วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ผู้นำผู้รับใช้



“Wisdom is the most important thing; so get wisdom. If it cost everything you have, get understanding.”                                                                                            Proverbs 4:7

ในหนังสือของ Hermann Hesse เรื่อง Journey to the East ได้เล่าเรื่องของ Leo ซึ่งร่วมเดินทางไปกับคณะเดินทางที่กำลังมุ่งหน้าเดินทางเผชิญภัยไปทางทิศตะวันออกในฐานะผู้รับใช้ผู้ให้บริการแก่ทุกคนในกลุ่มผู้เดินทาง การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่นแม้ผู้ร่วมเดินทางแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันทางความคิด ทัศนคติ อุปนิสัย ความรู้ ความสามารถและความต้องการ ต่างมีความสุขและความพึงพอใจในการเดินทาง แต่แล้ววันหนึ่ง Leo ได้หายไปจากคณะเดินทางโดยไม่มีใครทราบว่าเขาหายไปใหนและจะกลับมาหรือไม่ การเดินทางที่ไม่มี Leo เป็นผู้รับใช้อยู่ในคณะเริ่มมีปัญหา เมื่อขาด Leo ผู้ที่คอยให้บริการช่วยเหลือ ผู้ที่คอยรับฟังปัญหาความต้องการของแต่ละคนด้วยความอดทน ผู้ที่คอยประสานความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละคนในคณะ ผู้ที่คอยเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ผู้ที่คอยประสานความเข้าใจ ผู้ที่คอยให้กำลังใจเมื่อเกิดความท้อแท้ ผู้ที่คอยสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะเมื่อมีความตึงเครียด และผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ ผู้เดินทางแต่ละคนเริ่มเกิดความขัดแย้งกัน และการอยู่ร่วมกันในคณะเดินทางมีปัญหามากขึ้นทุกวัน จนในที่สุดการเดินทางของคณะนี้ต้องล้มเลิกกลางคันเพราะคนในคณะเดินทางไม่สามารถร่วมเดินทางต่อไปได้เมื่อขาด Leo ผู้รับใช้คนนั้น ต่อมาภายหลังจึงได้รู้ความจริงว่า Leo ผู้ที่ทำตัวเป็นผู้รับใช้ในคณะผู้เดินทางแท้จริงคือผู้มีตำแหน่งสูงศักดิ์ที่อุปถัมภ์การเดินทางครั้งนี้
Robert K. Greenleaf ผู้นำความคิดเรื่องการเป็นผู้นำผู้รับใช้ (Servant leader) ให้ความเห็นว่า บทบาทของ Leo ในคณะผู้เดินทางคือ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ที่ถูกมองว่าเป็นผู้รับใช้ในเบื้องต้น (the great leader is seen as servant first)
ในพระคัมภีร์ของชาวคริสต์ ได้กล่าวถึงถึงคำสอนของพระเยซูคริสต์ที่สอนลูกศิษย์ว่า “ถ้าผู้ใดใคร่จะได้เป็นใหญ่ในพวกท่าน ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ปรนนิบัติท่านทั้งหลาย (Whoever desires to become great among you shall be your servant.)  
