วันเสาร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ผู้นำพัฒนาคน People Development


“If you are wise, you are wise to your own advantage,
       but if you are a mocker, you alone must bear it.” Proverbs 9:12

เมื่อผู้นำสามารถพัฒนาการนำของตนจนถึงระดับสร้างผลงานดังที่ได้เขียนไปในตอนที่แล้ว การนำองค์กรขั้นต่อไปคือการพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะองค์กรไม่สามารถหยุดการเติบโตของตัวเอง เนื่องจากองค์กรต้องต่อสู้แข่งขันต่อไปเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ผู้นำจึงต้องพัฒนาคนในองค์กรให้สามารถแข่งขันอย่างได้เปรียบ (Competitive advantage) อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้เดินไปข้างหน้าอย่างได้เปรียบต่อไป เพื่อความอยู่รอด และความยั่งยืนขององค์กร
          คน เป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุด เพราะการสร้างคน ต้องลงทุนมากและใช้เวลามาก กว่าจะได้คนมีความรู้ ความสามารถ และทักษะ เพียงพอตามความต้องการขององค์กร เวลานี้ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนคนในบางสาขาวิชาชีพ เพราะในอดีต เราขาดการวางแผนสร้างคนให้สอดคล้องกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมและธุรกิจ ปัจจุบันจึงไม่สามารถขยายการลงทุนทางเศรษฐกิจตามที่ต้องการได้ ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง

          ผู้นำจึงต้องทำงานในระดับต่อไป คือการพัฒนาคนขององค์กร โดย

Learning organization: องค์กรเรียนรู้
ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศขององค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทำให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ เป็นความจำเป็นที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพขององค์กรให้สามารถแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง องค์กรใดที่คนในองค์กรขาดความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ องค์กรนั้นจะหยุดเติบโต และถ้าคนในองค์กรไม่พัฒนาศักยภาพของตนเอง องค์กรก็ขาดศักยภาพในการแข่งขันเช่นกัน ข้อด้อยของคนไทยคือไม่ค่อยใส่ใจการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ดังที่เรามีสถิติที่น่าละอายใจว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนไทยอ่านหนังสือเพียงไม่กี่บรรทัดต่อปี

Higher quality performance: งานคุณภาพสูงขึ้น
การแข่งขันในปัจจุบันเน้นเรื่องคุณภาพ ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจ มีมาตรฐานคุณภาพด้านต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่มาตรฐานวัตถุดิบ มาตรฐานกระบวนการผลิต จนถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์ แม้กระทั่งของเสีย ของเหลือใช้ในการผลิตยังต้องมีมาตรฐานในการทิ้งและทำลาย มีมาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม มาตรฐานการอนุรักษ์พลังงาน มาตรฐานความปลอดภัย เข้ามากำกับ มาตรฐานทุกด้านกดดันให้องค์กรต้องมีคุณภาพสูงขึ้น หน้าที่ของผู้นำจึงต้องนำคนในองค์กรให้มีคุณภาพสูงขึ้น เพื่อทำงานให้มีมาตรฐานสูงขึ้น จึงจะสามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภคและสังคมได้

Promote people: ส่งเสริมคน
ผู้นำมีหน้าที่ในการส่งเสริมคนในองค์กร ให้มีความกระหายที่จะเป็นคนเก่ง คนกล้า คนก้าวหน้า และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เพราะคนสามารถพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผู้นำที่ดีมีความสุขในการส่งเสริมคนให้พัฒนาตนเอง เพราะถ้าคนพัฒนาตนเองได้มากขึ้น ภาระของผู้นำจะเบาลง การส่งเสริมให้คนมีโอกาสพัฒนาตนเอง ทำให้เขามีโอกาสได้ทำงานที่มีความยาก ความท้าทาย และความรับผิดชอบที่สูงขึ้น ทำให้คนรู้สึกว่ามีคุณค่าต่อองค์กรมากขึ้น อย่างที่ Bill Bradley กล่าวว่า Leadership is unlocking people's potential to become betterการเป็นผู้นำคือการปลดสิ่งที่กักขังศักยภาพของคนออก เพื่อทำให้เขาดียิ่งขึ้น

