วันเสาร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เปลี่ยนมุมมองธุรกิจ


“Trust in the LORD with all your heart. Never rely on what you think you know. Remember the LORD in everything you do, and he will show you the right way. Never let yourself think that you are wiser than you are; simply obey the LORD and refuse to do wrong.”                                                                                 Proverbs 3:5-7


การทำธุรกิจในปัจจุบันต้องมีมุมมองใหม่ของยุทธศาสตร์ การดำเนินการ ลูกค้า และบุคลากร “Business today requires new perspectives on strategy, operations, customers and staff.” เป็นประโยคเปิดนำในหนังสือชื่อ Flip เขียนโดย Peter Sheanhan ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัท ChangeLabs บริษัทที่ปรึกษาระดับนานาชาติที่มีลูกค้าเป็นบริษัทชั้นนำเช่น Google, Goldman Sachs, Sony, Hilton Hotels, Harley Davidson, GlaxoSmithKline, Cisco และ Pizza Hut เป็นต้น

ความคิดของ Peter Sheanhan น่าสนใจเพราะเป็นคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการคิด การพูด และการเขียนจนได้รับการยกย่องว่าเป็น “A next generation thinker.” นักคิดของคนยุคต่อไป เขาเป็นนักพูดในเวทีสัมมนาทั่วโลก และมีงานเขียนที่โด่งดังคือหนังสือชื่อ “Generation Y”, “Making It Happen” และ “Flip”

ในหนังสือชื่อ Flip ของเขา Peter Sheanhan ให้ความเห็นว่าโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนเราไม่สามารถจะหยุดนิ่งอยู่กับความคิดและความเคยชินเก่าๆอีกต่อไปได้แล้ว เราจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดของเราในการทำธุรกิจให้ทันต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่บีบบังคับให้เราต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลามาจาก 4 แรงขับดันคือ

1.           Increasing compression of time and space

เพราะมนุษย์มีความอดทนต่ำและนับวันจะมีความอดทนต่ำลงเรื่อยๆ จนแทบจะไม่สามารถจะหยุดรอคอยอะไรได้อีก ยิ่งในยุคการสื่อสารไร้พรมแดนปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้เกิดความรวดเร็วได้ในบัดดล เรายิ่งมีความคาดหวังให้เกิดความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ความกดดันเรื่องเวลาจึงเป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จตัวหนึ่งในสนามแข่งขันธุรกิจ ในอดีตเราอาจจะคิดว่าการทำมากขึ้นด้วยเวลาที่น้อยลง (Doing more with less) คือความมีประสิทธิภาพแล้ว แต่ปัจจุบันความคิดแค่นี้คงไม่เพียงพอแล้ว ต้องเพิ่มความรวดเร็วเข้าไปเป็น “doing more with less, faster” เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่มีเส้นแบ่งพรมแดนประเทศทางภูมิศาสตร์อย่างในอดีตอีกแล้ว การค้าเสรี การเงินเสรี การตลาดเสรี ทำให้การเคลื่อนย้ายคน สินค้า และเงินลงทุนเสรีมากขึ้นตามไปด้วย ระยะทางไกลกลายเป็นใกล้เพราะการสื่อสารของโลกรวดเร็ว ย่นระยะเวลาการติดต่อ ทำให้โลกในการติดต่อธุรกิจเล็กลง (The world is getting smaller) แต่ในเวลาเดียวกันการที่เราสามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วโลกได้จำนวนมากขึ้นโดยใช้เวลาเพียงชั่วอึดใจเดียวทำให้โลกในการทำธุรกิจของเราใหญ่ขึ้น (The world is getting bigger) ความกดดันนี้ทำให้เราต้องเปลี่ยนความคิดในการทำธุรกิจใหม่ เพื่อสามารถตอบรับกับความคาดหวังของคนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  