คำสอนนี้ตรงกันข้ามกับความเข้าใจและการปฏิบัติของคนในสังคมเพราะมายาคติเดิมที่ฝังในความคิดของคนทั่วไปคือคิดว่าผู้นำคือผู้ได้รับการปรนนิบัติจากผู้ติดตาม และผู้รับใช้คือผู้ปรนนิบัติ ผู้นำคือผู้ที่มีอำนาจอยู่ในสถานะเหนือกว่าและผู้รับใช้คือผู้ไร้อำนาจอยู่ในสถานะต่ำกว่า ผู้นำคือผู้ที่ฉลาดและเก่ง และผู้รับใช้คือผู้ฉลาดน้อยและด้อยความสามารถ
คำกล่าวชวนให้คิดของ Robert K. Greenleaf ว่า “The wise are not necessarily scholars, and scholars are not necessarily wise” คนฉลาดไม่จำเป็นต้องเป็นปราชญ์ และปราชญ์ไม่จำเป็นต้องฉลาด คงทำนองเดียวกับ ผู้นำไม่จำเป็นต้องเก่ง และ คนเก่งไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำ หรือผู้รับใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนด้อยปัญญา และ คนด้อยปัญญาไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รับใช้ สะท้อนสัจจะความจริงที่ว่าไม่มีมนุษย์คนใดสมบูรณ์ แม้อัจฉริยะยังไม่รู้ความจริง เพราะพระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์ให้มีความครบถ้วนเหมือนพระเจ้าผู้เป็นสัพพัญญู (Omniscient)
แล้วถ้าการรับใช้ของคนที่ถูกมองว่าเป็นผู้รับใช้แบบ Leoได้ช่วยทำให้ผู้อื่นทำงานได้สำเร็จ ทำให้งานที่สำคัญของผู้อื่นสำเร็จตามที่ต้องการของพวกเขา ทำให้ผู้ที่เขารับใช้มีความฉลาดมากขึ้น ทำให้ผู้ที่เขารับใช้มีความเป็นตัวตนมากขึ้น มีความอิสระในการคิดและการกระทำมากขึ้น มีความสุขในชีวิตมากขึ้น ทำให้ผู้ที่เขารับใช้สามารถทำประโยชน์ให้ผู้อื่นได้มากขึ้น ผู้ที่ถูกมองว่าเป็นผู้รับใช้แบบนี้จริงๆแล้วคือผู้นำที่นำด้วยการรับใช้ก่อน (Servant first) นั่นเอง
ธรรมชาติของผู้ที่เป็นผู้นำผู้รับใช้คือต้องมีชีวิตจิตใจที่คิดถึงผู้อื่นก่อนเสมอซึ่งแตกต่างจากผู้นำทั่วไปทึ่ต้องการให้ผู้อื่นคิดถึงตัวผู้นำก่อน (Leader first) การเป็นผู้นำผู้รับใช้จึงเป็นงานยาก ต้องมีความเสียสละอดทนอย่างสูง และต้องมีจิตใจที่ถ่อมสุภาพมากๆ
Every achievement starts with a goal ทุกความสำเร็จเริ่มจากการมีเป้าหมาย การเป็นผู้นำผู้รับใช้เริ่มต้นที่การมีเป้าหมายต้องการรับใช้ผู้อื่น แต่การมีเป้าหมายที่ดีโดยไม่มีการปฏิบัติความสำเร็จย่อมไม่เกิดขึ้น การรับใช้ผู้อื่นต้องเริ่มต้นจากการทำให้ผู้อื่นเกิดความไว้วางใจ (Trust) ก่อน ทำให้ผู้ที่เราตั้งใจจะรับใช้เกิดความมั่นใจ (Confidence) ในตัวเราว่าเป็นผู้มีคุณธรรม มีคุณค่า (Value) ที่สามารถเชื่อถือไว้วางใจได้ และเชื่อมั่นในความสามารถ (Competence) และการตัดสินใจ (Judgement) ของตัวเราว่าสามารถช่วยเหลือเขาได้ เขาจึงจะวางใจและยอมให้เรารับใช้เขา
