วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ผู้นำพัฒนาคน People Development


“If you are wise, you are wise to your own advantage,
       but if you are a mocker, you alone must bear it.” Proverbs 9:12

เมื่อผู้นำสามารถพัฒนาการนำของตนจนถึงระดับสร้างผลงานดังที่ได้เขียนไปในตอนที่แล้ว การนำองค์กรขั้นต่อไปคือการพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะองค์กรไม่สามารถหยุดการเติบโตของตัวเอง เนื่องจากองค์กรต้องต่อสู้แข่งขันต่อไปเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ผู้นำจึงต้องพัฒนาคนในองค์กรให้สามารถแข่งขันอย่างได้เปรียบ (Competitive advantage) อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้าอย่างได้เปรียบต่อไป เพื่อความอยู่รอด และความยั่งยืนขององค์กร
          คน เป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด เพราะการสร้างคน ต้องลงทุนมากและใช้เวลามาก กว่าจะได้คนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะ เพียงพอตามความต้องการขององค์กร เวลานี้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนคนในบางสาขาวิชาชีพ เพราะในอดีต เราขาดการวางแผนสร้างคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมและธุรกิจ ปัจจุบันจึงไม่สามารถขยายการลงทุนทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการได้ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง

          ผู้นำจึงต้องทำงานในระดับต่อไป คือการพัฒนาคนขององค์กร โดย

Learning organization: องค์กรเรียนรู้
ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศขององค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทำให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ เป็นความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรให้สามารถแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง องค์กรใดที่คนในองค์กรขาดความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ องค์กรนั้นจะหยุดเติบโต และถ้าคนในองค์กรไม่พัฒนาศักยภาพของตนเอง องค์กรก็ขาดศักยภาพในการแข่งขันเช่นกัน ข้อด้อยของคนไทยคือไม่ค่อยใส่ใจการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ดังที่เรามีสถิติที่น่าละอายใจว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยอ่านหนังสือเพียงไม่กี่บรรทัดต่อปี

Higher quality performance: งานคุณภาพสูงขึ้น
การแข่งขันในปัจจุบันเน้นเรื่องคุณภาพ ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจ มีมาตรฐานคุณภาพด้านต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่มาตรฐานวัตถุดิบ มาตรฐานกระบวนการผลิต จนถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ แม้กระทั่งของเสีย ของเหลือใช้ในการผลิตยังต้องมีมาตรฐานในการทิ้งและทำลาย มีมาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงาน มาตรฐานความปลอดภัย เข้ามากำกับ มาตรฐานทุกด้านกดดันให้องค์กรต้องมีคุณภาพสูงขึ้น หน้าที่ของผู้นำจึงต้องนำคนในองค์กรให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อทำงานให้มีมาตรฐานสูงขึ้น จึงจะสามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคและสังคมได้

Promote people: ส่งเสริมคน
ผู้นำมีหน้าที่ในการส่งเสริมคนในองค์กร ให้มีความกระหายที่จะเป็นคนเก่ง คนกล้า คนก้าวหน้า และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะคนสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้นำที่ดีมีความสุขในการส่งเสริมคนให้พัฒนาตนเอง เพราะถ้าคนพัฒนาตนเองได้มากขึ้น ภาระของผู้นำจะเบาลง การส่งเสริมให้คนมีโอกาสพัฒนาตนเอง ทำให้เขามีโอกาสได้ทำงานที่มีความยาก ความท้าทาย และความรับผิดชอบที่สูงขึ้น ทำให้คนรู้สึกว่ามีคุณค่าต่อองค์กรมากขึ้น อย่างที่ Bill Bradley กล่าวว่า Leadership is unlocking people's potential to become betterการเป็นผู้นำคือการปลดสิ่งที่กักขังศักยภาพของคนออก เพื่อทำให้เขาดียิ่งขึ้น

Making people a better life: ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้นำมีหน้าที่ในการทำให้คนในองค์กรมีความสุข โดยทำให้คนในองค์กรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือทำให้คนมีความสมดุลในชีวิต ทั้งชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตสังคม ภาวะดุลยภาพเกิดจากลักษณะการนำของผู้นำ ถ้าผู้นำเข้าใจจังหวะในการนำ ผู้นำจะรู้จักเร่งและผ่อนจังหวะในการนำให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เหมือนวาทยกรที่ให้จังหวะการเล่นดนตรี เร็ว ช้า ดัง เบา สลับกันไป ทำให้เสียงเพลงที่บรรเลงจากดนตรีทั้งวง มีความไพเราะและมีสุนทรียภาพ ทั้งวาทยกร นักดนตรีและผู้ฟัง มีความเพลิดเพลิน และมีความสุขร่วมกัน

Build successor: สร้างผู้นำคนต่อไป
ผู้นำมีหน้าที่สร้างผู้นำคนต่อไป และผู้นำมีหน้าที่สร้างผู้นำอีกหลายๆคนให้แก่องค์กรและสังคม เพราะการสร้างผู้นำเป็นงานยาก แม้โดยหลักการจะกล่าวว่าคนสามารถพัฒนาความเป็นผู้นำได้ แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการนำได้ หลายคนแม้ถูกพัฒนาให้เป็นผู้นำแล้ว แต่ล้มเหลวในการนำคนและองค์กร เนื่องจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมไม่สนับสนุนการนำของเขา ผู้นำจึงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าผู้นำคนต่อไปจะนำองค์กรได้อย่างไม่สะดุด ผู้นำที่ดีย่อมมีความต้องการให้ผู้นำคนต่อไปมีความสามารถในการนำสูงเพื่อจะสามารถนำองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะความสำเร็จขององค์กรหลังการนำของตน คือความสำเร็จในการสร้างผู้นำของตน

Royalty: สร้างความจงรักภักดี
ผู้นำมีหน้าที่สร้างความจงรักภักดีต่อองค์กรให้เกิดขึ้น การนำของผู้นำต้องสื่อความความสัตย์ซื่อจงรักภักดีต่อองค์กรให้คนในองค์กรได้เห็นประจักษ์ สามารถสัมผัสได้จากการปฏิบัติจริง ผู้นำต้องระมัดระวังอย่าให้คนในองค์กรจงรักภักดีต่อผลประโยชน์ที่ได้รับมากจนลืมองค์กร เพราะถ้าคนในองค์กรทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว เมื่อใดที่องค์กรไม่สามารถตอบสนองความต้องการเงินของเขา องค์กรจะสูญเสียเขาไปอย่างง่ายดาย เพราะเงินมาก่อนองค์กร แต่ถ้าคนในองค์กรทำงานเพราะความรักองค์กรและมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าขององค์กร เขาจะต่อสู้และรักษาองค์กรให้รอด เพราะเขาจงรักภักดีต่อองค์กร

