วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ก้าวใหม่การศึกษาOnline



“It is the LORD who gives wisdom; from him come knowledge and understanding.” Proverbs 2:6

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2555 มหาวิทยาลัย Open University ได้ประกาศตั้งบริษัท Futurelearn เพื่อร่วมมือกับอีก 11 มหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ เพื่อเตรียมการเปิดการเรียนการสอนแบบ online ในต้นปีหน้า เนื่องจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษจำเป็นต้องแข่งขันกับการเรียนการสอนระบบ online ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาซึ่งได้เริ่มดำเนินการเปิดสอนในระบบ onlineไปแล้วตั้งแต่ต้นปีนี้โดยบริษัท Coursera และบริษัท edX ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ และมีผู้ลงทะเบียนเรียนทั่วโลกนับล้านคนไปแล้ว

Martin Bean รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย Open University กล่าวว่ามหาวิทยาลัยของเขามีประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษาทางไกล (Distance learning) มามากกว่าทศวรรษ ดังนั้นบริษัท Futurelearn ที่มหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้นจึงมีความภูมิใจที่จะสานต่อการศึกษาทางไกลโดยจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษอีก 11 แห่งได้แก่ Birmingham, Bristol, Cardiff, East Anglia, Exeter, King’s College London, Lancaster, Leeds, Southampton, St Andrews และ Warwick ในการสร้างประวัติศาสตร์การศึกษาหน้าใหม่ให้กับระดับอุดมศึกษาของอังกฤษ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาวิทยาลัย David Willetts สนับการร่วมมือกันของมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษในการแข่งขันให้การศึกษาทาง online กับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาว่า “สหราชอาณาจักรจะต้องอยู่แถวหน้าของการพัฒนาการเรื่องเทคโนโลยีการศึกษา” ("The UK must be at the forefront of developments in education technology.")

MOOC ซึ่งย่อมาจาก Massive Open Online Courses หรือหลักสูตรการศึกษาonlineที่เปิดให้คนลงทะเบียนเรียนได้ครั้งละจำนวนมากๆคนกำลังเริ่มเป็นที่รู้จัก และเริ่มมีคนสนใจลงทะเบียนเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีมหาวิทยาลัย Stanford University ในสหรัฐอเมริกาเปิดบริษัท Coursera ในเดือนเมษายนปีนี้เพื่อสอนกระบวนวิชาต่างๆในระบบการเรียน online ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้สนใจเรียนจากทั่วโลกเกินความคาดหมาย ตัวเลขผู้ลงทะเบียนเรียนถึงเดือน กันยายน ปีนี้มีผู้ลงทะเบียนเรียนทั่วโลกทะลุล้านคนแล้ว
 

ผู้ลงทะเบียนเรียนในระบบonline นี้จะได้รับใบประกาศนียบัตรเมื่อเรียนจบกระบวนวิชาที่ลงทะเบียน แต่จะไม่ได้รับหน่วยกิตการศึกษา(Academic credit) ในระบบหลักสูตรปริญญาปกติจากมหาวิทยาลัย การเรียนในระบบ online แบบนี้ ผู้เรียนจะได้รับแบบเรียน ฟัง ดูการบรรยายทางวิดิทัศน์ ทำงานส่งผู้สอน และได้รับการตรวจประเมิน ผ่านระบบ online ทั้งหมด

อันที่จริงมหาวิทยาลัย Edinburgh ก็ได้เริ่มให้การสอนแบบ online แก่ผู้เรียนจำนวนมากผ่านทางบริษัท Coursera ของ Stanford University สหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีนี้ และ University of London ก็ได้ทำการสอนแบบ online ผ่านทาง Coursera เหมือนกันในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

Coursera จัดตั้งขึ้นโดยอาจารย์จาก มหาวิทยาลัย Stanford University โดยมีมหาวิทยาลัยชื่อดังเช่นUniversity of Michigan, Princeton University, University of Pennsylvania ร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อสอนวิชาต่างๆในระบบ online แก่ผู้สนใจลงทะเบียนเรียนทั่วโลก เดือนพฤศจิกายน 2012 มีผู้ลงทะเบียนเรียนแล้ว 1,900,241 คน จาก 196 ประเทศ ขณะนี้บริษัท Coursera มีมหาวิทยาลัยชื่อดังจากหลายภูมิภาคทั่วโลกร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรรวม 33 แห่งแล้ว

การศึกษาแบบ MOOC ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางเมื่อมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนในวิชา Artificial Intelligence เปิดสอนที่มหาวิทยาลัย Stanford University ถึง 160,000 คน เป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการศึกษาที่ทำให้อาจารย์ Daphne Koller และอาจารย์ Andrew Ng ต้องรีบร่วมกันจัดตั้งบริษัท Coursera ขึ้นมาเพื่อจัดการบริการการศึกษาผ่านสื่อเทคโนโลยี online ภายใต้มหาวิทยาลัย Stanford ทำให้สามารถให้บริการการสอน online ได้หลากหลายวิชามากขึ้น การเปิดตัวของ Coursera ทำให้หลายมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาตื่นตัวหันมาสนใจการสอนแบบ online มากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยชื่อดังอย่าง MIT ได้เปิดบริษัท MITx ขึ้นมาแข่งขัน และ มหาวิทยาลัยชั้นนำอย่าง Harvard University ก็ไม่ยอมเสียหน้าเปิดบริษัท edX ขึ้นมาสู้เหมือนกันด้วยโดยมี University of California ที่ Berkeley, University of Texas System, Wellesley College และ Georgetown University ร่วมเป็นเครือข่ายด้วย

จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างไรที่มหาวิทยาลัยชื่อดังในอังกฤษต้องรีบลุกขึ้นมารวมตัวจัดตั้งบริษัท Futurelearn เพื่อเปิดบริการให้การศึกษาทาง online สู้กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกา และคาดว่าคงมีมหาวิทยาลัยชั้นนำในยุโรป และอเมริกาเหนือเปิดบริการให้การศึกษาระบบ online เพิ่มขึ้น