Making people a better life: ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ผู้นำมีหน้าที่ในการทำให้คนในองค์กรมีความสุข โดยทำให้คนในองค์กรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือทำให้คนมีความสมดุลในชีวิต ทั้งชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว และชีวิตสังคม ภาวะดุลยภาพเกิดจากลักษณะการนำของผู้นำ ถ้าผู้นำเข้าใจจังหวะในการนำ ผู้นำจะรู้จักเร่งและผ่อนจังหวะในการนำให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม เหมือนวาทยกรที่ให้จังหวะการเล่นดนตรี เร็ว ช้า ดัง เบา สลับกันไป ทำให้เสียงเพลงที่บรรเลงจากดนตรีทั้งวง มีความไพเราะและมีสุนทรียภาพ ทั้งวาทยกร นักดนตรีและผู้ฟัง มีความเพลิดเพลิน และมีความสุขร่วมกัน

Build successor: สร้างผู้นำคนต่อไป
ผู้นำมีหน้าที่สร้างผู้นำคนต่อไป และผู้นำมีหน้าที่สร้างผู้นำอีกหลายๆคนให้แก่องค์กรและสังคม เพราะการสร้างผู้นำเป็นงานยาก แม้โดยหลักการจะกล่าวว่าคนสามารถพัฒนาความเป็นผู้นำได้ แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการนำได้ หลายคนแม้ถูกพัฒนาให้เป็นผู้นำแล้ว แต่ล้มเหลวในการนำคนและองค์กร เนื่องจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมไม่สนับสนุนการนำของเขา ผู้นำจึงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ว่าผู้นำคนต่อไปจะนำองค์กรได้อย่างไม่สะดุด ผู้นำที่ดีย่อมมีความต้องการให้ผู้นำคนต่อไปมีความสามารถในการนำสูงเพื่อจะสามารถนำองค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะความสำเร็จขององค์กรหลังการนำของตน คือความสำเร็จในการสร้างผู้นำของตน

Royalty: สร้างความจงรักภักดี
ผู้นำมีหน้าที่สร้างความจงรักภักดีต่อองค์กรให้เกิดขึ้น การนำของผู้นำต้องสื่อความความสัตย์ซื่อจงรักภักดีต่อองค์กรให้คนในองค์กรได้เห็นประจักษ์ สามารถสัมผัสได้จากการปฏิบัติจริง ผู้นำต้องระมัดระวังอย่าให้คนในองค์กรจงรักภักดีต่อผลประโยชน์ที่ได้รับมากจนลืมองค์กร เพราะถ้าคนในองค์กรทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว เมื่อใดที่องค์กรไม่สามารถตอบสนองความต้องการเงินของเขา องค์กรจะสูญเสียเขาไปอย่างง่ายดาย เพราะเงินมาก่อนองค์กร แต่ถ้าคนในองค์กรทำงานเพราะความรักองค์กรและมีความรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าขององค์กร เขาจะต่อสู้และรักษาองค์กรให้รอด เพราะเขาจงรักภักดีต่อองค์กร

Develop yourself, develop others: พัฒนาตนเองก่อน พัฒนาผู้อื่น
ผู้นำมีหน้าที่แรกคือการพัฒนาตนเอง เพราะผู้นำต้องเป็นตัวอย่างการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้คนในองค์กรเอาเป็นแบบอย่าง ผู้นำหลายคนหลงความสำเร็จในการนำของตนในระยะแรก แล้วละทิ้งการพัฒนาตนเอง ทำให้เส้นกราฟพัฒนาตนเองของผู้นำเริ่มดิ่งต่ำลงอย่างไม่รู้ตัว เมื่อผู้นำย่อหย่อนในการพัฒนาตนเอง คนในองค์กรก็จะย่อหย่อนการพัฒนาตนเองตามไปด้วย

