วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559

A Time for Everything


A Time for Everything
Everything that happens in this world happens at the time God chooses.
He sets the time for birth and the time for death, the time for planting and the time for pulling up, the time for killing and the time for healing, the time for tearing down and the time for building.
He sets the time for sorrow and the time for joy, the time for mourning and the time for dancing,
Ecclesiastes 3:1-4



ข้อความข้างต้นผมนำมาจากหนังสือชื่อปัญญาจารย์ ซึ่งเป็นหนังสือเล่มหนึ่งในพระคัมภีร์ Holy Bible เป็นคำสอนให้มนุษย์ได้ตระหนักว่า มีเวลาสำหรับทุกสิ่งในโลกนี้ เพราะพระเจ้าทรงกำหนดไว้ให้เกิดขึ้นในเวลา ที่พระเจ้าทรงเลือก มีเวลาเกิดและเวลาตาย มีเวลาปลูกและเวลาถอน มีเวลาฆ่าและเวลาเยียวยารักษา มีเวลารื้อถอนและเวลาก่อสร้าง มีเวลาเศร้าใจและเวลาดีใจ มีเวลาไว้ทุกข์และเวลาเต้นรำ

ปี 2559  เป็นปีที่ผมรู้สึกหม่นหมองใจอย่างบอกไม่ถูก รู้สึกว่าตนเองมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เป็นความขัดแย้งที่ซ่อนลึกอยู่ในใจของผู้คนในสังคม ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหมดไปจากจิตใจเสียที และยังไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้อยู่ในสังคมไทย แบบที่คนไทยรักและไว้วางใจกันเหมือนเป็นพี่น้องกัน อย่างในอดีตอีกหรือไม่ ผมคิดถึงความเป็นคนไทยที่เกื้อกูล เอื้ออาทรกัน มีน้ำใจให้แก่กัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน คำพูดไม่เป็นไร ขอกันกินมากกว่านี้ หายไปจากสังคมไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

ขอใช้คำภาวนาอธิษฐานเพื่อสันติภาพของท่าน ฟรานซิส พระนักบวชโรมันคาทอลิกแห่งเมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี ผู้มีความรักเมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ จนได้รับการประกาศให้เป็นนักบุญในเวลาต่อมา เป็นคำภาวนาอธิษฐานสันติภาพเพื่อสังคมไทยก่อนก้าวเข้าสู่ปีใหม่

Peace Prayer of Saint Francis

"Lord, make me an instrument of thy peace.
Where there is hatred, let me sow love;
Where there is injury, pardon;
Where there is doubt, faith;
Where there is despair, hope;
Where there is darkness, light;
Where there is sadness, joy.

O Divine Master, grant that I may not so much seek
To be consoled as to console,
To be understood as to understand,
To be loved as to love;
For it is in giving that we receive;
It is in pardoning that we are pardoned;
It is in dying to self that we are born to eternal life."

คำอธิษฐานเพื่อสันติ ของเซนต์ฟรานซิส

ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า โปรดให้ข้าพระองค์เป็นเครื่องมือแห่งสันติของพระองค์
ที่ใดมีความเกลียดชัง ให้ข้าพระองค์หว่านความรัก
ที่ใดมีการบาดหมาง ให้หว่านการยกโทษ
ที่ใดมีความสงสัย ให้หว่านความเชื่อ
ที่ใดมีความว้าวุ่นท้อถอย ให้หว่านความหวัง
ที่ใดมีความมืด ให้หว่านความสว่าง
ที่ใดมีความเศร้าโศก ให้หว่านความยินดี

โอ ข้าแต่พระอาจารย์ อย่าให้ข้าพระองค์แสวงหา
ความประเล้าประโลมใจ แต่ให้ประเล้าประโลมใจผู้อื่น
มิใช่แสวงหาความเข้าใจ แต่พยายามเข้าใจผู้อื่น
มิใช่แสวงหาความรัก แต่รักเขา
เพราะด้วยการให้ ทำให้ข้าพระองค์ได้รับ
ด้วยการยกโทษ ข้าพระองค์จึงได้รับการยกโทษ
และในความตายนั้นเองที่ทำให้ข้าพระองค์ได้ชีวิตนิรันดร์
อาเมน

ขอสันติสุขได้เกิดขึ้นในแผ่นดินไทย
ในวาระดิถีเทศกาลคริสตสมภพ และปีใหม่ 2560 ผมขอองค์พระผู้เป็นเจ้าได้โปรดอำนวยพระพรให้ท่านมีความสุข มีสุขภาพที่ดี มีจิตใจแจ่มใส มีสันติสุขในชีวิต
ขอบคุณที่ท่านได้กรุณาเข้ามาอ่าน และแบ่งปันส่งต่อให้เพื่อนๆ
หากมีข้อเขียนส่วนใดไปกระทบกระเทือนความรู้สึกของท่าน
ผมขอโทษและขออภัยท่านด้วย

Merry Christmas and Happy New Year 2560

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

รักและเทิดทูนของคนรุ่นผม


เป็นเรื่องยากสำหรับคนรุ่นผมที่เกิดก่อนพ.ศ. ๒๕๐๐ จะปรับความรู้สึกให้กลับมาอยู่ในสภาวะปกติได้โดยเร็ว เพราะคนรุ่นผมเกิดมาก็ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยแล้ว ชีวิตเด็กหัวเมืองอย่างผม ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯอยู่แต่ในธนบัตร ในกรอบรูปตามบ้าน ตามโรงเรียนที่แขวนไว้ตามห้องเรียน และตามปฏิทินที่แขวนไว้ตามร้านค้าในตลาด


เมื่อยังไม่มีโทรทัศน์ที่จังหวัดเชียงใหม่ พวกเราได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในภาพยนต์ ข่าวพระราชกรณียกิจสั้นๆที่ฉายในโรงภาพยนต์ก่อนที่เพลงสรรเสริญพระบารมีจะดังขึ้นพร้อมภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯให้เรายืนขึ้นถวายความเคารพ

ต่อมาเมื่อมีโทรทัศน์ขาวดำในจังหวัดเชียงใหม่ พวกเราค่อยได้เห็นข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฏรของพระองค์ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นข่าวย้อนหลังไปสองสามวัน และเมื่อบ้านเมืองเจริญจนมีโทรทัศน์สี ข่าวพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเวลา 20.00 น. ของทุกวัน เป็นข่าวที่พวกเราติดตามชม เนื่องจากมีความน่าสนใจ มีสาระความรู้มากกว่าข่าวราชการทั่วๆไป เพราะข่าวโทรทัศน์ในยุคสมัยก่อนนำเสนอด้วยการอ่านข่าวและมีภาพประกอบเพียงเล็กน้อย


ผมได้มีโอกาสเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯเป็นครั้งแรกเพียงแวบเดียวตอนเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา  ครูพานักเรียนไปตั้งแถวที่ถนนเจริญเมืองใกล้สถานีรถไฟเชียงใหม่ เพราะพระองค์เสด็จพระราช ดำเนินมาจังหวัดเชียงใหม่โดยทางรถไฟ เป็นความตื่นเต้นมากๆที่จะได้มีโอกาสเห็นพระเจ้าแผ่นดินไทย ครูสั่งให้โบก ธงชาติกระดาษเล็กๆและให้ร้องทรงพระเจริญเมื่อรถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่าน แต่ผมลืมไปหมดเมื่อเวลารถยนต์ พระที่นั่งแล่นผ่านตรงหน้าผมไป ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินไทยเพียงแค่แวบเดียวจริงๆ แต่ก็เป็นเรื่องที่เอาไป เล่า พูด คุยอวดกันในหมู่เพื่อนๆในหมู่บ้านได้อีกหลายวันว่าได้เห็นพระมหากษัตริย์ไทย


ผมได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯอีกครั้งตอนเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ ทรงพระราชทานเลี้ยงอาหาร และทรงดนตรีด้วย เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเสียงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และของสมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างชัดเจน


และที่เป็นความปลาบปลื้มปิติใจที่สุดในชีวิตของผมคือ การได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จ พระราชดำเนินมาเปิดอาคารผู้ป่วย ตึกมหิดล โรงพยาบาลแมคคอร์มิคเชียงใหม่ ซึ่งผมได้รับมอบหมายจากคณะผู้บริหารโรงพยาบาล ให้เป็นผู้ถวายพระแสงกรรไกรตัดพวงดอกไม้ตรงหน้าประตูทางเข้าตึกมหิดล 


และ กราบบังคมทูลเชิญลงพระปรมาภิไธยในแผ่นหินอ่อนที่ได้จัดเตรียมไว้ที่ห้องพิพิธภัณฑ์หมอเจ้าฟ้า ซึ่งอยู่ชั้นสองของอาคารมหิดล


คนรุ่นผม เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงเพียงไม่กี่ปี บ้านเมืองยังอยู่ในสภาพยากลำบาก ประเทศยังไม่พัฒนาทั้งเสถียรภาพทางการเมือง และทางเศรษฐกิจ ประเทศขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐาน ถนนส่วนใหญ่ยังเป็นถนนลูกรัง ไฟฟ้ายังมีไม่ทั่วถึง น้ำประปายังไม่มี ต้องใช้น้ำบ่อหรือน้ำโยกจากเครื่องสูบน้ำแล้วกรองผ่าน ทรายและถ่าน ชีวิตประชาชนชาวไทยในเวลานั้นยังทุกข์ยากลำบากมาก