การเรียนการสอนในระบบ online เติบโตได้อย่างรวดเร็วเพราะความพร้อมของเทคโนโลยีในเวลานี้ที่เอื้ออำนวยให้การเรียนการสอนในระบบ online ทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เรียนสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนได้อย่างง่ายดาย และผู้สอนมีความคล่องตัวในการใช้สื่อเทคโนโลยีในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลสูงด้วย จากจำนวนผู้เรียนในระบบการเรียนตามปกติที่มีผู้ลงทะเบียนเรียนวิชาละ30-50 คน กลายเป็นวิชาเดียวมีผู้ลงทะเบียนเรียนเป็นพันเป็นหมื่นคน
 

ตัวอย่างกระบวนวิชาที่ Coursera เปิดสอนในเบื้องต้นเช่นCryptography, Compilers, Introduction to Logic, Machine Learning, Automata, Natural Language Processing, Design and Analysis of Algorithms I, Model Thinking และ Probabilistic Graphical Models เป็นต้น
 

แต่ในวันนี้ถ้าท่านเข้าไปดูรายชื่อกระบวนวิชาที่ Coursera จะเปิดสอนในเดือนมกราคม ปีหน้า จะมีกระบวนวิชาต่างๆมากกว่า 200 วิชาเปิดให้ท่านลงทะเบียนเรียนตามความสนใจได้แล้วโดยมีมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยจากหลายประเทศเข้าร่วมเป็นเครือข่ายพันธมิตรกับ Coursera เช่น


การเรียนการสอนแบบ online คงไม่ได้หยุดอยู่แค่ในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น แต่กำลังมีทีท่าจะลุกลามลงมาในระดับมัธยมศึกษาด้วย ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา University of Miami Global Academy ได้เปิดระบบการศึกษาแบบ MOOC ในระดับมัธยมศึกษา (High school) เพื่อสอนช่วยนักเรียนมัธยมศึกษาของสหรัฐอเมริกาในการเตรียมตัวสอบวิชา SAT นับเป็นการเริ่มต้นให้การศึกษาแบบ online แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาอย่างเป็นทางการ

ที่นำเรื่องนี้มาเสนอเพื่อให้นักการศึกษาและผู้บริหารการศึกษาของไทยได้ตระหนักว่า การเรียนการสอนของโลกกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมศึกษาในประเทศไทยจะต้องติดตามพัฒนาการการเติบโตของ MOOC ระบบการเรียน online อย่างใกล้ชิดและเตรียมตัววางแผนปรับตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัย และโรงเรียน ที่ท่านเป็นผู้บริหารอยู่

ผมคิดว่าแนวโน้มความเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้ กลุ่มบริษัทการศึกษา online ที่อยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกาที่ให้การศึกษาระบบ online คงเสนอและผลักดันให้สภาการศึกษาของอเมริกา (America Council on Education) พิจารณาให้หน่วยกิตการศึกษาแก่ผู้ลงทะเบียนเรียนทาง online ซึ่งจะทำให้ใบประกาศนียบัตรที่ได้รับจากการลงทะเบียนเรียนวิชาต่างๆทาง onlineเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น และจะสามารถใช้ประโยชน์ในการสมัครทำงานได้ในอนาคต

Carl Rogers กล่าวว่า “The only person who is educated is the one who has learned how to learn and change.” คนที่ได้รับการศึกษาคือคนที่ได้เรียนรู้วิธีการเรียนและวิธีการเปลี่ยนแปลง

นักบริหารการศึกษาไทย กรุณาอย่าคิดว่าเรื่องการศึกษาระบบ online นี้เป็นเรื่องไกลตัวและคิดว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะมีผลกระทบถึงประเทศไทย มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกยังต้องขยับตัวกันอย่างนี้แล้ว ถ้าท่านยังไม่คิดขยับตัว ระวังจะกรรเชียงหนีไม่ทันนะครับ

สุขสันต์วันปีใหม่ ขอให้มีความสุขกาย สบายจิต คิดสมหวัง ดังปรารถนาJ

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)



​​​​​​“Wisdom is supreme – so acquire wisdom, and whatever you acquire, acquire understanding!”    Proverbs 4:7  

รายงานจากงานส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุไทย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าประชากรสูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปของประเทศไทย มีจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต จาก การประมาณการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในปีพ.ศ.2553ประมาณ 8 ล้านคนจะเพิ่มเป็นประมาณ 12 ล้านคนในปีพ.ศ.2563 และเพิ่มเป็นประมาณ 17 คนในปีพ.ศ.2573 เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราเพิ่มของประชากรสูงอายุ จะเร็วกว่าประชากรโดยรวมทั้งหมด ดังตารางต่อไปนี้


พ.ศ.

จำนวนประชากรรวม

จำนวนประชากรอายุ60 ปีขึ้นไป

ร้อยละของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป

2533
54,509,500
4,014,000
7.4
2543
60,916,441
5,792,970
9.5
2553
67,313,000
8,011,000
11.9
2563
70,100,000
12,272,000
17.5
2573
70,629,000
17,763,000
25.1

ที่มา: คำนวณจากสำมะโนประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2503-2533 สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2550
สาเหตุของการเพิ่มจำนวนประชากรสูงอายุอย่างรวดเร็ว เป็นเพราะอัตราการเกิดที่สูงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Baby boomer) และอัตราการตายที่ลดลงเป็นลำดับ ทำให้ประชากรในรุ่น Baby boomer ได้ทยอยเข้าสู่วัยแรงงานและวัยสูงอายุในที่สุด นอกจากนี้ยังพบว่า ในกลุ่มประชากรสูงอายุจะมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มอายุมากๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับเช่นผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปในปี พ.ศ. 2553 มีประมาณ1.7 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็นประมาณ 2.3 ล้านคนในปีพ.ศ. 2563 อย่างไรก็ตามประเด็นที่ควรสนใจ คือ ความยืนยาวของชีวิตที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นการเพิ่มความยืนยาวที่มีภาวะสุขภาพที่ดีหรือไม่
จากการศึกษาที่เผยแพร่โดยองค์กรสหประชาชาติได้เตือนว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้นจนมีผลกระทบอย่างชัดเจนต่อระบบสวัสดิการ (Welfare) เงินบำนาญ (Pension) และ ระบบการแพทย์ (Health care systems) ทั้งในประเทศกำลังพัฒนา (Developing nations) และ ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed nations)