Listen, Learn, Lead: ฟัง เรียนรู้ แล้ว นำ
การฟังอย่างลึก ทำให้เข้าใจคนอื่นได้ลึกด้วย ดังที่ Stephen R. Covey ได้กล่าวไว้ในหนังสือ 7 Habits of Highly Effective People ของเขาว่า “Seek to understand, then be understood” คือผู้นำต้องมีความเข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วคนอื่นถึงจะเข้าใจผู้นำ นั่นคือการรู้จักฟังคนอื่นเพื่อจะเข้าใจความต้องการคนอื่นก่อน เมื่อรับรู้และเข้าใจความต้องการของผู้อื่นแล้ว ผู้นำจะเรียนรู้ว่าเขาควรจะนำอย่างไร คนถึงจะยอมตามเขา นั่นคือการทำให้คนอื่นเข้าใจการนำของเขานั่นเอง

Value to people: ให้คุณค่าผู้อื่น
ผู้นำที่ได้ใจผู้ตามคือผู้นำที่รู้จักให้คุณค่าผู้อื่น มองเห็นคุณค่าในตัวบุคคลแต่ละคน ซึ่งมีข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกัน หน้าที่ของผู้นำคือการดึงเอาข้อดีของคนออกมาเพิ่มคุณค่า (Add value) ให้เขา ทำให้เขามองเห็นศักยภาพและคุณค่าในตัวของเขา ให้เขาดึงศักยภาพในด้านเด่นในตัวเองออกมาเพิ่มคุณค่าให้มากที่สุด เพราะจะทำให้เขาเพิ่มคุณค่าให้แก่องค์กร และทำให้การนำองค์กรของผู้นำมีความสำเร็จมากขึ้นด้วย
          John C. Maxwell กล่าวว่า “People follow you because you have done for them.” คนติดตามคุณเพราะสิ่งที่คุณได้ทำให้กับเขา เพราะเมื่อใดที่คนเกิดความรู้สึกว่าการติดตามผู้นำ เขาไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากผู้นำเลย ผู้นำไม่ได้ใส่ใจทำอะไรให้เขา คนจะเลิกติดตามผู้นำ ความเป็นผู้นำจะอ่อนพลังลง
                การนำของผู้นำจะเกิดผลสูงสุดเมื่อความสำเร็จของคนในองค์กรได้หลอมรวมเป็นความสำเร็จเดียวกันกับผู้นำ คือผู้นำเห็นความสำเร็จของผู้ติดตามเป็นความสำเร็จของตน (Their successes become my success) เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้นำจึงมีหน้าที่ในการทำให้คนในองค์กรประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะความสำเร็จของคนในองค์กรคือความสำเร็จของผู้นำ และความสำเร็จของผู้นำคือความสำเร็จของคนในองค์กรทั้งหมด
          Henry Ward Beecher กล่าวว่า Hold yourself responsible for a higher standard than anybody expects of you. Never excuse yourself.” พยายามให้ตนเองรับผิดชอบมาตรฐานที่สูงกว่าที่คนอื่นคาดหวังจะได้รับจากคุณ และอย่าหาเหตุผลหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ นี่คือความรับผิดชอบของผู้นำที่ดี
ขอปิดท้ายด้วยประโยคทองของอาจารย์ Peter Drucker ที่กล่าวว่า “Making good decisions is a crucial skill at every level.” การตัดสินใจที่ดีเป็นทักษะที่สำคัญในทุกระดับ

ยิ่งเป็นผู้นำระดับสูง ยิ่งต้องมีทักษะสูงในการตัดสินใจครับ
 
ขอขอบคุณที่ท่านได้สละเวลาอ่านบทความที่ผมเขียนมาตลอดปี
หากจะมีสิ่งใดในบทความไม่สบอารมณ์ของท่าน ผมขออภัย 
ขอพระเจ้าประทานพร ให้ท่านมีความสุข ความสบายใจ
มีสุขภาพที่ดี มีสันติสุขในชีวิต
ตลอดปีใหม่ ๒๕๕๗ 
 
ด้วยความเคารพ
สมชัย ศิริสุจินต์ 
 

วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Merry Christmas!

The love for friends and family is a human thing.
It is to love those who are lovely.

The love for the less fortunate is a beautiful thing.
It is to love and care for those who are suffered.