Develop yourself, develop others: พัฒนาตนเองก่อน พัฒนาผู้อื่น
ผู้นำมีหน้าที่แรกคือการพัฒนาตนเอง เพราะผู้นำต้องเป็นตัวอย่างการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้คนในองค์กรเอาเป็นแบบอย่าง ผู้นำหลายคนหลงความสำเร็จในการนำของตนในระยะแรก แล้วละทิ้งการพัฒนาตนเอง ทำให้เส้นกราฟพัฒนาตนเองของผู้นำเริ่มดิ่งต่ำลงอย่างไม่รู้ตัว เมื่อผู้นำย่อหย่อนในการพัฒนาตนเอง คนในองค์กรก็จะย่อหย่อนการพัฒนาตนเองตามไปด้วย

Listen, Learn, Lead: ฟัง เรียนรู้ แล้ว นำ
การฟังอย่างลึก ทำให้เข้าใจคนอื่นได้ลึกด้วย ดังที่ Stephen R. Covey ได้กล่าวไว้ในหนังสือ 7 Habits of Highly Effective People ของเขาว่า “Seek to understand, then be understood” คือผู้นำต้องมีความเข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วคนอื่นถึงจะเข้าใจผู้นำ นั่นคือการรู้จักฟังคนอื่นเพื่อจะเข้าใจความต้องการคนอื่นก่อน เมื่อรับรู้และเข้าใจความต้องการของผู้อื่นแล้ว ผู้นำจะเรียนรู้ว่าเขาควรจะนำอย่างไร คนถึงจะยอมตามเขา นั่นคือการทำให้คนอื่นเข้าใจการนำของเขานั่นเอง

Value to people: ให้คุณค่าผู้อื่น
ผู้นำที่ได้ใจผู้ตามคือผู้นำที่รู้จักให้คุณค่าผู้อื่น มองเห็นคุณค่าในตัวบุคคลแต่ละคน ซึ่งมีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกัน หน้าที่ของผู้นำคือการดึงเอาข้อดีของคนออกมาเพิ่มคุณค่า (Add value) ให้เขา ทำให้เขามองเห็นศักยภาพและคุณค่าในตัวของเขา ให้เขาดึงศักยภาพในด้านเด่นในตัวเองออกมาเพิ่มคุณค่าให้มากที่สุด เพราะจะทำให้เขาเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กร และทำให้การนำองค์กรของผู้นำมีความสำเร็จมากขึ้นด้วย
          John C. Maxwell กล่าวว่า “People follow you because you have done for them.” คนติดตามคุณเพราะสิ่งที่คุณได้ทำให้กับเขา เพราะเมื่อใดที่คนเกิดความรู้สึกว่าการติดตามผู้นำ เขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากผู้นำเลย ผู้นำไม่ได้ใส่ใจทำอะไรให้เขา คนจะเลิกติดตามผู้นำ ความเป็นผู้นำจะอ่อนพลังลง
                การนำของผู้นำจะเกิดผลสูงสุดเมื่อความสำเร็จของคนในองค์กรได้หลอมรวมเป็นความสำเร็จเดียวกันกับผู้นำ คือผู้นำเห็นความสำเร็จของผู้ติดตามเป็นความสำเร็จของตน (Their successes become my success) เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้นำจึงมีหน้าที่ในการทำให้คนในองค์กรประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะความสำเร็จของคนในองค์กรคือความสำเร็จของผู้นำ และความสำเร็จของผู้นำคือความสำเร็จของคนในองค์กรทั้งหมด
          Henry Ward Beecher กล่าวว่า Hold yourself responsible for a higher standard than anybody expects of you. Never excuse yourself.” พยายามให้ตนเองรับผิดชอบมาตรฐานที่สูงกว่าที่คนอื่นคาดหวังจะได้รับจากคุณ และอย่าหาเหตุผลหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ นี่คือความรับผิดชอบของผู้นำที่ดี
ขอปิดท้ายด้วยประโยคทองของอาจารย์ Peter Drucker ที่กล่าวว่า “Making good decisions is a crucial skill at every level.” การตัดสินใจที่ดีเป็นทักษะที่สำคัญในทุกระดับ

ยิ่งเป็นผู้นำระดับสูง ยิ่งต้องมีทักษะสูงในการตัดสินใจครับ
 
ขอขอบคุณที่ท่านได้สละเวลาอ่านบทความที่ผมเขียนมาตลอดปี
หากจะมีสิ่งใดในบทความไม่สบอารมณ์ของท่าน ผมขออภัย 
ขอพระเจ้าประทานพร ให้ท่านมีความสุข ความสบายใจ
มีสุขภาพที่ดี มีสันติสุขในชีวิต
ตลอดปีใหม่ ๒๕๕๗ 
 
ด้วยความเคารพ
สมชัย ศิริสุจินต์ 
 

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Merry Christmas!

The love for friends and family is a human thing.
It is to love those who are lovely.

The love for the less fortunate is a beautiful thing.
It is to love and care for those who are suffered.

The love for the more fortunate is a blessing.
It is to love and rejoice without envy for those who are succeeded.

The love for the enemy is the greatest love.
It is the unconditional love of God for those who does not love us.

May the love of baby Jesus be with us in this wonderful Christmas and the coming peaceful year.


Somchai Sirisujin

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ผู้นำสร้างผลงาน


​​ “No one remembers the wise, and no one remembers fools. In days to come, we will all be forgotten. We must all die---wise and foolish alike.
 So life came to mean nothing to me, because everything in it had brought me nothing but trouble. It had all been useless; I had been chasing the wind.                                                                                          ปัญญาจารย์ 2:16-17

