วันอังคารที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วิธีการมองปัญหา


“Anything you say to the wise will make them wiser. Whatever you tell the righteous will add to their knowledge.”    Proverbs 9:9


ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการทำงานในโลกปัจจุบันคือเรื่องความรวดเร็ว เพราะคนในยุคปัจจุบันมีความคาดหวังต้องการทราบผลที่รวดเร็ว เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าว่ามีความสามารถทำสิ่งต่างๆที่คนคาดหวังได้อย่างรวดเร็ว ทำให้คนยิ่งตั้งเป้าหมายเรื่องความรวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆและเป็นผลให้คนยิ่งเพิ่มความคาดหวังที่ต้องการทราบผลที่รวดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นคือ ผลการเลือกตั้ง ถ้าเป็นสมัยก่อนกว่าจะทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครอย่างเร็วที่สุดก็ต้องหลังเที่ยงคืน แต่วันนี้หลังปิดหีบการเลือกตั้งเวลาบ่ายสามโมง ก่อนหกโมงเย็นก็สามารถประกาศผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้แล้ว
คนในยุคปัจจุบันต้องการแก้ปัญหาแบบเสร็จด่วน (Quick fix) ขอให้จบเรื่อง ไปก่อน สังคมจึงตกอยู่ในสภาพแบบต้องใช้ยาแบบแอสไพริน (Social Aspirin) คือแก้อาการปวดหัวตัวร้อนไปก่อน โดยไม่ได้ไปรักษาเงื่อนไขที่ทำให้เกิดอาการป่วยเรื้อรังจริงๆ (Underlying chronic condition) ผลก็คือสามารถแก้ไขปัญหาที่พบเห็นเฉพาะหน้าได้ เพียงเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับคนที่ต้องการความรวดเร็วได้ แต่ไม่ได้แก้ไขสาเหตุหลักของการเกิดปัญหา และปัญหาไม่ได้หมดไป ปัญหายังคงซ่อนตัวอยู่รอเวลาที่โผล่กลับคืนมาอีก เมื่อปัญหาตัวจริงไม่ได้รับการแก้ไข อีกไม่นานก็เกิดอาการใหม่เฉียบพลัน (New acute symptoms) โผล่ขึ้นมาอีก ยิ่งเราแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการแบบเสร็จด่วนมากเท่าไหร่ อาการป่วยแบบเรื้อรังก็จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆเพราะยังไม่ได้แก้ไขปัญหาเลย ซึ่งวันนี้เราได้เห็นผลที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในยุโรปแล้วที่ผู้บริหารประเทศในยุคก่อนใช้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมแบบ Quick fix ปัญหาตัวจริงไม่ได้รับการแก้ไขปล่อยให้ซ่อนตัวเรื้อรังแล้วมาแสดงอาการเอาในตอนนี้ ก็เป็นที่เดือนร้อนกันไปทั้งทวีป
ปัญหาจึงอยู่ที่วิธีการที่เรามองปัญหา (The way we see problems is the problem) อย่างที่ Albert Einstein เคยกล่าวไว้ว่า “The significant problems we face cannot be solved at the same level of thinking we were at when we created them.” ปัญหาที่เราเผชิญไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับความคิดเดียวกันกับเมื่อเราสร้างปัญหาขึ้นมา เพราะความคิดอ่านในเวลาที่เราสร้างปัญหามีขีดจำกัด เราตัดสินใจได้ข้อสรุปในตอนนั้นไปแล้วว่าจะใช้วิธีการใดในการแก้ไขปัญหา ระดับความคิดเดียวกันจะมองเห็นเหมือนกันว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด แต่ถ้าให้คนที่มีระดับความคิดสูงกว่า หรือระดับความคิดต่ำกว่ามามองปัญหาเดียวกัน เขาอาจจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างจากที่เราคิดได้
วิธีการมองปัญหาจึงเป็นหัวใจหลักของการแก้ไขปัญหา และการที่เรามองปัญหาแตกต่างกันเป็นเพราะว่า