 
ความจริงอีกประการหนึ่งที่น่าเสียดายคือ ทักษะ และความรู้ ที่บรรดาผู้สูงอายุทั้งหลายได้เรียนรู้รับส่ำสมมาตลอดชีวิตกำลังจะมลายสูญหายไปในสังคมตามอายุของผู้สูงวัย ทั้งๆที่ผู้สูงอายุจำนวนมากยังมีความสามารถที่จะนำความรู้ ทักษะที่มีคุณค่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมได้ต่อไปอีก
Richard Blewitt ผู้บริหารระดับสูงขององค์กร HelpAge International ให้ทัศนะว่า เราควรต้องปฏิวัติความคิดเสียใหม่เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจเรื่องผู้สูงอายุว่า คนจำนวนมากจะมีอายุยืนยาวจนถึงวัยชรา ดังนั้นจึงควรลงทุนทำให้คนได้สร้างสังคมให้มีความเข้มแข็งและมีความเป็นอยู่ดีขึ้นเมื่อเขาแก่ตัวมากขึ้น คุณ Richard เรียกการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรนี้ว่า “Megatrend” เพราะการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อสังคมและเศรษฐกิจของโลก เนื่องจากมีการประมาณการว่า 1 ใน 9 คนของจำนวนประชากรโลกจะมีอายุเกิน 60 ปีและจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 200 ล้านคนภายใน 10 ปีนี้ทำให้โลกมีประชากรผู้สูงอายุมากกว่า1,000 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 2,000 ล้านคน ในปี 2050 และจำนวนประชากรผู้มีอายุเกิน 100 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 316,600 คนในปี 2010 เป็น 3.2 ล้านคนในปี 2050
ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศเดียวที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงถึง 30% แต่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมี 64 ประเทศทั่วโลกที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุถึง 30%  ในปี 2009 ญี่ปุ่นมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปีถึง 23% ของประชากรทั้งหมดซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในโลก จากสถิตินี้ทำให้พยากรณ์ได้ว่าในปี 2030 ญี่ปุ่นจะมีประชากร 1 ใน 3 คนที่มีอายุเกิน 65 ปี และ 1 ใน 5 คนที่มีอายุเกิน 75 ปี และขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่ยอดจำหน่ายผ้าอ้อมผู้ใหญ่ (Adult diapers) มากกว่ายอดจำหน่ายผ้าอ้อมที่ใช้ในเด็ก
นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์ว่าในปี 2030 ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่อายุเกิน 65 ปี จำนวน 1 คน จะต้องมีคนหนุ่มสาววัยทำงาน 2 คนให้การเกื้อกุลอุปถัมภ์ ดังนั้นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากแบบญี่ปุ่นในอนาคตจะมีปัญหาหนักขึ้นเมื่อผู้ที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งมีสัดส่วนลดลงจะต้องมีภาระความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเพื่อเกื้อกุลอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ
แนวโน้ม Megatrend นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องให้ความสนใจศึกษาในมุมมองใหม่ จากความคิดและกระบวนทัศน์เดิมที่คิดแต่เพียงว่าผู้สูงอายุเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามาเป็นการคิดแนวใหม่ว่าการมีอายุยืนยาวของผู้สูงอายุเป็นการเพิ่มโอกาสในการให้ผลตอบแทน (Longevity dividend) แก่สังคม เราควรมองว่าการที่มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้นเป็นผลความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์จากการที่เราสามารถพัฒนาเรื่องอาหารการกิน สุขอนามัย ความก้าวหน้าทางการแพทย์ การศึกษา และความอยู่ดีกินดีทางเศรษฐกิจ
 
สิ่งที่น่าห่วงใยคือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนาโดยที่รัฐบาลไม่ได้มีแผนการเตรียมการรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะพึ่งพาแรงงานการผลิตจากคนหนุ่มสาวที่เคลื่อนย้ายจากชนบทเข้ามาทำงานในเมืองทำให้ครอบครัวในชนบทที่เคยดูแลผู้สูงอายุจะขาดผู้ดูแลผู้สูงอายุและภาระในการดูแลผู้สูงอายุจะตกอยู่ในความรับผิดชอบของหลานๆที่ยังอยู่กับปู่ย่าตายาย คาดว่าในประเทศจีนจะมีจำนวนหลานๆถึง 52 ล้านคนที่จำเป็นต้องดูแลผู้สูงอายุที่เป็นปู่ย่าตายายของตน เนื่องจากพ่อแม่เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่
การที่อายุขัย (Life expectancy)ของคนทั่วโลกเพิ่มขึ้น แม้จะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นแต่ก็เป็นทั้งความสุขและความทุกข์ปนกันเพราะผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรัง (Chronic diseases) ที่เข้ามารุมเร้า ความไม่สะดวกสบายจาก ความพิการ(Disabilities)ทางร่างกาย ของโรคกระดูก ข้อเข่าสะโพกเสื่อม โรคเบาหวาน  รวมทั้งความทุกข์ทางอารมณ์และจิตใจเช่นโรคซึมเศร้าด้วย ซึ่งเป็นโรคและอาการที่วงการแพทย์เรียกว่า “ทำให้เราป่วยแต่ไม่ทำให้เราตาย”  (“Don’t kill but make us ill”)


จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Washington University พบว่าประเทศต่างๆกำลังจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการที่มีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีโรคเจ็บป่วย แม้ว่าปัญหาเรื่องทุโภชนาการ (Malnutrition) ของโลกได้ลดลงอย่างมากแล้วแต่โลกกำลังมีปัญหาใหม่เรื่องการกินมากเกิน (Excessive eating) เข้ามาแทนที่ ผู้เสียชีวิตทั่วโลกมากกว่า 3 ล้านคนในปี 2010 มีสาเหตุมาจากความอ้วน ที่เกิดจากการกินมากเกิน และกินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีการตายของคนอายุระหว่าง 15 ปี ถึง 49 ปีเพิ่มมากขึ้นสาเหตุมาจากความรุนแรง (Violence) การฆาตกรรม (Homicide) อุบัติเหตุจากากรจราจร (Traffic accidents) และโรค AIDS
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Imperial College London พบว่า จำนวนผู้เสียชีวิต 52.8 ล้านคนทั่วโลกในปี 2010 จำนวน 12.9 ล้านคนตายเพราะโรคที่เกี่ยวกับเส้นโลหิตแตก (Stroke) และโรคหัวใจ (Heart disease) ซึ่งมีต้นเหตุมาจากการกิน การดื่ม การสูบบุหรี่มากเกินไป และการไม่ออกกำลังกาย จำนวน 8 ล้านคนตายเพราะโรคมะเร็ง จำนวน 1.5 ล้านคนตายเพราะโรค HIV/AIDS และจำนวน 1.2 ล้านคนตายเพราะโรควัณโรค
ที่นำเรื่องนี้มาเสนอเนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการคิดเตรียมการอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับเรื่องสังคมผู้สูงวัยของประชากรผู้สูงอายุชาวไทยที่กำลังจะทวีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การที่รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท จึงไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหาประชากรผู้สูงอายุในอนาคต
 
รัฐบาลไทยต้องเตรียมแผนการรองรับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุชาวไทยทั้งในมิติการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลเยียวยารักษาไปตามสภาพการเสื่อมของสังขาร ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และในมิติการใช้ศักยภาพของผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60-70 ปี (Young senior) ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีสภาพความพร้อมทางสติปัญญาและร่างกาย ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

รัฐบาลไทยสามารถใช้สังคมผู้สูงวัยของโลก เป็นโอกาสในทางธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับประเทศได้เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุชาวต่างชาติเข้ามาพักอาศัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆตามเมืองใหญ่ๆแต่ยังขาดการคิดและวางแผนอย่างเป็นระบบที่จะให้การบริการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีมาตรฐานคุณภาพ รองรับการเพิ่มของผู้สูงอายุชาวต่างประเทศที่อยากมาใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขในบั้นปลายของชีวิตที่ประเทศไทย
John F. Kennedy กล่าวว่า “Change is the law of life. And those who look only to the past or present are certain to miss the future.” การเปลี่ยนแปลงคือกฎแห่งชีวิต และผู้ที่มองเฉพาะอดีตหรือปัจจุบันคือผู้ที่พลาดอนาคตอย่างแน่นอนJ

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ห้องเรียนอัจฉริยะ


“Wisdom is more valuable than jewels; nothing you could want can compare with it. Wisdom offers you long life, as well as wealth and honor. Wisdom can make your life pleasant and lead you safely throught it"  Proverbs 3:15-17

ได้เคยนำเสนอไปแล้วว่าระบบการศึกษาของไทยควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนเพราะผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไทยในปัจจุบันอยู่ในอันดับที่น่าเป็นห่วงเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนชาติอื่นๆทั่วโลก หรือแม้จะทำการเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยยังตามหลังประเทศสิงคโปร์และประเทศมาเลเซีย อยู่พอสมควรและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไทยจะยิ่งตกอันดับชั้นลงมากขึ้นเรื่อยๆถ้ากระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารการศึกษาของประเทศไทยยังไม่รีบดำเนินการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาและระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนไทยเสียใหม่
มีรายงานการศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัย Durham University ซึ่งทำการศึกษาทดลองลักษณะห้องเรียนแบบใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า “Star Trek Classroom” ที่กำลังจะเป็นห้องเรียนอัจฉริยะของนักเรียนในอนาคตอันใกล้นี้ ห้องเรียนอัจฉริยะที่กำลังศึกษาทดลองอยู่ในขณะนี้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นส่วนเสริมการเรียนการสอนเด็กนักเรียนรุ่นใหม่จะมีลักษณะเป็นแบบระบบสัมผัสได้หลายจุด (Multi-touch) และใช้ได้หลายๆคนพร้อมกัน (Multi-user) โดยโครงการนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลองซึ่งขณะนี้ได้ทำการทดลองมาแล้วเป็นเวลา 3 ปี โดยมีนักเรียนมากกว่า 400 คนเข้าร่วมในโครงการศึกษาทดลองห้องเรียนอัจฉริยะสำหรับใช้ในการเรียนการสอนในอนาคตอันใกล้นี้
 
ศาสตราจารย์ Liz Burd แห่ง School of Education หัวหน้าคณะศึกษาวิจัยโครงการนี้ที่ Durham University กล่าวว่าวัตถุประสงค์ของการศึกษาทดลองห้องเรียนอัจฉริยะโครงการนี้คือการใช้ห้องเรียนอัจฉริยะให้นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนอย่างมากซึ่งนักเรียนจะได้รับความรู้จากการแบ่งปัน (Sharing) การแก้ไขปัญหา (Problem solving) และการสร้างสรรค์ (Creating) มากกว่าการเรียนในห้องเรียนแบบปัจจุบันซึ่งนักเรียนเป็นฝ่ายนั่งรับฟัง (Passive listening) จากครูผู้สอนมากกว่า

โต๊ะเรียนอัจฉริยะในห้องเรียนที่ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญซึ่งใช้เทคโนโลยีใหม่นี้จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน (Active engagement) ในการเรียน และนักเรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน (Equal access) ทำให้นักเรียนสามารถให้ความร่วมมือในการเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ (Effectively Collaboration)  

