วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

การศึกษาเขมร




“Ponder the path of your feet, and let all your ways be established.” 
Proverbs 4:26

ได้มีโอกาสติดตามคณะผู้บริหารโรงเรียนในสังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ไปเยี่ยมชมกิจการโรงเรียนของ NTC Group ประเทศกัมพูชา ตามกระแส AEC ที่กำลังตื่นตัวเริ่มมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันในกลุ่มประเทศอาเซียน มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยคริสเตียน และโรงเรียนอีกเกือบ 30 แห่งทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน วัฒนาวิทยาลัย ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ดาราวิทยาลัย เป็นต้น และมีโรงเรียนนานาชาติ 2 แห่ง ส่วนทาง NTC Group กัมพูชามีโรงเรียนในสังกัดเป็นโรงเรียนนานาชาติ 2 แห่งเช่นกัน และมีโรงเรียนที่ใช้ชื่อต่างกันอีก 3  กลุ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่แตกต่างกัน NTC Group มีโรงเรียนในสังกัดรวม  32 แห่ง กลุ่มโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดคือกลุ่มโรงเรียนชื่อ สุวรรณภูมิ (Sovannaphumi School) มีจำนวนถึง 20 โรงเรียนทั่วประเทศ และมีจำนวนนักเรียนรวมกันถึง 27,417 คน โรงเรียนสุวรรณภูมิ เป็นโรงเรียนเอกชนที่ได้รับความนิยมมากในกัมพูชา และกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ความตื่นตัวในเรื่องการศึกษาของประเทศกัมพูชา เป็นเรื่องน่าสนใจยิ่ง ทั้งๆที่สภาพความเป็นอยู่โดยทั่วไปของประชากรส่วนใหญ่ทั้งประเทศยังอยู่ในสภาพยากจน โครงสร้างพื้นฐานยังอยู่ในขั้นกำลังเริ่มพัฒนา แม้แต่ในเมืองหลวงกรุงพนมเปญสภาพถนนหนทางยังเต็มไปด้วยฝุ่นเพราะยังมีถนนซอยที่ไม่ได้ราดยางอีกมาก ทางเท้าและท่อระบายน้ำมีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น แต่พ่อแม่ยินดีจ่ายเงินส่งลูกเรียนหนังสือในโรงเรียนเอกชนเพื่อหวังผลคุณภาพการศึกษาที่ดีให้แก่ลูก ทำให้จำนวนห้องเรียนไม่เพียงพอ ต้องแบ่งการเรียนเป็น 2 รอบ เรียนรอบเช้า ถึง 11.30  น. แล้วกลับบ้าน นักเรียนอีกกลุ่มมาเรียนรอบบ่ายจนถึง 17.00 น. เรียนตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ หยุดวันอาทิตย์วันเดียว นักเรียนจะเรียนพิเศษเพิ่มเติมเอง เช่นถ้าเรียนรอบเช้า บ่ายจะไปเรียนพิเศษภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาไทย เพิ่ม ถ้าเรียนรอบบ่าย ช่วงเช้าจะไปเรียนพิเศษคอมพิวเตอร์เพิ่ม นักเรียนดิ้นรนหาความรู้เพราะรู้ว่าอนาคตที่ก้าวหน้าของพวกเขาอยู่ที่การศึกษา
พื้นที่โรงเรียนมีขนาดค่อนข้างเล็ก แทบไม่มีพื้นที่สนามหญ้าให้เด็กได้วิ่งเล่น ทุกตารางนิ้วของอาคารถูกใช้ประโยชน์หมด เด็กมีความเป็นระเบียบมากเพราะไม่มีพื้นที่ให้วางของทิ้งตามใจชอบ เครื่องอำนวยความสะดวกสบายมีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะทรัพยากรของเขามีอย่างจำกัด ไม่เหมือนประเทศไทยที่โรงเรียนมีทรัพยากรเหลือเฟือแต่ใช้กันอย่างไม่คุ้มค่า ครูอาจารย์ไทยก็ยังบ่นกันทุกวันว่าขาดแคลนทรัพยากรไม่มีโน่นนี่นั่น ความจริงประเทศไทยใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาสูงถึง 31.3%  ของงบประมาณรายจ่ายประเทศ สูงที่สุดในอาเซียน ที่โดยเฉลี่ยแล้วประเทศอื่นๆใช้เงินงบประมาณสำหรับการศึกษาเพียง 14% ของงบประมาณรายจ่ายประเทศ แต่ผลผลิตที่ออกมา คุณภาพการศึกษาของไทยกลับแพ้หลายชาติในอาเซียน
จากการศึกษาของสถาบัน EF (Education First) ที่วัดความสามารถภาษาอังกฤษ (English Proficiency) ของคนที่ลงทะเบียนเข้าไปทดสอบความสามารถภาษาอังกฤษทางคอมพิวเตอร์ online โดยไม่ต้องเสียเงินจำนวนถึง 910,000 คน จาก 70 ประเทศ ทั่วโลก แล้วเอาคะแนนทดสอบมาจัดทำเป็นดรรชนีความสามารถภาษาอังกฤษ (English Proficiency Index) พบว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน คะแนนความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทยน่าเป็นห่วง

