่เสมอ
ขอขอบคุณที่ท่านได้เข้ามาอ่านและแบ่งปันเรื่องที่ผมได้เขียนตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้สูงอายุอย่างผมมีความพยายามเรียนรู้เรื่องใหม่ๆตลอดเวลาเพื่อนำข้อมูลมาเขียนแบ่งปันกันอ่าน หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่อง ไม่เป็นที่ถูกใจของท่านผมขอท่านได้ให้อภัยด้วยครับ

ขอองค์พระผู้เป็นเจ้าได้อวยพระพรท่านให้มีความสุขในเทศกาลคริสตสมภพ และตลอดปีใหม่ 2016

Merry Christmas and Happy New Year.

 
 
 
 
 
 
 

 
 


แหล่งที่มา: Sara Malm for MailOnline

 

 

วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จดหมายจากพ่อถึงลูก



“My child, pay attention to my words, listen closely to what I say. Don’t ever forget my words; keep them always in mind.”                Proverbs 4:20-21

 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา อัครมหาเศรษฐีหนุ่ม Mark Zuckerberg  ผู้ก่อตั้ง Facebook ที่ทำให้คนเกือบทั้งโลกทุกวันนี้ต้องพึ่งพาอาศัยในการติดต่อสื่อสาร และ Priscilla Chan ภรรยา ได้เผยแพร่จดหมายที่เขาเขียนถึงลูกสาวชื่อ Max ที่เพิ่งคลอด เพื่อให้ลูกสาวที่รักยิ่งคนนี้เมื่อเติบใหญ่ขึ้นในอนาคตจะได้รับทราบถึงความรักที่เขาและภรรยามีต่อลูกสาว และทราบถึงความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่เขาจะทำให้ลูกสาวของเขาเติบโตอย่างมีความสุข และมีชีวิตในโลกที่ดีกว่าปัจจุบัน
 
ความรักของ Mark Zuckerberg และภรรยา ไม่ได้เป็นความรักที่มีเฉพาะต่อลูกสาวของเขาเพียงคนเดียว แต่ได้เผื่อแผ่ไปถึงเด็กคนอื่นๆทั่วโลกที่จะต้องใช้ชีวิตร่วมกับลูกสาวของเขาในอนาคตอีกนับร้อยปี
จดหมายของ Mark Zuckerberg ได้ถ่ายทอดความตั้งใจของเขาและภรรยา ค่อนข้างยาว ความคิดของเขาที่แสดงออกมาในจดหมายฉบับนี้น่าสนใจอย่างยิ่ง ท่านที่สนใจสามารถหาอ่านจดหมายเต็มฉบับได้ วันนี้ผมขออนุญาตสรุปประเด็นสำคัญในจดหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการคิดใคร่ครวญดังนี้
Mark Zuckerberg ได้แสดงเจตจำนงที่จะมอบหุ้นส่วนที่เป็นของเขาในบริษัท Facebook จำนวนถึง 99% ซึ่งมีมูลค่าตามราคาในขณะนี้ 45 พันล้านเหรียญสหรัฐ ($45 billion) เพื่อประโยชน์ทางสังคมผ่านโครงการต่างๆที่มูลนิธิการกุศล Chan Zuckerberg Initiative ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินการบริหารเงินบริจาคของเขา
Mark Zuckerberg จะยังคงเป็นนั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของ Facebook ต่อไป เพื่อใช้ศักยภาพของเขาในการคิดและสร้างสิ่งใหม่ๆต่อไป และเขาจะนำเงินจากมูลค่าหุ้นของเขาในบริษัท Facebook ทะยอยออกมาใช้ผ่านโครงการต่างๆเพื่อประโยชน์ทางสังคม ที่มูลนิธิการกุศล Chan Zuckerberg Initiative จะร่วมมือกับ หน่วยงาน องค์กร สถาบัน และมูลนิธิต่างๆในอนาคต
วัตถุประสงค์หลักที่ Mark Zuckerberg ต้องการใช้เงินที่เขาบริจาคให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม มีเพียง 2 ประการคือ

1.  Advancing human potential การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น

·       Mark Zuckerberg มองเห็นว่า สังคมของเราในปัจจุบันใช้เงินจำนวนมากมายมหาศาลไปกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ทำให้มนุษย์ต้องทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วย แต่ใช้เงินจำนวนไม่มากนักในการศึกษาวิจัยพัฒนาทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีศักยภาพจะช่วยป้องกันและรักษามนุษย์ให้หายจากโรคต่างๆได้ เขาต้องการสนับสนุนการลงทุนในการศึกษาวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มากขึ้น เพื่อโลกในอนาคตที่ลูกสาวของเขาเติบโตขึ้น จะมีชีวิตที่มีความสุขกว่าปัจจุบัน เพราะสามารถป้องกันและรักษาโรคทุกชนิดให้หายได้ จะได้มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น และมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น (live much longer and healthier lives.)

