วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พัฒนาการทีม

“Being lazy will make you poor, but hard work will make you rich.”     Proverbs 10:4

เพิ่งเขียนเรื่องคนไทยไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นทีมไปได้ไม่กี่วัน ก็เกิดเรื่องนักกีฬาแบดมินตันไทยไปไล่ตีกันเองในสนามแข่งขันที่ต่างประเทศให้คนต่างชาติเห็นเป็นขวัญตาจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเพราะเหตุการณ์ไล่ชกต่อยกันในสนามแข่งขันแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาแบดมินตันระดับโลก จึงเป็นเรื่องค่อนข้างร้ายแรงของสมาคมแบดมินตันไทย และเป็นอุทาหรณ์สอนใจคนไทยว่า เราควรจะรู้จักรักกันให้มากกว่านี้

การสร้างทีมไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะคนแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่างกัน และความคิดของคนไม่ได้หยุดนิ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นการจะสรรหาคัดเลือกคนให้มาร่วมทำงานในทีมงานจึงต้องพิจารณาให้ดีเพราะ

Not everyone will take the journey.
คนแต่ละคนมีจุดหมายของตนเอง และเป็นจุดหมายที่แตกต่างกัน ดังนั้นจุดหมายของทีมงาน อาจจะไม่ใช่จุดหมายของเขา จึงไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องร่วมเดินทางไปกับทีมงานด้วย เมื่อจุดหมายของทีมงานกับจุดหมายของเขาไม่ตรงกัน ต่างมองดาวคนละดวง เส้นทางในการเดินไปสู่ดาวย่อมเป็นคนละเส้นทางกันอย่างแน่นอน สถานการณ์แบบนี้ อย่าดึงคนที่มีจุดหมายต่างกันเข้ามาร่วมทีมงาน เพราะยังไงก็ไปด้วยกันไม่รอด ไม่ช้าก็เร็ว ปัญหาเกิดขึ้นแน่นอน

Not everyone should take the journey.
มีความหมายว่า ไม่ใช่ทุกคนต้องเดินทางในเส้นทางนี้ เพราะคนบางคนเขาไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ เขาไม่มีความสนใจที่จะทำ เขาไม่อยากทำ เขาเป็นคนที่ไม่มีจุดหมาย เขาไม่จำเป็นต้องเดินทางตามเส้นทางเดียวกัน คนประเภทนี้อย่าเสียเวลาลากเข้ามาร่วมทีมงาน เพราะจะทำให้ทีมงานเสียเวลา และสิ้นเปลืองพลังงาน ทำให้ทีมงานมีปัญหาเพิ่มขึ้น

Not everyone can take a journey.
คนประเภทนี้อยากร่วมเดินทางไปกับทีมงาน แต่ตัวของเขาไม่มีคุณสมบัติที่ทีมงานต้องการ เขาไม่มีความสามารถ หรือทักษะที่ทีมงานต้องการใช้ แม้เขาจะมีความอยาก มีความตั้งใจดี อยากจะเข้าร่วมงานกับทีมงาน แต่ถ้าดึงคนประเภทนี้เข้ามาร่วมทีมงานก็ไม่สามารถสร้างผลิตผลหรือสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับทีมงานมากนัก จึงไม่ควรนำเอาคนแบบนี้เข้ามาร่วมกับทีมงาน เพราะเขาไม่สามารถเดินในเส้นทางนี้ได้
ความล้มเหลวในการสร้างทีมงานส่วนหนึ่งมาจากความไม่เข้าใจธรรมชาติของการพัฒนาทีมงาน เพราะการสร้างทีมงานเป็นกระบวนการที่มีการเริ่มต้น และการสิ้นสุดของกระบวนการ ซึ่งอาจจะกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