ประเทศ
คะแนน
อันดับ
สิงคโปร์
61.08
12
มาเลเซีย
60.30
14
เวียตนาม
53.81
29
อินโดนีเซีย
52.91
32
ไทย
45.35
62
กัมพูชา
39.15
69
 
จาก 70 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่อันดับ 62 ประเทศกัมพูชา อยู่อันดับรองสุดท้าย ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ ลาว และ บรูไน ไม่มีชื่อในรายงาน
การจัดอันดับความสามารถภาษาอังกฤษของสถาบัน EF ทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่ก็มีข้อโต้แย้งจากนักวิชาการถึงความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม คะแนนที่ออกมาก็เป็นข้อมูลที่เราควรต้องรับไว้พิจารณา และนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยเพราะจำนวนประชากรที่ทดสอบในโครงการนี้มีมากถึงเกือบล้านคนทั่วโลก
เพื่อให้เห็นความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทยมากขึ้น ผมขอนำคะแนนเฉลี่ยของผู้ที่เข้าสมัครสอบ TOEFL iBT Test ในปี 2014 มาให้ท่านพิจารณา

ประเทศ
Reading
Listening
Speaking
Writing
รวม
บรูไน
-
-
-
-
-
กัมพูชา
15
16
19
19
69
อินโดนีเซีย
21
21
21
21
84
ลาว
13
15
18
18
64
มาเลเซีย
22
22
21
23
89
เมียนมาร์
18
19
20
20
78
ฟิลิปปินส์
21
22
24
22
89
สิงคโปร์
24
25
24
25
98
ไทย
18
19
19
19
74
เวียตนาม
19
19
19
21
79
 