ชีวิตที่ทุกข์ยากลำบากของประชาชนกลับทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงลำบากพระทัยมากกว่า พระองค์มีพระประสงค์ต้องการเอาชนะความยากจน เพื่อประชาชนของพระองค์จะได้อยู่ดีกินดี มีความสุข จึงทำให้พระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ทรงมีพระราชดำริใหม่เสมอเมื่อพบปัญหาในแต่ละท้องถิ่น ทำให้เกิดโครงการในพระราชดำริมากมาย ทั้งหมดทุกโครงการล้วนมีเป้าหมายเดียวคือ ความสุขของประชาชน


คนรุ่นผม มีเพื่อนหลายคนเป็นทหารไปรบที่ประเทศเวียตนามและบางคนเสียชีวิต เพื่อนบางคนกลับมาเสียชีวิตที่เขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง สีชมพู ในสมัยที่ประเทศไทยมีผู้ก่อการร้ายที่ต้องการ เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อรัฐบาลสร้างถนน สร้างเขื่อน ผู้ก่อการร้ายจะทำการขัดขวาง เข้าโจมตี เผาทำลายเครื่องจักรอุปกรณ์การก่อสร้าง เมื่อการก่อสร้างเข้าไปอยู่ในเขตพื้นที่ที่พวกเขามีอิทธิพล แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงเสด็จพระราช ดำเนินเข้าไปในพื้นที่เพื่อปลอบขวัญให้กำลังใจแก่ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ ทำให้การก่อสร้างถนนสายสำคัญหลายสายและเขื่อนใหญ่ๆสำเร็จ แม้จะล่าช้ากว่ากำหนดไปบ้าง


เมื่อมีน้ำจากเขื่อนให้ชาวบ้านได้ทำการเพาะปลูก มีพลังงานน้ำจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านทำให้มีไฟฟ้าใช้ มีถนนผ่านหมู่บ้านให้ขนสินค้าการเกษตรออกมาขายในเมืองได้ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเริ่มดีขึ้น มีโรงเรียน โรงพยาบาล มหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ เพราะพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงเข้าใจปัญหาและทรงแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องด้วยการต่อสู้กับความยากจน และทรงสามารถเอาชนะความยากจนได้ จากโครงการในพระราชดำริที่เกิดผลดีในเวลาต่อมา ผู้ก่อการร้ายไม่มีเงื่อนไขที่ใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดมอีกต่อไป




คนรุ่นผม อยู่ในเหตุการณ์ วันมหาวิปโยค วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ การจลาจลนองเลือดวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และ พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ พวกเราทุกคนทราบดีว่า ถ้าไม่มีพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทำให้เหตุการณ์ร้ายยุติลงได้ เหตุการณ์ความวุ่นวายในประเทศคงบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมืองที่มีคนบาดเจ็บล้มตายอีกมากมาย และคงไม่มีความสงบสุขเกิดขึ้นในประเทศไทย


คนรุ่นผม เป็นคนที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป  มีชีวิตได้เห็นความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่มีต่อประชาชนชาวไทย และพี่น้องชนเผ่าที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ได้เห็นการทรงเสียสละเพื่อประชาชนอยู่ตลอดเวลาของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระมหากษัตริย์ที่ชาวบ้านเรียกพ่อหลวง ตั้งแต่พวกเรายังเป็นเด็กนักเรียน จนถึงเวลานี้เป็นผู้สูงวัยกันหมดแล้ว


คนรุ่นผม อยากบอกกับลูกหลานว่า
ถ้าไม่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ประเทศไทยจะไม่พัฒนาเจริญอย่างทุกวันนี้ ที่ทำให้ลูกหลานทั้งหลายมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบายขนาดนี้ ในเวลานี้


และ คนรุ่นผม อยากบอกกับลูกหลานว่า
ให้ลูกหลานได้หยุดคิด ใช้สติพิจารณา และใคร่ครวญศึกษาการทรงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ แล้วจะได้รู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณถึงความรัก ความเสียสละ ความอดทน ความมีพระอัจฉริยะภาพ และพระเมตตาที่ยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ที่มีต่อประชาชนชาวไทย

กษัตริย์ไทยพระองค์นี้ทรงมีความเป็นเลิศในทุกด้านจริงๆ


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร


ที่คนรุ่นผม เคารพรักเทิดทูนจนชีวิตจะหาไม่


ขอขอบคุณ: คุณนภันต์ เสวิกุล สำหรับภาพพระบรมฉายาลักษณ์
และขอบคุณเจ้าของภาพถ่ายเหตุการณ์ วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖

วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

The Cool ทศกัณฐ์


“Wealth you get by dishonesty will do you no good, but honesty can save your life”         Proverbs 10:2


เขียนเรื่องนายกรัฐมนตรีประเทศญี่ปุ่นแปลงร่างเป็น Mario ตัวการ์ตูนที่เด็กทั่วโลกรู้จัก มุดท่อใต้ดินไปโผล่กลางพิธิปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศบราซิล จนเป็นที่กล่าวขวัญฮือฮากันไปทั่วโลก ว่าประเทศญี่ปุ่นกำลังส่งเสริมนโยบาย The Cool Japan ที่เอาวัฒนธรรมของประเทศมาปรับใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ ทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจภาคบริการ ทำรายได้เข้าประเทศอยู่ในเวลานี้

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับต้นๆของโลกอย่างประเทศญี่ปุ่นจะมีปัญหาเศรษฐกิจมากถึงขนาดต้องเอาวัฒนธรรมของประเทศมาหากินแล้วหรือ ก็ต้องบอกว่าคงเป็นทำนองคนรวยนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คงไม่ยอมขายของเก่ากิน ประเทศญี่ปุ่นต้องปรับแนวทางเศรษฐกิจเพราะเขาเดือดร้อนจริง


ประเทศญี่ปุ่นตกอยู่ในวังวนของการหยุดนิ่งทางเศรษฐกิจมานานกว่า 10 ปี ที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า 10 ปีที่เสียไปของประเทศ เปลี่ยนทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีคลัง และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ไปแล้วหลายคนก็ยังเอาเศรษฐกิจไม่อยู่ ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นพระเอกทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุนคือ การผลิตรถยนต์ เครื่องจักรกลอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ส่งออกขายไปทั่วโลก แต่ในระยะหลังนี้ประเทศญี่ปุ่นขายสินค้าได้น้อยลงเรื่อยๆ เพราะราคาสินค้าสู้สินค้าจากประเทศไต้หวัน เกาหลี และจีน ไม่ได้ ทำให้บริษัทใหญ่ๆของญี่ปุ่นเริ่มประสบกับปัญหาสภาวะขาดทุน จนทำให้บริษัทใหญ่ชั้นนำที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกต้องยอมกัดฟันขายหุ้นบริษัทให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน


คนญี่ปุ่นนึกไม่ถึงเหมือนกันว่า ประเทศจีนที่กองทัพทหารญี่ปุ่นเคยบุกไปยึดครองดินแดนบางส่วนมาแล้ว เป็นประเทศคอมมมูนิสต์ที่ยากจน และ ล้าหลังทางเทคโนโลยี มาวันนี้จะมีอำนาจทางการเงินมากจนกล้ามาซื้อกิจการบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นได้ บริษัทของประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีอายุเกิน 50 ปีทั้งนั้น และมาเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามและถูกปรับให้ต้องชดใช้เงินค่าทำสงครามจำนวนมหาศาล แต่คนญี่ปุ่นรวมใจกันอดทนทุกข์ยากลำบาก ช่วยกันฟื้นฟูบูรณะสร้างประเทศกันใหม่หลังเมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ถูกเครื่องบินสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณู จนทำให้คนญี่ปุ่นตายเป็นแสน ประเทศญี่ปุ่นสามารถผงาดเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจของโลก ที่ชาวตะวันตกยอมยกนิ้วให้ จากประเทศแพ้สงครามที่ยากจนเป็นประเทศลูกหนี้ มาเป็นประเทศร่ำรวย เป็นประเทศเจ้าหนี้มีเงินให้ประเทศยากจนกู้ มาวันนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกของประเทศญี่ปุ่นกำลังถูกบริษัทที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก จากประเทศจีน ซึ่งเพิ่งโผล่มาทำธุรกิจกับต่างประเทศเพียงไม่กี่ปี หลังประเทศจีนเปิดประเทศทำการค้าขายกับต่างชาติเมื่อไม่นานมานี้ เข้ามาเจรจาขอซื้อกิจการบริษัทของประเทศญี่ปุ่น


บริษัท Heier ประเทศจีน ซื้อบริษัท Sanyo Universal ประเทศญี่ปุ่นไปตั้งแต่ปี 2012 เพราะบริษัท Panasonic  ซึ่งเป็นบริษัทแม่ขอถอยออกจากธุรกิจผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเนื่องจากทนการขาดทุนไม่ไหว บริษัท Heier ใช้ชื่อ Sanyo ซึ่งสินค้าเป็นที่รู้จักกันดีทั่วโลกว่ามีมาตรฐานสูงเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจ เป็นฐานนำสินค้า ของ Heier ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักและไว้วางใจในคุณภาพ บุกเข้ายึดตลาดเอเซียได้สำเร็จ และเวลานี้บริษัท Heier กำลังสร้าง Brand สินค้าใหม่ชื่อ Aqua เพื่อผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดบน


บริษัท Midea Group ประเทศจีน ซื้อหุ้น 80% ของบริษัท Toshiba Lifestyle and Services Corp (TLSC) ด้วยเงิน 473 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้บริษัท Midea Group มีสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของ Toshiba มากกว่า 5,000 รายการ และสามารถใช้ชื่อ Toshiba ในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ไปอีก 40 ปี เพราะบริษัทของกลุ่ม Midea ประเทศจีนยังไม่มีนวัตกรรมของตนเอง จึงต้องหาทางลัดใช้เงินซื้อนวัตกรรมที่เขามีอยู่แล้วเพื่อผลิตสินค้าสำหรับอนาคต ใครที่ผูกใจใช้แต่สินค้าญี่ปุ่นต้องทำใจแล้วครับ ซื้อสินค้าชื่อญี่ปุ่นแต่จริงๆแล้วผลิตจากประเทศจีน


บริษัท Lenovo ประเทศจีน เข้าร่วมลงทุนกับบริษัท NEC ประเทศญี่ปุ่นในการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนรู้วิทยายุทธการผลิตจากบริษัท NEC จนปัจจุบันบริษัท Lenovo เติบใหญ่แข็งแกร่ง มีวิทยายุทธขั้นสูง สามารถก้าวขึ้นไปเป็นบริษัทที่อยู่แนวหน้าของโลก สามารถซื้อบริษัทใหญ่อย่าง Motorola ของสหรัฐอเมริกา ได้


บริษัท Hon Hai ประเทศไต้หวัน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Foxconn ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่งออกรายใหญ่ เข้าซื้อกิจการบริษัท Sharp ที่มีชื่อเสียงในผลิตภ้ณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามานานนับศตวรรษ ไปเรียบร้อยแล้ว


คนญี่ปุ่นได้แต่มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศด้วยความเป็นห่วง และกังวลถึงอนาคตของประเทศ สิ่งที่น่ายกย่องคือ สปิริตความรักชาติของคนญี่ปุ่น ที่ยอมรับความถดถอยทางเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยกันแก้ไขกู้เศรษฐกิจกันอยู่ในเวลานี้


หันมามองประเทศไทยบ้าง โฆษณาสั้นๆแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวโดยทศกัณฐ์ทำกิจกรรมตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆทั่วทุกภาค ถูกสื่อสังคมวิพากษ์วิจารณ์หนักว่าไม่เหมาะสม เพราะทศกัณฐ์เป็นถึงราชาแห่งยักษ์ เล่นเป็นแต่โขน มีท่าเดินท่าขยับเฉพาะตน เอาท่านราชาแห่งยักษ์มานั่งแคะขนมครกแบบแม่ค้า เป็นยักษ์ทศกัณฐ์ขี่เรือบาบาน่าโบท มันดูไม่เหมาะสม แต่คนที่ชอบใจว่ามันน่ารักดีก็มีมาก เห็นยักษ์ใจดีกระโดดมาทำกิจกรรมแบบชาวบ้านบ้างก็ดูเข้าท่าดี ไม่เห็นมีอะไรเป็นปัญหา และสนับสนุนให้ยักษ์ทศกัณฐ์ออกจากโรงละครเวทีโขน มาเต้นร้องรำใช้ชีวิตตามท้องถนนเพื่อเด็กๆจะได้รู้จัก ถ้าเต้นแรพกับเด็กได้จะยิ่งสนุกกันใหญ่ จะได้ไม่มีช่องว่างกัน


เรื่องนี้คงเป็นเพียงประเด็นขัดแย้งกันบ้างในเบื้องต้น ในเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ถ้าได้พูดคุยปรับความคิดกันหน่อยให้วัตถุประสงค์ตรงกัน ต่อไปถ้ามีใครนำเอาพระลักษณ์ พระราม หนุมาน และตัวละครอื่นๆในวรรณคดีไทยทะยอยออกมาเล่นบทบาทใหม่ เป็นตัวการ์ตูน Animation ให้เด็กรู้จักและชื่นชอบได้ ก็คงไม่มีปัญหา ผมว่าตัวละครต่างๆในวรรณคดีของไทยจะช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศไทยอย่างมหาศาล และจะเป็นส่วนสำคัญนำประเทศไทยก้าวไปสู่ The Cool Thailand 4.0 ได้ด้วย


ดังที่เราทราบกันแล้วว่าประเทศไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจกันใหม่ เพราะจะพึ่งรายได้จากสินค้าเกษตรและการส่งออกแบบเดิมคงลำบาก เนื่องจากมีคู่แข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ และประเทศคู่แข่งขันมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันสูงมากขึ้น ถ้าประเทศไทยไม่รีบเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ประเทศ ไม่รีบพัฒนาขีดความสามารถของประเทศไทยให้สูงขึ้น เราก็จะติดกับดักอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และ เศรษฐกิจของประเทศอาจจะถดถอยไม่เติบโตแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ถ้าประเทศอื่นๆเขารวยมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศไทยแม้จะมีรายได้มากเท่าเดิม ก็จะกลายเป็นประเทศยากจนลงในที่สุด


Thailand 4.0 จะปรับกระบวนทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ โดยมุ่งเน้นไปยังการสร้างมูลค่าสินค้าและบริการ ให้ขายได้กำไรมากขึ้น อาจเรียกว่า เป็นเศรษฐกิจฐานมูลค่า (Value Base Econmy) คือทำให้สินค้า และบริการที่ขาย มีความแตกต่างจากสินค้าและบริการเดิมเพื่อสร้างมูลค่า สร้างความพึงพอใจให้ลูกค้า ผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อมากขึ้น และยอมจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับสินค้าและบริการที่ซื้อ สิ่งสำคัญในการพัฒนาสินค้า และบริการให้มีมูลค่ามากขึ้นคือการใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่ม คุณภาพสินค้า


จากแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการทำให้สามารถขายสินค้าและบริการได้ราคาสูงขึ้น ทำให้มีกำไรมากขึ้น ฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนแนวใหม่คือ


  1. เปลี่ยนจากผลิตสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ที่ใช้อุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เป็นสินค้าที่ต้องใช้ ในชีวิตประจำวันเหมือนกัน แต่เป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม มีคุณภาพสูงขึ้น มีความแตกต่าง เนื่องจากสินค้า กลุ่มอุปโภคบริโภคนี้ ปัจจุบันแต่ละประเทศสามารถผลิตเองได้เกือบหมดแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้อง นำเข้าจากประเทศไทยอีกต่อไป การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ต้องใช้การผลิตในปริมาณมากถึงจะคุ้ม เพราะกำไรต่อหน่วยน้อย
  2. เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักร ใช้พลังงาน ใช้คนมาก ใช้พื้นที่ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาลและสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม มาเป็นอุตสาหกรรมที่สะอาด ใช้พลังงานน้อย ใช้ทรัพยากรธรรมชาติน้อย และใช้คนน้อยในกระบวนการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในกระบวนการผลิต และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้กับสินค้าและบริการ
  3. เปลี่ยนจากภาคการผลิตที่มุ่งเน้นทำสินค้าเพื่อการส่งออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งมีการแข่งขันสูง และมีความเสี่ยงสูง ไปสู่ภาคบริการที่มีคุณภาพ มีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ มีมูลค่าสูง โดยเน้นให้คนเดินทางมาใช้บริการในประเทศไทย ให้เขาเอาเงินมาซื้อบริการภายในประเทศเรา ทำให้เราสร้างงานได้มากขึ้น คนมีงานทำมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น เกิดการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจของประเทศจะหมุนเวียนดีขึ้น


ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะเลิกการผลิตสินค้าและอุตสาหกรรมตามแนวทางเดิมทั้งหมดทันที แต่ Thailand 4.0 จะเน้นการลงทุนใหม่ให้ไปสู่แนวทางเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างมูลค่าตอบแทนได้สูงกว่าเดิม


นอกจากแนวทางเศรษฐกิจที่ต้องเปลี่ยนเพื่อสร้างมูลค่าตอบแทนที่สูงขึ้นแล้ว องค์ประกอบในการพัฒนาให้ ไปสู่แนวทางเศรษฐกิจใหม่ก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วยคือ


ประเทศไทยมีพื้นฐานเดิมเป็นประเทศเกษตรกรรม เพราะมีจุดแข็งทางธรรมชาติที่เป็นสุวรรณภูมิ คือ มีดินดี มีน้ำสมบูรณ์ มีอากาศดี สามารถเพาะปลูกพืชผลการเกษตรได้อย่างหลากหลายชนิดตลอดทั้งปี แต่เกษตรกรรุ่น ใหม่ไฟแรง ที่จะทำการเกษตรและปศุสัตว์ ต้องใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศเข้ามาช่วย ในการบริหารจัดการ ฟาร์มและปศุสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีวิทยาการสมัยใหม่ มีเทคโนโลยีเครื่องจักรกลทันสมัยมากมาย ที่มีประสิทธิภาพ สูง ตั้งแต่การเตรียมการเพาะปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรไทยยุคใหม่ต้องเป็นเกษตรกรที่มีวิสัยทัศน์ มีความรู้วิชาการ มีความสามารถในการบริหารจัดการ เข้าใจและใช้เทคโนโลยี เป็น smart farmers ปลูกแล้วขายได้ เลี้ยงแล้วขายดี ไม่ต้องปิดถนนขอรัฐบาลช่วยเหลือเรื่องราคาพืชผล เหมือนที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี


ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่เราเรียกว่า SME ซี่งมีปัญหารอบด้าน ทั้งด้านการผลิตสินค้าที่มี ปัญหาเรื่องออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ อายุผลิตภัณฑ์ การขนส่ง ช่องทางจำหน่าย ตลาด บุคลากร ภาษา การบริหารจัดการ เทคโนโลยี แหล่งเงินทุน การบริหารเงิน การเสียภาษี ฯลฯ รัฐบาลต้องเข้ามาอุ้มช่วยเหลือกันหลายกรม หลายกระทรวง กว่าสินค้าจะขายได้ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องมีความคิด มีแรงบันดาลใจ มีความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม มีความรู้  มีความสามารถบริหารจัดการ มีเครือข่าย คิดเป็น ทำเป็น ขายเป็น แก้ปัญหาเป็น ไม่ต้องรอความเมตตาช่วยเหลือจากรัฐบาลแบบเลี้ยงไม่โตเสียที ต้องทำธุรกิจแบบ Smart Enterprise ซึ่งรัฐบาลจะเน้นให้การช่วยเหลือธุรกิจที่เห็นว่ามีศักยภาพสูง มีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้เร็ว ขยายธุรกิจได้กว้างไกล สามารถสร้างรายได้ สร้างงานให้กับประเทศ เรียกธุรกิจที่ตั้งใหม่ที่มีศักยภาพนี้ว่า Startups ซึ่งสามารถเข้าหาแหล่งเงินทุนในการตั้งธุรกิจและขยายธุรกิจได้ง่ายกว่าธุรกิจ SME เดิม


ธุรกิจภาคบริการที่เหนื่อยมากแต่ทำกำไรได้น้อย ต้องปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ให้การบริการและวิธีการให้บริการใหม่ ทำให้บริการมีมูลค่ามากขึ้น เป็นบริการที่มีเรื่องราวความเป็นมา(Story) สร้างอารมณ์ ความงาม มีอัตลักษณ์ เฉพาะตัว ที่มีความรู้สึกสัมผัสได้ สร้างความประทับใจ สร้างความพึงพอใจ ยกระดับเป็นบริการที่สูงค่า (High value services) ทำแล้วไม่เหนื่อยมากแต่ได้เงินมาก


ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ต้องใช้ทรัพยากรบุคคลที่ไม่ใช่ขายแรงงานแลกเงินอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่คอยร้องขอให้รัฐบาลปรับค่าแรงขั้นต่ำทุกปี ต้องเป็นคนงานพนักงานที่มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น คือมีความรู้และทักษะฝีมือ และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ รู้และเข้าใจเครื่องจักรสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีสูง ใช้เครืองมือเป็น สื่อสารเป็น และ พัฒนาความรู้และทักษะของตนอย่างต่อเนื่อง


สำหรับอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจะส่งเสริมเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใน Thailand 4.0 ได้แก่


  1. อาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ
  2. กลุ่มบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีการแพทย์
  3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และเครื่องกลที่ใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม
  4. กลุ่มดิจิตอลที่มีการเชื่อมต่อทางอินเตอร์เนตและบังคับอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว
  5. กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง


Thailand 4.0 อาจจะเริ่มช้าไปหน่อยเพราะเราเสียเวลาไปกับเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง ที่ทำให้สังคมไทยไม่สงบจนถึงเวลานี้ และยังคงหาเรื่องว่ากันไม่รู้จบ โดยขาดจิตสำนึกเรื่องการรักษาประเทศ ให้รอดปลอดภัยไว้ก่อน รวมทั้งมีเรื่องการขาดจริยธรรมของนักการเมือง ข้าราชการและนักธุรกิจ ทำให้มีการคอร์รัปชั่น โกงกินกันหนัก ทำให้ประเทศเสียหายไปมากแล้ว


ผมว่าเรามีงานหนักที่ต้องช่วยกันทำอีกเยอะครับ ถ้าไม่ช่วยกันวันนี้คงจะสายเกินไปแล้วนะครับ ประเทศไทยยังโชคดีอยู่มากที่เป็นประเทศที่มีคนทั่วโลกคนอยากมาเที่ยว ขนาดกรุงเทพมหานคร ที่คนกรุงเทพบ่นเช้าบ่นเย็น เรื่องรถติด ฝนตกน้ำท่วม ร้อนและวุ่นวาย  คนทั่วโลกยังแห่กันมาเที่ยวถึง 21 ล้านคน มากกว่า ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และ ญี่ปุ่น เสียอีก


มีโชคที่เป็นใจแล้ว แต่เราต้องฉวยโอกาสด้วยการทำงานหนักด้วย ถึงจะประสบความสำเร็จได้ เหมือนที่


Warren Buffett กล่าวว่า “Price is what you pay. Value is what you get.” ราคาคือเงินที่คุณจ่าย คุณค่าคือสิ่งที่คุณได้รับ


Albert Einstein กล่าวว่า “Try not to become a man of success, but rather try to become a man of value.” อย่าพยายามเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ แต่จงเป็นคนที่มีคุณค่า
และ
Margaret Mead กล่าวว่า “I learned the value of hard work by working hard.” ข้าพเจ้าเรียนรู้คุณค่าของงานหนักด้วยการทำงานอย่างหนัก


แหล่งที่มา : www.manager.co.th
                www.maruey.com

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559

The Cool Japan


“A wise son makes his father proud of him; a foolish one brings his mother grief.”
Proverbs 10:1


เหนือชั้นจริงๆคนที่คิดเอานายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น Shinzo Abe แปลงร่างเป็น Mario มุดลงท่อสีเขียวทะลุดินของ Doraemon จากประเทศญี่ปุ่นนำลูกบอลสีแดงที่เป็นสัญญลักษณ์ของกีฬาประเภทต่างๆไปโผล่กลางพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่ Rio de Janeiro เพื่อรับช่วงเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา Olympic Games ครั้งต่อไปที่กรุง Tokyo ประเทศญี่ปุ่นในปี 2020 ทีมงานที่คิดสร้างเรื่องชุดนี้ของญี่ปุ่นฉลาดมาก ที่ใช้ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นที่คนรู้จักกันดีทั่วโลกและสถานที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่นเป็นหลังฉากแนะนำกีฬาประเภทต่างๆ เป็นการแนะนำสถานที่และความเป็นญี่ปุ่นที่พร้อมในการจัดเตรียมการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อไปของประเทศญี่ปุ่น เรื่องราวสั้นๆแค่นาทีแต่ฉกฉวยความสนใจคนทั่วโลกที่กำลังเฝ้าชมการถ่ายทอดพิธีปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกไปเต็มๆ จนทำให้เรื่อง The Cool Japan ดังขึ้นมาเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก


ความจริงเรื่อง The Cool Japan นี้ เป็นแนวความคิดที่ประเทศญี่ปุ่นได้คิดไว้ตั้งแต่ปี 2002 แล้ว เมื่อประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซานิ่งไม่เติบโตกว่าสิบปี จนเรียกว่าเป็นทศวรรษที่สูญเสียไป (the lost dacade) ของประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากการขายสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นรายได้หลักทำเงินให้ประเทศญี่ปุ่นมาโดยตลอด เช่น รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ถูกประเทศจีน และเกาหลีใต้ แย่งตลาดไป สินค้าญี่ปุ่นขายได้น้อยลงทำให้รายได้ของประเทศลดลง เนื่องจากคนญี่ปุ่นเป็น คนมีระเบียบชีวิต มีการคิดวางแผนอนาคต และมีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงมีความวิตกกังวลมาก กลัวจะไม่มีเงินใช้ยามแก่ คนญี่ปุ่นจึงเอาแต่อดออมเก็บเงินฝากธนาคารเพื่อเอาไว้ใช้ในอนาคต ไม่ยอมใช้เงินจับจ่ายใช้สอยโดยไม่จำเป็น ทำให้การบริโภคในประเทศถดถอย การขายสินค้าภายในประเทศไม่เติบโต ประกอบกับการขายสินค้าไปต่างประเทศก็ไม่เติบโต จึงทำให้การลงทุนไม่เติบโตด้วย ประเทศญี่ปุ่นจึงต้องคิดแก้ไขโดยหาทางออกจากกรอบเศรษฐกิจเดิมที่อาศัยฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม มาเป็นแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ คือการเอาสิ่งดีที่ประเทศญี่ปุ่นมีอยู่แล้วในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เรียกแนวคิดใหม่นี้ว่า The Cool Japan และใช้เป็น Brand ของการ Promote แนวคิดใหม่นี้ด้วย


The Cool Japan เป็นการสร้างอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจที่ใช้ความอ่อนโยนทางวัฒนธรรมในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งแตกต่างจากอำนาจทางเศรษฐกิจเดิมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนักใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เมื่อ The Cool Japan ใช้วัฒนธรรมที่อ่อนโยนมาเป็นสินค้าและบริการสร้างรายได้ สร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ จึงเรียกว่าแนวคิดใหม่นี้ว่าเป็นอำนาจเศรษฐกิจแบบ Soft power คือขายสินค้าและ บริการที่สร้างความรู้สึกตอบสนองทางด้านอารมณ์ (Emotional fufilment) ซึ่งต่างจากสินค้าอุตสาหกรรม พวกเครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยตอบสนองทางด้านวัตถุ (Material fulfilment) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และ อุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น ที่รับผิดชอบการขับเคลื่อน The Cool Japan ตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้จากขายสินค้าและบริการบนพื้นฐานวัฒนธรรมของญี่ปุ่นภายใต้โครงการ The Cool Japan ได้ถึง 900 พันพันล้านเยน (¥900 trillion) ในปี 2020.


กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น เรียกการสร้าง The Cool Japan ซึ่งเป็น Brand ใหม่ของประเทศญี่ปุ่นว่าเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative industries) คือการรวมเอาอัตลักษณ์ต่างๆของประเทศญี่ปุ่นมาส่งเสริม (Promote) สร้างภาพลักษณ์ (Image)ใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่า (Value added) ให้เป็นสินค้าและบริการที่ดูดีมีคุณค่า ทำให้เป็นที่ชื่นชอบ (Cool) แล้วจัดจำหน่ายผ่านช่องทางการจำหน่าย (Distribution channel) ใหม่ ทำให้สินค้าและบริการขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จุดประสงค์เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้ประเทศ


สินค้าและบริการในมิติของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะรวมเอาวัฒนธรรมทุกอย่างของญี่ปุ่นตั้งแต่ หนังสือการ์ตูน (Manga) ภาพยนต์การ์ตูน (Anime)  งานศิลปะ หัตถกรรมพื้นบ้าน อาหาร แฟชั่น การท่องเที่ยว ละคร ดนตรี กีฬา ฯลฯ ของญี่ปุ่นมาสร้างสรรค์ใหม่ ใส่ภาพลักษณ์ และเพิ่มมูลค่า ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของคนทั่วโลก กลายเป็นสินค้าและบริการที่ขายไปได้ทั่วโลก



ในปีงบประมาณ 2011 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่นได้ทุ่มเงินสนับสนุนการบุกตลาดต่างประเทศเพื่อแนะนำและส่งเสริมสินค้าและบริการภายใต้โครงการ The Cool Japan ไปยัง ประเทศ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ บราซิล อิตาลี และอินเดีย โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอกชนระดับ SME นำสินค้าและบริการไปเปิดตัวและหาคู่ค้าในต่างประเทศ

ตัวอย่างยุทธศาสตร์ The Cool Japan ที่เอาวัฒนธรรมมาแปรรูปเป็นสินค้าและบริการ เช่น

  • เอาตัวการ์ตูนต่างๆของญี่ปุ่นที่คนชื่นชอบมาทำตุ๊กตา หรือเป็นสินค้าที่มีรูปการ์ตูนติด แล้วขายตามร้านค้าย่านถนน Harajuku ที่นักท่องเที่ยวนิยมเดิน Shopping
  • แฟชั่น คือส่งเสริมสินค้าเสื้อผ้า เครื่องสำอางค์ โดยการจัดงานแสดงแฟชั่นโชว์ย่าน Giza และ Shibuya ซึ่งมีห้างสรรพสินค้าใหญ่และร้านค้าจำหน่ายสินค้าระดับบนมากมาย

  • อาหาร แนะนำอาหารญี่ปุ่น ผ่านรายการทำอาหารทางโทรทัศน์ จัดชั้นเรียนสอนทำอาหารญี่ปุ่น แนะนำร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังระดับMichelin Guide ส่งเสริมการรับประทาน Sushi และการใช้ ซีอิ๊วญี่ปุ่นในการปรุงอาหาร

  • วิถีชีวิต แนะนำผ่านทางรายการโชว์รูปแบบต่างๆทางโทรทัศน์ เรื่องราวในละคร สารคดี และ ภาพยนต์ญี่ปุ่น สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นจัดทำสารคดีเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นหลายร้อย ตอนจัดฉายไปตามสถานีโทรทัศน์ทั่วโลก


  • การท่องเที่ยว จัดรายการส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งสถานที่เล่นสกีและดำน้ำ ให้ประโยชน์ตกแก่ธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศเช่นบริษัททัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร รถเช่า



ยุทธศาสตร์ตัวจริงของ The Cool Japan นั้นละเอียดมาก ผมแค่สรุปเอาตามที่เข้าใจมาให้ดูเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆครับ ท่านที่สนใจอยากรู้มากกว่านี้ สามารถเข้าไปศึกษาได้ที่ http://www.meti.go.jp/english/policy ครับ โปรดสังเกตว่าทั้งหมดทั้งมวลของยุทธศาสตร์นี้เน้นการทำกำไรให้ท้องถิ่น และเน้นให้เกิดการจ้างงาน และการบริโภคภายในประเทศญี่ปุ่น

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เพื่อชวนให้พวกเราหันกลับมาคิดถึงประเทศไทยครับ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับต้นๆของโลกอย่างประเทศญี่ปุ่น ยังต้องปรับความคิด ปรับยุทธศาสตร์ชาติ คนในประเทศต้องปรับตัว เพื่อทำให้ประเทศชาติอยู่รอด คนญี่ปุ่นที่เคยหยิ่งไม่ค่อยยินดีต้อนรับคนต่างชาติมากนัก สมัยก่อนใครจะไปประเทศญี่ปุ่นต้องขอ Visa กันอย่างยากเย็น เวลานี้ประเทศญี่ปุ่นเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่ต้องขอ Visa เข้าประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปใช้เงินในประเทศญี่ปุ่นแน่นขนัด พวกเราคนไทยก็แห่ไปเที่ยวญี่ปุ่นกันอย่างสนุกสนาน คนญี่ปุ่นต้องปรับตัวยิ้มต้อนรับนักท่องเที่ยว แม้จะรู้สึกรำคาญอยู่ในใจก็ตาม แต่ความรักชาติ ทำให้เขาต้องเสียสละเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ The Cool Japan ของประเทศ


การส่งเสริมยุทธศาสตร์ The Cool Japan เกิดผลทำให้เกิดกระแสชื่นชอบญี่ปุ่นในวัยรุ่นทั่วโลก เห็นได้จากวัยรุ่นชาวไทยนิยมชื่นชอบวงดนตรี นักร้อง ดาราญี่ปุ่น เสื้อผ้า ใบหน้า ทรงผม ก็ทำและแต่งตัวตามวัยรุ่นญี่ปุ่น เครื่องสำอางค์ เครื่องประดับ ของใช้กระจุกกระจิกก็ใช้ของญี่ปุ่น แม้แต่ท่าทางก็ทำคิกขุอโนเนะตามวัยรุ่นญี่ปุ่น กินอาหารและขนมญี่ปุ่น อ่านการ์ตูนเล่นเกมส์ญี่ปุ่น และไม่สนใจเรียนภาษาไทยแต่เรียนพิเศษภาษาญี่ปุ่น


เป็นความจริงที่น่าเสียดาย ที่ประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่ดีมีคุณค่ามากอยู่แล้ว และสามารถนำมาเป็น The Cool Thailand ได้อย่างสบายๆ เรามีของอยู่ในมือแต่ยังไม่รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขนาดยังไม่มียุทธศาสตร์ ระดับชาติที่ส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมไทยอย่างจริงจัง ยังไม่มีวาระแห่งชาติแบบ The Cool Japan ของประเทศญี่ปุ่น ยังไม่ได้ทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวเลย เรายังมีนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวประเทศไทยปีละ 30ล้านคน ทำรายได้ให้ประเทศเป็นกอบเป็นกำ ในขณะที่การส่งออกของประเทศไทยถดถอยเพราะขีดความสามารถของ ไทยไม่ได้พัฒนาเพิ่มเติมให้เข้มแข็ง จึงเริ่มแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ค่อยได้ ถ้าเราเอาวัฒนธรรมไทยมาสร้างสรรค์ใหม่ ใส่นวัตกรรมใหม่ให้ใสปิ๊งดูเจ๋งจ๊าบ ส่งเสริมให้เป็นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แล้วรัฐบาล ส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ไทยให้ go inter อย่างมียุทธศาสตร์ มีโครงการสนับสนุนอย่างชัดเจน จัดช่องทางจำหน่ายสินค้าและบริการที่ทันสมัยสอดประสานกันอย่างเป็นรูปธรรมแบบที่ประเทศญี่ปุ่นทำ เราจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมหาศาล The Cool Thailand ก็สามารถสร้างกระแสให้วัยรุ่นทั้งโลกหันมาหัดมวย ไทย เตะตระกร้อ กินผัดไทย กล้วยทอด ดูหนังไทย ชอบนวดแผนโบราณ และมาเที่ยวเมืองไทยเยอะขึ้น เพราะจริงๆแล้ว ประเทศไทยเรามีทั้ง วัฒนธรรม โบราณสถาน สถานที่ท่องเที่ยว ธรรมชาติป่าเขา ทะเล ให้นักท่องเที่ยว สัมผัสเรียนรู้อย่างมากมาย และที่สำคัญถ้าคนไทยยังคงรักษาความมีน้ำใจไมตรีต่อคนต่างชาติ ยิ้มแย้มแจ่มใส ช่วยเหลือเกื้อกูลนักท่องเที่ยว จะเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดให้คนต่างชาติให้ชื่นชอบเมืองไทยมากขึ้น


Mahatma Gandhi กล่าว่า “A nation's culture resides in the hearts and in the soul of its people.” วัฒนธรรมของชาติอยู่ในหัวใจและจิตวิญญาณของคนในชาติ


Dalai Lama กล่าวว่า “In order to carry a positive action we must develop here a positive vision.” เพื่อที่จะนำให้เกิดการกระทำด้านดีในเวลาข้างหน้า เราต้องพ้ฒนาตัวเราให้มีวิสัยทัศน์ที่ดีในวันนี้


อยากเชิญชวนให้คนไทยหันหน้ามาคิดดีต่อกันในวันนี้ เพื่อจะได้ช่วยกันทำความดีให้ประเทศชาติต่อไป

ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันก่อนที่เราจะสร้าง The Cool Thailand ครับ

แหล่งที่มา: www.meti.go.jp

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ความเป็นผู้นำในยุคของความไม่แน่นอน

ความเป็นผู้นำในยุคของความไม่แน่นอน
Leadership in an Age of Uncertainty


“Are you immature? Learn to be mature. Are you foolish? Learn to have sense.”
Proverbs 8:5