2.           Increasing complexity

เพราะโลกธุรกิจที่เล็กลงและโตขึ้นในเวลาเดียวกันทำให้เรามีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้นในการทำธุรกิจ เครือข่ายการติดต่อที่โยงใยกันทั้งโลก ทำให้มีทั้งผู้ขายและผู้ซื้อใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา มีสินค้าใหม่เข้ามาแข่งกับสินค้าเก่า มีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเดิม มีความคิดใหม่ ทางเลือกใหม่ กระแสใหม่เกิดขึ้นและลุกลามแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ทำให้กระบวนการในการบริหารจัดการความยุ่งยากซับซ้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความคิดในการทำธุรกิจแบบปกติเหมือนอย่างเคยทำ(Doing business as usual) ไม่สามารถทำได้อีกต่อไปแล้ว

3.           Increasing transparency and accountability

เพราะทุกวันนี้เราแทบจะไม่มีที่สำหรับความลับส่วนตัวกันแล้ว แมลงวันหนึ่งตัวตกในชามบะหมี่มีคนรู้ได้เป็นร้อยเป็นพันคนทันทีที่ถูก Post จากมือถือเข้า line เข้า Facebook เทคโนโลยีทางการสื่อสาร ทำให้เกิดสังคม online ที่สามารถแพร่หลายกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ความโปร่งใส และความเชื่อถือได้จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะสังคมได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการตัดสินใจยอมรับสินค้าหรือบริการ จากความไว้วางใจ (Trust) ในตัวผู้ผลิต หรือผู้ให้บริการ ความรับผิดชอบต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ ความซื่อสัตย์ยุติธรรมในเรื่องราคา สิทธิการรับรู้ของผู้บริโภค ความรับผิดชอบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโลก เสรีภาพและ สิทธิมนุษยชน รวมไปถึงเรื่องคุณธรรม จริยธรรม และ จรรยาบรรณ เป็นเรื่องที่สังคมคาดหวังและเอามารวมกับการทำธุรกิจ สินค้าที่แอบเอาเนื้อม้า มาผสมกับเนื้อวัว แล้วหลอกขายเป็นเนื้อวัว สังคมและผู้บริโภคไม่ยอมรับและกดดันให้เก็บออกไปจากตลาดทันที เป็นตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงน้ำหนักความกดดันเรื่องความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจ

4.           Increasing expectations on the part of everyone for everything

เพราะความคาดหวังของคนในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเพิ่มความคาดหวังมากขึ้นเรื่อยๆตามกระแสบริโภคนิยม เมื่อความคาดหวังที่ระดับหนึ่งบรรลุความคาดหวังแล้ว จะเกิดความคาดหวังระดับสูงมากขึ้นอันใหม่เข้ามาแทนที่ สิ่งที่เคยเป็นเพียงความปรารถนา (Desire) เมื่อได้รับสิ่งนั้นสมความปรารถนา (Satisfied) สิ่งนั้นจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นต้องมี (Necessity) ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ความคาดหวังของคนในกระแสโลกาภิวัฒน์ได้แพร่ระบาดไปในคนทุกระดับชั้นในสังคม ยุทธศาสตร์การทำธุรกิจที่เคยประสบความสำเร็จแบบ ถูก เร็ว ดี ในวันนี้ต้องเพิ่มคุณค่า (Extra value) เข้าไปถึงจะสามารถแข่งขันได้ ความคาดหวังจึงเป็นอีกหนึ่งความกดดันที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจอยู่ตลอดเวลา

            แล้วเราจะต้องทำอย่างไร เมื่อมีความกดดันเหล่านี้เกิดขึ้นกับธุรกิจของเรา Peter Sheanhan แนะนำว่าควรทำสิ่งต่อไปนี้

·      สำรวจด้วยตนเองว่ามีสิ่งใดบ้างที่เป็นความกดดันต่อตัวคุณและธุรกิจของคุณ เกี่ยวกับเรื่องเวลาและสถานที่ (Time and space) ให้เขียนรายการสิ่งที่เป็นความกดดันออกมาเป็นข้อๆ เพื่อนำไปศึกษาหาแนวทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขต่อไป