การจะเข้าถึงหัวใจแห่งการรับใช้เริ่มจากการฟัง (Listening) คือการฟังเสียงภายในจิตใจซึ่งเป็นเสียงคุณธรรมในจิตใจที่เรียกร้องผลักดันให้ยอมถ่อมตนเสียสละและอดทนต้องการผู้รับใช้ผู้อื่น ภาษาศาสนศาสตร์เรียกว่า การทรงเรียก (Calling) เสียงเรียกจากจิตสำนึกในระดับลึกทำให้เกิดความร้อนรนต้องการปรนนิบัติรับใช้ผู้อื่น เกิดแรงบันดาลใจ (Inspiration) ในการต้องการช่วยเหลือผู้อื่น ทำให้เกิดอนาคตภาพหรือนิมิต (Vision) การเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น ที่นำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตจริง เป็นพันธกิจ (Mission) ในการรับใช้ผู้อื่นในงานด้านต่างๆเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริงเพื่อทำให้เสียงคุณธรรมที่เรียกร้องในจิตใจเกิดผลเป็นการปฏิบัติจริงตามเป้าหมายที่ต้องการ
การฟังในลำดับต่อมาคือการฟังเสียงภายนอก คือการฟังผู้อื่น ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจ (Listening for understanding) ผู้อื่นว่าเขามีปัญหา มีความต้องการอะไร เพื่อเราจะสามารถตอบสนองการรับใช้ผู้อื่นได้อย่างถูกต้อง ส่วนใหญ่เราจะเข้าใจว่าการสื่อสาร (Communicate) คือการพูดให้คนอื่นเข้าใจความต้องการของเรา ทำให้เราพูดมากกว่าฟัง แม้แต่ Saint Francis ยังต้องอธิษฐานขอพระเจ้าว่า “Lord, grant that I may not seek so much to be understood as to understand” พระเจ้าโปรดเมตตาให้ข้าพเจ้าไม่เป็นผู้แสวงหาการให้ผู้อื่นเข้าใจตัวข้าพเจ้าเท่ากับการที่ข้าพเจ้าเข้าใจผู้อื่น ท่านสาธุคุณ Francis ต้องการเข้าใจผู้อื่นมากกว่าให้ผู้อื่นเข้าใจตัวท่าน การจะเข้าใจผู้อื่นได้ต้องรู้จักฟังผู้อื่นก่อน การฟังอย่างตั้งใจจะทำให้เราเข้าใจความหมาย (Meaning) ที่ผู้อื่นต้องการอย่างถูกต้อง ดังนั้นการฟังอย่างตั้งใจจึงเป็นเรื่องสำคัญในการเริ่มต้นรับใช้ผู้อื่น
การเป็นผู้รับใช้ต้องมีความอดกลั้นและอดทนต่อความรู้สึกต้องการของตัวเอง ทั้งความต้องการที่ตนเองจะเข้าไปอยู่ร่วมในความกดดันของปัญหาของผู้ที่เรารับใช้ และความต้องการหนีจากความกดดันของปัญหาที่เราได้รับฟังจากผู้ที่เรารับใช้ เพื่อไม่ให้อารมณ์ความรู้สึกต้องการส่วนตัวของเราดึงและเบี่ยงเบนการรับใช้ของเรา ผู้รับใช้ต้องสามารถจัดการความรู้สึกของตน มีความสุขุม มีสติ มีความนิ่งในเวลาที่สับสน เพื่อทำให้การรับใช้ผู้อื่นไม่ไข้วเขวและเกิดผล
          Larry King กล่าวว่า I remind myself every morning: Nothing I say this day will teach me anything. So if I'm going to learn, I must do it by listening”. ข้าพเจ้าเตือนตนเองทุกเช้าว่า สิ่งที่ข้าพเจ้าพูดในวันนี้ไม่ได้สอนอะไรข้าพเจ้าเลย ดังนั้นถ้าข้าพเจ้าจะเรียนรู้ ข้าพเจ้าจะต้องเรียนรู้จากการฟัง

