วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ก้าวใหม่ทางการศึกษาของสิงคโปร์

“To have knowledge, you must first have reverence for the LORD. Stupid people have no respect for wisdom and refuse to learn.                                                                   Proverbs 1:7
สิงคโปร์ ประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆที่แทบจะไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติอะไรเลย กลับเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการศึกษามากที่สุดของประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
และในวันนี้การศึกษาของสิงคโปร์กำลังจะก้าวนำหน้าไปอีกขั้นไม่เพียงนำหน้าประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเท่านั้น แต่กำลังจะนำหน้าประเทศต่างๆทั่วโลก โรงเรียนของสิงคโปร์กำลังกลายเป็นแบบอย่างของโรงเรียนต่างๆทั่วโลกไปแล้ว
ความสามารถทางการศึกษาของเด็กนักเรียนสิงคโปร์มีความโดดเด่น สร้างความสนใจให้นักการศึกษาทั่วโลก นักเรียนสิงคโปร์สามารถทำคะแนนสอบได้ดีในการทดสอบระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนถึงความมีประสิทธิภาพของระบบการศึกษาของสิงคโปร์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน

            สิงคโปร์ไม่ยอมหยุดอยู่เพียงแค่นี้ แต่กำลังพยายามก้าวข้ามความสำเร็จของระบบการศึกษาปัจจุบันไปสู่การศึกษาใหม่ที่จะบ่มเพาะทำให้นักเรียนสิงคโปร์มีความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และมุ่งไปสู่การศึกษาแบบองค์รวม (Holistic Education)
Heng Swee Keat รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของสิงคโปร์ กล่าวว่า การศึกษาแบบใหม่ที่สิงคโปร์กำลังมุ่งหน้าไปนั้น จะมุ่งเน้นไปในด้านการให้นักเรียนรู้จักใช้ข้อมูลข่าวสารมากกว่าการรู้เนื้อหาวิชาการ (Less about content knowledge but more about how to process information)
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ความท้าทายในการก้าวไปสู่การมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นเหมือนกับความสามารถในการมองเห็นความจริงจากความไม่จริงได้ (Discern truths from untruths) เหมือนกับจุดเล็กๆที่เชื่อมต่อกันอย่างเนียนจนเรามองไม่เห็นจุด และสามารถสร้างองค์ความรู้ได้แม้ว่าบริบทจะเปลี่ยนแปลงไป (Create knowledge even as the context changes)
ยุทธศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนใหม่ของสิงคโปร์คือการมุ่งที่จะเตรียมนักเรียนสิงคโปร์ในวันนี้สำหรับความต้องการของสิงคโปร์ใน 20 ปี ข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าโรงเรียนในสิงคโปร์กำลังต้องปรับแนวการเรียนการสอนใหม่ที่สร้างสรรค์กว่าเดิมทั้งหลักสูตรและวิธีการสอนของครู ซึ่งจะเน้นการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น เปลี่ยนแปลงจากวิธีการเรียนแบบเดิมๆซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ในกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใช้อยู่ คือนั่งเรียนอยู่แต่ในห้องเรียน เน้นการให้นักเรียนท่องจำจากตำราเรียน ซึ่งสร้างความเครียดและความกดดันให้แก่นักเรียน

เด็กนักเรียนสิงคโปร์อายุ 9-10 ปี จากโรงเรียนประถมศึกษา Rosyth เป็นตัวอย่างของการเรียนการสอนในแนวใหม่ ครูพานักเรียนออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียนโดยใช้ iPads และโทรศัพท์ smart phone ของเด็กนักเรียน เป็นเครื่องมือติดตัวในการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ในสวนสาธารณะซึ่งเป็นการบูรณาการความรู้ความเข้าใจในวิชาวิทยาศาสตร์เข้ากับความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของสิ่งแวดล้อม เด็กนักเรียนตัวเล็กๆเหล่านี้ กำลังเดินสำรวจหาซากแมลง ผึ้ง นก ปลา และต้นไม้ในสวนสาธารณะที่ตายอย่างน่าพิศวง และทำการชันสูตรซากที่พบเหล่านี้ว่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์หรือไม่ โดยการใช้กล้องในโทรศัพท์มือถือถ่ายภาพหลักฐานที่ค้นพบ และใส่ข้อมูลข้อเท็จจริงของสัตว์ พืช ลงใน iPads เพื่อนำไปทำการศึกษาต่อ