Forming การก่อตัว
เป็นช่วงเริ่มต้นในการสรรหาคนที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ต้องการเข้ามาร่วมเป็นทีมงาน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาในการหาคนที่มีความรู้ความสามารถตามที่ต้องการ แต่มักจะมีปัญหาในเรื่องทำอย่างไรถึงจะให้คนที่สรรหามาได้เหล่านี้มีคุณสมบัติที่จะทำงานร่วมกันได้และอยู่ด้วยกันในระยะเวลาที่ต้องการได้ เพราะถ้าคนที่ต้องมาอยู่ทำงานร่วมกันเกิดเป็นส่วนผสมที่ไม่ถูกต้องเข้ากันไม่ได้ การก่อตัวของทีมงานอาจล้มเหลว กลายเป็นทีมงานที่ไม่ทำงาน

Storming การระดมความคิด
ถ้าสามารถรวมตัวกันได้ พัฒนาการต่อจากนี้คือการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ทัศนะ แนวทางการทำงาน ซึ่งแต่ละคนในทีมงานจะแสดงออกมาเพื่อต้องการจะทำงานในแนวทางตามความคิด ความถนัด ความชอบของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าคนเก่ง คนมีความสามารถย่อมไม่ยอมให้ใครมานำกันได้ง่ายๆ การถกเถียงแสดงออกในช่วงแรกจึงค่อนข้างจะแข็งกร้าว รุนแรงเหมือนพายุ แต่ในที่สุดจะค่อยปรับตัว อ่อนตัวลง ความเป็นทีมงานจะเริ่มปรากฏ

Norming การสร้างบรรทัดฐาน
เมื่อการแสดงออกทางความคิดเห็นในทีมงานเริ่มได้ข้อสรุปที่เป็นทางออกร่วมกันได้แล้ว ข้อตกลงที่เกิดขึ้นหลังการต่อสู้กันทางความคิดเห็นจนตกผลึกแล้ว จึงกลายเป็นแนวทางที่ทุกคนในทีมทำงานเริ่มยอมรับ หรือกลายเป็นบรรทัดฐานของทีมงาน เป็นกฎ กติกา มรรยาท ในการทำงานร่วมกันของทีมงาน

Performing
เมื่อได้สร้างกฎเกณฑ์ในการทำงานร่วมกันแล้ว การทำงานเริ่มเกิดผลเพราะทุกคนในทีมงานมีความเข้าใจขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง และเริ่มเข้าใจความคิด และวิธีการทำงานของเพื่อนในทีมงานที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง มีความไว้วางใจกันในทีมงานมากขึ้น มีความเข้าใจอุปนิสัย รู้จักจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละคนในทีมงานมากขึ้น งานจึงเดินหน้า และการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเริ่มทำงานเป็นทีมได้แล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ท่านคงจะเกิดความคิดแย้งในใจขึ้นมาว่า มันไม่ได้ง่ายเหมือนที่เขียนหรอก เพราะคนที่เข้ามาร่วมทีมงาน มักจะไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เพราะ

·         Not everyone can work with other team members
ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นในทีมงานได้ คนบางคนไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้จริงๆ เพราะเป็นคนมีศรศิลป์ไม่กินกับคนอื่นได้ง่าย เป็นประเภทน้ำที่ไปผสมกับน้ำมันไม่ได้ เข้าไปที่ไหนก็มีปัญหากับที่นั่น เป็นคนที่น่าสงสารเพราะต้องทำงานคนเดียว

·         Not everyone can grow
ไม่ใช่ทุกคนที่จะเติบโตได้ คนบางคนมีปัญหาเรื่องความรับผิดชอบ ทำงานได้แค่ที่เคยทำ รับผิดชอบได้แค่ที่เคยได้รับมอบหมาย ไม่มีความพยายามที่จะเติบโตในเรื่องความรับผิดชอบ เป็นคนไม่สนใจในเรื่องการพัฒนาตนเองให้มีคุณค่ามากขึ้น อยู่ทำงานไปวันๆได้โดยไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ

·         Not everyone see the same
ไม่ใช่ทุกคนที่จะมองเห็นภาพเดียวกัน แม้ว่าจะชี้ให้ทุกคนมองไปทางทิศเหนือเหมือนกัน หลายคนมองเห็นภูเขา แต่อีกคนหนึ่งกลับมองเห็นเมฆเหนือภูเขา การทำงานในลักษณะเป็นทีมทุกคนในทีมงานต้องมองเห็นภาพเดียวกันก่อนถึงจะทำงานร่วมกันได้