ได้เขียนเรื่องพัฒนาการของการเป็นผู้นำมาแล้ว 2 ระดับคือ ระดับแรก การเป็นผู้นำตามตำแหน่ง (Position) เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้นำตามตำแหน่งแล้วมีพัฒนาการเป็นผู้นำไปสู่ระดับที่สอง คือผู้นำได้รับการยินยอมรับ (Permission) เมื่อผู้นำสามารถสร้างความสัมพันธ์ สร้างความมั่นใจ สร้างการยอมรับ ให้เกิดขึ้นในองค์กรที่ตัวเองเป็นผู้นำ
การเป็นผู้นำไม่สามารถหยุดอยู่ที่ระดับนี้ ผู้นำที่ดีต้องมีพัฒนาการเป็นผู้นำให้สูงขึ้นไปอีก John C. Maxwell เรียกผู้นำระดับที่ 3 ว่า ระดับสร้างผลงาน (Production level) เพราะเมื่อผู้นำสามารถสร้างความไว้วางใจ สร้างการยอมรับได้แล้ว สิ่งที่ผู้นำจะต้องสร้างต่อไปคือ สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับ
ในช่วงแรกของการเป็นผู้นำ ผู้ติดตามจะให้โอกาสผู้นำในการเรียนรู้และปรับตัว ที่หลายท่านบอกว่าอยู่ในช่วงฮันนีมูน ผู้นำตัดสินใจทำอะไรผู้ติดตามจะให้โอกาสและให้เกียรติแก่ผู้นำ แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับผู้นำแต่ไม่คัดค้านต่อต้านอย่างเต็มแรง เพราะอยากลองของใหม่ ว่าจะดีแค่ไหน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปพอสมควร ผู้ติดตามจะเริ่มเปรียบเทียบผลงานการเป็นผู้นำ กับ ผู้นำคนอื่นๆ และถ้าผู้นำยังไม่สามารถสร้างผลงานโดดเด่นออกมาให้ผู้ติดตามได้ชื่นใจ ผู้ติดตามจะเริ่มกังขา ตั้งคำถาม สงสัยในความสามารถที่แท้จริงของผู้นำ ดังนั้นผู้นำจะต้องมีผลงาน สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาภายใต้การนำของตน
การที่ผู้นำจะสร้างผลงานขึ้นมาได้ ผู้นำจะต้องใช้จังหวะส่ง (Momentum) ที่เกิดจากการเป็นผู้นำ คืออำนาจตามตำแหน่งที่ได้รับในระดับที่1และความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ การที่ผู้ติดตามยอมรับ ในระดับที่ 2 มาสร้างให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เป็นผลงานที่เป็นประโยชน์แก่องค์กร ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นว่า ผู้นำสามารถนำองค์กรไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้สำเร็จ จังหวะนี้สำคัญ ถ้าผู้นำไม่สามารถอาศัยจังหวะส่งให้เกิดผลงาน ผู้ติดตามจะเริ่มหงุดหงิด และการวิพากษ์วิจารณ์จะตามมา เพราะผู้นำไม่ได้ใช้สิ่งที่ได้รับจากการเข้ามาเป็นผู้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
การสร้างผลงานจึงเป็นเรื่องสำคัญของการเป็นผู้นำ เมื่อเข้ามาสู่การเป็นผู้นำแล้ว ถ้ายังไม่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นในระยะเวลานี้ได้ การขับเคลื่อนองค์กรต่อไปภายใต้การนำจะยิ่งยากขึ้น ในทางตรงการข้าม ถ้าผู้นำสามารถสร้างผลงานออกมาเป็นที่ประทับใจ การสร้างผลงานชิ้นต่อไปจะเร็วขึ้น การขับเคลื่อนองค์กรจะเร็วขึ้นจากแรงส่งของผลงานที่ออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับ
ผู้นำที่ต้องการผลงานที่เกิดผลภายใต้การนำของตนจึงต้อง

Motivating: สร้างแรงจูงใจ
        ผู้นำต้องสามารถสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ติดตาม สร้างบรรยากาศทำให้เกิดความรู้สึกอยากรู้ อยากทำให้เกิดขึ้นในองค์กร เพราะการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อยู่ที่ความกระตือรือร้นของคนส่วนใหญ่ในองค์กร แรงจูงใจไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละคนมีแรงจูงใจมากน้อยแตกต่างกันไป ความท้าทาย โอกาสแสดงความสามารถ การยกย่อง ชื่นชม รางวัลเกียรติยศ การยอมรับผลงาน ข้อคิดที่สร้างแรงบันดาลใจ ล้วนมีส่วนในการสร้างแรงจูงใจได้ทั้งสิ้น  

Mentoring: ดูแลแนะนำ
        ผู้นำต้องมีความสามารถเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลแนะนำให้ผู้ติดตามสามารถสร้างผลงานในส่วนที่ผู้ติดตามรับผิดชอบให้สำเร็จ การนำองค์กรภายใต้ทิศทางและยุทธศาสตร์ของผู้นำ ไม่ใช่ผู้ติดตามทุกคนในองค์กรจะรู้ เข้าใจ และมีความสามารถทำได้อย่างถูกต้อง อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำจึงต้องทำหน้าที่คอยดูแล ให้คำแนะนำ แก่ผู้ติดตามโดยไม่ต้องเข้าไปทำด้วยตนเองแต่ต้องช่วยให้ผู้ติดตามสามารถใช้ศักยภาพของเขาทำให้งานที่รับผิดชอบสำเร็จตามประสงค์

Monitoring: ติดตาม ตรวจสอบ
        ผู้นำต้องคอยติดตาม ตรวจสอบ ว่าผู้ติดตามมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างในการทำงานเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมาย ภายใต้การชี้นำของผู้นำ การเฝ้าติดตามการขับเคลื่อนโครงการต่างๆที่ผู้นำได้มุ่งหวังไว้ จะทำให้ผู้นำรู้ว่าขณะนี้ ผู้นำสามารถนำองค์กรมาถึงจุดใดแล้ว เป็นการประเมินสถานะ (Status) ในการนำของผู้นำ และเป็นการประเมินศักยภาพของผู้ติดตามในองค์กรเช่นกันว่า มีสมรรถนะ (Competency) อยู่ในระดับใด ผู้นำสามารถปรับการนำและปรับวิธีการแนะนำดูแลแก่ผู้ติดตามได้อย่างทันการณ์

Modeling:  เป็นแบบอย่าง
ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ติดตาม เพราะผู้นำคือจุดสนใจที่ผู้ติดตามเฝ้ามอง สิ่งที่ผู้นำพูด แสดงออก และกระทำ เป็นสัญญาลักษณ์บ่งบอกให้ผู้ติดตามรับรู้และเข้าใจว่าผู้นำเห็นชอบ หรือสนับสนุนให้ผู้ติดตามปฏิบัติตาม ถ้าผู้นำต้องการคนในองค์กรให้มีคุณลักษณะแบบใด ผู้นำต้องแสดงคุณลักษณะแบบนั้นออกมา ผู้นำที่ต้องการให้คนในองค์กรมีความสัตย์ซื่อ ตัวผู้นำต้องสัตย์ซื่อทั้งคำพูดและการปฏิบัติให้ผู้ติดตามเห็นอย่างชัดเจน ผู้ติดตามจะยึดการปฏิบัติของผู้นำเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติของเขา

Moving: เคลื่อนไหว ไปข้างหน้า
        ผู้นำต้องนำองค์กรให้เกิดการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เมื่อใดที่ผู้นำหยุดการเคลื่อนไหว สถานะภาพ การเป็นผู้นำจะอ่อนลง เพราะผู้ติดตามคาดหวังให้ผู้นำต้องเคลื่อนไหวนำพวกเขาให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายข้างหน้า ความต้องการของผู้ติดตามคือต้องการให้ผู้นำขับเคลื่อนให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายโดยเร็วที่สุด ผู้นำจึงต้องเข้าใจและใช้จังหวะส่ง (Momentum) ในการขับเคลื่อน ให้ผู้ติดตามขยับเคลื่อนที่ตามไปสู่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยรู้จักเพิ่มความเร็ว (Speed) ในการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม จากการจัดแถว (Alignment) ในตอนแรก แล้วก้าวเดินอย่างมีจังหวะ และสามารถใช้จังหวะส่งนำในเวลาที่เหมาะสมได้อย่างไม่สะดุด

Multiplying: เกิดผลงานทวีคูณ
          การนำของผู้นำต้องเกิดผล และเกิดผลมากกว่าเดิม เมื่อใดที่ผู้ติดตามรู้สึกว่าการนำของผู้นำไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่องค์กรและตัวเขามากกว่าเดิม ความไว้วางใจในตัวผู้นำจะสั่นคลอน ความสงสัยจะเกิดขึ้น การเปรียบเทียบผลงานกับผู้นำคนอื่นๆจะตามมา เมื่อผู้ติดตามคาดหวังในตัวผู้นำไว้สูง แล้วผู้นำทำไม่ได้ตามที่พวกเขาคาดหวัง พวกเขาจะหมดความเชื่อถือไว้วางใจในตัวผู้นำ
          คำกล่าวว่า “การนำคนคือการนำองค์กร” (Leading people is leading organization) เป็นความจริงเพราะองค์กรอยู่ได้เพราะชีวิตคนในองค์กร คนในองค์กรมีชีวิตอย่างไร องค์กรก็มีชีวิตอย่างนั้น องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ คนในองค์กรต้องมีความสามารถก่อน เพราะคนคือผู้ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ
ผู้นำเมื่อได้รับหน้าที่เป็นผู้นำขององค์กรแล้วจะต้องทำให้เกิดผลที่มีคุณค่าแก่คนในองค์กร ซึ่งจะส่งผลทำให้องค์กรเกิดความสำเร็จตามมา อย่าลืมว่าคนติดตามผู้นำเพราะเขาได้เห็นสิ่งที่ผู้นำได้ทำเพื่อองค์กร (People follow leaders because they have seen what leaders have done for their organizations) ไม่ใช่ทำเพื่อผลประโยชน์ของผู้นำ
          Paul J. Meyer กล่าวว่า Productivity is never an accident. It is always the result of a commitment to excellence, intelligent planning, and focused effort.”
          ผลผลิตไม่เคยเป็นเรื่องที่บังเอิญเกิดขึ้น มันเป็นผลของการทุ่มเทให้กับความเป็นเลิศ การวางแผนอย่างชาญฉลาด และความพยายามอย่างมุ่งมั่นเสมอ
          เช่นเดียวกับ Franz Kafka ที่กล่าวว่า “Productivity is being able to do things that you were never able to do before.”
          ผลผลิตคือความสามารถในการทำสิ่งที่ไม่เคยสามารถทำได้มาก่อน
          ผู้นำ ที่มีศักยภาพในการนำจึงต้องสร้างผลงานที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนเพื่อรักษาสถานะ การเป็นผู้นำที่มีผู้ติดตามต่อไป
          ผู้นำ ที่ไม่สามารถสร้างผลงานใหม่ ศักยภาพในการนำจะลดลง และความไว้วางใจในตัวผู้นำจะลดลงเรื่อยๆ จนหมดสภาพความเป็นผู้นำในที่สุด

 

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ยินยอมรับผู้นำ Permission



 “I love those who love me; whoever looks for me can find me.  I have riches and honor to give, prosperity and success. What you get from me is better than the finest gold, better than the purest silver.”
Proverbs 8:17-19

ตั้งใจว่าจะรอให้เรื่องการชุมนุมหลากหลายจบเสียก่อนถึงจะเขียนบทความต่อ เพราะเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ เกรงว่าเขียนไปแล้วผู้อ่านที่กำลังอยู่ในอารมณ์ติดตามประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะไม่มีอารมณ์สนใจอ่านเรื่องที่เขียนประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เกรงว่าเนื้อหาที่เขียนซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาวะผู้นำ อาจจะทำให้ผู้อ่านที่มีความหลากหลายทางความคิดเห็นทางการเมือง เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่า เนื้อหาสาระที่ผมเขียน ไปว่าผู้นำคนใดคนหนึ่ง แล้วจะมากล่าวหาผมว่าเขียนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งผมเคยมีประสบการณ์มาแล้ว เมื่อผู้อ่านมีความเข้าใจว่าเนื้อหาบทความเอนเอียงไปเข้าข้างฝ่ายหนึ่งก็แสดงความไม่พอใจตอบโต้ จนเป็นประเด็นให้ผู้อ่านคนอื่นอีกหลายคนแสดงความรู้สึกตอบโต้ เนื่องจากเห็นตรงกันข้ามกับผู้ที่แสดงความไม่พอใจ

วันนี้ต้องตัดสินใจเขียนต่อเพราะไม่รู้ว่าจะต้องรอไปอีกกี่วันเรื่องทางการเมืองถึงจะมีทางออก ขอเรียนย้ำกับท่านผู้อ่านอีกครั้งว่า เรื่องที่เขียนต่อไปนี้ ไม่มีเจตนาไปเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแต่ประการใด ไม่ได้เขียนว่าใคร หรือชื่นชอบใคร เขียนเรื่องหลักการทั่วๆไปของการเป็นผู้นำเท่านั้น

บทความในตอนที่แล้วเขียนเรื่องผู้นำตามตำแหน่ง ซึ่ง John C. Maxwell ได้เน้นเรื่องผู้นำต้องมีอิทธิพลโน้มน้าว (Influence) จิตใจของผู้ติดตามจึงจะทำให้ผู้นำประสบความสำเร็จในการใช้อำนาจ และหน้าที่ตามตำแหน่งสำเร็จ Maxwell บอกว่า ผู้นำตามตำแหน่ง เป็นผู้นำในระดับที่ 1 (First level) หรือระดับประถม เพราะผู้นำมีตำแหน่งบีบให้คนต้องยอมทำตามอำนาจในตำแหน่งอยู่แล้ว ดังนั้นผู้นำที่เข้าสู่ตำแหน่งแล้ว จึงต้องพัฒนาการนำของตนให้สูงขึ้นไปในระดับที่ 2 คือระดับที่เรียกว่าได้รับการยินยอมรับ (Permission) คือเปลี่ยนจากการที่คนยอมรับเพราะตำแหน่ง พัฒนามาเป็นคนยอมรับเพราะเห็นศักยภาพของผู้นำ สิ่งที่ Maxwell เน้นในระดับที่ 2 การยินยอมรับ คือเรื่องต่อไปนี้ 