          Ernest Hemingway กล่าวว่า I like to listen. I have learned a great deal from listening carefully. Most people never listen.”ข้าพเจ้าชอบที่จะฟัง ข้าพเจ้าได้เรียนรู้อย่างมากมายจากการฟังอย่างระมัดระวัง คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักฟัง

          ฟังเสียงคุณธรรมในจิตใจตนเอง และฟังเสียงของผู้อื่นบ้างนะครับ

 

แหล่งนำความคิด: จากหนังสือ Servant Leadership โดย Robert K. Greenleaf

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

อำนาจทางศีลธรรม Moral Authority



“Hold on to wisdom, and it will take care of you. Love it, and it will keep you safe.”                                                                                       Proverbs 4:6

มนุษย์มีลักษณะพิเศษในตัวเองคือมีความต้องการอำนาจและอิสระภาพ (Power and freedom) ซึ่งเป็นลักษณะการใช้อำนาจตามธรรมชาติ (Natural authority) ของมนุษย์ที่มีเหนือสรรพสัตว์อื่นๆในโลก แต่ความต้องการอำนาจและอิสระภาพของมนุษย์มีมากเกินขอบเขต จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในทุกสังคม ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ปัญหาอยู่ที่การใช้อำนาจและเสรีภาพของมนุษย์ที่ไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมได้ หรือรู้จักใช้อำนาจและเสรีภาพตามธรรมชาติอย่างมีหลักการ (Principled way) อย่างมีความพอดีเหมาะสม ผู้นำคือคนที่ใช้อำนาจมากกว่าคนอื่น ส่วนใหญ่จะใช้อำนาจอย่างมีหลักการในระยะแรกของการใช้อำนาจและเสรีภาพในตำแหน่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้นำมักจะใช้อำนาจโดยใช้หลักกู (My way) ตามความต้องการและความพอใจของตน หรือกลุ่มตน โดยละเลยและไม่ให้ความสำคัญต่อหลักการใช้อำนาจและเสรีภาพตามธรรมชาติของมนุษย์ที่พระเจ้ามอบให้มีอำนาจและเสรีภาพไว้เพื่อให้มนุษย์ใช้ปกป้อง คุ้มครอง ดูแลมนุษย์และธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้สามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข
เพราะมนุษย์ใช้อำนาจและเสรีภาพไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม และเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น จึงต้องมีอีกอำนาจหนึ่งเข้ามาช่วยมนุษย์ในการควบคุมการใช้อำนาจและเสรีภาพของมนุษย์ คืออำนาจทางศีลธรรม (Moral authority) เป็นอำนาจคุณธรรมที่อยู่ภายในจิตใจที่ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกว่าอะไรผิดอะไรถูก และทำให้มนุษย์ใช้หลักการมากขึ้นในการคิดและพิจารณาตัดสินใจ
ถ้ามนุษย์ทุกคนที่ต้องการใช้อำนาจและเสรีภาพ มีอำนาจทางศีลธรรมที่เข้มแข็งอยู่ในใจคอยกำกับควบคุม เราไม่จำเป็นต้องสร้างอำนาจทางกฏหมายขึ้นมาบังคับใช้ปกครองมนุษย์ เพราะมนุษย์จะดำเนินชีวิตและปกครองโดยอำนาจทางศีลธรรมที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ได้อย่างมีสันติสุข อย่างที่ Lord Moulton นักการเมืองอังกฤษเรียกว่า “the third domain” หรือ the law of the unenforceable เป็นกฏหมายที่ไม่ต้องบังคับใช้ เพราะคนรู้อยู่ในใจแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำ เมื่อมนุษย์ต้องการเสรีภาพ (Freedom) ซึ่งเป็น the first domain แต่การใช้เสรีภาพของมนุษย์มีปัญหาจึงต้องมีกฏหมาย (Law) ซึ่งเป็น the second domain มาควบคุม แต่ก็ยังไม่ได้ผล ยังมีคนไม่เกรงกลัวและทำผิดกฏหมายตลอดเวลา กฏหมายเอาไม่อยู่ จึงต้องใช้หลักที่สาม คือหลักศีลธรรมในจิตใจซึ่งเป็น the third domain เป็นระบบคุณธรรมของสังคมที่จะทำให้มนุษย์รู้ผิดรู้ชั่วและไม่ทำผิดทำชั่วมาควบคุม
Stephen R. Covey เขียนบทนำในหนังสือ Servant Leadership ของRobert K. Greenleaf ว่า อำนาจทางศีลธรรม (Moral Authority) เป็นรากฐานของการเป็นผู้นำผู้รับใช้ (Servant leadership) เนื่องจากผู้นำผู้รับใช้เป็นผู้นำที่ใช้หลักการในการนำ (Principle centered) เป็นลักษณะการนำที่รักษาความถูกต้อง ใช้เหตุผลที่เป็นจริงอิงหลักการ เป็นผู้นำที่ยึดความเป็นส่วนรวม (a common) มาก่อนความเป็นส่วนตัว คือคิดและทำโดยอิงผลประโยชน์ของส่วนรวมเสมอ เป็นผู้นำที่ใช้หลักความจริง (Truth) ในการนำ ไม่บิดเบือนความจริง ไม่หลอกลวงตนเองและผู้อื่น เป็นผู้นำที่แบ่งปันคุณค่า (Share values) คือเน้นเรื่องคุณค่าชีวิตและสอนคนอื่นให้รู้จักคุณค่าชีวิต และเป็นผู้นำที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน (Trust one another) คือสร้างความมั่นใจให้ผู้อื่นไว้วางใจตน และเป็นผู้มีความไว้วางใจผู้อื่น
การเป็นผู้นำผู้รับใช้ที่ดีต้องมีอำนาจทางศีลธรรม หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี (Conscience) อยู่ประจำใจ เป็นพื้นฐานชีวิตผู้นำเสมอ เพื่อทำให้ผู้นำผู้รับใช้มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