The love for the more fortunate is a blessing.
It is to love and rejoice without envy for those who are succeeded.

The love for the enemy is the greatest love.
It is the unconditional love of God for those who does not love us.

May the love of baby Jesus be with us in this wonderful Christmas and the coming peaceful year.


Somchai Sirisujin

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ผู้นำสร้างผลงาน


​​ “No one remembers the wise, and no one remembers fools. In days to come, we will all be forgotten. We must all die---wise and foolish alike.
 So life came to mean nothing to me, because everything in it had brought me nothing but trouble. It had all been useless; I had been chasing the wind.                                                                                          ปัญญาจารย์ 2:16-17

ได้เขียนเรื่องพัฒนาการของการเป็นผู้นำมาแล้ว 2 ระดับคือ ระดับแรก การเป็นผู้นำตามตำแหน่ง (Position) เมื่อเข้าสู่การเป็นผู้นำตามตำแหน่งแล้วมีพัฒนาการเป็นผู้นำไปสู่ระดับที่สอง คือผู้นำได้รับการยินยอมรับ (Permission) เมื่อผู้นำสามารถสร้างความสัมพันธ์ สร้างความมั่นใจ สร้างการยอมรับ ให้เกิดขึ้นในองค์กรที่ตัวเองเป็นผู้นำ
การเป็นผู้นำไม่สามารถหยุดอยู่ที่ระดับนี้ ผู้นำที่ดีต้องมีพัฒนาการเป็นผู้นำให้สูงขึ้นไปอีก John C. Maxwell เรียกผู้นำระดับที่ 3 ว่า ระดับสร้างผลงาน (Production level) เพราะเมื่อผู้นำสามารถสร้างความไว้วางใจ สร้างการยอมรับได้แล้ว สิ่งที่ผู้นำจะต้องสร้างต่อไปคือ สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์และยอมรับ
ในช่วงแรกของการเป็นผู้นำ ผู้ติดตามจะให้โอกาสผู้นำในการเรียนรู้และปรับตัว ที่หลายท่านบอกว่าอยู่ในช่วงฮันนีมูน ผู้นำตัดสินใจทำอะไรผู้ติดตามจะให้โอกาสและให้เกียรติแก่ผู้นำ แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยกับผู้นำแต่ไม่คัดค้านต่อต้านอย่างเต็มแรง เพราะอยากลองของใหม่ ว่าจะดีแค่ไหน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปพอสมควร ผู้ติดตามจะเริ่มเปรียบเทียบผลงานการเป็นผู้นำ กับ ผู้นำคนอื่นๆ และถ้าผู้นำยังไม่สามารถสร้างผลงานโดดเด่นออกมาให้ผู้ติดตามได้ชื่นใจ ผู้ติดตามจะเริ่มกังขา ตั้งคำถาม สงสัยในความสามารถที่แท้จริงของผู้นำ ดังนั้นผู้นำจะต้องมีผลงาน สร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาภายใต้การนำของตน
การที่ผู้นำจะสร้างผลงานขึ้นมาได้ ผู้นำจะต้องใช้จังหวะส่ง (Momentum) ที่เกิดจากการเป็นผู้นำ คืออำนาจตามตำแหน่งที่ได้รับในระดับที่1และความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ การที่ผู้ติดตามยอมรับ ในระดับที่ 2 มาสร้างให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เป็นผลงานที่เป็นประโยชน์แก่องค์กร ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นว่า ผู้นำสามารถนำองค์กรไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้สำเร็จ จังหวะนี้สำคัญ ถ้าผู้นำไม่สามารถอาศัยจังหวะส่งให้เกิดผลงาน ผู้ติดตามจะเริ่มหงุดหงิด และการวิพากษ์วิจารณ์จะตามมา เพราะผู้นำไม่ได้ใช้สิ่งที่ได้รับจากการเข้ามาเป็นผู้นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
การสร้างผลงานจึงเป็นเรื่องสำคัญของการเป็นผู้นำ เมื่อเข้ามาสู่การเป็นผู้นำแล้ว ถ้ายังไม่สามารถสร้างผลงานที่โดดเด่นในระยะเวลานี้ได้ การขับเคลื่อนองค์กรต่อไปภายใต้การนำจะยิ่งยากขึ้น ในทางตรงการข้าม ถ้าผู้นำสามารถสร้างผลงานออกมาเป็นที่ประทับใจ การสร้างผลงานชิ้นต่อไปจะเร็วขึ้น การขับเคลื่อนองค์กรจะเร็วขึ้นจากแรงส่งของผลงานที่ออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับ
ผู้นำที่ต้องการผลงานที่เกิดผลภายใต้การนำของตนจึงต้อง