TOEFL เป็นการทดสอบความสามารถภาษาอังกฤษที่นิยมใช้แพร่หลายกันทั่วโลก ทั้งการรับสมัครเข้าศึกษาต่อของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หรือการสมัครเข้าทำงานที่ต้องใช้ความสามารถภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จะใช้คะแนน TOEFL เป็นเกณฑ์ โดยข้อสอบ TOEFL จะทดสอบความสามารถภาษาอังกฤษ 4 ทักษะ คือ การอ่าน การฟัง การพูด และการเขียน ตารางข้างบนนี้เรียงชื่อประเทศตามลำดับอักษรภาษาอังกฤษ ดูจากคะแนนรวมแล้วจะเห็นว่า สิงคโปร์ได้คะแนนสูงกว่าเพื่อนคือ 98 คะแนน รองลงมาได้แก่ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้คะแนน 89 คะแนนเท่ากัน อินโดนีเซีย ได้ 84 คะแนน เวียตนาม ได้ 79 คะแนน เมียนมาร์ ได้ 78 คะแนน ไทย ได้ 74 คะแนน กัมพูชา ได้  69 คะแนน และ ลาว ได้ 64 คะแนน ส่วนประเทศ บรูไน ไม่มีข้อมูล
คะแนนออกมาแบบนี้คงต้องยอมรับความจริงว่า ความสามารถภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในกลุ่มท้ายของตารางไปแล้ว เพราะอ่อนในทุกทักษะ จำเป็นต้องรีบปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียน และมหาวิทยาลัยเป็นการด่วน มิฉะนั้นจะมีประเทศอื่นแซงหน้าประเทศไทยอีกแน่นอน
ที่กล้าเขียนอย่างนี้เพราะเพิ่งมีประสบการณ์ตรงจากการไปเยี่ยมโรงเรียนในประเทศกัมพูชา ในกรุงพนมเปญ เมืองหลวง 1 แห่ง และที่เมืองเสียมเรียบ เมืองท่องเที่ยวแบบเมืองเชียงใหม่ อีก 1 แห่ง ทั้งสองโรงเรียนให้เด็กนักเรียนเป็นมัคคุเทศก์พาอาจารย์ผู้บริหารโรงเรียนไทยเยี่ยมชมโรงเรียน นักเรียน 1 คน ต่อ อาจารย์ไทย 3 คน เป็นนักเรียนชายหญิงที่เรียนอยู่ในระดับมัธยมต้นทั้งหมด ภาษาอังกฤษของเด็กนักเรียนแต่ละคนทำเอาอาจารย์ไทยเสียความมั่นใจตัวเองไปพอสมควร เพราะทั้งสำเนียง สำนวน และไวยากรณ์ ของนักเรียนอยู่ในระดับดีมาก โดยเฉพาะโรงเรียนที่เมืองเสียมเรียบ ให้นักเรียนพาพวกเราไปเที่ยวปราสาทนครวัต และ ปราสาทนครธม ตลอดบ่าย โดยแบ่งเป็น 14 กลุ่มๆละ 3 คน นักเรียนทุกคนพูดภาษาอังกฤษแบบคิดเป็นอังกฤษ ไม่ใช่คิดเป็นเขมรแล้วแปลเป็นอังกฤษ ถ้าไม่แน่จริงโรงเรียนไม่ปล่อยให้เด็กนักเรียนพาผู้บริหารโรงเรียนไทยไปเที่ยวครึ่งวันโดยไม่มีคุณครูคุมไป
ที่ทำให้ครูอาจารย์ไทยประหลาดใจคือนักเรียนทั้งหมดที่พูดภาษาอังกฤษเป็นน้ำไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษกับครูฝรั่ง เพราะค่าจ้างครูฝรั่งแพงและหาไม่ค่อยได้ โรงเรียนบางแห่งทั้งโรงเรียนมีครูฝรั่งเพียงคนเดียว นักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมเรียนภาษาอังกฤษกับครูชาวเขมรนั่นแหละ และครูอาจารย์เขมรที่สอนภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ไปเรียนจบจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่จบจากมหาวิทยาลัยในประเทศของเขา เมื่อถามว่าครูเขมรมีความสามารถสอนภาษาอังกฤษได้หรือเพราะไม่ได้ไปเรียนเมืองนอก ครูใหญ่โรงเรียนที่เสียมเรียบบอกพวกเราว่าครูทุกคนต้องสอบผ่าน TOEFL ถึงจะสอนภาษาอังกฤษได้ และต้องอบรมอย่างต่อเนื่องเพราะต้องสอบกันทุกปี ถ้าสอบผ่านได้คะแนนมากกว่าเดิมถึงจะได้เงินโบนัส