·         Not everyone knows the weakness
ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้จักจุดอ่อนของตน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการทำงานเป็นทีม เพราะจุดอ่อนของคนบางคนในทีมงานอาจกลายเป็นจุดอ่อนของทั้งทีมงานได้ ถ้าคู่แข่งขันรู้จุดอ่อนอยู่ที่ใคร ก็จะมุ่งโจมตีจุดอ่อนนั้น คนบางคนแม้จะมีคนชี้แนะให้รู้จุดอ่อนของตน แต่ไม่ยอมรับ ไม่ยอมแก้ไขจุดอ่อนของตน กลับไม่พอใจเห็นเป็นการดูแคลนด้วยซ้ำไป เหมือนสุภาษิตฝรั่งว่า  “A cracked bell can never sound well.” ระฆังแตกไม่มีวันจะเสียงดี

·         Not everyone has the same expectation
ไม่ใช่ทุกคนจะมีความคาดหวังเหมือนกัน ความคาดหวังของบางคนสูงมาก แต่บางคนกลับไม่คาดหวังอะไรมากนัก ทำให้ความมุ่งมั่นของแต่ละคนแตกต่างกัน ถ้าคนที่มีความคาดหวังสูงเป็นคนเครื่องร้อน ต้องมาทำงานกับคนไม่คาดหวังอะไรมากนัก เป็นคนเครื่องเย็น คงจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในทีมงานในเวลาต่อมา

เพราะการหาคนมาทำงานเป็นทีมงานที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ฝรั่งถึงเรียกว่า Dream team คือเป็นทีมในความฝันเพราะในความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากในแต่ละทีมงานแม้จะคัดสรรกันอย่างไร มักจะได้สมาชิกทีมงานที่เป็นจุดอ่อนปนเข้ามาเสมอ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปัญหาในระดับต่อไปเมื่อคนที่แข็งแกร่งกว่าในทีมงานเริ่มรู้ว่าคนใดในทีมเป็นจุดอ่อนของทีมงาน ความสนใจจะพุ่งเป้ามาที่คนอ่อนแอของทีมงาน และด้วยความหวังดี ทุกคนในทีมงานจะรุมกันให้การช่วยเหลือประคับประคองคนที่อ่อนแอของทีม ในบางกรณีทำให้คนที่อ่อนแอฉวยโอกาสเกาะความช่วยเหลือของคนอื่น หรือในทางตรงกันข้ามคนที่อ่อนแอเกิดความกดดัน ไม่ต้องการรับความช่วยเหลือจากใคร และในบางครั้งกลับตัดสินใจทำในสิ่งที่เหนือความคาดหมายเพื่อต้องการพิสูจน์ว่าตนไม่มีจุดอ่อน เลยทำให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหาให้กับทีมงาน

ปัญหาในการทำงานเป็นทีมของคนไทยอาจจะแตกต่างจากการทำงานเป็นทีมของชนชาติอื่นๆ เพราะวัฒนธรรมในการอบรมสั่งสอนของคนไทยทั้งในครอบครัวและที่โรงเรียนมักจะมุ่งไปที่การสอนเด็กให้มองเห็นข้อบกพร่องของคนอื่นมากกว่ามองเห็นข้อบกพร่องของตนเอง เราสอนเด็กให้รู้จักเอาตัวรอดโดยชี้ความบกพร่องไปที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวแทนที่จะสอนเด็กให้รู้จักสำรวจความบกพร่องหรือจุดอ่อนของตนแล้วพัฒนาแก้ไขจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง เมื่อโตขึ้นต้องทำงานร่วมกัน มักจะเกิดปัญหาจากทัศนะคติที่มุ่งมองแต่จุดบกพร่องของผู้อื่นโดยไม่มองจุดบกพร่องของตนเอง มองหาโอกาสที่จะตำหนิผู้อื่นมากกว่าการชมเชยผู้อื่น