เขียนเรื่องความไม่แน่นอนที่เป็นสถานการณ์ของสังคมโลกในปัจจุบันไปแล้ว ตัวเองรู้สึกว่าสังคมไทย กำลังมีความสับสน และมีความไม่แน่นอน จึงขอพักหยุดดูว่าผลการลงประชามติเพื่อรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทยก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ผลปรากฏว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนที่ห่างกันค่อนข้างมาก แต่เป็นที่น่าเสียใจที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ และระเบิดในหลายจังหวัดทางภาคใต้ตามหลัง ซึ่งน่าจะเป็นการส่งสัญญาณความไม่พึงพอใจของคนบางคน บางกลุ่ม ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับร่างรัฐธรรมนูญ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆ แต่การกระทำด้วยวิธีใช้ความรุนแรง ตอบโต้แบบนี้ ไม่เกิดประโยชน์อันใดต่อสังคมและประเทศชาติ เพราะทำให้คนตาย บาดเจ็บ และ ทรัพย์สิน เสียหาย ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวและการลงทุน เป็นการทำร้ายสังคมและประเทศชาติอย่างไร้สติ จิตใจของผู้บงการ และผู้กระทำการก่อเหตุร้ายที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมไม่มีสันติสุขในชีวิตอย่างแน่นอน


ได้อ่านบทความเรื่อง Leadership in an age of uncertainty ของอาจารย์ Deborah Ancona  ผู้อำนวยการสถาบัน MIT Leadership Center แห่งมหาวิทยาลัย MIT Sloan School of Management แล้วเห็นว่าน่าจะเหมาะต่อการนำมาเขียนให้เป็นเรื่องต่อจากบทความที่เขียนฉบับที่แล้ว เพราะเป็นเรื่องความ เป็นผู้นำในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นสภาพจริงของสังคมในปัจจุบัน ทั้งในภาคธุรกิจ และในภาคการเมือง


อาจารย์ประจำของสถาบัน Sloan School of Management มหาวิทยาลัย MIT สี่ท่านคืออาจารย์ Wanda Orlikowski , Peter Senge, Tom Malone และตัวอาจารย์ Debora ซึ่งเป็นผู้เขียนบทความเรื่องนี้ ได้ร่วมกันพัฒนากรอบความคิด (Framwork) ของความเป็นผู้นำขึ้นมาใหม่ โดยผสมผสานกับทฤษฏีผู้นำ แบบเก่าที่เข้าใจว่าผู้นำเป็นลักษณะติดตัวมาแต่กำเนิด ซึ่งเป็นทฤษฏีที่ใช้กันมานานหลายสิบปี แต่คงไม่สามารถ นำมาใช้ได้ทั้งหมดในยุคสมัยปัจจุบันที่สังคมโลกคาดหวังว่าผู้นำต้องที่มีลักษณะที่ สัตย์ซื่อ (Honest) สร้างแรงบันดาลใจ (Inspiring) มีความเชื่อมั่นตนเอง (Self-confident) และ ปรับตัวได้เร็ว (Adaptive) นักวิชาการในปัจจุบันจึงให้ความสนใจที่พฤติกรรมและแบบวิธีการนำของผู้นำ (Behavior and style of the leader) มากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปดูที่สิ่งที่ผู้นำได้กระทำจริงๆว่าเกิดผลอย่างไร


กรอบความคิดของความเป็นผู้นำที่อาจารย์ทั้งสี่ท่านพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ จะมองว่าความเป็นผู้นำ คือการใช้ ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้นำและศักยภาพที่มีอยู่ของกลุ่มเป็นตัวการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงภายใต้การนำของผู้นำ


กรอบความคิดความเป็นผู้นำแบบใหม่นี้มีสมมุติฐานหลักว่า


ความเป็นผู้นำต้องกระจายออกไป Leadership is distributed
ความเป็นผู้นำไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรแต่เพียงผู้เดียว (Leadership is not solely the purview of the CEO) แต่เป็นเรื่องของคนทั้งองค์กรจึงต้องกระจายออกไปทั่วทุกระดับในองค์กร (Permete all levels of the firm)


ความเป็นผู้นำเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล และพัฒนาได้ Leadership is personal and developmental
เพราะการนำการเปลี่ยนแปลงมีหลากหลายวิธีที่ไม่เหมือนกัน วิธีที่ดีที่สุดในการนำการเปลี่ยนแปลง คือผู้นำทำงานกับความสามารถเฉพาะที่มีอยู่ในตัวของผู้นำอยู่แล้ว และพยายามพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงให้ ความเป็นผู้นำมีศักยภาพมากขึ้นและขยายความสามารถในการเป็นผู้นำให้กว้างมากขึ้น


ในกรอบความคิดความเป็นผู้นำใหม่นี้ มีองค์ประกอบหลักเรื่องศักยภาพความสามารถในการเป็นผู้นำ
( Leadership capabilities) อยู่ 4 ด้าน คือ


1.Sensemaking
คือการดูว่าเรื่องต่างๆที่ผู้นำต้องพิจารณายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่มันดูเข้าท่าสม
เหตุสมผลหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ผู้นำเป็นผู้คิดสร้างขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น และ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้นำคิดแล้วทำได้จริง ผู้นำจึงต้องหาข้อมูลหลายชนิดจากหลายแหล่งหลายระดับมาพิจารณา และให้มีคนหลายคนเข้ามามีส่วนในกระบวนการพิจารณาด้วยว่ามันเข้าทีมีเหตุมีผลจริงหรือไม่ เพราะการ เปลี่ยนแปลงจะต้องดีกว่าเก่า ต้องดีกว่าการทำแบบเดิมๆ (Stereotypes) ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เมื่อมั่นใจว่าได้มี การตรวจสอบพิจารณาความคิดกันอย่างดีรอบครอบแล้ว จึงทำการทดสอบในพื้นที่เล็กๆก่อนว่าความคิดใหม่ ที่จะทำนี้ มันจะได้ผลเป็นไปตามที่ได้คิดหวังไว้หรือไม่ ก่อนจะนำไปขยายผลลงสู่พื้นที่ใหญ่ และสิ่งสำคัญคือ ผู้นำต้องมีการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพไปทั่วถึงทุกระดับในองค์กร ด้วยการชี้แจง อธิบาย เล่าเรื่องราว ยกตัวอย่าง ทำภาพประกอบ ให้ง่ายต่อการเข้าใจของคนในระดับที่แตกต่างกันด้วย



2. Relating
คือการเชื่อมโยงไปยังทุกภาคส่วนในองค์กร เพราะความเป็นผู้นำไม่ใช่เรื่องของคนๆเดียวแต่เป็นเรื่องของคนทั้ง
องค์กร ดังนั้นความสัมพันธ์ที่เป็นเครือข่ายทั่วทั้งองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นกุญแจสำคัญของการนำ การเปลี่ยนแปลงของผู้นำ เพราะในขณะที่ผู้นำต้องสร้างความเชื่อใจ (Trust) ความคิดในแง่ดี (Optimism) สร้างความสมานฉันท์ (Harmony) ในองค์กร แต่ต้องเจอกับเรื่องความเครียด ความโกรธ ความเกลียดชัง ความขัดแย้ง และความแตกแยกที่มีอยู่ภายในองค์กร ผู้นำจึงต้องมีความสามารถในด้านการสอบถาม (Inquiry) การสนับสนุน(Advocate) และการเชื่อมโยง (Connecting) เรื่องเข้าด้วยกัน การสอบถามเริ่มจากการ ที่ผู้นำต้องเป็นผู้ฟังที่ดี คือฟังผู้อื่นก่อน จับประเด็นการฟังให้รู้เรื่อง ฟังให้เข้าใจเสียก่อนว่าคนอื่นเขาคิด และรู้สึกอย่างไร เพราะข้อมูลชุดเดียวกัน เมื่อแปลความหมายสู่การปฏิบัติ ผู้นำอาจแปลความหมายเข้าใจ อย่างหนึ่ง ในขณะที่ผู้ปฏิบัติมีหลายคน หลายระดับ อาจแปลความหมายและมีความเข้าใจไม่เหมือนกัน และมีวิธีนำไปปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ผู้นำจึงไม่ควรด่วนสรุปว่าความเข้าใจของตนเป็นความเข้าใจเดียวกัน กับผู้อื่นทั้งหมด เมื่อได้ฟังและตรวจสอบความเข้าใจให้ตรงกันแล้ว ความสามารถประการต่อมาของผู้นำ คือการสนับสนุนความคิดของตนให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งผู้นำต้องมั่นคงในจุดยืนของตนและผลักดันให้ผู้อื่น เห็นคล้อยตามความคิดของตนอย่างมีเหตุผล ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำจะไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นอื่นๆ ที่แตกต่างจากของตน ถ้าหากว่ามีข้อเสนอของผู้อื่นที่ดีกว่าของตน ผู้นำก็พร้อมรับความจริงและเปลี่ยนแปลง ได้ เพราะข้อมูลที่ผู้นำได้รับอาจไม่ครบถ้วน และความสามารถประการต่อมาคือผู้นำต้องสร้างความเชื่อมโยง ที่เป็นความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กรเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ (Collaborative relationship) ทำให้มีผู้เข้า ร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงประสบความสำเร็จในที่สุด