ผลจากการทดลองใช้ห้องเรียนอัจฉริยะกับนักเรียนที่มีอายุส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 8 – 10 ปี พบว่าเกิดการเรียนรู้โดยความร่วมมือกัน (Collaborative learning) ทำให้นักเรียนมีความเก่งและความพลิกแพลงมากขึ้นในวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากระบบการสอนในปัจจุบันที่ใช้แบบจดเขียนบนกระดาษ (Paper-based approach) เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ในโต๊ะเรียนอัจฉริยะนี้ทำให้นักเรียนทั้งหมดมีส่วนร่วมในการเรียน แทนที่จะเป็นการเรียนแบบที่ขึ้นอยู่กับนักเรียนแต่ละคน (Individual dominating)
 
โครงการสื่อการเรียนการสอนที่มีชื่อเรียกว่า SynergyNet ออกแบบห้องเรียนให้มีระบบการร่วมมือกันระหว่างโต๊ะเรียนอัจฉริยะซึ่งสร้างให้ผิวบนโต๊ะเรียนเป็นระบบสัมผัสได้หลายๆจุด (Multi-touch) ซึ่งจะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย (Network) และเชื่อมโยงกับกระดานอัจฉริยะ (Smartboard) โดยโต๊ะเรียนอัจฉริยะจะเป็นทั้งจอ (Screen) และเป็นแป้นพิมพ์ (Keyboard) ได้ด้วยทำให้โต๊ะเรียนอัจฉริยะทุกตัวเป็นได้ทั้งโต๊ะเรียนและกระดานสัมผัส ซึ่งทำให้นักเรียนสามารถใช้โต๊ะเรียนอัจฉริยะตัวใดก็ได้ในห้องเรียน ครูผู้สอนสามารถสั่งงานให้นักเรียนทุกโต๊ะเรียนอัจฉริยะเหมือนกันหมด หรือเลือกสั่งงานให้นักเรียนแต่ละโต๊ะเรียนอัจฉริยะแตกต่างกันก็ได้ ตามความสามารถหรือความสนใจของนักเรียนที่แตกต่างกัน รวมทั้งครูผู้สอนสามารถส่งคำตอบให้นักเรียนทั้งชั้น หรือแยกให้นักเรียนแต่ละคนก็ได้ตามโต๊ะเรียนอัจฉริยะ และครูผู้สอนยังสามารถสั่งงานให้นักเรียนที่จะเข้ามาเรียนในชั่วโมงถัดไปทำ หรือตั้งคำถามให้นักเรียนอภิปรายไว้ล่วงหน้าได้ ทั้งหมดนี้สามารถทำผ่านโต๊ะเรียนอัจฉริยะ
 