เห็นความมุ่งมั่นในการศึกษาของนักเรียนมัธยมเขมรแล้วต้องชื่นชมด้วยใจจริง นักเรียนที่เป็นมัคคุเทศก์ของผม เธอเรียนอยู่ Grade 9 เท่ากับชั้น ม.3 บ้านเรา เรียนหลักสูตรสามัญเขมร ไม่ได้เรียนหลักสูตรนานาชาติ แต่พูดภาษาอังกฤษได้ดีอย่างน่าอัศจรรย์ เธอบอกผมว่าตั้งใจจะเป็นนักธุรกิจหญิง ไม่อยากเรียนแพทย์เพราะต้องใช้เวลาเรียนนาน ทางบ้านมีภาระเพราะมีน้องสาวอีก 2 คน จึงต้องเรียนหนังสือให้จบมหาวิทยาลัยโดยเร็วแล้วหาเงินช่วยครอบครัว เวลานี้ต้องช่วยแม่ทำงานบ้านทุกวัน แต่หาเวลาไปเรียนพิเศษภาษาจีน และกำลังสนใจจะเรียนภาษาไทย ดูแววตา สีหน้า ท่าทาง การแสดงออกของเธอ ชัดเจน มุ่งมั่นมาก
กลับจากประเทศกัมพูชาแล้วนอนหลับไม่สนิท เพราะรู้สึกเป็นห่วงอนาคตประเทศไทย ผู้บริหารการศึกษาไทยต้องคิดและทำอย่างจริงจังกับระบบการศึกษาไทยแล้วครับ เพราะเราใช้งบประมาณมากกว่าประเทศอื่นๆ กระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณมากที่สุด แล้วคุณภาพการศึกษาไทยกลับสู้ประเทศอื่นไม่ได้ อย่างนี้แล้วประเทศไทยในอนาคตจะแข่งขันกับใครได้
ประเทศกัมพูชาเคยเป็นประเทศที่มีอารยธรรมสูง เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ความยิ่งใหญ่อลังการของปราสาทนครธม และปราสาทนครวัต สะท้อนภาพความก้าวหน้าทางวิศวกรรมศาสตร์และภูมิสถาปัตย์ของคนเขมรในยุคนั้นที่สามารถสร้างปราสาทหินขนาดใหญ่ได้อย่างปราณีตสวยงาม แต่โชคร้ายที่ต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศสเสียนาน พอหลุดจากการเป็นอาณานิคมก็เกิดความแตกแยกทางความคิดการเมืองและการปกครอง ถูกประเทศสหรัฐอเมริกันทิ้งระเบิดพรุนเกือบทั้งประเทศ และเกิดการฆ่าล้างชนชั้นคนตายเป็นล้าน เขมร 3 ฝ่ายต่อสู้รบกันเองอีกหลายปี เพิ่งจะสงบศึกกันได้เมื่อไม่นานนี้เอง
ความทุกข์ยากลำบาก ความขัดสน ความปวดร้าวจากอดีตทำให้คนเขมรมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างประเทศของตนให้เจริญอีกครั้ง เยาวชนรุ่นใหม่มีความเข้าใจที่จะสร้างฐานะใหม่ให้กับครอบครัว มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศของตนให้เจริญทัดเทียมประเทศอื่นๆ มีความกระตือรือล้นในการเรียนรู้ และให้ความสำคัญต่อการศึกษามากที่สุด
เป็นเรื่องยากที่เยาวชนไทยจะมีความกระหายการศึกษาและดิ้นรนต่อสู้เหมือนเยาวชนเขมร เพราะเด็กไทยเกิดมาไม่ได้สัมผัสความทุกข์ยากลำบาก พ่อแม่ปู่ย่าตายายแย่งกันดูแลเอาใจกันสุดๆ จนทำอะไรไม่เป็นนอกจากท่องหนังสือ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย
Martin Luther King, Jr. กล่าวว่า The function of education is to teach one to think intensively and to think critically. Intelligence plus character - that is the goal of true education.” หน้าที่ของการศึกษาคือการสอนให้คนคิดอย่างใส่ใจและคิดอย่างพินิจพิเคราะห์ ความฉลาดเฉลียวบวกกับคุณลักษณะ คือเป้าหมายอย่างแท้จริงของการศึกษา
ประธานาธิบดี John F. Kennedy กล่าวว่าThe goal of education is the advancement of knowledge and the dissemination of truth.” เป้าหมายของการศึกษาคือความก้าวหน้าของความรู้และการประกาศความจริง
ความจริงในวันนี้ของประเทศไทย คือ เราต้อง
สอนเยาวชนไทยให้รู้จักคิด วิเคราะห์ อย่างจริงจัง ไม่ใช่เชื่อตามที่เขาบอกโดยไม่ได้คิดพิจารณา
สอนเยาวชนไทยให้มีคุณลักษณะที่ดี เป็นพลเมืองดีที่รักประเทศชาติ และร่วมรับผิดชอบต่อสังคมประเทศชาติ
สอนเยาวชนไทยให้รู้จักหาความรู้ที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่หาแต่คะแนน หาใบปริญญา โดยไม่หาสาระสำคัญของชีวิต
สอนเยาวชนไทยให้รู้จักความจริง เคารพความจริง อยู่กับความจริง ไม่โกหกตนเอง และไม่โกหกผู้อื่น

