วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

โลกร้อนเพราะความโลภ

Worthless, wicked people go around telling lies. They wink and make gestures to deceive you, all the while planning evil in their perverted minds, stirring up trouble everywhere.”  
Proverbs 6:12-14

โลกร้อนขึ้นอย่างแน่นอนเพราะทุกคนในประเทศไทยและคนทั่วโลกได้สัมผัสแล้วเวลานี้ เรื่องภาวะโลกร้อนกลายเป็นวาระของโลกที่คนทั้งโลกต้องช่วยกันคิด ป้องกัน และ แก้ไขแล้ว สภาพธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลง กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ที่มนุษย์ทุกคนต้องสนใจและใส่ใจกับการเปลี่ยน แปลงทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องวิกฤติที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของทุกชีวิตบนโลกใบนี้ ทั้งในเวลาปัจจุบันนี้ และชีวิตของลูกหลานเราในอนาคตข้างหน้าด้วย

ความจริงเรื่องภาวะโลกร้อนนี้ นักภูมิศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนตั้งนาน แล้วว่า โลกกำลังมีปัญหาเรื่องภาวะเรือนกระจก (Greenhouse) ซึ่งเกิดจากการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ของโรงงานอุตสาหกรรม ไอเสียจากรถยนต์ เครื่องจักรต่างๆ รวมทั้งการใช้สารเคมี ฯลฯ ซึ่งมีผลทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนและทำให้ผืนน้ำแข็งขั้วโลก ละลายมากขึ้นทุกปี ซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change ) ของโลก แต่มนุษย์ยังมีความรู้สึกว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเข้าใจว่ากว่าโลกจะร้อนขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส จะต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี ความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องสภาวะโลกร้อนจึงมีน้อยมาก

ประเทศส่วนใหญ่ในโลกยังคงพัฒนาประเทศในรูปแบบเดิมคือเน้นการเอาตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เอาตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) เป็นเป้าหมายการเจริญเติบโต ด้วยการเอาทรัพยากรธรรมชาติออกมาใช้เพื่อผลผลิตทาง อุตสาหกรรม การเกษตรกรรม และการบริการ โดยไม่ได้ใส่ใจกับความสูญเสียทาง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของโลกมากนัก โลกของเราจึงร้อนขึ้นทุกปี และโลกมันร้อนขึ้นเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ และนักภูมิศาสตร์ได้เคยพยากรณ์ไว้ด้วย

ภาวะเรื่องโลกร้อนจึงเป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศ ผู้นำธุรกิจ และผู้นำสังคมทั่วโลกจะต้อง พิจารณาทบทวนกันใหม่ เพราะรูปแบบวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำกันทั่วโลกในเวลา ที่ผ่านมากำลังสร้างปัญหาให้กับสังคมโลก  เรามีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นทางเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ แต่สภาพอากาศของโลกของเรากลับร้อนมากขึ้นด้วย ในขณะที่ประเทศต่างๆมีตัวเลขความเจริญทางเศรษฐกิจสูงขึ้น แต่ความแตกต่างทาง ฐานะเศรษฐกิจของคนทั่วโลกกลับมีมากขึ้น ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนมั่งมี กับคนยากจนห่างกว้างมากขึ้นทุกปี นี่จึงไม่ใช่สถานะการณ์ที่พึงประสงค์ของสังคมโลกอย่างแน่นอน เพราะปัญหาทางสังคมของเราซับซ้อนมากขึ้น และคนที่มีความทุกข์มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

เป็นเพราะเราใช้วิธีการคิดโดยใช้มิติการเอาประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวมาเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่ได้นำมิติด้านผลเสียที่เป็นต้นทุนทางสังคมและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Environmental and social capital ) มาคิดคำนวณด้วย เช่นคุณภาพชีวิตของคนใหญ่ในสังคม สุขภาพของประชากรในประเทศ ความสุขสงบของคนในสังคม การมีชีวิตและดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความยั่งยืนของ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


รายงานจาก The Economics of Ecosystems and Biodiversity (TEEB) for Business Coalition ประมาณการว่า ผลจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความสูญเสียที่เกี่ยวกับการเกิดมลพิษทางอากาศ มีมูลค่าประมาณ 4.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี


จึงเกิดความพยายามที่จะรณรงค์ให้เปลี่ยนความคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจโลกใหม่ มีผู้นำประเทศหลายประเทศกำลังช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการพัฒนาเศรษฐกิจของโลก คือเปลี่ยนเป้าหมายเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน (Sustainable Develpment Goal) หรือที่นิยมเรียกกันว่า Agenda 30 และมีข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องภูมิอากาศที่กรุงปารีส (Paris Agreement) เข้ามาร่วมด้วย โดยตั้งเป้าหมายให้โลกนี้เป็นโลกที่ไร้ความยากจนและเป็นโลกที่ไร้คาร์บอน ( a zero-provety, zero-carbon world) ทั้งนี้เพื่อต้องการทำให้โลกของเรามีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าและมีภูมิอากาศที่ดีกว่า ( Better Growth: Better Climate)