เมื่อนักเรียนเขียนอะไรบนโต๊ะเรียนอัจฉริยะนี้ ครูผู้สอนจะเห็นได้ทันที และสามารถส่งข้อมูลเข้าไปแนะนำนักเรียนคนนั้นได้ทันทีโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับนักเรียนคนอื่นๆ ทำให้นักเรียนคนอื่นๆสามารถทำงานของตนต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุดรอเพื่อนที่อาจจะทำงานช้ากว่า หรือกำลังทำงานผิดพลาด
เทคโนโลยีทันสมัยในห้องเรียนอัจฉริยะแบบ StarTrek นี้ทำให้ครูผู้สอนสามารถช่วยนักเรียนในการเรียนทั้งในลักษณะเป็นกลุ่มและเป็นรายตัวได้พร้อมๆกันซึ่งทำให้การสอนของครูและการเรียนของนักเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาทดลองพบว่าการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนที่ใช้ระบบ SynergyNet นี้ทำให้นักเรียนมีความเก่งและความสามารถในการพลิกแพลงได้ดีกว่าระบบการเรียนการสอนแบบปัจจุบันที่ใช้กระดาน และกระดาษดินสอ
อาจารย์ Emma Mercier นักวิจัยแห่ง School of Education, Durham University กล่าวว่านักเรียนในห้องเรียนอัจฉริยะที่กำลังทดลองใช้อยู่นี้ให้ความร่วมมือในการเรียนเป็นอย่างมาก เพราะนักเรียนสามารถตอบโต้ (Interact) การสอนกับครูผู้สอนได้ทันทีและสามารถค้นหาและเรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่างกันได้ และนักเรียนด้วยกันเองสามารถช่วยให้เพื่อนๆมีความรู้ความเข้าใจในวิชาที่เรียนได้อย่างรวดเร็วเพราะสามารถแบ่งปันสิ่งที่ตนค้นพบ สิ่งที่ตนรู้ให้เพื่อนๆได้ทันทีผ่านระบบโต๊ะเรียนอัจฉริยะนี้
ที่นำเรื่องนี้มาเสนอก็เพื่อให้บรรดาผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอนนักเรียนในโรงเรียนต่างๆได้รับรู้ถึงข้อมูลความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของการเรียนการสอนสมัยใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้ ที่อาศัยเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาเป็นสื่อช่วยในการเรียนการสอนนักเรียน ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิวัติระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนใหม่เลยก็ว่าได้ และน่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อโรงเรียนทุกโรง อาชีพครู และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา
ต่อไปนี้เป็นข้อสังเกตของผมที่คิดไปล่วงหน้าเอาเองว่าห้องเรียนอัจฉริยะ น่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้างในระบบการศึกษาของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้
1.โรงเรียนต้องลงทุนใหม่อย่างมหาศาลในระบบห้องเรียนอัจฉริยะใหม่นี้แทนที่ห้องเรียนแบบปัจจุบัน แบบที่ว่าห้องเรียนที่มีกระดานดำ ที่เขียนด้วยชอล์ค หรือกระดานWhite board ที่เขียนด้วยปากกา Magic pen ในปัจจุบัน จะกลายเป็นอดีตไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เมื่อโรงเรียนต้องลงทุนใหม่ทำห้องเรียนอัจฉริยะที่เป็นโต๊ะเรียนอัจฉริยะแบบสัมผัส นักเรียนสามารถใช้นิ้วมือสัมผัสลากเลื่อนบนจอไปมา หรือเขียน หรือพิมพ์ได้บนจอบนโต๊ะเรียนอัจฉริยะได้
2. ครูผู้สอนต้องมีความรู้ใหม่ทางเทคโนโลยีที่จะใช้การสอนผ่านสื่อการเรียนบนโต๊ะเรียนอัจฉริยะ เพราะครูผู้สอนต้องสื่อสารกับเด็กนักเรียนทุกโต๊ะเรียนอัจฉริยะพร้อมๆกันในเวลาเดียวกัน ดังนั้นครูผู้สอนจะต้องเตรียมการเรียนการสอนเป็นอย่างดี อย่างละเอียด เนื่องจากสามารถให้งานแก่นักเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันหรือมีความสนใจแตกต่างกันได้เป็นรายคน หรือหลายคน ผ่านโต๊ะเรียนอัจฉริยะได้
3. นักเรียนในอนาคตอันใกล้ที่ใช้ห้องเรียนอัจฉริยะนี้ไม่ต้องหิ้วกระเป๋าหนังสือ สมุดจนไหล่เอียงกันอีกแล้ว เพราะโต๊ะเรียนอัจฉริยะนี้จะทำให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนไร้กระดาษ (Paperless classroom) เพราะนักเรียนสามารถใช้โต๊ะเรียนอัจฉริยะเรียกตำราเรียนขึ้นมาบนจอและใช้นิ้วมือสัมผัส ตอบคำถาม เขียนคำถาม ทำการบ้านโดยการเขียนหรือพิมพ์บนจอที่โต๊ะเรียนอัจฉริยะส่งครูผู้สอนได้เลย สำนักพิมพ์ตำราเรียนทั้งหลายเตรียมตัวปิดกิจการได้เลยเมื่อโต๊ะเรียนอัจฉริยะถูกผลิตนำมาใช้ในโรงเรียน และ ตำราเรียนจะสามารถ download ได้จากอาจารย์ผู้แต่งตำราโดยตรงผ่านทางระบบ internet หรือซื้อจากร้านขายหนังสือบน Internet
4. จำนวนครูผู้สอนในโรงเรียนอาจจะลดลงมาก เพราะครูหนึ่งคนสามารถสอนนักเรียนผ่านโต๊ะเรียนอัจฉริยะได้นับเป็นร้อยคน รวมทั้งตำราเรียนแบบใหม่อาจจะมีการใช้ภาพและเสียงจริงของผู้แต่งตำราเป็นผู้สอนเสียเอง หรืออาจารย์ที่สอนเก่งๆในวิชานั้นสามารถสอนผ่านทางสื่อที่ให้นักเรียนรับรู้ได้ทั้งภาพ เสียง และความลึกได้ ผ่านทางระบบ internet มาถึงโต๊ะเรียนอัจฉริยะของนักเรียนซึ่งโรงเรียนอาจซื้อชั่วโมงการสอนจากอาจารย์ผู้สอนที่เก่งในวิชานั้นแทนที่ต้องจ้างครูหลายคนเพื่อสอนวิชานั้นในโรงเรียน หรืออาจจะก้าวหน้าไปจนถึงระดับที่นักเรียนสามารถลงทะเบียนเรียนโดยตรงกับอาจารย์ผู้สอนผ่านระบบ internet เลย
5. อิสรภาพทางการศึกษาจะเปิดกว้างขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักเรียนรุ่นต่อไปมีความสามารถทางภาษาอังกฤษมากขึ้น จะกลายเป็นว่านักเรียนไทยสามารถลงทะเบียนเรียนกับโรงเรียนในต่างประเทศได้ เมื่อระบบการเรียนการสอนได้เปลี่ยนไปเป็นระบบการสอนในระบบ on lone ผ่าน internet มากขึ้นแล้วโรงเรียนชื่อดังๆในต่างประเทศจะเปิดการสอน on line ผ่านระบบ internet และรับนักเรียนได้ทั่วโลก เมื่อถึงเวลานั้น ซึ่งไม่น่าจะเกินอีก 10-15 ปีข้างหน้าโรงเรียนไทยคงต้องปิดกิจการกันเกือบทั่วประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งดีสำหรับประเทศไทยที่ไม่จำเป็นต้องมีกระทรวงศึกษาธิการให้เปลืองเงินงบประมาณที่เก็บจากภาษีประชาชนอีกต่อไป
6. โรงเรียนไทยที่มีคุณภาพจริงๆและสามารถพัฒนาไปสู่การเรียนการสอนในระบบนานาชาติ (International school) ที่สามารถแข่งขันได้จะเติบโตมากขึ้นเพราะสามารถขายการเรียนการสอน on line ผ่านระบบ internet ได้ทั่วโลก ส่วนโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพและไม่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีก็ต้องปิดกิจการไปตามสภาพการเงิน เพราะไม่สามารถแข่งขันกับโรงเรียนที่มีห้องเรียนอัจฉริยะได้
Benjamin Franklin กล่าวว่า “Investment in knowledge pays the best interest” การลงทุนในความรู้ให้ดอกผลที่ดีที่สุด
Nelson Mandela กล่าวว่า “Education is the most powerful weapon which you can use to change the world” การศึกษาคืออาวุธที่ทรงพลังที่สุดซึ่งคุณสามารถใช้เปลี่ยนแปลงโลกได้

หวังว่าข้อมูลที่นำเสนอนี้จะทำให้ท่านผู้อ่านมองเห็นอนาคตการศึกษาของประเทศไทยได้ชัดเจนมากขึ้นนะครับM


แหล่งข้อมูล : Dailymail โดย Amanda William

 

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

แรงขับเคลื่อน 6 ประการของการเปลี่ยนแปลง (Six Drivers of Change)


“Listen! Wisdom is calling out. Reason is making herself heard. On the hilltops near the road and at the crossroads she stands.”                                           Proverbs 8:1-2