สังคมไทยมีคนโกหกมากพอแล้วครับ
 

แหล่งที่มา:   http://www.ef.co.th
Test and Score Data Summary for the TOEFL iBT

 

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559

ตื่นเถิดก่อนที่มันจะสายเกินไป

“Put away from thee a froward mouth, and perverse lips put far from thee. Let thine eyes look right on, and let thine eyelids look straight before thee.”
Proverbs 4: 24-25

ในอดีตเราเป็นสังคมเกษตรที่ปลูกพืชตามความเหมาะสมของสภาพพื้นดินและสิ่งแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น ตามธรรมชาติของฟ้าฝนและฤดูกาล และเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ตามกำลังของคนที่สามารถทำงานได้ในแต่ละครอบครัว เป็นเกษตรกรขนาดเล็ก เมื่อได้ผลผลิตก็ใช้กินเลี้ยงชีวิตคนในครอบครัว ถ้าเหลือก็นำไปขายในตลาด ของชุมชนที่อยู่อาศัย และแบ่งปันกันให้บ้านพี่เรือนน้อง

โลกของเราตกอยู่ภายใต้กรอบความคิดการปฏิวัติเขียว (Green revolution) มาชั่วอายุคน
เราถูกฝรั่งสอนให้เปลี่ยนวิถีการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ตามความคิดใหม่ซึ่งเป็นความคิดบนพื้นฐาน เชิงเดี่ยว(Monoculture - based) คือการเกษตรแบบเพาะปลูกพืชชนิดเดียวเต็มพื้นที่ดิน หรือเลี้ยงสัตว์ชนิด เดียวเท่านั้น เหตุผลสนับสนุนความคิด นี้คือเพื่อความมีประสิทธิภาพในการจัดการอย่างเป็นระบบและเกิด ประสิทธิผลได้ผลผลิตมากขึ้นแต่มีต้นทุนต่ำ จะทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นและมีกำไรมากขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเวลานี้ คือ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีชีวิตที่ยากลำบาก ไม่ได้ร่ำรวยตามที่คิดฝัน คนที่ร่ำรวยจริงคือบริษัททั้งหลายที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตร เพราะการเกษตรเชิงเดี่ยวทำให้เกษตรกรต้องพึ่งพิงปัจจัยผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจากภายนอกอย่างสูงมาก (High external input-dependent indutrial production) ซึ่งเกษตรกรต้องซื้อทั้งสิ้น เช่นเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรอุปกรณ์การเกษตร บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ และสุดท้ายเกษตรกร ต้องขายผลผลิต การเกษตรให้โรงงานแปรรูปที่นำพืชผลการเกษตรไปผลิตเป็นอาหารและสินค้าอื่นๆที่เพิ่มมูลค่ามหาศาลเมื่อขายให้แก่ผู้บริโภค กำไรมหาศาลจึงตกอยู่ที่บริษัททั้งหลายในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

องค์กร UNCTAD ได้รายงานผลการศึกษาของนักวิจัยและ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจำนวนกว่า 50 คน และได้พิมพ์เผยแพร่เอกสารผลการศึกษาโดยใช้ชื่อรายงานว่า Trade and Environment Review 2013: Wake up before it’s too late ทบทวนการค้าและสิ่งแวดล้อมปี 2013 ตื่นเถิดก่อนจะสายเกินไป

ข้อสรุปสั้นๆจากรายงานนี้คือ การพัฒนาการเกษตรของโลกได้มาถึงจุดตัด (Cross road) แล้ว ถึงเวลา ที่ต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอย่างรีบด่วน ก่อนที่จะสายเกินไป เพราะความจริงที่พบจากการศึกษาคือ
  • การใช้ปุ๋ยเคมีทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าในระยะเวลา 40 ปี
  • อัตราการเติบโตของผลผลิตทางการเกษตร (Growth rate) กลับลดลง
  • ประชากรโลกจำนวนมากยังประสบความหิวโหย (Hunger) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ภาคการเกษตร
  • เด็กจำนวนมากในโลกยังมีสภาพทุโภชนาการ (Malnutrition) ขาดอาหาร
  • ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนายังยากจนขัดสน (Poverty)
  • สภาพดินและแหล่งน้ำในประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาเสื่อมโทรม
  • ป่าไม้ถูกบุกรุกตัดทิ้งเพื่อการเกษตร พื้นที่ป่าลดน้อยลง ต้นน้ำแหล่งน้ำถูกทำลาย
  • สภาพพื้นดินเปลี่ยนไปเพราะขาดความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)
  • ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง(Climate change) จนเกิดผลกระทบต่อการทำการเกษตร เช่น น้ำท่วม หรือ ภัยแล้ง
  • การเกษตรแบบที่ใช้ความเชี่ยวชาญพิเศษ(Highly specialized agriculture) ทำให้ใช้คนทำงานน้อยลง คนไม่มีงานทำมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ยากจนอยู่แล้ว
  • และปัญหาอื่นๆที่เป็นผลกระทบตามมาอีกมากมาย