·       Mark Zuckerberg มีความคิดว่า ศักยภาพของมนุษย์ในปัจจุบันยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เรามีโอกาสและศักยภาพที่จะ เชื่อมโยงโลกเข้าด้วยกันได้มากกว่านี้ เพื่อทำให้มนุษย์สามารถเข้าถึงความคิดดีๆอีกหลากหลาย เข้าถึงคนและเข้าถึงโอกาสที่มีค่าอีกมากมาย

·       โลกของเรายังมีโอกาสและศักยภาพที่จะดูแลให้ดีขึ้นโดยการใช้พลังงานที่สะอาด (clean energy) และการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลก (protecting the environment)

·       เรายังมีโอกาสและศักยภาพที่จะพัฒนาบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการ (cultivate entrepreneurship) ธุรกิจให้แก่มนุษย์ เพื่อในอนาคตคนจะสามารถสร้างธุรกิจใดๆก็ได้  และสามารถแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆได้ เพื่อสร้างสันติสุข และความเจริญรุ่งเรือง (can build any business and solve any challenge to grow peace and prosperity)

·       มนุษย์ยังมีโอกาสและศักยภาพในการเรียนรู้ และหาประสบการณ์ได้อีกมากมาย โลกในอนาคตของลูกสาวของเขาที่จะเติบโตขึ้น จะมีโอกาสได้เรียนรู้และมีประสบการณ์มากกว่าคนในรุ่นปัจจุบันเป็นร้อยเท่า
 

2.  Promoting equality การส่งเสริมความเสมอภาค

Mark Zuckerberg มีความเห็นว่า การส่งเสริมความเสมอภาคเท่าเทียม คือการทำให้มั่นใจได้ว่าทุกคนได้เข้าถึงโอกาสต่างๆได้โดยไม่จำกัดประเทศชาติ ครอบครัว หรือสิ่งแวดล้อมที่เขาเกิด ดังนั้นเขาจึงตั้งใจที่จะส่งเสริม
·       การช่วยกันขจัดความยากจน และ ความหิวโหย (eliminate poverty and hunger) ให้หมดไปจากโลก เขาเชื่อว่า ทุกชีวิตมีคุณค่าเท่าเทียมกัน และยังหมายรวมถึงคนรุ่นต่อไปที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกับลูกสาวของเขาในอนาคตด้วย ดังนั้นสังคมของเราจึงมีพันธะที่ต้องลงทุนในเวลานี้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ที่จะเกิดมาบนโลกใบนี้ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตให้ดีขึ้น และมีความเสมอภาคมากขึ้น

·       การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ มนุษย์ทุกคนควรได้รับการบริการทางการแพทย์ขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมทั่วถึง (provide everyone with basic healthcare.)

·       การสร้างชุมชนที่ยินดีต้อนรับคนที่เข้ามาอยู่อาศัยอย่างไม่รังเกียจกัน สร้างสันติภาพและความเข้าใจกัน ระหว่างชนในทุกชาติ

·       การให้มนุษย์ทุกคนมีอำนาจการตัดสินใจ(empower) ทั้งผู้หญิง เด็ก ชนกลุ่มน้อย ผู้ลี้ภัย และผู้ที่ถูกโลกลืม (the unconnected) ควรได้รับโอกาสในการตัดสินใจด้วยตนเอง สังคมของเราจะตัองทำสิ่งนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อความยุติธรรม หรือ การกุศล แต่เพื่อความก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

Mark Zuckerberg มีความเห็นว่าปัจจุบันนี้ศักยภาพอีกมากมายของเรายังไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ ศักยภาพที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่นี้เป็นเหมือนสิ่งที่เราควรจะต้องมอบให้แก่สังคมแต่ถูกปล้นไปเสีย หนทางเดียวที่จะบรรลุศักยภาพอย่างสมบูรณ์ของเราได้คือ การใช้ความสามารถ ความคิดอ่านของเราให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ และมีส่วนร่วมช่วยเหลือทุกคนในโลกนี้
จดหมายของคุณพ่อ Mark Zuckerberg ที่เขียนถึงลูกสาวชื่อ Max ถูกเผยแพร่ในช่วงที่ตรงกับวันพ่อของประเทศไทยพอดี จึงขอถือโอกาสนี้นำเสนอเรื่องนี้ เพื่อให้เราได้ตระหนักถึงความรักของพ่อที่มีต่อลูกทุกคน และความรักที่มีเผื่อแผ่ออกไปต่อเพื่อนๆของลูกที่อยู่ร่วมสังคมโลกด้วย
ขอให้เราได้สำนึกถึงความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ตลอดมา และได้เผื่อแผ่ความรักไปยังชนชาติเผ่าพันธุ์อื่นๆที่ได้เข้ามาพึ่งในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ตลอดเวลาที่ผ่านมา
ขอให้เราชื่นชมยินดีในความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อมวลมนุษยชาติทุกคน
William Shakespeare กล่าวว่า When a father gives to his son, both laugh; when a son gives to his father, both cry.” เวลาที่พ่อให้อะไรแก่ลูกชายของเขา ทั้งสองคนหัวเราะ เมื่อลูกชายให้อะไรแก่พ่อของเขา ทั้งสองคนร้องไห้

ขอสันติสุขได้อยู่ในชีวิตของพ่อที่รักทุกคนในวันพ่อวันนี้

 

แหล่งข้อมูลจาก :

http://www.fastcompany.com/3054120/fast-feed/read-mark-zuckerbergs-letter-to-his-newborn-daughte