·      ให้คิดถึงความซับซ้อน (Complexity) ที่โยงใยและมีผลกระทบมาถึงตัวคุณและธุรกิจของคุณ แต่สิ่งสำคัญที่คุณต้องพิจารณาคือ ความซับซ้อนที่กำลังเกิดขึ้นจะมีผลกระทบอะไรต่อลูกค้าของคุณบ้าง และคุณมียุทธศาสตร์อะไรในการลดความซับซ้อนนั้นลงในกระบวนการทำธุรกิจของคุณ ทำอย่างไรให้สิ่งต่างๆในธุรกิจของคุณมีความง่าย(Simplifying)มากขึ้น

·      จัดทีมงานรับผิดชอบในการศึกษาเพื่อขจัดความล่าช้าในขั้นตอนต่างๆของการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขั้นตอนการติดต่อสื่อสารภายในองค์กรธุรกิจของคุณ และขั้นตอนการติดต่อสื่อสารภายนอกองค์กรกับลูกค้าและตลาดธุรกิจของคุณ

·      ถามตนเองว่าเราจะเพิ่มมูลค่าอะไรให้ลูกค้าได้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทั้งในรูปสินค้าและบริการ

นำเอาสิ่งที่เราคิดสำรวจได้ข้างต้น เข้าสู่การระดมสมองของคณะผู้บริหารเพื่อหาหนทางปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เปลี่ยนแปลงกระบวนการทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความกดดันที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจของเรา

การทำธุรกิจในทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะธุรกิจเท่านั้น แต่ธุรกิจเป็นเรื่องส่วนบุคคลด้วย แนวคิดการทำธุรกิจแบบเดิมคือ ธุรกิจคือธุรกิจ (Business is business) คงไม่เพียงพอแล้วครับ ธุรกิจในยุคนี้ต้องรวมเรื่องส่วนบุคคล (Business is personal) เข้ามาด้วย เพราะผู้บริโภค หรือ ผู้ซื้อในปัจจุบัน ไม่ได้ต้องการซื้อเฉพาะสินค้า หรือบริการที่ขายเท่านั้น แต่สิ่งที่เขาต้องการมากกว่าสินค้าหรือบริการที่เขาซื้อคือ เขาต้องการทำธุรกิจที่เขาพึงพอใจจากคนที่เขารู้จัก (People they know) คนที่เขาชอบ (People they like) และคนที่เขาไว้ใจ (People they trust) เพราะปัจจุบันช่องทางการทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการเป็นไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ทั้งจากการเผยแพร่ให้ความรู้ของหน่วยงานทางราชการที่กฎหมายกำหนดให้กระทำ หรือจากคู่แข่งขันของเราที่เต็มใจกระทำให้ข้อมูลเพื่อแนะนำสินค้าและบริการของเขา ซึ่งผู้บริโภคและผู้ซื้อสามารถนำมาเปรียบเทียบกับสินค้าและบริการของเราได้ และจากผู้บริโภคและผู้ซื้อเองที่ตั้งใจกระทำ โดยเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลสินค้าและบริการของเราให้แก่คนอื่นๆทราบ ดังนั้นกระบวนทัศน์หรือมุมมองในการมองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคจึงต้องเปลี่ยนไป เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “People don’t buy products or services, they buy what those products or services do.” คนไม่ได้ซื้อสินค้าหรือบริการ คนซื้อสิ่งที่สินค้าหรือบริการทำให้เขา

Flint McLaughlin กล่าวว่า “People don’t want to be marketed to, they want to be communicated with” คนไม่อยากถูกทำการตลาดกับ แต่อยากถูกติดต่อสื่อสารด้วย

เปลี่ยนมุมมองธุรกิจด้วยตนเองวันนี้ ดีกว่าถูกบังคับให้เปลี่ยนตามพรุ่งนี้ครับ M

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

7 Transformations of Leadership


 “Inexperienced people die because they reject wisdom. Stupid people are destroyed by their own lack of concern.”                                Proverbs 1:32

นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychologists) ส่วนใหญ่มีความเห็นว่า สิ่งที่ทำให้ผู้นำ (Leaders) มีความเป็นผู้นำที่แตกต่างกัน ไม่ได้อยู่ที่ปรัชญาการเป็นผู้นำ (Philosophy of leadership) หรือ บุคลิกภาพ (Personality) ของผู้นำ หรือ แบบอย่างในการบริหารจัดการ (Style of management) ของผู้นำ แต่อยู่ที่ ตรรกะที่ใช้ในการปฏิบัติการ (Action logic) ของผู้นำแต่ละคนที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมที่ผู้นำคนนั้นต้องเผชิญ กับความเสี่ยง ความปลอดภัย และต่ออำนาจความรับผิดชอบของผู้นำในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

            David Rooke และ William R. Torbert ได้ร่วมกันทำการศึกษาวิจัยเรื่องลักษณะความเป็นผู้นำ และตีพิมพ์เรื่อง “7 Transformations of Leadership” ใน Harvard Business Review โดยที่ผู้ทำการศึกษาวิจัยมีประสบการณ์มากกว่า 25 ปี ในการทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำหลายบริษัทที่ให้บริการปรึกษาแก่บริษัท และองค์กร ทั้งในสหรัฐอเมริกา และในยุโรป เช่น Deutsche Bank, Harvard Pilgrim Health Care, Hewlett Packard, NSA, Trillium Asset Management, Aviva และVolvo  โดยร่วมมือกับ Susanne Cook Greuter นักจิตวิทยา ทำการศึกษาวิจัยโดยวิธีการส่งแบบสอบถามให้ผู้บริหารที่มีอายุระหว่างอายุ 25 ถึง 55 ปี จำนวนหลายพันคนในบริษัทและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมตอบแบบสอบถาม ผลการศึกษาทำให้ผู้ทำการศึกษาสามารถแบ่งกลุ่มผู้บริหารออกตามลักษณะการเป็นผู้นำได้ 7 แบบ คือผู้นำแบบนักฉกฉวย (Opportunists) ผู้นำแบบนักการทูต (Diplomats)  ผู้นำแบบผู้เชี่ยวชาญ (Experts) ซึ่งผู้นำทั้ง 3 แบบนี้รวมเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 55% ของประชากรกลุ่มตัวอย่าง (Sample) โดยภาพรวมแล้ว ผู้นำทั้ง 3 แบบนี้ มีผลงานการเป็นผู้นำในการบริหารงานในองค์กรที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำกว่ามาตรฐานขององค์กร (Below average corporate performance) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เหลือได้แก่ ผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ (Achievers)  ผู้นำแบบนักปัจเจกชน (Individualists) ผู้นำแบบนักยุทธศาสตร์ (Strategists) และ ผู้นำแบบนักเปลี่ยน (Alchemists) ผู้นำในแบบกลุ่มหลังนี้โดยภาพรวมค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการนำองค์กร แสดงความสามารถอย่างสม่ำเสมอ (Consistent capacity) ในการนำการเปลี่ยนแปลงขององค์กร

ขอขยายความให้ผู้อ่านได้มีความเข้าใจในคุณลักษณะของผู้นำแบบต่างๆที่คณะผู้ศึกษาได้แยกแยะตามลักษณะความเป็นผู้นำดังต่อไปนี้

1.           The Opportunist ผู้นำแบบนักฉกฉวย

ผู้นำกลุ่มแบบนี้มีประมาณ 5% ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้นำที่มีคุณลักษณะเป็นคนไม่ค่อยไว้วางใจ (Mistrust) คนอื่น เป็นผู้นำที่นิยมเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentrism) และชอบเข้าไปจัดแจงควบคุมคนอื่น (Manipulative) ที่คณะผู้ศึกษาได้ใช้ชื่อผู้นำแบบนักฉกฉวยเพราะผู้นำกลุ่มนี้สนใจเฉพาะประเด็นที่ตนเองเป็นผู้ชนะเท่านั้นโดยมองโลกและผู้อื่นเป็นโอกาสที่ตนสามารถแสดงความกล้าหาญเข้าไปฉกฉวยประโยชน์เพื่อผลสำเร็จของตน มุมมองของผู้นำกลุ่มนี้คือตนเองจะมีโอกาสเข้าไปควบคุมผลสำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน มองคนอื่นคือคู่แข่งขันของตน และการตัดสินใจกระทำใดๆของตนถือว่าเป็นการถูกต้องสมเหตุสมผล (Legitimate) เสมอ จึงไม่สนใจเสียงตำหนิต่อว่าและพร้อมที่จะตอบโต้ผู้ตำหนิติติงอย่างตาต่อตา ผู้นำแบบนักฉกฉวยจึงมักอยู่ได้ไม่ยั่งยืน จะอยู่ได้ในสถานการณ์เฉพาะที่มีความยุ่งยากลำบาก มีความเสี่ยง ที่ผู้นำต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ตามสถานการณ์โดย ยึดเอากติกาที่ตนเองสร้างเป็นหลัก