หลี่ปุ๊เหว่ย ปราชญ์ชาวจีนกล่าวว่า "ก่อนที่จะเอาชนะคนอื่น..ต้องเอาชนะตัวเองให้ได้เสียก่อน... ก่อนที่จะว่าคนอื่น...ควรพิจารณาดูตัวเองเสียก่อน และ....ก่อนที่จะรู้จักคนอื่น...ควรจะรู้จักตัวเองเสียก่อน"

เป็นความจริงที่....ถ้าคนไทยทำได้ ประเทศไทยจะมีความสุขมากกว่านี้มากครับ

หมายเหตุ: เขียนเรื่องนี้ที่ SUNTEC, SINGAPORE
ในขณะเข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “Be the Change: transforming leadership perspectives”
        



วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

How to grow a team?


“Are you immature? Learn to be mature. Are you foolish? Learn to have sense.”             Proverbs 8:5

            เป็นเรื่องปกติที่การทำงานต้องมีทีมงาน (Working Team) มาช่วยทำงานเพราะผู้นำผู้บริหารไม่สามารถไปบริหารจัดการเองได้หมดทุกเรื่อง ดังนั้นผู้นำผู้บริหารที่ต้องการทำงานให้ประสบความสำเร็จจึงต้องสร้างทีมงานที่มีคุณภาพ สามารถร่วมกันทำงานเป็นทีม (Teamwork) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะทีมงานที่ผู้นำผู้บริหารสร้างขึ้นแม้จะประกอบด้วยคนมีความรู้ มีทักษะ และมีความสามารถมาร่วมกันเป็นทีมงาน แต่ถ้ายังไม่สามารถร่วมกันทำงานเป็นทีม ผลงานของทีมงานจะยังไม่มีคุณภาพและยังไม่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน เหมือนดังที่ Henry Ford กล่าวว่า “Coming together is a beginning, keeping together is progress, working together is success.” การมารวมกันของผู้มีความรู้ความสามารถเป็นเพียงจุดเริ่มต้น การที่คนมีความรู้ความสามารถอยู่ร่วมกันได้ (โดยไม่ขัดแย้ง ขัดแข้งขัดขากัน) นับว่าเป็นความก้าวหน้า และถ้าคนมีความรู้ความสามารถทำงานร่วมกันได้คือความสำเร็จ
            ที่ Henry Ford กล่าวเช่นนี้เพราะท่านรู้ว่า การที่จะรวมคนให้อยู่ด้วยกันและสามารถทำงานเป็นทีมได้ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายเพราะคนแต่ละคนมีภูมิหลังและพื้นฐานที่แตกต่าง มีทักษะความรู้ ความชอบ ความถนัดไม่เหมือนกัน และที่สำคัญมีความสนใจในผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน เมื่อนำคนมารวมกันเป็นทีมงานแล้วจะทำอย่างไรให้ทีมงานสามารถทำงานเป็นทีมอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้งานสำเร็จบรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของผู้นำผู้บริหารอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่การทำงานเป็นทีมในเวลานี้ ดูจะเป็นจุดอ่อนของคนไทย เพราะเรามีปัญหากันแทบทุกวงการในเรื่องความแตกแยกกันเมื่อต้องรวมคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานเป็นทีมงาน ซึ่งดูจะขัดแย้งกับวัฒนธรรมการทำงานของคนไทยในอดีตที่มีการทำงานเป็นกลุ่ม เช่นการลงแขกช่วยกันในการทำนา

            ถ้าเราจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ ผู้รู้ฝรั่งเขาให้ข้อแนะนำว่า ทีมงานจะต้องทำงานเป็น Teamwork และการทำงานเป็น Teamwork จะต้องมีคุณลักษณะต่อไปนี้ 