Lin Lixun ครูผู้สอนที่พาเด็กนักเรียนเหล่านี้มาสืบสวนหาหลักฐานการตายของแมลง ผึ้ง นก ปลา และต้นไม้ ในสวนสาธารณะรับบทบาทเป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการสืบสวน โดยมีเด็กนักเรียนเป็นผู้ช่วยร่วมทีมปฏิบัติการสืบสวน การทำกิจกรรมเรียนนอกห้องเรียนแบบนี้ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำจริง และได้เรียนรู้หลายวิชาในเวลาเดียวกันจากกิจกรรมเดียวกัน การสอนแบบครู Lin จึงเป็นการสอนแบบแบ่งปันความรักซาบซึ้ง (Sharing passion) ในวิชาที่เรียนมากกว่าการสอนแบบให้เฉพาะวิชาความรู้แบบตรงๆ
การศึกษาของสิงคโปร์ได้รับการยกย่องจากนักการศึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในหลายๆเรื่องเช่น
สิงคโปร์มีการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็วสามารถพัฒนาการศึกษาจากโลกที่สามไปสู่โลกที่หนึ่งได้ในหนึ่งชั่วอายุคน (From third world to first in one generation)
สิงคโปร์ใช้เงินงบประมาณ 20% ของค่าใช้จ่ายไปเพื่อการศึกษาแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมากของรัฐบาลสิงคโปร์
สิงคโปร์มีการสอน 2 ภาษา โดยใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาแม่ของเด็กที่แตกต่างกันตามเชื้อชาติ เช่นภาษาจีน มาเลย์ ทมิฬ และ ฮินดู
นักเรียนสิงคโปร์ ได้อันดับที่2ในวิชาคณิตศาสตร์ อันดับที่ 4 ในวิชาวิทยาศาสตร์ และอันดับที่ 5 ในวิชาการอ่าน จากการทดสอบ PISA ในปี 2009 ทำให้สิงคโปร์นำหน้าทุกประเทศในยุโรป นอกจาก ฟินแลนด์
สิงคโปร์ได้อันดับที่ 1 ในปี 2007 จาก Trends in International Math and Science Study (TIMSS)
สิงคโปร์มีมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เช่น MIT, Yale, Insead, NYU และ Chicago Booth เป็นหุ้นส่วนทางการศึกษาตั้งวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในสิงคโปร์ทำให้มาตรฐานการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของสิงคโปร์ดีขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) จะอยู่ในตำแหน่ง 50 อันดับแรกของโลก
คุณภาพของครูสิงคโปร์ เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จ (Key to success) ของการศึกษาของสิงคโปร์ การที่สิงคโปร์มีครูที่มีคุณภาพมากไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญแต่เป็นผลจากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ กับสถาบันการศึกษาแห่งชาติ (National Institute of Education) ของสิงคโปร์ซึ่งได้ทำการวิจัยเรื่องการศึกษาและให้การอบรมพัฒนาครูสิงคโปร์อย่างต่อเนื่องใช้เวลาพอสมควร
ในอดีตครูสิงคโปร์ก็เหมือนกับครูในประเทศอื่นๆที่ไม่ค่อยมีครูดีๆที่มีคุณภาพเพราะอาชีพครูไม่ค่อยได้รับการยกย่อง เคารพนับถือ แต่สิงคโปร์ได้เปลี่ยนภาพพจน์ครูใหม่ด้วยการให้การอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานของครูในโรงเรียนใหม่ เพื่อทำให้ครูมีคุณภาพในการสอนมากขึ้น
สิงคโปร์ในยุคบุกเบิกสร้างประเทศในปี 1965 ได้ส่งเสริมการศึกษาให้เป็นเสาเข็มของการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Education as a pillar of economic growth) ต่อมาในช่วงปลายของทศวรรษ1970 สิงคโปร์มุ่งเน้นเรื่องความมีประสิทธิภาพ (Efficiency driven) การศึกษาให้ความสนใจในการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม (Industry-related skills)
ในช่วงปลายของทศวรรษ1990 ซึ่งเป็นยุคที่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมุ่งไปสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge base) สิงคโปร์จึงมุ่งเน้นไปสู่การพัฒนาทักษะการคิด และความคิดสร้างสรรค์ (Thinking skills and creativity)
สถานการณ์แวดล้อมบีบบังคับให้สิงคโปร์ต้องให้ความสนใจเรื่องพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจังเพราะการศึกษาเป็นเรื่องของความอยู่รอดและความสำเร็จของสิงคโปร์ การศึกษาคืออนาคตของชาติ (Education shapes the future of our nation. It is critical to our survival and success) คือคำสรุปของ Heng Swee Keat รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์
Horace Mann กล่าวว่า “A human being is not attaining his full heights until he is educated” มนุษย์ยังไม่บรรลุถึงความบริบูรณ์สูงสุดจนกว่าเขาจะได้รับการศึกษา และ
John Dewey กล่าว่า “Education is not preparation for life; education is life itself.” การศึกษาไม่ใช่การเตรียมการเพื่อชีวิต การศึกษาโดยตัวมันเองคือชีวิต
อนาคตการศึกษาของไทยจะไปในทิศทางไหน? เราจะเตรียมเด็กไทยให้มีความสามารถตอบสนองความต้องการของประเทศไทยและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างไรครับ? L

แหล่งข้อมูล: Rebecca Lim BBC News, Singapore

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น