รายงานนี้เสนอให้
  • โลกต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ในการพัฒนาการเกษตรจาก “green revolution” เป็น “ecological intensification” คือให้ความใส่ใจต่อสภาพพื้นที่และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในการทำการเกษตรกรรม
  • เปลี่ยนการเกษตรแบบระบบพืชเชิงเดี่ยวที่ผลิตเพื่อการอุตสาหกรรมไปเป็นการเกษตรที่เป็นระบบสร้าง ผลิตผลที่มีความยั่งยืน (Sustainable regenerative production system)
  • ให้การสนับสนุนเกษตรกรรายเล็ก (Small-scale farmers) ในการเพิ่มผลผลิต
  • ให้มองเกษตรกรด้วยมุมมองใหม่ เกษตรกรไม่ใช่เป็นเพียงผู้ผลิตพืชผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่เป็นผู้ดูแลระบบนิเวศน์ทางการเกษตร(Agroecological system) ด้วย ดังนั้น รัฐบาลควรให้ การสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ให้ใช้สารเคมี ปลูกพืชที่ไม่ทำลายระบบนิเวศน์ สร้างความหลากหลาย ทางชีวภาพ และ ไม่ทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
  • ลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในระบบห่วงโซ่อาหาร ทั้งหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการแปรรูปอาหาร
  • ส่งเสริมการบริโภคอาหารที่เป็นมิตรต่อภูมิอากาศ (Climate friendly food consumption)
  • ปฏิรูประบบการค้าผลิตผลการเกษตรและอาหาร ให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

สิ่งที่น่าห่วงใยอย่างมาก คือถ้าการพัฒนาด้านการเกษตรยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจากสภาพปัจจุบัน ยังคงทำการเกษตรในรูปแบบระบบเกษตรเชิงเดี่ยวต่อไปและการค้าพืชผลการเกษตรและอาหารยังเป็นไปในรูปแบบปัจจุบันนี้ โลกจะมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษ ดินและแหล่งน้ำ ระบบนิเวศน์ มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของคนและสัตว์ และจะเกิดวิกฤติอาหาร (Food crisis) ในที่สุด

ถึงเวลาที่เราต้องคิดทบทวนอย่างจริงจังเสียที ประเทศไทยมีพื้นดินที่เหมาะสำหรับการเกษตรกรรม บรรพบุรุษของเราทำการเกษตรแบบวิถีเกษตรไทย มีพอกินพอใช้อย่างสบาย ชีวิตมีความสุขสงบดี แล้วเราก็ตามกระแสโลกไปทำการเกษตรตามแบบที่ฝรั่งบอกให้ทำ เพราะเชื่อว่าจะได้กำไรร่ำรวยขึ้น

ผมมีความรู้สึกว่า เหมือนกับเรานั่งกินขนมจีนตามร้านข้างถนนอยู่ดีๆ ฝรั่งเข้ามาบอกเราว่า ขนมจีนกับร้านไม่ได้มาตรฐานสากล แล้วลากเราเข้าไปนั่งกินพิชซ่าด้วยกันในร้านที่ฝรั่งบอกว่ามีมาตรฐาน
ถูกสุขอนามัย เราจำเป็นต้องกินพิชซ่ากับฝรั่งด้วย เพราะเราอยากคบค้ากับฝรั่งให้โลกเห็นว่าเรามีความศิวิไลแล้ว เราตัวเล็กหยิบพิชซ่ากินไป 2 ชิ้น ก็จุกแล้ว ฝรั่งตัวใหญ่กวาดพิชซ่าอีก 6 ชิ้น กินจนหมดถาด แล้วคิดเงิน ฝรั่งบอกเราว่าไอ ได้สอนวิธีกินพิชซ่าให้ยูแล้ว พิชซ่ามีคุณค่าอาหารและอร่อยมาก ร้านก็สะอาดถูกสุขอนามัย พิชซ่าทุกถาดได้มาตรฐาน ยูได้รับประโยชน์มากมายจากการกินพิชซ่ากับไอวันนี้ ไอคบค้ากับยู บนพื้นฐาน ความเป็นประชาธิปไตย เราต้องมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นค่าพิชซ่าที่กินด้วยกันวันนี้ เราหารสอง จ่ายเท่าๆกัน

Allan Savory กล่าวว่า “Agriculture is not crop production as popular belief holds - it's the production of food and fiber from the world's land and waters. Without agriculture it is not possible to have a city, stock market, banks, university, church or army. Agriculture is the foundation of civilization and any stable economy.” การเกษตรกรรมไม่ใช่การผลิตพืชผลตามที่นิยมเชื่อกัน แต่มันเป็นผลผลิตของอาหารและเส้นใย จากแผ่นดิน และน้ำของโลก ถ้าไม่มีการเกษตรกรรม ก็ไม่สามารถมีเมือง ตลาดหุ้น ธนาคาร มหาวิทยาลัย โบสถ์ หรือ กองทัพ การเกษตรกรรม เป็นรากฐานของความมีศิวิไลและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

แหล่งข้อมูล: UNCTAD Trade and Environment Review 2013