2.           The Diplomat ผู้นำแบบนักการทูต

ผู้นำแบบนี้มีประมาณ 12% ของกลุ่มตัวอย่าง ผู้นำแบบนักการทูต พยายามที่จะเอาใจผู้บริหารที่อยู่ระดับสูงกว่า (Please higher status) และพยายามหลีกเลี่ยงการขัดแย้ง (Avoiding conflict) ผู้นำกลุ่มนี้สนใจเฉพาะสิ่งที่ตนเองสามารถควบคุมได้ มากกว่าจะเข้าไปควบคุมคนอื่น โดยพยายามเสนอสิ่งที่สามารถยอมรับได้กับปทัสถาน (norm) ของกลุ่มเพื่อให้กลุ่มยอมรับ ในขณะที่ผู้นำก็ได้บทบาทการเป็นผู้นำความสำเร็จทำให้สามารถรักษาความเป็นผู้นำไว้ได้ ผู้นำกลุ่มนี้อาจจะยังอยู่ในระดับด้อยอาวุโส อายุยังไม่มากนักจึงต้องพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งกับผู้ที่อาวุโสมากกว่า และพยายามเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ประสานความร่วมมือรอบทิศเพื่อให้งานบรรลุความสำเร็จเพื่อรักษาสถานะความเป็นผู้นำของตนไว้ ทั้งๆที่รู้อยู่ว่าการต้องประนีประนอมกันไปเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่อยๆจะนำไปสู่ปัญหาและเกิดผลเสียหายตามมาในภายหลัง

3.           The Expert ผู้นำแบบผู้เชี่ยวชาญ

เป็นผู้นำกลุ่มใหญ่ประมาณ 38% ของกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ผู้นำกลุ่มนี้เป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้ มีความอาวุโสพอสมควร ทำให้มีความสนใจในการทำให้ความรู้ ความถูกต้องในหลักการจากประสบการณ์ของตนเป็นที่ยอมรับ จึงเป็นผู้นำที่ทุ่มเทให้กับงานและต้องการให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความมีประสิทธิภาพในงานและทำให้งานมีความครบถ้วนบริบูรณ์ (Perfection) ซึ่งเป็นคุณลักษณะของผู้นำแบบผู้เชี่ยวชาญที่ต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งในทางปฏิบัติอาจมีปัญหา เมื่อผู้ร่วมงานไม่ค่อยให้ความสนใจในรายละเอียดและต้องการความรวดเร็ว จึงมักหลีกเลี่ยงการทำงานตามขั้นตอน ตามกฎเกณฑ์ และเนื่องจากผู้นำกลุ่มนี้มีประสบการณ์และความรู้มากจึงมักจะมองข้ามข้อเสนอ และความคิดเห็นของผู้อื่นที่ด้อยความรู้และประสบการณ์กว่าตน เพราะเชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ของตนจะถูกต้องกว่า

4.           The Achiever ผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ

ผู้นำแบบนี้มีประมาณ 30% ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้นำที่มีความเข้าใจในความซับซ้อนของสถานการณ์และมีความสามารถในการบูรณาการ ผู้นำแบบนี้เปิดกว้างฟังความคิดเห็นที่แตกต่างกัน เข้าใจความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ มองความขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติของสังคม เข้าใจเรื่องความละเอียดอ่อนและความอ่อนไหวในการจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ สามารถรับฟังความเห็นที่ขัดแย้งได้อย่างสร้างสรรค์ สนับสนุนการทำงานเป็นทีมเพื่อให้งานบรรลุความสำเร็จ การเป็นผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ อาจจะมีปัญหาเมื่อต้องทำงานร่วมกับผู้นำแบบอื่นๆที่มีคุณลักษณะที่แตกต่างกันเพราะต้องนำข้อเท็จจริงและเหตุผลมาต่อสู้กับความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้นำแบบอื่นๆ