Connecting people เชื่อมโยงติดต่อกับคน
ผู้นำจำเป็นต้อง เชื่อมโยงติดต่อกับคนอยู่ตลอดเวลา และต้องเพิ่มจำนวนคนที่ต้องติดต่อเชื่อมโยงให้มากหลายขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพของคนที่ผู้นำติดต่อเชื่อมโยง และในด้านความหลากหลายของสาขาอาชีพ และธุรกิจ เพื่อผู้นำจะได้รับข้อมูลในวงกว้างมากขึ้น มีความหลากหลายมากขึ้น และมีความลึกของข้อมูลมากขึ้น ผู้นำหลายคนใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูลนานมาก เพราะเครือข่าย (Network) คนที่ผู้นำติดต่อเชื่อมโยงไม่กว้างขวาง ไม่หลากหลาย และไม่ลึกพอ ทำให้การตัดสินใจของผู้นำช้า และตัดสินใจไม่แม่นยำเพราะมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

Good relationship สร้างความสัมพันธ์ที่ดี
เป็นเรื่องที่ผู้นำทุกคนต้องระมัดระวัง เพราะการเป็นผู้นำ มีความอ่อนไหว (Sensitive) มากกว่าปกติเนื่องจากผู้ติดตามมีความคาดหวังต่อผู้นำมากกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นการแสดงออกทั้งท่าที อากัปกริยา วาจา น้ำเสียง ที่ฝรั่งเรียกว่า Gesture นั้น มีผลต่อความสัมพันธ์มาก ผู้นำต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ติดตามเสมอ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ผู้นำไม่สามารถแสดงความรู้สึกที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของตน เพียงแต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ไปบั่นทอนความสัมพันธ์กับผู้อื่น

Work with and work for ทำด้วย และทำเพื่อ
ผู้นำต้องสร้างการรับรู้ของผู้ติดตามให้พวกเขารู้สึกว่า ผู้นำกำลังทำงานด้วย (Work with) ไม่ปล่อยให้ผู้ติดตามเกิดความรู้สึกว่าโดดเดี่ยว ถูกทิ้งให้ทำงานตามลำพัง ไม่ได้รับความสนใจ หรือการสนับสนุนจากผู้นำเลย และต้องทำให้ผู้ติดตามมีความมั่นใจและสบายใจว่า ผู้นำทำเพื่อ (Work for) ประโยชน์ขององค์กร เพื่อเป้าหมายส่วนรวม ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง หรือผลประโยชน์ที่แอบแฝงของตน จึงจะทำให้ผู้ติดตามยอมรับได้สนิทใจ และมีความไว้วางใจ (Trust) ในตัวผู้นำ

Get along and go along เข้ากันได้ และไปด้วยกันได้
ทัศนคติในการทำงานด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญของผู้นำ ที่ต้องปรับเพื่อให้สามารถทำงานเข้ากับทีมงานบริหาร และผู้ติดตามได้ เพราะถ้าผู้นำเข้ากันได้ดี (Get along well) กับผู้ติดตาม งานก็เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้ดี เพราะจะมีผลทำให้ทั้งผู้นำ ทีมงาน และผู้ติดตาม ไปด้วยกันได้ดี (Go along well) ด้วย เนื่องจากการทำงานให้สำเร็จได้ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร การมีทัศนคติที่เข้ากันได้ จะทำให้ทั้งผู้นำและผู้ติดตาม สามารถทำงานไปด้วยกันได้เป็นระยะเวลายาวนาน

Follow you because I like you ตามเธอเพราะฉันชอบเธอ
เมื่อผู้นำเข้ากันได้กับผู้ติดตาม และทำงานไปด้วยกันได้ ทำให้ความสัมพันธ์ในการทำงานราบรื่น และมีความสุข บรรยากาศการทำงานมีความท้าทายแต่ไม่เคร่งเครียด ความรู้สึกของผู้ติดตามจะเปลี่ยนจากความรู้สึกที่ต้องทำตามผู้นำเพราะถูกตำแหน่งและหน้าที่บังคับ เป็นทำตามผู้นำเพราะรู้สึกชอบในตัวผู้นำ จะเป็นความรู้สึกชอบในด้านความคิด วิสัยทัศน์ หรือแนวทางการบริหาร หรือ บุคลิกภาพ หรือ อุปนิสัยใจคอ หรือวิถีชีวิต (Life style) ของผู้นำก็แล้วแต่ความรู้สึกและมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละคน แต่ทัศนคติ และความรู้สึกของผู้ติดตาม ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ยินยอมรับความเป็นผู้นำมากขึ้นแล้ว

I like you and do extra for you ฉันชอบเธอและทำให้เธอเป็นพิเศษ
เมื่อผู้นำได้รับการยอมรับจากผู้ติดตาม พูดภาษาชาวบ้าน คือได้ใจของผู้ติดตามแล้ว ผลที่ตามมาคือ ผู้ติดตามจะมีความรู้สึกพิเศษให้แก่ผู้นำ มีความต้องการอยากทำอะไรมากกว่าปกติเป็นพิเศษให้แก่ผู้นำ มีใจอยากทำงานแบบถวายหัว ทุ่มเทให้สุดๆ เพื่อช่วยผู้นำทำงานให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว งานจะมีทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และคุณภาพ ซึ่งเป็นผลดีต่อการนำของผู้นำอย่างมาก เพราะถ้าผู้ติดตามไม่ชอบผู้นำ ผลจะออกมาในทางตรงกันข้าม อย่างที่เราทราบกันดี คือผู้ติดตามพากันใส่เกียร์ว่าง หรือเกียร์ถอย งานจึงมีปัญหาอุปสรรคไปเสียทุกเรื่อง เข้าทำนอง เดินหน้าเป็นสะดุด เดินหยุดๆเป็นระยะ มีจังหวะเป็นพักคอย  ทำน้อยๆแบบขอไปที มีปัญหาก็ไม่แก้ เรื่องแย่ๆโยนให้เจ้านาย ถ้าเป็นแบบนี้ การนำของผู้นำไปได้ไม่ไกลแน่

แล้วผู้นำจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้ใจได้การยินยอมรับจากผู้ติดตาม

กุญแจความสำเร็จ (Key success) อยู่ที่ ความสัมพันธ์ (Relationships) ของผู้นำ กับผู้ติดตาม ผู้นำที่อยากได้การยินยอมรับจากผู้ติดตามต้องมี