ขอบคุณพระเจ้าสำหรับเทคโนโลยีทันสมัยที่ทำให้ผมสามารถเขียนบทความนี้ได้ในขณะมาดูงานการดูแลผู้สูงอายุที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้เอง ทำให้เกิดความคิดในขณะนอนพักอยู่ในโรงแรมแห่งหนึ่งในเมือง Monterey Park, California ที่จะเขียนเรื่องแรงขับเคลื่อน 6 ประการของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 10 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นรายงานการศึกษาที่เพื่อนทาง Internet ท่านหนึ่งได้กรุณาส่งมาให้อ่าน

แรงขับเคลื่อน 6 ประการของการเปลี่ยนแปลง เป็นงานศึกษาของสถาบันเพื่ออนาคต (The Institute For The Future) หรือ IFTF ซึ่งเป็นองค์กรอิสระไม่แสวงหากำไร ตั้งอยู่ที่เมือง Palo Alto รัฐ California สหรัฐอเมริกา มีผลงานการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมโลกมามากกว่า 40 ปีแล้ว งานหลักของสถาบันแห่งนี้คือศึกษาเรื่องแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงต่างๆในอนาคตที่จะมีผลต่อสังคมโลก และพาณิชย์ธุรกิจ งานศึกษาชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก The University of Phoenix Research Instituteโดยใช้วิธีการศึกษาหลากหลายรูปแบบ ทั้งจากการรวบรวมข้อมูล และศึกษาข้อมูลที่รวบรวมได้ จากการศึกษางานวิจัยด้านแนวโน้มต่างๆ(Trend Research) รวมทั้งการสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ความคิดเห็นจากนักวิชาการและความคิดเห็นจากผู้บริหารที่มากประสบการณ์หลากหลายด้าน สุดท้ายเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆและนักวิชาการมาระดมความคิด จนได้ข้อสรุปร่วมกันออกมาเป็น แรงขับเคลื่อน6 ประการของการเปลี่ยนแปลง (Six Drivers of Change) ใน 10 ปีข้างหน้า

โลกของเราได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ขนาดห้องเรียน มาจนถึงเวลานี้ที่เราใช้โทรศัพท์มือถืออัจฉริยะในฝ่ามือที่มีความสามารถมากกว่าคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกหลายสิบเท่า โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างมาก และสังคมโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเช่นกัน แต่เราอาจจะไม่ได้สังเกต เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนเราไม่ค่อยรู้สึก แต่ถ้าเรามองสังคมโลกอย่างพิจารณา เราจะพบว่าโลกของเรากลายเป็นโลกที่สามารถเชื่อมโยงติดต่อกัน(Global connectivity) ไปเกือบหมดแล้ว เครื่องจักรเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเครื่องจักรอัจฉริยะ (Smart Machines) และเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคการสื่อสารสมัยใหม่ (New Media) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมานี้ทำให้เราต้องหันมาสนใจศึกษาว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะมีผลต่อการทำงานในอนาคต และสังคมโลกในอนาคตจะเป็นอย่างไร

การศึกษาเรื่องนี้มุ่งหาวิสัยทัศน์ในอนาคต (Future Vision) ก่อนเพื่อจะนำไปสู่การเกิดปัญญาที่มีความหมาย (Meaningful Insight) แล้วนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลสำเร็จ (Successful Action) ในอนาคต ซึ่งเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจรูปแบบการเปลี่ยนแปลง (Patterns of Change) ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะรูปแบบการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้จะมีผลต่อการเกิดสิ่งใหม่ๆอีกหลายด้านเช่น เกิดเทคโนโลยีรุ่นใหม่(New technology) เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product) เกิดการปฏิบัติงานแบบใหม่(New practice) เกิดนโยบายใหม่ (New policy) เกิดยุทธศาสตร์ใหม่(New strategy) เป็นต้น

การศึกษาของ IFTF สรุปได้ว่า แรงขับเคลื่อน 6 ประการของการเปลี่ยนแปลง (Six Drivers of Change) ได้แก่

1.การมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นของมนุษย์ (Extreme longevity)

การที่มนุษย์มีชีวิตยืนยาวมากขึ้นเป็นอย่างมากเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ จะทำให้มีผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคมโลกในอนาคต มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2025 คนอเมริกันที่อายุเกิน 60 ปี จะเพิ่มขึ้นถึง 70% และมีรายงานจากการศึกษาอื่นที่พยากรณ์ว่าภายในทศวรรษนี้โลกจะมีประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปีถึงพันล้านคน การที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว (Developed Countries) มีประชากรผู้สูงอายุ (Aging population) จำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมหลายด้านเช่น

-การประกอบอาชีพ คนมีความจำเป็นต้องทำงานยาวนานมากขึ้นเพื่อเก็บเงินไว้ใช้จ่ายดูแลตัวเองตอนอายุ 80-90 ปี เนื่องจากถ้าเกษียณอายุการทำงานที่ 60 ปีระบบเงินสะสมและเงินบำนาญจะไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นและมีอายุยืนยาวมากขึ้น ระบบการจ้างงานจึงต้องเปลี่ยนแปลงให้ต้องเกษียณอายุการทำงานที่ยาวขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น

- ระบบครอบครัวจะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเพราะพ่อแม่มีอายุยืนยาวมากขึ้นจึงอยู่กับลูกหลานยาวนานมากขึ้นซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำให้ลูกหลานดีใจ หรือทำให้ลูกหลานหนักใจ โดยเฉพาะสังคมไทยที่พ่อแม่จะอยู่กับลูกหลานจนตาย ปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมจากการมีผู้สูงอายุจำนวนมากจะเกิดขึ้นตามมา

-ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้เรียนเพราะผู้สูงอายุจำนวนมากต้องการเรียนให้มีความรู้หลายด้านเพื่อเตรียมตัวไว้ประกอบอาชีพได้หลายอย่าง (Multiple careers) เนื่องจากต้องการทำงานหลังอายุเกิน 60 ปีไปแล้วเพื่อหาเงินดูแลตัวเองที่จะมีอายุยืนยาวขึ้น เพราะไม่แน่ใจการพึ่งพาระบบสวัสดิการของรัฐบาลหรือการดูแลของลูกหลานเพื่อความปลอดภัยจึงต้องหางานทำให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