แม้ว่าความตั้งใจของบรรดาผู้นำประเทศและเป้าหมายที่กำหนดไว้จะเป็นความท้าทายที่เป็นไปได้ยาก และคงยากที่จะทำให้สำเร็จได้ แต่เราอยู่ในสภาพหลังชนฝาแล้ว จึงไม่สามารถรอต่อไปได้อีก ทุกคนบนโลกนี้ต้องร่วมกันลงมือทำเลยเดี๋ยวนี้ ตามศักยภาพกำลังความสามารถของตน เพราะโลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติภายใน 15 ปีข้างหน้านี้ เราจำเป็นต้องลดภาวะเรือนกระจกของโลกลงให้ได้ถึง 96% ภายในปี 2030 เพื่อทำให้ภาวะโลกร้อนต่ำกว่า 2 %


ในด้านความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน องค์กร Oxfam ได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า ในปัจจุบันประชากรโลกจำนวน 1 %  มีความมั่งคั่งเท่ากับความมั่งคั่งของ ประชากรโลกอีก 99% ( 1% of the world population now own equivalent wealth of the other 99%) เป็นช่องว่างความแตกต่างทางฐานะเศรษฐกิจที่กว้างอย่าง มหาศาลมากมาก ระหว่างคนมี กับคนไม่มี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความได้เปรียบของคนจำนวนน้อยที่ได้ประโยชน์จากคนจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคอุตสาหกรรมต่อเนื่องมาจนถึงยุคเทคโนโลยีในปัจจุบัน

องค์กร ITUC เปิดเผยว่า มีบริษัทระดับนานาชาติจำนวน 50 แห่ง มีการจ้างแรงงาน แฝงให้ทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมโดยได้รับค่าจ้างในอัตราต่ำมาก และ องค์กร Amnesty International ได้เปิดเผยเช่นกันว่ายังมีการใช้แรงงานเด็กในห่วง โซ่อุปทานของอุตสาหกรรมบางประเภทในบางประเทศในเวลานี้ นี่คือรูปแบบธุรกิจที่ออกแบบมาด้วยความคิดมิติเดียว คือมิติความโลภที่เอาเปรียบคนอื่นที่อ่อนแอกว่า และใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตน เพื่อตักตวงผลกำไรอย่างไม่คิดถึงผลเสียหายในวงกว้างต่อสังคมและทรัพยากรธรรมชาติของโลก ทำให้เกิดผลกระทบภาวะโลกร้อนที่กำลังเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ และทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้ความมั่งมีกระจุกในคนส่วนน้อย แต่ความยากจนกระจายอยู่ในหมู่คนส่วนใหญ่

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความไม่เท่าเทียมที่ถูกกำหนดขึ้น (Inequality by design) โดยนายทุนที่ใช้ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ กำหนดความมั่งคั่งในการแบ่งปันด้วยวิธีการเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่าทางความรู้ และทุนทรัพย์ ซึ่งประเทศไทยของเราก็ตกอยู่ในสภาพแบบนี้ เพราะประเทศไทยถูกบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่ตระกูลกำหนดความได้เปรียบทางเศรษฐกิจอย่างขาดสำนึกต่อส่วนรวม เพราะพื้นฐานความโลภอย่างไม่รู้สิ้นสุดของพวกเขาหยั่งรากลึกมาก


ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยที่คนไทยสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจนเวลานี้คือ สภาพของภูเขาในประเทศไทยเกือบทั้งประเทศได้กลายเป็นภูเขาหัวโล้นไปเรียบร้อยแล้ว ป่าไม้ในประเทศที่เคยมีอย่างค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ถูกตัดทิ้งไปเกือบหมดประเทศ เพื่อเอาพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือปลูกพืชผลการเกษตรอื่นๆเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เป็นความไม่เท่าเทียมกันที่ถูกออกแบบและกำหนดโดยบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร เพียงไม่กี่บริษัทในประเทศไทยที่ออกแบบรูปแบบการทำธุรกิจบนฐานความละโมภ และเห็นแก่ได้อย่างน่ารังเกียจ


รายได้จากการปลูกข้าวโพดที่เกษตรกรบนดอยหัวโล้นได้รับถูกกำหนดโดยบริษัทที่ด้อยจริยธรรมไม่กี่บริษัท รายได้จากการขายพืชผลที่เกษตรกรได้รับเป็นเพียงเศษของกำไรที่บริษัทได้รับ เพราะเมื่อบริษัทนำพืชผลการเกษตรไปแปรรูปขาย เขาสามารถขายในราคาที่เขากำหนดและทำกำไรอย่างมหาศาล แต่บริษัทเหล่านี้ขาดจิตสำนึกว่า รูปแบบธุรกิจที่พวกเขากำลังได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลนี้ ในเวลาเดียวกันบริษัทของพวกเขาคือ

