วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

ผู้นำผู้รับใช้ (4)




 “Honest people will treat you fairly; the wicked only want to deceive you.
The words of the wicked are murderous, but the words of the righteous rescue those who are threatened.”                                Proverbs 12:5-6

Albert Einstein กล่าวว่า “Intellectuals solve problems, geniuses prevent them.” คนฉลาดแก้ไขปัญหา อัจฉริยะป้องกันปัญหา แต่ในชีวิตจริงผู้นำ ต้องทำทั้งสองอย่าง เพราะผู้นำอยู่เพื่อป้องกันปัญหาและอยู่เพื่อแก้ไขปัญหา ถ้าเลือกได้ผู้นำทุกคนอยากเป็นอัจฉริยะในการป้องกันปัญหามากกว่าเป็นเพียงคนฉลาดในการแก้ไขปัญหา เพราะการแก้ไขปัญหามันยุ่งยากกว่า และเหนื่อยกว่ามาก แต่ว่าปัญหาในชีวิตจริงที่ผู้นำต้องเผชิญ ไม่ได้อยู่นิ่งให้เราแก้เหมือนกับการแก้ปัญหาวิชาคณิตศาสตร์ที่เราสามารถแก้ตัวแปรทีละตัวได้

การเป็นผู้นำผู้รับใช้ สิ่งสำคัญอยู่ที่ใจถ่อมสุภาพพร้อมรับใช้ผู้อื่น เหมือนที่ Harold Warner ได้กล่าวว่า “The true character of ministry is a servants heart” คุณลักษณะที่แท้จริงของการทำพันธกิจคือหัวใจผู้รับใช้ ใครที่ไม่มีหัวใจอยากจะทำงานรับใช้ผู้อื่น ไม่สามารถทำพันธกิจได้ คนที่จะทำพันธกิจได้ คือคนที่เกิดความรู้สึกอย่างแรงกล้าในจิตใจต้องการรับใช้ผู้อื่น หรือที่เรียกว่าได้รับการทรงเรียก (Calling) จากพระเจ้า คือเกิดความรู้สึกร้อนรนในจิตใจที่ต้องการจะรับใช้ผู้อื่น (The desire to serve others) และมีความรู้สึกต้องการสละความต้องการของตนเอง (The willing to sacrifice self interest) เพื่อทำให้ผู้อื่นมีความสุข

Richard Foster ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า เราต้องเข้าใจถึงความแตกต่างของความหมายระหว่าง การเป็นผู้เลือกที่จะให้บริการ (Choosing to serve) กับ การเลือกที่จะเป็นผู้รับใช้ (Choosing to be a servant) ดูผิวเผินอาจจะเห็นว่ามันเหมือนๆกันเพราะต่างก็ให้บริการเหมือน แต่ความหมายที่แท้จริงแตกต่างกันอย่างมาก เพราะการเลือกที่จะให้บริการ (Choosing to serve) มีความหมายว่าเรายังคงมีอำนาจควบคุมและเป็นผู้ตัดสินใจเลือกว่าจะรับใช้บริการใคร (Whom we will serve) เลือกที่จะให้บริการเมื่อใด (When we will serve) เรามีอิสระที่จะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ตามความสมัครใจของเรา เราสามารถเลือกที่ให้บริการใคร แบบใด ในเวลาที่เรารู้สึกพอใจจะให้บริการ เรายังเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ แต่ถ้าเราเลือกที่จะเป็นผู้รับใช้ (Choosing to be a servant) ผู้รับใช้คือผู้ที่ยอมเสียสละอำนาจในการควบคุม (The right to in charge) ดังนั้นการรับใช้จึงยึดเอาผู้ที่เรารับใช้เป็นศูนย์กลาง ผู้รับใช้จึงไม่มีเงื่อนไขในการรับใช้ว่าจะรับใช้ใคร จะรับใช้เมื่อไหร่ จะรับใช้อย่างไร เพราะไม่มีผลประโยชน์ที่ต้องคิดคำนึงหรือกังวลใจว่าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบผู้ที่เรารับใช้ การทำได้อย่างนี้ถึงจะเป็นผู้รับใช้ที่แท้จริง เพราะมีความอิสระในการรับใช้ (freedom to serve) อย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่มีอะไรผูกติดกับผลประโยชน์ในการรับใช้ ดังคำกล่าวที่ว่า “True service is indiscriminate in its ministry.” การให้บริการที่แท้จริงคือการไม่เลือกปฏิบัติในพันธกิจที่รับใช้ ไม่ว่าผู้นั้นจะยากดีมีจน จะมีผิวสีใด มีเชื้อชาติใด มีวุฒิความรู้ระดับใด หรือเพศใด อายุใด หรือมีความเชื่อใด ถ้ามีความทุกข์ยากลำบากใจ ผู้รับใช้พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อให้เขามีความสุข