·        มี Paradigm ที่แตกต่างกัน
กระบวนทัศน์ในการมองเห็นปัญหาของคนเราแตกต่างกัน เหมือนกับการมองภาพๆหนึ่งที่คนแต่ละคนมองเห็นในมุมมองที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับภูมิหลัง ประสบการณ์ บริบทชีวิต ค่านิยม ความเชื่อ ความศรัทธา ทัศนะคติ ความชอบ ของแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันแต่มีผลรวมทำให้เกิดกระบวนทัศน์ที่แตกต่างกันได้ เมื่อกระบวนทัศน์แตกต่างกัน วิธีมองปัญหาย่อมมีโอกาสที่แตกต่างกันได้
·        มี Character ที่แตกต่างกัน
คนแต่ละคนมี Character ที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับการบ่มเพาะของครอบครัว โรงเรียน สังคมและศาสนา ที่จะหล่อหลอมให้คนมีพัฒนาการเป็นคนที่มี Character แบบใด เราเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนว่าคนญี่ปุ่น มี Character ที่โดดเด่นแตกต่างจากคนชาติอื่นในเรื่องความมีระเบียบวินัย การมองปัญหาเรื่องทุกคนต้องปฏิบัติตามระเบียบวินัยจึงเป็นเรื่องปกติ คนเยอรมันที่มี Character เป็นคนแข็งแกร่งอดทนเงียบขรึมไม่พูดมาก มองปัญหาแล้วเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเยอรมันสามารถทนได้รัฐบาลไม่ต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือ แต่ปัญหาเดียวกันคนไทยอาจจะมองว่ารับไม่ได้เป็นเรื่องหนักเกินไปรัฐบาลต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา วิธีการมองปัญหาของคนที่ต่าง Character กัน ย่อมมีโอกาสที่จะเห็นแตกต่างกัน
·        มี Motives ที่แตกต่างกัน
ความมุ่งหวัง หรือสิ่งที่เป็นแรงบัดดาลใจที่แตกต่างกันทำให้คนมองเห็นปัญหาแตกต่างกัน คนที่มี Motive อยากเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง มีความพยายามสูงมากในการกระเสือกกระสนหาทางที่จะเข้าสู่วงการนักแสดงในทุกเวลาที่มีการประกวดหาคนที่มีความสามารถในด้านการแสดง อย่างที่เราได้เห็นความพยายามของคนหนุ่มสาวเป็นหมื่นๆคนสมัครในเวทีประกวดเป็นนักร้องนักแสดงตามรายการโทรทัศน์ในเวลานี้ สำหรับคนที่อยากเป็นนักแสดงความกล้าแสดงออกไม่ใช่ปัญหาของพวกเขา การมองปัญหาของเขาย่อมแตกต่างจากคนที่มี Motive อยากเป็นทหารไปอยู่ชายแดนภาคใต้ซึ่งมีความกล้าในการแสดงออกที่แตกต่างกัน
·        มี Ethics ที่แตกต่างกัน
จริยธรรมของคนที่แตกต่างกันทำให้คนมองปัญหาแตกต่างกัน หรือเรียกว่าความหนา ความบางของระดับจริยธรรมที่แตกต่างกันทำให้มุมมองในการแก้ไขปัญหาแตกต่างกัน คนจริยธรรมบางสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาแบบ Quick fix ได้รวดเร็วกว่าคนจริยธรรมหนา เช่นไม่มีเงินส่งค่างวดผ่อนชำระรถยนต์ก็ถือปืนเข้าไปปล้นร้านขายทอง หรืออยากได้เงินล้าน ก็วางแผนฆ่านายเอาไปฝัง ซึ่งคนมีจริยธรรมหนาคงไม่คิดเร็วและคิดสั้นแบบนี้ เพราะมุมมองในการมองปัญหาแตกต่างกัน วิธีแก้ไขปัญหาจึงแตกต่างกัน
          นอกจากการมองเห็นปัญหาที่แตกต่างกันจากพื้นฐานที่แตกต่างกันแล้ว การแก้ไขปัญหาอาจจะไม่เหมือนกันเพราะคนมีความแตกต่างกันในเรื่อง