Concerning ความห่วงใยเอื้ออาทร
ผู้นำต้องมีความห่วงใยเอื้ออาทรในตัวผู้ติดตาม มีความใส่ใจ (Attention) มีความตระหนัก (Awareness) ในชีวิตการทำงาน และชีวิตครอบครัวของผู้ติดตาม ผู้นำแสดงออกให้ผู้ติดตามรู้ว่า สนใจเฝ้าติดตามดูอยู่เสมอ และมีความห่วงใยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนผู้ติดตามเมื่อต้องการความช่วยเหลือ

Caring การคอยดูแล
ผู้นำต้องคอยดูแล และมีความรักเมตตา (Passion) ต่อผู้ติดตาม ในยามที่มีปัญหา อุปสรรคในการทำงาน หรือมีความทุกข์ลำบากในชีวิตส่วนตัว ผู้นำแสดงออกซึ่งความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และให้คำแนะนำที่ดี ช่วยหาทางออกในการแก้ไขปัญหา และแสดงความชื่นชมยินดี เมื่อผู้ติดตามประสบความสำเร็จ สุขหรือทุกข์ก็อยู่ด้วย

Communicating การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
ผู้นำต้องสื่อสารกับผู้ติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปิดช่องว่างความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากสังคมไทยไม่ชอบการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา แต่ชอบใช้ข่าวลือในการสื่อสาร ทำให้ข่าวสารจากผู้นำ ไปไม่ถึงผู้ติดตามระดับล่าง หรือกระจายไปไม่ทั่วถึง หรือเนื้อหาข่าวสารไปไม่ครบถ้วน อาจทำให้ผู้ติดตามเกิดความไม่เข้าใจ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อความร่วมมือของผู้ติดตาม ยิ่งผู้นำที่มีผู้ติดตามจำนวนมากยิ่งต้องมีระบบการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมาก

Committing พันธะผูกพัน
ผู้นำต้องมีพันธะผูกพันกับงานที่ผู้ติดตามทำ เพราะงานบางอย่างผู้นำสามารถปล่อยให้มันเกิดขึ้นเองได้ (Let it happen) โดยไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว งานบางอย่างผู้นำต้องมีส่วนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้ติดตามงานถึงจะเกิด (Help it happen) เพราะลำพังกำลัง ความสามารถ และทรัพยากร ที่ผู้ติดตามมี แม้จะมีศักยภาพที่จะทำได้ แต่จะเกิดขึ้นได้ด้วยความยากลำบาก การให้การสนับสนุนของผู้นำจะทำให้งานเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีงานบางอย่างที่ยากเกินศักยภาพของผู้ติดตาม งานระดับนี้ผู้นำต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ฟันธงด้วยตนเอง (Make it happen) งานถึงจะสำเร็จ เพราะอำนาจ บารมี ของผู้ติดตามยังไม่แกร่งกล้า ผู้นำจึงมีพันธะผูกพัน เป็นผู้เข้าไปช่วยเหลือให้งานสำเร็จ ไม่ปล่อยให้เป็นภาระที่หนักเกินไปของผู้ติดตามที่ต้องรับผิดชอบ

Connecting เชื่อมโยง
ผู้นำต้องเข้าใจเรื่องการเชื่อมโยงกับผู้ติดตามให้ดี และต้องรู้จักเชื่อมโยงเรื่องในอดีต กับเหตุการณ์ในปัจจุบัน เพื่อเชื่อมโยงต่อไปกับอนาคต เพราะชีวิตคนและองค์กร มีทั้ง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงไม่สามารถตัดขาดจากอดีต และไม่สามารถตัดขาดกับอนาคตได้ การเชื่อมโยงกับผู้ติดตามจึงต้องดูภูมิหลังในอดีต และสถานการณ์ปัจจุบันของผู้ติดตาม และสิ่งที่ผู้ติดตามคาดหวังในอนาคต ต้องเอาตัวผู้ติดตามเป็นศูนย์กลาง (What you want?) ไม่ใช่เอาตัวผู้นำเป็นศูนย์กลาง (What I want?) การเชื่อมโยงจึงจะเกิดผล และ เป็นประโยชน์ต่อการนำของผู้นำ

          ขอสรุปลงท้ายด้วยคำพูดสวยๆและมีความหมายลึกซึ้งของ Maxwell ว่า  
 “You can love people without leading them. But you cannot lead people without loving them.”

ท่านสามารถรักคนโดยไม่ต้องนำพวกเขา แต่ท่านไม่สามารถนำคนโดยไม่รักพวกเขา

Lao Tze ปราชญ์ชาวจีนสั่งสอนลูกหลานว่า “Being deeply loved by someone gives you strength, while loving someone deeply gives you courage” 

การที่ถูกใครสักคนรักอย่างลึกซึ้งทำให้ท่านมีพละกำลัง ในขณะที่ท่านรักใครสักคนอย่างลึกซึ้งทำให้ท่านมีความกล้าหาญ

อยากเป็นผู้นำที่ดี ต้องมีความรักให้แก่ผู้ติดตามเสมอ

รักกันไว้เถิดครับ

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ผู้นำตามตำแหน่ง

Are you immature? Learn to be mature. Are you foolish? Learn to have sense.                                                       Proverbs 8:5

เดือนตุลาคม เป็นเดือนที่ประเทศไทยมีเจ้านายใหม่เกิดขึ้นหลายร้อยคน เนื่องจากเป็นเดือนที่มีข้าราชการเกษียณอายุการทำงาน มีการโยกย้าย แต่งตั้งข้าราชการเข้ารับตำแหน่งใหม่กันทั่วประเทศ แน่นอนว่ามีทั้งคนยินดีปรีดาสมหวังดังใจ และคนเสียใจผิดหวังที่ไม่ได้ตำแหน่งตามที่คาดหวัง สำหรับคนที่สมหวังได้ตำแหน่งดั่งใจ ยังมีหนทางที่ต้องเดินไปข้างหน้าอีกเป็นปีหรือหลายปีที่ต้องรับผิดชอบในการบริหารจัดการให้องค์กรประสบความสำเร็จ สำหรับคนที่ยังไม่สมหวังถ้าเป็นเพราะจะไม่มีโอกาสอีกเนื่องจากอายุราชการเหลือเพียงปีเดียว คงต้องทำใจยอมรับคติไทยที่ว่า แข่งวัวแข่งควายแข่งได้แต่แข่งวาสนาไม่ได้ สำหรับคนที่พลาดหวังแต่ยังมีอายุราชการอีกหลายปี อย่าเพิ่งสิ้นหวัง ขอให้สำรวจข้อด้อยของตนเอง และปรับปรุงการทำงานให้เข้าตาเจ้านายมากขึ้น ต้องคิดว่าทุกอย่างไม่จีรัง มียศก็เสื่อมยศ มีลาภก็เสื่อมลาภ วันนี้ยังไม่ใช่เป็นวันของเรา โอกาสของเรายังมีอยู่เสมอ