5.           The Individualist ผู้นำแบบนักปัจเจกชน

ผู้นำแบบนี้มีประมาณ 10% ของกลุ่มตัวอย่าง ผู้นำกลุ่มนี้เน้นอัตลักษณ์ของตนเองเป็นที่ตั้ง เอาความคิดและหลักการของตนเองเป็นตัวนำผลักดันการเปลี่ยนแปลงขององค์กร จึงมักหลีกเลี่ยงหรือไม่ยอมรับ วัฒนธรรม ระเบียบและกฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิมขององค์กร เพราะมองเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ตนเองเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอยู่ ซึ่งทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดในหมู่ผู้ร่วมงานที่เห็นว่าสิ่งที่ผู้นำตัดสินใจทำนั้นอาจจะนำไปสู่การมีปัญหาในอนาคต ผู้นำแบบนี้พยายามจะนำตรรกะของตน และบุคลิกภาพของตนผลักดันให้ผู้อื่นยอมรับ มากกว่าจะสนใจในค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กร

6.           The Strategist ผู้นำแบบนักยุทธศาสตร์

ผู้นำแบบนี้มีประมาณ 4% ของกลุ่มตัวอย่าง เป็นกลุ่มผู้นำที่มองเห็นว่าองค์กรมีข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากร องค์กรจึงต้องมียุทธศาสตร์ในการนำความเปลี่ยนแปลงถึงจะประสบความสำเร็จได้ ผู้นำแบบนี้เน้นเรื่องการมีส่วนร่วม และการแบ่งปันเรื่องคุณค่า วิสัยทัศน์ กับคนในองค์กร ผู้นำกลุ่มนี้เข้าใจเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นเรื่องต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในองค์กร และจะต้องให้การดูแลเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมีความเข้าใจเรื่องการนำความเปลี่ยนแปลงในองค์กรว่าเป็นเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์ (Interactive) ระหว่างผู้นำกับผู้ตาม ดังนั้นการมีความขัดแย้งกันในองค์กรจึงเป็นธรรมชาติของการนำความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเรื่องที่สามารถจัดการได้ และการที่องค์กรจะเกิดการต่อต้านขึ้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์กร

7.           The Alchemist ผู้นำแบบนักเปลี่ยน

เป็นผู้นำที่มีจำนวนน้อยมากประมาณ 1% เท่านั้นในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ผู้นำแบบนี้หาได้ยากในองค์กรธุรกิจเพราะเป็นผู้นำที่มีความสามารถการปรับตนเองใหม่ (Renew) หรือสร้างตนเองใหม่ (Reinvent) เพื่อนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นโดยสามารถเชื่อมโยงให้เข้ากับประวัติศาสตร์ขององค์กรได้อย่างเหมาะสม ผู้นำแบบนี้มีความเป็นพิเศษในเรื่องความมีบารมี (Charismatic) และให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานทางศีลธรรม (Moral standard) สูง ยึดเอาความจริง ความถูกต้องเป็นหลัก แสดงออกด้วยความรู้สึกจากจิตใจ เป็นผู้นำที่สามารถสร้างสัญญาลักษณ์ (Symbol) ให้ผู้ติดตาม มีความสามารถผูกโยงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ขององค์กรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ขององค์กรในปัจจุบันได้อย่างชาญฉลาด เป็นผู้นำที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงในตัวคน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในองค์กร และไปสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมได้

Martin Luther King, Jr. กล่าวว่า “A genuine leader is not a searcher for consensus but a molder of consensus.” ผู้นำแท้ไม่ใช่ผู้แสวงหาการยอมรับแต่เป็นบ่อเกิดของการยอมรับ

คุณอยากจะเป็นผู้นำแบบไหนครับ?