3.Visioning
คือการมองเห็นภาพอนาคต ทำให้รู้เส้นทางเดินไปสู่อนาคตขององค์กรว่าจะไปในทิศทางใด ในขณะที่การมี Sensemaking ของผู้นำทำให้รู้ว่า What is คือรู้ข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นอะไร การมีวิสัยทัศน์ของผู้นำทำให้รู้ว่า What could be  คือรู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะสามารถเป็นอะไร การมีวิสัยทัศน์เป็นสิ่งสำคัญเพราะมันสร้าง แรงจูงใจให้คนละเลิกทิ้งความคิดและวิธีการที่คิดและทำอยู่ในปัจจุบัน และมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ คิดและทำใหม่ เพื่อให้ไปถึงภาพในวิสัยทัศน์ที่บัดนี้เขาเชื่อแล้วว่าสามารถเป็นไปได้ สามารถร่วมมือกันทำได้ วิสัยทัศน์ทำให้คนในองค์กรเข้าใจมากขึ้นว่า ทำไมถึงต้องทำตามที่ผู้นำผลักดัน ทำไมจึงจำเป็นต้องเปลี่ยน แปลง  ผู้นำจึงต้องสามารถฉายภาพวิสัยทัศน์ให้คนเห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของมัน ทำให้คนรู้สึกตื่นเต้น และอยากเข้าร่วมกระบวนการเปลี่ยนแปลง โดยเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้นำ เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และองค์กรว่า สามารถเดินไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ได้


4.Inventing
คือการสร้างสิ่งใหม่ สร้างวิธีการใหม่ในการทำงานร่วมกันเพื่อไปสู่ความสำเร็จ ผู้นำต้องคิดสิ่งใหม่ในการนำ เพื่อทำให้วิสัยทัศน์เกิดเป็นความจริงในอนาคต โดยกำหนดเส้นทางและขั้นตอนในการทำงานร่วมกัน อย่างมีประสิทธิภาพ มีจุดร่วมจุดตัดจุดต่อที่ชัดเจน มีทีมทำงานและทำงานเป็นทีม ทุกคนในองค์กรใด้ตระหนัก รู้แต่ต้นแล้วว่าสิ่งที่กำลังทำใหม่นี้จะเกิดผลกระทบอย่างไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะจัดการกับมันอย่างไร ใครเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เมื่อไหร่ และอย่างไร คือมีวงจรของ Visioning + Sensemaking   + Relating เข้ามาร่วมด้วยในการ Inventing ตลอดเวลา จริงๆแล้วความสามารถในความเป็นผู้นำทั้ง 4ประการนี้ จะต้องพึ่งพาอาศัยกันตลอด เพราะมันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน (Complementary ) ต้องใช้ผสมผสานกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช้อย่างแยกส่วนกัน


Signature style
เหมือนร้านอาหารดังที่มีอาหารจานเด่น (Signature dish) ของร้าน การเป็นผู้นำก็ต้องมี Signature style คือมี แบบการนำที่เป็นเฉพาะของตนเอง เป็นการนำแบบที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร เพราะอย่างที่ได้เรียน แต่เบื้องต้นแล้ว การนำมีหลากหลายวิธี (There is no single way to lead) เพราะผู้นำแต่ละคนมีภูมิหลัง ความรู้ ประสบการณ์ ทักษะ บุคลิกภาพ ความอดทนในการผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านสมรภูมิการทำงานในองค์กร ที่ยากง่ายซับซ้อนแตกต่างกัน ศักยภาพความเป็นผู้นำทั้ง 4 ประการเน้นให้เห็นถึงผลการนำของผู้นำ แต่ Signature style เน้นให้เห็นว่านำโดยใคร จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายการค้าประจำตัวผู้นำว่ามีแบบการนำการ เปลี่ยนแปลงอย่างไร


Andy Stanley กล่าวว่า “Uncertainty is a permanent part of the leadership landscape. It never goes away” ความไม่แน่นอนเป็นส่วนที่แน่นอนในพื้นที่ความเป็นผู้นำ มันไม่เคยหนีไปใหน


และ Joyce Meyer กล่าวว่า
“Change is always tough. Even for those who see themselves as agents of change, the process of starting a new thing can cause times of disorientation, uncertainty and insecurity.” การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งยากเสมอ แม้กระทั่งคนที่เห็นว่าตนเองเป็นผู้สื่อของการเปลี่ยนแปลง กระบวนการของการเริ่มสิ่งใหม่ อาจทำให้เกิดความสับสน ความไม่แน่ใจ และความรู้สึกไม่ปลอดภัย



เรากำลังจะไปสู่ Thailand 4.0 ช่วยกันหน่อยครับ



แหล่งที่มา: Leadership in an Age of Uncertainty / MIT Leadership Center

วันพุธที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

New Normal


“There are seven things that the Lord hates and cannot tolerate: A proud look, a lying tongue, hands that kill innocent people, a mind that thinks up wicked plans, feet that hurry off to do evil, a witness who tells one lie after another, and a man who stirs up trouble among friends.”

เราเชื่อกันว่าไดโนเสาร์สูญพันธุ์เพราะมันไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด
เวลา ความที่มันตัวใหญ่ น้ำหนักมาก เคลื่อนไหวช้า ไม่มีความคล่องแคล่วในการหากินและต้องกินในปริมาณ มากมหาศาลจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของมัน ทำให้ไดโนเสาร์ต้องตายและสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ ใน ขณะที่สัตว์ขนาดเล็กจำนวนมากที่มีชีวิตอยู่ในยุคไดโนเสาร์กลับสามารถมีชีวิตอยู่รอดมาได้จนถึงปัจจุบันนี้

แนวคิดเรื่องการอยู่รอดขององค์กรในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจเอกชน หน่วยงานราชการ หรือ องค์กรมูลนิธิ การกุศล ซึ่งต้องดำรงอยู่ในสภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน สังคม และเทคโนโลยี ผู้นำองค์กรทุกองค์กรมีหน้าที่ต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้องค์กร ที่ตนรับผิดชอบบริหาร สามารถอยู่รอด (Survive) ได้ และ ถีบตัวให้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ทำให้องค์กร สามารถมีชีวิตต่อไปอย่างยั่งยืน ไม่ปล่อยให้องค์กรมีชีวิตเหมือนไดโนเสาร์ในอดีต

ในระยะหลังๆนี้มีการพูดถึงคำว่า New Normal กันบ่อย ซึ่งผมไม่รู้จะใช้คำใดแปลให้กระชับและได้ ความหมายตรงๆ จึงขอสรุปเพื่อความเข้าใจง่ายๆว่า วงจรการเปลี่ยนแปลงขององค์กรจะเริ่มจากสภาวะปัจจุบัน ที่เป็นปกติ Normal ขององค์กรในเวลานี้ ที่ต้องเผชิญกับความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน สังคม และเทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอดเวลา องค์กรจึงจำเป็นต้องทำการ ปรับตัวให้ สามารถต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค และสามารถแข่งขันได้  องค์กรต้องทำการปรับตัวใหม่เพื่อทำให้ องค์กรสามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไปได้ จึงต้องดิ้นรนเปลี่ยนแปลง จากสภาวะปกติในปัจจุบันไปสู่ สภาวะใหม่ที่ดีกว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว องค์กรจะเข้าสู่สภาวะใหม่ที่องค์กรปรับตัว กลายเป็น สภาวะใหม่ New Normal ขององค์กรที่ผู้นำองค์กรต้องนำองค์กรให้สามารถอยู่รอดได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน ต่อไป สภาวะใหม่ New Normal ขององค์กรจะอยู่ไปอีกสักพักหนึ่งก็จะเคยชินกลายเป็นของปกติธรรมดา เป็นสภาวะปกติ Normal ขององค์กรอีกครั้ง องค์กรจึงจำเป็นต้องมีการการเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปสู่ New Normal รอบใหม่ขององค์กรอีกครั้งหนึ่ง เป็นวัฏจักรวงจรการเปลี่ยนแปลงขององค์กรไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่า ในอดีต วงจรการเปลี่ยนแปลงขององค์กรรอบหนึ่งอาจจะใช้เวลา 7-10 ปี แต่ปัจจุบันนี้วงจรการเปลี่ยนแปลง สั้นลงมาก คงต้องเปลี่ยนแปลงกันทุกปีหรือสองปีตามแต่สถานการณ์แล้วครับ

สภาวะการเปลี่ยนแปลงที่ผู้นำองค์กรธุรกิจในปัจจุบันพูดถึงกันบ่อยๆคือ

Volatility การเปลี่ยนสภาพ
ในสภาวะปัจจุบัน สภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง (Unexpected) เกิดขึ้นได้เสมอ มีทั้งระดับความรุนแรง และมีพลวัตรขับเคลื่อน สิ่งที่เราเห็น ข้อมูลที่เราได้รับ ไม่มีความเสถียร (Unstable) มีข้อมูลใหม่เข้ามาทำให้ปรับเปลี่ยนได้เสมอ คือทุกอย่างที่เราคิด เราเข้าใจ จะเป็นความจริงอยู่นานอีกเท่าไหร่ไม่รู้ (Unknown duration) เพราะสภาพการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา

Uncertainty ความไม่แน่นอน
เป็นสัจจธรรมที่ต้องยอมรับอยู่แล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน เพราะมีตัวแปร (Variables) มากมายที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ทั้งหมด แม้เราจะมีข้อมูล ความรู้วิชาการ และเทคโนโลยี แต่เราก็มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถรับรู้และจัดการมันได้ทั้งหมดได้ในเวลาเดียวกัน สิ่งที่เราไม่รู้ยังมีอีกมากมาย ในโลกนี้ จึงทำให้เราควบคุมสิ่งต่างๆได้อย่างจำกัด สิ่งที่เราควบคุมไม่ได้อีกมากมายนี่แหละที่มีผลกระทบ ต่อองค์กรของเรา ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้เสมอ เพราะคาดการณ์ล่วงหน้าได้ยาก