แล้วการเป็นผู้รับใช้ จะมีประโยชน์อันใด ในเมื่อการกระทำของผู้รับใช้ทั้งหมดไม่ไปผูกโยงกับผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง คำตอบคือ อิสรภาพของผู้รับใช้ ความอิสระทางความคิดและจิตใจของผู้รับใช้ ที่ไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องผลประโยชน์ ทำให้มีความเป็นไท ที่ไม่ต้องเป็นทาสของผลประโยชน์ จึงสามารถคิดและทำสิ่งที่ตนอยากกระทำโดยไม่ต้องห่วงหน้าห่วงหลังว่าจะมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของตนหรือไม่ ความเป็นไท ทำให้หลุดพ้นจากบ่วงผลประโยชน์ที่ผูกรัดตนเอง มีเสรีภาพให้ทำงานรับใช้อย่างเต็มที่ จึงได้รับความสุขจากการมีอิสรภาพในการทำพันธกิจรับใช้ผู้อื่น

ผลดีจากการมีอิสรภาพในการเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น อย่างน้อยที่สุดคือ

ทำให้ไม่ต้องแข่งขันเอาชนะผู้อื่น  
          การมีอิสรภาพจากการไม่ต้องคิดถึงผลประโยชน์แก่ตนเอง ทำให้ผู้รับใช้ไม่ต้องไปคิดแข่งขันกับใคร ไม่ต้องไปแย่งชิงผลประโยชน์กับใคร จึงทำให้มีทัศนคติ ความคิด และจิตใจที่ไม่ผูกกับผลประโยชน์ วิธีคิดของผู้รับใช้จึงเป็นวิธีคิดแบบให้(Give) ไม่ใช่วิธีคิดแบบเอา (Take) จึงไม่มีคู่แข่งขัน Marilyn Monroe ดาราสาวพราวเสน่ห์กล่าวว่า “If you spend your life competing with business men, what do you have? A bank account and ulcers!” ถ้าคุณใช้ชีวิตในการแข่งขันกับนักธุรกิจ สิ่งที่คุณจะได้คือ บัญชีธนาคารและโรคกระเพาะ

ทำให้ความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นราบรื่น
          เมื่อไม่มีคู่แข่งขัน ก็ไม่มีศัตรู มีแต่มิตร ความสัมพันธ์ของผู้รับใช้กับผู้อื่นบนพื้นฐานการไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้มีแต่มิตรและมิตรภาพ เพราะผู้รับใช้ไม่ได้เอาเปรียบใคร ไม่ได้หวังประโยชน์ตอบแทน ความสัมพันธ์จึงราบรื่นไม่เกิดปัญหา   Euripides กล่าวว่า “One loyal friend is worth ten thousand relatives” มีเพื่อนที่รักภักดีหนึ่งคนมีค่าเท่ากับญาติพี่น้องหมื่นคน ความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้งานของผู้รับใช้เกิดผลดี

ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น
          เมื่อการทำงานรับใช้เกิดผลดี ผู้รับใช้มีความสุข เพราะชีวิตผู้รับใช้มีความสุขจากการทำให้ผู้อื่นมีความสุข ชีวิตผู้รับใช้เป็นชีวิตที่ถ่อมสุภาพ (Humbleness) ไม่สร้างความลำบากให้ใคร จึงเป็นชีวิตที่เปี่ยมสุข Mahatma Gandhi ผู้นำชาวอินเดียกล่าวว่า “Happiness is when what you think, what you say, and what you do are in harmony” ความสุขคือเมื่อสิ่งที่คุณคิด สิ่งที่คุณพูด และสิ่งที่คุณกระทำ มันสอดคล้องกัน ชีวิตของผู้รับใช้ คิด พูด และทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นคุณเสมอ ดังนั้นชีวิตจึงมีความสุข