·        ความรู้ (Knowledge) ที่แตกต่างกัน
ระดับความรู้ที่แตกต่างกันทำให้การตัดสินใจแก้ไขปัญหาไม่เหมือนกัน เพราะความเข้าใจในวิธีการแก้ไขปัญหาของคนที่มีความรู้แตกต่างกันไม่เหมือนกัน เราได้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงเมื่อสองปีก่อน ของคนที่มีความรู้แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มและระดับความรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มจนทำให้เอาน้ำไม่อยู่กันหลายเดือน เพราะความรู้เป็นเรื่องของการรู้ว่าจะทำอะไรในการแก้ไขปัญหา What to do? และทำไมเราถึงต้องแก้ไขปัญหา Why to do? เมื่อรู้ไม่เหมือนกัน วิธีทำจึงไม่เหมือนกัน
·        ทักษะ (Skills) ที่แตกต่างกัน
ทักษะที่แตกต่างกันทำให้ใช้เทคนิควิธีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน เราจึงได้เห็นหลายทักษะวิธีการเช่น การดันน้ำ โดยใช้เรือรบ เรือรับจ้างเดินเครื่องดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เห็นกระสอบ Big bag กั้นถนน เห็นอุโมงค์ส่งน้ำ และอีกหลายเทคนิควิธีการที่แตกต่างกันซึ่งมาจากทักษะในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ทักษะจึงเป็นเรื่องของ How to do? จะใช้วิธีการใดในการแก้ไขปัญหา
·        แรงปรารถนา (Desire) ที่แตกต่างกัน
แรงปรารถนาเป็นเรื่องความร้อนรนในใจเมื่อมองปัญหาแล้วมีความอยากจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร เพราะแรงปรารถนาของคนเราแตกต่างกัน ถ้าผู้บริหารเป็นผู้ที่มีแรงปรารถนาสูงมากในการจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เขาจะทุ่มเทเวลาและทรัพยากรในการสร้างรายได้ประชาชาติให้สูงขึ้น ถ้าผู้บริหารมีแรงปรารถนาเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน จะทุ่มเทความสนใจในการรณรงค์อย่างจริงจังในกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม การมีแรงปรารถนาคือการแสดงระดับความแก่อ่อนของ “Want to do” ในแต่ละคนในการแก้ไขปัญหา
ขอสรุปว่า การแก้ไขปัญหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นคู่กับการดำรงชีวิตของคน และปัญหาทั้งมวลเกิดจากคนเป็นผู้สร้างมันขึ้นมาเองทั้งสิ้น ดังนั้นคนจึงต้องแก้ไขปัญหาที่สร้างขึ้นมาเอง ซึ่งเราทุกคนมีส่วนสร้างปัญหาขึ้นมาไม่มากก็น้อย จนกว่าเราจะมีวุฒิภาวะในการดำรงชีวิตที่ดีกว่านี้
          John F. Kennedy กล่าวว่า “Our problems are man-made, therefore they may be solved by man. And man can be as big as he wants. No problem of human destiny is beyond human beings.”  ปัญหาของเราเกิดจากมนุษย์ทำขึ้น ดังนั้น มันจึงอาจจะแก้ไขได้โดยมนุษย์ และมนุษย์สามารถเป็นได้ใหญ่เท่าที่เขาต้องการจะใหญ่ได้ จึงไม่มีปัญหาของจุดหมายมนุษย์ใดที่เกินกว่ามนุษย์

ครับ มนุษย์เจ้าปัญหา J

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น