  • ผู้กำหนดการทำลายป่าไม้ของประเทศ ผู้กำหนดให้เกษตรกรเผาป่าจนเกิดควันทำลายสุขภาพของคนหลายจังหวัด
  • ผู้กำหนดให้เกษตรกรใช้สารเคมีเพื่อให้พืชผลตามมาตรฐานที่เขาต้องการ
  • ผู้กำหนดให้แม่น้ำทางภาคเหนือและภาคอีสานแห้ง
  • ผู้กำหนดความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ กำหนดราคาซื้อและราคาขาย
  • ผู้กำหนดให้เกษตรกรเป็นผู้ลงมือทำการทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่ธุรกิจ


โดยรูปแบบธุรกิจ บริษัทของพวกเขาไม่ได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง แต่ในความเป็นจริง บริษัทของพวกเขาเป็นผู้กำหนดรูปแบบธุรกิจที่ทำให้เกษตรกรจำเป็นต้องเป็นผู้กระทำตามห่วงโซ่ธุรกิจที่บริษัทของพวกเขากำหนดไว้ เพื่อทำให้บริษัทของพวกเขาสามารถกอบโกยกำไรบนความเจ็บปวดของคนทั้งชาติ และทำลายทุนทรัพย์ทางธรรมชาติของลูกหลานของเราในอนาคต


เศรษฐกิจแบบเอาประโยชน์บนพื้นฐานการเอาเปรียบและทำลายธรรมชาติและสิ่งแวด
ล้อมที่ไม่สามารถประมาณมูลค่าความเสียหาย ทางเศรษฐกิจได้นี้ เป็นเศรษฐกิจบนความเดือดร้อนของประชาชนจำนวนหมื่นๆคนที่ได้รับผลกระทบทั้ง ทางร่างกายและจิตใจที่ได้รับความเดือดร้อนจากความเจ็บป่วยอันเกิดจากการแพ้หมอกควันไฟที่เกิดจากการเผาป่า เผาซังข้าวโพด เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูต่อไป


ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประชาชนและรัฐบาลต้องเสียเงินจำนวนมหาศาลซื้อยาแก้แพ้ ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่มีอาการหืดหอบที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อพ่นยาใส่ออกซิเจนทางเครื่องช่วยหายใจ และความเสียหายจากการลาหยุดงานเนื่องจากการเจ็บป่วย ที่รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน ต้องรับผิดชอบแทน รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมอื่นๆที่ทำให้ธุรกิจของผู้อื่นเดือดร้อนเพราะขาดแคลนทรัพยากรน้ำ อีกจำนวนมากมาย ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล และประชาชน มูลค่าจำนวนมากมายนี้ บริษัทที่เห็นแก่ได้เหล่านี้ ไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบอะไรเลย พวกเขายังลอยหน้ายิ้มรับแต่ผลกำไรและนำเงินไปขยายธุรกิจให้กว้างใหญ่ไพศาลมากขึ้น เพื่อตักตวงผลประโยชน์จากความได้เปรียบต่อไป


การเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปแบบธุรกิจที่บริษัทกอบโกยเอารัดเอาเปรียบประชาชนและประเทศชาติอย่างนี้ แม้จะทำให้ตัวเลข GDP ของประเทศมากขึ้น แต่ตัวเลขGDP ที่สูง ขึ้นเป็นตัวเลขที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงที่เป็นธรรม เพราะไม่ได้นำเอาความสูญเสียจำนวนมหาศาล จากการที่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายซึ่งประมาณ มูลค่าไม่ได้มาหักลบด้วย


ตัวเลข GDP ที่สูงขึ้นทำให้บริษัทพวกนี้มั่งคั่งขึ้นแต่ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบการทำธุรกิจที่ไร้สำนึกทางจริยธรรม และประเทศชาติเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถูกทำลายจนคนทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อนในเวลานี้ ซึ่งยังไม่นับค่าความสูญเสียโอกาสจากการได้ ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของลูกหลานเราในอนาคต


Nelson Mandela กล่าวว่า “As long as poverty, injustice and gross inequality persist in our world none of us can truly rest.” ตราบใดที่ความยากจน ความไม่เป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมกันทั้งมวล ยังคงมีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีใครในพวกเราที่สามารถหยุดพักผ่อนได้อย่างแท้จริง


ยังหยุดพักผ่อนไม่ได้เพราะต้องช่วยกันรักษาโลกให้ลูกหลานของเราต่อไปครับ


แหล่งที่มาความคิด:
World Economic Forum;
GDP ignores the things that matter- like climate change