ทำให้มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย อารมณ์ จิตใจ
          ผลจากการรับใช้ผู้อื่นให้มีความสุข ทำให้ผู้รับใช้ไม่เครียดในการทำงาน จึงมีสุขภาพจิตที่ดี มีสุขภาวะทางจิตใจที่แจ่มใส เพราะอิ่มสุข อิ่มพระพรจากการได้ทำงานรับใช้ผู้อื่น Carl Jung นักจิตวิทยาบอกว่า “The healthy man does not torture others- generally it is the tortured who turn into torturer.” ผู้ที่มีสุขภาวะที่ดีไม่ทำร้ายผู้อื่น โดยทั่วไปผู้ที่ถูกทำร้ายคือผู้ที่กลายเป็นผู้ทำร้ายผู้อื่น

ทำให้ชีวิตเกิดผลมากขึ้น
          ชีวิตผู้รับใช้เป็นชีวิตที่เกิดผล การทำให้ผู้อื่นมีความสุขเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีค่ามากกว่าเงินทอง เพราะไม่สามารถเอามูลค่าทางวัตถุมาเปรียบเทียบกับมูลค่าทางจิตใจได้ Franz Kafka กล่าวว่า ชีวิตที่เกิดผลเกิดจากการได้ทำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยสามารถทำได้มาก่อน “Productivity is being able to do things that you were never able to do before” และชีวิตที่เกิดผลจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นอยากมีชีวิตที่เกิดผลด้วย

          John Quincy Adams กล่าวว่า “If your actions inspire others to dream more, learn more, do more and become more, you are a leader.”
ถ้าการกระทำของท่านได้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นมีความฝัน(ที่จะเป็นผู้รับใช้) มากขึ้น อยากจะเรียนรู้ (เรื่องการรับใช้) มากขึ้น อยากทำ (การรับใช้) มากขึ้น และอยาก (เป็นผู้รับใช้) มากขึ้น ท่านคือผู้นำ

          ขอฝากคำสอนของพระเยซูคริสต์ผู้เป็นต้นแบบของการเป็นผู้นำผู้รับใช้ จากพระธรรม มาระโก 9: 35

 ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นคนต้น ก็ให้ผู้นั้นเป็นคนสุดท้าย และเป็นผู้รับใช้ของคนทั้งปวง” "If anyone wants to be first, he must be the very last, and the servant of all."

          คุณอยากเป็นคนสุดท้าย และรับใช้คนอื่นทั้งหมดหรือยังครับ


ปล. ขอบคุณที่อ่านจนจบ ถ้าชอบกรุณาช่วยบอกต่อด้วยครับ



วันอังคารที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2557

ผู้นำผู้รับใช้ (3)




 “The LORD is pleased with good people, but condemns those who plan evil. Wickedness does not give security, but righteous people stand firm.”                                     Proverbs 12:2-3

ผู้นำในความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและเป็นที่ยอมรับในการบริหารจัดการคือผู้นำที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น (Transformation leader) เป็นผู้นำที่มีบทบาทในการนำให้องค์กรที่ตนเองเป็นผู้นำอยู่ เปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรตามที่ผู้นำเห็นว่าจะมีอิทธิพลผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามที่ผู้นำต้องการได้ เช่นเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานแบบเชิงรับ (Reactive) เป็นการทำงานแบบเชิงรุก (Proactive) เปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานแบบอำนาจอยู่ที่ตัวผู้นำ(I-Power) เป็นการทำงานแบบอำนาจอยู่ที่คนอื่น(You-Power) คือมอบอำนาจความรับผิดชอบให้คนอื่นคิดและตัดสินใจ เปลี่ยนองค์กรที่อยู่นิ่ง (Static) ไม่ปรับตัวให้เป็นองค์กรที่ปรับตัว มีพลวัตร(Dynamic) มีการเคลื่อนไหวตอบสนองการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนองค์กรที่คอยแต่ทำตามแบบคนอื่นให้เป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ (Innovative culture) สร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นเพื่อทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าสามารถแข่งขันได้

          ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไปใช้ความเป็นผู้นำ(Leadership) ในการผลักดัน (Influence) ให้ผู้ทำงานภายใต้การนำของตนสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยใช้วิธีการสร้างแรงจูงใจ (Motivate) ให้ผู้ติดตามทำตามความต้องการของผู้นำ (Individualized consideration) ผู้นำใช้การกระตุ้น (Stimulate) ให้คนเกิดความรู้ความเข้าใจเป้าหมายและวิธีการเดินไปสู่เป้าหมายที่ผู้นำต้องการ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมาย ถึงจะนับได้ว่าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