          การเป็นผู้นำ โดยตำแหน่ง เป็นไปตามระบบ หรือวัฒนธรรม ขององค์กร ที่อาจจะมีขั้นตอน หรือระบบการคัดสรร หรือการเตรียมผู้สืบถอดตำแหน่ง ที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความคาดหวังของคนในองค์กรและนอกองค์กร ต้องการได้ผู้นำที่สามารถนำพวกเขาไปสู่เป้าหมายความสำเร็จที่ต้องการข้างหน้า ใช้อำนาจทางการ (Authority) ซึ่งมากับตำแหน่ง (Position) ที่ได้รับแต่งตั้ง จัดการให้องค์กรสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่สลับซับซ้อนได้โดยใช้คนตามโครงสร้างขององค์การ ที่แน่นอนชัดเจน ทำให้งานดำเนินเป็นไปตามกระบวนการที่ได้วางแผน และ มีการกำกับดูแลแก้ไขให้เกิดผล บรรลุเป้าหมายที่กำหนด

          มีคำกล่าวว่า “When you speak people listen. When you lead people follow” เมื่อคุณพูดมีคนฟังเมื่อคุณนำมีคนตาม นี่คือคุณสมบัติพื้นฐานของการเป็นผู้นำ เพราะเมื่อใดที่คุณพูดแล้วไม่มีใครฟังและเชื่อในสิ่งที่คุณพูด คุณไม่สามารถนำใครได้อีกต่อไป และการเป็นผู้นำต้องมีผู้ตามเสมอ เมื่อใดที่คุณเดินไปข้างหน้าแล้วไม่มีใครยอมเดินตามคุณต่อไป คุณหมดสภาพความเป็นผู้นำไปแล้ว

          การเป็นผู้นำจึงต้องมีภาวะความเป็นผู้นำอยู่ตลอดเวลา เพราะผู้นำจะต้องสร้างการยอมรับศรัทธาให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก ถ้าคนไม่ยอมรับในตัวผู้นำ ไม่มีความศรัทธาในการนำ การนำองค์กรไปสู่เป้าหมายลำบากแน่ ผู้นำต้องเข้าใจว่าคนในองค์กรยอมรับตำแหน่งเพราะเป็นไปตามโครงสร้างการบริหารองค์กร แต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งนั้นต้องทำให้คนยอมรับในความเป็นผู้นำด้วย จึงจะทำให้เขายอมฟัง ยอมทำ ยอมตาม ผู้นำไปเผชิญกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงข้างหน้า

          การที่คนจะยอมรับความเป็นผู้นำในตำแหน่ง ผู้นำต้องเป็นผู้สร้าง วิสัยทัศน์ให้เป็น ตัวกำกับ ทิศทาง ขององค์การในอนาคต เพื่อให้คนที่จะติดตามเราได้เกิดความมั่นใจว่า จะนำเขาและองค์กรไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ ซึ่งผู้นำจะต้องมีความสามารถในการสื่อความหมายให้คนเข้าใจ มีระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนได้รับข้อมูล ข่าวสาร ตรงตามที่ผู้นำต้องการสื่อสาร เหตุนี้ผู้นำจึงต้องมียุทธศาสตร์มาขยายวิสัยทัศน์ ให้เป็นรูปธรรมที่สามารถเห็นผลที่เกิดขึ้น และวัดผลที่เกิดขึ้นได้ ตามเวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยทำให้คนในองค์กรเกิดแรงบันดาลใจอยากทำ อยากเอาชนะอุปสรรค์ อยากไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ และอย่างเห็นผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด

          มีคำกล่าวว่า  A vision without action is just a dream. An action without vision is passing time. A vision with action is a change. วิสัยทัศน์ที่ไม่มีการปฏิบัติไม่มีการกระทำใดๆเกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ความฝัน เพราะมันอยู่แค่ในความฝัน ไม่เกิดขึ้นจริง การปฏิบัติที่ไม่มีวิสัยทัศน์เป็นการเสียเวลาเปล่า เพราะการกระทำที่ไม่มีเป้าหมาย ทำไปอย่างไม่มีทิศทาง จะไม่เกิดความสำเร็จ เป็นการเสียเวลา เสียทรัพยากร โดยไม่ได้รับประโยชน์อะไร ดังนั้นวิสัยทัศน์ต้องทำให้เป็นจริงให้ได้ และกระบวนการที่นำให้วิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติได้จริง คือกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

          มีคำกล่าวอีกเช่นกันว่า “Not all leaders are managers. Not all managers are leaders.” ไม่ใช่ผู้นำทุกคนจะเป็นผู้จัดการได้ ไม่ใช่ผู้จัดการทุกคนจะเป็นผู้นำได้ เพราะพระเจ้าให้ความสามารถที่แตกต่างกันแก่มนุษย์ เราถึงอยู่ร่วมกันได้ เนื่องจากเราต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ผู้นำบางคนมีความสามารถในการจัดการบริหารเก่งด้วย ถือว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษที่สามารถใช้ภาวะความเป็นผู้นำ บวกกับความสามารถในการบริหารจัดการ ทำให้ความเป็นผู้นำของเขาประสบความสำเร็จ แต่ก็มีผู้นำหลายคนที่ล้มเหลวในการนำเพราะขาดความชำนาญในด้านการบริหารจัดการ เช่นเดียวกัน มีผู้จัดการหลายคนที่มีภาวะความเป็นผู้นำสูง ทำให้สามารถใช้ความโดดเด่นในการบริหารจัดการ บวกกับภาวะความเป็นผู้นำที่มีอยู่ในตัว ทำให้งานต่างๆในความรับผิดชอบบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้นำตามตำแหน่งจึงต้องเข้าใจว่า อำนาจทางการที่ท่านมี และใช้นั้น เป็นสิทธิความถูกต้องที่องค์กรมอบให้ (The rights given by an organization.) คนในองค์กรทำตามเพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ ผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งมีหน้าที่ต้องนำ ต้องสั่ง ต้องปฏิบัติ ตามสิทธิและอำนาจที่กำหนดในตำแหน่ง ส่วนผู้ตามที่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งและการนำของผู้นำในตำแหน่ง ถ้าไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามระเบียบข้อบังคับ แม้จะไม่ชอบก็ต้องทำ แต่การทำให้งานสำเร็จอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพนั้นไม่สามารถใช้ผังบริหารองค์กรและตัวหนังสือที่เขียนไว้ในระเบียบข้อบังคับเป็นสิ่งกำหนดให้เกิดความสำเร็จ เพราะมนุษย์ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่จะทำตามอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง งานจะสำเร็จได้ด้วยภาวะความเป็นผู้นำในตัวผู้นำ ไม่ใช่จำนวนระเบียบข้อบังคับ ถ้าผู้นำมีภาวะความเป็นผู้นำสูง งานจะสำเร็จได้แม้ไม่มีระเบียบข้อบังคับ ถ้าผู้นำมีภาวะความเป็นผู้นำต่ำ แม้ใช้ระเบียบข้อบังคับอย่างเข้มงวด งานอาจไม่สำเร็จ