Motivating: สร้างแรงจูงใจ
        ผู้นำต้องสามารถสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ติดตาม สร้างบรรยากาศทำให้เกิดความรู้สึกอยากรู้ อยากทำให้เกิดขึ้นในองค์กร เพราะการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อยู่ที่ความกระตือรือร้นของคนส่วนใหญ่ในองค์กร แรงจูงใจไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละคนมีแรงจูงใจมากน้อยแตกต่างกันไป ความท้าทาย โอกาสแสดงความสามารถ การยกย่อง ชื่นชม รางวัลเกียรติยศ การยอมรับผลงาน ข้อคิดที่สร้างแรงบันดาลใจ ล้วนมีส่วนในการสร้างแรงจูงใจได้ทั้งสิ้น  

Mentoring: ดูแลแนะนำ
        ผู้นำต้องมีความสามารถเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลแนะนำให้ผู้ติดตามสามารถสร้างผลงานในส่วนที่ผู้ติดตามรับผิดชอบให้สำเร็จ การนำองค์กรภายใต้ทิศทางและยุทธศาสตร์ของผู้นำ ไม่ใช่ผู้ติดตามทุกคนในองค์กรจะรู้ เข้าใจ และมีความสามารถทำได้อย่างถูกต้อง อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำจึงต้องทำหน้าที่คอยดูแล ให้คำแนะนำ แก่ผู้ติดตามโดยไม่ต้องเข้าไปทำด้วยตนเองแต่ต้องช่วยให้ผู้ติดตามสามารถใช้ศักยภาพของเขาทำให้งานที่รับผิดชอบสำเร็จตามประสงค์

Monitoring: ติดตาม ตรวจสอบ
        ผู้นำต้องคอยติดตาม ตรวจสอบ ว่าผู้ติดตามมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้างในการทำงานเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมาย ภายใต้การชี้นำของผู้นำ การเฝ้าติดตามการขับเคลื่อนโครงการต่างๆที่ผู้นำได้มุ่งหวังไว้ จะทำให้ผู้นำรู้ว่าขณะนี้ ผู้นำสามารถนำองค์กรมาถึงจุดใดแล้ว เป็นการประเมินสถานะ (Status) ในการนำของผู้นำ และเป็นการประเมินศักยภาพของผู้ติดตามในองค์กรเช่นกันว่า มีสมรรถนะ (Competency) อยู่ในระดับใด ผู้นำสามารถปรับการนำและปรับวิธีการแนะนำดูแลแก่ผู้ติดตามได้อย่างทันการณ์

Modeling:  เป็นแบบอย่าง
ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ติดตาม เพราะผู้นำคือจุดสนใจที่ผู้ติดตามเฝ้ามอง สิ่งที่ผู้นำพูด แสดงออก และกระทำ เป็นสัญญาลักษณ์บ่งบอกให้ผู้ติดตามรับรู้และเข้าใจว่าผู้นำเห็นชอบ หรือสนับสนุนให้ผู้ติดตามปฏิบัติตาม ถ้าผู้นำต้องการคนในองค์กรให้มีคุณลักษณะแบบใด ผู้นำต้องแสดงคุณลักษณะแบบนั้นออกมา ผู้นำที่ต้องการให้คนในองค์กรมีความสัตย์ซื่อ ตัวผู้นำต้องสัตย์ซื่อทั้งคำพูดและการปฏิบัติให้ผู้ติดตามเห็นอย่างชัดเจน ผู้ติดตามจะยึดการปฏิบัติของผู้นำเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติของเขา

Moving: เคลื่อนไหว ไปข้างหน้า
        ผู้นำต้องนำองค์กรให้เกิดการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เมื่อใดที่ผู้นำหยุดการเคลื่อนไหว สถานะภาพ การเป็นผู้นำจะอ่อนลง เพราะผู้ติดตามคาดหวังให้ผู้นำต้องเคลื่อนไหวนำพวกเขาให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายข้างหน้า ความต้องการของผู้ติดตามคือต้องการให้ผู้นำขับเคลื่อนให้พวกเขาไปถึงเป้าหมายโดยเร็วที่สุด ผู้นำจึงต้องเข้าใจและใช้จังหวะส่ง (Momentum) ในการขับเคลื่อน ให้ผู้ติดตามขยับเคลื่อนที่ตามไปสู่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง โดยรู้จักเพิ่มความเร็ว (Speed) ในการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม จากการจัดแถว (Alignment) ในตอนแรก แล้วก้าวเดินอย่างมีจังหวะ และสามารถใช้จังหวะส่งนำในเวลาที่เหมาะสมได้อย่างไม่สะดุด

Multiplying: เกิดผลงานทวีคูณ
          การนำของผู้นำต้องเกิดผล และเกิดผลมากกว่าเดิม เมื่อใดที่ผู้ติดตามรู้สึกว่าการนำของผู้นำไม่ได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่องค์กรและตัวเขามากกว่าเดิม ความไว้วางใจในตัวผู้นำจะสั่นคลอน ความสงสัยจะเกิดขึ้น การเปรียบเทียบผลงานกับผู้นำคนอื่นๆจะตามมา เมื่อผู้ติดตามคาดหวังในตัวผู้นำไว้สูง แล้วผู้นำทำไม่ได้ตามที่พวกเขาคาดหวัง พวกเขาจะหมดความเชื่อถือไว้วางใจในตัวผู้นำ
          คำกล่าวว่า “การนำคนคือการนำองค์กร” (Leading people is leading organization) เป็นความจริงเพราะองค์กรอยู่ได้เพราะชีวิตคนในองค์กร คนในองค์กรมีชีวิตอย่างไร องค์กรก็มีชีวิตอย่างนั้น องค์กรจะประสบความสำเร็จได้ คนในองค์กรต้องมีความสามารถก่อน เพราะคนคือผู้ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ
ผู้นำเมื่อได้รับหน้าที่เป็นผู้นำขององค์กรแล้วจะต้องทำให้เกิดผลที่มีคุณค่าแก่คนในองค์กร ซึ่งจะส่งผลทำให้องค์กรเกิดความสำเร็จตามมา อย่าลืมว่าคนติดตามผู้นำเพราะเขาได้เห็นสิ่งที่ผู้นำได้ทำเพื่อองค์กร (People follow leaders because they have seen what leaders have done for their organizations) ไม่ใช่ทำเพื่อผลประโยชน์ของผู้นำ
          Paul J. Meyer กล่าวว่า Productivity is never an accident. It is always the result of a commitment to excellence, intelligent planning, and focused effort.”
          ผลผลิตไม่เคยเป็นเรื่องที่บังเอิญเกิดขึ้น มันเป็นผลของการทุ่มเทให้กับความเป็นเลิศ การวางแผนอย่างชาญฉลาด และความพยายามอย่างมุ่งมั่นเสมอ
          เช่นเดียวกับ Franz Kafka ที่กล่าวว่า “Productivity is being able to do things that you were never able to do before.”
          ผลผลิตคือความสามารถในการทำสิ่งที่ไม่เคยสามารถทำได้มาก่อน
          ผู้นำ ที่มีศักยภาพในการนำจึงต้องสร้างผลงานที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนเพื่อรักษาสถานะ การเป็นผู้นำที่มีผู้ติดตามต่อไป
          ผู้นำ ที่ไม่สามารถสร้างผลงานใหม่ ศักยภาพในการนำจะลดลง และความไว้วางใจในตัวผู้นำจะลดลงเรื่อยๆ จนหมดสภาพความเป็นผู้นำในที่สุด