          ผู้นำผู้รับใช้ เป็นผู้นำที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกับผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไป แต่วิธีคิด และวิธีการ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้นำผู้รับใช้จะแตกต่างไปจากแนวคิดของผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วๆไป เพราะผู้นำผู้รับใช้เน้นการเปลี่ยนแปลงภายในตัวคนก่อน คือเน้นเรื่องจิตวิญญาณ (Spiritual) ของคนเป็นสำคัญ ถ้าคนเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตวิญญาณ จิตใจของเขาจะเปลี่ยน ความคิดและทัศนคติจะเปลี่ยน ซึ่งทำให้การประพฤติปฏิบัติของเขาเปลี่ยนตามไปด้วย การเปลี่ยนแปลงภายนอกจะตามมาเอง เขาจะเกิดความรู้สึกร้อนรน เกิดความคิดใหม่อยากจะทำสิ่งใหม่ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เป้าหมายได้ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะยั่งยืนกว่า เพราะเป้าหมายของผู้นำผู้รับใช้มุ่งไปที่คน และความต้องการของชุมชน (Community consideration) เป็นสำคัญ

          ผู้นำผู้รับใช้จึงมุ่งให้ความสนใจและให้คุณค่าคน (Valuing people) โดยการพัฒนาคนที่จิตใจก่อน เมื่อจิตใจของคนได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นจิตใจแบบผู้รับใช้ได้แล้ว ตัวเขาเองจะดิ้นรนหาหนทางในการช่วยเหลือผู้อื่นให้มีความสุข ทำให้มีสิ่งดีเกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งก็คือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นนั่นเอง แนวคิดแบบผู้นำผู้รับใช้จึงดูยากลำบากในเชิงปฏิบัติกว่าแนวคิดผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไป แต่จริงๆแล้วทั้งสองแนวคิดมีหลักคิดหลายอย่างที่เหมือนๆกัน เพียงแต่มีจุดเน้นเรื่องการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกัน

          Skip Prichard ได้ให้แนวคิดเรื่องคุณสมบัติ (Qualities) สำคัญของผู้นำผู้รับใช้หลายประการ ขออนุญาตนำมาเขียนตามความเข้าใจดังนี้

Values diverse opinions
ผู้นำผู้รับใช้ ต้องฟังให้เป็น ฟังให้ได้ยินความคิดความต้องการของผู้อื่นก่อน รวมทั้งต้องให้ความสนใจและยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เพราะจุดประสงค์ของการเป็นผู้นำผู้รับใช้คือการทำเพื่อรับใช้ผู้อื่น จึงต้องฟังผู้อื่นให้ถูกต้องเสียก่อนว่าเขามีความต้องการอะไร ถึงจะปฏิบัติตอบสนองความต้องการของเขาได้ถูกต้อง 

Cultivates culture of trust
การจะทำงานรับใช้ผู้อื่นได้ ผู้นำผู้รับใช้ต้องทำให้คนอื่นมีความเชื่อมั่น ไว้วางใจในตัวผู้นำผู้รับใช้เสียก่อน เพราะถ้าคนไม่ไว้วางใจในตัวผู้นำผู้รับใช้ เขาจะไม่เปิดโอกาสให้ผู้นำผู้รับใช้มีโอกาสได้รับใช้เขา ดังนั้นการพูด การกระทำและวิถีชีวิตของผู้นำผู้รับใช้จึงต้องสัตย์ซื่อ (Integrity) และเชื่อถือได้ (Accountable) คนถึงจะไว้วางใจให้รับใช้

Develops other leaders
เพราะผู้นำผู้รับใช้ ไม่ได้ต้องการให้ตนเองเป็นเอกเป็นต้น ครองตำแหน่งผู้นำเหมือนอย่างผู้นำทั่วๆไปที่ต้องการอยู่ในตำแหน่งนานๆ ดังนั้นผู้นำผู้รับใช้จึงมีภาระในการสร้างผู้นำให้มีจำนวนมากขึ้น คือสร้างผู้นำผู้รับใช้รุ่นใหม่โดยการเปิดโอกาสให้เขามีการเรียนรู้ (Learning) เพื่อเขาจะได้เติบโต (Growth) เป็นผู้นำผู้รับใช้ต่อไป ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อไปอย่างต่อเนื่อง