Having clear and logical objectives
ทีมงานต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน และเป็นวัตถุประสงค์ที่มีเหตุมีผล มีหลักการที่สมาชิกทุกคนในทีมงานมองเห็นอย่างชัดเจนตรงกัน และยอมรับร่วมกันว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ทุกคนเห็นด้วย ความล้มเหลวของการทำงานเป็นทีม ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่ชัดเจนของวัตถุประสงค์ หรือสมาชิกบางคนในทีมงานไม่ค่อยเห็นด้วยกับวัตถุประสงค์ของทีมงาน ทำให้มีความขัดแย้งในใจตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ซึ่งถ้าไม่ได้พูดคุยทำความเข้าใจกันให้กระจ่างแต่แรก จะมีโอกาสเกิดปัญหาในระหว่างการทำงานกับทีมงานได้เสมอ

Creating enthusiasm and initiative to make thing happen
เมื่อรวมกันเป็นทีมงานแล้ว ต้องสร้างบรรยากาศแห่งความกระตือรือร้นในการทำงานร่วมกัน สมาชิกทีมงานต้องมีความอยากที่จะทำงานให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ สมาชิกในทีมงานต้องมีความอยากสร้างผลงาน อยากเห็นความคืบหน้าในการทำงาน อยากเห็นความสำเร็จเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความรู้สึกตื่นเต้น ท้าทายในงานที่ได้รับมอบหมาย มองเห็นเป็นโอกาส

Making sure everyone clearly understands their roles and tasks
เมื่อมารวมกันเป็นทีมงานแล้ว สมาชิกของทีมงานจะต้องเสนอตัวเพื่อขอทำงานตามความต้องการของตน ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันเพื่อแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานให้เหมาะสมตามความรู้ ความสามารถ ความถนัด ความชอบ ให้สอดคล้องกับลักษณะงานที่แต่ละคนในทีมได้รับมอบหมาย และมีปริมาณงานและความสำคัญของงานที่ใกล้เคียงกัน ไม่ให้งานไปหนักที่คนใดคนหนึ่งในทีมงานจนเกินไป หรืองานสำคัญไปกระจุกอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่งมากจนทำให้สมาชิกทีมงานรู้สึกว่าตนเองไม่มีความสำคัญ หรือรู้สึกว่าคนอื่นกำลังเอาเปรียบตน

Using people with different skills and delegating tasks to people with right skills
ในทีมงานต้องประกอบด้วยสมาชิกที่มีทักษะความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน มีความหลากหลายทางความคิดความรู้ ความสำคัญอยู่ที่การแบ่งงานให้เหมาะสมกับทักษะความรู้ความสามารถของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน งานถึงจะเดินหน้าไปถึงเป้าหมายได้อย่างราบรื่น เพราะทุกคนได้ทำงานตรงตามทักษะความรู้ความสามารถของตน จึงมีความสุขในการทำงาน และมีความร้อนรนในการทำงานให้สำเร็จ

Taking a positive attitude
สมาชิกของทีมงานต้องมีทัศนะคติที่ดีต่อกัน เคารพนับถือในความรู้ทักษะความสามารถที่แตกต่างกัน รู้จักให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีความเชื่อมั่นว่าสมาชิกทีมงานแต่ละคนมีความมุ่งมั่น มีความรับผิดชอบ สามารถทำงานร่วมกันได้ และมั่นใจในความสัตย์ซื่อเชื่อถือได้ของสมาชิกทีมงานว่ามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำให้งานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของทีมงาน

Learning from setbacks
ในการทำงานร่วมกัน สมาชิกของทีมงานมีโอกาสทำงานผิดพลาดได้ อาจจะมีข้อด้อย มีอุปสรรคปัญหามากกว่าที่คาดคิดไว้ ดังนั้นทุกคนในทีมงานจึงต้องรู้จักเรียนรู้ข้อด้อยข้อบกพร่องต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะทำงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขพัฒนาข้อด้อย ช่วยกันขจัดจุดอ่อนของทีมให้หมดไป ซึ่งจะทำให้ทีมงานมีความเข้มแข็งมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการทำงาน

Being comfortable with disagreement
จุดอ่อนประการหนึ่งที่ทำให้การทำงานเป็น Teamwork ล้มเหลวคือการที่สมาชิกในทีมงานมีขันติบาง จนไม่สามารถอดทนรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ สมาชิกทีมงานบางคนไม่ชอบฟังความคิดโต้แย้ง หงุดหงิดใจทุกครั้งเมื่อมีคนอื่นแสดงความคิดเห็นต่างจากความคิดของตน สังคมไทยเกิดเหตุฆ่ากันตายง่ายๆกลางวงสนทนาบ่อยเพราะคนบางคนกลั้นอารมณ์ไม่อยู่ แม้แต่ในเวลานี้คนไทยยังไม่กล้าพูดจาสนทนากันถ้ามีความคิดต่างสีกัน ดังนั้นถ้าจะทำงานเป็นทีม ต้องฝึกหัดทำใจให้สบายเมื่อฟังความเห็นที่ขัดแย้งกับความคิดเห็นของตน

Listening to others
การรู้จักฟังคนอื่น หมายถึงการตั้งใจฟัง เงียบฟัง ไม่ขัดจังหวะคนพูด ฟังคนอื่นพูดให้จบ แสดงออกถึงความสนใจในสิ่งที่คนอื่นพูด และพิจารณาเนื้อหาสาระที่ผู้พูดตั้งใจจะสื่อให้เราเข้าใจอย่างมีเหตุผล ซึ่งจะทำให้ผู้พูดรู้สึกได้รับเกียรติ หลังจากฟังจนจบแล้วถึงแสดงความคิดเห็น โดยเริ่มจากการพูดชมเชยประเด็นที่ดีของผู้พูดแล้วถึงพูดประเด็นที่ตนเองต้องการชี้แนะหรือไม่เห็นด้วย การรู้จักฟังคนอื่นไม่ได้หมายความว่าจะต้องเชื่อและทำตามคนอื่น แต่หมายถึงความสนใจฟังประเด็นข้อเสนอของผู้อื่นเพื่อความเข้าใจและนำมาใช้ประโยชน์ถ้าทำได้
Having people who can coordinate and accept responsibility
ทีมงานที่ประสบความสำเร็จต้องมีคนที่มีความสามารถในการประสานงานและสมาชิกทีมทุกคนมีความรับผิดชอบในการทำงาน ถ้ามีคนเก่งที่สามารถเป็นตัวเชื่อมในทีมงานจะทำให้การสื่อสารในการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ทำให้มีเอกภาพในการทำงานมากขึ้น งานจะเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เสียเวลารอคอยข้อมูลโดยไม่จำเป็น งานจะเสร็จเร็วมากขึ้น
Creating informal group atmosphere
ทีมงานที่ดีไม่มีรูปแบบการทำงานที่เข้มงวดเป็นทางการอยู่ตลอดเวลา การทำงานต้องมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีความเป็นกันเอง มีความไม่เป็นทางการผสมอยู่ในการทำงาน เพื่อสร้างความยืดหยุ่น ไม่เกร็งจนเกิดความตึงเครียดในการทำงานซึ่งนำไปสู่ความเปราะบางทางอารมณ์จนบางครั้งกลายเป็นปัญหาของทีมงาน การมีอารมณ์ขันบ้างทำให้การคิด การอภิปราย มีมุมมองแปลกใหม่ มีความกระฉับกระเฉง ซึ่งจะช่วยทำให้การทำงานในทีมงานดีขึ้น

            คำถามตามมาคือว่า ถ้าสมาชิกทีมงาน มีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกัน ควรทำอย่างไรดีให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้รู้ในการสร้าง Teamwork ให้ข้อเสนอแนะว่า