1.  เป็นผู้เสียสละ
การยอมเสียสละ (Sacrifice) คือสาระสำคัญของอำนาจทางศีลธรรม หรือความรู้สึกผิดชอบชั่วดี การเสียสละทำให้เรามีอำนาจทางศีลธรรมมากขึ้นซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะทั้ง

·        การเสียสละทางกาย (The body) คือการเสียสละทางกายภาพและเศรษฐกิจ (Physical and economic sacrifices) ไม่เสาะแสวงหาบริโภคทางวัตถุและเงินทอง มากจนเกิดเป็นความโลภประจำใจ ต้องรู้จักแบ่งปัน (Sharing) และให้คืน (Giving back) แก่ผู้อื่นและสังคม

·        การเสียสละทางใจ (The mind) คือการควบคุมลดทอนความคิดอคติที่มองคนอื่นในทางไม่ดีไม่เหมาะสมลง ไม่สะสมเพิ่มพูนความความคิดชั่วไว้ในใจ เป็นการเสียสละทางอารมณ์และสังคม (Emotional and social sacrifice) ทำให้รู้จักขอโทษ รู้จักให้อภัย รู้จักการคืนดีแก่ผู้อื่น รู้จักยอมให้ผู้อื่น

·        การเสียสละทางหัวใจ (The heart) คือการควบคุมจิตใจให้มีระเบียบ ควบคุมความรักความเห็นแก่ตัวเองให้น้อยลงและเพิ่มความรักความมีน้ำใจให้แก่ผู้อื่นมากขึ้น รู้รักชุมชน รักส่วนรวม เป็นการเสียสละทางจิตใจ (Mental sacrifice) อำนาจทางศีลธรรมทำให้เข้าใจว่าอิสระภาพที่แท้จริงมาจากการการมีระเบียบในจิตใจ (True freedom comes from discipline)  และ

·        การเสียสละทางจิตวิญญาณ (The spirit) คือการก้าวพ้นความต้องการของตัณหาในตัวเองไปสู่ความดีงามหรือธรรมะในระดับสูงขึ้น ทำให้ชีวิตถ่อมสุภาพ (Humble) และเสียสละเพื่อผู้อื่น เป็นชีวิตที่อยู่เพื่อรับใช้ (Living and serving) ผู้อื่น