Help people with life issues
ผู้นำผู้รับใช้ช่วยผู้อื่นด้วยเรื่องชีวิต เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องวิชาการความรู้ ยุทธศาสตร์ กระบวนการ วิธีการ และการวัดผล แบบผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วไปที่เน้นการพัฒนาคนในเรื่องการทำงานเป็นหลัก แต่ผู้นำผู้รับใช้ก้าวไปลึกกว่าคือเน้นการพัฒนาชีวิตผู้อื่นให้มีความสุข ช่วยเหลือคนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ปัญหาชีวิต เพื่อเขาจะมีชีวิตที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

Encourages people
ผู้นำผู้รับใช้เป็นผู้มีใจให้ผู้อื่นเสมอ ดังนั้นชีวิตของเขาจึงมีแต่การให้กำลังใจ (Encourage) ผู้อื่น พร้อมที่จะให้ความอบอุ่นปลอดภัย (Comfort) และเป็นที่กำบัง (Shelter) ในยามทุกข์ร้อนแก่ผู้อื่นเสมอ ทำให้ผู้อื่นมีความหวัง มีความอบอุ่นเมื่อต้องการความช่วยเหลือ

Sells not Tells
ผู้นำผู้รับใช้ ไม่ใช้ความแข็งลักษณะแบบเผด็จการที่ใช้อำนาจสั่งให้ผู้อื่นยอมรับและกระทำตาม แต่ผู้นำผู้รับใช้จะใช้ความอ่อนในการนำการเปลี่ยนแปลงโดยการขายความความคิด สร้างความเข้าใจ ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในความคิดของคนก่อน ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระทำด้วยใจตามมา และจะเกิดผลที่ยั่งยืนกว่าการกระทำตามคำสั่งโดยไม่มีความเข้าใจ

You not Me
หัวใจของผู้นำผู้รับใช้ อยู่ที่ผู้อื่นไม่ใช่อยู่ที่ตัวเอง เพราะเป้าหมายการรับใช้ของผู้นำผู้รับใช้คือความสุขของผู้อื่นไม่ใช่ความสุขของตนเอง ดังนั้นความคิดและการปฏิบัติของผู้นำผู้รับใช้จึงมุ่งที่ผู้อื่นเสมอ ทำให้ผู้นำผู้รับใช้ ไม่เข้าไปควบคุมคนอื่นให้ทำตามความต้องการของตน

Long-term not short-term
เมื่อผู้นำผู้รับใช้คิดถึงความต้องการของผู้อื่นเป็นหลัก จึงต้องมองผลประโยชน์ของคนและชุมชนเป็นสำคัญ เพราะเมื่อคนมีความสุข ชุมชนจะมีความสุขด้วย ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำผู้รับใช้ คิดและทำ จึงมีเป้าหมายที่ผลประโยชน์ระยะยาวมากกว่าผลประโยชน์ระยะสั้น

Humility
ผู้นำผู้รับใช้ต้องเป็นผู้ถ่อมตน มีจิตใจที่ถ่อมสุภาพ ถึงจะเป็นผู้นำผู้รับใช้ที่ดีได้ เหมือนอย่างที่พระเยซูคริสต์ได้กระทำเป็นแบบอย่างโดยถ่อมพระองค์ลงล้างเท้าสาวกของพระองค์ คนที่ใจไม่ถ่อมไม่สามารถฝืนการรับใช้ผู้อื่นได้นาน เพราะใจของเขาจะไม่เป็นสุขในการรับใช้ผู้อื่น

Nelson Mandela ผู้นำคนหนึ่งของโลกกล่าวว่า “I stand here before you not as a prophet, but as a humble servant of you, the people.” ข้าพเจ้ายืนต่อหน้าท่านตรงนี้ไม่ใช่ในฐานะศาสดาพยากรณ์ แต่ในฐานะผู้รับใช้ที่ถ่อมตนของท่านที่เป็นประชาชน

ท่านพร้อมที่จะเป็น ผู้นำผู้รับใช้ หรือยังครับ?

·      ขอบคุณที่อ่านจนจบ ถ้าชอบ กรุณาช่วยแนะนำให้เพื่อนอ่านด้วยนะครับ