Enthusiastic beginners need direction
ถ้าสมาชิกเป็นผู้ที่ยังด้อยประสบการณ์แต่มีความตื่นเต้นกระตือรือร้นมาก เพิ่งเข้ามาร่วมทีมงาน อยากรับผิดชอบทำงานเสียเกือบทุกเรื่อง หัวหน้าทีมผู้มีประสบการณ์ควรแนะนำให้ผู้อ่อนประสบการณ์เข้าใจทิศทางในการทำงาน เพื่อไม่ให้เกิดอาการรนมากจนเกินไป จนเกิดความสับสน ทำให้งานเดินไปอย่างไร้ทิศทางที่ถูกต้อง จะทำให้ทีมงานเสียเวลา
Disillusioned learners need coaching
ถ้าทีมงานมีสมาชิกทีมที่ยังไม่มีความกระจ่างชัดเจนในจุดประสงค์ของการทำงาน หรือมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ภาพของจุดหมายปลายทางของทีมงานยังคลุมเครือ ยังรู้สึกไขว้เขว คล้ายกับมีภาพลวงตาที่ต้องปรับโฟกัสให้ชัดเจน การทำงานจึงต้องมีการให้คำแนะนำ ช่วยเหลือเพื่อทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ทำให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ หัวหน้าทีมงาน หรือผู้มีประสบการณ์สูงในทีมงานต้องทำหน้าที่เป็น Coach ให้สมาชิกทีม
Cautious completer needs support
ถ้าทีมงานมีสมาชิกที่มีความระมัดระวังในการทำงานมากจนเกินเหตุ เป็นคนประเภทจะทำอะไรก็กังวลเกรงว่าจะผิดระเบียบขั้นตอน ต้องรอให้มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรมาก่อนถึงจะทำ กลัวว่าถ้าทำไปก่อนจะมีความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หรือเป็นคนเกรงใจและเกรงกลัวไม่กล้ารับผิดชอบ แบบนี้สมาชิกในทีมต้องผนึกกำลังกันหนุนใจสมาชิกทีมให้คลายกังวลว่าถ้ามีความผิดพลาดจะเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ให้ความมั่นใจว่าสมาชิกทุกคนจะช่วยกันปกป้อง
Self- reliant achiever needs responsibility
ในทางตรงกันข้าม ถ้ามีสมาชิกในทีมเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง แบบนี้ต้องมอบความรับผิดชอบให้เขาทำงานงานไปเลย เพราะคนประเภทนี้มีความมั่นใจในความสามารถของตนเองสูงมาก เป็นคนประเภทจุดไฟได้ด้วยตนเอง จึงต้องเปิดพื้นที่ให้เขาเล่นเต็มความสามารถของเขา ซึ่งทำให้เขาได้ใช้ศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ และเป็นประโยชน์ต่อทีมงาน
            Michael Jordan กล่าวว่า “Talent wins games, but teamwork and intelligence wins championships” ความสามารถพิเศษทำให้ชนะการแข่งขันได้ แต่การทำงานเป็นทีมและสติปัญญาทำให้เป็นทีมชนะเลิศการแข่งขัน เพราะความสามารถเฉพาะตัวของนักกีฬาอาจจะทำให้สามารถเอาชนะทีมที่ยังไม่เก่งที่สุดได้ แต่เมื่อต้องแข่งกับทีมในรอบชิงชนะเลิศซึ่งเป็นทีมที่แข็งแกร่ง ความสามารถเฉพาะตัวอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีแผนการเล่นที่ฉลาดใช้ปัญญาไหวพริบ และเล่นเป็นทีม มีความเป็น Teamwork สูง ความผิดพลาดน้อย ถึงจะชนะเลิศได้
            James Cash Penney กล่าวว่า “The best teamwork comes from men who are working independently toward one goal in unison” การทำงานเป็นทีมที่ดีที่สุดมาจากคนหลายคนที่ต่างทำงานอย่างอิสระเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันอย่างมีเอกภาพ
            วันนี้ถึงเวลาที่คนไทยทุกคนจะต้องรู้จักการทำงานเป็นทีมแล้ว เพราะถ้าเรายังทำงานแบบเดิมคือ “ทำตามใจคือไทยแท้” ทำงานกันอย่างเป็นอิสระ ต่างคนต่างทำตามความคิดเห็นของตน ขาดความมีเอกภาพ ไม่มีจุดร่วมเป้าหมายเดียวกัน ประเทศไทยจะไม่มีโอกาสได้เป็น Champion ของอาเซียนเมื่อรวมกันเป็นกลุ่มประเทศ AEC แล้ว ฟันธงครับM