-ระบบการบริหารจัดการจะเปลี่ยนแปลงเพราะองค์กรต้องปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อผลิตสินค้าและเปิดบริการตามความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ ระบบการแพทย์ การสาธารณสุข การเดินทาง การท่องเที่ยว การบริการทางสังคม อุปกรณ์เครื่องใช้ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้สูงอายุจำนวนมาก

2. การเติบโตของเครื่องจักรและระบบอัจฉริยะ (Rise of smart machine and system)

เครื่องจักรและอุปกรณ์และระบบต่างๆที่ใช้ในชีวิตมนุษย์จะเป็นระบบอัตโนมัติเกือบทั้งหมด ระบบการผลิตในโรงงาน ระบบการทำงานในสำนักงาน ระบบการใช้งานในบ้านจะเป็นระบบอัจฉริยะอัตโนมัติเกือบหมด ซึ่งทำให้เกิดความมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้นในการทำงาน เมื่อระบบเครื่องจักรอัจฉริยะอัตโนมัติสามารถทำหน้าที่แทนคนได้มากขึ้นแล้ว จะเกิดปัญหาตามมาว่าคนจะต้องปรับตัวอย่างไรให้สามารถอยู่กับระบบเครื่องจักรอัจฉริยะอัตโนมัติเหล่านี้

3.โลกที่เป็นคอมพิวเตอร์ (Computational world)

การนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในชีวิตมนุษย์มากขึ้นทำให้มีการใช้ระบบSensor มากขึ้น จนสามารถเก็บข้อมูลของวิถีชีวิตมนุษย์ในกิจกรรมต่างๆได้เกือบหมด เมื่อนำข้อมูลที่บันทึกเป็นรหัส (Code) ไปถอดรหัส (Decode) และประมวลผลจะสามารถสร้างโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ใช้ได้ทั้งโลก ชีวิตมนุษย์จึงต้องปรับตัวให้เชื่อมโยงเข้ากับโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพราะเกือบทุกกิจกรรมที่มนุษย์ทำต้องอาศัยข้อมูล (Database) ประกอบในการตัดสินใจ ทุกอย่างสามารถโปรแกรมได้ (Programmable)

4.ระบบการสื่อสารใหม่ (New media ecology)

การสื่อสารบนพื้นฐานเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะพัฒนาไปจนแทบเรียกได้ว่าเป็นภาษาการสื่อสารใหม่ของมนุษย์ (New language of communication) เพราะเราสามารถสื่อสารได้ทั้งระบบ Video ระบบ Digital animation ระบบAugmented reality และระบบ Visual communication ระบบการสื่อสารหลายรูปแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากสามารถสื่อสารได้พร้อมๆกันทั่วโลก ชีวิตการทำงาน ชีวิตครอบครัว กิจกรรมสังคม ระบบการบริหารจัดการ ระบบการปกครอง ระบบการบริการ จะกลายเป็นระบบ online หมด คนมากมายจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้ (ขณะนี้ก็สามารถเข้าถึงได้จนแทบจะไม่มีความลับกันอยู่แล้วครับ)

5.โครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่ (Superstructed organizations)

เพราะระบบการสื่อสารและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ระบบอัจฉริยะอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทในชีวิตการทำงานมากขึ้น โครงสร้างองค์กรจึงต้องเปิดกว้างให้มีความหลากหลายเพื่อให้คนจำนวนมากเข้ามามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น เนื่องจากประชากรทั้งโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลได้พร้อมกันหมด (ตัวอย่างเช่น สินค้าที่ขายกันทาง internet ขณะนี้มีคนใช้บริการเป็นล้านๆคนแล้ว ต่อไปในอนาคตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกอาจเปิดการสอนทาง internet และมีคนสนใจลงทะเบียนเรียนทั่วโลกเป็นจำนวนหมื่นจำนวนแสนคนก็เป็นได้ เพราะแม้แต่ท่าเต้นกัมนันสไตล์ของหนุ่มเกาหลีก็มีคนนับร้อยล้านคนเข้าไปดูทาง internet แล้ว)

6.โลกที่เชื่อมโยงติดต่อกัน (Global connected world)

การพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย เช่น จีน อินเดีย เกาหลี รัสเซีย ที่มีประชากรจำนวนมาก ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วทั้งในทวีปอเมริกาและทวีปยุโรป ต้องปรับตัววิ่งไปเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาคนี้เพื่อรองรับความต้องการของประชากรส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งในอดีตมีกำลังซื้ออย่างจำกัด แต่เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทำให้ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ได้เปลี่ยนสถานะเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อมหาศาลและในอนาคตคนในประเทศเหล่านี้มีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากมีความรู้และกำลังทรัพย์มากขึ้น จนประเทศพัฒนาแล้วทั้งในทวีปอเมริกา และยุโรปต้องเชื่อมโยงการติดต่อเข้ามาหาภูมิภาคนี้มากขึ้นเพื่อลงทุนค้าขายทำให้ระบบการติดต่อทางธุรกิจการค้าการและบริการสามารถเชื่อมโยงกันทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

Albert Einstein กล่าวว่า “The true sign of intelligence is not knowledge but imagination” และ “It is not that I am so smart, it’s just that I stay with problems longer” สัญญาณที่แท้จริงของปัญญาไม่ใช่การมีความรู้แต่คือการมีจินตนาการ และไม่ใช่เพราะข้าพเจ้ามีความฉลาดมากมาย แต่เป็นเพราะข้าพเจ้าอยู่กับปัญหายาวขึ้น

หวังว่าเราจะไม่มองเรื่องแรงขับดันการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนี้อย่างนิ่งเฉย เพราะพวกเราทุกคน เป็นส่วนหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้านี้ และผมหวังว่าชาวไทยจะไม่ลำบากทุกข์ยากจนเกินไปM