John C. Maxwell บอกว่า หัวใจสำคัญในการเป็นผู้นำตามตำแหน่งคือ การมีความสามารถในการโน้มน้าว (Influence) คนให้ยอมรับ เพราะถ้าคนยอมรับตำแหน่ง แต่ไม่ยอมรับคนที่อยู่ในตำแหน่ง การบริหารงานจะไม่ราบรื่นแน่นอน ผู้นำต้องสามารถโน้มน้าวให้คนยอมรับตนที่อยู่ในตำแหน่งด้วย ตำแหน่งนั้นจึงจะมีความสมบูรณ์ในตำแหน่ง (Position) และอำนาจทางการ (Authority) ซึ่งมากับตำแหน่ง ผู้นำสามารถใช้ลำดับต่อไปนี้ในการนำคนในองค์กร

Accepting การยอมรับ
การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้นำแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเข้าสู่ตำแหน่งอย่างราบรื่น เพราะเป็นไปตามความคาดหวัง ตัวผู้นำมีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เป็นที่ต้องการขององค์กร แต่คงมีคนในองค์กรบางส่วนแม้เป็นส่วนน้อย ที่ไม่ยอมรับ หรือยอมรับไม่เต็มร้อย แต่ไม่แสดงออกอยู่บ้าง ผู้นำหลายคนเข้าสู่ตำแหน่งอย่างมีวิบากกรรม เหนื่อยหอบกว่าจะได้เป็น เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ ด้วยสาเหตุต่างๆนานา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใด ผู้นำต้องสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด และทำให้มีจำนวนผู้ยอมรับมากที่สุด เพราะการมีจำนวนผู้ยอมรับมากขึ้นหมายถึงการมีจำนวนผู้คัดค้านต่อต้านน้อยลง

Behaving ยอมประพฤติตาม
การยอมประพฤติตามเป็นผลต่อจากการยอมรับ ถ้าคนไม่ยอมรับ คนก็ไม่ประพฤติตาม คนยอมประพฤติตามที่ผู้นำต้องการเพราะเขายอมรับการเป็นผู้นำ หรือยอมรับความเป็นผู้นำ ของตัวผู้นำแล้ว การที่คนยอมประพฤติตามความต้องการของผู้นำมีผลต่อความสำเร็จขององค์กรมากกว่าการที่คนต้องประพฤติตามระเบียบข้อบังคับ เพราะการประพฤติตามความต้องการของผู้นำ เป็นการประพฤติด้วยใจ แต่การประพฤติตามระเบียบข้อบังคับอาจเป็นการประพฤติด้วยการฝืนใจ ผู้นำที่สามารถสร้างการยอมรับ จนทำให้คนในองค์กรยอมประพฤติตามผู้นำในสิ่งที่ผู้นำต้องการได้อย่างรวดเร็วจะสามารถนำองค์กรไปสู่ ความสำเร็จได้รวดเร็วขึ้น

Conforming ยอมร่วมมือปฏิบัติตาม
นอกจากที่ผู้นำสามารถทำให้คนประพฤติตามที่ผู้นำต้องการได้แล้ว ผู้นำยังต้องทำให้คนในองค์กรยอมปฏิบัติตามระบบ หรือการเปลี่ยนแปลงที่ผู้นำเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กรด้วย เพราะในการนำวิสัยทัศน์ไปสู่การปฏิบัติ วัดผลได้จริงนั้น ต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) การเปลี่ยนเป้าประสงค์ (Purpose shift) การเปลี่ยนกระบวนการ (Process shift) และการเปลี่ยนการปฏิบัติการ (Performance shift) ถ้าคนในองค์กรไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยอมปฏิบัติตาม การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้น ความสำเร็จในการเป็นผู้นำไม่เกิดขึ้น

Developing ยอมพัฒนาให้ดีขึ้น
การเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จ จะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Ongoing development) เพราะการนำองค์กรคือการทำให้องค์กรอยู่ข้างหน้าองค์กรอื่น ไม่ใช่อยู่ตามหลังองค์กรอื่น ผู้นำที่ต้องการให้องค์กรอยู่นำหน้าต้องพัฒนาคนขององค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในองค์กรมีความรู้ ความสามารถ มีทักษะที่สูงขึ้น สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำขององค์กรต่อไป องค์กรถึงจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้นำที่หยุดพัฒนาคนในองค์กร จะทำให้คนในองค์กรขาดความกระตือรือร้น ถอยเข้าไปอยู่ในพื้นที่สุขสบาย (Comfort zone) ความเฉื่อยเกิดขึ้น ความเฉยตามมา ความช้ากลายเป็นเรื่องปกติ ความสามารถในการแข่งขันลดลงจนในที่สุดไม่สามารถแข่งขันได้

Exercising ยอมกระทำอย่างต่อเนื่อง
การออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายเกิดความตื่นตัว กระฉับกระเฉง ว่องไว มีความฟิต การกระทำอย่างต่อเนื่องในการนำองค์กรก็เช่นกัน จะทำให้องค์กรมีความตื่นตัวในการปรับตัว มีความกระฉับกระเฉงในการทำงาน มีความว่องไวในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง มีความฟิตในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ทำให้องค์กรคึกคักมีชีวิตชีวา มีขวัญกำลังใจ มีอารมณ์มุ่งสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ผู้นำบางท่านเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้วออกตัวได้ดี พอนำองค์กรได้แล้วเริ่มแผ่วลง เพราะมีความรู้สึกว่าเอาองค์กรอยู่แล้ว เหมือนนักกีฬาได้แชมป์แล้วหมดไฟซ้อม ในที่สุดก็แพ้เพราะความฟิตไม่ถึง ผู้นำที่ดีต้องไม่มีแผ่ว เหมือนที่ John C. Maxwell บอกว่า “Start but do not stay” เดินเครื่องแล้วอย่าหยุดอยู่ที่เดิม

          Harvey S. Firestone กล่าวว่า The growth and development of people is the highest calling of leadership.” การเติบโต และการพัฒนาคน คือสุดยอดของการเป็นผู้นำ

          อย่าลืมใช้ ABCDE ที่นำเสนอไปใช้ในการนำองค์กรของท่านนะครับJ