2.  เป็นผู้มีพันธะทางใจ
อำนาจทางศีลธรรมขับดันให้เรามีคุณค่าในชีวิต ทำให้มีพันธะทางใจที่จะแสวงหาและกระทำสิ่งดีเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเรา ความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กที่เรียกร้องต้องการทุกอย่างจากคนอื่น จะเปลี่ยนเป็นความคิดที่พัฒนาระดับสูงขึ้น เป็นความคิดว่าคนอื่นต้องการอะไรจากเราบ้าง หรือสังคมต้องการอะไรจากเราบ้าง ทำให้เกิดแรงบันดาลใจต้องการใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคม George Bernard Shaw กล่าวว่า “My life belongs to the whole community” ชีวิตของข้าพเจ้าเป็นของชุมชนทั้งหมด เขามีความรู้สึกว่าชีวิตของเขาไม่ใช่เป็นแค่เทียนไขที่ส่องสว่างชั่วขณะเมื่อมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ แต่ชีวิตเป็นเหมือนคบเพลิงที่อยู่ในมือที่เขากำลังถือวิ่งไปส่งให้คนรุ่นต่อไป ดังนั้นจึงต้องพยายามทำให้คบเพลิงลุกโชติช่วงส่องสว่างเพื่อให้ประโยชน์ต่อผู้อื่นมากที่สุด ในขณะที่เขายังมีโอกาสถือคบเพลิงนั้นอยู่

3.  เป็นผู้เกรงกลัวต่อบาป
อำนาจทางศีลธรรมในตัวผู้นำผู้รับใช้จะสอนให้เข้าใจว่าการกระทำและผลลัพท์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกจากกันได้ (Ends and means are inseparable) ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว จริงๆแล้วเรารู้ผลลัพท์ล่วงหน้าก่อนการกระทำแล้วว่า ถ้าเราทำอย่างไรจะได้ผลอย่างไร ท่านมหาตมะ คานธี กล่าวว่า มี 7 สิ่งที่จะทำลายชีวิตเรา คือ

·        Wealth without work. ความมั่งคั่งที่ได้มาโดยไม่ทำงาน

·        Pleasure without conscience. ความสุขสำราญที่ปราศจากศีลธรรม

·        Knowledge without character. ความรู้ที่ขาดคุณลักษณะ

·        Commerce without morality. การทำธุรกิจที่ไร้คุณธรรม

·        Science without humanity. วิทยาศาสตร์ที่ไม่มีความเป็นมนุษย์

·        Worship without sacrifice. การนมัสการบูชาที่คนไม่มีการเสียสละ

·        Politics without principle. การเมืองที่ขาดหลักการ

ชีวิตของผู้นำผู้รับใช้จึงต้องมีอำนาจทางศีลธรรมควบคุม เพราะต้องคิดและกระทำแต่สิ่งที่ให้ผลดีต่อผู้อื่นและตนเองอยู่เสมอ

4.  เป็นผู้สร้างมิตรภาพ
ผู้นำผู้รับใช้ไม่คิดและกระทำบนพื้นฐานความเป็นอิสระ (Independent) ของตนเอง แต่จะคิดและทำบนพื้นฐานความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน(Interdependent) ถ้าความคิดยังอยู่ในระดับต้องการความอิสระของตนเอง การกระทำจะยังอยู่ในระดับ “ตัวกู ของกู” แต่อำนาจทางศีลธรรมในตัวผู้นำผู้รับใช้จะพัฒนาความคิดให้ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงขึ้น ทำให้เข้าใจลึกมากขึ้นว่า “ทุกอย่างไม่ใช่ของกู” ความรักหลงใหล (Passion) ในสิ่งใดเพื่อความสุขของตนเองที่เคยมี จะเปลี่ยนไปเป็นความรักและความเมตตา (Compassion) เพื่อความสุขของผู้อื่น เมื่อผู้อื่นมีความสุขตนเองจึงจะอิ่มสุข

ขอสรุปลงท้ายด้วยคำพูดของ Stephen Covey ที่กล่าวว่า Moral authority comes from following universal and timeless principles like honesty, integrity, treating people with respect.” อำนาจทางศีลธรรมมาจากการยอมรับปฏิบัติตามหลักการสากลที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เช่น ความสัตย์ซื่อ ความเชื่อถือไว้วางใจได้ การปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพนับถือ


แหล่งนำความคิด: จากหนังสือ Servant Leadership โดย Robert K. Greenleaf