Complexity ความซับซ้อน
เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันดูเหมือนเป็นเรื่องง่ายๆที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่จริงๆแล้วแต่ละเรื่อง มีความซับซ้อนในตัวของมันอย่างมาก เพราะสภาพสังคมในปัจจุบันมีความซับซ้อนมากกว่าสังคมในอดีต  ความรวดเร็วของเทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมโยงการติดต่อของคนจำนวนมากทั่วโลกเข้าด้วยกันได้ อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ในเวลาเดียวกันมีความยากต่อการควบคุม ความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นได้เสมอ

Ambiguity ความคลุมเครือ กำกวม
ในยุคการสื่อสาร 4 G ที่มีข้อมูลวิ่งไปมาหากันทั้งโลกอย่างรวดเร็วและมากมายมหาศาล ยิ่งทำให้มีสิ่ง ที่เรายังไม่ได้รับรู้รับทราบที่เกิดขึ้นทุกเสี้ยววินาทีอีกมากมาย การที่เรายังมีสิ่งที่เราไม่รู้ไม่รู้ (Unknown unknown) อีกมากมายนั้น ทำให้เราเกิดความไม่ชัดเจน (Unclear) เกิดความคลุมเครือ กำกวม ในความหมาย จนทำให้เราเกิดความไม่แน่ใจ และยากที่จะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ทุกนาทีมีเรื่องใหม่ๆที่เราไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ยิน ผ่านเข้ามาให้เราได้รับทราบทุกวัน และเราไม่แน่ใจว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องจริงทั้งหมดที่เราเชื่อถือได้

ทั้งสี่สภาวะนี้คือสภาพของสังคมในโลกปัจจุบัน ที่ผู้นำองค์กรทุกองค์กรต้องเผชิญและต้องบริหารให้ได้ ภายใต้สภาวะการณ์เช่นนี้

อันที่จริงเรื่อง VUCA ที่กล่าวมานี้ เริ่มต้นมาจากในค่ายทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกา ที่สอนการประเมิน สถานะการณ์ เพื่อการวางแผนยุทธศาสตร์การรบ เพราะการทำสงครามในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นสงครามเย็น ที่สภาพการต่อสู้กับศัตรูไม่ได้ตั้งกองทหารเป็นแบบแนวรบต่อสู้กันเหมือนในอดีต แต่เป็นการต่อสู้ในหลาก หลายรูปแบบ ผู้นำกองทัพจึงต้องประเมินสถานการณ์ การต่อสู้อยู่ตลอดเวลา บนฐานข้อมูลที่ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ และเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ผู้นำองค์กรธุรกิจได้นำความคิดของทหารสหรัฐอเมริกา มาปรับใช้ เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจในเวลานี้มีลักษณะคล้ายกับการทำสงคราม เหมือนกัน เพราะการแข่งขันรุนแรงและต้องใช้หลากหลายรูปแบบวิธีการในการแข่งขันเหมือนทำสงครามกัน

เมื่อสถานการณ์อยู่ในสภาวะ VUCA แล้วองค์กรของเราจะอยู่รอดได้อย่างไร?
มีข้อเสนอแนะจากผู้รู้ดังต่อไปนี้

Business Agility
เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวทางธุรกิจ หมายถึงองค์กรมีความพร้อมในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว องค์กรสามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันเวลา เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน รูปแบบการดำเนินธุรกิจ ก็ต้องเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ การที่องค์กรจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างคล่องตัวรวดเร็วได้นั้น องค์กร ต้องมีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถ (Talent leader) ที่มีเครือข่ายข้อมูลที่กว้างขวาง ทำให้ได้รับทราบ ข้อมูลจากหลายแหล่ง จึงสามารถนำข้อมูลมาตรวจสอบวิเคราะห์ได้รวดเร็ว และสามารถปรับตัวได้ทันเวลา

Strategic workforce planning
เป็นองค์กรที่มีการวางแผนยุทธศาสตร์เรื่องการใช้บุคลากร องค์กรต้องรู้ว่ามีขุมกำลังที่มีศักยภาพขนาดใด ก่อนจะทำแผนยุทธศาสตร์ เพื่อจะได้รู้จุดแข็งจุดอ่อนขององค์กรในการใช้ทรัพยากรบุคคล ถ้าองค์กรยังขาดคน ที่มีความรู้ความสามารถ องค์กรก็ไม่สามารถแข่งขันได้ จึงต้องสำรวจว่าองค์กรยังขาดบุคลากรที่มีความเก่ง ด้านใด อีกเท่าไร (Talent gap) เพื่อแสวงหาคนเก่งมาเพิ่มเติม และพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพภายใน องค์กรให้มีความสามารถสูงขึ้น

Pursuit of readiness
เป็นองค์กรที่มีการเตรียมความพร้อมขององค์กรตลอดเวลา และถือว่าเรื่องความพร้อมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในการแข่งขัน เพราะโลกธุรกิจปัจจุบันไม่มีเกมส์ง่ายให้แข่งขันแล้ว มีแต่เกมส์หนักและแรง ถ้าองค์กรของ คุณไม่พร้อมแข่งขันก็ถูกขจัดออกจากเวทีการแข่งขันไป องค์กรจึงต้องเตรียมความพร้อมที่จะแข่งขัน อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพร้อมเรื่องคนที่มีความสามารถในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก

Gathering and using data
เป็นองค์กรที่มีการประมวลข้อมูลและใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด โลกยุค 4 G จำเป็นต้องใช้ข้อมูลประกอบ การวางแผนและตัดสินใจ  สมัยนี้ยากที่ผู้บริหารจะตัดสินใจโดยใช้กื๋นความรู้สึกแต่เพียงอย่างเดียว ผู้บริหาร ต้องใช้ข้อมูลเป็นหลักในการวิเคราะห์สถานการณ์และวางแผน ซึ่งแน่นอนว่าองค์กรต้องมีความพร้อมในระบบ การรวบรวบรวมจัดเก็บและประมวลผลข้อมูล เพื่อให้ผู้บริหารวิเคราะห์ ตัดสินใจ และวางแผน องค์กรที่ไม่มี ระบบสารสนเทศที่แข็งแรงย่อมเสียเปรียบองค์กรที่มีความพร้อมมากกว่า

Learning organization
เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่คนในองค์กรแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และพัฒนาศักยภาพขององค์กร อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา นี่เป็นปัญหาหลักขององค์กรในประเทศไทยเลยครับ เพราะคนไทยนิยมเรียนเอาใบ ปริญญาอย่างเดียว ไม่ได้เรียนเพื่อเอาความรู้ และหยุดการเรียนรู้พัฒนาตนเองเมื่อมีงานมีเงินเดือนที่พอใจแล้ว งานวิชาการ งานวิจัย งานนวัตกรรม งานพัฒนาคุณภาพ งานพัฒนาศักยภาพบุคลากรทิ้งหมดไม่สนใจ แค่ภาษาอังกฤษยังไม่ยอมเรียนให้เขียนอ่านพูดเป็น แล้วจะไปแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างไร

Talent management sustainability
เป็นองค์กรที่มีทรัพยากรบุคคลที่ทรงคุณค่าอย่างยั่งยืน คือมีคนเก่ง มีความสามารถ มีทักษะที่หลากหลาย อยู่ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง มีทรัพยากรบุคคลที่มีความสัตย์ซื่อจงรักภักดีต่อองค์กร และร่วมมือทำงานตาม ยุทธศาสตร์ขององค์กร (Aligned with organization’s strategy) อย่างแข็งขัน เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาของ องค์กรในประเทศไทย เพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่สนใจที่จะอยู่ทำงานในองค์กรอย่างยาวนาน พอเรียนรู้งานจาก องค์กรได้แล้ว ที่ไหนให้เงินและผลประโยชน์มากกว่าเขาก็พร้อมที่จะจากไปอยู่ทันที ความรักองค์กรมีน้อย มีความเป็นตัวของตนเองสูงมาก ยุคนี้คนเก่งแล้วอยู่สู้งานมีน้อย แต่คนเก่งแล้วไปสู้เงินมีมาก

ขอสรุปด้วยคำพูดของผู้นำระดับโลกให้ขบคิด

Winston Churchill กล่าวว่า “To improve is to change; to be perfect is to change often.” การปรับปรุงให้ดีขึ้นคือการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ถูกต้องสมบูรณ์ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ

John F. Kennedy กล่าวว่า “Change is the law of life. And those who look only to the past or present are certain to miss the future.” การเปลี่ยนแปลงเป็นกฏของชีวิต และบรรดาผู้ที่มองเฉพาะ อดีตหรือปัจจุบันแน่นอนว่าเขาจะพลาดอนาคต

Barack Obama กล่าวว่า “Change will not come if we want for some other person or some other time. We are the ones we’ve been waiting for. We are the change that we seek.” การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นถ้าเราต้องการเพื่อให้ผู้อื่นเป็นคนทำ หรือรอที่จะทำในเวลาอื่น เรานั่นแหละคือคนที่เรารอให้เป็นคนทำ เรานั่นแหละคือการเปลี่ยนแปลงที่เราแสวงหา

ถึงเวลาที่ท่านต้องตัดสินใจแล้วครับว่า ท่านจะเป็นคนทำการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองตามที่ท่านต้องการ หรือท่านจะปล่อยให้คนอื่นมาบังคับให้ท่านต้องเปลี่ยนแปลงตามที่เขาต้องการ


แหล่งที่มา: 6 Talent Strategy Levers for A VUCA World : Development Dimensions International